ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๑๖ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต โครงสร้างการปกครองสงฆ์ของเมืองลอง พุทธศาสนาในเมืองลองสันนิษฐานว่ามีการผสมผสานทั้งนิกายดั้งเดิมสมัยหริภุญไชย ที่เข้ามาพร้อมกับการขยายตัวของกลุ่มคนลุ่มน้ำปิงลุ่มน้ำวังราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (พ.ศ.๑๖๐๑ – ๑๗๐๐) นิกายรามัญวงศ์ผ่านเมืองศรีสัชนาลัย นิกายรามัญวงศ์(พระสุมนเถระ วัดสวนดอก) และนิกายลังกาวงศ์(พระมหาญาณคัมภีร์ วัดป่าแดง)เมืองเชียงใหม่ผ่านเมืองลำปางราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐) ขณะที่พระสงฆ์เมืองลองก็ออกไปศึกษาตามหัวเมืองใหญ่อยู่เสมอ เช่น พระมหาพุทธคุณเถระ วัดพระธาตุแหลมลี่ เคยศึกษาในสำนักพระมหาโพธิสมภารเมธังกร เมืองเชียงใหม่ พระสงฆ์วัดนาตุ้มศึกษาที่สำนักราชครูหลวงป่าซาง เมืองลำพูน เรียนในสำนักครูบามหาป่าเกสรปัญโญอรัญวาสี(ช่วงพ.ศ.๒๒๒๐) วัดไหล่หิน เมืองลำปาง หรือภายหลังพระเจ้ากาวิละทรงฟื้นฟูตั้งเมืองนครเชียงใหม่(พ.ศ.๒๓๓๙) ได้ ๘ ปีก็มีพระสงฆ์เมืองลองไปเรียนถึงเมืองนครเชียงใหม่ เช่น พระกาวิละ วัดนาตุ้ม เมืองลองไปเรียนในสำนักครูบาอรินทะ วัดเกตการาม เมืองนครเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ.๒๓๔๗ จึงทำให้ภายหลังราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๓๐๑ – ๒๔๐๐) เป็นต้นมา

