“เมืองแพร่แห่ระเบิด” เหตุเกิดขึ้นจริงหรืออิงตลก คำล้อเลียน “เมืองแป้แห่ระเบิด” หรือ “เมืองแพร่แห่ระเบิด” เป็นสำนวนที่คนจังหวัดแพร่เมื่อออกไปพบปะกับผู้คนต่างจังหวัดมักได้รับการทักทายเมื่อพบหน้าด้วยสำนวนนี้ รวมไปจนถึงในวงเหล้าที่มีเพื่อนฝูงมาจากต่างจังหวัดกันก็นิยมยกขึ้นมาแซวกันสนุกปาก อย่างน้อยช่วงพ.ศ.๒๕๐๐ ก็พบว่าได้เกิดคำล้อเลียนนี้ขึ้นแล้ว โดยเฉพาะคนจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดแพร่ เช่น จังหวัดน่านก็นิยมล้อเลียนในช่วงนี้ คนเมืองแพร่ที่ถูกทักทายด้วยสำนวนนี้ บางคนก็รู้สึกงง บางคนก็รู้สึกเฉยๆ บางคนก็รู้สึกตลกขบขัน บางคนก็รู้สึกอาย หรือบางคนก็รู้สึกโกรธ แล้วแต่บุคคลและสถานการณ์ ส่วนที่รุนแรงก็คือเคยมีการนำเอาสำนวนนี้ไปกล่าวกระทบกระทั่งกันในที่ประชุมผู้บริหารระดับประเทศในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ และเกิดกรณีพิพาทออกสื่อดังไปทั่วประเทศอยู่หลายวัน ซึ่งก็ยังไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนว่าสำนวนนี้จริงๆ แล้วจากไหน จนกระทั่งช่วงพ.ศ.๒๕๕๓ จึงเกิดการค้นคว้าที่มาทำการอธิบายใหม่เพื่อตอบโจทย์และตอบโต้กับคำล้อเลียนนี้ว่า “ระเบิดที่แห่มีจริง ไม่ได้แห่เพราะการไม่รู้จักระเบิดจนแตกตายไปครึ่งเมือง แต่ระเบิดที่กล่าวถึงคือระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๔ – ๒๔๘๘) นำแห่ไปถวายวัดเพื่อทำระฆังที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่” และกลายเป็นคำอธิบายกระแสหลักที่คนทั้งประเทศรับรู้ เพราะมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลิตซ้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอทั้งทางโทรทัศน์ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ เอกสาร แผ่นพับ เว็บไซต์ต่างๆ ตลอดจนถึงการเดินทางมาเที่ยวชมในสถานที่จริง แต่ในมุมมองของผู้เขียนกลับไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายนี้ เพราะอะไร แล้วคำล้อเลียนนี้มาจากไหน เป็นเรื่องที่เกิดจากการแห่ระเบิดไปทำระฆังจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงคำล้อเลียนเพื่ออิงความตลกขบขัน ท่านผู้อ่านลองพิจารณาไปทีละประเด็นได้ตามที่ผู้เขียนนำมาเสนอในบทความฉบับนี้ ประเด็นพิจารณาเรื่องเมืองแพร่แห่ระเบิดเหตุเกิดจริงหรืออิงตลก

