เมืองลองจากจดหมายเหตุ (ต่อ) หลังจากเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๔๖ ก็ได้ตั้งโรงพักมีตำรวจภูธรมาประจำการที่เมืองลอง(บ้านห้วยอ้อ) และเมืองต้า(บ้านผาลาย) มีบัญชีตำรวจภูธรดังนี้คือ เมืองลอง นายสิบเอก ๑ นาย นายสิบโท ๑ นาย นายสิบตรี ๑ นาย และพลตำรวจ ๘ นาย เมืองต้า นายสิบเอก ๑ นาย นายสิบโท ๑ นาย นายสิบตรี ๑ นาย และพลตำรวจ ๘ นาย ส่วนถัดมาในปีพ.ศ.๒๔๔๗ มีการตั้งโรงพักตำรวจเพิ่มที่แคว้นวังชิ้น และเพิ่มตำรวจที่เมืองลอง และบ้านต้า แคว้นเวียงต้า แขวงเมืองลอง เมืองลอง นายร้อยตรี ๑ นาย จ่านายสิบ ๑ นาย นายสิบเอก ๑ นาย นายสิบโท ๑ นาย นายสิบตรี ๑ นาย และพลตำรวจ ๒๐ นาย บ้านต้า นายสิบเอก ๑ นาย นายสิบโท ๑ นาย นายสิบตรี ๑ นาย และพลตำรวจ ๑๐ นาย แคว้นวังชิ้น นายสิบเอก ๑ นาย นายสิบโท ๑ นาย นายสิบตรี ๑ นาย และพลตำรวจ ๘ นาย

นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองของเมืองลองอีก ที่ปรากฏก็เกี่ยวกับการซื้อขายข้าวเปลือกและสิ่งของต่างๆ ทางรถไฟ โดยสถานีรถไฟในแขวงเมืองลองมี ๖ สถานี คือ สถานีบ้านปิน สถานีหลักของแขวงเมืองลอง เปิดใช้เมื่อ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๗ สถานีแก่งหลวง สถานีรอง สถานีผาคอ สถานีรอง เปิดใช้เมื่อ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๘ สถานีห้วยแม่ต้า สถานีเล็ก สถานีห้วยแม่ลาน สถานีเล็ก สถานีผาคัน สถานีเล็ก สถานีรถไฟลำปางเปิดใช้เมื่อ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ สถานีรถไฟเชียงใหม่เปิดใช้เมื่อ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๔

ดังนั้นการส่งออกทางรถไฟของสถานีต่างๆ ในแขวงเมืองลองจึงเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๕๘ ดังนี้

พ.ศ.๒๔๕๘ สถานีบ้านปิน รับข้าวเปลือก ๒๓ ตัน

พ.ศ.๒๔๕๙ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๕๑ ตัน

พ.ศ.๒๔๖๐ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๕๒๗ ตัน

พ.ศ.๒๔๖๑ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๑,๐๘๐ ตัน

พ.ศ.๒๔๖๒ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๕๔๑ ตัน

พ.ศ.๒๔๖๓ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๑๒ ตัน

พ.ศ.๒๔๖๔ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๕๘๙ ตัน ส่งผลผลิต ๒๕ ตัน ส่งของหีบห่อ ๑๐๒ ตัน รับ ๒๐๐ ตัน ส่งเกลือ ๑๒ ตัน รับ ๑๒๓ ตัน ส่งไม้แปรรูป ๒,๓๘๔ ตัน และรับยานพาหนะและชิ้นส่วน ๕๐ ตัน สถานีแก่งหลวง ส่งของหีบห่อ ๔ ตัน รับ ๑๐๑ ตัน และส่งไม้แปรรูป ๖๑ ตัน สถานีผาคอ ส่งของหีบห่อ ๗ ตัน และส่งไม้แปรรูป ๔๘๗ ตัน

พ.ศ.๒๔๖๗ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๑,๑๐๘ ตัน ส่งของหีบห่อ ๓๖ ตัน รับ ๒๖๓ ตัน รับเกลือ ๑๑๑ ตัน ส่งไม้แปรรูป ๒,๙๗๓ ตัน ส่งยานพาหนะและชิ้นส่วน ๑๕ ตัน รับ ๑๐ ตัน และรับข้าว ๑๐ ตัน สถานีผาคอ ส่งไม้แปรรูป ๓๑๒ ตัน

พ.ศ.๒๔๖๘ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๑,๐๓๖ ตัน ส่งของหีบห่อ ๖๖ ตัน รับ ๒๕๓ ตัน รับเกลือ ๘๒ ตัน ส่งไม้แปรรูป ๓,๑๐๕ ตัน ส่งยานพาหนะและชิ้นส่วน ๑๖ ตัน รับ ๒๕ ตัน รับข้าว ๑๕๒ ตัน รับยาสูบ ๕ ตัน ส่งสุกร ๒๑๗ ตัน สถานีแก่งหลวง ส่งไม้แปรรูป ๑๗๘ ตัน สถานีผาคอ ส่งไม้แปรรูป ๔๖๐ ตัน

