แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : การขยายตัวของรัฐไทยอย่างเข้มข้น อำเภอลองเริ่มเข้าสู่ยุคการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มต้นใช้ฉบับแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมา ช่วงนี้จึงมีการการจัดตั้งหน่วยงานราชการขึ้นจำนวนมาก เช่น สำนักงานศึกษาธิการอำเภอลอง, สำนักงานประถมศึกษาอำเภอลอง, สำนักงานสรรพสามิตอำเภอลอง, สำนักงานปศุสัตว์อำเภอลอง, สำนักงานพัฒนาอำเภอลอง, สำนักงานสัสดีอำเภอลอง, สำนักงานที่ดินอำเภอลอง, สำนักงานป่าไม้อำเภอลอง, สำนักงานสหกรณ์อำเภอลอง, สำนักงานเกษตรอำเภอลอง, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอลอง, สำนักงานสรรพากรอำเภอลอง, สำนักงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอลอง, ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอำเภอลอง, ประมงอำเภอลอง และหมวดการทางอำเภอลอง ฯลฯ นำมาสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ภายในอำเภอลองให้เป็นสัดส่วน มีระบบระเบียบแบบแผนทางราชการมากกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา ที่พิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ เนื่องจากการปกครองรูปแบบใหม่ของอำเภอลองนั้นเน้นนโยบายที่ป้อนเข้ามาจากส่วนกลางหรือภายนอก ต่างจากระบบเมืองแบบจารีตที่สามารถจัดการหล่อเลี้ยงตนเอง ประกอบกับอำเภอลองอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางพัฒนา(กรุงเทพฯ,เชียงใหม่,แพร่) ดังนั้นลำพังเฉพาะชาวบ้านเองหากไม่ได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐก็จะยังคงมีวิถีชีวิตแบบดังเดิมแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการพัฒนาในอำเภอลองจะได้ผลช้าไม่เป็นไปตามช่วงปีแผนพัฒนา แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบใหม่ในยุคนี้ ซึ่งจะพิจารณาตามผลของการพัฒนาภายในอำเภอลองเป็นหลัก สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ (๑) สมัยพัฒนาช่วงที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๔ – ๒๕๒๙ เริ่มเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน และ(๒)สมัยพัฒนาช่วงที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๔๙ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างเข้มข้น

๑. สมัยพัฒนาช่วงที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๔ – ๒๕๒๙ เริ่มเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน แผนพัฒนาฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) เรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๑๔) เรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อสร้างการพัฒนาสมัยใหม่ให้ประเทศไทยทันสมัย ซึ่งแผนพัฒนาฉบับแรกและฉบับที่ ๒ เน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญโดยเฉพาะการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขั้นพื้นฐาน เช่น การคมนาคมและขนส่ง การชลประทาน การไฟฟ้า สาธารณูปการ ฯลฯ โดยรัฐจะสนับสนุนเพื่อปูพื้นฐานให้มีการลงทุนของเอกชนเป็นหลัก ส่วนแผนพัฒนาฉบับที่ ๓ มีการพัฒนามุ่งทิศทางเศรษฐกิจตามเดิม เพื่อลดช่องว่างของรายได้ประชากรที่ห่างกันมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาของสองแผนแรก พยายามกระจายรายได้และบริการทางสังคมเข้าสู่ชนบท โดยเฉพาะปรับปรุงสถาบันและองค์กรทางด้านเกษตรและสินเชื่อ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เริ่มจากถนนหนทางและการเกษตรเป็นสำคัญ เพราะเหมาะกับสภาพของประชาชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และสร้างความมั่นคงเพื่อป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ งบประมาณประเทศส่วนใหญ่จึงใช้ในการสร้างทางหลวง ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๒๐ - ๒๕๒๔) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๒๙) รัฐบาลมีนโยบายสร้างเมืองหลักและเมืองรองในภาคเหนือ เนื่องจากแผนพัฒนาฉบับที่ ๑ - ๓ ที่ใช้ก่อนหน้านี้ทำให้กรุงเทพฯ พัฒนาในทุกๆ ด้านมากกว่าจังหวัดอื่นๆ จนเกิดความแตกต่างกันอย่างมาก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเกิดนโยบายกระจายความเจริญไว้ตามภูมิภาคโดยกำหนดจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นเมืองหลักหรือศูนย์กลางพัฒนา ในภาคเหนือกำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองหลัก มีจังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองรอง โดยจังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางถ่ายเทผลผลิตจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ตามนโยบายเมืองหลักและเมืองรองนี้ ทำให้จังหวัดแพร่ที่เป็นจังหวัดขนาดเล็กและมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจน้อย กลายเป็นเมืองชายขอบของการพัฒนาในภาคเหนือ ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการพัฒนาของอำเภอลองให้กลายเป็นอำเภอชายขอบของการพัฒนาในจังหวัดแพร่อีกชั้นหนึ่ง ที่แม้ปัจจุบันคนในแถบอำเภอเมืองแพร่และสูงเม่น ยังมองและเรียกแถบอำเภอลองและวังชิ้นว่าเป็น “บ้านป่าเมืองป่า” แต่ทว่าการพัฒนาในทุกด้านก็ค่อยหลั่งไหลถาโถมเข้าสู่อำเภอลองและเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน

พัฒนาการคมนาคมขนส่งระหว่างหมู่บ้านและตำบลขยายตัว แผนพัฒนาฉบับที่ ๑ และ ๒ มีนโยบายเร่งพัฒนาสร้างทางหลวงสายหลักเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เข้ากับกรุงเทพฯ ทำให้การคมนาคมระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วมากกว่าเดิม สามารถกระจายผลผลิตจากภาคเหนือไปยังกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องอาศัยเส้นทางรถไฟเพียงอย่างเดียว และแผนพัฒนาฉบับที่ ๓ จึงเน้นการก่อสร้างทางหลวงสายรองและสายย่อยเชื่อมกับทางหลวงสายหลักที่ได้ก่อสร้างไปแล้ว เพื่อให้การขนส่งผลผลิตจากชนบทตามหมู่บ้านและตำบลไปสู่ตลาดโดยสะดวก ซึ่งช่วงก่อนทศวรรษ ๒๕๑๐ การคมนามคมระหว่างอำเภอลองกับตัวจังหวัดแพร่มีความลำบาก เพราะมีถนนเชื่อมต่อระหว่างตัวจังหวัดกับเฉพาะอำเภอภายในแอ่งแพร่เท่านั้น (อำเภอเมืองแพร่ อำเภอสูงเม่น(แยกเป็นอำเภอเด่นชัย) อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง(แยกเป็นอำเภอหนองม่วงไข่)) การพัฒนาส่วนใหญ่ของจังหวัดแพร่จึงกระจายอยู่ในอำเภอเหล่านี้เป็นหลัก ส่วนอำเภอที่ตั้งในแอ่งลอง(อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น)หากติดต่อราชการต้องใช้เส้นทางรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยแรงไอน้ำ โดยขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านปิน หรือสถานีย่อยไปลงที่สถานีรถไฟเด่นชัย อำเภอเด่นชัย ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง แล้วจึงต่อรถโดยสารจากอำเภอเด่นชัยผ่านอำเภอสูงเม่นเข้าสู่ตัวจังหวัดแพร่ ส่วนกิ่งอำเภอวังชิ้นก็ต้องเดินทางด้วยล้อเกวียนหรือเรือทางแม่น้ำยมมาขึ้นสถานีรถไฟบ้านปิน ที่ขณะนั้นมีรถโดยสารวิ่งเพียงระหว่างสถานีรถไฟบ้านปินกับตลาดห้วยอ้อ อำเภอลองกับอำเภอวังชิ้นจึงเป็นเมืองปิดได้รับการพัฒนาตามแบบสมัยใหม่น้อย และกลายเป็นเขตพื้นที่ยากจนของจังหวัดแพร่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ แต่มีส่วนดีคือสามารถรักษาพลังเครือข่ายของท้องถิ่นไว้ได้ เช่น ลักษณะการอยู่ร่วมกันของผู้คนยังคงพึ่งพาอาศัยมีความเป็นเครือญาติสูงเหมือนยุคจารีต สะท้อนจากช่วง ๔ ปีก่อนพ.ศ.๒๕๐๐ ในอำเภอลองมีการเกิดเหตุคดีอุกฉกรรจ์เพียง ๓ รายเท่านั้น ด้วยการติดต่อกับตัวจังหวัดแพร่ลำบาก ชาวบ้านในช่วงนี้จึงยังคงนิยมเดินทางติดต่อค้าขายกับทางจังหวัดลำปางมากกว่า เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของภาคเหนือ และมีถนนลูกรังตัดผ่านทับบนเส้นทางกิ่วระสีที่เป็นเส้นทางคมนาคมสืบเนื่องมาแต่โบราณมีรถโดยสารบริการ จนกระทั้งช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ ได้ตัดถนนลูกรังและบางช่วงลาดยางเชื่อมระหว่างจังหวัดแพร่กับอำเภอในแอ่งลอง - วังชิ้น จึงทำให้การติดต่อกับจังหวัดแพร่สะดวกขึ้นกว่าเดิม ในปีแรกที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจพ.ศ.๒๕๐๔ นายอำเภอลองเป็นผู้ประสานสำคัญระหว่างรัฐบาลกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านเพื่อดำเนินการสร้างพัฒนาถนน ที่เดิมเป็นเพียงคันนา ช่องทางเดินขนาดเล็ก หรือทางล้อเกวียนให้ขยายใหญ่ขึ้นและถมปรับพื้นผิวถนนด้วยดินหรือลูกรัง โดยให้ผู้ใหญ่บ้านใช้วิธีขอแรงงานของลูกบ้านภายในหมู่บ้านพัฒนา ส่วนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปจากชุมชน เช่น ทางระหว่างบ้านนาตุ้ม(บ้านทุ่งเจริญ) ตำบลบ่อเหล็กลอง ถึงบ้านทุ่งแล้ง ตำบลทุ่งแล้ง ก็มีงบจากส่วนกลางว่าจ้างชาวบ้านทำในอัตราค่าจ้างวันละ ๓ บาท จึงทำให้ตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมามีถนนหนทางที่เชื่อมแต่ละหมู่บ้านภายในอำเภอลองสะดวกสบายขึ้น

