ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๒๓ ผลกระทบของการจัดการปกครอง : “กบฏเงี้ยว” การต่อต้าน “ฟื้นสยาม” ของเมืองลอง เมืองต้า พ.ศ.๒๔๔๕ ที่ผ่านมาเรื่องราว “กบฏเงี้ยว” ส่วนใหญ่มีการรับรู้รายละเอียดเฉพาะของเมืองแพร่ ทั้งที่เมืองลองเป็นจุดเริ่มต้น เป็นแหล่งเตรียมการ เป็นปมเงื่อนไขสำคัญของเรื่องราว และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่น้อยไปกว่าเมืองแพร่ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีเหตุผลสำคัญอะไรถึงต้องหลีกเลี่ยงจะกล่าวโทษ “กบฏ” ที่เมืองลอง ดังนั้นผู้เขียนจึงพยายามหาคำตอบโดยการวิเคราะห์เชื่อมโยงหลักฐานต่างๆ ตามมิติเวลาและบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ด้วยการสถาปนาโครงสร้างการปกครองรูปแบบใหม่ในพ.ศ.๒๔๔๒ เพื่อรวบอำนาจไว้แห่งเดียวที่กษัตริย์สยาม หรือที่เรียกว่าการปกครองระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” เนื่องจากสยามถูกบีบจากสถานการณ์การล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ไปพร้อมกับความต้องการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองของสยามเองให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลโดยตรงต่อการเบียดขับกลุ่มผู้ปกครองล้านนาที่เคยมีอิสระปกครองตนเองที่ถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งเหมือนกับ “ล้านช้าง(ลาว)” “กัมพูชา” “มลายู” เพียงแต่อยู่ในฐานะ “เมืองประเทศราช” คือยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของสยามในระบบจารีตออกไป

รวมถึงเมืองลองที่แม้เป็นเมืองขึ้นของนครลำปางแต่เจ้าเมืองก็มีฐานะเป็น “เจ้าชีวิต” มีอิสระสูงในการปกครองบ้านเมือง ก็ถูกเบียดขับออกจากการปกครองรูปแบบใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่เจ้าเมืองลงไปจนถึงกลุ่มขุนนางเค้าสนามทั้ง ๑๒ ขุน จึงทำให้สูญเสียทั้งอำนาจและเกียรติยศที่สืบทอดกันมาสิบกว่าชั่วอายุคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์จำนวนมากของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองกับพ่อค้าเงี้ยว ที่เคยติดต่อค้าขายกันมาเป็นเวลาอันยาวนานได้ถูกแทรกแซง ซึ่งไม่เพียงแต่เมืองลองเท่านั้นที่ไม่พอใจ เจ้าผู้ครองนครและเจ้าเมืองต่างๆ ในล้านนาก็มีปฏิกิริยาต่อต้านเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะนครเชียงใหม่ที่เป็นนครประเทศราชขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปการปกครองและปฏิรูปภาษีก่อนและมากกว่าเมืองอื่นมาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๒๗ ในขั้นแรกกลุ่มเจ้านายและขุนนางจึงทำการเบี่ยงเบนความสนใจของสยาม จากภายในนครเชียงใหม่ให้ออกไปจัดการปัญหาที่ชายแดน โดยใช้วิธีให้กลุ่ม “เงี้ยว” (ไทใหญ่) คอยสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายแถบบริเวณชายแดนระหว่างนครเชียงใหม่กับรัฐฉานและพม่า แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะสยามยังดำเนินนโยบายการปฏิรูปต่อไป จึงปรับเปลี่ยนนโยบายมาทำการต่อต้านขึ้นภายในตัวเมืองนครเชียงใหม่โดยตรง ที่ทางฝ่ายสยามเรียกว่า “กบฏพระยาผาบ” ซึ่งนำโดย “พญาปราบสงคราม” หรือ “พญาปราบพลมาร” แม่ทัพเมืองนครเชียงใหม่เชื้อสายไทเขิน โดยมีเจ้านายให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังในพ.