เมืองลองจากจดหมายเหตุ (ต่อ) การลงไปครั้งนี้ก็เพื่อขอให้แต่งตั้งให้แสนหลวงคันธิยะเป็นเจ้าเมืองลองแทน เพราะเจ้าเมืองลองทราบว่าจะมีพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๓๓ และก็สันนิษฐานว่าลงไปทูลเรื่องไม่ยอมรับคำตัดสินเดิมในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ที่ให้เมืองลองขึ้นเมืองนครลำปางตามเดิม แต่เมื่อแสนหลวงคันธิยะและแสนท้าวเมืองลองไปถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๓ ประกอบกับมีพระราชพิธีโสกันต์และรับเสด็จพระเจ้าซารวิก รัสเซีย จึงได้รออยู่ที่กรุงเทพฯ ดังนั้นปลายปี พ.ศ.๒๓๓๔ จึงโปรดเกล้าฯ ถึงเจ้าพระยาบดินทร์ ว่า

“...เมืองลองนี้ได้ตัดสินตกลงใคร่การอย่างเลอียดแล้วว่าให้เปนเมืองขึ้นเมืองนครลำปางไปตามเดิม ให้ท่านมีตราตอบข้าหลวงไปว่า ต้องให้เมืองลองทำคงขึ้นเมืองนครลำปางไปตามคำตัดสินเดิม การที่พ่อเมืองลองทำความขัดแขงต่อคำตัดสินนั้นไม่ชอบ แต่ให้ยกโทษเสียครั้งหนึ่ง ต่อไปถ้าพ่อเมืองลองไม่ชอบกระทำตาม ก็ให้เจ้านครลำปางบังคับบัญชาไปโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย แลอย่างธรรมเนียมของบ้านเมือง จะถอดถอนพ่อเมืองลองตั้งพ่อเมืองใหม่ฤาประการใดก็ได้ แต่อย่าให้เปนอันตรายถึงแก่ชีวิตรพ่อเมืองลองได้เปนอันขาด แต่ส่วนตัวแสนหลวงคันทิยะบุตรพ่อเมืองลองที่ลงมาขอรับตำแหน่งแทนบิดานั้น ให้กรมมหาดไทยชี้แจงคำตัดสินนี้ให้ทราบ แลให้คืนสิ่งของเงินทองที่นำมานั้นให้แสนหลวงคันทิยะไปด้วย แล้วให้แสนหลวงคันทิยะได้กลับขึ้นไปบ้านเมืองเสียโดยเร็ว เพราะต้องลงมากรุงเทพฯ ช้านานแล้ว”

เห็นว่าแสนหลวงคัณธิยะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองลอง จวบกับมีตราลับที่ ๖๓ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕) โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้าผู้ครองนครลำปาง เป็นจางวาง และให้เจ้าอุปราช เป็นเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิตวราวุธ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมืองลองและเมืองนครลำปางก็หมดไป แต่กลับเป็นการขัดแย้งระหว่างเจ้าจางวางกับเจ้านรนันทไชยชวลิต เพราะเจ้าจางวางไม่ยอมมอบตราเจ้านครลำปางให้ และไม่พอใจที่ได้เป็นเจ้าจางวางที่ไม่มีอำนาจอะไร อีกทั้งตำแหน่งจางวางเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในล้านนาดังนั้น แม้แต่เจ้านายทางเมืองนครเชียงใหม่ก็เข้าใจว่าเป็นการลดยศ

ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าแสนหลวงคันธิยะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองลองในปี พ.ศ.๒๔๓๕ เพราะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครลำปางเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าเมืองลองได้ เมื่อแสนหลวงขัติยะ(คันธิยะ) ได้เป็นเจ้าเมืองลองแล้ว แสนหลวงเจ้าเมืองลองผู้เป็นบิดาเป็นจางวาง ช่วยกันรักษาบ้านเมืองต่อไป หลังจากนี้ก็ไม่ปรากฏเหตุการณ์ระหว่างเมืองลองกับเมืองลำปางว่ามีเรื่องวิวาทกันอีก ก็มีการส่งส่วยเหล็กปีละ ๔๐ หาบ และค่าตอไม้ขอนเจ้าตามเดิม และในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย มาตรวจราชการมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และให้เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง(พ.ศ.๒๔๔๐ – ๒๔๖๕) กับเจ้านายขุนนางจัดราชการบ้านเมืองให้เป็นที่เรียบร้อย โดยได้ประชุมกันในวันที่ ๒๐ มกราคม ร.ศ.๑๑๘(พ.ศ.๒๔๔๒) ได้ตกลงกันจัดแบ่งเขตแขวงเมืองนครลำปางออกเป็น ๖ แขวง คือ

