การรื้อฟื้นเมืองลองผ่าน “ผ้าจกเมืองลอง” : มรดกทุนทางวัฒนธรรม “เจ้า” ทุนวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของเมืองลองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอันดับแรกคือ “ซิ่นตีนจกเมืองลอง” ที่เริ่มปรากฏนำมาผูกติดกับเศรษฐกิจเป็นสินค้ามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ แต่ซื้อขายระหว่างกันเฉพาะคนภายในอำเภอลองเท่านั้นและราคาไม่สูงมากเพียงผืนละ ๑ บาทจนกระทั่งทศวรรษ ๒๕๒๐ จึงเริ่มแพร่หลายสู่ภายนอกด้วยการส่งเสริมของสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ และค่อยตื่นตัวอย่างมากในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ เมื่อมีหลายหน่วยงานต่างเข้ามาให้การผลักดันทั้งศูนย์ศิลปาชีพบางไทร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ที่เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่แต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบไปทั่ว จึงมีการโหยหาย้อนกลับไปอดีตรวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างเป็นสินค้าขึ้น “ซิ่นตีนจกเมืองลอง” เกิดจากการผสมผสานระหว่างตีนจกของท้องถิ่นเมืองลองกับตีนจก เมืองลำปาง และภายหลังผสมผสานกับตีนจกเมืองเชียงแสนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ดังชื่อลวดลายตีนจกเมืองลองปรากฏชื่อเมืองลำปางและเชียงแสน เช่น ลายขันละกอน ลายขันเชียงแสน ฯลฯ

ซึ่งซิ่นตีนจกเมืองลองใช้ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มชนชั้นปกครองในเมืองนครลำปาง เมืองลอง และเมืองต้าเพื่อแสดงสถานภาพ สะท้อนจากภาพจิตรกรรมวัดต้าม่อนเขียนขึ้นในพ.ศ.๒๔๒๗ ที่ผู้สวมใส่ได้มีเพียงสตรีชั้นสูงเท่านั้น และจำกัดวัยที่มีค่านิยมใส่เฉพาะในวัยสาวถึงวัยกลางคน หากวัยชราถือว่าควรวางตนอยู่ในศีลในธรรมไม่ควรแต่งตัวมีจริตดังวัยสาว จึงใส่ผ้าซิ่นธรรมดา(ซิ่นต๋ามะนาว ซิ่นต๋าหมู่ ซิ่นก่านคอควาย)ไม่ต่อตีนจก อีกทั้งการทอผ้าซิ่นตีนจกเดิมไม่มีในเมืองต้าแต่มีเฉพาะในเมืองลอง และปรากฏตามหมู่บ้านศูนย์กลางเมืองลองเท่านั้น ในกลุ่มบ้านแม่ลาน บ้านห้วยอ้อ บ้านนาหลวง บ้านนาจอมขวัญ บ้านหัวทุ่ง บ้านนาตุ้ม และบ้านปากกาง ฯลฯ และแต่ละหมู่บ้านก็มีช่างผู้ทอได้จำนวนไม่กี่คน เพราะต้องใช้เวลานานในการฝึกฝนและเป็นสิ่งเกินความจำเป็นสำหรับชาวบ้านทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะทอเพียงผ้าพื้นหรือผ้าซิ่นธรรมดา การทอผ้าซิ่นตีนจกในเมืองลองแทบทั้งหมดจึงสืบทอดกันทางสายตระกูลซึ่งปัจจุบันเท่าที่สืบได้มี ๓ - ๗ รุ่น เช่น ตระกูลแม่เจ้าบุญมา โลหะ ภรรยาของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง

รุ่นที่ ๑ แม่เจ้าบุญมา โลหะ บ้านแม่ลานเหนือ

รุ่นที่ ๒ แม่บัวคำ ไชยขันแก้ว(ธิดาแม่เจ้าบุญมา) บ้านแม่ลานเหนือ

รุ่นที่ ๓ แม่บัวจิ๋น ปิ่นไชยเขียว(ธิดาแม่บัวคำ) บ้านแม่ลานเหนือ

ตระกูลภรรยาของพญาเจรจา

รุ่นที่ ๑ ภรรยาพญาเจรจา บ้านดอนทราย

รุ่นที่ ๒ แม่แหย็บจ๋อย(ธิดาพญาเจรจา)