ประเด็นแรกคือระฆังทำจากระเบิดทั้ง ๓ ลูกที่อยู่ในเมืองลอง(อำเภอลอง) คือ วัดแม่ลานเหนือ(ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง) วัดพระธาตุศรีดอนคำ(ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง) และวัดนาตุ้ม(ตำบลบ่อเหล็กลอง(ช่วงนั้นอยู่รวมกับตำบลหัวทุ่ง) อำเภอลอง) ไม่ได้นำใส่ล้อเกวียนไปถวายวัดทั้ง ๓ แห่งพร้อมกันแต่ต่างคนต่างนำไปถวาย และคนถวายก็เป็นต่างเจ้าศรัทธากัน คือ ลูกระเบิดที่นำไปถวายถวายวัดแม่ลานเหนือ โดยพ่อหลง มะโนมูล วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ลูกที่ ๒ ถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำ(วัดห้วยอ้อ) ถวายโดยพ่อมา แม่ซอน สุภาแก้ว เพื่ออุทิศกุศลให้กับพ่อชุม สุภาแก้ว และลูกที่ ๓ ถวายวัดนาตุ้ม ถวายโดยพ่อบุญมา แม่จันทร์ อินปันดี วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๖ โดยเฉพาะระเบิดลูกที่ ๓ ของวัดนาตุ้ม ซึ่งเป็นลูกที่นำขึ้นมายากที่สุดเพราะฝังอยู่ลึกลงไปในหลุมดินทรายต้องใช้ช้างของปางไม้ที่อยู่ข้างเคียงของพ่อบุญมา อินปันดี โดยมีสิบตรีศรีมูล มารยาทประเสริฐ บ้านนาตุ้ม ที่เป็นเครือญาติกับพ่อบุญมา แม่จันทร์ และช่วยทำงานในปางไม้แม่ต้า เป็นคนขี่ช้างลากลูกระเบิดลูกนี้ขึ้นมาจากหลุมทราย หลังจากใช้ช้างชักลากขึ้นมาจากใต้ดินก็ไม่ได้นำไปถวายวัดทำระฆังในทันทีแต่อย่างใด ยังนำไปตัดส่วนก้นลูกระเบิดแล้วนำไปฝังดินไว้แทนโอ่งน้ำที่เชิง(ตีน)บันไดที่พักในปางไม้ เพื่อใส่น้ำไว้ล้างเท้าใช้ชำระสิ่งต่างๆ ก่อนขึ้นบันไดที่พัก(พ่ออินทร์ คำวงค์ บ้านนาตุ้ม ญาติของพ่อบุญมา แม่จันทร์ ก็เคยตักน้ำใส่ในโอ่งลูกระเบิด) ภายหลังจึงนำมาถวายวัดนาตุ้มทำเป็นระฆังในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ระยะเวลาห่างจากพ่อหลง มะโนมูลนำไปถวายที่วัดแม่ลานเหนือแล้วร่วม ๒ เดือน ไม่ได้แห่เป็นขบวนยาวติดต่อกันทั้ง ๓ ลูกไปถวายแต่ละวัดแต่อย่างใด ส่วนการนำมาถวายก็บรรทุกไปถวายวัดนาตุ้มเป็นธรรมดา และจุดประสงค์การถวายก็เหมือนกับการถวายระฆังให้กับวัดทั่วไป เพื่อให้ได้อานิสงส์บุญกุศลและอุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป เพียงแต่พิเศษที่ตัววัตถุที่มีการปรับเอาลูกระเบิดที่มีอยู่ไปถวายวัดแทนการซื้อระฆังจากท้องตลาดไปถวายเท่านั้น และระเบิดนำไปถวายวัดทำระฆังไม่ได้มีเพียง ๓ ลูก ยังมีอีกลูกอยู่ที่วัดพระธาตุไฮสร้อย(ตำบลปากกาง อำเภอลอง) เป็นลูกระเบิดที่ตัดเหลือครึ่งลูก ถวายโดยนางลำจวน โมกข์งาม เมื่อพ.ศ.๒๕๒๐

ประเด็นที่ ๒ การแห่ระเบิดที่กล่าวอ้างกับคำล้อเลียนเกิดขึ้นคนละช่วงเวลา ข้อมูลว่าแห่ระเบิดไปถวายวัดในอำเภอลองทั้ง ๓ ลูกเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปีพ.ศ.๒๕๑๖ และถวายวัดพระธาตุไฮสร้อยพ.ศ.๒๕๒๐ ส่วนคำล้อเลียนนี้เกิดขึ้นอย่างช้ามาตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๕๐๐ แล้ว ระยะเวลาที่มีคำล้อเลียนเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์แห่ระเบิดตามที่กล่าวอ้างห่างกันอย่างน้อยร่วม ๒๐ ปี

