การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต ระบบโครงสร้างการปกครองภายในเมืองลอง ยุคนี้ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะยังอยู่ในสายสกุลวงศ์เจ้าช้างปาน แต่ยศเจ้าเมืองลองเลื่อนขึ้นเป็น “แสนหลวง” หรือ “พญา” เจ้าเมืองต้าเมืองขึ้นเป็น “แสน” นำมาสู่ยศตำแหน่งของขุนนางภายในเมืองหากมีความดีความชอบก็จะเลื่อนสูงขึ้นตามลำดับ คือ หมื่น, หมื่นหลวง, หาญ, ท้าว, แสน, แสนหลวง และพญา โดย “พญาเจ้าเมืองลอง” มีอำนาจราชศักดิ์สูงสุดภายในเมือง เป็น “เจ้าชีวิต” มีอำนาจสั่งประหารชีวิตได้ ตามฐานันดรศักดิ์ชาวเมืองถือว่าเจ้าเมืองเป็น “เจ้า” จึงเรียกว่า “เจ้าพญา” หรือ “พ่อเฒ่าเจ้า” เรียกชายาเอกของเจ้าเมืองว่า “แม่เจ้า” ส่วนเจ้าผู้ครองนครลำปางชาวเมืองลองจะเรียกว่า “เจ้าหอคำ” ความเป็น “เจ้า” ในเมืองลองสืบทอดตามความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าเมืองเป็นสำคัญและจะสิ้นสุดลงในชั้นหลาน เป็นการจำกัดจำนวน “เจ้า” และผู้ที่มีสิทธิ์ขึ้นเป็นเจ้าเมือง ขณะเดียวกันก็มีการจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกัน ของเจ้าผู้ครองนครในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนกับเจ้าเมืองลองในสกุลวงศ์เจ้าช้างปาน ดังเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มีพระราชอาชญาประหารชีวิตโดยใช้ดาบตัดศีรษะ เจ้าผู้ครองนครลำปางใช้หอกเสียบอก เจ้าผู้ครองนครลำพูนใช้หอกเสียบเอว เจ้าเมืองลองใช้หลาวแทง จัดขบวนพิธีการภายในเมืองเจ้าเมืองลองสามารถนั่งม้ากางจ้องคำแต่ไม่สามารถนั่งช้างเลียบเมืองกางสัปทนได้อย่างเจ้าผู้ครองนคร หรือขุนนางเค้าสนามหลวงในนครประเทศราชจะมียศสูงกว่า “พญา” คือ “เจ้าพญา” ในขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับรอง “เจ้าพญาหลวง”(พญาหลวง) ระดับพญาพื้นหรือพ่อเมืองทั้ง ๔ (ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี ๑ คน และอรรคมหาเสนา ๓ คน) การปกครองส่วนกลางของเมืองลองมีเค้าสนามอยู่บ้านดอนทราย (อดีตเรียกรวมว่าบ้านฮ่อง อ้อ) มีพญาแสนท้าวนั่งการเมือง ๑๒ ขุนเหนือเค้าสนาม แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ พ่อเมืองทั้ง ๔ และขุนเมืองทั้ง ๘ พ่อเมืองทั้ง ๔ มีอำนาจรองลงมาจากเจ้าเมือง เป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง และหัวหน้าขุนนางเค้าสนาม พญาพื้นหรือพ่อเมืองลองทั้ง ๔ กลุ่มสุดท้าย คือ

(๑) พญาวังใน(พญาสิทธิวังใน) ปฐมเสนาบดี (บ้านดอนทราย) มีหน้าที่ด้านการปกครอง

(๒) พญาราชสมบัติ เสนาบดีที่ ๒ (บ้านดอนทราย) มีหน้าที่ด้านการคลัง

(๓) พญาประเทศโสหัตติ เสนาบดีที่ ๓ (บ้านดอนมูล) มีหน้าที่ด้านการยุติธรรม

(๔) พญาเมืองชื่น(พ่อเมืองชื่น) เสนาบดีที่ ๔ (บ้านห้วยอ้อ) จัดพิธีเลี้ยงผีเมือง,เกณฑ์ทำส่วย

โดยพ่อเมืองทั้ง ๔ จะมีตำแหน่งผู้ช่วยระดับรองลงมาอีก เช่น แสนพ่อเมือง แสนหลวง แสนเมืองชื่น แสนเมืองคำ  แสนสมบัติ(บ้านห้วยอ้อ) แสนเมืองมิ่ง(บ้านนาปง) แสนมิ่งเมืองมูล(บ้านนาตุ้ม) แสนอินทะ แสนอินทจักร แสนอินทวิไชย แสนสิทธิ และแสนอำนาจ  เป็นต้น ส่วนขุนเมืองทั้ง ๘  มีหน้าที่หลัก คือ

