หัวหน้าขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ ผู้แสนอาภัพและถูกลืม เขียนตามคำขอของ คุณภุชงค์ กันทาธรรม แห่งพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ผู้พยายามรวบรวมเรื่องราวของ เหล่าเสรีไทยแพร่ จัดพิมพ์เป็นหนังสือและเพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อเท็จจริงในเรื่อง วีรกรรมนิรนาม เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ผู้มีส่วนช่วยกอบกู้วิกฤติของชาติ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้ได้รับรู้กัน เมื่อเริ่มแรกเข้ากอบกู้ ฟื้นฟู คุ้มวิชัยราชาในช่วงต้นปี ๒๕๓๕ นั้น ผมไม่ทราบรายละเอียด และประวัติของบ้านหลังนี้มากนัก แต่ต่อมาเมื่อโครงการประสบปัญหาจึงมีเวลาว่างสืบเสาะตามหาเรื่องราวของเจ้าของบ้านเดิมคือ พระวิชัยราชา และบุตรของท่าน เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ส.ส. คนแรกของจังหวัดแพร่

รวมทั้งคนอื่น ๆ ในตระกูลนี้ ผมต้องแปลกใจ เมื่อทราบว่าบ้านหลังนี้ เป็นบ้านเกิดของ “พี่ทร” หรือ เจ้าสุนทร แสนศิริพันธุ์ บุตรเจ้าวงศ์ ที่ผมรู้จักสมัยปฏิบัติภารกิจลับ เพื่อชาติ ด้วยกันอยู่ในอดีตราชอาณาจักรลาว (เรื่องวีรกรรมนิรนาม ซึ่งยังถูกปิดเป็นความลับอยู่ ทั้งที่มีนักรบไทยเสียสละพลีชีพไปร่วม ๕,๐๐๐ คนนั้น ผมได้เรียบเรียงลงไว้ในหนังสือ แปลก อยู่ร่วมสามปี) เมื่อเจาะลึกศึกษาเก็บข้อมูลต่อ จึงพบว่า คุ้มนี้ นอกจากจะเป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ช่วงวิกฤตของสยามประเทศสมัยเสด็จพ่อ ร ๕ ช่วงเงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่แล้ว ยังเป็นบ้านของหัวหน้าเสรีไทย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หรือสงครามมหาอาเซียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นบุก และเจรจาขอใช้ไทยเป็นทางทอดผ่านไปยังพม่า และอินเดียโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยนั้นได้ผู้ใช้นโยบาย สนต้องลม “ยอมงอไม่ยอมหัก” เพราะตระหนักดีว่า กำลังทหารทั้งสามเหล่าทัพของเรา ไม่มีทางต่อต้านกองทัพอันเกรียงไกรของลูกพระอาทิตย์ ที่กำลังฮึกเหิมสุดขีดได้ รบไปก็เสียเลือดเนื้อทั้งสองฝ่าย ต้องตายเป็นเบือแน่นอน แม้แต่อภิมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ยังพ่ายแพ้ยับเยินหมดรูป เผ่นหนีกันอุตลุต ทิ้งมาเลเซีย และสิงคโปร์ให้ญี่ปุ่น ฝรั่งตาน้ำข้าว ที่หนีไม่ทันก็ถูกจับเป็นเชลย ไปเป็นกุลีสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่เมืองกาญฯ เป็นจำนวนมาก ท่านจึงยินยอมผ่อนปรน ให้ใช้สยามประเทศเป็นทางผ่านไปก่อน แล้วค่อยมาคิดอ่านหาทางแก้ไขกันภายหลัง อีกเหตุผลหนึ่งที่ จอมพล ป. ยินยอมให้กองทัพจากแดนอาทิตอุทัยผ่าน เพราะช่วงนั้นประเทศไทย กำลังมีกรณีย์พิพาททวงดินแดนที่ถูกปล้นไป หลายแสน ตารางกิโลเมตร คืนมาจากฝรั่งเศส นักล่าอาณานิคมตัวแสบ ญี่ปุ่นเองได้พยายามใช้ไม้นวม อ้างความเป็นชาวเอเซียผิวสีเหลืองเรืองสีสันด้วยกัน ขอให้มาร่วมด้วยช่วยกัน “ปลดแอก” ขจัดอิทธิพลของพวกฝรั่งผิวขาวให้พ้นจากภูมิภาคนี้ให้หมดสิ้นไป

ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองจะระเบิดขึ้น กองทัพไทย ซึ่งช่วงนั้นยังเข้มแข็งอยู่ ได้บุกเข้าไปยึดดินแดนในเขมร คืนมาได้ถึง ๖๙,๐๓๙ ตร/กม.และสามารถจับเป็น เชลยศึกฝรั่งหนังหมูและสมุนได้มากมายนำมาแยกขังไว้ที่สวนอัมพร ชัยชนะเหนือมหาอำนาจฝรั่งนักล่าเมืองขึ้นครั้งนี้ เราได้สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไว้เป็นอนุสรณ์ แต่วันนี้ ท่ามกลางกระแสสังคม ที่มุ่งวัตถุ เงินตรา ไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ พื้นฐานแห่งความเป็นชาติ ความรักชาติ คนไทยจึงไร้ความภาคภูมิใจในวีรกรรมของบรรพชน ผู้กล้าไม่มีใครรู้ที่มาความหมายอนุสาวรีย์ สัญลักษณ์ของความมีชัย ที่ตั้งตระหง่านเด่นเป็นสง่าอยู่กลางกรุงนี้ แม้รัฐเองก็ไม่ได้ใส่ใจ ติดตั้งป้ายบอกเล่าความเป็นมาที่ชัดเจนให้ อย่างไรก็ตามการ “ยอม” ญี่ปุ่นครั้งนี้ มีหลายฝ่ายไม่พอใจ จึงมีการหารือเพื่อจัดตั้งขบวนการลับใต้ดินกู้ชาติเสรีไทยโดยที่รัฐบาลจอมพล ป. ไฟเขียวให้ ตามรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือนี้ จึงขอรวบรัดตัดตอนมาที่บทบาทของ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ “เสรีไทยอาภัพ” ที่ถูกลืมเลือน ทั้งที่ท่านเป็นหนึ่งในสองผู้นำสำคัญของเสรีไทยจังหวัดแพร่ คงเป็นเพราะหลังท่านจากโลกนี้ไปแล้ว ลูกหลานที่มี และเหลืออยู่ก็มิได้สืบทอดเล่าขานวีรกรรมของท่าน ไม่เหมือนนายทอง กันทาธรรม ซึ่งมีลูกหลานเปี่ยมด้วยศักยภาพสามารถนำเรื่องราววีรกรรมของท่านและเสรีไทยมาถ่ายทอดในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เสรีไทย “แห่งแรกและแห่งเดียว” ในประเทศไทยได้สำเร็จ แต่จากหลักฐานหนังสือ “๑๐๐ ปี ชาติกาลปรีดี พนมยงค์” หน้า ๑๔๒ กล่าวถึงเจ้าวงศ์ ไว้ตอนหนึ่งว่า...

“นายปรีดี มีความประสงค์ที่จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย ในเรื่องนี้ในเบื้องแรก นายปรีดีได้ขอร้องให้เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ ออกไปเมืองจีน. .....” รายละเอียดของเรื่องนี้ ท่าน มาลัย ชูพินิจ ได้เขียนไว้ในหนังสือ X.O. GROUP วีรกรรมเสรีไทย ตอนหนึ่งว่า “...เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ นายทอง กันทาธรรม นายผึ้ง ศรีจันทร์ และ นายถวิล อุดล ต่างก็ได้รับภาระในการหาทางออกนอกประเทศสำหรับนายปรีดี และคณะจะได้ออกไปปฏิบัติการในภูมิภาคของตนแต่ละฝ่ายโดยด่วนจากแพร่ ชายฉกรรจ์ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ๗ คนถูกส่งข้ามไปในเขตแดนจีนเป็นชุดแรกด้วยคำสั่งให้พยายามเสาะแสวงหาหนทางที่จะไป กรุงจุงกิง ได้ แต่ทั้ง ๗ คน “หายสาบสูญไป” อีก ๒ เดือนต่อมา ผู้ร่วมต่อต้านอีก ๔ คน ก็ออกเดินทางติดตามไปด้วยภารกิจอันเดียวกัน ชายฉกรรจ์ชุดนี้ มีทำนองเดียวกันกับชุดแรกคือถูกกลืนหายไปในภูมิประเทศอันเต็มไปด้วยความเร้นลับมหัสจรรย์ของภาคนั้น จนกระทั่งอีก ๒ ชีวิตต้องสูญเสียไปในการพยายามครั้งที่สอง เจ้าวงศ์จึงได้ทราบจากปากคำคนสนิทของตนคนเดียวที่เหลือรอดชีวิตกลับมา จากการเผชิญภัยอันตรายอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้นว่า เส้นทางซึงตนพยายามสำรวจอยู่ ไม่มีทางที่คนภายนอกจะผ่านไปได้ด้วยอุปสรรคทั้งจากความทุรกันดารแสนมหาวิบากของภูมิประเทศซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย โรคภัยไข้เจ็บอันร้ายแรงที่สุด และจากความเป็นปฏิปักษ์อันเกิดจากความหวาดระแวงของผู้คนประจำท้องถิ่น ระหว่างผ่านเขตแดนด้านเหนือ ของอินโดจีน...

หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนใช้นามปากกาว่า นายฉันทนา ได้กล่าวถึงรายละเอียดที่ นายปรีดี ได้เรียกเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ และแกนนำสำคัญในภาคเหนืออีกสองสามคน ไปหารือที่บ้าน ป้อมเพชร เพื่อชิงตั้งรัฐอิสระขึ้นที่ภาคเหนือไว้ก่อน พร้อม ปิด เส้นทางคมนาคม ที่เชื่อมต่อ ด้วยการระเบิดสะพานบ้านดารา ปิดปากถ้ำเขาพลึง ตัดขาดไม่ให้ญี่ปุ่นเดินทัพไปสู่ภาคเหนือได้ แต่ยังไม่ทันได้ขยับอะไร ทัพญี่ปุ่นก็ไหลบ่าไปสู่ทุกจังหวัดของภาคเหนือ ยันไปถึงแม่ฮ่องสอน แผนนี้จึงถูกระงับล้มเลิกไป ความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างนายปรีดีกับเจ้าวงศ์ มีมายาวนานตั้งแต่ครั้งท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดแพร่คนแรก เมื่อประทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านจึงมีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิดกับ พระยาพหลพยุหเสนา นาย ปรีดี พนมยงค์ หลวงศรีประกาศ นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ ฯลฯ โดยเฉพาะกับนาย ปรีดี นั้นดูเหมือนว่าเจ้าวงศ์จะให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษ จากคำบอกเล่าของ คุณแพรว เพื่อนของบุตรสาว เจ้าวงศ์ สมัยวัยเด็ก วิ่งเล่นเข้าออกอยู่ในบ้านนี้ ได้เล่าถึงที่ห้องหน้ามุขของ คุ้มวิชัยราชา นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ และในหลวง ราชินีแล้ว จะมีรูปของนักการเมืองอยู่รูปเดียว คือ นายปรีดี ห้อยต่ำลงมา และไม่เคยปลดออก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่กำลังเบ่งบาน แต่ต่อมาสับสนวุ่นวายเรื่อยมา(ตั้งแต่บัดนั้น จนบัดนี้) ทำให้ เจ้าวงศ์ ศิษย์เอกของภราดา ฟ.ฮีแลร์ อัสสัมชัญ บางรัก ผู้มีความคิดอ่านก้าวหน้าไม่เหมือนใครในยุคนั้น ตระหนักดีว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยมิใช่ ของจริง ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง และอำนาจแท้จริง ในการปกครองประเทศ ยังผลัดเปลี่ยนวนเวียนอยู่ในกำมือของคนเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองในเครื่องแบบทหาร ท่านจึงล้างมือจากการเมืองไม่ยอมร่วมสังฆกรรมในเรื่องนี้อีก แต่ก็ได้สนับสนุนญาติ และพรรคพวกของท่าน ทั้งคุณหญิง บัวเขียว รังคศิริ และนายทอง กันทาธรรม เข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนสงครามโลกครั้ง ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ เรื่องพระเจ้าช้างเผือก (THE WHITE ELEPHANT KING) เพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิ และวัฒนธรรมของชาติไทย ให้โลกรู้ ใช้ผู้แสดงร่วมพันคน ช้างกว่า ๑๕๐ เชือก เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม พูดภาษาอังกฤษ “เรื่องแรกของไทย” นายปรีดี ได้รับความร่วมมือจาก เจ้าวงศ์ ในการถ่ายทำฉากสำคัญที่สุดคือ ฉากยุทธหัตถี และการคล้องช้าง ซี่งถ่ายทำกันที่ป่าแดง หลังพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

