สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๕ มีพฤติกรรมเสี่ยงใดบ้าง และดูแลอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบตันเฉียบพลัน พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันคือ การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย และความอ้วน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ บางท่านไม่เห็นความสำคัญเพราะไม่ถือว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บ การสูบบุหรี่ จากที่กล่าวข้างต้น การสูบบุหรี่ บางท่านอาจจะเห็นว่าไม่ใช่โรค แต่ในความจริงแล้วการติดบุหรี่ถือว่าเป็นโรคผู้ติดสารเสพติด โดยสารเสพติดดังกล่าวคือ สารนิโคตินในบุหรี่โดยผู้ใดอยากทราบว่าตัวเองติดนิโคตินหรือเปล่าให้ไปทำแบบทดสอบการติดนิโคตินได้จากสารรักษ์หัวใจปี ๒๕๕๑ ฉบับเดือนพฤษภาคม

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ต้องหยุดบุหรี่เท่านั้น ไม่ใช้ลดบุหรี่แล้วหวังว่าจะลดความเสี่ยงได้หมด  แม้ว่าจะเลิกบุหรี่แล้วแต่ตาม แต่ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจจะลดลง ๕๐% ภายหลังหยุดไปนานถึง ๒ ปี ดังนั้นต้องเลิกบุหรี่ให้ได้เพราะนอกจากจะป้องกันโรคหัวใจแล้ว ยังป้องกันโรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคกระเพาะอาหารเป็นแผล และโรคอื่นๆอีกหลายโรค

การเลิกบุหรี่สามารถเลิกได้ด้วยตัวเอง, ใช้สารนิโคตินทดแทนเช่นจากหมากฝรั่ง แผ่นแปะนิโคติน, หรือใช้ยาเลิกบุหรี่โดยตรงคือยาบุโปนเปียน  [Bupropion] ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งความอยากนิโคตินที่สมอง ซึ่งยาเหล่านี้สามารถปรึกษาแพทย์ได้

การขาดการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นประจำที่จะ หวังผลในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจริงจากการออกกำลังกายอย่างเดียว คือต้องปฏิบัติทั้ง ๒ ข้อดังนี้

๑. ต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิกซึ่งในที่นี้ไม่หมายถึงการเต้นแอโรบิกอย่างเดียวนะครับ แต่คำว่าแอโรบิกในทางการแพทย์หมายถึงการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง เป็นจังหวะ สม่ำเสมอเช่นการเต้นแอโรบิก, การเดิน, การวิ่ง, การขี่จักรยาน, การว่ายน้ำ หรือการรำมวยจีนก็ได้

๒. การออกกำลังกายดังข้อ๑ ต้องออกกำลังกายเป็นประจำประมาณ ๕ วัน/สัปดาห์ และต้องกินเวลานาน ๓๐ - ๔๕ นาทีด้วย

จะเห็นว่าอาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับบางท่าน แต่การออกกำลังกายแม้ว่าจะไม่ครบ ๒ ข้อดังกล่าวก็สามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจทางอ้อมคือการออกกำลังกายเป็นการเผาผลาญพลังงานทำให้ไม่อ้วน  กล้ามเนื้อที่ใช้ออกกำลังกายยังช่วยเผาผลาญน้ำตาลทำให้คุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นในผู้ป่วยเบาหวาน และยังช่วยให้การคุมความดันโลหิตได้ดีด้วย  ยังช่วยผ่อนคลายความเครียดด้วย แม้ว่าจะเป็นโรคหัวใจไปแล้วถ้าอาการคงที่ แพทย์ก็แนะนำให้ออกกำลังกายได้นะครับ เพียงแต่ต้องห้ามออกกำลัง หรือออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงเบ่งเช่นการยกน้ำหนัก, การวิดพื้น, การทำ sit-up, และหลีกเลี่ยงกิจวัตรที่ต้องเบ่งคือการเบ่งถ่ายเวลาท้องผูก หรือเบ่งปัสสาวะเวลาต่อมลูกหมากโตในเพศชาย หรือการยกของหนัก หรือการผลักดันรถ หรือเคลื่อนย้ายของหนักๆ เพราะจะทำให้อาการทางหัวใจกำเริบได้ทันที แต่การออกกำลังกายที่ค่อยเป็นค่อยไปโดยมีการวอร์มอัพ ระยะออกแรงเต็มที่ และจบด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ตัวอย่างเช่นมีการวอร์มอัพ [warm up] ๑๐ นาที, ออกแรง ๑๐ นาที และจบด้วยการผ่อนคลาย [cool down] อีก ๑๐ นาที หรือดูง่ายๆคือไม่ออกกำลังจนเหนื่อยเกินไปจนพูดไม่จบประโยค เพียงเท่านี้ ผู้ป่วยโรคหัวใจก็สามารถออกกำลังกายได้อย่างสบายใจแล้วนะครับ  แต่ถ้าต้องการออกกำลังกายหนักๆเช่น เตะฟุตบอล ตีเทนนิส วิ่งแข่ง อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนนะครับ

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

 

ฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 30 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 07:38 น.• )