ต่อจากตอน (๑๑) ๓ เมืองลองยุคสกุลวงศ์เจ้าช้างแดงถึงเจ้าช้างปานตอนกลาง(พ.ศ.๒๐๖๐ – พ.ศ.๒๒๗๐) ยุคนี้คาบเกี่ยวกัน ๒ ช่วง คือ สกุลวงศ์เจ้าช้างแดงและสกุลวงศ์เจ้าช้างปาน หลังจากเจ้าเมืองลองในสกุลวงศ์เจ้าช้างแดงสิ้นสุดลง ได้ตั้งสกุลวงศ์เจ้าช้างปานขึ้นใหม่เมื่อประมาณพ.ศ.๒๑๔๒ โดย “พญาช้างปาน” ซึ่งตั้งแต่สกุลวงศ์เจ้าช้างแดงถึงตอนกลางของสกุลวงศ์เจ้าช้างปาน ก่อนที่จะมีการสถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนขึ้นปกครองล้านนาเป็นช่วงที่เมืองลองมีอิสระสูงมาก จึงแบ่งยุคนี้ตั้งแต่พญาช้างแดงถึงพญาขุนท่า(พ.ศ.๒๐๖๐ - พ.ศ.๒๒๗๐) เป็นเจ้าเมืองลอง สาเหตุที่เมืองลองมีความเป็นอิสระสูงเนื่องจาก ตั้งแต่พญาเกสเชษฐราช (กษัตริย์ล้านนา พ.ศ.๒๐๖๙ - ๒๐๘๑) ถึงสมัยพญาเมกุ (กษัตริย์ล้านนา พ.ศ.๒๐๙๔ - ๒๑๐๗) กษัตริย์มีอำนาจไม่มั่นคง ขุนนางสามารถปลดหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ได้หรือบางเวลาก็ไม่มีกษัตริย์ปกครอง และเจ้าเมืองลำปางก็ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์หรือสืบเชื้อสายเหมือนยุคก่อน แต่ปรากฏมีการโยกย้ายตำแหน่งไปครองเมืองต่างๆ อยู่เสมอ ด้วยความอ่อนแอของศูนย์กลางและ เจ้าเมืองลำปางขาดการสร้างฐานอำนาจภายในเมือง เมืองลองจึงมีความเป็นอิสระระดับหนึ่ง และเพิ่มมากขึ้นหลังจากล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่าในพ.ศ.๒๑๐๑ เป็นต้นมา พม่าได้ส่งคนพม่าหรือเจ้าฟ้าในรัฐฉานมาเป็นเจ้าเมืองลำปาง ส่วนเมืองลองแม้ว่าจัดให้เป็นหนึ่งใน ๕๗ หัวเมืองของล้านนาที่ขึ้นกับพม่า แสดงถึงเมืองลองเป็นเมืองสำคัญใน สายตาของพม่าระดับหนึ่ง สันนิษฐานว่าเพราะมีแร่เหล็กที่ปรากฏหลักฐานกษัตริย์พม่ามีรับสั่งให้บางหัวเมืองในล้านนาส่งส่วยเหล็กให้ราชสำนักพม่า แต่ด้วยเมืองลองมีขนาดเล็กและได้เป็นเมืองขึ้นของเมืองลำปางอยู่แล้ว พม่าจึงปล่อยให้มีเจ้าเมืองสืบทอดเชื้อสายตามเดิม ขณะที่เจ้าเมืองลำปางก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวภายในเมืองลอง แม้การกัลปนาก็ให้มีตัวแทนเข้ามาจัดการ เช่น พญาศรีสองเมือง เจ้าเมืองลำปางกัลปนาพื้นที่ให้สร้างวัดพระธาตุศรีดอนคำพ.ศ.๒๑๖๙ หรือเจ้าฟ้าหลวงลายข้า เจ้าเมืองลำปางกัลปนาเขตพระอุโบสถวัดพระธาตุศรีดอนคำพ.ศ.๒๒๐๑ “รวมอุโบสถทังมวลมี ๕๒๘๒๘ รอมยามทังมวลมี ๖๓๓๙๔๙๖ รอมนาทีทังมวลมี ๔๗๕๔๖๒๒๐ นาที เมื่อเช่นเจ้าฟ้าหลวงเมืองลายข้า ตนเปนลูกเจ้าฟ้าหลวงเสือก่อนฟ้า เปนหลานเจ้าฟ้าหลวงเสือจ้อได้มากินเมืองนคร บังเกิดพระราชสัทธายินดีในแก้วทังสาม จิ่งหื้อข้าในตนชื่อชั้นใน เปนอุปทูต หมื่นหละจิตรสาร เปนอนุทูต จำทูลอาชญามาเวนที่หื้อเปนทานแก่สังฆเจ้าในเมืองลอง ลวงกว้างมี ๒๗ วา ลวงยาวมี ๓๕ วา ได้ตั้งเสาเขตสี่เสาในแจ่งวัดทังสี่ พระสังฆเจ้าทังมวลมีแปดพระองค์ ก็ได้หื้อทานแล้วบอระมวลวันนั้นแล”