เจ้าวงศ์เอง นอกจากจะให้ความร่วมมือ เอื้อเฟื้อจัดหาช้างทั้งหมดให้โดยไม่คิดมูลค่าแล้ว ยังเป็นผู้กำกับโขลงช้าง และร่วมแสดงด้วย ภาพยนตร์นี้ออกฉายพร้อมกันในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ทั้งโตเกียว ปารีส ลอนดอน และนิวยอร์ค ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างทั้งสองท่านนี้ ทำให้ได้มีโอกาสร่วมงานสืบเนื่องกันมา ถึงเรื่องราวของชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะในส่วนของขบวนการเสรีไทย แต่นอกจากข้อมูล ที่กล่าวถึงเจ้าวงศ์ในหนังสือ ๑๐๐ ปีชาติกาลฯ XO GROUP และบันทึก ของท่านผู้หญิง พูลสุข ลงตีพิมพ์ในเวลาต่อมาแล้ว ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเจ้าวงศ์ ได้ถูกลืมเลือน ไปสิ้น โดยเฉพาะเรื่องคุณงามความดี และวีรกรรมของท่าน เสมือนไม่มีบทบาทโดดเด่นนัก ทั้งที่ลึก ๆ แล้ว ท่านได้เสียสละ และมีบทบาทอยู่ในขบวนการนี้มากมาย ไม่รวมการสูญเสียคนของท่านไปร่วม ๑๐ คน ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเคลื่อนไหว ขบวนการเสรีไทย แต่ไม่มีใครกล่าวถึง ผู้กล้า จากเมืองแพร่ ที่สละชีพ สิ้นไปชุดนี้ ทั้งที่เป็นการปฏิบัติภารกิจเสียสละ เพื่อชาติ การเมือง และกาลเวลาทำให้เกียรติภูมิ และการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่าน กลายเป็นศูนย์ กอปรกับ เสรีไทยเอง เป็นขบวนการที่ตั้งขึ้นมา “เฉพาะกิจ” สลายไปเมื่อภารกิจจบสิ้น เป็น“วีรกรรมนิรนาม” ปิดทองใต้ฐานพระอย่างแท้จริง จึงทำให้เรื่องราวทั้งหลายเงียบหายไป โดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครใส่ใจต่อยอดให้

แต่จากการไล่เรียงเก็บข้อมูลจากหลายฝ่าย มานานปีดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ทราบว่า “คุ้มวิชัยราชา” เป็นทั้งสถานที่ประสานงานสำคัญ และคลังซุกซ่อนเก็บอาวุธ ของขบวนการเสรีไทยในเมืองแพร่ คุณสุเทพ แสนศิริพันธุ์ บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าวงศ์ ซึ่งช่วงนั้นโตพอที่จะจำความได้แล้ว เล่าว่า ในคุ้มวิชัยราชา จะมีห้องลับอยู่ด้านหลังบ้านห้องหนึ่ง ใช้เป็นคลังอาวุธของเสรีไทย ทุกวัน ช่วงเช้ามืด และยามค่ำคืนจะมีคนมา รับ – ส่ง อาวุธกันอยู่เสมอ ตัว ด.ช. สุเทพเอง ได้เคยเข้าไปในห้องนั้น ได้พบเห็นอาวุธมากมายวางเรียงรายอยู่ ท่านได้หยิบระเบิดลูกหนึ่งขึ้นมาดู แต่โดนคุณพ่อดุ ให้วางลง เพราะระเบิดแบบนี้ เป็นแบบสลักบิด อันตรายมากเกินไปสำหรับเด็กจะหยิบฉวยเล่นกัน

อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย และพิษของการเมือง ต้องทำให้เจ้าวงศ์ต้องหลบไปลี้ภัยอยู่ที่ เวียงต้าอยู่หลายครั้ง เวียงต้านี้ เป็นฐานที่มั่นลับของเหล่าเสรีไทยอีกแห่ง มีสนามบิน และช่องทางสามารถต่อเชื่อมกับ หนองม่วงไข่ได้