(๑) แสนบ่อ ดูแลรักษาบ่อเหล็กและบ่อแร่ธาตุต่างๆ เกณฑ์ช้างม้าและควบคุมขบวนส่งส่วย และเกณฑ์ช่างหมู่บ้านต่างๆ ทำอาวุธในยามสงคราม มีตำแหน่งผู้ช่วย คือ “หมื่นหมอง่อน” ทำหน้าที่ประหารชีวิตนักโทษ (วิธีประหารคือเอาปูนคาดคอนักโทษแล้วใช้ดาบฟันได้ ๓ ครั้ง หากยังไม่ตายใช้หลาวไม้แทงหัวใจ) และเป็นผู้ประหารโดยใช้หอกแทงในพิธีพลีกรรมเลี้ยงผีเมืองลอง(บ่อเหล็ก)

(๒) หมื่นกลางโฮง(หมื่นโฮง,บ้านนาตุ้ม) ดูแลรักษา เกณฑ์คนซ่อมแซม และจัดการเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับโฮงไชยผีเมืองและคุ้มกลางน้ำ(คุ้มวังถ้ำ)ของเจ้าผู้ครองนครลำปางที่บ้านนาตุ้ม

(๓) หมื่นกลางศาล(บ้านดอนทราย) ดูแลเรื่องราวต่างๆ ที่เค้าสนามเมืองลอง ตลอดถึงเกณฑ์ซ่อมแซมโฮงไชย(คุ้ม)เจ้าเมืองลอง

(๔) จเรหลวง(จ่าเรหลวง) เป็นเสมียนหรืออาลักษณ์คัดลอกคัมภีร์ใบลานและจดบันทึกเอกสารต่างๆ มีตำแหน่ง เช่น แสนแก้ว(บ้านปิน) หมื่นปัญญาราช(บ้านดอนทราย) จะอยู่ประจำที่เค้าสนามจึงเรียกว่า “จเรหลวงฮ่องอ้อ” โดยมีจเรที่รองลงมาอยู่ตามแคว้นหรือหมู่บ้านต่างๆ

(๕) หัวศึกเมือง(แม่ทัพ) เป็นหัวหน้าและเกณฑ์ไพร่พลช้างม้ายามมีศึกสงคราม ยามปกติก็ดูแลรักษาความสงบภายในบ้านเมือง เช่น แสนไชยยะปราบเมือง(บ้านนาตุ้ม, ช่วงพญาเววาทะภาษิต) แสนไชยชนะ(บ้านห้วยอ้อ, ช่วงพญาไชยชนะชุมพู) แสนไชยมงคล(บ้านนาจอมขวัญ, ช่วงพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ) มีตำแหน่งหัวหน้าหมวดหมู่ และผู้ช่วยระดับรองลงมา เช่น แสนเขื่อนแก้ว แสนเขื่อนคำ(บ้านดอนทราย) แสนเขื่อนขัณฑ์(บ้านนาตุ้ม) แสนเขื่อน(บ้านแม่ลานเหนือ) แสนธนู(บ้านห้วยอ้อ) ท้าวจอมฟ้าหาญ(บ้านนาหลวง) หมื่นคำเรืองฤทธิ์(บ้านนาตุ้ม) หมื่นปิงเมือง(บ้านห้วยอ้อ) หมื่นชุมพล(หมื่นนำพล)(บ้านนาแก) หมื่นพลหาญ หมื่นพลหอก หาญฟ้าเลื่อน หาญฟ้าห้าว และหาญเมืองป้อ เป็นต้น

(๖) เสนารักษ์ ดูแลรักษาและเกณฑ์คนซ่อมแซมเหมืองฝายกลางเมือง ของลำห้วยแม่อ้อ ห้วยแม่กางและสาขา ได้แก่ ฝายไผ่ ฝายแม่กาง ฝายแม่อ้อ ฝายยม ฝายเง็ง และฝายหนอง รวมไปถึงจัดเลี้ยงผีฝาย จัดการเกี่ยวกับเรื่องนาเรื่องข้าว เกณฑ์ทำนาหลวง และเป็นล่ามกับหมื่นฝาย(เจ้าฝาย)อื่นๆ มีตำแหน่ง เช่น แสนไจนา โดยเรียกผู้ทำหน้าที่นี้ว่า “เสนารักษ์”

(๗) ล่ามเมือง ติดต่อกับต่างเมือง เป็นล่ามระหว่างเค้าสนามกับพ่อแคว้นนายบ้าน และจัดการเรื่องแขกบ้านแขกเมือง เช่น แสนแขกแก้ว แสนเมืองมา ท้าวโองการ หมื่นพองคำ หมื่นสืบคำ หมื่นลิ้นตอง หมื่นลิ้นคำ หมื่นต่างใจ หมื่นสืบต่างใจ เป็นต้น

