บ้านร้อยปีเป็นอาคารเก่าสร้างด้วยไม้สัก ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน อ. เมือง จ. แพร่ สร้างโดยคณะมิชชั่นลาวในสังกัดคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่สหรัฐอเมริกา (the Laos Mission of the Presbyterian Church in the United States of America) ที่เข้ามาตั้งศูนย์เผยแผ่ศาสนาที่จังหวัดแพร่ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) เพื่อเป็นที่พักและสำนักงานของครอบครัวมิชชันนารีที่เข้ามาดูแลงานด้านการเผยแผ่ศาสนา การศึกษา และการพยาบาล ในจังหวัดแพร่ บ้านเก่าในโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนและบ้านเก่าในบริเวณศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยถูกย้ายจากศูนย์มิชชั่นเดิมที่บ้านเชตวันมาปลูกในที่ตั้งปัจจุบัน บ้านทั้งสองหลังจึงมีอายุร้อยสิบเก้าปีแล้วใน พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้

ผู้ก่อตั้งคณะมิชชั่นลาวคือศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี (Dr. Daniel McGilvary) ซึ่งได้รับอนุญาตจากพระเจ้ากาวิโลรส เจ้าหลวงแห่งเชียงใหม่และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ตั้งคณะมิชชั่นลาวได้ใน พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. ๑๘๖๖) โดยเริ่มจากการก่อตั้งคริสตจักรที่ ๑ ที่เชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) ศาสนาจารย์แมคกิลวารีเป็นบุตรเขยของหมอบรัดเลย์ (นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์ พ.ศ.๒๓๔๗-๒๔๑๖/ ค.ศ.๑๘๐๔ - ๑๘๗๓) ที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๔

ก้าวแรกของมิชชั่นนารีในเมืองแพร่ พ.ศ. ๒๔๓๓ (ค.ศ. ๑๘๙๐) คณะสำรวจโดยศาสนาจารย์แมคกิลวารีและนายและนางฮิวจ์ เทย์เลอร์ (Mr. and Mrs. Hugh Taylor) มาตั้งค่ายพักแรมอยู่ที่ด้านนอกประตูมานและได้บัพติสต์คริสเตียนชาวแพร่คนแรกคือน้อยวงศ์ จากการเดินทางครั้งนี้ มิชชั่นลาวที่เชียงใหม่เห็นว่าจังหวัดแพร่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ สมควรมีการเปิดศูนย์มิชชั่นที่นี่อย่างเร่งด่วน หมอบริกส์ (Dr. W. A. Briggs) เสนอต่อคณะกรรมการมิชชั่นฝ่ายต่างประเทศของคริสตจักร (The Board of Foreign Missions) ที่สหรัฐอเมริกาว่ายินดีจะออกเงินส่วนตัวล่วงหน้าเพื่อซื้อที่ดินในจังหวัดแพร่เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์มิชชั่น

พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) หมอบริกส์ และ หมอพีเพิลส์ (Dr. S.C. Peoples) ซื้อที่ดินที่บริเวณบ้าน เชตวัน ริมฝั่งแม่น้ำยม ในราคา ๓๐๐ รูปี หมอบริกส์และครอบครัวซึ่งเป็นมิชชั่นนารีครอบครัวแรกของจังหวัดแพร่ย้ายมาประจำที่ศูนย์มิชชั่นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยทั่วไป ถือเป็นสถานพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกของจังหวัดแพร่

ศูนย์มิชชั่นแพร่ ที่บ้านเชตวัน ประกอบด้วยบ้านพัก อาคารพยาบาล ห้องเก็บของ โบสถ์ บ้านพักคนงาน ยุ้งข้าว เมื่อครอบครัวของศาสนาจารย์ชิลด์ส  (Rev. W. F. Shields) ย้ายมาที่แพร่ คณะมิชชั่นนารีจึงร่วมกันพัฒนาศูนย์ฯ ทั้งงานด้านศาสนา ควบคู่ไปกับการแพทย์และการศึกษา และสามารถก่อตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ ๑ แพร่อย่างเป็นทางการได้ใน วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ มีสมาชิกเบื้องต้น ๑๒ คน

