จากหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานฉลองวัดศรีบุญเรือง อำเภอเมืองแพร่ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้กล่าวถึงประวัติวัดไว้ตอนหนึ่งว่า ไม่ปรากฏหลังฐานแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้สร้างวัดนี้และสร้างในสมัยใด แต่ประมาณว่า สร้างกันมาหลายร้อยปีแล้ว จาการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ ที่มีอายุยืนยาวและพอชื่อถือได้ว่า ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษที่ล่วงมาแล้ว ผู้บูรณะซ่อมแซมวัดในครั้งกระโน้น คือ “พญาแสนศรีขวา”   ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ และบุตรของท่านชื่อ “พระยาประเสริฐชนะสงครามราชภัคดี” ได้เป็นผู้อุปถัมภ์ บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้สืบเรื่อยมา ต่อมา “แม้เจ้าคำป้อ” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาประเสริฐฯ  ได้สมรสกับ “พระวิชัยราชา” (นามเดิมว่า ขัติ หรือเจ้าหนานขัติ) ผู้เป็นบุตรของเจ้าแสนเสมอใจลูกหลานคนหนึ่งของเจ้าหลวงเทพวงศ์ ลิ้นทอง เจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๑ ถึง ๒๓๗๓ เจ้าหนานขัติเองเป็นต้นตระกูล “แสนสิริพันธ์”

ส่วนน้องชายท่านเจ้าเทพวงศ์เป็นต้นตระกูล “ผาทอง” และ “วงศ์วรรณ” พระวิชัยราชาผู้นี้ได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบในการที่ได้นำคนไทยที่เป็นข้าราชบริพารจากส่วนกลาง ๓ คน ไปหลบซ่อนตัวอยู่บนเพดานคุ้มวิชัยราชาจนรอดพ้นจากการติดตามไล่สังหารของกลุ่มกบฏเงี้ยว ที่เข้าทำการปล้นยึดเมืองแพร่ และสังหารข้าราชการบริพาร และครอบครัวไปกว่า ๓๐ กว่าคน เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๔๕ ซึ้งขณะนั้นเจ้าหนานขัติดำรงตำแหน่งเป็นคลังจังหวัดอยู่  ต่อมาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามผู้ก่อการครั้งนี้จนราบคาบ และต่อมาเมื่อวีรกรรมนี้ทราบไปถึงพระกรรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พระวิชัยราชา” เล่ากันว่า พระองค์ทรงโปรดและไว้วางพระทัยในตัวของพระวิชัยราชาถึงขนาดเลยพักที่คุ้มวิชัยราชาเมื่อครั้งสมเด็จผ่านเมืองแพร่อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีใครสามารถยืนยันได้ และผู้ที่เล่าเรื่องนี้ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า “พ่อเจ้าพระฯ” สร้างคุ้มวิชัยราชานี้เมื่อใด แต่เป็นที่แน่นอนว่าได้สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งเป็นปีที่เจ้าวงศ์  แสนสิริพันธ์ บุตรของท่านเกิด ณ ที่บ้านหลังนี้ ในปีถัดมาท่านจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุให้วัดศรีบุญเรือง  จากประวัติวัดศรีบุญเรืองและการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม  และจากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่แถวคุ้มและบริเวณสีลอ   ตลอดจนไล่เรียงศึกษาอายุของ “พ่อเจ้าพระฯ” และลูกหลานของท่านรวมทั้งคำบอกเล่าของอาจารย์โสภา  วงศ์พุฒ   ที่ได้กล่าวถึงคุณยายที่ได้เสียชีวิตไปกว่า ๒๐ปีมาแล้ว เมื่อตอนอายุเก้าสิบกว่า  เล่าให้ฟังว่าเมื่อเกิดมาและจำความได้ ก็เห็นบ้านหลังนี้อยู่แล้ว กอปรกับบริเวณที่ตั้งคุ้มวิชัยราชาในปัจจุบันเป็นทำเลที่เหมาะเพราะเป็นเนินสูง สันนิษฐานว่า คงเป็นคุ้มของพระยาแสนศรีขวามาก่อนแต่ในอดีต และสืบทอดกันมาจนถึงยุคสมัยของพระวิชัยราชา  และแม่เจ้าคำป้อ  ที่ได้สร้างคุมวิชัยราชา  เรือนไม้สัก