เมืองลองมีความเฟื่องฟูและตื่นตัวด้านพุทธศาสนา กลายเป็นแหล่งศึกษาของพระสงฆ์สามเณรจากต่างเมือง โดยเฉพาะเมืองนครน่านหลังจากที่ร้างไป(๑๖ ปี) เมื่อฟื้นฟูจัดตั้งเมืองขึ้นใหม่ในพ.ศ.๒๓๔๓ เจ้านายขุนนางเค้าสนามหลวงเมืองนครน่านจึงเป็นผู้อุปถัมภ์ให้พระสงฆ์สามเณรเมืองนครน่านเข้ามาเรียนในเมืองลอง เช่น พ.ศ.๒๓๕๒ สามเณรนันโท และพ.ศ.๒๓๕๖ พระอุปละ เดินทางมาเรียนกับครูบานาตุ้มใต้ วัดนาตุ้ม, พ.ศ.๒๓๖๔ พระธรรมสร วัดนาราบ เดินทางมาเรียนกับครูบาวัดพระธาตุไฮสร้อย, พ.ศ.๒๔๒๐ พระญาณวงศ์เดินทางมาเรียนกับครูบาชุมพู วัดร่องบอน, พ.ศ.๒๔๓๕ พระกัญจนะเดินทางมาเรียนที่วัดนาหมาโก้ง(วัดเชตะวัน), พระอภิไชยเดินทางมาเรียนกับครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสี วัดพระธาตุศรีดอนคำ ส่วนเมืองเชียงใหม่ก็มีพระสงฆ์สามเณรเข้ามาเรียนที่เมืองลอง เช่น พ.ศ.๒๓๖๔ พระขัตติยะ เมืองนครเชียงใหม่มาเรียนกับครูบาหลวงกัญจนะ วัดร่องบอน ฯลฯ หรือพระสงฆ์สามเณรจากเมืองนครลำปาง เช่น พ.ศ.๒๔๔๑ พระนายอภิไชย มาเรียนกับครูบาเจ้าชุมพู วัดวังเคียน ฯลฯ ขณะเดียวกันเมืองลองก็มีพระเถระเป็นที่นับถือของต่างบ้านต่างเมือง เช่น ครูบาหลวงสุวรรณ วัดไผ่ล้อม(พ.ศ.๒๔๑๔ - ๒๔๖๒) เจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ได้นิมนต์ไปเทศน์กาพย์ธรรมที่เมืองนครลำปาง เมื่อเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิตได้สดับฟังบังเกิดพระราชศรัทธาจึงถวายช้างพลายบูชากัณฑ์เทศน์ สาเหตุที่มีพระสงฆ์สามเณรเข้ามาร่ำเรียนศึกษาในเมืองลองสันนิษฐานว่า เนื่องจากหัวเมืองต่างๆ ในล้านนาเพิ่งมีการฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นใหม่หลังจากร้างไประยะหนึ่ง แต่เมืองลองยังคงสถานภาพความเป็นเมืองอยู่ได้ จึงกลายเป็นแหล่งสั่งสมจารีตทางพุทธศาสนาอย่างสืบเนื่อง จนกระทั่งสามารถสร้างความเป็นลักษณะเฉพาะตน สะท้อนจากมีการแต่งตำนานขึ้นจำนวนหลายฉบับในเมืองลอง มีทำนองเทศน์ประจำเมืองลอง คือ ระบำกวางเดินดง ซึ่งเมื่อสยามจัดปฏิรูปการปกครองสงฆ์ของล้านนา(พ.ศ.๒๔๔๙ – ๒๔๕๐) ในเมืองนครเชียงใหม่ นครลำพูน นครลำปาง เมืองเถิน ก็เข้ามาจัดการปฏิรูปการปกครองสงฆ์ในเมืองลองอีกหัวเมืองหนึ่ง ระบบการปกครองสงฆ์เมืองลองในระบบจารีตมีอิสระเป็นการภายในเมือง มีตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายสงฆ์ คือ “มหาครูบาหลวงเมือง” หรือ “พระสังฆราชา” มีอำนาจควบคุมครูบาเจ้าหมวดอุโบสถ และครูบาเจ้าหมวดอุโบสถมีอำนาจควบคุมครูบาเจ้าหัววัด และเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทบรรพชาให้พระสงฆ์สามเณรหัววัดภายในหมวด ในยุคจารีตนี้พระสงฆ์สามเณรแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ หมวดอุโบสถ ๒๗ หัววัด คือ

(๑) หมวดอุโบสถวัดหลวงฮ่องอ้อ (วัดพระธาตุศรีดอนคำ) มีครูบาเจ้าหมวด เช่น ครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะ วัดนาหลวง, ครูบาอินทปัญญาวิชาเพียร วัดปิ่นลอง(วัดบ้านปิน) ครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญญวาสี วัดดอนมูล ครูบาเจ้าเตวิชา วัดพระธาตุศรีดอนคำ และครูบาหลวงกัญจนะ วัดร่องบอน ฯลฯ มีจำนวน ๑๑ หัววัด คือ (๑.๑) วัดหลวงฮ่องอ้อ (วัดศรีดอนคำ) (๑.๒) วัดดอนมูล (วัดศรีดอนมูลหรือวัดหนองเหิง) (๑.๓) วัดนาหลวง (๑.๔) วัดนาจอมขวัญ (๑.๕) วัดนาแก (๑.๖) วัดปิ่นลอง (วัดบ้านปิน) (๑.๗) ไผ่ล้อม (๑.๘) วัดแม่จอก (๑.๙) วัดแม่ลานเหนือ (๑.๑๐) วัดร่องบอน

