ถ้อยคำในคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับการกำเนิดและพัฒนาการของมนุษย์มีกล่าวไว้หลายอายะฮ์ด้วยกันวิทยาเอมบริโอ (Embryology) ซึ่งเป็นสาขาวิชาหนึ่งของชีววิทยา ที่ศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนการเจริญเติบโตและการพัฒนาของตัวอ่อนมนุษย์ นับตั้งแต่วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ในศตวรรษที่ 20 ได้มีการทำวิจัยโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีความสามารถสูง จนในที่สุดพัฒนาการของตัวอ่อนมนุษย์ถูกอธิบายโดย Streeter (1941) เป็นครั้งแรกและ O’Rahilly (1972) จากผลศึกษาดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำมากขึ้น และจากผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กระบวนการและขั้นตอนการพัฒนาของตัวอ่อนมนุษย์ที่ได้กล่าวเอาไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเมื่อ 1,400 ปีมาแล้วนั้น ถูกต้องและแม่นยำทุกประการ และนี่ก็เป็นข้อพิสูจน์อันชัดแจ้งว่า คัมภีร์อัลกุรอานคือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿ ثُمَّ خَلَقۡنَا ٱلنُّطۡفَةَ عَلَقَةٗ فَخَلَقۡنَا ٱلۡعَلَقَةَ مُضۡغَةٗ فَخَلَقۡنَا ٱلۡمُضۡغَةَ عِظَٰمٗا فَكَسَوۡنَا ٱلۡعِظَٰمَ لَحۡمٗا ثُمَّ أَنشَأۡنَٰهُ خَلۡقًا ءَاخَرَۚ فَتَبَارَكَ ٱللَّهُ أَحۡسَنُ ٱلۡخَٰلِقِينَ ١٤﴾ [المؤمنون: ١٤]

ความว่า “แล้วเราได้ทำให้เชื้ออสุจิกลายเป็นก้อนเลือด แล้วเราได้ทำให้ก้อนเลือดกลายเป็นก้อนเนื้อ แล้วเราได้ทำให้ก้อนเนื้อเป็นกระดูก แล้วเราหุ้มกระดูกนั้นด้วยเนื้อ แล้วเราได้เป่าวิญญาณให้เขากลายเป็นอีกรูปร่างหนึ่ง ดังนั้นอัลลอฮ์ ทรงจำเริญยิ่ง ผู้ทรงเลิศแห่งปวงผู้สร้าง” (คัมภีร์อัลกุรอาน, ซูเราะห์อัลมุมินูน : อายะฮ์ที่ 14)

เมื่อพิจารณาจากอายะฮ์ข้างต้นแล้ว แสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของตัวอ่อนมนุษย์ที่เกิดขึ้นในครรภ์มารดานั้น เหมือนกับเรื่องราวที่ได้อธิบายไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานทุกประการ จากหลักฐานในอายะฮ์ดังกล่าว ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนยอมรับกับสิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน หนึ่งในนั้นคือ ศาตราจารย์กิตติมศักดิ์ Emeritus Keith L. Moore หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขากายวิภาควิทยาและวิชาว่าด้วยการศึกษาตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิต ข้อมูลที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ศาสตราจารย์ท่านนี้ทำการศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมจนในที่สุดท่านได้แต่งตำราที่ชื่อว่า “The Developing Human” ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ใช้สำหรับอ้างอิงงานทางวิทยาศาสตร์ และยังได้รับเลือกจากคณะกรรมการพิเศษของสหรัฐอเมริกาให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุด จากอายะฮ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ระยะแรกที่ได้กล่าวคือ (النُّطْفَة) ระยะนุฏฟะฮ์ (NUTFAH)

ขั้นแรกของการเจริญเติบโตของทารกที่อัลกุรอานได้กล่าวเอาไว้คือ “นุฏฟะฮ์” ซึ่งเป็นสำนวนอาหรับที่ให้ความหมายว่า “น้ำที่น้อยนิด” หรือ “หยดหนึ่งของน้ำ” และแล้วการเกิดของมนุษย์ได้เริ่มมาจากส่วนน้อยของน้ำอสุจิจากพ่อและไข่ของแม่ เมื่อได้รับการปฏิสนธิแล้วยังคงมีลักษณะรูปร่างกลมเหมือนหยดน้ำ เรียกระยะนี้ว่า “ระยะไซโกต” (Zygote) การเจริญเติบโตในขั้นนี้จะดำเนินอย่างต่อเนื่องและมีการแบ่งเซลล์ภายในไข่ทั้งใบ เซลล์ที่ได้จะมีขนาดเท่าๆ กันที่เรียกว่า บลาสโตเมีย (Blastomere) แต่ขนาดของไข่ (เอ็มบริโอ) จะเท่าเดิม หลังจากการปฏิสนธิ 4 วัน เซลล์ของเอ็มบริโอจะรวมตัวกันเป็นก้อนกลมในรูปที่อุดตันภายใน เรียกว่า มอรูลา (Morula) จากการเรียงตัวของเซลล์ใหม่ทำให้เกิดกลุ่มเซลล์ที่มีช่องว่างภายในเรียกกลุ่มเซลล์ระยะนี้ว่า บลาสโตซิสต์ (ฺBlastocyst) ซึ่งเอ็มบริโอจะมีอายุประมาณ 5 วัน