ทรงมะนิลา หลังงามนี้มาเป็นที่พักอาศัยแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  จากข้อมูลเหล่านี้คาดว่า บ้านหลังนี้คงสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๔-๒๔๓๘ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า บ้านหลังนี้จะมีอายุเก่าแก่เกินร้อยปีแต่ยังมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทั้งยังได้รับการออกแบบอย่างสวยงามเหมาะเจาะกลมกลืนมีความงามที่ โดเด่น พร้อมทั้งลวดลายฉลุที่สวยงามดูอ่อนช้อย ทั้งที่จั่วบ้าน บังลม ระเบียง  ตลอดจนไม้ช่องลมเหนือบานประตูและหน้าต่างล้วนเป็นศิลปะสวยงามและหายาก  สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่งและถึงแม้ว่าพ่อเจ้าพระฯ จะเป็นคลังจังหวัดที่มีฐานะและได้รับสัมปทานทำป่าไม้ แต่บ้านท่านไม่ได้ใช้ไม้ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของโครงสร้างและน้ำหนักที่รับแต่อย่างไร แม้แต่เสาที่รับน้ำหนักทั้งหมดยังใช้เสาไม้ขนาด ๘นิ้ว x ๘นิ้ว มิได้ใช้เสาใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงค่านิยมและภูมิปัญญาของชาวเมืองแพร่ในยุคสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ในเรื่องการทนุถนอมทรัพยากรธรรมชาติและการรู้ซึ้งถึงความพอดี

บ้านหรือคุ้มของพระวิชัยราชาหลังนี้   นอกจากจะเป็นเรื่อนไม้โบราณที่เป็นสถาปัตยกรรมอันลำค่าแล้ว   ยังมีประวัติที่โลดโผนตื่นเต้นของเจ้าบ้านที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่และประเทศไทยอยู่หลายช่วง  เพราะนอกจากวีรกรรมของพระวิชัยราชา  ที่ยอมเสี่ยงนำคนไทยจากภาคกลางขึ้นซ่อนไว้เพดานบ้านหลังนี้  จนรอดพ้นเงื้อมมือของพวกก่อการไปได้อย่างหวุดหวิด  ตามที่กล่าวขานกันไว้ในประวัติของวัดศรีบุญเรือง  แล้วท่านยังเป็นผู้ที่ยืนขนาบเคียงข้างเจ้าพิริยเทพวงศ์ฯ  เจ้านครเมืองแพร่  เพื่อนำพานออกไปรับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ยกทัพหลวงมาปราบพวกเงี้ยว   และเชื้อเชิญให้เข้าสู่เมืองแพร่  วีรกรรมของพ่อเจ้าพระฯ  ได้ทำให้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด  หวาดระแวงจากส่วนกลางที่มีต่อเมืองแพร่  จนสถานการณ์ดีขึ้น  จากการศึกษาเพิ่มเติมจึงทราบว่า  พ่อเจ้าพระ   และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมิใช่คนอื่นไกล  เพราะก่อนหน้านี้  ทั้งคู่ได้รวมกันทำศึกปราบฮ่ออยู่ที่หลวงพระบาง  เป็นเวลานาน   ซึ่งในศึกนี้พ่อเจ้าพระ  ได้เป็นแม่ทัพคุมรี้พลจากเมืองแพร่ไปสมทบกับทัพหลวงที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก และจากในประวัติวัดศรีบุญเรืองเช่นกัน ที่ได้กล่าวถึงพ่อเจ้าพระฯและแม่เจ้าคำป้อว่า ทั้งสองท่านนี้นอกจากจะเป็นผู้มีประวัติอันดีเด่น กอปรด้วยความซื่อสัตว์สุจริตต่อแผ่นดิน มีจิตใจที่มันคงในการกุศลและมีวิริยะศรัทธาแรงกล้า  ที่จะเสริมสร้างความเจริญให้แก่พระบวรพุทธศาสนาได้พยายามทุ่มเทสติปัญญา ความสารถ และกำลังทุนทรัพย์ด้วยความเมตตาจิต เข้ามาช่วยเหลือบำเพ็ญกรณียกิจให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะกุศลทุกวิถีทาง พ่อหลง   มหาอุต  ซึ่งปัจจุบันมีอายุ ๙๒ เล่าว่า ท่านได้รัการ บวชเป็นสามเณรที่คุ้มวิชัยราชา ทุกปี พ่อจ้าพระฯ จะบวชเณรให้กับเด็กเมืองแพร่จำนวนมาก เล่ากันว่า ในขณะที่ พ่อเจ้าพระฯ ได้ป่วยหนักจนไม่สามารถลุกเดินได้นั้น ท่านยังมีความกังวลต่อการก่อสร้างวัตถุของวัดที่ยังไม่แล้วเสร็จในขณะนั้น