ศ.๒๔๓๒ ความไม่พอใจที่สยามเข้ามาแทรกแซงอำนาจของเมืองนครเชียงใหม่ สะท้อนในหนังสือนัดหมายของพญาปราบสงครามว่า “หมายพ่อพญาปราบสงคราม บ้านสันป่าสัก มาเถิงพญาโคหา บ้านถ้ำ ด้วยเราเปน พญาใหย่ เปนโป่ทัพพ่อเจ้ากาวิโลรส ได้มาร่ำเพิงเลงหันว่าเมื่อพ่อเจ้ายังบ่เสี้ยงบุญเทื่อ ก็จำเริญวุฑฒิฟ้าฝนก็ตกบ่ได้ขาด เข้านาปลาท้างก็เหลือกินเหลือทาน บัดเดี่ยวนี้คนไธยชาวใต้(สยาม - ผู้เขียน)ได้ขึ้นมาข่มเหงเตงเต็ก พ่อเจ้าเค้าสนามหลวงของเราก็พากันกลัวมันไปเสี้ยง ชาวหมู่เช็กจีนหินแร่มันก็มาเก็บภาษีต้นหมากต้นพลูต้มเหล้าข้าหมู คันผู้ใดบ่มีเงินเสียภาษีมันก็เอาโส้เหล็กมาล่าม ก็คุมตัวใส่ขื่อใส่ฅาไปเขี้ยนไปตี บ้านเมืองของเราก็ร้อนไหม้นัก หื้อพี่พญาโคหาเอาคนสองร้อยทังหอกดาบสีนาดไปช่วยเราเอาเมืองเชียงใหม่ ยับเอาชาวเช็ก(เจ๊ก)ชาวใต้ข้าหื้อเสี้ยง แม่นเด็กน้อยนอนอู่ก็อย่าได้ไว้เทอะ หื้อพร้อมกันที่หน้าวัดเกตริมพิงค์ หัวขัวคูลา เช้ามืดไก่ขันสามตั้ง เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ฅ่ำ หมายนี้หื้อหนานปัญญา บ้านฟ้ามุ่ย เอาเมือส่ง” สังเกตว่าเมื่อเริ่มต้นต่อต้านสยามเจ้านายขุนนางในนครเชียงใหม่ก็ใช้ “เงี้ยว”(ไทใหญ่ ไทเขิน)เป็นผู้นำทำการ ที่มีเหตุผลหลายๆ ประการ คือ เงี้ยวเป็นผู้มีเครือข่ายกับ “เจ้านาย” “ญาติมิตร” “ญาติพี่น้อง” กลุ่มใหญ่ที่อยู่นอกอิทธิพลสยาม(รัฐฉาน) ไม่ได้เป็นคนในบังคับสยาม รวมถึงชาวเมืองในยุคนั้นเชื่อถือว่าเงี้ยวมีฝีมือทางการต่อสู้ สันนิษฐานว่าการต่อต้านครั้งเหล่านี้ได้เป็นพื้นฐานความคิดสำคัญที่เจ้านายขุนนางล้านนาจะใช้ “เงี้ยว” ทำการต่อต้านสยามอีกครั้งและถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในพ.ศ.๒๔๔๕ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญอีกหลายประการที่บีบรัดให้ล้านนาทำการต่อต้าน โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษีต่างๆ เป็นเงินขณะที่ชาวบ้านยังมีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระบบผลิตพอยังชีพและบางครั้งก็ยังต้องถูกเกณฑ์เหมือนเดิม แต่อดีตได้เสียภาษีเป็นผลผลิตที่มีอยู่แล้วภายในท้องถิ่นและเก็บจำนวนน้อยมาก เช่น เมืองฝางปลูกข้าวได้ ๑๐๐ กระบุงจัดเก็บหางข้าว ๒ กระบุง แต่เมื่อสยามนำระบบการเก็บภาษีแบบสยามมาใช้ในล้านนา จึงได้เปลี่ยนจากเก็บภาษีตามปริมาณเมล็ดพันธุ์หรือจำนวนผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้เป็นตามขนาดพื้นที่ เปลี่ยนเก็บภาษีจากผลผลิตที่ได้ให้เป็นตัวเงินและเพิ่มชนิดที่ต้องเสียมากขึ้น เพื่อสะดวกในการดึงดูดผลประโยชน์และเพิ่มพูนรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังสยามในรูปของเงิน ดังกงสุลฝรั่งเศสได้กล่าววิพากษ์การกระทำของสยามในยุคนั้นว่า “...แม้ภาษีชนิดต่างๆ ได้เรียกเก็บจากชาวเมืองก็ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์แก่เมืองเลย เงินถูกไหลลงท่อส่งไปยังกรุงเทพฯ หมด การปกครองแบบใหม่จะเริ่มใช้มากกว่า ๒ ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีการกระทำใดๆ ในรูปงานสาธารณะประโยชน์เลย เงินในพื้นบ้านก็มีน้อยลงยากจนลงทุกปี...”