ลำดับขั้นการพัฒนาการของทารกในครรภ์มารดา

(1) เมื่อมีการปฏิสนธิระหว่างเซลล์อสุจิและเซลล์ไข่ เป็นเซลร่างกาย 1 เซลล์เรียกว่า Zygote และเริ่มมีการแบ่งเซลล์

(2) เมื่อผ่านไป 2 วัน จะมีการแบ่งเซลล์เป็น 4 เซลล์

(3) เมื่อผ่านไป 3 วัน จำนวนเซลล์ถูกแบ่งมากขึ้นเป็นกลุ่มเซลล์เรียกว่า Morula

(4) เมื่อผ่านไป 4 วัน เป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า บลาสโตซีสต์ (Blastocyst)

(5) เมื่อผ่านไป 6 วัน บลาสโตซีสต์ จะพัฒนาเป็นอวัยวะต่อไป เช่น เป็น รก สายสะดือ

ระยะที่สองที่มีกล่าวในอัลกุรอานคือ (الْعَلَقَة) ระยะอะลัก (ALAQAH)

เมื่อพิจารณา ตามตัวอักษรแล้ว ในภาษาอารบิก คำว่า الْعَلَقَة (Alaqah) นั้น มีอยู่ 3 ความหมาย ได้แก่ (1) ตัวดูดเลือด ปลิง (2) สิ่งแขวนลอย และ (3) ก้อนเลือด ลิ่มเลือด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเมื่อนำไปเทียบกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องเอมบริโอแล้ว จะเห็นว่าเป็นคำที่ตรงกับรูปร่างของตัวอ่อนในตอนนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย เอมบริโอของมนุษย์นั้น ช่วงที่มีอายุจาก 7 – 24 วัน เมื่อมันจะทำการเกาะไปที่ผนังมดลูกแล้ว มันจะมีวิธีการเกาะเหมือนเวลาปลิงเกาะผิวหนังคน ปลิงนั้นจะลำเลียงเลือดจากสิ่งที่มันเกาะ ส่วนเอมบริโอมนุษย์ในช่วงนั้นจะทำการลำเลียงเลือดจากผนังมดลูกของมารดาในทำนองเดียวกันกับปลิง ในช่วงแรก ของการพัฒนา ทารกในครรภ์มารดาจะอยู่ในรูปของ “ไซโกต” ซึ่งเกาะติดอยู่กับผนังมดลูก ของมารดา เพื่อดูดสารอาหารต่างๆจากเลือดของมารดา

ภาพนี้ แสดงให้เห็นไซโกต ซึ่งดูเหมือนก้อนเนื้อก้อนหนึ่ง ข้อมูลซึ่งเพิ่งจะค้นพบโดยนักวิทยาเอมบริโอในสมัยนี้ ได้กล่าวไว้แล้วในอัลกุรอาน เมื่อ 1400 ปีกว่าด้วยคำว่า “อะลัก” ซึ่งหมายถึง “สิ่งที่เกาะติดอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง” คำดังกล่าวใช้เพื่ออธิบายลักษณะของการที่ปลิงเกาะติดกับร่างกายคนหรือสัตว์อื่นเพื่อดูดเลือด

ในการเปรียบเทียบปลิงกับตัวอ่อนในระยะที่เป็น Alaqah นั้น เราได้พบความคล้ายกันระหว่างสองสิ่งนี้ (ดู The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 8) ดังรูปข้างล่าง

ภาพวาดดังกล่าวอธิบายให้เห็นความคล้ายกันของรูปร่างระหว่างปลิงกับตัวอ่อนมนุษย์ในระยะที่เป็น alaqah (รูปวาดปลิงมาจากหนังสือเรื่อง Human Development as Described in the Quran and Sunnah ของ Moore และคณะ หน้า 37 ดัดแปลงมาจาก Integrated Principles of Zoology ของ Hickman และคณะ ภาพตัวอ่อนวาดมาจากหนังสือเรื่อง The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 73)

 