พ.ศ. ๒๔๕๕ มีการเปิดศูนย์มิชชั่นแพร่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง มิชชั่นนารีที่มาประจำคือหมอคอร์ท (Dr. E. C. Cort)  ศาสนาจารย์กิลลี่ส์ (Rev. Roderick Gillies) และนายอาร์เธอร์ แมคมัลลิน (Mr. Arthur B. McMullin) ในตอนนี้ศูนย์มิชชั่นแพร่ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม บ้านเชตวัน ถูกกระแสน้ำเซาะจนตลิ่งพัง รวมถึงมีน้ำท่วมบ้างเป็นครั้งคราว จึงต้องรื้อบ้านพักหลังหนึ่งจากสองหลังลงเพราะบริเวณที่ตั้งของบ้านถูกน้ำกัดเซาะจนอาจเป็นอันตราย และมิชชั่นนารีทั้งหมดต้องอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียว ซึ่งคับแคบและลำบากมาก จึงได้เตรียมการย้ายศูนย์ไปยังสถานที่แห่งใหม่ โดยได้จับจองที่ไว้แล้ว อยู่บนถนนสายหลัก ห่างจากเมืองไปประมาณ ๑ ไมล์

บันทึกมิชชั่นนารีเรื่องการย้ายศูนย์

จาก The Laos News (July ๑๙๑๓ บทความ “Twenty Years after in Pre” (ยี่สิบปีให้หลังในแพร่) ดังนี้ “วันที่ ๕ พฤษภาคม (พ.ศ. ๒๔๕๖) ยี่สิบปีหลังจากที่นายแพทย์บริกส์และนางบริกส์ได้เปิดศูนย์ฯ แพร่ ศูนย์มิชชั่นนารีประจำเมืองแพร่ได้ย้ายจากที่ตั้งเดิมที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำยมมาที่ที่ตั้งใหม่ของศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ที่ ถ. ท่าอิฐ เชื่อมกับสถานีรถไฟซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๑๕ ไมล์… ที่ตั้งศูนย์ฯ แห่งใหม่อยู่บนถนนที่มีคนสัญจรไปมามากที่สุดของจังหวัดแพร่ มุ่งไปสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังตอนใต้ของประเทศจีน หัวเมืองลาว และกรุงเทพฯ ที่ตั้งของศูนย์ฯ อยู่ใกล้กับตลาดที่คึกคักที่สุดของแพร่ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินกิจกรรมของคริสตจักร เมื่อเราซื้อที่ผืนนี้ มีอาคารไม้เก่าอยู่แล้วหลังหนึ่ง เราได้ดัดแปลงอาคารนี้เป็นโรงเรียนสตรี หอพักนักเรียนและครู ตอนนี้เราใช้อาคารนี้เป็นทั้งโบสถ์ โรงเรียน และอาคารอเนกประสงค์ บ้านไม้สักที่สร้างโดยศาสนาจารย์ชิลด์สถูกย้ายมาปลูกใหม่โดยศาสนาจารย์เยตส์ (Rev. W. O. Yates) เพื่อเป็นที่พักของศาสนาจารย์ ปัจจุบันคณะมิชชั่นนารีประจำจังหวัดแพร่ทั้งหมดพักอยู่ที่บ้านหลังนี้ ส่วนบ้านพักแพทย์ที่หมอบริกส์เป็นคนสร้างก็ถูกรื้อมาที่ศูนย์ฯ ใหม่เช่นกัน ตอนนี้กำลังให้ผู้รับเหมาชาวจีนเป็นคนจัดการและอีกไม่นานก็จะพร้อมให้เข้าพักได้ อาคารพยาบาลก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้แล้ว คนไข้จากโรงพยาบาลจะถูกย้ายมาทันทีที่เรากั้นพื้นที่ผู้ป่วยได้เรียบร้อย