ส่วนเจ้านายในล้านนากลับถูกลิดรอนอำนาจและผลประโยชน์ทุกๆ ด้านจึงเกิดความไม่พอใจ สะท้อนจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ตรัสว่า “...ทุกวันนี้เมืองเชียงใหม่มีแต่กระดูก แต่ชิ้นเนื้อผู้อื่นเอาไปกินเสี้ยง...” เจ้าผู้ครองนครลำปาง “ความต้องการเกลือ ทำให้ต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ” หรือเจ้าผู้ครองนครลำพูน “เป็นพันธมิตรกับไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้น แต่เนื่องจากกษัตริย์มีอำนาจมากจึงยอมสวามิภักดิ์” ในขณะเดียวกันก็ปรากฏมีการส่งราชสาส์นลับระหว่างเมืองของเจ้าอุปราช(เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์) เจ้าผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ที่ให้คนสนิทนำไปถึงเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง(พ.ศ.๒๔๔๐ – ๒๔๖๕) และเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน(พ.ศ.๒๔๓๘ – ๒๔๕๔) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ชักชวนให้พร้อมกันมีศุภอักษรลงไปต่อรองกับสยามเพื่อขอให้กลับมา “...มีอำนาจอยู่ตามประเพณีบ้านเมืองดังแต่ก่อนมา...” ซึ่งเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตก็ทรงแสดงความในใจในราชสาส์นลับตอบกลับมายังเจ้าอุปราช เมืองนครเชียงใหม่ว่า “...ราชการบ้านเมืองในสมัยนี้ก็แปรปรวนไปต่างๆ ไม่เหมือนแต่เช่นพระอัยโกอัยการ์เจ้าข้าพี่น้องกาลนานมาแต่ก่อนๆ มาบัดนี้บุญก็มาถึงเราเจ้าข้าพี่น้องได้รักษาราชสมบัติบ้านเมืองสืบวงษ์กระกูลในสมัยนี้ ก็มาเกิดแปรปรวนไปต่างๆ ดังนี้ ก็เปนกรรมของเราเจ้าข้าพี่น้องมาแต่หนหลัง ก็ชอบที่เราเจ้าข้าพี่น้องพร้อมมูลปรองดองกัน ปฤกษาผ่อนผันไปทีละเล็กละน้อยกว่าจะเปนไปตามกาล...”  ประกอบกับหัวเมืองต่างๆ เกิดภาวะ “กลั้นข้าว” หรืออดอยากเนื่องจากฝนแล้งต่อเนื่องมาหลายปีเก็บเกี่ยวผลผลิตแทบไม่ได้ จากอดีตหากชาวบ้านขาดแคลนข้าวก็จะได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ปกครอง ดังเจ้าเมืองลองให้ชาวบ้านยืมข้าวไปบริโภค หรือชาวเมืองสะเอียบส่งส่วยข้าวสารให้เจ้าเมืองสาๆ ส่งให้นครน่าน เมื่อขาดแคลนข้าวเจ้าผู้ครองนครน่านก็จัดส่งข้าวโพดมาให้ เมื่อเก็บภาษีเป็นเงินกลายเป็นการเรียกเก็บผลประโยชน์ฝ่ายเดียวจากชาวบ้าน เมื่อเก็บเกี่ยวขายผลผลิตไม่ได้ก็ไม่มีเงินเสียภาษี ดังในเมืองนครน่านชาวบ้านต้องพากันขายทรัพย์สิน วัวควาย ที่ดิน เพื่อนำเงินมาเสียภาษี บางรายทนการบีบบังคับไม่ไหวก็หนีเข้าป่าหรือข้ามไปอยู่ฝั่งลาว โดยเฉพาะเมืองลอง เมืองต้าที่ตามจารีตเดิมถือว่าเป็น “เมืองพระธาตุ” และ “เมืองส่งส่วยเหล็ก” จะได้รับยกเว้นการเก็บภาษีทุกชนิดจากนครลำปาง แต่เมื่อสยามเข้ามายึดรวมล้านนาเป็นส่วนหนึ่งในพ.ศ.๒๔๔๒ มีการเก็บภาษีเป็นเงินและมีชนิดสิ่งของที่ต้องเสียมากมายหลายอย่าง ชาวบ้านจึงรู้สึกว่าเป็นภาระหนักยิ่งกว่าสมัยเจ้าเมืองและเจ้าผู้ครองนครเกณฑ์ ดังปรากฏในค่าวบรรยายความทุกข์ยากที่ชาวเมืองได้รับจากการเสียภาษีว่า “...ฅวามทุกข์ใจ มีไปหลายชั้น กลั้นเข้าเท่าอั้น พอดี ข้อ ๑ นั้นเทอะ อาชญาภาสี บ่มีจำมี หนีบเตงใจ้ๆ จักซื้อเข้ากิน ยังหาบ่ได้ ซ้ำเสียชอมไป เปล่าว้าง ฅนเก็บกันหนี ทึงวันบ่ย้าง เกือบจักเกิ่งบ้าน เมืองฅอน พร่องเถ้าแก่ฅ้าว หัวพอขาวผอน บ้านเกิดเมืองนอน บ่แหนมอยู่ได้ อันเงินแถบตรา แทงค่าบาทใต้ ใช่เก็บเอาไป ง่ายและ เก็บได้เหมือนหิน แร่ก้อนในแภะ นั้นพร่องอั้น ยังแฅวน จักเก็บจ่ายซื้อ วันสองสามแสน เม้าเงินฅำแดง บ่กลัวได้หื้อ นี้พวกชุมเรา ถงเบาเหมือนหมื้อ ฮิได้เท่าฮือ บ่ฅ้าง เก็บใส่ถงหนัง ทังวันบ่ย้าง เพื่อรับบ่ายจ้าง เอามา...”