(๒) หมวดอุโบสถวัดพระธาตุแหลมลี่ (บางครั้งย้ายมาวัดพระธาตุไฮสร้อย) มีครูบาเจ้าหัวหมวด เช่น ครูบามหาเถรเจ้านาตุ้ม วัดนาตุ้ม, ครูบาจองสูง(จอสุง) จันทวโร(เมืองนครเชียงตุง) วัดพระธาตุไฮสร้อย, ครูบาหลวงนาตุ้มใต้ ครูบาเจ้าศรีวิไชย และมหาครูบาหลวงสุริยะ วัดนาตุ้ม ฯลฯ มีจำนวน ๑๐ หัววัด คือ (๒.๑) วัดพระธาตุไฮสร้อย (๒.๒) วัดหลวงนาตุ้ม (๒.๓) วัดนาอุ่นน่อง (๒.๔) วัดนาหมาโก้ง (๒.๕) วัดปากกาง (๒.๖) วัดปากปง (๒.๗) วัดท่าเดื่อ (๒.๘) วัดวังต้นเกลือ (๒.๙) วัดแม่ลอง (๒.๑๐) วัดวังเคียน

(๓) หมวดอุโบสถวัดทุ่งแล้ง (บางครั้งย้ายมาวัดพระธาตุขวยปู) มีครูบาเจ้าหัวหมวด เช่น ครูบาทนันไชย วัดทุ่งแล้ง, ครูบาปินตอง วัดทุ่งแล้ง ครูบาปินไชย(อภิไชย) วัดศรีดอนไชย (ครูบาสองพี่น้อง) และครูบานันตา วัดพระธาตุขวยปู ฯลฯ มีจำนวน ๖ หัววัด คือ (๓.๑) วัดทุ่งแล้ง (๓.๒) วัดพระธาตุขวยปู (แม่ป้าก) (๓.๓) วัดปากจอก (๓.๔) วัดศรีดอนไชย (๓.๕) วัดแม่บงใต้ (๓.๖) วัดบ้านท่าวัด

ภายหลังเมื่อมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนใต้ของเมืองลอง(อำเภอวังชิ้น)มากขึ้น ตั้งแต่ช่วงประมาณพ.ศ.๒๔๐๐ เป็นต้นมา ได้เกิดหมู่บ้านขึ้นใหม่และสร้างวัดมากขึ้นตามลำดับ จึงตั้งหมวดอุโบสถขึ้นที่วัดปากสลก (วัดบางสนุก หรือ วัดพระธาตุพระพิมพ์) ซึ่งวัดปากสลกสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๖๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๑ มีครูบาที่มีชื่อเสียงของหมวดอุโบสถ เช่น ครูบาอ่อน วัดบางสนุก และครูบากาวิชา วัดปางไฮ เป็นต้น โดยมีหัววัดต่างๆ อยู่ในหมวดอุโบสถ(ปัจจุบันได้ทำสังฆกรรมที่วัดใหม่กลาง) ได้แก่ วัดปากสลก, วัดใหม่กลาง, วัดนาใหม่, วัดวังชิ้น, วัดวังเบอะ, วัดป่ายุบใน(สิทธิใน), วัดวังแฟน, วัดหาดรั่ว, วัดวังขอน, วัดวังกวาง, วัดค้างปินใจ, วัดสลก, วัดปันเจน, วัดสบปาด(สัมฤทธิบุญ), วัดแม่จอก(ศรีคีรี) และวัดสบแม่เกิ๋ง

ส่วนเมืองต้ามี ๒ หมวดอุโบสถจำนวน ๗ หัววัด มี “มหาครูบาหลวง” หรือ “พระสังฆราชา” ของเมืองต้าปกครอง คือ

