ภาพการทำบุญ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เริ่มต้นปีใหม่โดยการทำบุญเข้าวัดรับศีล ๕ เป็นอุบาสก (สาวกที่มิได้บวช) อุบาสิกา (สาวิกาที่มิได้บวช) ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ผู้นับถือศาสนาพุทธ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตตลอดปี ๒๕๕๖ " สวัสดีปีใหม่ " มารับศีลห้ากันเถิด เพราะศีลนำมาซึ่งความสุข

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

(คำแปล : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕ ข้อ เพื่อจะรักษาไว้ทีละข้อๆ พร้อมทั้งพระรัตนตรัย)

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

(คำแปล : แม้ครั้งที่สอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕ ข้อ เพื่อจะรักษาไว้ทีละข้อๆ พร้อมทั้งพระรัตนตรัย)

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

(คำแปล : แม้ครั้งที่สาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕ ข้อ เพื่อจะรักษาไว้ทีละข้อๆ พร้อมทั้งพระรัตนตรัย)


(ต่อไปพระจะให้ศีล เมื่อพระให้ศีล เราก็ว่าตามไปที่ละบท ๆ ดังต่อไปนี้)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (กล่าว ๓ หน)

(คำแปล : ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (คำแปล : แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ต่อจากนี้พระท่านจะกล่าวว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง ผู้รับศีลพึงรับพร้อม ๆ กันว่า

"อามะ ภันเต"แล้วตั้งใจสมาทานศีล(รับศีล)ตามที่พระท่านนำกล่าวสมาทานต่อไปว่า.-

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ, (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่า)

อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ, (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว)

กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ, (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ, (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จ )

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

(ต่อจากนี้พระท่านจะกล่าว ผู้รับศีลไม่ต้องว่าตาม)

อิมานิ ปัญจะสิกขาปะทานิ, สีเลนะ สุคะติง ยันติ, สีเลนะ โภคะสัมปะทา, สีเลนะ นิพพุติง ยันติ, ตัสฺมา สีลัง วิโสธะเย.

(คำแปล : เหล่านี้ คือ สิกขาบทห้าประการ ผู้สมาทานไปสู่สุคติได้เพราะศีล ได้รับความถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ เพราะศีล ไปพระนิพพานได้ เพราะศีล เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เทอญ ฯ)

ผิดศีลข้อที่ ๑ จะเป็นอย่างไร ? ถ้าไม่เว้น ย่อมยังสัตว์ให้ไปเกิดในนรก ในสัตว์ดิรัจฉานใน เปรตวิสัย...  และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์อีก จะได้รับผล ๙ ประการ คือ ๑. เป็นคนทุพพลภาพ ๒. เป็นคนรูปไม่งาม ๓. มีกำลังกายอ่อนแอ ๔. เป็นคนเฉื่อยชา ๕. เป็นคนขี้ขลาด ๖. เป็นผู้ที่ถูกคนอื่นฆ่า และฆ่าตัวเอง ๗. โรคภัยเบียดเบียน ๘. ความพินาศของบริวาร ๙. อายุสั้น และให้ผลติดต่อกันหลายชาติ

ผิดศีลข้อที่ ๒ จะเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อทินนาทาน อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมยังสัตว์ให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความพินาศแห่งโภคะ ให้เป็นไปแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์มีสมบัติก็ต้องพินาศ  เมื่อเกิดเป็นมนุษย์อีกจะได้รับผล ๖ ประการ ๑. เป็นคนด้อยทรัพย์ ๒. เป็นคนยากจน ๓. เป็นคนอดยาก ๔. ไม่ได้สมบัติที่ตนต้องการ ๕. ต้องพินาศในการค้า ๖. ทรัพย์พินาศเพราะภัยต่าง ๆ  เช่น อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย ราชภัย โจรภัย เป็นต้น

ผิดศีลข้อที่ ๓ จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่เว้นจะเกิดอะไรขึ้น....พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า... บุคคลเสพแล้วเจริญให้มากแล้วย่อมยังสัตว์ให้ตกนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานในเปรตวิสัย ทำแล้วหากเกิดเป็นมนุษย์อีกได้รับผล ๑๑ ประการ คือ ๑. มีผู้เกลียดชังมาก ๒. มีผู้ปองร้ายมาก ๓. ขัดสนทรัพย์ ๔. ยากจน อดอยาก ๕. วิปริต ๖. เป็นกระเทย ๗. เป็นชายในตระกูลต่ำ ๘. ได้รับความอับอายเป็นอาจิณ ๙. ร่างกายไม่สมประกอบ ๑๐. มากไปด้วยความวิตกห่วงใย ๑๑. พลัดพรากจากผู้ที่ตนรัก

ศีลข้อที่ ๔ คือให้เว้นจากการพูดเท็จ พูดไม่เป็นความจริง พูดโกหกหรือพูดมุสา ถ้าไม่เว้นจากมุสาวาท หรือพูดเท็จอะไรจะเกิดขึ้น... พระพุทธเจ้าตรัสว่า มุสาวาทอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้วย่อมยังสัตว์ไปในนรก ในกำเนิดดิรัจฉานในเปรตวิสัย ผลจากการกล่าวมุสาวาทอย่างเบาที่สุดย่อมยังกางแตกจากมิตรให้ไปเกิดแก่ผู้เป็นมนุษย์ การกล่าวมุสาวาทแล้วจะได้อะไร การกล่าวมุสาวาท หรือการพูดเท็จปราศจากความจริง เมื่อกล่าวออกไปแล้ว จะได้รับผล ๒ ขั้น คือ ได้รับผลในปฏิสนธิกาล คือเกิดในนรก ดิรัจฉาน, เปรตวิสัย ถ้าได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะได้รับผล อีก ๘ ประการ คือ ๑. พูดไม่ชัด ๒. ฟันไม่เป็นระเบียบ ๓. ปากเหม็นมาก ๔. ไอตัวร้อนจัด ๕. ตาไม่อยู่ในระดับปกติ ๖. กล่าววาจาด้วยปลายลิ้นและปลายปาก ๗. ท่าทางไม่สง่าผ่าเผย ๘. จิตไม่เที่ยงคล้ายคนวิกลจริต

ถ้าผิดศีลข้อที่ ๕ จะได้อะไร? การดื่มสุรา เมรัย หรือสิ่งเสพติดให้โทษจะได้รับผล ๒ ขั้นคือ ได้รับผลในปฏิสนธิกาล เกิดในนรก, ดิรัจฉาน, เปรตวิสัย ได้รับผลในปวัตติกาล คือ หลังจากเกิดแล้ว และผลที่จะได้รับในปวัตติกาลนี้จะครบองค์หรือไม่ก็ตามถ้าได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้รับผลจากการดื่มสุรา ๖ ประการคือ ๑. ทรัพย์ถูกทำลาย ๒. เกิดวิวาทบาทหมาง ๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๔. เสื่อมเกียรติ  ๕. หมดยางอาย ๖. ปัญญาเสื่อมถอยหรือพิการทางปัญญา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 02 •มกราคม• 2013 เวลา 11:22 น.• )