สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๖ เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว รักษาอย่างไร เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว อย่าเพิ่งตกใจเพราะการรักษาส่วนใหญ่ไม่ยากคือ ๑. ต้องรักษา แก้ไขปัจจัยเสี่ยงเดิมทั้งหมดให้ดีด้วย ๒. ให้ยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งมีหลายอย่างคงไม่กล่าวในที่นี้ แต่มียาที่ทุกท่านรู้จักดีคือยาอมใต้ลิ้น ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหัวใจตีบ และอาจจะขยายหลอดเลือดแดงส่วนอื่นๆด้วย ดังนั้นอาจเป็น ยาที่เหมือนดาบสองคมคือ

a. ประโยชน์คือแก้เจ็บอก

b. โทษคือ ถ้าไม่ได้เจ็บอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ แล้วไปอมบ่อยๆ จะปวดเวียนหัว อาจหน้ามืดเพราะความดันต่ำได้

วิธีอมยาที่ถูกต้องคือให้อมใต้ลิ้นเวลาเจ็บแน่นอก แล้วนั่งพัก ถ้าผ่านไป ๕ นาทีหลังอมยาไปเม็ดแรกอาการยังไม่ทุเลาให้เตรียมตัวมาพบแพทย์ได้เลย  และระหว่างเดินทางมาก็ให้อมยาเม็ดต่อไปเรื่อยๆ ทุกๆ ๕ นาที เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่รุนแรงได้ทันท่วงที หรือถ้าไม่ใช่โรคหัวใจที่รุนแรงก็ให้แพทย์วินิจฉัยโรคอื่นๆ เพื่อไม่ให้อมยาใต้ลิ้นมากไปจนเกิดโทษ และเพื่อรักษาสาเหตุที่แท้จริงของอาการดังกล่าว

๓. รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบโดยวิธีสวนหัวใจ แล้วใช้บอลลูนขยาย ซึ่งอาจจะร่วมกับการใช้ขดลวดพิเศษ เพื่อค้ำยันไม่ให้หลอดเลือดหัวใจหดตัวกลับมาตีบอีก

ภาพการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน และขดลวดที่ใช้ในการขยาย

๔. การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบที่รุนแรง โดยวิธีผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ โดยนำหลอดเลือดจากที่ขา จากที่แขน หรือใต้กระดูกหน้าอกไปต่อ เชื่อมจากหลอดเลือดแดงใหญ่ ไปสู่ปลายทางให้เลยจุดตีบ

 

ภาพแสดงภายหลังการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ

ความสำคัญที่ทุกท่านต้องจำไว้คือ

๑. แม้ว่าท่านใดจะได้ทำบอลลูน หรือผ่าตัดบายพาส ไปแล้วก็ตาม ก็ต้องดูแลรักษาโรค หรือปัจจัยเสี่ยงเดิมที่มีอยู่ให้ได้ดีตลอดไป เพราะเส้นเลือดที่ถูกบอลลูน หรือนำมาบายพาสนั้น ก็อาจจะมีการตีบมาใหม่ได้

๒. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่มีแต่ความสูญเสียมากทั้งสิ้น

• สูญเสียการทำงานเพราะเจ็บป่วย เสียชีวิต

• สูญเสียทางด้านเงิน ทอง และเศรษฐกิจชาติ เพราะค่ายารักษาค่อนข้างมีราคาแพง รวมทั้งค่าสวนหัวใจ ค่าบอลลูน ค่าบายพาสเสียค่าใช้จ่ายในหลักแสนบาท ในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนต้องอยู่โรงพยาบาลนาน อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเป็นหลักล้านบาททีเดียว นอกจากนี้อย่าลืมคิดเรื่องการสูญเสียรายได้ของผู้ป่วยเอง ของญาติที่ต้องมาเฝ้าดูแล ค่าใช้จ่ายค่ารถในการเดินทางไปรักษาตัว เพราะการทำบอลลูนและผ่าตัดบายพาสต้องทำในจังหวัดใหญ่ๆเช่นเชียงใหม่ ลำปาง หรือกรุงเทพ

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

 

เยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วย แนะนำการปฏิบัติตัว เล่าประสบการณ์ การผ่าตัด

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 06 •สิงหาคม• 2012 เวลา 09:23 น.• )