พ.ศ.๒๔๗๐ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๑,๖๒๐ ตัน ส่งของหีบห่อ ๕๐ ตัน รับ ๒๙๖ ตัน รับเกลือ ๙๐ ตัน ส่งไม้แปรรูป ๓,๔๓๗ ตันรับ ๒๐ ตัน ส่งยานพาหนะและชิ้นส่วน ๑๖ ตัน รับ ๓๐ ตัน รับข้าว ๕๑ ตัน และส่งสุกร ๓๕๙ ตัน สถานีแก่งหลวง ส่งไม้แปรรูป ๑๙๖ ตัน สถานีผาคอ ส่งไม้แปรรูป ๒๒๙ ตัน

พ.ศ.๒๔๗๒ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๑,๗๔๑ ตัน ส่งของหีบห่อ ๖๗ ตัน รับ ๒๘๕ ตัน ส่งเกลือ ๕ ตัน รับ ๑๑๐ ตัน ส่งไม้แปรรูป ๒,๑๒๓ ตัน รับยานพาหนะและชิ้นส่วน ๑๓ ตัน รับข้าว ๘๓ ตัน รับยาสูบ ๑๐ ตัน รับน้ำตาลและน้ำอ้อย ๑๒ ตัน สถานีแก่งหลวง ส่งไม้แปรรูป ๔๕๖ ตัน ส่งยานพาหนะและชิ้นส่วน ๑๐ ตัน รับ ๕ ตัน และส่งศิลา ๑๐ ตัน สถานีผาคอ ส่งไม้แปรรูป ๓๕๓ ตัน และรับเกลือ ๕ ตัน

พ.ศ.๒๔๗๕ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๑,๒๔๔ ตัน ส่งของหีบห่อ ๕๑ ตัน รับ ๑๙๕ ตัน รับเกลือ ๑๑๑ ตัน ส่งไม้แปรรูป ๑,๐๙๙ ตัน ส่งยานพาหนะและชิ้นส่วน ๑๐ ตัน รับ ๕ ตัน ส่งข้าว ๓๓ ตัน รับ ๗๕ ตัน รับน้ำตาลและน้ำอ้อย ๒๐ ตัน สถานีผาคอ ส่งไม้แปรรูป ๓๙๕ ตัน สถานีบ้านแม่ต้า ส่งยิบซั่ม ๑๖๔ ตัน ส่งศิลา ๓๐ ตันและรับ ๑๐ ตัน

พ.ศ.๒๔๗๖ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๘๙๐ ตัน ส่งของหีบห่อ ๙๕ ตัน รับ ๒๐๔ ตันส่งไม้แปรรูป ๒,๒๕๑ ตัน ส่งสุกร ๔๗๐ ตัน รับ ๒๖๙ ตัน ส่งเปลือกไม้ ๓๐ ตัน ส่งผลผลิตจากป่า ๑๐ ตัน ส่งสินค้าเหล็กและเครื่องจักรกล ๕ ตัน ส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด ๖๕ ตัน รับ ๑๐ ตัน สถานีผาคอ ส่งไม้แปรรูป ๒,๘๘๔ ตัน สถานีแม่ต้า ส่งไม้แปรรูป ๑๕๒ ตัน

พ.ศ.๒๔๗๗ สถานีบ้านปิน ส่งข้าวเปลือก ๒,๗๒๐ ตัน ส่งของหีบห่อ ๗๓ ตัน รับ ๒๔๘ ตัน ส่งไม้แปรรูป ๒,๑๔๔ ตัน ส่งเปลือกไม้ ๓๐ ตัน ส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด ๒๐๕ ตัน สถานีผาคอ ส่งไม้แปรรูป ๓,๙๔๙ ตัน

สังเกตได้ว่าเมื่อรถไฟสถานีบ้านปินเปิดใช้กลางปี พ.ศ.๒๔๕๗ ปีต่อมาก็เริ่มรับข้าวเปลือก ส่วนปีต่อๆ มานั้นเมืองลองได้ส่งข้าวเปลือกขายตลอดมา จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๖๔ สินค้าส่งออกอันดับแรกของเมืองลองคือไม้แปรรูป ซึ่งส่งออกทั้งสถานีหลักและสถานีรอง เนื่องจากมีการตั้งโรงเลื่อยไม้ขึ้นที่ข้างรางรถไฟสถานีรถไฟบ้านปิน โดยตระกูลภูมภูติ ปัจจุบันมีบุตรหลานคือ พ่อเลี้ยงกสิน ภูมภูติ ถือว่าเป็นคหบดีของบ้านปินและเมืองลองในปัจจุบัน