รุ่นที่ ๓ แม่บุญมา ปินใจ(ธิดาแม่แหย็บจ๋อย)

รุ่นที่ ๔ แม่ซอน กุดนาน้อย(ธิดาแม่บุญมา)

รุ่นที่ ๕ แม่แก้ว ฝั้นมงคล(ธิดาแม่ซอน) บ้านดอนมูล

ตระกูลแม่เจ้าสาปันดี ภรรยาของเจ้าน้อยแสนเมืองฮอม บ้านนาตุ้ม

รุ่นที่ ๑ แม่เจ้าสาปันดี บ้านนาตุ้ม

รุ่นที่ ๒ แม่นายอุสาห์(สะใภ้แม่เจ้าสาปันดี) บ้านนาตุ้ม

รุ่นที่ ๓ แม่นายเฮือนคำ(สะใภ้แม่นายอุสาห์) บ้านนาตุ้ม

รุ่นที่ ๔ แม่เจ้าจันทน์คำ ณ ลำปาง(ธิดาแม่นายอุสาห์) บ้านนาตุ้ม

รุ่นที่ ๕ แม่เจ้าบัวทอง(ทอง) ตาป้อ(ธิดาแม่เจ้าจันทน์คำ) บ้านนาตุ้ม

รุ่นที่ ๖ แม่วิไล โค้ด้วง(ธิดาคนแรกแม่เจ้าบัวทอง), แม่บุญเรือง มารยาทประเสริฐ(ธิดาคนที่ ๒ แม่เจ้าบัวทอง, ฝึกทอพ.ศ.๒๔๙๕), แม่บุญยก คำวงค์(ธิดาคนที่ ๓ แม่เจ้าบัวทอง) และแม่บุญล้วน(บุญล้อม) คำไหว(ธิดาคนที่เล็กแม่เจ้าบัวทอง) บ้านนาตุ้ม

รุ่นที่ ๗ แม่สุพรรณ แสนสา(ธิดาแม่บุญเรือง, ฝึกทอพ.ศ.๒๕๑๘) บ้านนาตุ้ม

ดังนั้นผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองแต่เดิมจึงไม่มีการทอและใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากถูกจำกัดด้วย “ชาติวุฒิ” “วัยวุฒิ” และ “จำนวนช่างผู้ทอ”

ในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ ทุนวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของซิ่นตีนจกเมืองลองเริ่มตื่นตัวและถูกหยิบยกมารื้อฟื้นให้ชัดเจนขึ้น ดังอาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ปราชญ์ท้องถิ่นและพ่อค้าผ้าจกเมืองลอง ได้นำไปใช้แต่งชุดพระมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์ล้านนา และเหล่าข้าราชบริพารในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท และชุดทั้งหมดได้นำกลับมาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ เมืองลอง หรือนำซิ่นตีนจกไหมเงินไหมคำเมืองลองไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตลอดจนทายาทเจ้าเมืองลองได้นำซิ่นตีนจกของบรรพบุรุษ ไปจัดแสดงตามสถานศึกษาและนิทรรศการต่างๆ ยิ่งทำให้ภาพซิ่นตีนจกเมืองลองที่หยิบยกมาจากทุนวัฒนธรรมเจ้าชัดเจนมากขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้ผู้ได้ครอบครองรู้สึกมีระดับเมื่อได้สวมใส่ซิ่นตีนจกเมืองลอง จึงเกิดการซื้อหาแพร่หลายถึงเชียงใหม่และกรุงเทพฯ และบางผืนที่ทอด้วยฝีมือปราณีตมีดิ้นเงินดิ้นทองก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว

รวมถึงการร่วมมือของหน่วยงานองค์กรในเมืองลอง ทั้งข้าราชการอำเภอ นักการเมืองท้องถิ่น สภาวัฒนธรรม และพ่อค้าแม่ค้า ร่วมมือกันประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้คนเมืองลองนุ่งซิ่นตีนจกหรือชุดผ้าจกด้วยหลากหลายวิธีการ เพื่อให้ภาพเอกลักษณ์ความเป็นเมืองลองที่ผ่านซิ่นตีนจกชัดเจนมากขึ้น เช่น มีการจัดงานมหกรรมผ้าทอตีนจกและขบวนแห่ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองประจำทุกปีในวันเสาร์แรกของเดือนพฤศจิกายน โดยการนำของอาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลองคนปัจจุบัน จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ผ้าจกเมืองลองของแม่ประนอม ทาแปง ประธานกลุ่มทอผ้าจกเมืองลอง(พ.ศ.๒๕๕๔ ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(ประณีตศิลป์ – ศิลปะผ้าทอ) เป็นศิลปินแห่งชาติคนแรกของจังหวัดแพร่) หรือผ่านการจัดงานประกวดต่างๆ ของเมืองลอง เช่น ประกวดธิดาลอง ประกวดธิดาเชียงชื่น ประกวดธิดาพระนางจามเทวี ประกวดนางสงกรานต์เมืองลอง ประกวดนางนพมาศเมืองลอง ฯลฯ ที่กำหนดให้ผู้เข้าประกวดนุ่งซิ่นตีนจกเมืองลองหรือชุดผ้าจกเมืองลอง ตลอดจนสนับสนุนช่างฟ้อนครัวแห่ทานของหัววัดต่างๆ ให้นุ่งซิ่นตีนจกเมืองลอง

ด้วยเหตุผลที่ว่าหากคนในพื้นที่นิยมแต่งกายด้วยผ้าจกมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความมีรากเหง้ามีที่มาที่ไปของซิ่นตีนจกเมืองลอง พร้อมกับเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปในขณะเดียวกัน การกระตุ้นผ้าจกเมืองลองที่ติดป้ายความเป็น “เมืองลอง” ไปกับผลิตภัณฑ์ให้แพร่หลาย จึงเป็นการกระจายการรับรู้ทั้งความมีวัฒนธรรมสูงของเมืองลอง โดยเฉพาะทางเชิงช่างการฝีมือ ตลอดจนวัฒนธรรมการแต่งกายอันสดสวยงดงามของชาวบ้านชาวเมืองลอง ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวและเป็นสินค้า “ซิ่นตีนจกเมืองลอง” ถูกเน้นย้ำความเก่าแก่ที่มีมาคู่กับเมืองลองเด่นชัดขึ้นในช่วงนี้จากกลุ่มปราชญ์ท้องถิ่นและพ่อค้าแม่ค้า ที่ได้นำเอาตำนานผีอี่เงือกทอหูก(นางเงือกทอผ้า) ตำนานบอกเล่าอธิบายความเป็นมาของซิ่นตีนจกเมืองลอง จากผู้เฒ่าผู้แก่แถบตำบลปากกางมาเผยแพร่พิมพ์ในหนังสือ ตลอดจนนำเอาภาพนางเงือกในตำนานมาสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของตีนจกเมืองลอง

ด้วยกระแสผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองในช่วงนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น จกเมืองลองจึงไม่ได้ใช้เป็นสินค้าที่ผูกติดสัญลักษณ์ของเมืองลองเท่านั้น แต่ยังถือเป็นสินค้าสัญลักษณ์ของเมืองแพร่ด้วย ดังนิยมมีคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า “จกเมืองลองของดีเมืองแพร่” ที่เป็นการประสานประโยชน์ ถึงแม้ว่าอดีตจกเมืองลองจะเป็นของดีในเมืองลองหรือของดีเมืองนครลำปาง แต่ปัจจุบันเนื่องจากจกกลายเป็นสินค้าที่ถูกชูขึ้นเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ของระดับอำเภอลองตลอดจนจนถึงระดับจังหวัดแพร่ ดังนั้น “จกเมืองลอง” ในยุคนี้จึงต้องแปรเปลี่ยนสถานภาพให้เป็น “ของดีเมืองแพร่” และทุนวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของเมืองลองที่ผ่านผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองในช่วงระยะเวลานี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีการรื้อฟื้นความเป็นเจ้าของกลุ่มทายาทเจ้าเมืองลองในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

แม่บัวจิ๋น ปิ่นไชยเขียว กับซิ่นตีนจกฝีมือแม่บัวคำ ไชยขันแก้ว ธิดาของแม่เจ้าบุญมา โลหะ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

ซิ่นตีนจกเมืองลองฉลองพระองค์ พระนางจิรประภา กษัตริย์ล้านนา ในภาพยนต์เรื่องสุริโยไท (ที่มา : พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 13 •มิถุนายน• 2013 เวลา 14:42 น.• )