ที่ตั้ง ๒๒๒ หมู่ที่ ๕ ตำบลวังหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ในอดีตกาลผ่านมานานนับร้อยปีมาแล้วมีผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลวังหงส์และตำบลใกล้เคียงทั้งมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว ได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่าได้เห็นแสงจากดวงแก้วสีเขียวรูปวงกลมมีรัศมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เซนติเมตรลอยขึ้นตรงบริเวณที่สร้างองค์พระธาตุโตนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในวันพระข้างขึ้นและข้างแรม ๑๕ ค่ำบ้าง ๘ ค่ำบ้างและในวันพระใหญ่ เช่น วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา บางครั้งก็มีดวงเดียว บางครั้งก็มีหลายดวงลอยเด่นอยู่ในอากาศสูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐๐ เมตร หรือประมาณยอดบนยอดพระธาตุดอยโตนเราเรียกว่า พระธาตุเสด็จ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแรงศรัทธาแก่ผู้พบเห็นและจากการฟังเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นดังนั้นผู้นำท้องถิ่นชาวบ้านตำบลวังหงส์ทุกคนจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกันโดยการนำของท่านพระครูสังวร สีลวัฒ(หลวงพ่อหมวก) อดีตเจ้าอาวาสวัดหงส์เหนือ และท่านพระครูอนุกูล สาธุกิจ(ครูบาอินทร์ตา อินทจกฺ) อดีตเจ้าอาสวัดวังหงส์ใต้ได้นิมนต์พระมานพ ติกฺขวีโร (ตุ๊อาวหมอ) ปัจจุบันคือ พระครูวิธาน นพกิจ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองจันทร์ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ท่านเป็นพระนักบุญบารมีได้มาสร้างพระธาตุดอยโตน เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ(เดือน ๔ ใต้) ปีจอ

การสร้างพระธาตุดอยโตนเป็นการสร้างด้วยแรงศรัทธา ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของประชาชนตำบลวังหงส์และหมู่บ้านใกล้เคียงตลอดจนแรงศรัทธาลูกศิษย์ลูกหา ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑ ปีจนสำเร็จไปขั้นตอนหนึ่ง ต่อมาก็จัดงานเฉลิมฉลองสมโภชน์พุทธาภิเษกเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืนในปี พ.ศ.๒๕๒๖ และในครั้งนั้นมีการสร้างพระประธาน ชื่อ พระสิงห์หนึ่งดอยโตน หน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว พระกริ่งดอยโตนพิมพ์สิงห์รุ่นแรก เหรียญพระธาตุดอยโตน ที่มีด้านหน้าเป็นรูปพระธาตุด้านหลังเป็นรูปพระมานพ ติกฺขวีโร ในการสร้างพุทธาภิเษกครั้งนี้ได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ดัง ๆ หลายรูป คือ ๑.พระครูอนุกูล สาธุกิจ(ครูบาอินทร์ตา อินทจกฺโก) เจ้าของตำราวัวธนูเขากระทิงแกะอันเป็นที่รู้จักกันทั้งล้านนาและทุกภาคประเภทเวชศาสตร์ของขลัง ๒.พระมหาเมธังกร วัดหนองม่วงไข่ ๓.พระอาจารย์มนตรี วัดพระธาตุสุโทนวิมลมังคลาราม อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ๔.ครูบาหาญ วัดดงลาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ๕.หลวงปู่นวล วัดหนองกลาง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ๖.ครูบาสมจิต วัดสะแล่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ๗.หลวงปู่พรหม เขมจารี วัดท่าขวัญ ตำบลท่าข้าม จังหวัดแพร่

นอกจากนี้ยังมีพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูปรวม ๑๐๘ รูป ที่มาร่วมทำพุทธาภิเษกครั้นต่อมาได้มีชาวบ้านคนหนึ่งได้ทดลองเอาปืนยิงพระกริ่งดอยโตนพิมพ์สิงห์หนึ่งรุ่นแรกปรากฏว่าปืนแตก สร้างความแปลกและศรัทธาเลื่อมใสจนเป็นที่ต้องการของเซียนพระต่อมาสถานที่ด้านหลังของพระธาตุดอยโตนเป็นภูเขาและชาวบ้านได้สร้าง พระธาตุดอยแล ไว้เคารพสักการบูชาแต่ได้มีการเวนคืนที่สัมปทานเพื่อทำหารโม่หินผา จึงต้องทำการย้ายองค์พระธาตุดอยแล ก่อนจ้ายองค์พระธาตุดอยแล ก่อนย้ายองค์พระธาตุดอยแลมายังสถานที่ใหม่นั้น คนงานโรงโม่หินผา ได้ทำการระเบิดหินผาปรากฏว่าลูกระเบิดไม่ทำงานระเบิดไม่แตกจึ่งได้มีการอัญเชิญพระธาตุดอยแลมาไว้ด้านหน้าตรงทางขึ้นไปบนพระธาตุดอยโตนในปัจจุบันหลังจากย้ายพระธาตุดอยแลแล้วคนงานก็ทำการระเบิดหินผาได้และในปัจจุบันกลายเป็นหลุมลึกอยู่ในป่าแห่งนั้นในส่วนของพระธาตุดอยแลได้บรรจุ พระสิงห์หนึ่งดอยโตน แบบบูชาขนาดหน้าตักกว้าง ๕ นิ้วไว้ ด้านใน ด้วยอานุภาพดังกล่าวแล้วจึงมีคนกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุดอยโตน ต่อมาอีกไม่นานก็เริ่มมีพระภิกษุ สามเณร มาจำพรรษาที่พระธาตุดอยโตนมีพระอาจารย์ดิเรก อิทฺธิเตโช (หลวงพี่หนุ่ย แก่นจันทร์) รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยโตนโดยมีสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ ๒๒๒ หมู่ ๕ ตำบลวังหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน

