ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตแอ่งลอง – วังชิ้น (ต่อ) จากตำแหน่งการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในแอ่งลอง – วังชิ้น จะเห็นได้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานกระจุกตัวอยู่ตอนกลางของแอ่งลอง – วังชิ้น ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบขนาดกว้างขวางเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน อีกทั้งมีลำห้วยสาขาใหญ่ของแม่น้ำยมไหลจากตะวันตก – ตะวันออกลงสู่แม่น้ำยมโดยฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยมเป็นที่ราบขนาดเล็กและแคบติดเชิงเขา จึงทำให้ไม่มีการตั้งถิ่นฐานแถบนี้ในระยะแรก แต่ชุมชนโบราณที่ปรากฏคูน้ำคันดินนั้น จะตั้งกระจุกตัวอยู่ตั้งแต่บ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง ลงมาทางใต้จนถึงบ้านแม่บงเหนือ ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น (ห่างจากชุมชนโบราณเหล่ารัง บ้านแม่รัง ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง ประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งมีแนวคูน้ำคันดินเชื่อมต่อกัน) และจะปรากฏอยู่ตอนเหนือสุดของแอ่งเป็นบริเวณที่ราบขนาดเล็กไกลออกไปเป็นที่ตั้งเวียงต้า ส่วนตอนใต้สุดไกลออกไปเป็นบริเวณตอนกลางของอำเภอวังชิ้นปัจจุบัน คือเมืองตรอกสลอบ เนื่องจากมีแม่น้ำยมไหลผ่านและมีพื้นที่ราบกว้างขวางกว่าส่วนอื่นๆ ในช่วงตอนท้ายแอ่ง และที่น่าสังเกตก็คือเหนือจากเหล่าเวียง(บ้านนาหลวง) จะปรากฏชุมชนโบราณอยู่ซึ่งเป็นแหล่งที่พบพระพุทธรูปทองสำริด พระพุทธรูปหินทราย และพระพุทธรูปแก้วจำนวนมาก คือชุมชนโบราณบ้านบ่อและชุมชนโบราณห้วยแม่สวก กลับไม่พบมีการสร้างคูน้ำคันดิน พบแต่มีการก่อสร้างโบราณสถานกระจายตัวตามลำห้วยหลายแห่ง สันนิษฐานว่าเนื่องจากมีที่ราบแคบและเป็นที่สูงไกลจากแม่น้ำยม หรือลำห้วยสาขาใหญ่ๆ ของแม่น้ำยม ดังนั้นจึงพบว่ามีการสร้างคูน้ำคันดินอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือขึ้นไปจนสุดแอ่งคือเวียงต้า ซึ่งมีห้วยแม่ต้าเป็นลำห้วยสาขาใหญ่ของแม่น้ำยมไหลผ่าน และตอนใต้ของแอ่งก็มีการตั้งชุมชนโบราณถึงเพียงตอนกลางของเขตอำเภอวังชิ้นปัจจุบัน(เมืองตรอกสลอบ)

ส่วนชุมชนโบราณยุคแรกๆ ที่ร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าคือเวียงลอง และเมืองตรอกสลอบ เนื่องจากว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมที่เป็นแม่น้ำสายหลักของแอ่งลอง - วังชิ้น เวียงลอง มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ราบตรงกลางแอ่งลอง – วังชิ้น ด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำยม ด้านทิศใต้ติดห้วยแม่ลอง(ปากลอง) ส่วนเมืองตรอกสลอบอยู่ที่ราบตอนใต้ของแอ่ง ด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำยม ด้านทิศใต้ติดห้วยปากสลก(ปากสลอบ) จะเห็นได้ว่าลักษณะการตั้งเมืองจะมีลักษณะที่คล้ายกัน ตามทฤษฎีการตั้งเมืองโบราณที่จะนิยมตั้งเมืองในตำแหน่งที่มีการบรรจบกัน(สบ)ของเส้นทางคมนาคมและหลักฐานที่พบภายในเวียงลองและเมืองตรอกสลอบก็มีลักษณะคล้ายกัน คือพบจารึกอักษรสุโขทัย หลักที่พบในเมืองตรอกสลอบสันนิษฐานว่าศิลาจารึกกล่าวถึงการสร้างพระธาตุปากสลก(พระพิมพ์)ในปีพ.ศ.๑๘๘๒ ส่วนหลักที่พบในเวียงลองชำรุดมากไม่ปรากฏศักราช นอกจากพบเศษกระเบื้องสังคโลกและเตาล้านนาแล้ว ภายในเวียงลองและเมืองตรอกสลอบก็มีโบราณสถานที่สร้างด้วยศิลาแลง ซึ่งไม่ปรากฏในบริเวณอื่นๆ ของชุมชนโบราณแอ่งลอง – วังชิ้น โดยเฉพาะที่เวียงลองปรากฏโบราณสถานที่สร้างด้วยศิลาแลงอยู่ ๒ แห่ง คือภายในเวียงลอง มีพระธาตุไฮสร้อย (มีภาพก่อนบูรณะขึ้นใหม่ปี พ.ศ.๒๕๓๖) และนอกเวียงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ก็มีกลุ่มโบราณสถานศร้างด้วยศิลาแลง (วัดโกณหลวง หรือวัดม่วงคำ หรือวัดหนองสระน้ำเส้า) ส่วนพระธาตุของเมืองตรอกสลอบปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อพ.ศ.๒๔๗๐ – ๒๔๗๓ จึงไม่ปรากฏองค์พระธาตุก่อด้วยศิลาแลง แต่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกการก่อสร้างพระธาตุว่าสร้างด้วยศิลาแลง