คุณสมถวิล เทพยศ หรือ ป้าเจ๊ ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ด้านหลังคุ้มวิชัยราชา เล่าว่า ช่วงสงครามอยากได้ผ้าร่มหลากสีที่เห็นอยู่ใน คุ้มวิชัยราชา มาตัดกระโปรงสวมใส่ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องลึกได้ความว่า เจ้าวงศ์ ผู้ได้สัมปทานชักลากไม้ออกจากป่าต่าง ๆ ทั้งในแพร่ และจังหวัดใกล้เคียง ได้ใช้โอกาสนี้ สวมรอย นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่พันธมิตรทิ้งร่มมาให้ ลักลอบซุกซ่อนขนออกมาพร้อม ซุงที่ใช้ช้างชักลากมาสู่เมืองแพร่ส่งมอบ และแจกจ่ายกระจายให้กับสมาชิกขบวนการ และช่วงกลับคืนเข้าป่า ก็ลักลอบนำเสบียงกรังจากในเวียงไปส่งให้กับพลพรรคเสรีไทยที่ปฏิบัติภารกิจลับอยู่ตามจุดต่าง

คุณวิทยา บุตรของ นายวงศ์ ชมภูมิ่ง ซึ่งเป็นนักเรียนเรียนอัสสัมชัญ รุ่นลูกหลานเจ้าวงศ์ เล่าให้ฟังว่า ระหว่างสงครามกองกำลังญี่ปุ่นกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วเมืองแพร่ โดยเฉพาะที่วัดต้นธงใกล้บ้าน จะมีญี่ปุ่นตั้งฐานอยู่กันเต็มไปหมด ตัวท่านเอง ได้เคยถูก “ผู้ใหญ่” ใช้ให้นำเอาอาวุธ เป็นปืนเล็กยาว ห่อด้วยผ้า และม้วนเสื่อทบไว้ รอบนอกแบกไปส่งอีกแห่ง โดยมีพวกผู้ใหญ่คอยเฝ้าจับตาตามไปห่าง ๆ และทุกคนต้องตกใจเมื่อ ด.ช.วิทยา โดนทหารญี่ปุ่ ที่ตรวจการอยู่ เรียก ให้หยุด พูดคุย ลูบหัว ลูบตัวอยู่พักใหญ่ ก่อนจะยินยอม ให้ไปต่อ ได้ความว่า นายทหารผู้นั้น มีลูกชายอายุใกล้เคียงกัน เมื่อเห็น ด.ช. วิทยา เดินผ่านมา จึงเกิดความเอ็นดู คิดถึงลูกตน จึงเรียกให้หยุดก่อน จนทำให้บรรดาผู้ใหญ่ ที่ใช้แรงงานเด็กต่างตื่นเต้นตกใจ หัวใจแทบวาย แน่นอน ปืนเล็กยาวที่ ด.ช. วิทยา เคลื่อนย้ายนี้ ต้องมีแหล่งที่มาจากคลังแสง “วิชัยราชา” นั่นเอง

จากการพูดคุยกับป้าบัวศรี บุญชู หรือ ป้าศรี ปัจจุบันมีอายุ ๗๖ ปี ผู้มีภูมิลำเนาอยู่หลังคุ้มฯ ยืนยันว่า บนเพดานของคุ้มนี้ นอกจากจะเคยใช้เป็นที่หลบซ่อนข้าราชบริพารของรัชกาลที่ ๕ ให้พ้นภัยจากการไล่ล่าสังหารช่วงเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ในสมัย “พ่อเจ้าพระ” ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพดานบ้านหลังนี้ ได้ถูกใช้เป็นที่หลบภัยของพลพรรคเสรีไทยหลบซ่อนให้พ้นสายตาของญี่ปุ่นบนเพดานนี้ อีกครั้ง เข้าใจว่าทั้ง ร.ท. วิมล และ บุญมาก เสรีไทยที่โดดร่มลงมาที่ ร้องกวาง บริเวณเขตสัมปทานทำไม้ ของเจ้าวงศ์ ถูกนำมาหลบซ่อนตัวไว้ที่เมืองแพร่ ตั้งหลักกันก่อนจะลงไปประสานกับหลวงอดุลย์ฯ ที่กรุงเทพฯ และอาจเป็นที่หลบภัยของเสรีไทยคนอื่น ๆ ที่เดินสายไปมา ซึ่งเป็น คุณวิทยา อีกเช่นกัน ที่เล่าว่า การุณ เก่งระดมยิง ได้รับภารกิจจาก เสรีไทย กทม.มาดั้นด้นตามหาคนชื่อ วงศ์ ผู้ร่ำรวยในเมืองแพร่ และมีคนนำมาหา นายวงศ์ ชมภูมิ่ง บิดา แต่รู้ว่าผิดตัว เพราะไม่ใช่ “เจ้า” อย่างไรก็ตาม นายวงศ์ ผู้เป็นนักเรียนอัสสัมชัญรุ่นน้องมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ เจ้าวงศ์ ได้นำ ร.ต. การุณ มาประสานพบกับเจ้าวงศ์ได้ โดยสวัสดิ์ภาพ เมื่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่นำภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือกมาฉาย ที่คุ้มวิชัยราชาเมื่อวันที่ ๒๐มิถุนายน ๒๕๕๒ ได้มีการเสวนาพูดคุยกันถึงเบื้องลึกการถ่ายทำ ก่อนจะฉายหนังกลางแปลงเรื่องนี้ คุณยายลำดวน หรือยายแปง ผู้อาวุโส ที่มีอายุกว่า ๙๐ แล้ว มีนิวาศสถานติดกับคุ้มฯ พูดถึงเรื่องนี้ว่า จำได้ว่า ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เห็นนายปรีดี พนมยงค์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้อาศัยอยู่ที่คุ้มวิชัยราชา ตลอดเวลาที่อยู่ในแพร่ ซึ่งเรื่องนี้ คุณสุขปรีดา บุตรชายของ นายปรีดี พนมยงค์ ยืนยันความจริงในเรื่องนี้กับผม ระหว่างมาเยือนเมืองแพร่ และตุ้มวิชัยราชา