สรุป เมืองลองเป็นเมืองที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองนครน่าน และเมืองแพร่ อีกทั้งเมืองลองเป็นเมืองที่ขึ้นตรงกับเมืองนครลำปางอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นเรื่องราวที่บันทึกไว้ในเอกสารจดหมายเหตุในช่วงรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรีจึงไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองลองเลย มาปรากฏครั้งแรกในเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ระบุว่าเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ใช้เมืองลองเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปทางเมืองแพร่ เมื่อคราวเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์ หลังจากนี้ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองลองในจดหมายเหตุอีกเลย จนกระทั่งในรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาจึงปรากฏมีการเขียนบันทึกเรื่องเมืองลองอีกครั้ง ทั้งศุภอักษรจากเมืองนครลำปาง ใบบอกจากเมืองลอง ศุภอักษรและสารตราที่มาจากสยาม

เมืองลองเป็นเมือง “ข้าด่าน” แต่เหตุรบทัพจับศึกกับเมืองทางด้านนี้ก็ไม่บ่อยครั้ง อีกทั้งเส้นทางการเดินทัพและการติดต่อต่างๆ ก็นิยมใช้เส้นทางผ่านเมืองศรีสัชนาลัย ผ่านเมืองเถินเข้าสู่เขตเมืองนครลำปาง มากกว่าจะผ่านเมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง ข้ามเขาพลึงผ่านเขตเมืองลองเข้าสู่เมืองนครลำปาง เพราะทางลำบากและเป็นป่าเขาสูง หน้าที่สำคัญในช่วงสมัยนี้ของเมืองลองจึงกลายมาเป็นเมืองพระบรมธาตุ และเหตุที่เจ้านครลำปางองค์ต่างๆ แต่งตั้งเจ้าเมืองลอง ก็เพื่อให้รักษาพระบรมธาตุในพระราชอาณาเขตเมืองลอง

เมืองลองมีการปกครองโดยเจ้าเมืองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดภายในเมือง มียศตำแหน่งเป็น ”แสนหลวงเจ้าเมือง” และผู้ที่อยู่ใต้การปกครองจะมียศเป็น แสนหลวง แสน ท้าว และหมื่น ยศตำแหน่งเจ้าเมืองแสนท้าวในเมืองลองผู้ที่มีสิทธิ์รับรองแต่งตั้งคือ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เดิมเมืองลองมีอิสระมากในการปกครองบ้านเมืองของตน เนื่องจากเจ้านครลำปางจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องการเมืองการปกครองภายในเมืองลอง ดังนั้นจึงมีพันธะต่อกันที่กำหนดว่าให้ส่งส่วยเหล็กทุกๆ ปี ปีละ ๔๐ หาบ ส่วนสีผึ้งและสิ่งของอื่นๆ (ซิ่นตีนจก ผ้าห่มของยาง ฯลฯ)แล้วแต่จะมีน้ำใจจัดหาไปให้ เมื่อมีการเก็บค่าตอไม้เจ้าเมืองลองต้องส่งค่าต่อไม้ต้นละ ๑ แถบ และส่งไพร่พลช่วยรบเมื่อมีศึกสงคราม

ต่อมาเมืองลองมีเหตุวิวาทกับเมืองนครลำปางจนเป็นเหตุกันยืดยาว จนเจ้าเมืองลองจะขอขึ้นกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและส่งเครื่องราชบรรณาการ แต่สุดท้ายเนื่องจากเมืองลองเป็นเมืองเล็ก กรุงเทพฯ ย่อมเห็นเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองนครลำพูนสำคัญกว่า จึงได้ตัดสินให้เมืองลองขึ้นอยู่กับเมืองนครลำปางตามเดิม (เพราะถ้ายกเมืองลองขึ้นกรุงเทพฯ ก็เท่ากับมีเมืองเอกประเทศราชเพิ่มขึ้นอีกเมือง) จนกระทั่งเมื่อเปลี่ยนเจ้านครลำปางองค์ใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครลำปางกับเมืองลองจึงดีดังเดิม และได้แต่งตั้งบุตรชายเจ้าเมืองลองคนก่อนเป็นเจ้าเมืองแทน แต่แล้วจุดสิ้นสุดของระบบเจ้าเมืองของเมืองลองก็มาถึงเมื่อเจ้าเมืองลองคนสุดท้ายถูกฆ่าในปี พ.ศ.๒๔๔๕ บุตรชายคนเดียวของเจ้าเมืองลองก็ยังเป็นสามเณร บ้านเมืองในขณะนั้นก็กำลังวุ่นวายไปทั่วทั้งหัวเมืองเหนือ ข้าราชการไทยก็ถูกฆ่าตายไปจำนวนมาก ประกอบกับส่วนกลางพยายามจะไม่แต่งตั้งเจ้าเมือง เจ้าผู้ครองนครต่างๆ ดังนั้นการสิ้นชีวิตของพระยาคัณฑสีมาโลหกิจจึงเป็นการปิดฉากระบบเจ้าเมืองของเมืองลองตราบชั่วกาลนาน

ภูเดช แสนสา

สถานีรถไฟบ้านปินในอดีต (ที่มา : โกมล พานิชพันธุ์)