โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่จัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ทั้งต่อทางฝ่ายศาสนาจักร คือ ได้ศาสนาทายาทที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สามารถธำรง และสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า และยังเป็นประโยชน์ต่อทางฝ่ายบ้านเมือง กล่าวคือ หากพระภิกษุสามเณรลาสิกขาบท ก็สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาของรัฐได้ หรือสามารถประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติต่อไปได้ ดังนั้น โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จึงมีภารกิจในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการศึกษาในระบบ ควบคู่กับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้ง แผนกบาลี และแผนกธรรม ให้แก่พระภิกษุสามเณร โดยรับเด็กผู้ชายที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เข้าบรรพชาเป็นสามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จัดตั้งขึ้นโดยวัดในพระพุทธศาสนา มีเจ้าอาวาสวัดเป็นผู้ขอจัดตั้งดำเนินการสอนโดยครู ซึ่งเป็นทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ ในปัจจุบันมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน ๔๑๔ โรง

การจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวเป็น ช่องทางสำคัญที่ทำให้เด็กที่ขาดโอกาสทางการ ศึกษา ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน บางส่วนเป็นชนกลุ่มน้อย บางส่วนเป็นเด็ก กำพร้าขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู และบางส่วนเป็นเด็กที่มีปัญหาทางสังคม ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้ ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และด้วยความเชื่อมั่นว่าพระภิกษุจะช่วยอบรมบุตรหลานของตนได้ ผู้ปกครองจึงนำบุตรหลานมาบรรพชาให้เป็นสามเณรเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียน พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประสบปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งในด้านของผู้เรียนที่มีพื้นฐานแตกต่างกันมาก สามเณรส่วนหนึ่งยังประสบปัญหาโภชนาการและสุขภาพอนามัย สามเณรบางรูปยังมีปัญหาในการอ่านเขียนภาษาไทย ในด้านที่ตั้ง โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จะตั้งอยู่ ในวัดซึ่งอยู่ในชุมชนขนาดเล็ก โรงเรียนเหล่านี้มักจะรับสามเณรจากวัดที่อยู่ใกล้เคียงมา เรียนด้วย ดังนั้นทั้งชุมชนและวัดจึงไม่สามารถจัดภัตตาหารถวายสามเณรได้เพียงพอ และ ไม่สามารถให้การอุดหนุนโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ ในการดำเนินงาน ทำให้โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาไม่สามารถดำเนินการ ดูแลผู้เรียนและจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงทราบถึงสภาพปัญหาต่างๆ ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนก สามัญศึกษา จึงมีพระราชดำริในการดำเนินงานพัฒนาร่วมกับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๗

แนวพระราชดำริในการพัฒนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลการคมนาคมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ ตลอดการทรงงานมากว่า ๓๐ ปี ทรงเน้นการพัฒนาที่มีเด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้การศึกษาเป็นหลักในการทำงานพัฒนา และในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ จะต้องพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในทุกๆ ด้านไปพร้อมๆ กันอย่างสมดุล นั่นคือ เป็นคนที่มีความรอบรู้วิชาการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการศึกษาเรียนรู้ต่อไป มีศีลธรรมจรรยาที่ดี มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม มีความรู้และทักษะในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดีต่องาน และเห็นคุณค่าของการทำงาน และมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ และเป็นคนมีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติต่อไปวิธีการดำเนินงาน จะใช้สถานศึกษา เช่น โรงเรียนเป็นฐาน เพราะโรงเรียนเป็นที่ที่รวมเด็กๆ ของชุมชน เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้ และที่สำคัญเป็นแหล่งที่มีผู้มีความรู้ คือครู ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แก่เด็ก โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในการดำเนินงานพัฒนาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จึงยึดแนวพระราชดำริข้างต้น โดยเน้นให้สามเณรเป็นผู้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และใช้รูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพระธรรมวินัย และมีเป้าหมายของการพัฒนาดังนี้ “สามเณร มีโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน เป็นศาสนาทายาทที่ดี มีความรู้ และทักษะทางวิชาการและการอาชีพเพื่อเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติได้”

แนวทางในการดำเนินงาน การดำเนินงานพัฒนาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามพระราชดำริ มีกรอบและแนวทางดังนี้

๑. การส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยของสามเณรจุดมุ่งหมาย เพื่อให้สามเณรมีความรู้ และพัฒนาแบบแผนการบริโภคอาหารที่พึงประสงค์ตามหลักโภชนาการ ตลอดจนพัฒนาสุขนิสัยที่พึงปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาล อาหาร อันจะนำไปสู่การมีโภชนาการที่ดี และสุขภาพแข็งแรง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และการพัฒนาด้านอื่นๆ กิจกรรมหลัก มีดังนี้