ประเด็นที่ ๓ ความสำนึกเกี่ยวกับ “เมือง” ในล้านนา(ภาคเหนือ)เพื่อบ่งบอกว่าตนเองเป็นคนเมืองไหนหรือมาจากเมืองไหนยังมีสูงอยู่ในช่วงนั้น และยังเรียกติดปากมาจนถึงปัจจุบันว่าเป็น “คนเมืองแพร่” “คนเมืองลอง” “คนเมืองสอง” “คนเมืองสะเอียบ” หรือ “คนเมืองต้า” แม้ว่าหน่วยแบบราชการมหาดไทยที่จัดแบ่งขึ้นใหม่เป็นจังหวัด อำเภอ และตำบลจะใช้มาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๔๒ แล้วก็ตาม ประกอบกับในอดีตเมืองลองเคยขึ้นอยู่กับเมืองลำปางและจังหวัดลำปางมาหลายร้อยปี จนกระทั่งวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ จึงได้โอนย้ายมาขึ้นกับจังหวัดแพร่ การรับรู้และสำนึกของผู้คนในช่วงนั้นจึงผูกพันกับเมืองลำปางและจังหวัดลำปางค่อนข้างสูง ดังนั้นถ้าระเบิดที่เมืองลองเป็นต้นกำเนิดของคำล้อเลียนการแห่ระเบิด น่าจะล้อเลียนว่า “เมืองลองแห่ระเบิด” มากกว่ามาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๖ แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาลากความเพิ่มในพ.ศ.๒๕๕๕ ว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด เหตุเกิดที่เมืองลอง”

ประเด็นที่ ๔ ระฆังทำมาจากลูกระเบิดก็ไม่ได้มีเพียงในอำเภอลอง จังหวัดแพร่ แต่ในจังหวัดลำปางก็มีหลายวัด เช่น วัดพระแก้วดอนเต้า ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง หรือวัดสบจาง ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ(อดีตคือเมืองเมาะ) จังหวัดลำปาง ระฆังทำจากลูกระเบิดทั้ง ๒ วัดนี้มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับระเบิดทั้ง ๓ ลูกที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ หรือวัดศรีเตี้ย ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ก็มีลูกระเบิดทำระฆังเพียงแต่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เหตุที่พบลูกระเบิดปรากฏอยู่ทั่วไปเนื่องจากอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเขตภาคเหนือมีการทิ้งระเบิดตามเส้นทางรถไฟตั้งแต่จังหวัดแพร่ไปจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ จึงปรากฏมีการนำซากลูกระเบิดที่เกิดขัดข้องไม่ระเบิดไปทำระฆัง โดยเฉพาะในเขตอำเภอลอง(อดีตอยู่จังหวัดลำปาง) อำเภอแม่เมาะ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปางที่มีพื้นที่ติดต่อกันตามเส้นทางรถไฟ ดังนั้นการนำลูกระเบิดไปทำระฆังจึงไม่ได้มีเฉพาะในอำเภอลอง และไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะปรากฏมีอยู่ทั่วไป หากคำล้อเลียนนี้เกิดขึ้นจากการแห่ระฆังระเบิดไปถวายวัดจริงจึงไม่มีความจำเป็นต้องมาจำเพาะเจาะจงว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด” เพราะที่ไหนก็มีดังกล่าวมาแล้ว และทำไมไม่เกิดสำนวนล้อเลียนว่า “เมืองลำปางแห่ระเบิด” “เมืองเมาะแห่ระเบิด” หรือ “เมืองลำพูนแห่ระเบิด”

ประเด็นที่ ๕ เป็นคำล้อเลียนที่เกิดจากบุคคลภายนอกเมืองแพร่หรือคนต่างจังหวัด แต่แปลกว่าทำไมคนภายนอกที่เป็นต้นกำเนิดคำล้อเลียนถึงไม่ทราบมาก่อนเลยว่า ต้นตอแหล่งกำเนิดของคำล้อเลียนนี้อยู่ที่อำเภอลอง ทั้งๆ ที่เป็นคนกล่าวคำล้อเลียนเอง แม้กระทั่งคนอำเภอลองหรือคนในหมู่บ้านที่มีระฆังลูกระเบิดเอง(รวมถึงผู้เขียนที่อยู่บ้านนาตุ้มได้ยินตีระฆัง ๗ โมงเช้าเกือบทุกวัน)ก็ไม่เคยมีเรื่องเล่าแนวนี้มาก่อน เพิ่งมีเรื่องเล่าว่าเป็นต้นกำเนิดเมืองแพร่แห่ระเบิดเกิดขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ.๒๕๕๓ มานี้เอง

