พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ : วีรบุรุษเมืองลองผู้ภักดีต่อชาติไทย พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(เจ้าหนานคันธิยะ โลหะ) เป็นเจ้าเมืองลองคนสุดท้าย ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของความเมืองลอง ขณะเดียวกันด้วยโลกทัศน์ของคนรุ่นปัจจุบันแทบทั้งหมดมองว่าเมืองลองคืออำเภอลอง เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และมีพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีเป็นประมุข ดังนั้นวิธีการรื้อฟื้นให้เจ้าเมืองลองมีบทบาทมีสถานะความสำคัญได้อย่างมีอิทธิพลที่สุด คือเชื่อมโยงให้เข้ากับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเมื่อเจ้าเมืองลองเป็นผู้มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย จึงเท่ากับยกสถานะของ “เมืองลอง” ตลอดจนทายาทให้มีความสำคัญขึ้นตามไปด้วย การสร้างรูปปั้นของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ ที่มีขนาดใหญ่เกือบสองเท่าคนจริงขึ้นในพ.ศ.๒๕๔๑ พร้อมกับแผ่นป้ายแสดงประวัติ ต้นสกุลวงศ์ และผลงานต่างๆ ที่พญาขัณฑสีมาโลหะกิจได้กระทำไว้ โดยเฉพาะเรื่องรัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งตั้งพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง การส่งเหล็กลองและไม้สักซาวก๋ำซาววา(๒๐ กำ ๒๐ วา)จำนวน ๒ ต้นลงไปถวายรัชกาลที่ ๔ ให้สร้างเสาชิงช้าที่กรุงเทพฯ ที่มีการบอกเล่าและผลิตซ้ำอยู่เสมอภายในอำเภอลอง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วพญาขัณฑสีมาโลหะกิจได้รับการรับรองแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง จากเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๔๐) ในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ ๕ ราชวงศ์จักรีของสยาม และพญาขัณฑสีมาโลหะกิจก็นำเอาเหล็กลองและไม้สักลงไปถวายรัชกาลที่ ๕ ที่กรุงเทพฯ จริงด้วยเหตุผลทางการเมือง(ดังกล่าวแล้วในบทที่ ๒) แต่ไปถวายเมื่อยังไม่ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองและนำไม้สักขนาดใหญ่ ๒๒ กำ ๘ วาลงไปถวายเพียงต้นเดียว ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการนำเอาไม้ท่อนนี้ไปทำเสาชิงช้า