เมื่อศูนย์กลางอำนาจขาดความเข้มแข็ง เมืองบริวารยิ่งห่างไกลออกไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีอิสระจากศูนย์กลางอำนาจมากขึ้นเท่านั้น เจ้าเมืองลองจึงสร้างเสถียรภาพทางอำนาจให้กับตนเองเพื่อการยอมรับของคนภายในเมืองและเมืองบริวาร เริ่มแรกต้นสกุลวงศ์คือพญาช้างแดงสามารถขึ้นเป็นแม่ทัพช่วยพญาหัวเมืองแก้วปกครองเมืองลอง และสามารถขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองได้ในเวลาต่อมา สันนิษฐานว่าต้องเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้ว ที่อาจเป็นบุตรหลานอดีตเจ้าเมืองหรือ ขุนนางจึงสามารถควบคุมคนภายในเมืองให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้อำนาจได้ พญาหัวเมืองแก้วจึงได้เลือกให้เป็นผู้ช่วยปกครองที่อยู่ในลักษณะ “ให้คนท้องถิ่นปกครองคนในท้องถิ่น” ดังนั้นด้วยเป็น ผู้มีฐานอำนาจอยู่ภายในพื้นที่ จึงส่งอำนาจให้กับทายาทเป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาอีกหลายชั่วคน ขณะเดียวกันเจ้าเมืองลองรุ่นต่อๆ มาก็อาศัยความมีอิสระสร้างพันธมิตรกับหัวเมืองใกล้เคียง ดัง พญามิเนยยะ เจ้าเมืองลอง ได้เชิญเจ้าเมืองฝาง(สวางคบุรี)และเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย หัวเมืองชายแดนของอาณาจักรอยุธยาร่วมกันบูรณะพระธาตุแหลมลี่เมื่อปีพ.ศ.๒๑๓๐ หลังจากเมืองลองอยู่ภายใต้การปกครองของสกุลวงศ์เจ้าช้างแดงร่วม ๘๐ กว่าปี จึงเปลี่ยนสายอำนาจใหม่เป็นสกุลวงศ์เจ้าช้างปานในช่วงประมาณพ.ศ.๒๑๔๒ ในช่วงนี้สถานการณ์ภายในเมืองลองมีความวุ่นวาย เนื่องจากหัวเมืองในล้านนามีการฟื้นพม่าอยู่เสมอที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเมืองลอง ดังตำนานพระธาตุศรีดอนคำกล่าวถึงการสร้างพระธาตุว่า “...ได้ก่อ ๓ ชั้นบ่ทันแล้ว พระญาเมืองน่าน(เจ้าเชษฐบุตร - ผู้เขียน)ฟื้นไพตกเมืองใต้เสีย ลวดบ่ลุกแล...” ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างร่วม ๔๖ ปีจึงแล้วเสร็จ การต่อต้านพม่าของหัวเมืองล้านนาทำให้เจ้าเมืองลองในสกุลวงศ์ของเจ้าช้างแดงสิ้นสุดลง เพราะได้เสียชีวิตเมื่อออกรบ ด้วยภาวะสถานการณ์ความวุ่นวายจึงเปิดโอกาสให้บุรุษชาวเมืองลองผู้อาสาจับช้างลายเสือที่กินข้าวไร่ของชาวเมือง และนำขึ้นถวายให้เจ้าเมืองลำปางได้ขึ้นเป็นพญาช้างปาน เจ้าเมืองลอง โดยปีก่อนหน้าพญาช้างปานขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง มีเหตุการณ์สำคัญ คือล้านช้างฟื้นพม่าแต่ไม่สำเร็จจึงเข้ามาตีหัวเมืองในล้านนา และอยุธยาก็เข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ เหตุการณ์ครั้งนี้คงมีผลกระทบต่อหัวเมืองในล้านนาโดยทั่วกันตำนานพื้นเมืองต่างๆ จึงบันทึกไว้ตรงกันทั้งพื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมืองเชียงแสน พื้นเมืองน่าน และตำนานภายในเมืองลอง ซึ่งตำนานพระธาตุศรีดอนคำระบุว่า “...