สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๑๒ โรคเบาหวานกับหัวใจเกี่ยวข้องกันอย่างไร เมื่อเอ่ยถึงโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว หลายๆท่านคงคิดถึงแต่ไขมัน โคเลสเตอรอล แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไขมันยังร้ายน้อยกว่าโรคเบาหวาน ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือดทุกราย แต่หากเป็นเบาหวานแล้ว รับรองได้ว่าหากท่านไม่ดูแลตัวเองให้ดี หรือแม้แต่ดูแลอย่างดีแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ในอัตราที่สูงมาก ดังนั้นเบาหวานจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัว อีกอย่างหนึ่งสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้ได้อย่างเต็มที่ สาเหตุเนื่องจากขาดฮอร์โมน อินซูลิน หรือ ไม่ขาด ฮอร์โมน แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนตัวนี้ ผลที่ตามมาคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ  ปัจจุบัน หากระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะหลังงดอาหาร ๘ ชั่วโมงแล้ว ยังสูงกว่า ๑๒๖ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เราก็เรียกได้ว่าเป็น "โรคเบาหวาน" ได้แล้ว ระดับน้ำตาลที่สูงนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา ต่างๆตามมา ที่สำคัญคือเป็นตัวการเร่งให้เกิดการเสื่อม ของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงสมอง หัวใจ ตา ไต แขน-ขา รวมทั้ง หลอดเลือดแดงเล็กๆที่เลี้ยง ปลายประสาทอีกด้วย ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดงเหล่านี้ ดังนั้นจะเห็นว่า "โรคเบาหวาน" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อ โรคทางสมอง อัมพาต โรคระบบประสาท โรคหัวใจ โรคไต โรคตา ( ไตเปลี้ย เสียขา ตาบอด)แม้กระทั่งโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ด้วย

เบาหวานอันตราย เป็นภัยร้ายต่อหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นโรคหัวใจได้ใน ๒ ลักษณะ คือ เมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมจากเบาหวาน ร่วมกับการที่มีไขมันในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด และหากอุดตันก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา นอกจากนั้นแล้ว พบว่าในผู้ป่วยเบาหวานบางราย กล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อยกว่าปกติ บีบตัวน้อยกว่าปกติมาก แต่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่ได้ตีบตัน กลุ่มนี้เชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ จากเบาหวาน ซึ่งยากต่อการรักษา การรักษาที่ดีที่สุดของกลุ่มหลังนี้ คือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในผู้ป่วยเบาหวาน คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคหัวใจขาดเลือดหลายราย ไม่แสดงอาการ ผิดปกติทางหัวใจนำมาก่อน เช่น เจ็บหน้าอก เหมือนผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วๆไป บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเหล่านี้แสดงอาการของโรคหัวใจครั้งแรกด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ หัวใจล้มเหลว โดยไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลย ทำให้แพทย์ให้การวินิจฉัยโรค ช้ากว่าปกติ ซึ่งแน่นอนว่าการวินิจฉัยล่าช้า ย่อมมีผลเสียต่อการพยากรณ์โรคในระยะยาว

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 08 •ตุลาคม• 2012 เวลา 09:54 น.• )