พระอาจารย์ดิเรก อิทฺธิเตโช ได้ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาและลูกศิษย์ลูกหาสร้างพระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างอื่นๆอีก เช่น ๑.คณะตม.จากจังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้พิพากษาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ๒.คณะป่าไม้จังหวัดแพร่รุ่น ๑๑ ได้ถวายพระพุทธรูปสองพี่น้อง สร้างหอระฆังถวายระฆังที่ทำจากลูกระเบิดจำนวน ๑ ลูก ๓.คณะสงฆ์สัจธรรม ได้น้างรูปปั้นปู่ฤาษีจำนวน ๑ ตน ๔.คณะป่าไม้จังหวัดแพร่รุ่น ๒๖ และศิษย์เก่าวังหงส์ รุ่น ๐๔๕๖ ได้สร้างนาคทางบันไดขึ้นพระธาตุจำนวน ๑ ตอน

นอกจากนั้นยังมีสิ่งปลูกสร้างอีกหลายที่สร้างเสร็จแล้วก็มี ที่กำลังก่อสร้างก็มี เช่น หอระฆังที่ยังไม่เสร็จ ระบบไฟฟ้าจากหมู่บ้านไปยังสำนักพระธาตุดอยโตนก็ยังไม่มี สาธุชนในตำบลวังหงส์และลูกศิษย์ลูกหาของพระอาจารย์ดิเรก อิทฺธิเตโช ทั้งจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็นำผ้าป่าและปัจจัยมาร่วมทำบุญอยู่เป็นนิจแต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ประเพณีการทำบุญขึ้นพระธาตุดอยโตนได้จัดเป็นประจำโดยจัดในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ เหนือ (เดือน ๕ ใต้ ประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน) การทำบุญตักบาตรและมีขบวนฟ้อนรำถวายทุกปีและก็มีงานบุญสลากภัต(กิ๋นสลาก)เป็นประเพณีประจำปีอีกซึ่งจะจัดทำขึ้นหลังออกพรรษาไปแล้ว โดยแต่ละปีจะกำหนดวันให้ตรงกันไม่ได้แต่ก็ยึดเอาวันหลังออกพรรษาไปแล้วนั่นเอง

ปี พ.ศ.๒๕๕๕ จะจัดงานประเพณีการทำบุญขึ้นพระธาตุดอยโตนในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ(เดือน ๕ ใต้) ตรงกับวันศุกร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๕ ปีนี้จะทำบุญครบรอบ ๓๐ ปีของพระธาตุดอยโตน จะฉลองสมโภชพระธาตุและทำพิธีพุทธาภิเษกพระเจ้าทันใจองค์ใหญ่ ณ ลานหน้าพระธาตุดอยโตน และยังมีวัตถุบูชาอีกดังนี้

๑.พระเจ้าทันใจ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว จำนวน ๓๐๐ องค์ ๒.พระกริ่งใหญ่ พระเจ้าชนะมารล้านยันต์ จำนวน ๔,๐๐๐ องค์ ๓.ร็อคเกต หงส์นำโชคคู่บารมี ผ้ายันต์นาคเกี้ยง(นาคบ่วงบาศ)สีแดง จำนวน ๕๐๐ ผืน ๔.สิงห์งาแกะตาพลอย จำนวน ๑๐๘ ตัว ๕.สิงห์ พญางิ้วดำ (อิ่นพญางิ้วดำ) อย่างละ ๒๐๐ ตัว ๖.ตะกรุดก่าสะท้อน ๑,๒๐๐ ดอก หล่อโบราณ ๓๐๐ ดอก

พระอาจารย์ดิเรก อิทฺธิเตโช (หลวงพี่หนุ่ย) สำนักสงฆ์ พระธาตุดอยโตน ต.วังหงส์ อ.เมือง จ.แพร่ ๕๔๐๐๐ มือถือ ๐๘ - ๗๑๗๗ - ๔๔๕๘

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 10 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 14:15 น.• )