ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๘ การรับรู้เรื่องเมืองลองผ่านตำนานต่างถิ่น ตำนานในล้านนามีจำนวนมากมาย ทั้งที่เป็นตำนานฝ่ายวัดและตำนานฝ่ายเมืองหรือพื้นเมือง แต่ทว่าตำนานฝ่ายเมืองมีจำนวนน้อยกว่าตำนานฝ่ายวัดมาก ตำนานฝ่ายเมืองเช่น พื้นเมืองเชียงแสน, พื้นเมืองเชียงราย เชียงแสน, คำมะเกล่าเมืองเชียงแสน,พื้นเมืองน่าน และพื้นเมืองเชียงราย เป็นต้น โดยจะสังเกตได้ว่าพื้นเมืองเหล่านี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเมืองลองโดยตรง กรอปกับเมืองลองเป็นเมืองเล็ก อีกทั้งศูนย์กลางการเขียนตำนานอยู่ไกลจากเมืองลอง ดังนั้นพื้นเมืองที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่ปรากฏเรื่องราวหรือชื่อของเมืองลองอยู่เลย โดยพื้นเมืองเหล่านี้จะกล่าวรวมว่าเมืองลคอร(ลำปาง) โดยไม่ให้รายละเอียดถึงเมืองเล็กๆ ที่ขึ้นต่อเมืองลคอรเลย หรือแม้แต่พื้นเมืองเชียงใหม่ในส่วนของเรื่องสมัยราชวงศ์มังราย ก็ไม่กล่าวถึงชื่อเมืองลองหรือเมืองต้าไว้เลย มีระบุไว้เพียงแต่พระแม่กุเคยใช้เป็นเส้นทางทรงเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่หลังจากรบศึกชวา(หลวงพระบาง)ที่เชียงแสนผ่านเมืองแพร่ และพัก ๑ คืนที่น้ำต้า เมื่อปีพ.ศ.๒๑๐๑ เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงเวลานี้ทำไมตำนานถึงไม่เรียกที่พระแม่กุพักแรมว่าเมืองต้า หรือเวียงต้า เพราะน้ำแม่ต้าก็ไหลผ่านเมืองต้าอยู่แล้ว

“...เดือน ๗ แรม ๔ ฅ่ำ นำพระญาเชิงเลอหื้อกินเมืองแพล่ แต่เมืองแพล่มานอนคราวตนหัว ๕๐๐๐ วา คราวตนหัวมานอนน้ำต้า (เมืองต้า) ๙๐๐๐ วา อยู่น้ำต้าวัน ๑ น้ำต้ามานอนห้วยส้ม ๙๓๐๐ วา ห้วยส้มมานอนน้ำเมาะ(เมืองเมาะ) ๙๒๐๐ วา น้ำเมาะรอดนคอร(ลำปาง) ๑๓๕๐๐ วา.......นคอรมานอนเมืองตาน ๑๒๐๐๐ วา เมืองตานมานอนทับปวย ๖๕๐๐ วา ทับปวยมานอนละพูน ๑๒๐๐๐ วา อยู่ละพูนวัน ๑ มารอดเชียงใหม่ ๑๐๐๐๐ วา...” จากข้างต้นเห็นได้ว่าสถานที่ตั้งของเมืองลองและเมืองต้า นับว่าอยู่ในตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะคุมเส้นทางที่จะข้ามเทือกเขาทางด้านตะวันตกไปยังที่ราบลุ่มอันกว้างขวางในเขตเมืองลำปาง และเส้นทางตามลำน้ำยมไปยังเมืองแพร่ อีกทั้งเป็นเส้นทางผ่านที่มาจากสุโขทัย เถิน วังชิ้น อีกเส้นทางหนึ่งที่ปรากฏชื่อของเมืองลอง เมืองต้า ก็เริ่มในส่วนพื้นเมืองเชียงใหม่ตอนเริ่มราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เพราะเมืองศูนย์กลางอำนาจที่สำคัญในช่วงนั้นอยู่ที่เมืองลำปาง ดังนั้นพื้นเมืองเชียงใหม่ในตอนนี้จึงกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในเมืองลำปางอย่างละเอียด และปรากฏชื่อเมืองลอง เมืองต้า เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเหตุการณ์เจ้าหนานทิพย์ช้างขับไล่ทัพท้าวมหายศ เมืองลำพูน ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนแตกทัพกลับไป เมื่อปีพ.ศ.๒๒๗๒

“...กลางสนามที่นั้นเปนอันขำเขือกโกลาหน ลวดแตกกระจัดกระจายเข้าท้างหว่างดอย ขุนแต่งเมืองคือชะเลหน้อย แลท้าวลิ้นก่าน แลนายน้อยธำ แลชาวบ้านชาวเมือง ละบ้านชองหอเรือนเสียหนีไพลี้อยู่เมืองต้าแลเมืองลอง เมืองเมาะ เมืองชาง ชุแห่งแล...”