๑. แขวงนครลำปาง ให้รวมบ้านในเวียงแคว้นที่ใกล้เคียงมีแคว้น ๖ แคว้น แคว้นเกาะคา แคว้นบ้านศาลา แคว้นชมภู แคว้นบ้านปง แคว้นนาก่วม แคว้นน้ำล้อม แคว้นไหล่หิน แคว้นบ้านเป้า แคว้นพิไชย แคว้นบ่อแก้ว แคว้นบ้านเอี้ยม แคว้นบ้านค่า แคว้นทุ่งกวาว แคว้นบ้านขอ แคว้นบ้านฮี แคว้นทุ่งฝาย แคว้นบ้านเสด็จ แคว้นบ้านทราย แคว้นป่าจ้ำ แคว้นนาคัว แคว้นป่าตัน แคว้นหัวเสือ แคว้นดอนไฟ แคว้นป่าขาม แคว้นลำปางหลวง แคว้นหางสัตว์ แคว้นป่าไค้ แคว้นหนองหล่ม แคว้นป่าน้าว แคว้นปงพก แคว้นป่ากล้วย แคว้นแม่ปุ้ม แคว้นแม่สัน เมืองเสิมขวา เมืองเสิมซ้าย เมืองยาว เมืองจาง เมืองเมาะ ให้ตั้งที่ว่าการแขวงในเมืองนครลำปาง

๒. แขวงลอง รวมเมืองลอง เมืองต้า ให้ตั้งที่ว่าการแขวงที่บ้านฮ่องอ้อ เมืองลอง (บ้านห้วยอ้อ ในปัจจุบัน)

๓. แขวงวังเหนือ รวมเมืองวังเหนือ เมืองวังใต้ เมืองเตาะ เมืองแจ้ซ้อน เมืองปาน เมืองแจ้ห้อม(แจ้ห่ม) เมืองมาย บ้านทุ่ง ให้ตั้งที่ว่าการแขวงที่เมืองแจ้ห้อม

๔. แขวงวังใต้ รวมแคว้นสบปาบ แคว้นสมัย แคว้นแม่ดัวะ ให้ตั้งที่ว่าการแขวงที่บ้านสบปาบ

๕. แขวงงาว รวมเมืองงาว เมืองตีบ ให้ตั้งที่ว่าการแขวงที่เมืองงาว

๖. แขวงแม่อิง รวมเมืองพยาว เมืองพาน ให้ตั้งที่ว่าการแขวงที่เมืองพยาว

ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ เป็นต้นไปให้ชายพลเมืองในเขตแขวงเมืองนครลำปางอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีถึง ๖๐ ปี ให้เสียเงินแทนเกณฑ์ปีหนึ่งคนละ ๔ บาท เมื่อเก็บเงินแทนเกณฑ์แล้วให้ยกเลิกส่วยเหล็กจากเมืองต้า เมืองลอง ส่วยเมี่ยงจากเมืองแจ้ซ้อน เมืองปาน เมืองสาด เสื่อจากบ้านทุ่ง เมืองเตาะ ส่วยเจ้าคือดอกไม้เงินทอง เสื่อ เมี่ยง จากบ้านสาด ล่งแม่จาง ส่วยผ้าห่มจากพวกยางทั้งปวง ส่วนนาในแขวงเมืองลอง เมืองต้า แคว้นแม่สัน บ้านยาง บ้านทุ่ง แต่ก่อนมาเคยยกเว้นนั้น บัดนี้ก็เลิกการเก็บส่วยจากที่เหล่านั้นแล้ว เพราะฉะนั้นต่อไปให้เก็บค่านาตามธรรมเนียม จะเห็นว่าก่อนปี พ.ศ.๒๔๔๓ เมืองลองและเมืองต้าไม่ได้ถูกเก็บภาษี(มีเพียงปี พ.ศ.๒๔๒๖) เก็บค่านา ตั้งแต่มีการเก็บเงินแทนเกณฑ์จึงเลิกและปฏิบัติเหมือนกันทั้งเมืองนครลำปาง ซึ่งเป็นที่เดือดร้อนของคนในเมืองต้า เมืองลอง ดังจะเห็นได้จากบางส่วนหลบหนีไปอยู่ป่าด้านใต้แขวงเมืองลอง(เขตอำเภอวังชิ้นในปัจจุบัน)

