บทที่ ๑ ความเป็นมาของตำบลท่าข้าม สถานที่ตั้ง ตำบลท่าข้ามตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองแพร่ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษผู้เฒ่าผู้แก่ชาวตำบลท่าข้าม เล่าสืบกันมาว่า ตำบลท่าข้ามเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อไรนั้น ไม่สามารถหาพยานหลักฐานยืนยันแน่ชัดได้ แต่พอจะทราบได้ว่าตำบลท่าข้ามตั้งขั้นภายหลังจากตั้งเมืองแพร่เสร็จแล้ว โดยสันนิษฐานจากการอพยพของประชาชน มาจากคนในเมืองแพร่ที่อพยพมาอยู่บ้านท่าข้าม เพื่อเสาะแสวงหาแหล่งทำมาหากิน เพราะบ้านท่าข้ามเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยม เหมาะแก่การประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ ติดกับตำบลวังหงส์ ทิศใต้  ติดกับตำบลวังธง ทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำยม ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอลองจังหวัดแพร่ ตำบลท่าข้าม มีภูมิประเทศเป็นที่ราบและเชิงเขามีป่าชุมชน และป่าสงวนมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอย่างหนาแน่น เช่น ต้นสักทอง , ต้นเต็ง , ตันรัง ต้นไม้เบญจพรรณ ตำบลท่าข้าม มีถนนสู่ตัวอำเภอและจังหวัดอยู่ ๒ สาย สายไผ่ล้อมถึงวัดสวรรคนิเวศ อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.แพร่ อีกสายหนึ่งจากบ้านท่าข้ามผ่านบ้านมหาโพธิ์สู่เขตอำเภอเมืองแพร่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ประชาชนในตำบลท่าข้ามประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นส่วนมาก เช่น ทำไร ทำนา เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

บทที่ ๒ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขั้นในหมู่บ้าน ประชาชนชาวตำบลท่าข้าม ได้อาศัยพื้นที่ในตำบลเป็นที่ทำมาหากินตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันอย่างมีความสุขเรื่อยมา โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดูแลความทุกข์สุขของประชาชน ในช่วงระยะเวลาที่ฝั่งไม่มีน้ำชลประทานนั้น บางปีก็ทำนาได้ผล บางปีก็ไม่ได้ผลทำให้ประชาชนอยู่อย่างอดทน อดอยาก แต่ก็มีความขยันขันแข็งในการทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว แต่ต่อมามีชลประทานผ่าน น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชาชนอยู่กันอย่างสงบสุข ตลอดจนถึงทุกวันนี้

บทที่ ๓ อัตลักษณ์ท้องถิ่น ประชาชนในตำบลท่าข้าม มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่อย่างสงบสุข มีชีวิตพออยู่พอกิน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ประชาชนส่วนใหญ่ของตำบลประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยวสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว อาชีพรองลงมาก็คือ การขนมจีน ข้าวอุ๊ก การทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ประชาชนชาวตำบลท่าข้าม ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามสืบต่อกันมาช้านาน ยึดมั่นในชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ ประพฤติตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดมั่นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันละกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และยั่งยืนตลอดมา  ในตำบลท่าข้ามมีสถานที่ยึดเหนี่ยวเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในตำบลท่าข้าม คือ วัดประจำหมู่บ้าน ได้แก่ วัดท่าขวัญ ซึ่ง มีสถูปอัฐิของหลวงปู่พรหมเขมจารี และ วัดไผ่ล้อม มีพระธาตุมหาพุทธรัศมี เป็นที่เคารพสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู้บ้าน

วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ ชาวตำบลท่าข้ามมีประเพณีวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมายาวนาน ได้แก่ ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีวันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนสิบสอง (วันยี่เป็ง) วันลอยกระทง วันสงกรานต์ งานทานสลากภัตต์ งานบวชนาค งานวันขึ้นปีใหม่ งานขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลสมรส งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า ฯลฯ  ตำบลท่าข้าม ปัจจุบันนี้ได้พัฒนาความเจริญ ในทุกๆๆด้าน เช่น ด้านคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการทำมาหากิน ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข ด้านการเมืองการปกครอง ตำบลท่าข้ามมีการปกครองแบบองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม เป็นหัวหน้าทีมบริหาร ได้บริหารงานในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพประชาชนในตำบลมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้าน