ตัวอย่างห้องทำงานของมิชชั่นนารี Dr. Briggs’s office in Chiang Rai
ศูนย์มิชชั่นแห่งใหม่ที่ถนนยันตรกิจโกศล ที่ตั้งใหม่ของศูนย์มิชชั่นแพร่ในขณะนั้นประกอบด้วยคริสตจักร โรงพยาบาลและโรงเรียน ตั้งอยู่ในที่ดินผืนเดียวกัน นางเจสซี แมคคินนอน ฮาร์ตเซล หรือ แหม่มอะโซ กล่าวถึงการใช้ชีวิตในบ้านพักแพทย์ (medical house) ซึ่งหมายถึงบ้านร้อยปีในโรงพยาบาลในปัจจุบันไว้ดังนี้ “บ้านนี้สวยมาก สร้างจากไม้สักทั้งหลัง ระเบียงบ้านนี้ทำให้ฉันนึกถึงดาดฟ้าเรือ เพราะมันยาวตลอดความยาวของบ้านทั้งสามด้าน มีห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ข้างหลังห้องอาหารเป็นห้องเตรียมอาหารและครัว นอกจากนี้มีห้องทำงาน ด้านหลังห้องทำงานเป็นห้องนอนใหญ่ มีระเบียงแบบไม่มีหลังคา ห้องนี้จะเป็นห้องนอนของฉัน ส่วนล็อตที่นอนไม่ค่อยหลับและมักจะอ่านหนังสือตอนกลางคืนจะนอนอีกห้อง   ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน มีระเบียงที่มีหลังคา มีผนังสูงประมาณสามฟุตและมีหน้าต่างสูงไปจนถึงเพดานที่ช่วยให้อากาศไหลเวียนและช่วยกันแดดกันฝน ตรงนี้จะเป็นห้องของเด็กๆ ผนังของห้องทุกห้องที่ติดกับระเบียงด้านหน้าเป็นประตูบานเฟี้ยมทั้งหมด พอเปิดประตูก็จะดูเหมือนบ้านไม่มีผนัง  บ้านอยู่ในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก มีภูเขาอยู่ทั้งสองด้าน “ฉันต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปรับปรุงที่นี่ ฉันส่งตัวอย่างดินไปที่อินเดีย ไปยังแผนกเกษตรกรรมในกัลกัตตา และเขาตอบกลับมาว่าดินที่นี่ต้องการน้ำและปุ๋ยนิดหน่อย  ทางเดียวที่จะทำให้มีน้ำในฤดูแล้งก็คือต้องต่อท่อไปยังคลองชลประทานที่อยู่ห่างไปหกไมล์...แล้วส่งน้ำมาที่คูน้ำและอ่างเก็บน้ำในบริเวณบ้านเราเราจะปลูกบัวในอ่างเพื่อให้ปลามีร่มเงาและเพื่อให้ดูสวยงาม คูน้ำจะเป็นแนวยาวไปตามแนวถนนที่เราวางแผนจะสร้างผ่านบริเวณต่างๆ…ฉันกำลังขอให้สวนสาธารณะต่างๆ ในเอเชีย ทั้งในนางาซากิ ฮ่องกง ปีนัง สิงคโปร์ กัลกัตตา โคลัมโบ และรางกูน ส่งหัวว่านสี่ทิศทุกๆ สี มาให้ฉันมากเท่าที่จะส่งมาได้  “ตอนนี้บ้านดูสวยงามแล้วด้วยต้นไม้ให้ร่มเงา ดอกไม้ และน้ำที่ส่องประกายอยู่ในคู ต้นไม้โตเร็วกว่าที่ฉันคิด คนที่ใช้ถนนนี้เพื่อไปตลาดต่างมองดูต้นไม้ด้วยความประหลาดใจ ที่รั้วเรากำลังทำประตูเข้าออกสามด้าน เป็นประตูที่แข็งแรงใส่กุญแจได้  ที่ทุกประตูมีซุ้มสูง ฉันเอาต้นเฟื่องฟ้าไปปลูกตรงนั้นประตูละสี  ตอนนี้แทนที่จะเรียกชื่อประตูต่างๆ ว่า ประตูใต้ ประตูเหนือ และประตูหมอ ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันมานาน เราจะเรียกประตูเหล่านี้ว่าประตูม่วง ประตูแดง และประตูส้ม เรายังมีต้นว่านสี่ทิศทุกสี  ต้นน่ารักที่มาจากญี่ปุ่นมีสีชมพูและมีจุดขาว  ฉันมองเห็นภาพในใจเลยว่าบริเวณบ้านนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร”