(๘) แสนวัด มีหน้าที่เกณฑ์คนดูแลรักษาซ่อมแซมพระธาตุในเมืองลอง ดูแลวัดหลวงฮ่องอ้อ จัดพิธีการพุทธศาสนาของเมือง เป็นโหรหลวง เป็นล่ามกับหมื่นวัดและปู่จ๋าร์หัววัดต่างๆ ตำแหน่งนี้ เช่น แสนราชสมภาร แสนปงลังกา แสนมังคละ แสนเทพมงคล แสนศิริ(บ้านดอนทราย) แสนชินการ(ย้ายไปตั้งหมู่บ้านนาแก) เป็นต้น

ส่วนผู้ช่วยพญาแสนท้าวนั่งการเมือง ๑๒ ขุนเหนือเค้าสนาม ไม่จำเป็นต้องได้รับแต่งตั้งให้มียศศักดิ์ทั้งหมด เช่น หนานกันทะสอน และหนานอิสระ มีตำแหน่งจเร(เสมียน) ที่เป็นผู้ช่วยของแสนแก้ว จเรหลวง แต่เมื่อมีผลงานดีจึงค่อยได้รับการแต่งตั้งยศศักดิ์ในภายหลัง หน่วยการปกครองของเมืองลองแบ่งออกเป็น ๔ แคว้น คือ แคว้นฮ่องอ้อ แคว้นหัวทุ่ง แคว้นทุ่งแล้ง และแคว้นวังชิ้น แต่ละแคว้นมีหลายหมู่บ้านอยู่ภายใต้การปกครอง มีขุนนอกเค้าสนามปกครองตามลำดับชั้น คือ พ่อแคว้น(กำนัน) เช่น แสนขัณฑ์ พ่อแคว้นหัวทุ่ง แสนบ่อ พ่อแคว้นฮ่องอ้อ หลักบ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน) เช่น แสนไชยวงศ์ บ้านแม่ลานเหนือ หมื่นคำลือ บ้านแม่ลานใต้ หมื่นกลางโฮง บ้านนาตุ้ม หมื่นยาวิไชย บ้านปงท่าช้าง หมื่นอินต๊ะ บ้านนาหลวง หมื่นชุมพล บ้านนาแก และหมื่นมหาวงศ์ บ้านแม่บง ตลอดถึงตำแหน่งหมื่นวัด หมื่นฝาย จเร และล่าม ส่วนหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยง(ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า) เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลองตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๓๐๑ – ๒๔๐๐) เจ้าเมืองลองจะแต่งตั้งผู้นำกะเหรี่ยงในชุมชนนั้นขึ้นเป็นพ่อก๊าง(ผู้ใหญ่บ้าน) เช่น แต่งตั้งนายจีอั้วเป็นหมื่นไชยสะหรี(ไชยศรี) บ้านค้างใจ หมื่นคำปัน บ้านค้างคำปัน หมื่นคำแสน บ้านค้างคำแสน ฯลฯ ซึ่งบางตำแหน่งนอกจากเป็น “ขุนเหนือเค้าสนาม” เมื่ออยู่หมู่บ้านไหนก็อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ขุนนอกเค้าสนาม” ผู้นำหมู่บ้านนั้นด้วยเพื่อป้องกันการทับซ้อนทางอำนาจ และหากเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ยุคนั้นถือว่าเป็นคนต่างชาติต่างภาษา ก็รับรองแต่งตั้งผู้นำชาวกะเหรี่ยงให้ปกครองดูแลกันเองโดยอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าเมืองลอง

ส่วนไพร่ของเมืองลองแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ

(๑) ไพร่ชั้นดี เป็นไพร่ที่มีฐานะหรือมีความรู้ความสามารถ เช่น พ่อค้า ช่างเหล็ก ช่างคำ ช่างเงิน ช่างไม้ ช่างทอผ้า หมอยา ฯลฯ ไพร่กลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะได้เลื่อนสถานะทางสังคมขึ้นเป็นขุนนาง

(๒) ไพร่น้อยเป็นไพร่ฐานะธรรมดาประกอบอาชีพทำไร่ทำนาไม่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ มีโอกาสเลื่อนสถานะน้อยหากไม่ถูกเกณฑ์ก็แทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบ้านงานเมือง