(๑) หมวดอุโบสถวัดต้าเวียง มีครูบาเจ้าหัวหมวด เช่น ครูบาอินทจักร (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดต้าเวียง ฯลฯ มีจำนวน ๕ หัววัด คือ (๑.๑) วัดต้าเวียง (๑.๒) วัดต้าม่อน (๑.๓) วัดต้าแป้น (๑.๔) วัดต้าเหล่า (๑.๔) วัดต้าแหลง (ภายหลังมีการสร้างวัดผาลาย)

(๒) หมวดอุโบสถวัดน้ำริน มีครูบาเจ้าหัวหมวด เช่น ครูบาอินทะ (พ.ศ.๒๓๒๔ - ๒๓๘๑), ครูบากิตติ (พ.ศ.๒๓๘๑ - ๒๔๐๑) และครูบาอุปทะ (พ.ศ.๒๔๐๑ – ๒๔๖๙) วัดน้ำริน ฯลฯ มีจำนวน ๒ หัววัด คือ (๒.๑)วัดน้ำริน (๒.๒) วัดต้าผามอก (ภายหลังมีการสร้างวัดบ้านต้าอิม วัดบ้านต้าปง และวัดใหม่พม่า) ส่วนหัววัดอยู่ไกลเดินทางลำบาก เช่น วัดวังเลียง วัดผาจั๊บ จัดเป็นหมวดพิเศษเรียกว่า “หมวดลงบวก(หนอง)” คือทำสังฆกรรมบริเวณหนองน้ำที่จัดไว้เฉพาะแทนการลงโบสถ์ ซึ่งแต่ละหัววัดภายในเมืองลองก็จะมีการจัดลำดับศักดิ์ของหัววัดผ่านประเพณีกินข้าวสลาก โดยวัดหลวงเริ่มเป็นวัดแรกและเรียงกันไปตามลำดับความสำคัญของหัววัด ได้แก่ (๑) วัดพระธาตุศรีดอนคำ เดือน ๑๒ เป็ง (๒) วัดนาตุ้ม วัดนาหลวง เดือนเกี๋ยงออก ๕ ค่ำ (๓) วัดบ้านปิน วัดไผ่ล้อม เดือนเกี๋ยงออก ๘ ค่ำ (๔) วัดทุ่งแล้ง วัดนาอุ่นน่อง เดือนเกี๋ยงแรม ๘ ค่ำ (๕) วัดศรีดอนมูล เดือนเกี๋ยงดับ