ได้สั่งให้คนรับใช้หามท่านทั้งเก้าอี้นอนเพื่อไปดูการก่อสร้างที่วัด พร้อมทั้งเร่งรัดให้ช่างดำเนินการก่อสร้างวิหารให้เสร็จภายในเร็ววัน และหลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ ท่านถึงได้อสัญกรรมประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕ ต่อมาในยุคสมัยของบุตรท่านเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ซึ่งเป็นศิษย์เอกของภราดา ฟ. ฮีแลร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วท่านได้เข้าทำงานบริษัท อิสเอเชียติก เมื่อได้ศึกษาวิธีการทำงานการบริหารงานจนช่ำชอง จึงลาออกมาประกอบอาชีพค้าไม้สัก จนร่ำรวยมหาศาล ท่านเป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดแพร่ เมื่อปี 2475 มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับบุคคลสำคัญในยุคนั้นเช่น ดร.  ปรีดี พนมยงค์ พระยาพหลพยุหเสนา หลวงศรีประกาศ นายทองอินทร์  ภูมิพัฒน์ และได้สร้างเกียรติประวัติเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย  จังหวัดแพร่ เพื่อกู้ชาติระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้บ้านหลังนี้เป็นศูนย์กลางประสานไปยังหนองม่วงไข่ เวียงต้าและอำเภอต่างๆ ของจังหวัด  จากหน้า 142 ของหนังสือตลบรอบ 100 ปี ชาติกาลรัฐบุรุษอาวุโส  กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ นายปรีดี  มีความประสงค์จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย  ในเรื่องนี้ในเบื้องแรกนายปรีดีได้ขอให้เจ้าวงศ์  แสนศิริพันธุ์  ผู้แทนราษฎร์จังหวัดแพร่  จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ออกไปเมืองจีน ” ซึ่งแสดงให้เห็นวถึงความไว้วางใจและสัมพันธ์อันแนบแน่นของบุคคลทั้งสอง  ได้เป็นอย่างดี  อย่างไรก็ตาม  เพราะบทบาทและวีรกรรมของขบวนการกู้ชาติเสรีไทยนี่เอง  ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นฝ่ายแพ้สงคราม  สามารถรักษาเกียรติภูมิศักดิ์ศรี และอธิปไตยของชาติไว้ได้อย่างหวุดหวิด
ก่อนหน้าสงครามโลกนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีการคลังได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและเกียรติภูมิของชาติไทยให้โลกรู้จัก เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (THE WHITE ELEPHANT KING) เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ใช้ผู้แสดงร่วมพันคน ใช้ช้างกว่า ๑๕๐ เชือกเป็นภาพยนตร์เสียในฟิล์มพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของประเทศไทยฉากสำคัญที่สุดเป็นฉากยุทธหัตถีถ่ายทำที่ป่าแดงหลังพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เจ้าวงค์เองนอกจากจัดหาช้างทั้งหมดให้กองถ่ายหยิบยืมโดยไม่คิดมูลค่าแล้วท่านยังร่วมแสดงเป็นพระเจ้าจักรา ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายพร้อมกันทั่วโลก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๒

เจ้าวงศ์มิได้แตกต่างจากบิดาของท่านในเรื่องการศาสนา ท่านได้บริจาครถยนต์ให้วัดพระบาทมิ่งเมือง บริจาคไม้สัก เงินทอง สร้างวัด โรงเรียน ศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร อยู่อย่างสม่ำเสมอ ท่านเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงสนับสนุนลูกหลานให้เรียนชั้นสูงสุดถึงมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนวนศาสตร์ (โรงเรียนป่าไม้) เป็นจำนวนมากแต่ต่อมาเจ้าวงค์และครอบครัวต้องประสบชะตากรรม สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งคุ้มวิชัยราชาเพราะถูกรัฐยึด เนื่องจากมาตรการชำระภาษีจากการศึกษาวิเคราะห์หาสาเหตุที่เจ้าวงค์ต้องมีอันเป็นไปนี้ เป็นไปได้ว่า คงเป็นเพราะความสัมพันธ์แนบแน่นกับท่านปรีดี พนมยงค์ จึงทำให้ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับแกนทำขบวนการเสรีไทยคนอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับหัวหน้าที่ผิดเพี้นยไปคือไม่ได้โดนฆ่าแบบนายเลียง ไชยกาล นายเตียง ศิริขันต์ หรือนายทองอินทร์ ภูมิภัฒน์ ฯลฯ ชีวิตในช่วงที่เหลือของท่านค่อนข้างอับเฉา จนมีบางคนกล่าวว่า ถ้าโดนฆ่าตายแบบคนอื่นจะดีกว่า เพราะไม่ต้องทุกข์ทรมาน เรื่องราวของเจ้าวงค์ แสนศิริพันธุ์ เป็นตำนานและเป็นสัจธรรมที่น่าศึกษายิ่ง เจ้าวงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๑ และถึงแก่กรรมเมื่อ ๖ พฤศจิการยน พ.ศ. ๒๕๑๓ เจ้าสุนทร แสนศิริพันธุ์ บุตรของท่าน วิศวะกรจากมหาลัยชิคาโก้ ได้รวบรวมช้างจำนวนหนึ่งข้ามไปทำป่าที่ประเทศลาว และได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น จนลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้กลับเมืองไทย ท่านเป็นผู้จัดการโรงงานกระดาษบางประอิน ก่อนเสียชีวิตไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๗

หลังจากครอบครัวศิริพันธุ์ย้ายออกไป คุ้มวิชัยราชาได้ถูกทอดทิ้งโดยปราศจากการดูแลเอาใจใส่มาร่วม ๔๐ ปี มีบางครั้งที่ผู้เป็นเจ้าของรายใหม่ได้ทำการปรับปรุงทาสีตกแต่งเพื่อจะย้ายเข้ามาอยู่ แต่ก็มีอันเป็นไป และจากคำล่ำลือต่างๆนานาคุ้มเจ้าหลวงนี้ได้ติดประกาศขายเรื่อยมา และมีผู้พยายามเข้ามาซื้อแต่ต้องมีอันเป็นไปและขัดข้องทุกราย จนทำให้บ้านหลังนี้ถูกทอดทิ้งเป็นบ้านร้างเรื่อยมา กระทั่งกลางเดือนเมษา พ.ศ. ๒๕๓๕ วีระ สตาร์ ได้บังเอิญหลงทางผ่านไปพบบ้านหลังนี้เข้าเกิดความประทับใจทั้งสงสาร และเสียดายที่ได้เห็นบ้านหลังนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมสุดขีด บ้านเอียงทรุดไปด้านหนึ่งเพราะการตัดตง ตัดคานออกเพื่อย้ายบันไดเพื่อย้ายบันไดเข้ามาอยู่ด้านใน โดยไม่ได้ศึกษาโครงสร้างของบ้านในยุคหลังตัวบ้านและรอบบริเวณมีวัชพืชปกคลุมหนาแน่นเชื่อกันว่าเป็นแหล่งชุมนุมของหอยทาก และงูชนิดต่างที่ใหญ่ที่สุดกลางเมืองแพร่ผู้คนในเมืองนี้โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก พากันหลีกหนีไม่กล้าผ่านบ้านนี้แม้จะเป็นตอนกลางวันก็ตาม และขนานนามว่าบ้านผีสิงต่อมาได้ตัดสินใจซื้อบ้านและที่ดินทั้งพันกว่าตารางวานี้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ และเริ่มเคลียร์พื้นที่และเริ่มทำงานปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างของบ้านโบราณให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อรองรับบูรณะขั้นต่อไปอย่างไรก็ตามงานก่อสร้างต่างๆได้เริ่มกันอย่างจริงจังในปีต่อมาเมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงินจุดประสงค์ของผู้ซื้อที่ดินรายนี้แตกต่างจากผู้จะซื้อรายอื่นๆที่ผ่านมาในอดีตเพราะมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์เรือนโบราณที่มีอายุกว่าร้อยปีนี้ไว้เป็นหัวใจของโครงการ เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของแผ่นดินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะตัวเรือนหรือคุ้มวิชัยราเองที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างเรือนไม้และแบบมนิลา