๑.๑ จัดถวายภัตตาหารเพลและภัตตาหารเสริมนม ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสะอาดถูกสุขลักษณะ

๑.๒ ส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

๑.๓ พัฒนาระบบเฝ้าระวังทางโภชนาการให้มีประสิทธิภาพ

๑.๔ พัฒนาสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน เช่น การจัดน้ำฉันที่สะอาด การพัฒนาระบบน้ำ ห้องส้วม การกำจัดขยะ น้ำเสีย

๑.๕ พัฒนาสุขนิสัยที่พึงปฏิบัติของสามเณร

๑.๖ จัดบริการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

๑.๗ จัดบริการตรวจวินิจฉัยโรคหนอนพยาธิและให้การรักษาเบื้องต้น

๑.๘ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเรื่องสุขบัญญัติ โภชนาบัญญัติ สุขาภิบาล อาหารและสิ่งแวดล้อม การออกกำลังกายที่เหมาะสม สุขภาวะทางจิต โรคโภชนาการ เช่น โรคขาดโปรตีนและพลังงาน โรคขาดสารไอโอดีน โรคขาดวิตามินเอ โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคอ้วน และโรคติดต่อที่สำคัญในท้องถิ่น เช่น โรคหนอนพยาธิ

๒. การเสริมสร้างศักยภาพของสามเณรในการเรียนรู้ทางวิชาสามัญศึกษา และการเป็นศาสนาทายาทที่ดี จุดมุ่งหมาย เพื่อสนับสนุนให้ครู ทั้งที่เป็นพระภิกษุและคฤหัสถ์สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและบรรลุตามเป้าหมายของโรงเรียน กิจกรรมหลัก มีดังนี้

๒.๑ เพิ่มพูนทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่ครูผู้สอน

๒.๒ ส่งเสริมการใช้สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายและเหมาะสมกับ ท้องถิ่น

๒.๓ พัฒนาห้องสมุดให้ได้มาตรฐานสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยของสามเณร และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะของสามเณรในด้านการอ่าน การค้นคว้า

๒.๔ พัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับเนื้อหาในหลักสูตร เพื่อพัฒนาทักษะของสามเณรในกระบวนการสืบเสาะหาความรู้

๒.๕ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศตามความพร้อมของแต่ละ สถานศึกษา

๒.๖ พัฒนาอาคารสถานที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของสามเณร

๒.๗ สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณวุฒิให้แก่ครูพระภิกษุ

๓. การเสริมสร้างศักยภาพของสามเณรในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จุดมุ่งหมาย เพื่อให้สามเณรมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน มีความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น และมีความรักท้องถิ่น กิจกรรมหลัก มีดังนี้

๓.๑ จัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาท้องถิ่น วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

๓.๒ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การอ่านธรรมพื้นบ้าน วันสำคัญทางประเพณีวัฒนธรรม ท้องถิ่น วัฒนธรรมทางอาหารโภชนาการ กีฬาพื้นบ้าน ภาษาท้องถิ่น พืชสมุนไพร

๔. การเสริมสร้างศักยภาพของสามเณรทางการอาชีพ จุดมุ่งหมาย เพื่อให้สามเณรมีความรู้และทักษะพื้นฐานทางการงานอาชีพและหลักการสหกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ กิจกรรมหลัก มีดังนี้

๔.๑ จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และเจตคติในงานอาชีพที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน และงานอาชีพที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

๔.๒ จัดกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมที่เน้นการปลูกฝังลักษณะนิสัยการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามอุดมการณ์สหกรณ์

๔.๓ จัดกิจกรรมสหกรณ์ ได้แก่ กิจกรรมร้านค้า กิจกรรมออมทรัพย์ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะเบื้องต้นของสามเณรทางด้านสหกรณ์

กลยุทธ์ในการดำเนินงาน หลักในการดำเนินงาน คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งครู สามเณร และชุมชน รวมทั้งเครือข่ายของหน่วยสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กลยุทธ์สำคัญในการดำเนินงานจึงประกอบด้วย

๑. การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ครูและบุคลากรในชุมชนจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ครูและบุคลากรในชุมชนได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต กิจกรรม เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน การสนับสนุนปัจจัยจำเป็นในการดำเนินงาน