ตำบลท่าข้าม แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๕ หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านท่าขวัญ มีนายชัน มะโนสีลา เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีครัวเรือน จำนวน ๒๓๐ครัวเรือน มีประชากร ๕๖๕ คนเป็นชาย ๒๗๔ คน หญิง ๒๙๑ คน หมู่ที่ ๒ บ้านไผ่ล้อม มีนายสมชาย ข้ามสาม เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีครัวเรือน ๒๒๒ครัวเรือน มีประชากร ๕๑๗ คน คนเป็นชาย ๒๓๕ คน หญิง ๒๘๒ คน หมู่ที่ ๓ บ้านท่าขวัญ มีนายคำมา วันมหาใจ เป็นกำนันตำบลท่าข้าม มัครั้วเรือน ๑๙๗ ครัวเรือน มีประชากร ๕๑๐ คน ชาย ๒๓๙ คน หญิง ๒๗๑ คน หมู่ที่ ๔ บ้านท่าขวัญ มีนายเดชา วันมหาใจ เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีครัวเรือน ๑๔๘ ครัวเรือน มีประชากร ๓๘๖ คน ชาย ๑๘๓ คน หญิง ๒๐๓ คน  หมู่ที่ ๕ บ้านท่าขวัญ มี นายพิเชษฐ อินทาหลา เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีครัวเรือน ๑๕๒ คน มีประชากร ๓๗๒ คน ชาย ๑๘๓ คน หญิง ๑๘๙ คน

อัตลักษณ์ด้านความเคารพเชื่อถือ ประชาชนชาวตำบลท่าข้าม มีความเคารพเชื่อถือและศรัทธา บุคคลผู้มีความสำคัญในหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. สำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ หลวงปูพรหม เขมจารี อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขวัญ ตุ๊ลุงผัด อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม โดยเฉพาะหลวงปู่พรหม เขมจารี พระผู้มีอิทธิฤทธิ์สูงในด้านแคล้วคลาดมีผู้คนเคารพนับถือทั่วราชอาณาจักร จนถึงปัจจุบัน ด้านความเชื่อในสิ่งลึกลับภูตผีปีศาจ ประชาชนชาวตำบลท่าข้าม เคารพนับถือผีปู่ ผีย่า ผีเจ้าบ้าน ผีเรือน ผีประจำตระกูล และวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีกิจกรรมเช่น เซ่นดวงวิญญาณของผีเหล่านี้เป็นประจำทุกปีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

บทที่ ๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ ในตำบลท่าข้ามมีปูชนียสถาน ๒ แห่ง คือ พระธาตุมหาพุทธรัศมี วัดไผ่ล้อม และสถูปอัฐิของหลวงปู่พรหมเขมจารี วัดท่าขวัญ แต่ละวัดมีพระภิกษุสามเณร จำพรรษาอยู่ ในช่วงพรรษา ๓ เดือน จะมีพิธีเทศน์ธรรมทุกวันพระ ตลอดพรรษา ๓ เดือน ในพระอุโบสถทั้ง ๒ วัด มีภาพผนังเป็นประวัติของพระเวสสันดรเสวยชาติ ๑๓ ชาติ เป็นภาพที่ดูน่าชมเป็นอย่างมาก ทำให้เราได้ทราบถึง ประวัติแต่ละชาติของพระพุทธเจ้า

บทที่ ๕ ปราชญ์ชาวบ้าน ในตำบลท่าข้ามเป็นหมู่บ้านที่น่าอยู่ ทุกคนอยู่กันฉันท์พี่น้อง มีความรัก มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ผู้คนในหมู่บ้านประกอบด้วย คนหลายอาชีพ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในด้านต่าง ๆ ดังนั้นจึงเป็นแหล่งกำเนิดปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น หลายสาขา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

- ปราชญ์ในด้านศาสนาและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การเรียกขวัญการเสดาะเคราะห์ การบูชาท้าวทั้งสี่ ได้แก่ ร.ต.ต. พิชัย วันมหาใจ นายวรวิทย์ วังซ้าย นายเหรียญชัย คำอภิวงค์

- ปราชญ์ในด้านการทำขนมจีนข้าวอุ๊ก ได้แก่ นาย ประสิทธิ์ จำปาทอง นายบรรจง เกี๋ยงหนุน นางนงลักษณ์ มะโนสีลา

- ปราชญ์ด้านฟ้อนรำ ได้แก่ นางภัทราพรรณ เกียรติสิริรักษํ

- ปราชญ์ด้านจักสาน ได้แก่ นายพุทธ ธนัญชัย

- ปราชญ์ ด้านซอ ได้แก่ นางปั่นศรี ข้ามสาม

นอกจากนี้ยังมีปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ชาวตำบลท่าข้าม ได้อาศัยปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้มากระทำพิธีกรรมต่าง ๆ ในชุมชนนับว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่นานเท่านาน นับว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ดี น่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างดียิ่งตลอดไป