ล่ำดับมาเถิงปีเปิกเส็ดพ่ายลาวหลวงแล เมื่อสราชได้ ๙๖๐ ตัว พุทธสาสนา ๒๑๔๑ พระวสา...” สันนิษฐานว่าเมืองลองได้รับความเสียหายพร้อมกับกลุ่มผู้ปกครองจำนวนหนึ่งในคราวนี้แต่สามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว เพราะปีต่อมาพระสังฆราชา วัดฟ่อนสร้อย (ปัจจุบันอยู่ในตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่) ได้หนีข้าวยากหมากแพงมาจากเมืองเชียงใหม่เข้ามาจำพรรษาและสักการะพระธาตุในเมืองลอง และยังปรากฏมีหมื่นจ่าลองเป็นขุนนางอยู่ภายในเมือง ดังนั้นพญาช้างปานได้เป็นเจ้าเมืองลองในปีนี้ โดยการนำช้างขึ้นถวายเจ้าเมืองลำปางเพื่อขอรับรองแต่งตั้งและรับรองอำนาจ สันนิษฐานว่าพญาช้างปานมีสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับ เจ้าเมืองลองในสกุลวงศ์เจ้าช้างแดง เพราะไม่เช่นนั้นเจ้าเมืองลำปางควรรับรองแต่งตั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ยังอยู่ภายในเมืองขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง เพื่อเป็นที่ยอมรับและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจ ทางด้านการปกครองสันนิษฐานว่าได้รับสืบทอดมาจากสมัยพญาหัวเมืองแก้วที่ได้จัดไว้เป็นระบบโดยเฉพาะเรื่องส่วย เจ้าเมืองลองกินตำแหน่ง “แสน” เจ้าเมืองต้ากินตำแหน่ง “หมื่น” ส่วนขุนนางมียศเป็น “หมื่น” เช่น หมื่นฟ้าป้อม หมื่นฟ้าไหม้ หัวศึก(แม่ทัพ)เมืองลอง, หมื่นจ่าลอง(พ.ศ.๒๑๔๒) บ้านนา มีหน้าที่ตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และหมื่นชินธาตุ(พ.ศ.๒๒๑๕) บ้านฮ่องอ้อ มีหน้าที่ดูแลพระธาตุและการศาสนา สันนิษฐานว่ากลุ่มตำแหน่งหมื่นกลางโฮง แสนบ่อ และพ่อเมือง ที่มีหน้าที่เลี้ยงผีเมืองและเกณฑ์ทำส่วยเหล็กต้องมีแล้ว ส่วนตำแหน่ง “พัน” ไม่ปรากฏในเมืองลอง แต่มีในเมืองต้าคือ “พันสาด” (ออกเสียงว่า “ปันสาด”) มีหน้าที่เก็บข้าวที่เป็นนาหลวงเมืองต้า ด้วยการเป็นเมืองชายขอบอำนาจจึงทำให้เมืองลองมีความเป็นอิสระอย่างสูง ประกอบกับเจ้าเมืองลองก็เป็นบุคคลภายในท้องถิ่นที่สืบเชื้อสายกัน เมืองลองจึงมีสถานะเสมือนเป็นรัฐกึ่งอิสระจัดการปกครองกันเองกับเมืองบริวารภายในแอ่งลอง