“...ยามดีวันเมิงเป้า เดือน ๗ ออกสิ(บห้าค่ำ) ปีกัดเม้าและโถะ แต่ก่อหินแลง---ทั้ง สทายปูนเดือนหนึ่งแล้ว จึงปลูกทั้งศิลาด้วยแล...”

นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่ามีการติดต่อกับทางสุโขทัย เนื่องจากแอ่งลอง – วังชิ้นไม่พบแหล่งศิลาแลง ดังนั้นศิลาแลงที่สร้างโบราณสถานในเขตเวียงลองและเมืองตรอกสลอบต้องนำมาจากสุโขทัย

ส่วนชุมชนในเวลาต่อมาคือชุมชนเหล่ารังและแม่บงเหนือกับเหล่าเวียงและเวียงลัวะ จะสังเกตได้ว่าเมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ในรูปแบบเมืองแฝด คือคันดินชุมชนเหล่ารังมีการสร้างคันดินมาโอบเชื่อมในด้านทิศใต้คือชุมชนแม่บงเหนือ ซึ่ง ๒ ชุมชนนี้แต่เดิมน่าจะเป็นชุมชนเดียวกัน ส่วนเหล่าเวียงและเวียงลัวะก็ตั้งอยู่ ๒ ฝั่งน้ำแม่กาง เหล่าเวียงตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ลุ่ม(ปัจจุบันบางคนเรียกนาปง) แต่เวียงลัวะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกเป็นเนินสูงคล้ายหลังเต่า เวียงทั้ง ๒ ห่างกันประมาณ ๕๐๐ เมตร เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของเวียงกลุ่มนี้ น่าจะเป็นเมืองหน้าด่านให้กับเวียงลองที่ตั้งอยู่ตอนกลางริมฝั่งแม่น้ำยม โดยเหล่าเวียงและเวียงลัวะอยู่ทางทิศเหนือ ส่วนชุมชนเหล่ารังและแม่บงเหนืออยู่ทางทิศใต้ เวียงเหล่านี้ตั้งอยู่ไกลจากเวียงลองประมาณ ๙ – ๑๐ กิโลเมตร อีกทั้งเวียงเหล่านี้ก็ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม

เวียงลองมีพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ สันนิษฐานว่าเป็นจุดศูนย์กลางในอดีต เนื่องจากตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ จึงปรากฏเมืองลองโบราณริมฝั่งแม่น้ำยมและใช้แม่น้ำยมที่กว้าง ลึก และเชี่ยว เพราะเป็นช่วงหักโค้งของลำน้ำยมตรงหน้าวัดพระธาตุไฮสร้อยเป็นวังน้ำวนเรียกว่าวังทะครัว(วังต๊ะครัว) เป็นปราการธรรมชาติด้านทิศตะวันออก มีกำแพงดินล้อมรอบด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกถึง ๔ ชั้น และมีคูน้ำ ๓ ชั้น และร่องคูน้ำจะลึกลงเรื่อยๆ เมื่อเข้ามาใกล้กำแพงชั้นใน ส่วนด้านทิศใต้เป็นร่องน้ำลึก ซึ่งคูน้ำทั้ง ๓ ชั้นสามารถรับน้ำจากลำน้ำยมเข้ามาหล่อเลี้ยงเมืองได้ โดยเฉพาะฤดูน้ำหลากจะไม่สามารถเข้าเมืองหรือออกเมืองได้เลยในอดีตนอกจากใช้เรือ การสร้างเมืองอย่างแน่นหนาเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นจุดที่ต้องมีการสงครามบ่อยครั้ง ซึ่งอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ก็ได้กล่าวถึงตำแหน่งที่ตั้งของเมืองลองว่า “...แม้ว่าจะไม่ใช่เมืองเชียงชื่น เมืองลองนี้ก็คือเมืองยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่ทรงทำสงครามกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาอย่างใหญ่โตและยาวนานทีเดียว...” ซึ่งต่างกับเวียงอื่นๆ ในที่แอ่งลอง – วังชิ้นที่มีคูน้ำ ๑ ชั้น และคันดิน ๒ ชั้น