“...ลูนนั้นเช็กคายสุริยะ เมืองเถิน กับแสนสุทน แลเมงกองจ่อ ทังนายน้อยชุมพู ยกขึ้นมาตั้งทับอยู่สบปลาบ เจ้าฟ้าหลวงชายแก้วจิ่งเกณฑ์เจ้ากาวิละตนเปนลูกอ้าย คุมริพลฅนทับไทเยี้ยวม่านลงไพเถิงสบปลาบยามกลองงาย ค็ขับริพลเข้าแวดล้อมทับชาวเถินบ่ทันไฅว่ยังทางริมแม่น้ำวัง เช็กคายสุริยะ แสนสุทน เมงกองจอ นายน้อยชุมพูแตกตกน้ำแม่วังพ่ายหนีไพหลบหลีกลี้อยู่แฅว่นเมืองลอง...” เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองลอง มีภูเขาสูงล้อมรอบตัดขาดจากเมืองลำปางและเมืองแพร่ ดังนั้นจึงมีการใช้เมืองลอง และเมืองต้า เป็นเมืองที่หลบลี้ภัยอยู่เสมอ ดังปรากฏหลักฐานดังในตำนานข้างต้น ในส่วนตำนานธรรมครูบามหาเถรเจ้า (ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร) เจ้าหลวงวิชัยราชา เจ้าเมืองแพร่ ให้หนานจันทร์ติ๊บและหมื่นวัด จารไว้ในใบลานจำนวน ๔๕ ลาน (ลาน ๔ ) เมื่อศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ.๒๓๘๑) เพื่อบันทึกเรื่องการสังคายนาธรรมของครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร ร่วมกับมหาราชครูเจ้าวัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ เมื่อศักราช ๑๑๘๘ (พ.ศ.๒๓๖๙) ตรงกับเจ้าหลวงแผ่นดินเย็นพุทธวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๔ เป็นตอนที่ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถรกลับจากเชียงใหม่ผ่านมาถึงเมืองลอง เมืองต้า ได้กล่าวถึงระยะเวลาที่เดินทางจากเมืองลำปางมาเมืองต้าใช้เวลา ๑ วันพักที่เมืองต้า รุ่งเช้าก็เดินทางต่อเข้าไปสู่เมืองแพร่ และตำนานได้กล่าวถึงเจ้าเมืองลองไปส่งที่เมืองต้าด้วย ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าเมืองต้า ดังนั้นเมืองต้าในช่วงนี้อาจเป็นเมืองที่มีเพียงหัวหน้าชุมชนปกครองขึ้นตรงกับลำปาง หรือขึ้นกับเมืองลอง

“...ยามนั้นฝนตกยามแลงหนตางมื่น ฝูงคนก็ยังจื่นยินดี ถ้วน ๓ ราตรีรอดแล้ว พระต๋นปิ่นแก้วก็ยกออกจากเขลางค์ละกอน วันนั้นมีพ่อเจ้าพระยามหาพรหมาภิษณุพงษ์ นำส่งมารอดพระบาทแก้ว แล้วก็รวดเสด็จคืนเมือวัง มหาเถรเจ้าก็เดินผ่านโต่งกว้างไต่ตางไป เข้าป่าไม้ปูดอย ตามตางตี่เกยเตียวมาก่อน บ่ออิดอ่อนอันใด เกยเตียวตางไกลบ่อขาด ก็กลากาดมารอดห้องต้องเมืองลอง น้ำห้วยนองขวางหน้า น้ำแม่ต้าไหลหลั่งลงไป ต๋นมีบุญหลายก็มารอดเวียงต้า จาวเมืองต้าและเมืองลอง ก็ปากั๋นออกมาต้อนรับ ดาข้าวปลาอาหารมาจมเจย บ่อหายเหยสักหยาด พ่องก็กราบไหว้บาทบาทา ยังครูบาต๋นบุญใหญ่ แล้วอาราธนานอนเวียงต้า ๑ ราตรี ก็มีวันนั้นแหล่ กันแจ้งรุ่งเจ๊า ศรัทธาหนุ่มเฒ่าก็ปากั๋น นำอาหารภูญจา จังหันมาถวายบิณฑบาตจิ่มครูบา กันว่าฉันโภชนาอิ่มแล้ว ก็ออกจากเวียงต้าลาเจ้าลอง ไต่ตามเตยกองออกป่า ผ่าตางมาสู่เวียงแก้วปิ่นโกศัยธชัคคะ...”