(๔) เมืองลองยุคสกุลวงศ์เจ้าช้างปานตอนกลางถึงตอนปลาย (พ.ศ.๒๒๗๐ – พ.ศ.๒๔๔๒) ช่วงพญาคำลิ่ม ถึง พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เป็นเจ้าเมืองลอง ยุคนี้นครลำปางเริ่มเข้าควบคุมเมืองลองอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะล้านนามีกลุ่มอำนาจใหม่คือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน โดยผู้เป็นบูรพกษัตริย์ปฐมราชวงศ์ คือ ขนานทิพจักร เมืองลำปาง “...เปนผู้มีสติปัญญากล้าแข็งว่องไว ฉลับเฉลียวฉลาดด้วยยิงสีนาด(ปืน)แลธนู...” ที่เดิมเป็นนายบ้าน หมอคล้องช้าง มีพละกำลังมากจนสามารถวิ่งติดตามจับหางช้างที่กำลังวิ่งให้ช้างหยุดได้ จนได้รับสมญานามว่า “หนานทิพย์ช้าง” และที่สำคัญขนานทิพจักรเป็นช่างตีเหล็ก จึงมีความคุ้นเคยกับเมืองลองเป็นเบื้องต้น ดังเมื่อเป็นผู้นำกอบกู้เมืองลำปาง “...ทิพจักรวเนจอรจิ่งปั้นเอาฅนดีไว้เนื้อเชื่อใจกันมีสามฅน คือ หมื่นยศ(หนาน อินถา บ้านนายาบ )๑ หมื่นชื่น(หนานทิพปาละ บ้านสามขา) ๑ น้อยทะ(หมื่นจิต บ้านนายางหรือบ้านหลุก) ๑...”  เป็นกลุ่มคนหมู่บ้านแถบเชิงเขาลุ่มน้ำแม่จาง(อำเภอแม่ทะ) ที่เป็นทางผ่านก่อนข้ามเขาทางกิ่วระสีเข้ามาขุดแร่เหล็กในเมืองลอง และเมื่อสถาปนาขนานทิพจักรขึ้นเป็น “เจ้าทิพเทพบุญเรือง” ก็เกณฑ์ไพร่พลเข้าถลุงเหล็กจากเมืองลองเพื่อผลิตอาวุธ ดังปรากฏในค่าวเจ้าเจ็ดตน ฉบับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ กล่าวถึงใช้ดาบเหล็กลองทดสอบขนานทิพจักรที่วัดศรีล้อม เมืองลำปางว่า  “...หื้อคนทั้งหลาย เอาแส้ค้อนไม้ มาตีต่อหน้า คนชุม สไบแผ่นทุ้ม ลวดชุมสูญหาย กลายเป็นแมว นอนหงายล้องหง้อง เอาดาบเหล็กลอง ฟันลงหื้อต้อง บ่ห่อนไป ถูกเนื้อ...” เมื่อทำการสำเร็จได้ราชาภิเษกเป็น “พญาสุลวะลือไชย” กษัตริย์นครลำปางเอกราช (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๒) ภายหลังเพื่อเพิ่มสิทธิธรรมการขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงได้โปรดให้โป่หม่องมยู เมืองเชียงตุงนำเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีกับ พระเจ้าทนินกันเว กษัตริย์พม่า(พ.ศ.๒๒๕๗ - ๒๒๗๖) ราชวงศ์ตองอูตอนปลาย(หญ่าวยัน) และได้พระนามจากกษัตริย์พม่าว่า “เจ้าพญาไชยสงคราม” (หรือที่นิยมเรียกพระนามว่า “เจ้าพญาสุลวะลือไชยสงคราม”) มีเชื้อสายเป็นเจ้าครองหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา ด้วยปัจจัยของการสร้างสิทธิธรรมขึ้นใหม่ของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ป้องกันการรุกรานของสยามช่วงต้นรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี(พระเจ้าตากสิน) ประกาศอิสระจากการปกครองของพม่า ตลอดถึงกวาดต้อนผู้คนเพื่อสร้างความมั่นคงให้หัวเมืองของล้านนา ดังนั้นนอกจากกำลังไพร่พล เสบียงอาหาร “เหล็ก” จึงมีความสำคัญเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างมากเพื่อใช้ผลิตอาวุธ ดังเจ้าพญาสุลวลือไชยสงคราม(เจ้าขนานทิพจักร) ปฐมราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เมื่อทรงเป็นผู้นำกอบกู้เมืองลำปางก็ใช้เหล็กจากเมืองลองผลิตอาวุธ หรือเชื้อสายรุ่นต่อมาที่ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ของล้านนา เช่น พระเจ้ากาวิละ(พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๕๘, รุ่นหลาน) และพระเจ้ามโหตรประเทศ(พ.ศ.๒๓๙๐ - ๒๓๙๗, รุ่นเหลน) เมื่อได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ก็ได้เข้าควบคุมแหล่งเหล็กเมืองนครเชียงใหม่อย่างใกล้ชิด ดังนั้นเมืองลองเป็นแหล่งแร่เหล็กสำคัญที่ใช้ผลิตอาวุธ และผูกพันกับปฐมบูรพกษัตริย์ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เจ้าผู้ครองนครลำปางจึงได้เข้าควบคุมอย่างใกล้ชิดมากกว่ายุคก่อนที่ผ่านมา โดยเฉพาะถือว่าเป็นราชประเพณีต้องเสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเลี้ยงผีบ่อเหล็กเมืองลองประจำทุกปี

พระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่า (พ.ศ.๒๓๙๖ – ๒๔๒๑) (ที่มา : สิ้นชาติสิ้นแผ่นดินการล่มสลายของราชวงศ์ในพม่า)

 

จารึกเจ้าฟ้าเมืองลายข้า เจ้าเมืองลำปาง กัลปนาเขตอุโบสถวัดพระธาตุศรีดอนคำ ในพ.ศ.๒๒๐๑ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

 

เจ้าพญาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าขนานทิพจักร) กษัตริย์นครลำปางเอกราช พ.ศ.๒๒๗๕ – ๒๓๐๒ (ที่มา : เจ้าหลวงเชียงใหม่)

 

มุมหนึ่งของคุ้มหลวงเจ้าผู้ครองนครลำปาง (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 18 •กันยายน• 2012 เวลา 11:26 น.• )