งานด้านการพยาบาลจากบันทึกของเจสซี่

“โรงพยาบาลมีสองวอร์ด… เราทำความสะอาดทั้งผนังและพื้นทุกซอกทุกมุมด้วยน้ำมันลินสีดและน้ำมันสนเพื่อช่วยกำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เราจะทิ้งทุกอย่างที่ใช้ในวอร์ดมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด เพราะสกปรกและเต็มไปด้วยแมลง ฉันมีช่างไม้ที่ทำงานให้ฉันเต็มเวลา และกำลังต่อเตียงให้ และฉันก็ให้พวกผู้หญิงเย็บที่นอน  เมื่อทุกอย่างเสร็จแล้วและเมื่อแขวนมุ้งกันยุงแล้ว เราจะเผาเตียงและเครื่องนอนเก่าทั้งหมด  ฉันมีผ้าปูที่นอนและผ้าห่มสะอาดๆ ที่ส่งมาจากบ้าน  ก่อนหน้านี้มีธรรมเนียมว่าเมื่อผู้ป่วยมาพักที่โรงพยาบาล เขาจะพาครอบครัวมาทั้งหมด และเอาเครื่องนอนและเสื้อผ้ามาเอง แต่ระบบนี้จะเปลี่ยนไปแล้ว ญาติผู้ป่วยเพียงคนเดียว อาจจะเป็นภรรยาหรือแม่ จะได้รับอนุญาตให้อยู่ค้างเพื่อดูแลผู้ป่วย  หากทำแบบนี้เราจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคได้” “ฉันเริ่มทำครัวผู้ป่วยในบ้านของฉันเอง ฉันจดรายการอาหารที่ผู้ป่วยแต่ละคนต้องการให้กุ๊กขาว แล้วเขาก็ไปจัดการพร้อมกับพยายามจัดอาหารให้หลากหลายที่สุด เราไม่มีนมวัวแต่นมกระป๋องก็ใช้ได้และปลอดภัย”

รัชกาลที่ ๗ เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาล

มีบันทึกว่ากิจการโรงพยาบาลมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงที่นางเจสซี ฮาร์ทเซลล์ (แหม่มอะโซ) เป็นผู้ดูแลโรงพยาบาลร่วมกับแพทย์ชาวพื้นเมืองคือ หมอศรีมูล พิณคำ และหมอสุ่ม ธราวัลย์ มีการปรับปรุงการให้บริการในโรงพยาบาล ทั้งด้านสาธารณูปโภค ด้านสุขอนามัย และการรักษาพยาบาล รวมถึงมีการออกตรวจและรักษาคนป่วยชาวคริสเตียนนอกสถานที่  นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนใน พ.ศ. ๒๔๖๙ พร้อมทั้งพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อซื้อหม้อนึ่งเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากทรงเห็นว่าเครื่องเก่าที่โรงพยาบาลใช้ดูอันตรายเพราะเป็นเครื่องทำเอง

ก้าวสู่ยุคใหม่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มิชชั่นนารีต้องเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาและโรงพยาบาลถูกยึดกิจการชั่วคราว หลังสงครามสงบ ศาสนาจารย์เกย์ลอร์ด น็อกซ์และภรรยา ได้กลับมาที่แพร่อีกครั้ง ในระหว่างนั้นก็มีมิชชั่นนารีท่านอื่น ๆ มาประจำที่แพร่ จนถึงพ.ศ. ๒๕๐๖ ก็ไม่มีมิชชั่นนารีจากต่างประเทศมาประจำที่โรงพยาบาลอีก จึงนับเป็นการสิ้นสุดการบริหารงานโรงพยาบาลโดยมิชชั่นนารี และเข้าสู่ยุคการบริหารโดยบุคลากรชาวไทยเอง บ้านร้อยปีจึงเปลี่ยนหน้าที่จากบ้านพักมิชชั่นนารีมาเป็นบ้านพักแพทย์ในสมัยนายแพทย์สถาปน์ ชินพงศ์ (พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๔๑) ผู้เคยอาศัยอยู่ในบ้านร้อยปีเป็นเวลา ๒-๓ ปี รวมถึงเป็นที่เก็บของใช้ของโรงพยาบาลและของที่ได้จากการบริจาค ท้ายสุดจึงใช้เป็นโรงอาหารของโรงพยาบาลในสมัยนายแพทย์เธียรชัย แย้มรับบุญ (พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๗) ต่อมาอาคารบ้านร้อยปีทรุดโทรมมาก เกรงว่าจะเป็นอันตราย ทางโรงพยาบาลจึงได้หยุดใช้งาน