เมื่อผมเริ่มกอบกู้ฟื้นฟู คุ้มวิชัยราชา ที่อยู่ในสภาพทรุดเอียงใกล้ล้มใน พ.ศ. ๒๕๓๕ เราต้องขุดหลุม เทฐานราก และดีดเสาทั้ง ๖๕ ต้น ให้เข้าศูนย์ แต่ต้องแปลกใจที่พบขวดน้ำหอมมากมายจมอยู่ในดิน ไล่สอบถามจากผู้รู้ จึงได้ความว่า ช่วงสงครามทุกสิ่งทุกอย่างขาดแคลนไปหมด รวมทั้ง น้ำหอมจากฝรั่งเศส เมื่อพันธมิตรสอบถามเจ้าวงศ์ว่า อยากได้ “ทองคำ” เพื่อเป็นทุนสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกอบกู้ชาติ และต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นหรือไม่ เจ้าวงศ์ ซี่งไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงินทองเพราะร่ำรวยมหาศาล เรียกว่าใช้ไปอีกสิบชาติก็ไม่หมด (ถ้าไม่มีแฟกเตอร์อื่นเข้ามาแทรก) ปฏิเสธ ไม่ต้องการเงินทอง แต่อยากได้น้ำหอมที่ช่วงนั้นกำลังขาดแคลนจากพันธมิตร ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการทิ้งร่มที่มีลังแพ็คใส่น้ำหอมอย่างดี ส่งมาให้เจ้าวงศ์ ในช่วงที่กำลังขาดแคลน สำหรับภรรยา ที่มีอยู่หลายคน เหตุการณ์นี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นอารมณ์โรแมนติคของท่านแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นตัวตน ที่แท้จริงของท่าน โดยเฉพาะเรื่องความไม่โลภ เพราะรวยพออยู่แล้ว ซึ่งผิดกับคนรวยสมัยนี้ ที่ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักคำว่า พอ อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้ระแคะระคายรู้เรื่อง“น้ำหอม”นี้ ท่านจำต้องสั่งให้นำน้ำหอม เหล่านี้ เททิ้งลงหลุมที่ขุดไว้ และในส้วม จึงเป็นที่มาของการค้นพบขวดน้ำหอมหลากหลาย ที่ขุดค้นพบเจอ ในช่วงหลังดังกล่าว

คุณภุชงค์ กันทาธรรม นักธุรกิจแนวหน้าของเมืองแพร่ ได้เป็นผู้เสียสละอุทิศทุนส่วนตัวก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เสรีไทยจังหวัดแพร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงวีรกรรมเสรีไทย และเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณพ่อ ทอง กันทาธรรม ได้กล่าวถึงบทบาท และวีรกรรมของเจ้าวงศ์ไว้ ตอนหนึ่งว่า

“ผมเพิ่งจะมาทราบเมื่อเร็ว ๆ นี้เองว่า ผู้มาบอกคุณพ่อผมให้ลี้ภัยการเมืองในยุคที่การเมืองเล่นแรงกันถึงชีวิตนั้นคือ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ นั่นเอง ท่านมาหาคุณพ่อ บอกให้หนีไปเสียก่อนจะมีภัย เพราะมีคำสั่งให้ จับตาย จากกรุงเทพฯ และตัวท่านเอง เป็นผู้พาคุณพ่อลี้ภัยหลบหนีไปด้วยรถจี๊ป ของท่านพร้อมผู้คุ้มกันติดอาวุธครบครัน ไปพักอยู่ที่หนองม่วงไข่ และแม่คำมี ก่อนจะต่อไปที่ น่าน และข้ามไปยังประเทศข้างเคียง ในขณะที่รถกำลังจะถึงสถานีตำรวจที่ ร้องกวาง นั้น ทุกคนเครียดหนักต่างกระชากลูกเลื่อนขึ้นลำปืนทุกกระบอกไว้ เตรียมพร้อมที่จะปะทะต่อสู้กับตำรวจเต็มที่ เพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่ตรงนั้น จะได้รับคำสั่งให้ตั้งด่านสกัดจับคณะลี้ภัย แต่โชคดี ที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

“พ่อผมรอดพ้น และปลอดภัยมาได้ เพราะเจ้าวงศ์แท้ ๆ” คุณภุชงค์ กล่าวสรุปในตอนท้าย ในฐานะได้อุทิศชีวิตในส่วนที่เหลือของผมเพื่องานอนุรักษ์ และประวัติศาสตร์มาสองทศวรรษ ต้องขอบคุณ และชื่นชมกับสปิริต ของคุณ ภุชงค์ กันทาธรรม ลูกหลานเลือดเนื้อเชื้อไข เสรีไทย ที่ไม่ ยอมให้กระแสของเสรีไทยเลือนหายไปกับกาลเวลา พยายามปลุก “วีรกรรมนิรนาม” ของ เสรีไทย ให้คนไทยรู้จัก ด้วยการอุทิศบ้านของท่าน และทุ่มเทเงินทองส่วนตัว คืนให้สังคม และประเทศชาติ ด้วยการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เสรีไทย แห่งแรกของชาติที่มีหุ่นของ ลิตเติ้ลบอย และแฟทบอย ระเบิดปรมาณูซึ่งเป็นตัว “ยุติสงคราม” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ช่วงวิกฤตของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ทุกคน ทุกฝ่ายในประเทศขณะนั้น ต้องทำหน้าที่ ในบทบาท ลีลา ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบางครั้งอาจจะดูขัดแย้งกัน แต่ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

“เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของสยามประเทศ” ผมทราบดีว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า ถ้าปราศจากขบวนการเสรีไทยแล้วประเทศชาติจะประสบปัญหาและสูญเสียมากมายมหาศาล ตกเป็นผู้แพ้สงครามเพราะผลพวงจากการที่ไทยเซ็นสัญญาตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับฝ่ายอังกฤษ อเมริกา และประเทศอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นถูกอเมริกาบอมบ์ด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อสิงหาคม ๒๔๘๘ ทำให้ชาวญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายมากมายหลายแสน คน จนต้องยอมยกธงขาว ประเทศไทยจึงต้องตกอยู่ในฐานะ ผู้แพ้สงคราม ไปด้วย

หลังสงครามจบสิ้น อังกฤษได้ส่งกำลังของตัวเอง เข้ามาควบคุมปลดอาวุธในไทย และได้ยื่นสัญญา ๕๑ ข้อ ให้รัฐบาลไทยเซ็น ซึ่งในสาระสำคัญทั้งหมด เป็นข้อเรียกร้องที่จะทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในฐานะเป็นเมืองขึ้น เพราะสัญญานี้ ต้องล้มเลิกองค์การต่าง ๆ ทั้งด้านทหาร และการเมือง ไทยต้องไม่มีกำลังทหาร ต้องมอบเรือทั้งหมด รวมทั้งท่าเรือ และการคมนาคมทั้งหมด ให้ตามที่อังกฤษต้องการ รวมทั้งควบคุมการสื่อสาร ทั้งวิทยุ

หนังสือพิมพ์ และที่สำคัญคือ ห้ามไทย ”ส่งออก” สินค้าสำคัญทั้ง หมดไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา ดีบุก ไม้สัก ก่อนจะได้รับการอนุมัติจากอังกฤษ หากอังกฤษต้องการแรงงานในส่วนอุตสาหกรรม ไทยต้องเกณฑ์มาให้โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

สนธิสัญญานี้ ยังครอบคลุมไปถึงห้ามไม่ให้ไทย ดำเนินการขุดคอคอดกระ ซึ่งจะทำให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์มหาศาลของอังกฤษ ทั้งที่ ปีนัง ช่องแคบมะละกา และสิงคโปร์ ที่สำคัญ คืออังกฤษจะเข้าควบคุมระบบเงินตราของไทยทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ หมายความว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียเอกราช ตกเป็นเมืองขึ้นของฝ่ายพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ที่จ้องจะใช้โอกาสนี้ เข้ามาเขมือบสยามประเทศ แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกา และผู้นำบางคนของอังกฤษไม่เห็นด้วย เพราะมองเห็นความจริงใจของขบวนการเสรีไทย ในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น จึงพากันคัดค้านอย่างแข็งขัน ปัญหาสูญเสียเอกราชอย่างสิ้นเชิงนี้ จึงบรรเทาเบาบางไป แน่นอนถ้าปราศจากเสรีไทยแล้วประเทศเราคงไม่แตกต่างไปจากประเทศญี่ปุ่น หรือเยอรมัน ซึ่งถูกพันธมิตรส่งทหารเข้าไปยึดครองอยู่เป็นปัญหาซึ่งวันนี้ก็ยังไม่จบสิ้น เห็นได้ชัดเจนจากกรณีวิกฤติการณ์ โอกินาวา จากการพบปะ พูดคุยกับพี่ เสรี ชมภูมิ่ง นักเขียนอาวุโส ผู้ฝากผลงานไว้ในวงการมากมายเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ว่า “เป็นตัวจริงของจริง” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอยู่ในขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่มากมาย แต่ไม่มีใครให้เกียรติ หรือกล่าวขวัญถึง กอปรกับลูกหลานมิได้ใส่ใจ หรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำเรื่องราวมาปะติดปะต่อบอกเล่า เพื่อเทิดทูลวีรกรรมท่านที่เสียสละให้เมืองไทย จึงทำให้ เจ้าวงศ์ ต้องมีอันเป็นไป หลุด ตกจากขบวนการนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ จึงกลายเป็น “เสรีไทยนอกทำเนียบ” ทั้งที่มีวีรกรรมนิรนามซึ่งไม่มีผู้ใดเก็บมาเล่าขานอยู่มากมาย ซ้ำยังถูกดูแคลนเหยียดหยามจากผู้คนที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง ทั้งที่ตลอดชีวิตท่านมีแต่ให้ และได้ประกอบคุณงามความดี กล้าหาญ กล้าเสียสละเพื่อชาติและบ้านเมืองตลอดมา ดูเหมือนว่า จุดยืนเข้มแข็งมั่นคงของท่าน ซึ่งไม่ยินยอมใช้นโยบาย “สนต้องลม” ยอมก้มหัวศิโรราบ รับใช้นักการเมือง และอำนาจเผด็จการในช่วงนั้น รวมทั้งความสัมพันธ์อันแนบแน่นของท่านกับนายปรีดี จึงทำให้ตัวท่าน และครอบครัวประสบชะตากรรม โดนกลั่นแกล้งตัดตอนไม่ให้เติบโตทุกวิถีทาง จนสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้ง คุ้มวิชัยราชา อันเป็นบ้านเกิด และที่ซุกหัวนอน เป็นการฆ่ากันทั้งเป็น อย่างเลือดเย็น คุณงามความดี และการเสียสละของท่านที่มีให้เมืองแพร่ และเมืองไทยไร้ความหมายถูกเมินมองข้ามไป มิได้ผิดแผกแตกต่างไปกับแกนนำขบวนการเสรีไทยคนอื่น ที่เคยใกล้ชิดหัวหน้าขบวนการ (ซึ่งท่านเองก็ต้องลี้ภัย ไม่สามารถอยู่ในเมืองไทยได้) แต่ที่แตกต่างออกไปคือ ท่านมิได้โดนฆ่าตายแบบ นายเลียง ไชยกาล นายเตียง ศิริขันต์ และนายทองอินทร์ ภูมิภัฒน์ ฯลฯ วันเวลาที่เหลืออยู่ของ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ สุดแสนอับเฉา เป็นช่วงชีวิตที่ทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง จากผู้ร่ำรวยมากด้วยบารมีล้นฟ้า ต้องลงมาคลุกฝุ่นติดดิน ซึ่งเป็นเรื่องชวนสังเวชยิ่งนัก สำหรับสังคมไทยที่มิได้ใส่ใจสำนึกถึงบุญคุณ คุณงามความดี วีรกรรม และการเสียสละเพื่อชาติของท่าน ที่ได้ฝากฝังไว้ในสยามประเทศ ปล่อยให้ท่านควบมอร์เตอร์ไซด์เก่า ๆ จากป่าแดงมานั่งจมปลักอยู่กับความหลัง “รอคอยฉากสุดท้าย” อยู่ข้างห้องสมุดเมืองแพร่ ซึ่งช่วงนั้นเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาผู้สูงวัยในจังหวัดแพร่ซึ่งอยู่ไม่ห่างจาก คุ้มวิชัยราชา หรือบ้านเกิดที่ท่านเคยอยู่อย่างอบอุ่นสุขสบายมาก่อนเก่า แต่ช่วงนั้น ท่านคงขมขื่นยิ่งนัก คงทำได้แค่ผ่านไป หรือเฝ้า ชะเง้อ มองอยู่รอบนอก