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๙ การรับรู้เรื่องเมืองลองผ่านตำนานต่างถิ่น (ต่อ)

ส่วนตำนานฝ่ายวัดที่ปรากฏชื่อพระธาตุสำคัญของเมืองลอง (ขวยปู ปูตั้บ แหลมลี่ ร่องอ้อ) คือตำนานพระเจ้าตนหลวง (วัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา) และตำนานพระธาตุสบแวน (อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา) เนื้อความของตำนานพระเจ้าตนหลวงที่ปรากฏเกี่ยวข้องกับเมืองลอง

“...กั้นว่าพระพุทธเจ้าทำนายสันนี้แล้ว ก็เสด็จไปดอยน้อย ไปแจ่โหว้ ไปม่อนจำศีล ไปปูขวาง ไปจอมไค้ ไปจอมแจ้ง ไปขิงแกง ไปสบแหวน แจ่แห้ง ช่อแฮ ขวยปู๋ ปูตั๊บ แหลมลี้ ไปร่องอ้อ ไปเสด็จ ขว้ำหม้อ ลำปาง จอมทอง เมืองหอด ไปดอยเกิ้ง เมืองง้ม เมืองตื่น เมืองเมย เมืองยวม เมืองทะล่าง เมืองสะโตง เมืองสะแลบ เมืองตะโก้ง ไปเมืองกุสินารา...” และปรากฏในตำนานพระธาตุสบแวน คือ

“...หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้เสด็จไปแช่แห้ง ช่อแฮ ขวยปู จูทับ(พูทับ) ลับลี้(แหลมลี่) ร่องอ้อ ลำปาง จอมทอง ไปเมืองฮอด ดอยเปิง เมืองคม เมืองเมย เมืองยอง เมืองกลาง สะโพง เมืองแสลบ เมืองทะโค่ง ไปเมืองกุสินารา โปรดสัตว์ทั้งหลาย...” จากตำนานพระเจ้าตนหลวงและตำนานพระธาตุสบแวน ก็สามารถทราบได้ว่าตำนานทั้งสองเขียนตามรูปแบบของตำนานพระเจ้าเลียบโลก โดยการเชื่อมโยงพระธาตุและเมืองเล็กๆ เข้าไว้ด้วยกันเป็นสายวัฒนธรรมทางความเชื่อศรัทธาตามโลกทัศน์ของผู้แต่ง เพราะตำนานพระเจ้าเลียบโลกกล่าวถึงเฉพาะพระธาตุที่สำคัญๆ เท่านั้น เช่นพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุช่อแฮ พระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นเพียงรูปแบบการแต่งตำนานตามแบบตำนานพระเจ้าเลียบโลก แต่ทว่าตำนานทั้งสองก็ยังสะท้อนโลกทัศน์และการรับรู้ของคนในสมัยนั้นว่ามีพระธาตุของเมืองลองทั้ง ๔ องค์ คือพระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั้บ พระธาตุแหลมลี่ และพระธาตุร่องอ้อ(ศรีดอนคำ) ของเมืองลองอยู่แล้วด้วย นอกจากนี้เมืองอื่นๆ ก็ปรากฏเป็นที่รับรู้และนับถือพระธาตุในเมืองลองด้วย ดังปรากฏในคำไหว้พระบาทพระธาตุ ของครูบาเจ้าศรีวิไชย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

“...พระธาตุเจ้าเมืองละพูน ลำปาง สระเด็จและขว้ำหม้อ ร่องอ้อ จอมแจ้ง แช่แห้ง ช่อแฮ ขิงแกง สรี(แหลมลี่) ขวยปู ปูตั้บ พระกับ พระพิม...พระธาตุที่จอมตองและดอยเกิ้ง สวนดอก ดอยคำ สุเทพ...” โวหารแผ่กุศลอย่างม่วนที่สืบทอดกันมาของครูบาโสภา โสภโณ วัดท่าโป่ง เมืองเชียงใหม่ ก็ได้กล่าวอาราธนาขอบารมีจากพระธาตุไฮสร้อยร่วมกับพระธาตุองค์อื่นๆ