อนุรักษ์บ้านเก่า อนุรักษ์ประวัติศาสตร์

ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO SPAFA) จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน สภาคริสตจักรในประเทศไทย ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ และชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ทำการศึกษาประวัติและสำรวจรังวัดบ้านร้อยปีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านร้อยปีเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาล ชุมชนคริสเตียน นักเรียนนักศึกษา และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ต่อไป บ้านหลังนี้เป็นอาคารแบบตะวันตกหลังแรก ๆ ของเมืองแพร่ วัสดุหลักเป็นไม้เนื้อแข็ง กระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องว่าว โครงสร้างของอาคารเป็นโครงสร้างผสมแบบเสา-คานแบบ balloon frame และแบบ platform frame  ลักษณะโครงสร้างแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่พบน้อยมากในประเทศไทย บ้านนี้เป็นหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานของมิชชั่นนารีชาวตะวันตกและการเผยแผ่ศาสนาในจังหวัดแพร่ รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกับการบุกเบิกงานด้านการรักษาพยาบาลในจังหวัดแพร่ และนับเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ของแพร่ตั้งแต่เมื่อประมาณ ๑๒๐ ปีมาแล้ว เพราะเป็นสถานที่อยู่อาศัยของมิชชั่นนารีหลายต่อหลายรุ่นเป็นเวลาต่อเนื่องถึงประมาณ ๗๐ ปี เป็นสถานที่หลบภัยในสมัยกบฎเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ และเป็นอาคารเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดของโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนที่ยังหลงเหลืออยู่

นิทรรศการสถาปัตยศิลป์ บ้านฝรั่ง ๑๐๐ ปี วิถีฝรั่งและกาดหมั้ว วันที่ ๑๑-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ (งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลป์แผ่นดินล้านนาครั้งที่ ๑๑ วันที่ ๑๑ ก.พ. – ๑ มี.ค. ๒๕๕๕)

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO SPAFA) และตัวแทนจากข่ายลูกหลานเมืองแพร่ และชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ขออนุญาตโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนถ่ายรูปและสำรวจบ้านเก่าภายในโรงพยาบาลเพื่อนำเนื้อหาไปประกอบในหนังสือ “ผ่อบ้านหันเมือง: การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยชุมชนจังหวัดแพร่” ต่อมาเข้าพบผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน (นายแพทย์เชริด แย้มรับบุญ) และบุคลากรของโรงพยาบาลและทราบว่าทางโรงพยาบาลมีความสนใจจะบูรณะบ้านร้อยปีเพื่ออนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ของโรงพยาบาล และเพื่อประโยชน์ใช้สอย ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ฯ ในฐานะหน่วยงานที่เชี่ยวชาญและสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน สภาคริสตจักรในประเทศไทย ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ และชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ทำการศึกษาประวัติและสำรวจรังวัดบ้านร้อยปีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านร้อยปีเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาล ชุมชนคริสเตียน นักเรียนนักศึกษา และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ต่อไป

จากการศึกษา พบว่า “บ้านร้อยปี” เป็นอาคารเก่าสร้างด้วยไม้สัก ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน อ. เมือง จ. แพร่ สร้างโดยคณะมิชชั่นลาวในสังกัดคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่สหรัฐอเมริกา (the Laos Mission of the Presbyterian Church in the United States of America) ที่เข้ามาตั้งศูนย์เผยแผ่ศาสนาที่จังหวัดแพร่ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) เพื่อเป็นที่พักและสำนักงานของครอบครัวมิชชันนารีที่เข้ามาดูแลงานด้านการเผยแผ่ศาสนา การศึกษา และการพยาบาล ในจังหวัดแพร่