๒. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ชุมชน สามเณร และโรงเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันจากการลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่กันและกัน มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ส่งผลต่อการเรียนรู้ของสามเณร และชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่อไป กิจกรรม เช่น การร่วมพัฒนาสภาพแวดล้อมโรงเรียน การให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นวิทยากร

๓. การประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และร่วมกันสนับสนุนและแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ทำให้กิจกรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กิจกรรม เช่น การประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การรายงานด้วยเอกสาร การติดตามงานที่โรงเรียน

พื้นที่ดำเนินการข้อมูลปีการศึกษา ๒๕๕๔ พื้นที่ในการดำเนินงานเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประกอบด้วยโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี จำนวน ๑ โรง จังหวัดน่าน จำนวน ๑๓ โรง จังหวัดแพร่ จำนวน ๗ โรง จังหวัดเชียงราย จำนวน ๒๑ โรง จังหวัดพะเยา จำนวน ๙ โรง

รายชื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

จังหวัดสิงห์บุรี จำนวน ๑ โรง ๑. โรงเรียนวัดไผ่ดำ

จังหวัดน่าน จำนวน ๑๓ โรง ๒. โรงเรียนเชียงกลางปริยัติศึกษา ๓. โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม ๔. โรงเรียนวัดน้ำไคร้นันทชัยศึกษา ๕. โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุงวิทยา ๖. โรงเรียนวัดนาราบวิทยา ๗. โรงเรียนวัดบ่อหลวงวิทยาธรรม ๘. โรงเรียนพระปริยัติธรรมานุสรณ์วัดฟ้าสวรรค์ ๙. โรงเรียนวัดปรางค์ ๑๐. โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ๑๑. โรงเรียนวัดบุญยืน ๑๒. โรงเรียนพระปริยัติศาสนภิพัฒน์วัดเมืองราม ๑๓. โรงเรียนวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา ๑๔. โรงเรียนนันทจริมเขตศึกษา

จังหวัดแพร่ จำนวน ๗ โรง ๑๕. โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา ๑๖. โรงเรียนศรีคิรินทร์วิทยา ๑๗. โรงเรียนวังฟ่อนวิทยา ๑๘. โรงเรียนร้องแหย่งวิทยาคม ๑๙. โรงเรียนร้องเข็มวิทยา ๒๐. โรงเรียนเชตวันวิทยา ๒๑. โรงเรียนสัมฤทธิบุญวิทยา

จังหวัดเชียงราย จำนวน ๒๑ โรง ๒. โรงเรียนวัดป่าตาลใต้ ๒๓. โรงเรียนวัดแก่นเหนือวิทยา ๒๔. โรงเรียนวัดครึ่งใต้วิทยา ๒๕. โรงเรียนโสภณจริยธรรมวิทยา ๒๖. โรงเรียนวัดไชยสถานวิทยา ๒๗. โรงเรียนวัดอำามาตย์วิทยา ๒๘. โรงเรียนพุทธศาสตร์ศึกษา ๒๙. โรงเรียนวัดสันหนองบัววิทยา ๓๐. โรงเรียนชยาภิวัฒน์วิทยา ๓๑. โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ๓๒. โรงเรียนวัดหนองบัวพิทยา ๓๓. โรงเรียนวัดแม่คำวิทยา (สังฆประชาอุปถัมภ์) ๓๔. โรงเรียนวัดหมื่นพุทธวิทยา ๓๕. โรงเรียนบุญเรืองวิทยา ๓๖. โรงเรียนวัดเจดีย์หลวงวิทยา ๓๗. โรงเรียนวัดวิเชตร์มณี ๓๘. โรงเรียนเวียงแก่นวิทยา ๓๙. โรงเรียนเวียงชัยพิทยา ๔๐. โรงเรียนวัดฝั่งหมิ่นวิทยา ๔๑. โรงเรียนพระธาตุเวียงฮ่อปริยัติศึกษา ๔๒. โรงเรียนดงชัยพิทยา

จังหวัดพะเยา จำนวน ๙ โรง ๔๓. โรงเรียนสุวรรณคณานุสรณ์ ๔๔. โรงเรียนห้วยข้าวก่ำาวิทยา ๔๕. โรงเรียนวัดหย่วนวิทยา ๔๖. โรงเรียนวัดโพธาราม ๔๗. โรงเรียนนาปรังวิทยา ๔๘. โรงเรียนราชคฤห์วิทยา ๔๙. โรงเรียนวัดปัวดอย ๕๐. โรงเรียนป่าแขมวิทยา ๕๑. โรงเรียนวัดม่วงชุมวิทยา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 21 •กุมภาพันธ์• 2013 เวลา 10:28 น.• )