พระธาตุวัดมหาโพธิ์ สร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยเจ้าหลวงอินทะวิชัยเป็นเจ้าผู้ครองเมืองโกศัย (แพร่) ในปี ๒๓๘๒ “ประวัติพระธาตุวัดมหาโพธิ์ ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ จากแผ่ศิลาจารึกในอุโบสถ วัดมหาโพธิ์ ตัวอักษรเดิมเป็นภาษาล้านนา (ภาษาพื้นเมือง ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อวันศุกร์ ตรงกับปีเป้า ศักราช ๑๒๕ ตรงกะบ พ.ศ. ๒๓๘๖ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ”  เมื่อปี พุทธศักราช ๒๓๘๒ ตรงกับศักราช ๑๒๐๑ เป็นแผ่นดินของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ณ เมืองโกศัย (แพร่) มีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่ได้สำเร็จฌาณสมาบัติชั้นสูง มีพระนามว่า พระมหาเถรหรือครูบาสูงเม่น ได้กลับจากการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและวิปัสนากัมมัฎฐานจากประเทศพม่าของพระมหาเถรหรือครูบาสูงเม่นครั้งนี้ ท่านได้อันเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระอรหันต์มาด้วยจำนวนหนึ่ง และได้นำพระธาตุนี้ขึ้นทูลถวายแก่เจ้าผู้ครองนครเมืองโกศัย(แพร่) ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าหลวงอินทะวิชัย เจ้าผู้ครองนครเมื่อได้รับพระธาตุจากพระมหาเถรแล้วก็ได้ลงไปพระนครและได้เข้าเฝ้าพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงพระนามว่าเจ้าฟ้ามงกุฎเพราะยังมิได้เสร็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และได้ถวายทูลเรื่องราวที่ได้พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากพระมหาเถรให้ทรงทราบ พระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระโกษทองคำให้บรรจุแล้วให้นำไปบรรจุไว้ ณ เมืองโกศัย(แพร่)

เจ้าหลวงอินทะวิชัยก็ได้นำพระโกษทองคำที่บรรจุพระธาตุกลับคืนเมืองโกศัย(แพร่) แล้วก็ได้แสวงหาสถานที่สำหรับสร้างพระเจดีย์บรรจุโกษพระธาตุแสวงหาอยู่หลายวันก็มาพอใจสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยมอยู่ตรงกันข้ามกับตัวเมืองเป็นป่าใหญ่ที่ร่มเย็นมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านซึ่งเป็นสถานที่มีลักษณะถูกต้องตามพระราชดำรัสของพระเจ้าเกล้าทุกประการเจ้าหลวงอินทะวิชัยจึงมีคำสั่งให้ชาวบ้านหมู่หนึ่ง ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากสถานที่ที่จะสร้างพระเจดีย์ประมาณ ๘๐๐ เมตร ชาวบ้านหมู่นี้มีราษฎรประมาณ ๑๐๐ คน ได้ถูกเกณฑ์ให้เข้าแผ้วถางตัดฟันป่าใหญ่แห่งน้ำ พอตัดฟันแผ้วถางไปถึงที่ที่จะสร้างเจดีย์ชาวบ้านก็พบงูเหลือมใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ดุจเจ้าของที่ ชาวบ้านหมู่นี้จึงพากันฆ่างูตัวนั้นและนำไปย่าง การย่างงูตัวนั้นเหมือนกับการย่างหมูเพราะมันอุดมไปด้วยน้ำมันมากนักบางคนก็เอาไปแกงกิน บางคนก็เอาไปต้มยำ พอพวกชาวบ้านกินเนื้องูเข้าไปก็พากันมึนเหมือนเมาเหล้าแล้วก็พากันล้มตายลงด้วยการกินเนื้องูตัวนั้น พวกที่รอดตายเพราะไม่ได้กินเนื้องูก็พากันกลัวจะเกิดอุบาทว์หรืออาเพศก็พากันอพยศออกจากหมู่บ้านนั้นก็ทำให้หมู่บ้านนั้นกลายเป็นหมู่บ้านร้างไป เจ้าหลวงอินทะวิชัยก็พาพระมเหสีองค์หลวงมีชื่อว่า พระแม่สุพรรวดี สร้างพระเจดีย์สำหรับบรรจุโกษพระธาตุขึ้น โดยลงมือขุดองค์พระเจดีย์ เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๔ เหนือ ออก ๘ ค่ำ ปีไก้(กุล) ศักราช ๑๒๐๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๘๒ พอถึงวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำยามพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เจ้าหลวงก็นำเอาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุซึ่งพระเถรหรือพระครูบาสูงเม่นพร้อมด้วยเจ้านายขัตติยราชวงศาทั้งหลายนำขึ้นทูลเกล้าซึ่งได้เอาบรรจุไว้ในพานทองคำจำนวน ๑๑๑๖ องค์ (เม็ดหรือลูก) แล้วนำเข้าบรรจุในโกษแก้วแล้วเอาโกษแก้วบรรจุในโกษทองคำ แล้วเอาโกษทองคำบรรจุเข้าบรรจุในโกษเงิน แล้วเอาโกษเงินบรรจุในโกษทองคำสัมฤทธิ์แล้วเอาโกษทองคำสัมฤทธิ์ขึ้นตั้งหลังช้างซึ่งเจียระไนด้วยแก้วหิน แล้วเอาช้างแก้วบรรจุโกษพระธาตุนี้ขึ้นใส่ในปราสาทไม้สักซึ่งมีความกว้าง ๓ ศอก สูง ๑๐ ศอก แล้วเอาอิฐก่อเป็นเจดีย์ครองแล้วหลูบองค์เจดีย์ด้วยทองจั๋งโก๋ ๑๐๐๕ แผ่น แล้วลงรักปิดทองเปลว ๒ แสนใบ แล้วล้อมพระองค์พระธาตุด้วยรั้วเหล็ก ๔ ด้น มี ๓๖๔ เล่ม พอลุล่วงศึกศักราช ๑๒๐๒ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๘๓ ก็ทำการฉลอง โดยเจ้าหลวงอินทะวิชัยได้ป่าวร้องบอกให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งเมืองโกศัย(แพร่) มาร่วมทำการฉลอง การฉลองพระธาตุวัดมหาโพธิ์ปีพุทธศักราช ๒๓๘๓ ตรงกับศักราช ๑๒๐๒ มีครูบาเจ้ามณีวรรณมิ่งเมืองแก้วเมืองมูล ครูบาเจ้าก๋าวินต๊ะ วัดสำเภาหัวข่วง ครูบาเจ้าปัญญา วัดศรีชุม ครูบาเจ้าเทพวังสา วัดหลวง บ้านกาศ ครูบาแสนวัดดอนไจยหัวดง ครูบาปันเจิงเป็นประธาน ส่วนทายกยิกามีเจ้านายขัตติยราชวงศา เท้าขุนแสน ขุนหมื่น สิบร้อย แก้วหาญ ซึ่งเป็นศรัทธาต้นได้นำเอาแหวงเงินทองไว้ในพระธาตุ เมื่อคราวเจ้าหลวงเอาโกษบรรจุพระธาตุเข้าบรรจะเมื่อเริ่มสร้างทีแรก เมื่อสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุเรียบร้อยแล้วไม่มีชาวบ้านจะปรนนิบัติดูแลเอาใจใส่พระเณรเพราะรอบๆบริเวณพระธาตุตั้งอยู่เป็นป่า ไม่มีหมู่บ้านอาศัยอยู่เจ้าหลวงอินทะวิชัยได้ยกเว้นให้ชาวบ้านทุ่งโฮ้งทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่ให้เสียสี่บาทและไม่ให้ส่งส่วย และเจ้าหลวงได้จัดให้มีงานขึ้นนมัสการกระธาตุทุกๆเดือน ๗ เหนือขึ้น ๑๕ ค่ำของทุกๆปี และครั้งใดที่เจ้าหลวงอินทะวิชัยจัดให้มีงานนมัสการพระธาตุก็ดี ทำบุญใหญ่ๆก็ดี ทอดกฐินหรือผ้าป่าก็ดี ฝนจะตกหนักทุกคราไม่ว่าจะเป็นฤดูใดก็ตาม ยังความแปลกประหลาดมหัศจรรย์แก่ชาวเมืองโกศัยสมัยนั้นมากพอสิ้นรัชการของเจ้าหลวงอินทะวิชัยครองเมืองโกศัยแล้ว การจัดเวรยามเฝ้าปฏิบัติรักษาและงานขึ้นนมัสการพระธาตุก็สูญสิ้นไปตราบเท่าทุกวันนี้