สันนิษฐานว่าอาคารนี้ย้ายมาจากที่ตั้งเก่าบริเวณริมแม่น้ำยม โดยน่าจะเป็นอาคารบ้านพักแพทย์ที่หมอบริกส์เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อเปิดศูนย์มิชชั่นนารีที่บ้านเชตวัน ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ และเป็นอาคารหลังที่สองที่ถูกย้ายที่ศูนย์ฯ ใหม่จากที่ตั้งเดิม นับเป็นอาคารแบบตะวันตกหลังแรก ๆ ของเมืองแพร่ วัสดุหลักเป็นไม้เนื้อแข็ง กระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องว่าว โครงสร้างของอาคารเป็นโครงสร้างผสมแบบเสา-คานแบบ balloon frame และแบบ platform frame  ลักษณะโครงสร้างแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่พบน้อยมากในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าบ้านร้อยปีนี้เป็นอาคารที่มีความเก่าแก่มากที่สุดหลังหนึ่งของเมืองแพร่ และก่อสร้างโดยใช้เทคนิควิธีแบบตะวันตก และมีความเป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบการก่อสร้างที่แสดงถึงฝีมือและวิธีการของช่างไม้ในอดีต ถือเป็นตัวอย่างอาคารที่หาได้ยากในประเทศไทย และเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสมควรอนุรักษ์ไว้

นอกจากนั้น บ้านร้อยปียังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานของมิชชั่นนารีชาวตะวันตกและการเผยแผ่ศาสนาในจังหวัดแพร่ รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกับการบุกเบิกงานด้านการรักษาพยาบาลในจังหวัดแพร่ และนับเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ของแพร่ตั้งแต่เมื่อประมาณ ๑๒๐ ปีมาแล้ว เพราะเป็นสถานที่อยู่อาศัยของมิชชั่นนารีหลายต่อหลายรุ่นเป็นเวลาต่อเนื่องถึงประมาณ ๗๐ ปี เป็นสถานที่หลบภัยในสมัยกบฎเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ และเป็นอาคารเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดของโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนที่ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อศึกษาตัวบ้านร่วมกับเอกสาร บันทึก ภาพถ่าย และคำบอกเล่า ก็จะนำไปสู่การมองเห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์เมืองแพร่และความสัมพันธ์ของกลุ่มคนต่าง ๆ ในอดีต ที่จะช่วยให้เข้าใจปัจจุบันได้มากขึ้น

เนื่องจากบ้านร้อยปีเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยมาก มีสนามโดยรอบที่กว้างขวาง และยังมีโครงสร้างส่วนใหญ่ที่แข็งแรง จึงสามารถพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ตามความต้องการของโรงพยาบาล ชุมชน คริสเตียน โรงเรียน และชุมชนใกล้เคียงได้ โดยสามารถใช้บ้านร้อยปีและพื้นที่โดยรอบเป็นสถานที่จัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งด้านศาสนา การพยาบาล การสันทนาการสำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยและชุมชน และการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของท้องถิ่น

กิจกรรม “นิทรรศการสถาปัตยศิลป์ บ้านฝรั่ง ๑๐๐ ปี วิถีฝรั่งและกาดมั่ว” นี้จึงได้เกิดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ความสำคัญและส่งเสริมการอนุรักษ์บ้านร้อยปี รวมทั้งประชาสัมพันธ์บทบาทของมิชชั่นนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนต่องานด้านการพยาบาล ศึกษา และการศาสนาในเมืองแพร่ และเตรียมฉลองครบรอบ ๑๒๐ ปี การประกาศกิจชาวคริสเตียนในจังหวัดแพร่ใน พ.ศ. ๒๕๕๖ ด้วย

คณะผู้จัดงาน สภาคริสตจักรในประเทศไทย โรงพยาบาลแพร่คริสเตียน ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO SPAFA) ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ชุมชนคริสเตียนในจังหวัดแพร่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ เทศบาลเมืองแพร่ สภาพัฒนาการเมือง

ผู้ประสานงานโครงการ นายชินวร ชมภูพันธ์ ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ๘๔ ถ.คำลือ ต.ในเวียง อ. เมือง จ. แพร่ ๕๔๐๐๐ โทร: ๐๘๑ ๓๔๗๕๓๔๒ อีเมล์: •อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน•

นายวุฒิไกร ผาทอง ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ศาลาแก้ววรรณา ๑๖๐ หมู่ ๘ ต.นาจักร อ.เมือง จ. แพร่ ๕๔๐๐๐ โทร: ๐๕๔ ๖๒๓๕๗๕, ๐๘๙ ๖๓๑๒๙๐๕ อีเมล์: •อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน•

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 30 •มิถุนายน• 2012 เวลา 23:28 น.• )