และเมืองตรอกสลอบอาจเป็นเมืองที่สร้างก่อนเวียงลองเล็กน้อย หรือใกล้เคียงกันเนื่องจากเมืองตรอกสลอบอาจเป็นเมืองที่อิทธิพลสุโขทัยขยายขึ้นมาจนก่อตั้งเป็นชุมชนและเป็นเมืองขึ้น แต่ต่อมาอาจเนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่ตั้งเมือง หรือปัจจัยด้านสงครามที่อยู่ใกล้เส้นทางทัพที่ผ่านทางเมืองเถิน เมืองตรอกสลอบจึงค่อยๆ เสื่อมสลาย ส่วนที่เวียงลองเนื่องจากตั้งอยู่ตอนกลางแอ่งมีที่ราบกว้างขวาง ไม่เป็นที่ลุ่มน้ำมาก และมีชัยภูมิที่ใช้ป้องกันข้าศึกได้ดี เวียงลองจึงยังคงเป็นแหล่งตั้งมั่น ดังปรากฏหลักฐานมีเวียงต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และอาจเป็นไปได้ว่าผู้คนในเมืองตรอกสลอบได้อพยพขึ้นมาตั้งมั่นร่วมกับกลุ่มคนเวียงลอง เมืองตรอก สลอบจึงร้างไป และพึงกลับมามีผู้คนเข้ามาอาศัยเมื่อประมาณ ๒๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนเวียงต้าอาจเป็นเมืองหน้าด่าน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ระหว่างแดนต่อแดนของเมืองลำปางกับเมืองแพร่ เมื่อข้ามเขาขึ้นไปทางทิศเหนือก็เป็นเมืองสอง สามารถผ่านขึ้นไปเมืองงาว เมืองพะเยา และเมืองน่านได้ หรือมีการตั้งเป็นชุมชนขึ้นเพราะมีทรัพยากรเหล็ก(เหล็กต้า)

ในส่วนของการตั้งชุมชนในยุคหลัง เนื่องจากมีอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนในอดีตมีอยู่ไม่ขาดสาย มีทั้งหลีกหนีภัยสงคราม การหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า การติดต่อค้าขาย และการทำผิดประเพณี เป็นต้น เนื่องจากเมืองลองอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่จะต้องเป็นเส้นทางผ่านระหว่างเมืองลำปางและเมืองแพร่ หรือบางครั้งก็เป็นทางผ่านไปสู่เมืองสุโขทัยด้วย ซึ่งที่ราบตอนใต้คือวังชิ้นแต่เดิมมีผู้คนเบาบาง ดังมีหลักฐานว่าในช่วงแรกที่ก่อตัวเป็นชุมชนขึ้นใหม่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยมมีเพียง ๒ หมู่บ้าน ภายหลังเป็นตำบลวังชิ้นอำเภอเมืองลองเมื่อปี เมื่อมีหมู่บ้านขยายตัวมากขึ้นได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังชิ้นในปีพ.ศ.๒๔๘๑ และจนกระทั่งตั้งเป็นอำเภอวังชิ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๑ และสภาพพื้นที่อำเภอวังชิ้นตอนใต้เมื่อปีพ.ศ.๒๔๑๔ ยังเป็นป่าดงดิบ และผู้ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งใหม่ในตอนแรกก็เป็นกลุ่มที่มาหาของป่าเพื่อค้าขาย ซึ่งกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในอำเภอวังชิ้นในทางตอนเหนือฝั่งตะวันออกแม่น้ำยม ก็จะเป็นกลุ่มคนจากอำเภอลับแล และอำเภอลอง ส่วนตอนเหนือฝั่งตะวันตกแม่น้ำยมก็เป็นกลุ่มคนจากอำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง อำเภอเด่นชัย อำเภอลอง และอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และส่วนตอนใต้ของอำเภอวังชิ้นก็เป็นกลุ่มคนที่มาจากอำเภอเถินเข้ามาทำป่าไม้แต่คนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่คือคนจากเมืองลอง เนื่องจากอยู่ในบริเวณแอ่งและที่ราบเดียวกัน