ประเด็นสุดท้าย คำล้อเลียนที่เกิดขึ้นไม่มีแม้แต่สำนวนเดียวที่กล่าวถึงเมื่อแห่ระเบิดแล้วไม่แตกหรือไม่ระเบิด เพราะจุดสำคัญของคำล้อเลียนเพื่อให้ตลกขบขันอยู่ตรงนี้คือ “แห่ไปแล้วเกิดระเบิดแตกตายกันไปครึ่งเมืองหรือทั้งเมือง” หรือ “ระเบิดแตกแล้วเจ้านายตายหมดเลยไม่เหลือ ณ แพร่” เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะเหลือซากลูกระเบิดมาทำระฆังได้อย่างไร และถ้าหากแห่นำไปถวายวัดธรรมดาไม่เกิดการระเบิดแต่ประการใดเหมือนคำอธิบายใหม่ที่เกิดขึ้น คนจังหวัดอื่นๆ คงไม่เสียเวลาที่จะหยิบยกขึ้นมาล้อเลียนให้เสียอารมณ์ขัน ยิ่งนำแห่ไปถวายวัดเพื่อทำระฆังยิ่งเป็นบุญกุศล คนคงไม่พากันนำมาล้อเล่นเป็นเรื่องตลกขบขันให้เป็นบาปติดปากติดตัว

ตัวอย่างเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองแพร่แห่ระเบิดสำนวนต่างๆ

ต่อไปผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำล้อเลียนเกี่ยวกับเมืองแพร่แห่ระเบิดสำนวนเก่าๆ ก่อนจะมีการอธิบายขึ้นใหม่ในพ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งมีหลายสำนวนตามรูปแบบของเรื่องเล่าตลกขบขันหรือ “เจี้ยก้อม” ยกตัวอย่างเช่น “มีลูกระเบิดตกมาจากฟ้า ชาวแพร่คิดว่าเป็นระเบิดจากเทวดา นำไปแห่จนระเบิดตายทั้งเมือง เลยกลายเป็นที่มาของเมืองแพร่แห่ระเบิด”

“มีระเบิดตกลงมาจากฟ้า ชาวเมืองแพร่นึกว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์นำเอาไปเป็นหินสีมา(ลูกนิมิต)ฝังรอบอุโบสถ ระหว่างที่แห่ระเบิดไปนั้นลูกระเบิดได้แตกขึ้น ชาวเมืองแพร่ตายหมดทั้งเมือง”

“มีชาวบ้านเมืองแพร่เข้าป่าไปหาหน่อไม้ไปเจอลูกไข่เหล็กเกิดแตกตื่น จึงนำลูกไข่เหล็กไปแห่รอบบ้านบอกเป็นไข่เทวดาเพราะไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ปรากฏว่าระเบิดแตกตายไปครึ่งเมือง”

“มีเครื่องบินขนระเบิดแล้วหลุดลงมากลางทุ่งนาเมืองแพร่ แต่ไม่ระเบิด ชาวบ้านไปพบไม่รู้จักระเบิดนึกว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ตกจากฟ้า เลยแห่เป็นขบวนแห่ไปแห่มาเกิดแรงสะเทือนระเบิดแตกเลยตายกันจำนวนมาก”