มีผลทำให้การขนส่งและคมนาคมทางเส้นทางแม่น้ำยมภายในแอ่งลอง ได้ยุติบทบาทลงอย่างแท้จริง เพราะการติดต่อระหว่างอำเภอลองกับอำเภอวังชิ้นที่เดิมนิยมใช้เส้นทางแม่น้ำยมในช่วงนี้ได้มีถนนตัดผ่านเชื่อมต่อถึงกันและมีรถโดยสารบริการ จารีตประเพณีก็เริ่มปรับเปลี่ยน เช่น ประเพณีล่องวัดเดือนหก(ขึ้นพระธาตุแหลมลี่)ทางแม่น้ำยม ที่ชาวเมืองลองเคยปฏิบัติมาแต่บรรพบุรุษ ได้เปลี่ยนมาแห่เครื่องไทยทานตามเส้นทางถนนที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงนี้ และมีการตัดถนนผ่านพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตัดถนนเชื่อมระหว่างบ้านห้วยอ้อผ่านพื้นที่กัลปนา(ธรณีสงฆ์)วัดพระธาตุศรีดอนคำ บ้านนาตุ้มตัดถนนต้องถมที่นาทุ่งหนองสองห้องซึ่งเป็นนาวัดพระธาตุแหลมลี่บางส่วน บ้านไฮสร้อยตัดถนนผ่านกำแพงเวียงลองและวัดหัวเวียงหรือวัดหัวข่วง(ร้าง) ถนนเชื่อมตัวอำเภอลองกับสามแยกหัวทุ่งตัดผ่านวัดร้างบ้านค่า(นาไผ่) หรือถนนบ้านนาหลวงตัดผ่านวัดร้างนาปงและวัดร้างต้นหมุ้น ฯลฯ และตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมามีการตัดทางหลวงแผ่นดินผ่านอำเภอลอง ซึ่งบริเวณสี่แยกแม่แขม บ้านแม่แขมจะเป็นชุมทางกระจายไปจังหวัดต่างๆ ทั้งสายลำปาง สายสุโขทัย สายอุตรดิตถ์ และสายเข้าสู่ตัวจังหวัดแพร่ ส่งผลให้การเดินทางและคมนาคมขนส่งสะดวกขึ้น มีการตั้งสถานีรถทัวร์และรถบัสที่บริการผ่านสี่แยกแม่แขม แต่ก็ทำให้เส้นทางกิ่วระสีที่เคยใช้ติดต่อกับแอ่งลำปางมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หมดหน้าที่ลงตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นมา

ดังนั้นการพัฒนาแบบใหม่ในช่วงนี้ จึงสวนกระแสกับความเป็นตัวตนของเมืองลองยุคเก่า เพราะไม่ว่าจะเป็นวัดร้าง เวียงร้าง พื้นที่กัลปนาของเจ้าเมือง เหล่านี้ล้วนแต่ไม่ตอบสนองของการดำรงชีวิตในยุคใหม่ จึงถูกความเจริญแบบใหม่เข้าแทนที่ทับบนซากประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปกว่า ๔ ทศวรรษ ได้เกิดกระแสการโหยหาอดีตการรื้อฟื้นตัวตนเข้ามาสู่   “คนเมืองลอง” จึงพยายามหวนกลับรักษาและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษอีกครั้ง

ตารางแสดงการสร้างถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านและตำบลในอำเภอลองช่วงพ.ศ.๒๕๐๔ – ๒๕๒๓ (รวบรวมจากเอกสารรายงานการสำรวจข้อมูลเขตพัฒนาตำบลต่างๆ ในอำเภอลอง พ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๒๓, จัดทำโดย : ภูเดช แสนสา)

การขนส่งเส้นทางบกภายในอำเภอลองจึงขยายตัว มีการนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานเข้ามาใช้แทนขนส่งด้วยล้อเกวียน บรรทุกสัตว์ต่าง หรือแบกหาบในช่วงพ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๓

ตารางแสดงจำนวนยานพาหนะในอำเภอลองช่วงพ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๒๓ (รวบรวมจากเอกสารรายงานการสำรวจข้อมูลเขตพัฒนาตำบลต่างๆ ในอำเภอลอง พ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๒๓, จัดทำโดย : ภูเดช แสนสา)