วัดชัยมงคล ตั้งอยู่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่อยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมือง ห่างจากสี่แยกบ้านทุ่งประมาณ ๔๐ เมตร อยู่ระหว่างถนนช่อแฮกับถนนเหมืองแดงต่อกัน บริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม พื้นที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๖๒ ตารางวา ตาโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑ ถนนช่อแฮ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๕๔ – ๕๑๑๓๙๕ แต่เดิมบริเวณวัดชัยมงคลเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีพฤกษาชาตินานาพันธ์ขึ้นปกคลุมโดยทั่วไป อาทิ ไม้สะแก ไม้ไผ่หลากหลายพันธุ์ ฯ เป็นที่ชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ แอ่งน้ำสำหรับเป็นแหล่งอาศัยของโค กระบือ และช้างของชาวบ้าน สมัยเมื่อสร้างวัดใหม่ ๆ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดชัยมงคลโป่งจ้าง” เพราะบริเวณนี้เป็นดินโป่ง (ดินที่มีรสเค็มและหอม) เป็นธาตุอาหารสำหรับสัตว์โดยเฉพาะช้างชอบกิน วัดชัยมงคลเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองแพร่ มีศรัทธาอุปถัมภ์กว่า ๔๐๐ ครอบครัว เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจที่สำคัญเพราะรองรับจำนวนพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ผู้นำในการเข้ามาสร้างครั้งแรกคือท่านพระครูวงศาจารย์ (ทองคำ พุทฺธวํโส) เป็นชาวบ้านสีลอ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ บุตรของพระยาแขกเมือง นางแว่นแก้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดพระบาทมิ่งเมือง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดแพร่ ได้ชักชวนพระธรรมธรการินตา (บางแห่งว่าพระวินัยธรรม) วัดน้ำคือ (วัดเมธังกราวาส)

และศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ มาทำการจับจองบุกเบิกเมื่อปี ๒๔๓๔ สมัยแรกสร้างให้กำแพงไม้ หลังคามุงหญ้าคา ฝาไม้ขักแตะ วิหารหลังแรกสร้างตรงหอไตร (หอธรรม) ในปัจจุบัน เมื่อวัดมีสิ่งก่อสร้างพอที่จะให้พระภิกษุสามเณรพำนักอาศัย และประกอบศาสนกิจได้พระครูพุทธวงศาจารย์ จึงแต่งตั้งให้พระธรรมธรการินตาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ทายกทายิกานิยมเรียกท่านว่า “ตุ๊ลุงหลวง” ในระยะแรกแห่งการสร้างวัดนั้น ยังไม่มีประชาชนมาอาศัยมากนัก เมื่อมีคนอาศัยอยู่ย้อยจึงมีประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ เช่นชาวหัวข่วง บ้านน้ำคือ บ้านทุ่งต้อม ทยอยกันออกมาจับจองที่อยู่ใกล้วัดมากขึ้น ต่อมาพระธรรมธรยิการินตา ซึ่งได้ปกครองวัดมาถึงปี ๒๔๕๑ จึงเห็นว่ากุฏิ วิหารและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ได้ชำรุดทรุดโทรมลง ประกอบกับกำลังศรัทธาอุปถัมภ์มากพอสมควรแล้ว ท่านจึงได้ชักชวนทายกทายิกาและพระภิกษุสามเณรคิดก่อสร้างขึ้นใหม่ การก่อสร้างครั้งนี้ท่านตั้งใจให้เป็นศาสนวัตถุถาวรมั่นคง เพราะท่านมีความชำนาญด้านช่างอยู่แล้ว จึงเริ่มการก่อสร้างใหม่ทั้งหมด โดยสร้าวิหารก่อนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ การก่อสร้างวิหารหลังที่ ๒ นี้ก่อด้วยอิฐถือปูน เสาไม้ เครื่องบนด้วยไม้ต่าง ๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้สัก (แป้นเกล็ด) ช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ทั้งหมด ส่วนอิฐที่ใช้ก่อผนังวิหารและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ภายในวัดนั้น ได้อาศัยกำลังพระภิกษุสามเณรและทายกทายิกา ปั้นเอง เผาเอง ทั้งสิ้น โดยไม่มีค่าจ้าง อาศัยกำลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง สถานที่สำหรับปั้นอิฐเผาอิฐคราวนั้น คือตรงที่ตั้งโรงเรียนเทศบาลวัดชัยมงคลในปัจจุบัน ส่วนศรัทธาผู้อุปถัมภ์และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญยิ่งในการสร้าวิหารหลังที่ ๒ นี้ ซึ่งอนุชนทั้งหลายจะลืมไม่ได้เลยคือ พ่อหนานอ่อน เอกภูมิ เดิมท่านเป็นชาวลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ด้วยเหตุที่พ่อหนานอ่อนมีงานเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมไม้เพราะท่านเป็นเจ้าของช้างจำนวนมาก และมีงานทำไม้ลากไม้เป็นงานประจำเมื่อมามีหลักฐานมั่นคงและมีฐานะดีอยู่ใกล้วัดที่กำลังก่อสร้าง ท่านจึงทุ่มตัวเข้าอุปถัมภ์ชนิดที่ว่า “ศรัทธาเก๊า” เลยทีเดียว การก่อสร้างส่วนใหญ่เช่น เสา เครื่องบน ช่อฟ้า ใบระกา ตลอดจนวิจิตรกรรมฝาผนัง เพดาน และอื่น ๆ ก็ได้รับศรัทธาจากพ่อหนานอ่อนทั้งสิ้น ท่านที่เคยเห็นวิหารหลังที่ ๒ คงจำได้ว่ามีชื่อ นายอ่อน เอกภูมิ ผู้สร้าง