“มีระเบิดตกลงมาจากท้องฟ้า ชาวบ้านนึกว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาจากสวรรค์ก็เลยเอามาแห่ แล้วระเบิดตายทั้งหมู่บ้าน ตายทั้งบ้านทั้งเมือง รวมทั้งเจ้าเมืองด้วย ก็เลยไม่มีนามสกุล ณ แพร่” หรือบางสำนวนก็ขยายเรื่องเล่าไปถึงเมืองน่านอีกด้วยว่า “สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้ทิ้งระเบิด ลูกระเบิดตกลงมาเมืองแพร่ มีคนนำขึ้นถวายเจ้าเมือง ก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอะไร นึกว่าเป็นของที่เทวดาฟากฟ้าประทานให้ เจ้าเมืองจึงสั่งให้ลูกหลาน ณ แพร่ มาร่วมกันแห่ทั่วบ้านทั่วเมืองเพื่อรับขวัญทำพิธี และเจ้าเมืองแพร่ไปชวนเจ้าเมืองน่านและลูกหลานมาแห่ด้วย ปรากฏว่าแห่ท่ามกลางอากาศร้อนจึงทำให้ระเบิดทำงานขึ้นมาแตกระเบิด ทำให้ไม่มีตระกูล ณ แพร่ และ ณ น่าน” ขณะที่ชาวเมืองแพร่หลายๆ คนก็พยายามอธิบายถึงที่มาของคำล้อเลียนนี้ไปตามแต่จะคาดเดาได้ เช่น บ้างบอกว่าไม่ใช่แห่ระเบิดแต่เป็นบอกไฟ(บั้งไฟ)ของเมืองแพร่ดังมากเวลาจุดเสียงดังไปจนถึงเมือง(จังหวัด)ข้างๆ เมืองแพร่ บ้างบอกว่าไม่ใช่ระเบิดแต่เป็นสะโป้กแตก บ้างก็บอกว่ามาจากการแห่ขบวนไปทำบุญที่วัดสนุกสนานจน “ระเบิดเถิดเทิง” และบ้างก็บอกว่าเพราะว่าคนแพร่มีนิสัยพูดจาโผงผาง พูดเร็ว เสียงดังไปไกลอยู่ไหนก็ได้ยินเหมือนเสียงระเบิด เป็นต้น จนบางกลุ่มบางคนก็เกิดการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ขึ้นมาตอบโต้หรือประชดประชันคำล้อเลียน เช่น แต่งสำนวน “เมืองแพร่แห่ระเบิด แต่เป็นแหล่งกำเนิดคนหน้าตาดี” หรือนักศึกษาจังหวัดแพร่ที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มักถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนด้วยสำนวนนี้ จึงมีการใช้คำล้อเลียนนี้เป็น “บูมแป้” หรือบูมของนักศึกษาจังหวัดแพร่ว่า “วี๊ด บู้ม วี๊ด บูม P P P H R R R R เอ E แป้ แห่ระเบิด บูม” ส่วนเสื้อจังหวัดของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากจังหวัดแพร่ก็เป็นรูประเบิดติดข้างหลังเสื้อ เป็นต้น

ทว่าคำล้อเลียนกับคนเมืองแพร่ไม่ได้มีเพียง “เมืองแพร่แห่ระเบิด” ยังมีอีกหลายประโยค เพียงแต่ประโยคนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสร้างความตลกขบขันได้ดีกว่าประโยคอื่นๆ เช่น “คนเมืองแพร่เอ้อะ(เรอ)นึกว่าเขาวางยา” “คนเมืองแพร่ไม่เคยเข้าโรงหนังโดนเก้าอี้หนีบก้น” “คนเมืองแพร่หนาไอ่” “คนเมืองแพร่นับมะพร้าวห้าวแข่งกับคนเชียงใหม่” “แป้(แพร่)แต่เสื้อตัวแต๊(ตัวจริง)อยู่ฟะเยา(พะเยา)” “คนเมืองแพร่เดินผ่านต้นไม้สัก ต้นไม้สักเหี่ยว” หรือ “คนเมืองแพร่เดินผ่านต้นไม้ ต้นไม้สั่น” เป็นต้น แล้วก็มีเรื่องเล่าสั้นๆ (ถ้าเล่ายาวจะไม่ตลก)ประกอบ เช่น  “คนเมืองแพร่ไม่เคยเข้าโรงหนัง เมื่อไปเที่ยวเชียงใหม่จึงเข้าไปโรงหนัง ก่อนเข้าโรงหนังได้ซื้อโค้กแต่ก็ไม่เคยกินน้ำโค้กมาก่อน เมื่อดื่มน้ำโค้กดูหนังไปสักพักเรอออกมาก็เดือดร้อนหาว่ามีคนวางยา ช่วงที่ลุกขึ้นเคารพเพลง(บางที่เล่าว่าดูหนังจบ)ก็ลุกขึ้นเก้าอี้พับได้ดีดก้น ก็พูดด้วยความไม่พอใจขู่ออกไปเพื่อแสดงเป็นเมืองคนดุว่า “คนแป้หนาไอ่” เพราะไม่เคยนั่งเก้าอี้พับได้นึกว่ามีคนแกล้ง” “คนเมืองแพร่เวลาเดินผ่านต้นสักถึงกับสั่นเพราะว่ากลัวโดนคนเมืองแพร่ตัดเพราะเมืองแพร่ตัดไม้เยอะ” (บางที่เล่าว่าพอคนแพร่เดินผ่านต้นไม้เหี่ยวเพราะกลัวคนเมืองแพร่)