มีผู้กล่าวว่า ถ้าท่านถูกสังหาร ถูกฆ่าตายไป แบบแกนนำเสรีไทยผู้ใกล้ชิดนายปรีดีคนอื่น ยังจะดีเสียกว่า เพราะไม่ต้องเฝ้าทนทุกข์ทรมานแบบ “ตายทั้งเป็น” ไปอีกหลายปีก่อนที่จะ “พ้นทุกข์” หลุดจากโลกนี้ไป เมื่อวันที่ ๖ พ.ย. ๒๕๑๓ . เรื่องราวของ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เป็นทั้ง ตำนาน และสัจธรรม ที่ชนรุ่นหลังน่าใส่ใจศึกษายิ่ง โดยเฉพาะใน ยุคที่ การเมืองของสยามประเทศ และสังคมเรา กำลังวิกฤต อ่อนแอ สับสน ไร้รากฐานมั่นคง ไร้รักสามัคคี เรื่อยมาจน ประชาธิปไตย ระบอบปกครองยอดนิยมของโลก ต้องเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย สับสนยิ่งนักสำหรับประเทศไทยมาตลอดเวลาร่วม ๘๐ ปี ในฐานะที่ได้ฟันฝ่าต่อสู้เพื่องานอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์ของชาติมาสองทศวรรษ มีโอกาสสัมผัสกับหน่วยงานหลากหลายทั้งกระทรวงทบวงกรม ข้าราชการ ผู้ว่าฯ นักการเมืองทุกระดับชั้น จึงค้นพบว่า ประเทศชาติ และสังคมไทยวันนี้กำลัง วิกฤตหลงทาง สัตว์การเมืองนักเลือกตั้งทั้งในและนอกเครื่องแบบที่ผลัดเปลี่ยนกันปกครองสยามประเทศมาตั้งแต่ ๒๔๗๕ ส่วนใหญ่ “ไร้น้ำยา” มิได้มีจิตสำนึกของความเป็นชาติ รักชาติ และห่วงใยประเทศชาติจริงจังจึงไม่คิดวางรากฐานกำหนดทิศทางวางอนาคตให้คนไทยได้เดินกันไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างคนสร้างชาติสร้างเยาวชนคนไทยให้มีมีคุณภาพมีความเข้มแข็ง มีความสามารถที่จะรักษาสยามประเทศให้อยู่ยั้งยืนยงได้อย่างมั่นคงตลอดไป

นักการเมืองส่วนใหญ่จะทุ่มเทงบพัฒนา วัตถุ ไม่ใส่ใจนำนโยบาย“สร้างคน คนสร้างชาติ”มาใช้กันจริงจัง ทั้งยังละเลยไม่สนใจประวัติศาสตร์ มิได้คิดถึงกำพืดของตนเอง จึงไม่ทราบซึ้งถึงบุญคุณ และวีรกรรมของบรรพชน บูรพมหากษัตริย์ที่ได้สู้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาแผ่นดินผืนนี้ไว้ให้คนไทยทุกภาคส่วนได้อยู่อาศัยกันมาอย่างอิสรเสรี ผู้คนจึงขาดจิตสำนึกของความเป็นชาติ ความรักชาติ

เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรี สมัยสงครามโลก ของอังกฤษ และรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ว่า “ประเทศใด ที่ชนในชาติ ไม่ใส่ใจ ประวัติศาสตร์คง ยาก ที่ประเทศนั้น จะเจริญรุ่งเรืองได้”