และในปีนี้เองที่มีการแบ่งออกเป็นแขวง แคว้น และหมู่บ้าน โดยกำหนดให้พ่อแคว้นมียศเป็นชั้นพระยา ผู้ช่วยมียศเป็นชั้นแสน มีล่าม ๑ คน ส่วนแก่บ้านมียศเป็นชั้นแสน ในเมืองลองเองพ่อแคว้นต่างๆ ได้เป็นพญา เช่น พ่อแคว้นห้วยอ้อ คือพญาเจรจา มีล่ามคือ แสนตะกาย ดังนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองลองเดิมคือ แสนหลวง จึงสันนิษฐานว่าในปีพ.ศ.๒๔๔๓ นี้ แสนหลวงคัณธิยะได้เลื่อนยศเป็น พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง และให้มีพ่อเมืองทั้ง ๔ เป็นผู้ช่วยคือ พญาวังใน พญาราชสมบัติ พญาประเทศโสหัตติ และพญาเมืองชื่น(พ่อเมืองชื่น) และหลังจากนี้จดหมายเหตุก็ไม่ได้กล่าวถึงเมืองลองมากนักจนกระทั่งเกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่

เหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เริ่มเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ พระมนตรีพจนกิจ ข้าหลวงเมืองนครลำปาง ได้มีคำสั่งกวาดล้างกลุ่มเงี้ยวที่บ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง เมืองนครลำปาง เพราะเห็นว่าบ้านบ่อแก้วเป็นที่ซ่องสุมเหล่าบรรดาชาวเงี้ยว ที่เป็นพวกมิจฉาชีพ นักเลงอันธพาลหรือโจร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก ดังนั้นทางการจึงส่งกำลังทหารตำรวจปราบปรามแต่ก็พ่ายแพ้กลุ่มเงี้ยวจนถ่อยกลับเมืองนครลำปาง เงี้ยวกลุ่มนี้จึงยึดเมืองลองได้ และเข้าตีเมืองแพร่ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อเมืองลอง เพราะสันนิษฐานว่าในปีนี้เป็นปีที่เจ้าเมืองลองคนสุดท้ายถูกฆ่าตาย เนื่องจากเจ้าเมืองลองและแสนท้าวก็ร่วมเข้าตีเงี้ยวที่บ้านบ่อแก้วและที่ห้วยแม่ปาน ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งกวีของเจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่ ที่เกิดร่วมสมัยกบฏเงี้ยวคือศรีวิไจย(โข้) (พ.ศ.๒๔๐๐ – ๒๔๘๒) ได้แต่งคร่าวนี้ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ บรรยายเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า

“...พะก๋าหม่องนั้น ที่หนึ่งแดนหมาย สล่าโปซาย รองต๊ายหัวหน้า พร้อมกั๋นเป็นโจ๋ร สัตว์คนค่ำข้า หื้อฝูงประชา เดือดร้อน...เดิมพร้อมใจ๋กั๋น อยู่หั้นบ่อแก้ว โขงเขตแนว ป่าไม้...หากเป๋นเขตแขวง ติดแดนต่อหมั้น กับกั๋นเมืองลอง เขตค้าย แม้นโกรธโทสา เก่งกล้าร้อนร้าย ขุนนายแก่เฒ่า เมืองลอง ขึ้นสาพิทักษ์ เพ็ดทูลกราบกลอง เจ้าเมืองนคร ลำปางตี้หั้น...ตังขุนและต๊าว เจ้าหน่อบุญขวาง นครลำปาง ขุนนางเป๋นเจ้า แต่งนายมนตรี ผู้ดีหนุ่มเหน้า ไปต๋ามจับเอา พวกร้าย...”