“มหาครูบาหลวงเมือง” คัดเลือกจากครูบาเจ้าหมวดอุโบสถที่มีอายุพรรษาสูง ประพฤติปฏิบัติชอบรอบรู้พระธรรมวินัยและเป็นผู้นำสร้างอุปฐากศาสนสถาน เช่น ครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะ วัดนาหลวง สร้างพระธาตุศรีดอนคำจนสำเร็จ, ครูบามหาเถรเจ้านาตุ้ม วัดนาตุ้ม บูรณะพระธาตุขวยปู หรือครูบาอินทปัญญาวิชาเพียร(พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๙) วัดบ้านปิน สร้างจองเบิก(พ.ศ.๒๓๙๔)ถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำ วัดพระธาตุแหลมลี่ และวัดพระธาตุลำปางหลวง ขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับผู้ปกครองบ้านเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เช่น ครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสี วัดศรีดอนมูล เป็นบุตรชายพญาประเทศโสหัตติ หรือ มหาครูบาหลวงสุริยะ วัดนาตุ้ม มีแสนขัณฑ์เป็นพ่อออก(ผู้อุปถัมภ์) เมื่อมหาชนยอมรับจึงจัดพิธีรดสรงสถาปนาจากเจ้าเมืองลอง ขุนนาง คณะสงฆ์ และชาวเมือง ซึ่งบารมีของครูบา(เจ้าวัด เจ้าหมวด และเมือง)มีอิทธิพลต่อพระสงฆ์สามเณรและชาวเมืองสูงมาก ดังพระธรรมวโรดมกล่าวถึงคณะสงฆ์มณฑลพายัพว่า “...พระสงฆ์ในมณฑลนั้นจะว่าดื้อก็ดื้อจะว่าง่ายก็ง่าย ถ้าหัวหน้าลงหรือนับถือแล้วก็เปนการง่ายที่สุด ถ้าหัวหน้าไม่ลงแลนับถือแล้วก็เปนการยากที่สุดคอยฟังเสียงของครูบาเท่านั้น ถ้าครูบาว่าอย่างไรแล้วก็ไม่มีใครมีปากเสียง..”ขณะเดียวกันพระสงฆ์ยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจเมืองบ้านเมืองไม่ปกติ เช่นในปีพ.ศ.๒๔๕๐ เมืองลองเกิดแห้งแล้งเพาะปลูกไม่ได้ผล ข้าวมีราคาแพงคือข้าวหนัก ๒,๕๐๐ (ประมาณ ๗.๕ กิโลกรัม)ราคา ๑ บาท ครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสีก็นำพระสงฆ์สามเณรจารคัมภีร์ธรรมพญาคางคากทำพิธีขอฝน(และในปีพ.ศ.๒๔๕๔ ก็ทำพิธีแห่ช้างเผือกขอฝน ) ดังปรากฏท้ายคัมภีร์ธรรมพญาคางคากที่ท่านครูบาได้แต่งไว้ว่า “ในกาละปางนั้น ทุพภิกขาอยากกลั้นประไจย ฅนหลุไหลหนีจากบ้าน ฝูงสรมณ์พ่ายค้านจากสาสนา ไปสู่รัฏฐาเมืองอื่น วุฏฐิ(ฝน)ก็บ่ชื่นฮำเมือง ใบไม้เหลืองเหี่ยวแห้ง ท้องฟ้าแจ้งโสตถกา ข้าจิ่งร่ำเพิงหาที่เพิ่ง จิ่งจาเซิ่งสิกข์ยม ว่าเราจักงมอยู่เหล้น ก็บ่เว้นจากไภยยา จิ่งขงขวายหาโปตถกาลานใหม่ มาเขียนใส่ยังธัมม์ คันธฆาตกังไวไหว้ หื้อเปนไม้ไต้ส่องทางไปแด่เทอะ” นอกจากนี้วัดก็ยังเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือชาวเมืองด้านต่างๆ เช่น ช่วยเหลือด้านปัจจัย ๔ โดยเฉพาะวัดพระธาตุศรีดอนคำและวัดพระธาตุแหลมลี่ที่มีนาวัด ข้าวัด เป็นวัดที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยเก็บผลประโยชน์จากพืชผลจากไร่นาและแรงงานของข้าวัด และถือว่าของเหล่านี้ไม่สามารถเรียกคืนหรือซื้อขายได้ตราบจนสิ้นอายุพระศาสนา ๕,๐๐๐ ปี นาของวัดพระธาตุแหลมลี่ ได้แก่บริเวณทุ่งหนองสองห้อง บ้านนาตุ้ม หมู่ที่ ๒ มีจำนวน ๒๘ ไร่(ปัจจุบันทางวัดยังให้กลุ่มลูกหลานข้าวัดเช่าทำจำนวน ๑๒ ราย เก็บค่าเช่า ๑ หาบต่อ ๕ บาท) ส่วนนาของวัดพระธาตุศรีดอนคำ บริเวณทุ่งเหยี่ยน บ้านนาม้อ หมู่ที่ ๖ ทุ่งนาขาม บ้านดอนทราย หมู่ที่ ๗ และทุ่งหลวง บ้านห้วยอ้อ หมู่ที่ ๘ เมื่อชาวบ้านขาดแคลนโดยเฉพาะข้าวจึงยืมจากนาวัดมาบริโภคก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จค่อยเอามาคืนวัดหรือหากไม่มีคืนก็จะบุกเบิกพื้นที่นาให้อันเป็นระบบการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน และวัดยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาแขนงต่างๆ เมื่อลาสิกขาจะมีโอกาสเลื่อนสถานะทางสังคมเป็นไพร่ชั้นดีหรือรับตำแหน่งขุนนางเมือง เช่น ชำนาญลายเชิงหอกดาบเมื่อสึกออกมาเป็นทหาร ชำนาญอักษรคัดลอกคัมภีร์เป็นจเร ชำนาญโหราศาสตร์เป็นปู่อาจารย์หรือหมอเมื่อ(โหร) และชำนาญการช่างเป็นสล่า เป็นต้น