“...ขออังคราชชอนธาตุเจ้าจอมทองเปนเคล้า แลพระธาตุแช่แห้ง ขิงแกง ดอยน้อย ฮ่องอ้อ ไฮสร้อย แหลมลี่ ขวยปู ปูตั้บ พระยืน พระนอน ละกอน เมืองแพล่ เกตุแก้ว ดอยตุง จังโก รังรุ้ง เก้าตื้อ ลำปาง สุเทพ สบฝาง พนม ผาหนาม สวนดอก ดอยเกิ้ง...”  สรุป เมืองลองถือว่าเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยของล้านนา ไม่มีบทบาทที่ปรากฏเด่นชัดและอยู่ใกล้ศูนย์กลางการปกครองดั่งเมืองอื่นๆ เช่น เมืองฝาง เมืองเทิง เมืองพาน และเมืองลอ อีกทั้งตำนานพื้นเมืองต่างๆ ทั้งพื้นเมืองเชียงใหม่ (ในตอนราชวงศ์มังราย) พื้นเมืองเชียงแสน พื้นเมืองเชียงราย พื้นเมืองน่าน พื้นเมืองเหล่านี้ก็มีศูนย์กลางการแต่งพื้นเมืองที่อยู่ไกลจากเมืองลอง และไม่มีความสัมพันธ์กับเมืองลองโดยตรง ส่วนเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองลองคือเมืองลำปางและเมืองแพร่ หรือเป็นเมืองที่เมืองลองต้องเป็นเมืองขึ้นโดยตรงคือเมืองลำปาง ทั้งสองเมืองก็ขาดหลักฐานฝ่ายเมืองคือพื้นเมืองลำปางและพื้นเมืองแพร่ ดังนั้นยิ่งเมืองลองเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย เรื่องราวต่างๆ ของเมืองลองจึงไม่ได้รับการกล่าวถึงจากพื้นเมืองอื่นๆ เลย จะมีบ้างเพียงเล็กน้อยในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ก็เป็นช่วงสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนแล้ว(พ.ศ.๒๒๗๒) เนื่องจากช่วงนี้เมืองลำปางเป็นเมืองศูนย์กลางทางอำนาจและเป็นต้นเค้าราชตระกูลของเจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และเมืองอื่นๆ ของล้านนา ได้ให้ภาพของเมืองลองว่าเป็นเมืองที่หลบลี้ภัยสงคราม ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าเมืองลองเป็นเมืองที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง เป็นเมืองที่ขึ้นต่อเมืองที่ใหญ่กว่าคือเมืองลำปางอย่างหลวมๆ ในระบบอุปถัมภ์ เมื่อมีภัยสงครามหรือเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นภายในเมืองใหญ่ๆ หรือเมืองเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้โดยตรง ก็จะอพยพหลบลี้มาอยู่ในเมืองลอง และผู้คนหลากหลายกลุ่มเหล่านี้ย่อมตกค้างอยู่ในเมืองลองอยู่ไม่น้อย จึงทำให้กลุ่มคนในส่วนบริเวณต่างๆ ของเมืองลองมีความเชื่อบางอย่างเช่นผีปู่ย่า หรือภาษาที่มีสำเนียงและศัพท์บางคำแตกต่างกันไป (แต่อยู่รวมกันได้โดยความเชื่อหลักๆ ที่เชื่อมคนเมืองลองไว้คือความเชื่อจากพระพุทธศาสนาเรื่องพระธาตุทั้ง ๕ องค์ในเมืองลอง และความเชื่อเรื่องผีเมืองคือผีบ่อเหล็กลอง ที่ชาวเมืองลองให้ความเชื่อศรัทธาร่วมกัน) นอกจากนี้ตำนานถิ่นอื่นยังรับรู้ว่าเขตที่ราบเมืองลองเป็นเส้นทางผ่านระหว่างเมืองลำปางไปแพร่ (พื้นเมืองเชียงใหม่) และแพร่ขึ้นไปเมืองลำปาง (ตำนานธรรมครูบามหาเถรเจ้า) ในส่วนตำนานพระเจ้าตนหลวงและพระธาตุสบแวน ก็ยังสะท้อนโลกทัศน์และการรับรู้ของคนในสมัยนั้นว่ามีพระธาตุของเมืองลองทั้ง ๔ องค์ คือพระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั้บ พระธาตุแหลมลี่ และพระธาตุร่องอ้อ(ศรีดอนคำ) ของเมืองลองอยู่แล้ว

ภูเดช แสนสา