และแสนท้าวหรือบุตรหลานในเมืองลองบางคนก็จับเงี้ยวมาไว้ที่บ้าน จะนำไปมอบให้ที่นครลำปาง แต่เงี้ยวขัดขืนจะฆ่าคนในบ้านเลยฆ่าเสียที่บ้าน ดังนั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็คงสร้างความคับแค้นให้กับกลุ่มเงี้ยวพอสมควร ดังนั้นหลังจากที่เหตุการณ์ทางเมืองลอง เมืองนครลำปาง และเมืองแพร่สงบ แต่เงี้ยวกลุ่มนี้ยังเที่ยวปล้นอยู่แถบเมืองพะเยา เมืองงาว ดังเห็นได้จากบันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาได้บันทึกไว้ว่า

“...4 ตุลาคม 2445 พวกเงี้ยวเข้าในเวียงพะเยา 12 คน...เวลา 2 ทุ่ม พวกเงี้ยวเข้าไล่ฟันเกือบถูกก้านคอ (พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา) จึงได้หนีเอาตัวรอด หนีออกจากวัดไป...”

“...6 มกราคม 2445(นับปีแบบเดิม) ...เงี้ยวปล้นบ้านแก่มา บ้านแม่สูญ...”

จนกระทั่งตอนเช้า เดือนเกี๋ยงดับ มีกลุ่มเงี้ยวจำนวน ๑๒ คน มีดาบคนละเล่มเดินมาทางบ้านปิน มาฆ่าพระยาคัณฑสีมาโลหกิจ ที่เรือนบ้านแม่ลานเหนือ โดยผู้ที่เสียชีวิตในครั้งนั้นมี ๕ คน คือ พญาขัณฑสีมาโลหกิจ เจ้าเมืองลอง แสนแก้ว บ้านใหม่(บ้านปิน) ผู้ดูแลบัญชีค่าตอไม้เมืองลองหนานกันทะสอน ผู้ช่วยหนานอิสระ ผู้ช่วยคนลาวบ้านนาอุ่นน่อง มาเสียภาษีค่าตอไม้ ส่วนบุตรชายคนเดียว(นอกนั้นเป็นผู้หญิงอีก ๕ คน) ของเจ้าเมืองลองคือพ่อหนานปัญญาเถิง โลหะ ยังเป็นเณร(อายุประมาณ ๑๔ – ๑๕ ปี)มาที่บ้านโดนฟันเป็นแผลยาวที่หลังวิ่งหนีรอดไปได้ดังนั้นเมื่อพระยาคัณฑสีมาโลหกิจ เจ้าเมืองลอง ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๔๔๕ กรมการแสนท้าวชุดสุดท้ายของเมืองลอง จึงเหลือพ่อเมืองลองทั้ง ๔ และแสนท้าวคือพญาวังในพญาราชสมบัติพญาประเทศโสหัตติพ่อเมืองชื่น แสนอินทวิไชย แสนมังคละ แสนวงศ์ แสนเทพมงคล หมื่นมหาวงศ์ ท้าวอินทร์ ท้าวพัน(ท้าวปัน)หมื่นทา ท้าวจันทร์ แสนเมืองมา ส่วนขุนนางเมืองลองบางคนก็หนีไปอยู่เมืองอื่น เช่น แสนปิง บ้านปิน ทำหน้าที่เกี่ยวกับดูแลเหมืองฝายในเมืองลอง เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็พาญาติพี่น้องและชาวบ้านหลบหนีไปตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองพะเยา

ภูเดช แสนสา

หลวงจรูญลองรัฐบุรี(หรั่ง วิชัยขัทคะ) นายแขวงเมืองลอง พ.ศ.๒๔๔๖ – ๒๔๕๖ (ที่มา : สภาเทศบาลตำบลห้วยอ้อ)

 

สภาพที่ตั้งคุ้มพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนสุดท้าย ที่บ้านแม่ลานเหนือ ในปัจจุบัน (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๕)