คำล้อเลียนของเมือง(จังหวัด, อำเภอ)อื่นๆ ในล้านนา(ภาคเหนือ) จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมคนจังหวัดหรืออำเภออื่นๆ ถึงใจร้ายล้อเลียนแต่เมืองแพร่(จังหวัดแพร่) แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยคนจังหวัดแพร่ก็ล้อเลียนจังหวัดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน กล่าวก็คือต่างคนก็ต่าง “เพี๊ยก”(ล้อเลียน, แซว) กันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา จึงได้ยกสำนวนคำล้อเลียนของเมืองอื่นๆ มาพอเป็นตัวอย่าง ทั้งสำนวนโบราณและเกิดขึ้นมาไม่นาน ทั้งสำนวนสั้นๆ และแต่งเป็นสำนวนยาวคล้องจองที่เรียกว่า “ค่าว” เช่น “คนเชียงใหม่บอกสามล้อเลี้ยวโค้งด้วยคำพูดช้าจนเลยโค้งถึงจบประโยค” “ลำพูนบาง ลำปางหนา” “เมืองเชียงใหม่กิ๋นขี้ไก่ต๋างฮ้า เมืองลำปางกิ๋นขี้ม้าต๋างเหมี้ยง”(คนเชียงใหม่กินขี้ไก่แทนปลาร้า คนลำปางกินขี้ม้าแทนเมี่ยง) “เมืองเชียงรายกิ๋นขี้ควายต๋างฮ้า เมืองลำปางกิ๋นขี้ม้าต๋างเหมี้ยง”(คนเชียงรายกินขี้ควายแทนปลาร้า) “เมืองเชียงใหม่เอาขี้ไก่แป๋งฮ้า”(คนเชียงใหม่เอาขี้ไก่ทำปลาร้า) “เมืองน่านข้าวหลามแจ้ง” “เมืองเชียงรายห้องแถวไหล” “เมืองงาวถ่อแป(แพ)บก” “เมืองงาวแทงดังม้า” “เมืองเถินเอาอี่อึ่งแป๋งฮ้า” “เมืองพะเยาแป๋งปลาส้มงูไซ” “เมืองพะเยาดาวลอย ขี่หมูน้อยข้ามกว้าน” “ชาวเมืองพะเยาหัน(เห็น)สบู่นึกว่าขนมโก๋” “เมืองพะเยาฮ้อง(เรียก)ซาลาเปาว่าหน่วยอุ่น” “เมืองน่านส้มเน่า สาวบ่งาม ข้าวหลามแจ้ง แกงหมาลำ ยำส้าดึก ตึกแถวไหล รถไฟบ่ได้หัน ปัจจุบันต้องการเซเว่น” “เมืองน่านส้มเน่า สาวบ่งาม ข้าวหลามแจ้ง แกงหมา ส้าดึก ตึกแถวไหล รถไฟบ่เข้า หมู่เฮาต้องการเสาออเร้นจ์” “ขี้โม้หละปูน มาลูนเจียงใหม่ ใจใหญ่ลำปาง คนขี้คร้านพะเยา คนขี้เหล้าเมืองแป้ คนบ่แน่เจียงฮาย คนบ่กลัวต๋ายเมืองน่าน หำยานแม่ฮ่องสอน” “เปิ้นว่าเจียงใหม่ กิ๋นขี้ไก่ต๋างฮ้า เมืองแป้นั้นนา แห่ระเบิดกั๋น เจียงฮายปี้ไท้ ซ้ำได้ไปหัน รถไฟลำปาง ใหญ่ยาวบ่หน้อย ว่าเป๋นห้องแถว ไหลไปเหียจ้อย ย้อนบ่ได้กอย ถี่แต๊”

หรือคำเล่าค่าวของชาวเมืองสะเอียบ(ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง)ที่จดจำสืบทอดกันมาว่า “เมืองงาวแทงดังม้า บ่ทับใส่กื๋อ ม้าขบมือ ดูดีบ่เข้า ขี่แพบก ตกดอยม่อนจิ้ง ตายสี่ห้าหกคน เมืองงาวแป๋งล้อ ต๋ายห้าร้อยป๋าย เมื่อเจ๊าก่อนงาย ต๋ายร้อยซาวห้า”  “เมืองงาวขดไม้เป็นวงล้อ(เกวียน)ไม้ดีดตาย ๑๒๕ คน”