ไพร่ในเมืองลองกลุ่มแรกจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าไพร่กลุ่มที่สอง เช่น เมื่อขาดแคลนข้าวก็สามารถใช้วิชาชีพแลกข้าวมาบริโภค แต่ไพร่กลุ่มที่สองเมื่อขาดแคลนข้าวที่มักไม่มีข้าวบริโภคตลอดปี อันมีปัจจัยสำคัญมาจากฝนแล้งและมีที่นาน้อย หากปีไหนเก็บเกี่ยวข้าวนาหรือข้าวไร่ได้น้อย จึงต้องหาทางออกโดยนำกลอย หัวเผือก หรือหัวมันมาบริโภคแทนข้าว ดังบันทึกของเมอร์ซิเออร์ กรังย็อง(Grandieam) ผู้เผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิค ชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางผ่านเมืองลองในพ.ศ.๒๓๘๗ ว่าปีนี้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวได้ไม่พอบริโภคจึงต้องรับประทานมัน(กลอย)กับตาของต้นไม้(หน่อไม้) แต่ในส่วนของมูลนายระดับตั้งแต่แก่บ้านขึ้นไป เนื่องจากมีที่นาจำนวนมากแม้เก็บเกี่ยวได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ยังมีข้าวเพียงพอให้บริโภคตลอดทั้งปี อาหารแต่ละมื้อของมูลนายก็จะดีกว่าชาวบ้านทั่วไป ดังเมอร์ซิเออร์ กรังย็องบันทึกว่าที่เรือนของแก่บ้านมีเนื้อสัตว์ ผักต้ม(แกง)ให้รับประทาน แต่อย่างไรก็ตามไพร่ในเมืองลองเมื่อเดือดร้อนขาดแคลนข้าวจนยากจะทนได้ ก็ยังสามารถหาทางออกโดยการหยิบยืมข้าวจากนาพระธาตุ(นาวัด) นาผีเมือง นาเจ้าเมือง หรือนาแสนท้าว จึงเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ สามารถยึดโยงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นปกครองเมืองลองได้เป็นอย่างดี ส่วนทาสมีจำนวนน้อย ผู้ครอบครองทาสมีเพียงเจ้าเมือง แม่ทัพ หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเจ้าผู้ครองนครลำปางประทานเชลยให้หลังเกณฑ์กองทัพร่วมออกรบ เรียกว่า “ข้าปลายหอกงาช้าง” หรือมีบุตรหลานสืบมาเป็น “ข้าหอคนโฮง” ทาสจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องการ กินอยู่ เนื่องจากได้รับการอุปถัมภ์ดูแลและเลี้ยงดูจากเจ้าของทาส

ด้านการยุติธรรม เมื่อเกิดคดีความจะตัดสินเป็นระดับ คือ คดีความระหว่างลูกบ้าน เช่น การทำไร่ทำนา ทะเลาะวิวาท ให้ว่าความที่บ้านแก่บ้านให้แก่บ้านตัดสิน คดีความระหว่างหมู่บ้านในแคว้นด้วยกันให้ว่าความที่บ้านพ่อแคว้นให้พ่อแคว้นตัดสิน หากหมู่บ้านต่างแคว้นให้ว่าความที่เค้าสนามให้ขุนเหนือเค้าสนามตัดสิน และหากเป็นคดีใหญ่หรือคดีระหว่างเมืองต้องให้เค้าสนามหลวงนครลำปางเป็นผู้ตัดสินโดยแต่งทนายจากเมืองลองไปร่วมว่าความด้วย ทนายว่าความของเมืองลองกลุ่มสุดท้ายมี ๓ คน คือ แสนบ่อ(บ้านห้วยอ้อ) น้อยเทพ(บ้านดอนทราย) และแก้วกฎหมาย(บ้านนาหมาโก้ง) โดยพ่อแคว้นและแก่บ้านสามารถเป็นทนายว่าความให้กับลูกบ้านได้ด้วย

อาจารย์ ภูเดช แสนสา

หีดธรรม(หีบเก็บคัมภีร์ใบลาน)สร้างถวายโดยพญาประเทศโสหัตติเมื่อพ.ศ.๒๔๔๓  มีคำจารึกอักษรธรรมล้านนาว่า  “สักกราช  ๑๒๖๒ ตัว  ปีใจ้  เดือน  ๑๒  สัทธาพญาประเทศโสหัตติ  พร้อมกับด้วยภริยา  ลูกเต้าชู่ฅน  ได้ส้างหีดธัมม์เปนทานแล” (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๔)

 

ชาวกะเหรี่ยงบ้านค้างตะนะในปัจจุบัน ร่วมฟ้อนนำครัวทานกินข้าวสลากที่วัดนาตุ้ม (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๐)

 

เค้าสนามหลวงเมืองนครลำปาง (ที่มา : หจช. ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๔๕)

 

ศาลประจำเมืองนครลำปาง (ที่มา : หจช. ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๓๖ - ๒๔๕๓)

 

ลงโทษโดยการเฆี่ยนของล้านนาในอดีต (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

ลงโทษโดยการเกณฑ์สร้างถนนในเมืองนครลำปางในอดีต (ที่มา : พระราชทานเพลิงศพพระครูวิศาลศีลวัฒน์)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 23 •กันยายน• 2012 เวลา 19:49 น.• )