ส่วนเมืองลองในช่วงประมาณ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมานอกจากกลุ่มคนที่เป็นชาวเมืองลองเดิมแล้ว ก็ยังเป็นช่วงที่กลุ่มคนจากที่อื่นๆ อพยพเข้ามามาก เช่น กลุ่มไทใหญ่จากเมืองเชียงตุง เข้ามาตั้งถิ่นฐานและบูรณะวัดไฮสร้อยขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๔๕ โดยครูบาจอสุง จนฺทวโร เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก หรือกลุ่มกะเหรี่ยงที่บ้านแม่จองไฟ ตำบลห้วยอ้อ ที่อพยพมาจากพม่าผ่านมาทางเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง บ้านวังเลียง ตำบลทุ่งแล้งอพยพมาจากลับแล จังหวัดอุตรดิถ์ เนื่องจากหนีภาษี ๔ บาท และบ้านศรีดอนชัย ตำบลทุ่งแล้ง มาจากบ้านนาแต้ว อำเภอลับแล เพื่อเข้ามาทำไม้ หรือเมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีก็มีชาวไทใหญ่จากเมืองเชียงตุงมาขุดบ่อพลอย(ไพลิน) เชิงเขาเขตแดนเมืองลองและได้ตั้งเป็นชุมชนบ้านบ่อแก้ว

ชุมชนหรือหมู่บ้านในแอ่งลอง – วังชิ้น ทุกๆ หมู่บ้านจะตั้งติดแม่น้ำยม เช่น บ้านแก่งหลวง บ้านปากต้า บ้านแม่ลู่ บ้านท่าเดื่อ บ้านวังต้นเกลือ บ้านปากกาง บ้านปากปง บ้านวังเคียน บ้านไฮสร้อย บ้านอ้ายลิ่ม บ้านผาจั๊บ บ้านวังเลียง บ้านหาดผาคัน อำเภอลอง บ้านหาดอ้อน บ้านสบเกิ๋ง บ้านนาเวียง บ้านแม่สีธิ บ้านวังแฟน อำเภอวังชิ้น เป็นต้น หรือไม่ก็ตั้งชุมชนตามลำห้วยสาขา ดังปรากฏเป็นชื่อหมู่บ้านต่างๆ เช่น หมู่บ้านที่ขึ้นต้นด้วยต้า เป็นหมู่บ้านที่อยู่ตามน้ำแม่ต้า (ต้าแป้น ต้าเหล่า เวียงต้า ฯลฯ ) บ้านน้ำริน(ห้วยน้ำริน) บ้านเกี๋ยงพา(ห้วยเกี๋ยงพา) บ้านแม่ลาน(น้ำแม่ลาน) บ้านห้วยอ้อ(ห้วยอ้อ) บ้านปากกาง(น้ำแม่กาง) บ้านแม่จอก(ห้วยแม่จอกหลวง) บ้านแม่ลอง(ห้วยแม่ลอง) บ้านปากลอง(ห้วยแม่ลอง) บ้านแม่แขม(ห้วยแม่แขม) บ้านแม่รัง(ห้วยแม่รัง) อำเภอลอง บ้านแม่บง(ห้วยแม่บง) บ้านแม่ป้าก(ห้วยแม่ป้าก) บ้านแม่จอก(ห้วยแม่จอก) บ้านสบเกิ๋ง(ห้วยแม่เกิ๋ง) บ้านวังขอน(ห้วยวังขอน) บ้านแม่พุง(ห้วยแม่พุง) บ้านแม่ตื้ด(ห้วยแม่ตื้ด) บ้านปากห้วยสรวย(น้ำแม่สรวย) บ้านแม่สีธิ(ห้วยแม่สีธิ) เป็นต้น

 