แล้วก็เกิดมีเรื่องเล่าสั้นๆ (เจี้ยก้อม) เล่าประกอบสำนวนล้อเลียนที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น “ถ่อแพบก” มีเรื่องเล่าประกอบว่า “ชาวเมืองงาวเห็นชาวเมืองน่านแกงบอนไม่รู้จัก ชาวเมืองน่านหลอกว่าเป็นขี้ควายชาวงาวก็เชื่อ แล้วชาวเมืองน่านมีหม้อแกงทำจากดินเผา ชาวงาวจะเอาไปแกงที่บ้านก็กลัวหม้อแตก ชาวเมืองน่านจึงหลอกแนะนำว่าให้ทุบหม้อแล้วเอาชัน(ขี้ขะย้า)เชื่อมต่อรอยรั่วเวลาจะแกง พอชาวงาวนำหม้อแกงตั้งไฟชันละลายหม้อแกงแตกหมดชาวเมืองงาวโกรธจะยกทัพไปรบเมืองน่าน พอไปถึงเจอชาวน่านแห่เรือและแข่งเรือเลยลืมเรื่องที่จะยกทัพไปโจมตี อยากแข่งเรือบ้างแต่ไม่มีแม่น้ำใหญ่ ก็เลยพากันมาแห่แพบนบกที่ดอยหลู้(จนเกิดความเชื่อว่าห้ามพูดเรื่องนี้เมื่อเดินทางผ่านที่นี่จะผิดป่าเกิดอาเพศ)ที่เมืองงาว ให้คนง่าว(โง่)ถือเชือกแล้วให้คนฉลาดขี่แพบก พอถึงเวลาตัดเชือกแพไหลลงดอย คนขี่แพหัวแตกปากแตก คนง่าวที่ตัดเชือกก็น้อยใจว่าเขาสนุกขี่แพไปเคี้ยวหมากไปปากแดงไป ที่จริงคือปากแตกเลือดกลบปาก คนฉลาดในเมืองงาวเลยตายหมดเหลือแต่คนง่าว เลยเรียกเมืองนี้ว่าเมืองง่าวหรือเมืองงาว” หรือบางสำนวนก็เล่าว่า “ไอ่ง่าวกับไอ้เอ๋อ สองคนขึ้นไปบนดอยหลู้ เมืองงาว ล่องแพบนบกลงดอยต้นไม้หลู้(เอียง)หมด แล้วแพบกแตกลูกอัณฑะของไอ่ง่าวไปชนใส่ต้นไม้ตายคาที่ ส่วนไอ่เอ๋อเห็นอ้ายง่าวล่องแพบกไปชนต้นไม้ก็หัวเราะจนงับปากไม่ได้กรามค้างเลยตายที่บนดอย”

ส่วนสำนวน “เมืองน่านข้าวหลามแจ้ง” ก็เล่าว่า “ชาวเมืองน่านอยู่ห่างไกลไม่มีหลอดไฟใช้ ไม่รู้จักหลอดไฟ พอได้ออกไปเห็นจังหวัดอื่นก็เรียกว่าข้าวหลามแจ้ง(สว่าง) คือ เคยเห็นแต่ข้าวหลามที่บ้านเหมือนกับหลอดไฟ จึงเรียกว่าข้าวหลามแจ้ง(ข้าวหลามมีแสงสว่าง)” หรือ “เมืองเชียงรายห้องแถวไหล” ก็เล่าตลกขบขันว่า “เมืองเชียงรายไม่เคยเห็นไม่มีรถไฟผ่าน เลยไม่รู้จักรถไฟ พอได้ไปเห็นที่เชียงใหม่(บางสำนวนก็ว่าลำปาง)ก็เลยว่า “ห้องแถวไหล””