นอกจากนี้ ตัวอ่อนที่อยู่ในระยะดังกล่าวจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากเลือดของมารดา ซึ่งคล้ายกับปลิงซึ่งได้รับอาหารจากเลือดที่มาจากผู้อื่น (ดู Human Development as Described in the Quran and Sunnah ของ Moore และคณะ หน้า 36)

ความหมายที่สองของคำว่า alaqah คือ “สิ่งแขวนลอย” ซึ่งเราสามารถดูได้จากรูปด้านล่าง เป็นสิ่งแขวนลอยของตัวอ่อน ในช่วงระยะ alaqah ในมดลูกของมารดา

ในภาพนี้ เราจะเห็นภาพของตัวอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งแขวนลอยในช่วงระยะที่เป็น alaqah อยู่ในมดลูก (ครรภ์) ของมารดา (มาจากเรื่อง The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 22)

 

ในภาพที่ถ่ายด้วยระบบโฟโตไมโครกราฟ (Photomicrograph) นี้ เราจะเห็นตัวอ่อนซึ่งเป็นสิ่งแขวนลอยได้ (ตรงเครื่องหมายอักษร B) ซึ่งอยู่ในช่วงระยะของ Alaqah (อายุประมาณ 15 วัน) ในครรภ์มารดา ขนาดที่แท้จริงของตัวอ่อนนั้นจะมีขนาดประมาณ 0.6 มิลลิเมตร (มาจากเรื่อง The Developing Human ของ Moore ปรับปรุงครั้งที่ 3 หน้า 66 จากเรื่อง Histology ของ Leeson และ Leeson.)

 

ความหมายที่สามของคำว่า alaqah คือ “ลิ่มเลือด” เราพบว่าลักษณะภายนอกของตัวอ่อนและส่วนที่เป็นถุงในช่วงระยะ alaqah นั้น จะดูคล้ายกับลิ่มเลือด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มีเลือดอยู่ในตัวอ่อนค่อนข้างมากในช่วงระยะดังกล่าว (Human Development as Described in the Quran and Sunnah ของมัวร์และคณะ หน้า 37-38) อีกทั้งในช่วงระยะดังกล่าว เลือดที่มีอยู่ในตัวอ่อนจะไม่หมุนเวียนจนกว่าจะถึงปลายสัปดาห์ที่สาม (The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 65) ดังนั้น ตัวอ่อนในระยะนี้จึงดูเหมือนลิ่มเลือดนั่นเอง

รูปแสดงแผนภูมิระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจพอสังเขปในตัวอ่อนในช่วง ระยะ alaqah ซึ่งลักษณะภายนอกของตัวอ่อนและส่วนที่เป็นถุงของตัวอ่อนจะดูคล้ายกับลิ่มเลือด เนื่องจากมีเลือดอยู่ค่อนข้างมากในตัวอ่อน (The Developing Human ของ Moore ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 65)

ดังนั้น ทั้งสามความหมายของคำว่า alaqah นั้น ตรงกับลักษณะของตัวอ่อนในระยะ alaqah เป็นอย่างยิ่ง ระยะต่อมาที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซึ่งเป็นระยะที่สาม คือ (الْمُضْغَة) ระยะมุฏเฆาะห์ (Mudghah) ในภาษาอาหรับคำว่า (الْمُضْغَة) มุฏเฆาะห์ หมายความว่า “สสารที่ถูกขบเคี้ยว” ซึ่งหากพิจารณา ตัวอ่อนในช่วงระยะ มุฏเฆาะห์ (mudghah) จะมีลักษณะเหมือนสสารที่ถูกขบเคี้ยว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ไขสันหลังที่อยู่ด้านหลังของตัวอ่อนมีลักษณะ “ค่อนข้างคล้ายกับร่องรอยของฟันบนสสารที่ถูกขบเคี้ยว” (The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 8)

 

ภาพถ่ายของตัวอ่อนในช่วงระยะ มุฏเฆาะห์ (อายุ 28 วัน) ตัวอ่อนในระยะนี้จะมีลักษณะเหมือนสสารที่ถูกขบเคี้ยว เนื่องจากไขสันหลังที่อยู่ด้านหลังของตัวอ่อนมีลักษณะค่อนข้างคล้ายกับร่อง รอยของฟันบนสสารที่ถูกขบเคี้ยว ขนาดที่แท้จริงของตัวอ่อนจะมีขนาด 4 มิลลิเมตร (จากเรื่อง The Developing Human ของ Moore และ Persaud ปรับปรุงครั้งที่ 5 หน้า 82 ของศาสตราจารย์ Hideo Nishimura มหาวิทยาลัยเกียวโต ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 23 •มิถุนายน• 2013 เวลา 08:45 น.• )