ภูเดช แสนสา

ภาพจิตรกรรมที่เคยอยู่ในวิหารวัดต้าม่อน เมืองต้า วาดเมื่อพ.ศ.๒๔๒๗ (ที่มา : จิตรกรรมวัดเวียงต้า)

รูปหล่อครูบาหลวงสุวรรณ วัดไผ่ล้อม ตำบลหัวทุ่ง (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

จองเบิกของวัดพระธาตุแหลมลี่

วิหารหลวงวัดต้าเวียงหลังเก่า (ที่มา : วัดต้าเวียง ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง)

วิหารหลังเก่าของวัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อย)

จองเบิกภาพสร้างถวายวัดพระธาตุลำปางหลวงโดยเจ้าหลวงวรญาณรังษี

แนวอิฐกำแพงแก้วโบราณล้อมรอบพระธาตุขวยปูและวิหารหลวง (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๐)

พระเจดีย์วัดใหม่พม่าในอดีต (ที่มา : วัดใหม่พม่า ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง)

แท่นธรรม(ธรรมาสน์)ของวัดพระธาตุไฮสร้อย

แท่นธรรมของวัดพระธาตุแหลมลี่

บนยอดเขาด้านทิศเหนือวัดพระธาตุขวยปูมีการสร้างจำลองขวยปูตามในตำนาน (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๐)

ขัวขัดแตะข้ามแม่น้ำปิงไปสู่วัดเกตการาม เชียงใหม่ ในอดีต (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระเจดีย์วัดต้าเวียงในอดีต (ที่มา : วัดต้าเวียง ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง)

วิหารแบบไทใหญ่ – ไทเขินของวัดต้าม่อน เมืองต้า สร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๒๗ (ที่มา : วัดต้าม่อน ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง)

ครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสี มหาครูบาหลวงรูปสุดท้ายของเมืองลอง (ที่มา : วัดดอนมูล, ถ่ายก่อนพ.ศ.๒๔๗๓)

ครูบาอินทจักร(รูปขวามือ) มหาครูบาหลวงรูปสุดท้ายของเมืองต้า (ที่มา : วัดต้าเวียง ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง)

ครูบาอภิไชย(พระครูจันทรังสี) วัดพระธาตุศรีดอนคำ (ที่มา : วัดพระธาตุศรีดอนคำ)

พระเจ้านอนหมอนข้าวหลวงในอุโบสถ (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อย)

วิหารหลวงวัดพระธาตุขวยปูหลังเก่า (ที่มา : ข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดแพร่, ถ่ายพ.ศ.๒๕๓๓)

ภาพจิตรกรรมที่เคยอยู่ในวิหารวัดต้าม่อน เมืองต้า วาดเมื่อพ.ศ.๒๔๒๗ (ที่มา : จิตรกรรมวัดเวียงต้า)

จองเบิกของวัดพระธาตุศรีดอนคำ

ครูบาอภิไชย(พระครูจันทรังสี) วัดพระธาตุศรีดอนคำ (ที่มา : วัดพระธาตุศรีดอนคำ)

อุโบสถหลังเก่าของวัดพระธาตุไฮสร้อย

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 17 •ตุลาคม• 2012 เวลา 15:43 น.• )