ความไม่พอใจจะทำการ “ฟื้นสยาม” ของเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง ขุนนาง และชาวเมืองจึงประทุเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ จนเกิดกระแสข่าวลือลงไปถึงสยามมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมพ.ศ.๒๔๔๓ ภายหลังทำการปฏิรูปเพียงหนึ่งปีดังมีความว่า “...พวกลาว(คนล้านนา - ผู้เขียน)กับพม่า เงี้ยว จีน ในเมืองนครเชียงใหม่ มีอุปราช ราชวงษ์ เปนต้น จะก่อความจลาจลล้างผลาญพวกไทย แลโดยข่าวว่าเพราะเหตุ การที่ไทยปกครองบ้านเมืองเปนลำดับมา พวกลาวมีแต่ตกขอบลงทุกทีจนถึงที่สุดก็จะต้องตักน้ำกินเอง โดยทาสก็จะไม่มีใช้ ป่าไม้ก็หมดแล้ว ...แลข่าวว่าลาวร่วมคิดกันทุกเมืองในมณฑลนี้ บางทีจะลงมือเร็วๆ นี้ ...แลข่าวว่ากำลังสะสมอาวุธอยู่ด้วย แลเรื่องปืนร้อยเก้ากระบอกนครลำปางนั้นก็ชอบกลอยู่ บางทีจะเข้ารอยนี้...” และเริ่มเกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นไปทั่ว เช่น เมืองนครเชียงใหม่ เจ้าอุปราช(เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์) ทรงพยายามเรียกร้องอำนาจการศาลกลับคืน ให้ลดอำนาจข้าหลวงประจำเมือง และกำชับไม่ให้ทุกคนอำนวยความสะดวกใดๆ แก่ข้าหลวงใหญ่เป็นอันขาด มีการลักลอบเผาที่ว่าการแขวงแม่ออน(สันกำแพง)และแขวงจอมทอง นายแขวงแม่ท่าช้าง(หางดง)ถูกฆ่า เมืองนครลำปาง เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตทรงไม่ค่อยยอมให้ความร่วมมือกับข้าหลวง ชาวเมืองนครลำปางและนครลำพูนขัดขืนการเกณฑ์ พญาเขื่อนขัณฑ์ เจ้าเมืองพร้าว พร้อมชาวเมืองพร้าวร่วม ๖๐๐ คนขัดขืนการเกณฑ์และเข้าทำร้ายนายแขวงเมืองพร้าว(แม่งัด) ท้าวอินทร์ ท้าวพรหม สองพี่น้อง พร้อมกับแสนท้าวและชาวเมืองแจ๋มฆ่าข้าราชการสยามในแคว้นแม่แจ่ม(แจ๋ม) แขวงจอมทอง เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่(พ.ศ.๒๔๓๒-๒๔๔๕) นำเงินคลังหลวงนครแพร่ไปใช้ในกิจการป่าไม้เพราะตามจารีตถือว่าเงินทองของบ้านเมืองก็คือสมบัติของเจ้าผู้ครองนคร แต่เมื่อสยามส่งพระยาศรีสหเทพ ข้าหลวงพิเศษ(พ.ศ.๒๔๔๒-๒๔๔๓)ขึ้นมาปฏิรูปการเก็บภาษีได้กักตัวเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไว้เกือบ ๒๔ ชั่วโมงเพื่อให้ญาติหาเงินมาไถ่ตัวจนครบ โดยทายาทต้องรีบหากู้ยืมเงินที่มีดอกเบี้ยสูงมากมาไถ่ตัว ซึ่งเป็นการหลบหลู่เกียรติยศศักดิ์ศรีของเจ้านายนครแพร่อย่างมาก และพระทุติยรัฐบุรินทร์(เจ้าน้อยมหาเทพ) เจ้าเมืองสอง นัดดา(หลาน)ของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ก็เกิดความไม่พอใจที่มีข้าราชการสยามขึ้นมาปกครองแขวงเมืองสอง(ยมเหนือ) แทนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พอใจตั้งแต่เจ้าผู้ครองนครจนถึงชาวเมืองและตึงเครียดมากยิ่งขึ้น จึงเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงที่สุดในปีพ.