สองทศวรรษที่อยู่กับ “วิชัยราชาที่ยังวิกฤติ” จึงตระหนักดีว่า วันนี้ สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ชาติต้องวิกฤติ แตกแยก แบ่งสีแบ่งเหล่าไร้รักสามัคคี และเสื่อมทรามจนอาจสิ้นชาติได้นั้น สืบเนื่องมาจากผู้คนส่วนใหญ่กำลัง หลงทาง ไม่สนใจรากเหง้าไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ จนอ่อนแอสับสน ไร้จุดยืนไร้รากฐานมั่นคงเข้มแข็ง ชนในชาติให้ความสำคัญกับวัตถุ และเงินตราเหนือสิ่งอื่นใดจึงไร้ความพอเพียง ขาดความเป็นชาติ ความรักชาติอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดว่า เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล ไม่ได้พูดเกินเลย หากชาติไร้ประวัติศาสตร์ ชนในชาติจะย่ำแย่วิกฤติยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก เพราะเดรฉานเมื่ออิ่ม จะยุติสิ้นสุดการแสวงหา แต่สำหรับคนถ้าไร้จุดยืนไร้คุณภาพไร้รากฐานเข้มแข็งมั่นคงแล้ว จะไม่รู้จักอิ่มหรือ พ อ จนพาให้วิกฤติย่ำแย่สิ้นชาติสิ้นอนาคตได้

หมายเหตุก่อนจบ ชัดเจนว่า ทั้งเจ้าพระ และ เจ้าวงศ์ ต่างมีเกียรติประวัติสูงส่ง สร้างวีรกรรมช่วยกอบกู้ชาติบ้านเมืองในยามวิกฤตไว้ได้เรื่อยมา น่าเสียดายยื่งที่การเมือง กาลเวลา และจิตสำนึกของคนไทยที่ มุ่งวัตถุ และเงินตรา มิได้ซาบซึ้งหรือตระหนักถึงศักด์ศรี เกียรติภูมิ และวีรกรรมของบรรพชน ผู้กล้า คุณงามความดีของตระกูล แสนศิริพันธ์ ที่ได้ฝากทิ้งไว้ในแผ่นดิน เป็นวีรกรรมนิรนาม ที่ไม่มีใครได้รับรู้ในเมืองแพร่เอง ยังไม่มีใครใส่ใจค้นหาความจริง มีแต่การบิดเบือนเล่าขานกันแต่เรื่องของ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ในเชิงลบตลอดมา แม้แต่หนังสือ ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ จัดทำขึ้นมาโดยนักวิชาการชั้นนำโดยมีคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเอง แต่ยังมีผู้บังอาจ นั่งเทียน เขียนถึงท่าน ในเชิงลบหลู่ดูแคลนเหยียบย่ำว่า “เป็นสุขนิยม” บ้าง “เป็นศักดินาคนสุดท้าย” บ้าง และในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ “ยอมสละชีวิต สุขนิยม เข้าร่วมขบวนเสรีไทยได้ เพราะได้รับการชักชวนจากสมาชิกเสรีไทยในจังหวัดแพร่ ท่านหนึ่ง !?”  อนิจจา.....นี่หรือ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ ผู้สร้างคุณงามความดี เสียสละสร้างวีรกรรมนิรนามกอบกู้ชาติบ้านเมืองไว้ แต่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ย่ำยี จากน้ำมือของคนไทยรุ่นลูกหลานซึ่งมีอคติมองท่านแต่ด้านลบ และไม่ได้ศึกษาทำการบ้านมาก่อนที่จะจับเรื่องประวัติศาสตร์ช่วงนี้จริงจัง ท่านช่างเป็นหัวหน้าแกนนำเสรีไทยที่ “แสนต่ำต้อย อาภัพยิ่งนัก” ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน?  ตัวท่านเอง ได้ล่วงลับไปนานแล้วไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาแก้ตัว ปกป้องกอบกู้เกียรติภูมิศักดิ์ศรีของตัวท่านและตระกูล “แสนศิริพันธุ์” ผู้มีส่วนช่วยเหลือกอบกู้บ้านเมืองยามวิกฤติ ซึ่งนับวันจะถูกลืมเลือนจางหายไปในที่สุด แน่นอน ถ้าท่านไม่ยอมหัก ยอมก้มหัวให้กับนักการเมือง ยอมปลดรูป นายปรีดี พนมยงค์ ลงจากฝาห้องมุขหน้าบ้าน ท่านคงไม่มีอันเป็นไปต้องมาประสบเคราะห์กรรมจนหลุดออกไปจาก คุ้มวิชัยราชา แต่ทว่าชั่วชีวิต เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ส.ส. คนแรกของจังหวัดแพร่ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ ท่านมีจุดยืนสูงส่งมั่นคง ไม่ยอมก้มหัวศิโรราบให้กับอำนาจเผด็จการ หรือนักการเมืองในเครื่องแบบทหาร รวมทั้งมุ่งมั่นหากินโดยสุจริตเรื่อยมา ไม่เคยใช้อำนาจหรืออภิสิทธิ์ใด ๆ เพื่อกอบโกย โกงกินชาติบ้านเมืองมโหฬาร เหมือนดังเช่น “สัตว์การเมืองนักเลือกตั้ง” ที่เห็น และเป็นอยู่วันนี้ ขอให้คนไทย โดยเฉพาะ

พี่น้องชาวจังหวัดแพร่เอง ได้โปรดกรุณาพิจารณา คืนความเป็นธรรมให้กับท่านบ้าง โดยเฉพาะในส่วนข้อเท็จจริงแห่งการมุ่งมั่นเสียสละอันยิ่งใหญ่ ยอมเสี่ยงภัย เสียงชีวิตแบกรับภาระอันหนักอึ้งของการเป็นหัวหน้าเสรีไทยแพร่ เพื่อช่วยเหลือกอบกู้ชาติบ้านเมืองยามวิกฤติสับสน ตื่นได้หรือยัง พี่น้องแพร่ที่รัก ขอความเป็นธรรมคืนให้ เจ้า ว ง ศ์ และ แสนศิริพันธุ์ บ้างเต๊อะ! ด้วยใจมุ่งมั่นแก้ไขในสิ่งผิด

วีระ สตาร์

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 14 •กรกฏาคม• 2013 เวลา 16:11 น.• )