หมายเหตุ พระธาตุองค์นี้ได้มีอายุเกือบสองร้อยปีมาแล้วและได้ชำรุดเสียหายเพราะภัยธรรมชาติ จนกระทั่งองค์พระธาตุแตกร้าวกำแพงรอบๆองค์พระธาตุทรุดโทรมลงบ้างและส่วนยอดก็หักพังลงมา เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุและข้าวของเงินทองอันล้นค่าที่เจ้าหลวงอินทะวิชัยนำเข้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุไม่ให้เสียหาย แม่เจ้าจันทร์แสงโพธิรังสิยากร ผู้ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงอินทะวิชัยพร้อมด้วยบุตรหลาน ได้พากันเป็นศรัทธาต้น เชิญชวนชักนำบรรดาพุทธศาสนิกชนร่วมกันบูรณะซ่อมแซมจนสำเร็จเรียบร้อยและได้ทำพิธียกยอด ในวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๖ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ เหนือปีเม้า(ปีเถาะ) โดยมีพระภัทรสารมุนีเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ แม่เจ้าจันทร์แสง โพธิรังสิยากร เป็นประธานผ่ายคฤหัสถ์ โดยมีพระมหาอุไร อายุวฑฺฒโน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรว่า พระครูวรโพธิคุณ เป็นเจ้าอาวาส

คัดลอกจากแผ่นศิลาจารึกจากภาษาล้านนา(ภาษาพื้นเมือง) เป็นภาษาไทยโดย พ่ออาจารย์มอย วิทยา

แผ่นศิลาจารึกประวัติพระธาตุวัดมหาโพธิ์ สร้างสมัย ร. ๓ โดยเจ้าพระยาอินต๊ะวิชัยและครูบาใหาเถร (กาญจนะ)

ครูบามหาเถร (กัญจนะ) ผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมอบแก่เจ้าอินต๊ะวิชัย สมัย ร. ๓ และนำมาสร้างวัดมหาโพธิ์

พระอธิการมงคล ฉนฺทธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 14 •กันยายน• 2012 เวลา 10:02 น.• )