การสร้างพระประธานองค์ปัจจุบัน ในระยะที่กำลังก่อสร้างวิหารหลังที่สองอยู่นั้น พระพุทธวงศาจารย์และพระธรรมธรการินตาเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการสร้างองค์พระประธานขนาดใหญ่ ๑ องค์ด้วย (ประดิษฐานในพระอุโบสถหลังปัจจุบัน) ก่อด้วยอิฐถือปูน การก่อสร้างทั้งวิหารและองค์พระประธาน ได้สำเร็จลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ทำการฉลองสมโภชในปี ๒๔๕๖ ต่อมากุฏิที่พักของพระภิกษุสามเณรหลักแรก ซึ่งสร้างขึ้นอย่างคร่าว ๆ มีหลังคามุงด้วยคา ฝาไม้ไผ่ พื้นกระดานดังกล่าวแล้วแต่ต้นได้ทรุดโทรมลงตามภาวะ พระธรรมธรการินตา เจ้าอาวาสจึงดำเนินการรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่ เป็นกุฏิไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้สักมีห้องนอนกว้างขวางเพียงพอ สามารถบรรจุพระภิกษุสามเณรได้ประมาณ ๓๐ รูป การสร้างกุฏิหลังที่ ๒ นี้ ก็อาศัยการเสียสละทั้งอุปกรณ์การสร้างและแรงงานจากพ่อหนานอ่อน เอกภูมิ เป็นหัวหน้างานฝ่ายฆราวาส พร้อมกับบรรดาลูกศิษย์ และทายกทายิกาเช่นเคย โดยที่ท่านพระธรรมธรการินตาบรรดาวัดไทยพื้นเมืองในยุคเดียวกัน การก่อสร้างได้เสร็จแล้วเมื่อ ๒๔๖๕ และทำการฉลองเมื่อปี ๒๔๖๖ งานก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในวัดชัยมงคล มิได้หยุดเพียงแค่สร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จลงเท่านั้น คงดำเนินการก่อสร้างสิ่งที่ควรอื่น ๆ ต่อเนื่องกันมิได้ขาด เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสรูปแรกเป็นนักสร้างนักพัฒนา ในปี ๒๔๖๘ ท่านจึงสร้างหอไตรปิฎก (หอธรรม) ขึ้นอีกหลังหนึ่ง เฉพาะส่วนที่เป็นตู้พระไตรปิฎก ได้รับการอุปถัมภ์จากพ่อเจ้าเสาร์ แม่เจ้าพลอย วงศ์พระถาง เป็นเจ้าศรัทธาสร้างบริจาคถวาย การสร้างท่านพระธรรมธรการินตาก็ได้แสดงความสามารถในเชิงศิลปะให้เห็น อีกวาระหนึ่ง ซึ่งมีความวิจิตรสวยงามดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และได้สำเร็จลงเมื่อปี ๒๔๗๐ ในช่วงเวลาที่กำลังสร้างหอพระไตรอยู่นั้น ยังได้สร้างกำแพงรอบวัดควบคู่กันมาด้วยซึ่งกำแพงดังกล่าว ก่อด้วยอิฐและเชื่อมด้วยดินเหนียว ความจริงได้สร้างค้างไว้นานแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ งานสร้างจึงสำเร็จลงพร้อมกันในปี ๒๔๗๐ และทำการฉลองในปี ๒๔๗๑ พร้อมกับพิธีผูกพัทธสีมาด้วยต่อมาพระธรรมธรการินตา เจ้าอาวาสรูปที่หนึ่งได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี ๒๔๘๔ ทางคณะสงฆ์แต่งตั้งให้พระเปง เสนทรัพย์ (ชาวบ้านเรียกว่า “ตุ๊ลงเปง”) อยู่ในตำแหน่งเจ้าวาสจนถึงปี ๒๔๘๖ ก็มรณภาพ

เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ คือพระบุญมี สิงห์ทอง (วรจนฺโท) (ปัจจุบันคือพระครูวินัยการโกวิท) เป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบันนี้ ปี ๒๔๙๕ ท่านและคณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่ากุฏิหลังที่ ๒ ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงรื้อถอนเมื่อปี ๒๔๙๕ และดำเนินการก่อสร้างกุฏิหลังที่ ๓ ขึ้น ในปี ๒๔๙๖ การสร้ากุฏิหลังที่ ๓ ที่เห็นอยู่ปัจจุบันทางวัดได้รับการบริจาคอุปถัมภ์จากทายกทายิกา และใจบุญทั้งหลาย ช่วยสละทุนทรัพย์สร้างขึ้นด้วยศรัทธาคณะกรรมการจึงให้ช่างดำเนินการสร้างตามแบบแปลนสมัยใหม่ เป็นรูปตึก ๒ ชั้น เสาเทคอนกรีตเสริมเหล็กมุขทั้ง ๒ และผนังชั้นล่าง ก่อด้วยอิฐถือปูน พื้น ฝา และเพดาน ทำด้วยไม้สัก หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ การก่อสร้างสำเร็จลงในปี ๒๔๙๙ และได้ทำการฉลองเพื่อถวายไว้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๘ – ๑๑ เมษายน ๒๕๐๐ ต่อมาในราวปี ๒๕๐๓ พระครูวินัยการโกวิท เจ้าอาวาส ได้ชักชวนศรัทธาประชาชนทั้งพี่น้องชาวไทยและจีน ร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีกหลังหนึ่งมีลักษณะทรงไทยชั้นเดียวสิ้นเงินสิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ๑๗๐,๐๐๐ บาท และสร้างสำเร็จลงเมื่อปี ๒๕๐๓ โดยที่วัดชัยมงคลตั้งอยู่ในถิ่นชุมชนหนาแน่น วัดจึงเป็นสถานสงเคราะห์ให้บริการแบบกุศลสาธารณะ แก่ประชาชนเพื่อใช้งานต่าง ๆ มิได้ขาดจึงปรากฏว่าบางครั้ง สถานที่สำหรับประกอบกุศลไม่เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน ผู้มาขอใช้บริการกังนั้น พ่อฮ่วน แม่คำป้อ ทุ่งสี่ พร้อมด้วยลูกหลาน จึงได้สร้างศาลาหน้าอุโบสถขึ้นอีกหลังหนึ่ง แบบชั้นเดียวธรรมดาถวายไว้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๔ ต่อมาทางเทศบาลเมืองแพร่ในสมัยนายนิคม พุ่มนิคม เป็นนายกเทศมนตรี ร่วมกับสมาชิกสภาเทศบาล คณะครูอาจารย์ของโรงเรียนเทศบาลวัดชัยมงคล มีนายพรหมมา ไหวเคลื่อน เป็นครูใหญ่ได้ขอใช้สถานที่มุมกำแพง หน้าอุโบสถ สร้างอาคาหัตถศึกษาให้กับโรงเรียนเทศบาลวัดชัยมงคล เพื่อให้ครูอาจารย์และนักเรียน ได้ศึกษาและฝึกกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวิชาหัตถศึกษา เช่นการประดิษฐ์ของใช้ การเย็บปักทักร้อย และการปฏิบัติด้านโภชนาการ เป็นต้น ขั้นแรกทางเทศบาลและโรงเรียนมีโครงการสร้างเป็นแบบอาคารชั้นเดียว แต่ทางวัดเห็นว่าควรสร้างเป็นสองชั้นเพื่อให้ภิษุสามเณรได้อยู่อาศัยชั้นบนได้ด้วย สร้างและเสร็จในปี ๒๕๑๓

ความหลังแห่งการรื้อถอนและการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ วัดชัยมงคล อุโบสถหลังเก่าอายุ ๖๖ ปีเศษ ทรุดโทรมมากและยังไม่เป็นที่ปลอดภัยแก่ทายกทายิกาผู้มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา กรรมการและคณะศรัทธาเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะรื้อถอนและสร้างหลังใหม่ขึ้นแต่ก็ไม่มีใครเป็นแกนนำและอุทิศตัวเข้าดำเนินการ หลายปีต่อมาครูโหล แบ่งทิศ เคนอุปสมบทอยู่ที่วัดชัยมงคลมาก่อน ประกอบกับท่านเคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนเทศบาลวัดชัยมงคล มีศรัทธาจึงนำศรัทธารื้อถอนอุโบสถหลังเก่าในวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๕๑๗ และทำพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถหลังใหม่วันที่ ๑๙ มิ.ย. ๒๕๑๘ โดยมีพระราชรัตนมุนี รองเจ้าคณะภาค ๖ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายช่างหล่อเสาร์อุโบสถหลุมแรก ปี ๒๕๑๘ ใช้เวลาสร้าง ๗ ปี การก่อสร้างอุโบสถได้สำเร็จและได้ทำการฉลองอุโบสถ ในวันที่ ๘ – ๑๑ เม.ย. ๒๕๒๖

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 24 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 12:53 น.• )