ศ.๒๔๔๕ ที่ทางฝ่ายสยามเรียกว่า “กบฏเงี้ยว” จุดเริ่มต้นหรือแหล่งซ่องสุมกำลังคือบ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง หมู่บ้านปลายเขตแดนที่ตั้งอยู่อีกฝากหนึ่งของเชิงเขาเมืองลองซึ่งติดกับนครแพร่ เดิมบริเวณนี้เป็นแหล่งทำไม้และเป็นซอกเขาเส้นทางเดินของพ่อค้าสัตว์ต่าง ทั้งเงี้ยว ฮ่อ(จีนยูนนาน) แขก คนเมืองที่สัญจรผ่านไปมาระหว่างนครแพร่ เมืองลอง นครลำปาง แต่ด้วยบริเวณนี้มีพลอยไพลิน ภายหลังเงี้ยวจากนครเชียงตุงที่ได้เข้ามาทำป่าไม้และติดต่อค้าขายในเมืองลองพบและเข้ามาขุด จาก “ปางไม้” “ปางขุดแก้ว(พลอย)” หรือที่พักของคนเดินทาง จึงกลายเป็นชุมชนตั้งถิ่นฐานถาวรเรียกชื่อว่า “บ้านบ่อแก้ว” มีการสร้างวัดเงี้ยวขึ้นประจำหมู่บ้าน ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์มีบ้านเรือนตั้งอยู่ประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวนครเชียงตุง(ไทเขิน ไทใหญ่ ไทเหนือ ไทลื้อ) มีพม่า ขมุ ต่องสู้ และคนเมืองบางส่วนที่เข้ามาทำป่าไม้ เหตุการณ์ครั้งนี้นำโดยนายฮ้อยสล่าโป่จาย เฮ็ดแมนเมืองลอง(บ้านบ่อแก้ว) นายฮ้อยพะก่าหม่อง(เขยหม่องกุณะ บ้านป่าผึ้ง แขวงสูงเม่น) และนายฮ้อยจองแข่(บ้านบ่อแก้ว) ทั้งสามคนนอกจากเคยได้รับการอุปถัมภ์ช่วยเหลือจากเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ยังมีความคุ้นเคยและได้รับการอุปถัมภ์จากกลุ่มผู้ปกครองและชาวเมืองลอง เมืองต้าเป็นอย่างดี เพราะมีชาวนครเชียงตุงส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเมืองลองตั้งแต่พ.ศ.๒๓๔๕ ภายหลังมีการทำป่าไม้ส่วนใหญ่ทั้งเมืองลอง เมืองต้าแรงงานก็มาจากนครเชียงตุง(เมืองต้าพ.ศ.๒๔๒๕ มีเงี้ยว ๕๐ หลังคาเรือน) มีการติดต่อค้าขายระหว่างกันโดยเฉพาะสินค้าเหล็กที่เจ้าเมืองลองผูกขาดอยู่ รวมถึงวัดวาอารามและถาวรวัตถุต่างๆ ล้วนได้รับการสร้างและอุปถัมภ์จากนายฮ้อยไม้ ดังมีคำยกย่องบรรดาศักดิ์ทางพุทธศาสนาจากพระสงฆ์และมหาชนนำหน้าชื่อว่า “พะก่า(พญาตะก่า)” “จอง” หรือเรียกช่างว่า “สล่า” และมีการสมรสระหว่างกันมาเป็นเวลายาวนานจึงมีความผูกพันอย่างแนบแน่น เงี้ยวในจิตสำนึกของคนเมืองลอง เมืองต้าขณะนั้นจึงไม่ใช่ “คนอื่น” แต่เป็นญาติพี่น้อง สะท้อนจากชาวเมืองจนถึงชนชั้นผู้ปกครองนิยมโพกศีรษะแต่งตัวแบบเงี้ยวหรือนุ่งโสร่งแบบพม่าที่ถือเป็นเรื่องปกติสามัญ ซึ่งเงี้ยวที่เข้ามาช่วงนี้เมื่อได้สมรสหรือตั้งถิ่นฐานในเมืองลองก็ยังผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนเดิม ดังเมื่อแรกเข้ามาเมืองลองก็สร้างบ้านเรือนริมหนองบวกคำเหมือนที่หนองคำ นครเชียงตุง หรือสั่งเสียบุตรหลานว่าหากสิ้นชีวิตก็ให้เอาเถ้ากระดูกไปลอยที่หนองตุง นครเชียงตุง