จากตัวอย่างข้างต้นสังเกตว่า มีคำล้อเลียนเพื่อความสนุกสนานหรือตลกขบขันกันอยู่ทุกเมือง หรือทุกจังหวัดเมื่อพบปะทักทายกัน โดยเฉพาะผู้ที่คุ้นเคยกันและมั่นใจแล้วว่าผู้ถูกทักทายจะไม่โกรธ อีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับเป็นบันไดก้าวแรกของการทักทายกัน โดยเปิดเรื่องตลกขบขันเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน คนในอดีตจึงไม่ได้ถือเป็นเรื่องน่าอับอายแต่อย่างใด ยกเว้นใช้ผิดกาละและเทศะเท่านั้น แม้ปัจจุบันก็ยังมีการแซวกันอยู่เสมอเมื่อพบปะกัน เมื่ออยู่ในวงเหล้า หรือเมื่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ต่างจังหวัดต่างอำเภอที่สนิทกันมาเจอกันด้วยสำนวนเหล่านี้ เพื่อ “เพี๊ยก”(ล้อ, แซว)ว่าบ้านไหนของใคร “เอิ๊บ” ก็คือล้าหลังด้อยพัฒนานั่นเอง แล้วก็จะหัวเราะกันสนุกสนาน แล้วก็ผ่านไปทั้งหมดของเรื่องเมืองแพร่แห่ระเบิดกับระฆังลูกระเบิดที่เมืองลอง ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่จริงของ “ระฆังที่ทำมาจากลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเมืองลอง” ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่จริงของ “คำล้อเลียนเมืองแพร่แห่ระเบิด” แต่ปฏิเสธการมีอยู่จริงของ “เมืองแพร่แห่ระเบิดเหตุเกิดที่เมืองลอง” หรือ “เมืองแพร่แห่ระเบิดเกิดจากการแห่ระฆังที่ทำจากลูกระเบิดไปถวายวัด” เพราะคำล้อเลียนเหล่านี้ไม่ได้หมายมั่นว่าต้องมีอยู่จริง เป็นเพียงเรื่องเล่าสั้นๆ หรือ “เจี้ยก้อม” เอาไว้พูดคุยกันสนุกสนานเท่านั้นเอง เป็นสำนวนที่เกิดขึ้นเพื่อล้อเลียนความ “ด้อยพัฒนา” จนไม่รู้จักสิ่งใหม่ๆ อันทันสมัยตามแบบโลกทุนนิยมที่ถาถมเข้ามา และมีคำล้อเลียนในลักษณะนี้มีเหมือนกันทุกๆ จังหวัดในภาคเหนือดังยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น อีกประการหนึ่งจากคำล้อเลียนเหล่านี้ ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการกระจายการพัฒนาความทันสมัยแบบใหม่ที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะหลังประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๐๔ รวมถึงสะท้อนภาพของการต้องพยายามปรับตัวของคน “โลกเก่า” ในยุคจารีตที่พึ่งพาตนเองสูง มาเข้าสู่ “โลกใหม่” ในยุคทุนนิยมบริโภคนิยมที่พึ่งพาตลาดสูง ซึ่งกำลังเป็นกระแสไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอยู่ทุกขณะ มาจนถึงยุคท้องถิ่นไทยจะไปอาเซียนในปัจจุบันนี้อีกด้วย

ดังนั้นแม้ว่าระเบิดที่ถวายวัดทำระฆังทั้ง ๓ ลูกของเมืองลอง คือ วัดพระธาตุศรีดอนคำ วัดแม่ลานเหนือ และวัดนาตุ้ม (และอีก ๑ ลูกที่วัดพระธาตุไฮสร้อย) จะไม่ใช่ที่มาของคำกล่าวล้อเลียน “เมืองแพร่แห่ระเบิด” แต่คุณค่าก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ตรงกันข้ามกลับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แสดงถึงภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนรุ่นก่อน และแสดงถึงความเชื่อศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนภายในท้องถิ่น ตลอดจนถึงผู้สนใจที่จะมาศึกษาเที่ยวชมได้ แต่ที่สำคัญขึ้นอยู่กับว่า “เรา” จะศึกษาและทำความเข้าใจกับมรดกชิ้นนี้ได้ลึกซึ้งและดีแค่ไหน ก่อนที่จะทำการเผยแพร่เรื่องราวออกสู่สาธารณชนในสังคมวงกว้าง ตั้งแต่ระดับ “ท้องถิ่น(ภาคเหนือ)” “ประเทศไทย” และ “อาเซียน” ต่อไป

ภูเดช แสนสา

ระฆังทำจากลูกระเบิดของวัดนาตุ้ม

วัดพระธาตุศรีดอนคำ

วัดแม่ลานเหนือ

ระฆังทำจากลูกระเบิด ของวัดพระธาตุไฮสร้อย อำเภอลอง

สะพานข้ามน้ำแม่ต้า บ้านแม่หลู้ ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง ถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ระฆังทำจากลูกระเบิดของวัดมารวิชัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ที่มา : พลังจิตดอทคอม)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 28 •ธันวาคม• 2012 เวลา 23:10 น.• )