แต่เรื่องราวเหล่านี้อาจเกิดจากความทรงจำที่สับสนไปตามกาลเวลา หรือถูกครอบงำความคิดด้วยความเป็นชาติไทย ดังนั้นจึงเกิดเรื่องเล่าลักษณะนี้ขึ้นมาภายในอำเภอลอง เพื่อสร้างให้เจ้าเมืองลองที่ผูกติดอยู่กับ “ความเป็นเมืองลอง” และทายาทให้มีความสำคัญ และมีพื้นที่ในสังคมไทยปัจจุบัน รูปปั้นพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ จึงเป็นอนุสาวรีย์ที่สื่อถึงความเป็น “เจ้า” ของเมืองลอง ดังมีการปั้นให้มีลักษณะนั่งบนบัลลังก์ จำลองปั้นแหวนเป็กมะขูดมหานิลดำที่เกิดมาคู่บารมีสวมที่นิ้วมือเบื้องขวา “สุบเกิบคำปล๋ายง้อน(สวมฉลองพระบาทเชิงงอน)” และมือทั้งสองกำตรงด้ามและปลายดาบโลหะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของดาบเหล็กลอง วางพาดไว้กับเข่าทั้งสองในลักษณะของผู้ทรงอำนาจ จึงเป็นการตอกย้ำความสำนึก ความทรงจำ และความภาคภูมิใจของท้องถิ่นในความเป็นเมืองลองที่เคยมีเจ้าเมืองเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันแผ่นป้ายประวัติพญาขัณฑสีมาโลหะกิจที่ติดอยู่เบื้องหลัง ก็อธิบายถึงความเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ไทย ที่สื่อถึงพญาขัณฑสีมาโลหะกิจไม่ได้ทำคุณความดีให้แก่เมืองลองเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ทำคุณความดีให้แก่ผืนแผ่นดินไทย รูปปั้นของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจจึงไม่ได้เป็นเพียงรูปเคารพที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล แต่เป็น “สาร” ที่สื่อออกไปได้อย่างกว้างขวาง และเป็นสนามของความทรงจำและการรับรู้ในฐานะ “คนไทย” “ผู้นำท้องถิ่นของประเทศไทย” “ภายใต้พระบารมีของกษัตริย์ไทย” กระบวนการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองของคนภายในท้องถิ่นดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้สำนึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม ตามที่ชาวเมืองลองถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ปฏิรูปการศึกษาแขวงเมืองลองในสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ที่ได้ครอบงำประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของท้องถิ่นให้ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีสำนึกว่าท้องถิ่นอำเภอลองในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ดังนั้นพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เคยเป็นเจ้าเมืองลอง “เจ้าชีวิต” ผู้มีอำนาจจัดการปกครองภายในบ้านเมืองของตนเอง เคยพยายามประกาศอิสรภาพจากการอยู่ภายใต้การปกครองของสยามหรือความเป็นรัฐไทย และถูกรัฐไทยกำจัดทั้งอำนาจราชศักดิ์หรือกระทั่งชีวิตก็ตาม แต่ ณ ปัจจุบัน พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ คือ “สัญลักษณ์ของข้าแผ่นดินไทย” “ผู้มีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ไทย” ภายใต้การผลิตประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยมของคนอำเภอลองในยุคปัจจุบัน ไปพร้อมๆ กับการเป็นสัญลักษณ์ของความมีตัวตนของท้องถิ่นเมืองลอง ที่เป็นอำเภอหนึ่งของ “จังหวัดแพร่” เป็นอำเภอหนึ่งของ “ภาคเหนือ” และเป็นอำเภอหนึ่งของ “ประเทศไทย” ทุนวัฒนธรรมผีเมืองลองและเจ้าเมืองลอง นอกจากนำมาแสดงตัวตนของเมืองลองให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านอนุสาวรีย์ ในช่วงนี้ทั้งผีเมือง เจ้าเมือง ตลอดจนประวัติเมืองลองที่เขียนขึ้นในพ.ศ.๒๔๙๕ ก็ถูกนำมาใช้แสดงความชอบธรรมหรือความเป็นเจ้าของเหนือพื้นที่ ดังกลุ่มข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่นในเมืองลอง ได้ตั้งศาลและอัญเชิญดวงวิญญาณของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง พร้อมกับผีอารักษ์ช้างปู้กล่ำงาเขียว ผีอารักษ์หัวเมืองลอง และผีปู่หนานสิกข์ใหม่ ผีเจ้าที่ มาเป็นเทพผู้ปกปักรักษามหาวิทยาลัยประจำ “เมืองลอง” ที่ตั้งเพื่อรองรับนักเรียนนักศึกษาในเขตอำเภอลองและอำเภอวังชิ้น พร้อมกับตั้งชื่อว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตเมืองลอง” ตั้งชื่ออาคารเรียน ๒ หลังว่า “เชียงชื่น ๑” และ “เชียงชื่น ๒” หอพักนักศึกษาชายตั้งชื่อ “บ้านเมืองลอง” หอพักนักศึกษาหญิงตั้งชื่อ “บ้านวังชิ้น” และได้นำชื่อเจ้าเมืองลองและเจ้าเมืองลำปางมาตั้งเป็นชื่อห้องต่างๆ ภายในอาคาร เช่น ห้องเจ้าช้างแดง(ห้องรองอธิการบดี) ห้องเจ้าหัวคำ(ห้องสำนักวิชาการ) ห้องเจ้าช้างปาน(ห้องสำนักงานธุรการ) ห้องเจ้าหมื่นด้งนคร(ห้องสมุด) แต่ทว่าทางจังหวัดเพื่อไม่ให้หลุดจากความเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดแพร่ ก็มีการนำชื่อเจ้าเมืองแพร่มาตั้งเป็นชื่อห้องร่วมกับชื่อเจ้าเมืองลองและเจ้าเมืองลำปาง เช่น ห้องขุนพล(ห้องประชุม) ห้องพหุสิงห์(ห้องเรียน) ห้องพนมสิงห์(ห้องเรียน) จนกระทั่งอีก ๓ ปีต่อมาด้วยคำว่า “วิทยาเขตเมืองลอง” ที่เป็นป้ายติดไปกับการทำกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยหรือเมื่อมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลต่างๆ จึงเริ่มแสดงถึงมีความเป็นตัวตนและความเป็นเอกเทศของ “เมืองลอง” ออกจากความเป็นหน่วยอำเภอลอง จังหวัดแพร่ที่มากขึ้นทุกขณะ ทางจังหวัดแพร่จึงได้ปรึกษาให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏ เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตแพร่ อำเภอลอง จังหวัดแพร่” ซึ่งภายหลังค่อยตัดทอนออกเหลือเพียง “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตแพร่” ในที่สุด จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าทุนวัฒนธรรมผีเมืองและ เจ้าเมืองที่นำมาใช้ในช่วงนี้ เริ่มมีหลากหลายรูปแบบ และพัฒนาการมาจนถึงใช้เป็นเครื่องมือต่อรองความเป็นตัวตนของเมืองลอง ดังปรากฏการต่อรองเชิงอำนาจระหว่าง “เมืองลอง” กับ “จังหวัดแพร่” ผ่านเวทีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าพ่อพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ สถิตบนศาลของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตเมืองลอง เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

 

รูปเคารพของเจ้าพ่อพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง ที่ศาลหน้าวัดแม่ลานเหนือ