ความเป็น “ญาติมิตร” กรณีระหว่างเงี้ยวกับคนเมืองลอง เมืองต้า ก็เหมือนกับหัวเมืองทั้งหลายในล้านนา จึงทำให้เหตุการณ์ขยายวงกว้างได้อย่างรวดเร็วถึงนครแพร่ เมืองสอง เมืองสะเอียบ เมืองเชียงม่วน เมืองเชียงของ เมืองงาว เมืองพะเยา เมืองเชียงคำ เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย นครลำปาง นครลำพูน นครเชียงใหม่ ฯลฯ โดยการต่อต้านสยามในครั้งนี้ ก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้า และขุนนางเกณฑ์เสบียงอาหารส่งให้ อีกทั้งคนในแขวงเมืองลอง(เมืองลอง เมืองต้า)บางส่วนก็เข้าช่วยเงี้ยวรบด้วย เนื่องจากพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(เจ้าหนานคันธิยะ) เจ้าเมืองลอง(พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๔๕) แสนไชยยะ เจ้าเมืองต้า และขุนนางมีความบาดหมางใจกับสยามอยู่ก่อนแล้ว คือ

(๑) สยามไม่ยอมรับไมตรีเมื่อพญาไชยชนะชุมพู เจ้าเมืองลอง(พ.ศ.๒๓๙๘ – ๒๔๓๕) และแสนหลวงขัติยะ บุตรชายขอยกฐานะเมืองลองขึ้นเป็นเมืองประเทศราชเมื่อ ๑๐ ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ (ส่วนเมืองต้าก็ขอขึ้นตามเมืองลองไปด้วย)

(๒) สยามไม่ยอมรับรองแต่งตั้งให้พญาขัณฑสีมาโลหะกิจเมื่อครั้งยังเป็นแสนหลวงขัติยะ ซึ่งได้นำเครื่องราชบรรณาการลงไปถวายรัชกาลที่ ๕ ถึงสี่ครั้งเพื่อขอขึ้นเป็นเมืองประเทศราชและขอแต่งตั้งแสนหลวงขัติยะขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง แสนหลวงขัติยะจึงต้องรอจนกระทั่งเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๔๐) รับรองแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองแทนบิดาในพ.ศ.๒๔๓๕ แต่เมื่อปฏิรูปการปกครองพ.ศ.๒๔๔๒ สยามยังทำการริบอำนาจราชศักดิ์พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองและขุนนางให้ออกจากการปกครองบ้านเมืองทั้งที่เพิ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองเพียง ๗ ปี พร้อมกับได้จัดส่งข้าราชการสยามขึ้นมาเป็นนายแขวงเมืองลองแทนกลุ่มผู้ปกครองเดิม

(๓) ต้องสูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ ของเจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้ากับกลุ่มเงี้ยว โดยเฉพาะการทำป่าไม้ การค้าเหล็ก และขุดพลอยไพลิน ประกอบกับชาวเมืองลอง เมืองต้า มีความเดือดร้อนจากการเสียภาษี บางครอบครัวก็จะหนีจากบ้านเมือง จึงพากันเข้าร้องขอให้เจ้าเมืองและขุนนางเค้าสนามช่วยเหลือ อีกทั้งนาผีเมือง(นาหลวง)ของเมืองต้าที่เดิมปลูกข้าวไว้ใช้ในพิธีเลี้ยงผีเมืองต้าและเลี้ยงผู้คนที่เข้าร่วม ก็ถูกยึดเป็นของรัฐบาลเพราะไม่มีเงินเสียค่าภาษีนาที่ส่งผลกระทบต่อประเพณีการเลี้ยงผีเมืองต้า