สรุป การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในแอ่งลอง – วังชิ้น จะตั้งถิ่นฐานกระจายตัวในแนวเหนือ – ใต้ ตามลักษณะภูมิประเทศที่มีที่ราบแคบยาวในแนวเหนือ – ใต้ ชุมชนในระยะเริ่มแรกจะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เนื่องจากเป็นที่ราบกว้างมีลำห้วยสาขาต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำยม ส่วนในฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ราบเล็กน้อยติดเชิงเขา และลำน้ำยมตอนที่ผ่านแอ่งลอง – วังชิ้น เป็นช่วงที่มีความลึกและเชี่ยวจึงยากต่อการเดินทาง ระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยม ดังนั้นพื้นที่ฝั่งตะวันออกจึงเหมาะที่ใช้เป็นพื้นที่ทำไร่ ไม่มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในอดีต

ชุมชนโบราณในที่แอ่งลอง – วังชิ้น พบว่าตั้งอยู่ติดกับสายน้ำหลักคือแม่น้ำยม ๒ ชุมชนคือ เวียงลอง(เมืองลอง) และเมืองตรอกสลอบ ส่วนชุมชนโบราณอื่นอยู่ลึกเข้าไปตามลำห้วยสาขาของแม่น้ำยม คือ เวียงต้า(ห้วยแม่ต้า) ชุมชนโบราณแม่สวก(ห้วยแม่สวก) ชุมชนบ้านบ่อ(ห้วยแม่ลาน) เหล่าเวียง(ห้วยแม่กาง) เมืองลัวะ(ห้วยแม่กาง) เหล่ารัง(ห้วยแม่รัง) แม่บงเหนือ (ห้วยแม่บง)

ชุมชนโบราณยุคแรกๆ ที่ร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าคือเวียงลอง และเมืองตรอกสลอบ เนื่องจากว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมที่เป็นแม่น้ำสายหลักของแอ่งลอง - วังชิ้น เวียงลอง มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ราบตรงกลางแอ่งลอง – วังชิ้น ด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำยม ด้านทิศใต้ติดห้วยแม่ลอง(ปากลอง) ส่วนเมืองตรอกสลอบอยู่ที่ราบตอนใต้ของแอ่ง ด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำยม ด้านทิศใต้ติดห้วยปากสลก(ปากสลอบ)

ส่วนชุมชนในเวลาต่อมาคือชุมชนเหล่ารังและแม่บงเหนือกับเหล่าเวียงและเวียงลัวะ จะสังเกตได้ว่าเมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ในรูปแบบเมืองแฝด คือคันดินชุมชนเหล่ารังมีการสร้างคันดินมาโอบเชื่อมในด้านทิศใต้คือชุมชนแม่บงเหนือ ซึ่ง ๒ ชุมชนนี้แต่เดิมน่าจะเป็นชุมชนเดียวกัน ส่วนเหล่าเวียงและเวียงลัวะก็ตั้งอยู่ ๒ ฝั่งน้ำแม่กาง เหล่าเวียงตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ลุ่ม(ปัจจุบันบางคนเรียกนาปง) แต่เวียงลัวะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกเป็นเนินสูงคล้ายหลังเต่า เวียงทั้ง ๒ ห่างกันประมาณ ๕๐๐ เมตร เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของเวียงกลุ่มนี้ น่าจะเป็นเมืองหน้าด่านให้กับเวียงลอง

ส่วนเวียงต้าอาจเป็นเมืองหน้าด่าน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ระหว่างแดนต่อแดนของเมืองลำปางกับเมืองแพร่ เมื่อข้ามเขาขึ้นไปทางทิศเหนือก็เป็นเมืองสอง สามารถผ่านขึ้นไปเมืองงาว เมืองพะเยา และเมืองน่านได้ หรือมีการตั้งเป็นชุมชนขึ้นเพราะมีทรัพยากรเหล็ก(เหล็กต้า) โดยชุมชนหรือหมู่บ้านในแอ่งลอง – วังชิ้น ทุกๆ หมู่บ้านจะตั้งติดแม่น้ำยม หรือไม่ก็ตั้งชุมชนตามลำห้วยสาขา เนื่องจากแม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของคนแต่ละชุมชนในอดีต

ภูเดช แสนสา

ชาวเมืองลองฟ้อนแห่ขบวนไหว้สาพระธาตุศรีดอนคำ เดือนยี่เป็ง พ.ศ.๒๕๐๑ (ที่มา : สภาเทศบาลตำบลห้วยอ้อ)

 

แม่น้ำยมช่วงที่ไหลผ่านบ้านท่าเดื่อ  ตำบลปากกาง (ที่มา :  ภูเดช  แสนสา, ๒๕๔๘)