ด้วยเหตุข้างต้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้า ขุนนาง ตลอดถึงชาวเมืองได้สนับสนุนการ “ฟื้นสยาม” แต่เอกสารราชการสยามกลับบันทึกว่า “เงี้ยวตีเมืองลองแตกและยึดเมืองลองได้เป็นเมืองแรก” “มีเงี้ยวตรึงกำลังอยู่เมืองลอง ๖๐ คน” “คนในเมืองลองกลัวอยู่ในอำนาจเงี้ยวทั้งสิ้น” สาเหตุที่เลือกแขวงเมืองลองเป็นแหล่งเตรียมการเนื่องจาก

(๑) แขวงเมืองลองปลอดจากข้าราชการสยาม เพราะหลวงฤทธิภิญโญยศ(แถม) ข้าราชการชาวสยามที่จัดส่งขึ้นมาเป็นนายแขวง(นายอำเภอ)เมืองลองทนสภาพอากาศไม่ไหวได้เสียชีวิต จึงไม่มีข้าราชการสยามประจำแขวงเมืองลองแต่ให้ขึ้นกับกรมมหาดไทยนครลำปาง

(๒) เมืองลองมีวัตถุดิบ เช่น แร่ตะกั่ว ที่บ่อจืน บ้านศรีดอนชัย เงี้ยวขุดขึ้นทำลูกกระสุนปืนส่วนดินปืนจากขี้ค้างคาวมีมากตามถ้ำแถบนี้อีกทั้งต่างเมืองก็รับรู้ว่ามีคุณภาพดี โดยเฉพาะบ่อเหล็กลองและบ่อเหล็กต้า มีเงี้ยวกับชาวเมืองขุดขึ้นมาผลิตอาวุธเตรียมการมาตั้งแต่วันเลี้ยงผีบ่อเหล็กประมาณ ๕ - ๖ เดือน ซึ่งในวันนี้เจ้าผู้ครองนครลำปาง เจ้านาย เจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้า และแสนท้าวจะต้องมาเป็นประธานและร่วมในพิธี การขุดจึงอยู่ในกำกับของเหล่าเจ้านายและขุนนาง

(๓) เป็นแหล่งที่เหมาะสม เพราะนครลำปางและเมืองลองเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางล้านนาสามารถกระจายไปยังเมืองรายรอบได้สะดวก ที่ขณะนั้นทุกหัวเมืองในล้านนายังไม่มีกองกำลังสยามมาประจำการ และบ้านบ่อแก้วเป็นเส้นทางสัญจรและจุดศูนย์รวมของคนหลากหลายเชื้อชาติที่เข้ามาแสวงโชค มีสภาพภูมิประเทศเป็นซอกเขาเข้าหลบซ่อนและโจมตีศัตรูได้ง่าย อีกทั้งใกล้กับนครแพร่ที่เป็นนครประเทศราชขนาดเล็กที่สุดในบรรดานครทั้ง ๕ และมีอาณาเขตติดกับหัวเมืองสยาม หากทำการที่นครแพร่สำเร็จก็เหมือนปิดทางเข้าช่วยเหลือข้าราชการสยามที่อยู่หัวเมืองภายใน ดังสล่าโป่จายตั้งสกัดกองทัพสยามไม่ให้ขึ้นมาทางดอยเขาพลึง(สันเขาแบ่งเขตระหว่างนครแพร่กับอุตรดิตถ์) เรื่องนี้สยามก็รับรู้จึงกล่าวว่าเมืองนครลำปาง เมืองลอง เมืองต้า เป็น “รังผู้ร้าย” และรับรู้ว่ามีการร่วมมือกันของเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย ขุนนาง เจ้าเมือง และพ่อเมืองต่างๆ ในล้านนา “...ฉันได้พบหลวงจิตรจำนงวานิชเมื่อเลิกประชุมแล้ว ทั้งสังเกตดูตามข่าวที่ได้ทราบมาตามลำดับ เหนว่าความไม่พอใจบางอย่างฤาความปราถนาซึ่งเปนธรรมดาคนอยากจะมีจะเปนนั้นมีอยู่จริงในเจ้าลาวเหล่านี้ ...กลิ่นไชยชะนะของพวกเงี้ยวในเมืองแพร่ครั้งนี้ปรากฏขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองน่าน เงี้ยวในเมืองเหล่านั้น(สองหมื่นกว่าคน-ผู้เขียน)คงลุกขึ้นอย่างเดียวกันหมด เจ้านายแลราษฎรในเมืองเหล่านั้นคงมีใจอย่างเดียวกันกับพวกเมืองแพร่หมด เมื่อเปนไปด้วยกันทั้งหมดเราปราบปรามไม่ไหวฤาขี้คร้าน ก็คงจะยอมให้มีอำนาจไปอย่างเดิม...”

เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนวันเกิดเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยว” ๒ วัน ทหารตำรวจนครลำปางเข้าปราบกลุ่มคน(เงี้ยว คนเมือง ขมุ) ที่เคยออกปล้นผู้สัญจรไปมาและหลบหนีมาซ่องสุมอยู่ที่บ้านบ่อแก้วไม่ได้ยังทิ้งปืน กระสุน และเสบียงอาหารจำนวนมากไว้ให้ ต่อมาเช้าวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ เงี้ยวที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของบ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง ก็เป็นผู้นำกองกำลังกว่า ๕๐๐ คนเข้าทำลายสถานที่ราชการในนครแพร่อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสยามและฆ่าเฉพาะ “คนไทย” ที่ขึ้นมาทำราชการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้านาย ขุนนางราษฎรนครแพร่ เมืองสอง ที่มีหลักฐานว่าได้มีการเตรียมการกันไว้ก่อน และมีการติดต่อปรึกษากันของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ กับพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน และเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง สาเหตุที่เลือกคนบ้านบ่อแก้วเป็นผู้ทำการ นอกจากเป็นกลุ่มคนในบังคับอังกฤษหรือฝรั่งเศสอยู่นอกกฎหมายสยาม เงี้ยวยังมีความชำนาญการใช้และผลิตอาวุธปืน ดังช่างทำปืนนครลำปางและเมืองลองในยุคนี้ล้วนแต่เรียนวิธีการผลิตปืนมาจากเงี้ยวนครเชียงตุง ประกอบกับคนเหล่านี้มีความแค้นเคืองสยามอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลสั่งปิดบ่อพลอยมาตั้งแต่ ๓ ปีก่อน(๕ มีนาคม ๒๔๔๒) โดยให้เหตุผลว่าได้ค่าใบอนุญาตหรือค่าตอบแทนน้อยและไม่ให้เป็นแหล่งซ่องสุมของคนร้าย ทำให้กลุ่มคนบ้านบ่อแก้ว ๒๐๐ กว่าคนไม่มีแหล่งทำกิน และพ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมา สยามมีการปักหลักหรือขีดเส้นเขตแดนแต่ละหน่วยการปกครองให้ชัดเจนรวมถึงแขวงเมืองลอง จากระบบจารีตไม่มีเส้นเขตแดนคงที่ การเดินทางติดต่อไปมาระหว่างคนล้านนากับผู้คนที่อยู่ในบ้านเมืองรายรอบถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีการขีดเส้นเขตแดนแบบใหม่ถึงแม้เป็นเส้นสมมติ แต่ก็เสมือนเป็นกำแพงใหญ่มหึมาขวางกั้นไว้แบ่งเป็น “คนใน” กับ “คนนอก” อย่างชัดเจน “เงี้ยว” รวมถึงคนกลุ่มต่างๆ ที่เคยสัญจรไปมาในดินแดนแถบนี้จึงกลายเป็น “คนอื่น” และ “คนนอก” สำหรับสยาม ซึ่งคำพูดของสล่าโป่จาย เฮ็ดแมนเมืองลอง สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในเมืองลอง และหัวเมืองต่างๆ ในล้านนาได้เป็นอย่างดีเมื่อสยามขยายอิทธิพลขึ้นมายึดผนวกล้านนาในพ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมา “...เมื่อแรกๆ เรามาถึงที่นี่ พบว่าเราอยู่โดยสงบสุขเหมือนคนอื่นๆ แต่ใน ๓ - ๔ ปีหลังนี้เราได้ถูกกดขี่โดยชาวสยามผู้ไม่ต้องการให้เราอยู่ในประเทศนี้ ข่มเหงเราดังนี้ เมื่อเราต้องการหนังสือเดินทางก็ขอการค้ำประกันและจะไม่ยอมให้เงี้ยวค้ำประกัน ถ้าเราขอร้องคนลาวคนลาวก็ไม่กล้าค้ำประกันเพราะผู้ใหญ่บ้านจะตำหนิการกระทำเช่นนั้น เราซื้อที่บ้านหรือนาไม่ได้เพราะผู้ใหญ่บ้านขัดขวาง สร้างวัดก็ไม่ได้เพราะไม่ยอมให้ไม้ฟรี เราถูกปฏิบัติเหมือนผู้ร้ายเพราะว่ามีคนชั่ว ๒-๓ คนอยู่ในหมู่พวกเรา ที่เหมือนกันทุกชุมชน ด้วยเหตุผลเหล่านี้เรามีความไม่พอใจมาก และขณะนี้เมื่อข้าหลวงลำปางส่งคนมาจับเรา ทุกคนเห็นพ้องกันว่าไม่ทนต่อไปอีกแล้วดังนั้นเราจึงป้องกันตัวเอง ภายหลังที่ตีคนลำปางยับไปแล้วเราก็โจมตีแพร่ เพราะว่าเราได้ยินว่าตำรวจจากนั่นจะส่งมาช่วยตำรวจลำปาง เราไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ต้องการทำอันตรายแก่บ้านเมือง แต่เราจะไม่ยอมให้ชาวสยามกลับมาอีก...”

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 11 •ธันวาคม• 2012 เวลา 09:08 น.• )