และเรือนขนมปังขิงร่วมกับสถาปัตยกรรมล้านนาเรือนแบบนี้เป็นที่นิยมกันในหมู่เจ้าฟ้าขุนนางและคหบดี มาตั่งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ และสิ้นสุดเอาปลายรัชกาลที่ ๖ จะเห็นได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยเป็นยุคล่าเมืองขึ้นแช่งกันหาอาณานิคมของชาติตะวันตกบางคนจึงเรียกบ้านแบบนี้ว่า โคโรเนี่ยลหรือบ้านสมัยอาณานิคมเพราฝรั่งนำมาเผยแพร่และสร้างขึ้นในภูมิภาคนี้อย่างแพร่หลาย ประเทศไทยเองช่วงนั้นต้องทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดเป็นไท ได้มีการผลักดันให้เหล่าขุนนางและผู้อันจะกินทั้งหลายได้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ทันสมัยทัดเทียมอารยะประเทศรวมทั้งพยายามจัดรูปแบบการปกครองให้ทันสมัยรัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อแสดงให้ฝรั่งนักล่าเมืองขึ้นเห็นว่าเรามีความเจริญเป็นศิวิไลไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนด้วยพัฒนาที่ต้องเข้ามายึดครองและจัดระเบียบกันใหม่ซึ่งเป็นเล่ห์เหลี่ยมที่ฝรั่งนักล่าอาณานิคมมักใช้เป็นข้ออ้างในการเขมือบดินแดนในยุคนั้น

ผู้ดำเนินการโครงการนี้ตระหนักและซาบซึ้งถึงความสัมพันธ์ของคุ้มวิชัยราชามาแต่ต้นว่า เป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ของสมัยรัชกาลที่ ๕ ในช่วงที่สยามประเทศกำลังวิกฤตถึงขีดสุดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่และลำปางเป็นส่วนหนึ่งของแผนยึดดินแดนของฝรั่งเศส ที่จ้องผนวกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงและภาคเหนือแต่แผนการนี้ต้องล้มเหลวเพราะเริ่มเร็วก่อนกำหนดและไม่สามารถตียึดเมืองลำปางได้คุ้มวิชัยราชาได้ชื่อว่าบ้านปราบเงี้ยวเป็นหลักฐานสำคัญและเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ภาครัฐเอกชนและคนไทยทุกคนควรตระหนักและหวงแหนเป็นอย่างยิ่งแต่อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการและผู้ประกอบมีปัญหาได้มีการพยายามลักดันให้มีการขายทอดตลาดมรดกประวัติศาสตร์ชิ้นนี้หลายครั้งทั้งที่ผู้ประกอบการได้ร้องขอไปยังนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแต่ไร้ผลถึงแม้ว่าต่อมากรมศิลปกรจะมีบันทึกถึงหระทรวงการคลังว่าคุ้มวิชัยราชาเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญโดยอายุโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างและโดยหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์ทางศิลปทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแต่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนสถานภาพของคุ้มวิชัยราชายังเป็น NPA อยู่

กาลเวลาทำให้เกียรติภูมิและความสำคัญของวิชัยราชาต้องมีอันเป็นไปและอาจสิ้นสลายผุพังไปตามกาลเวลา หากวีระ สตาร์ ไม่ผ่านมาพบบ้านหลังนี้โดยบังเอิญเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕ แต่วันนี้เพราะความไร้เดียงสาของผู้บริหารของสถาบันการเงินและสังคมรวมทั้งรัฐบาลที่ปราศจากจิตสำนึกและเล็งเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงทำให้โครงการวิชัยราชาเป็นหนี้เน่า ไปในที่สุด รวมทั้งผู้ประกอบการเองที่ได้เผ้าเสียสละฟูมฟักประคับประคองมรดกประวัติศาสตร์มาร่วม ๑๒ ปี โดยเดิมพันของเครดิตส่วนตัวและทรัพย์สินเงินทองที่สร้างสมมาตลอดชีวิตกำลังตกอยู่ในสภาพร่อนแร่โดยที่โครงการ SME ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ยังไม่ไปถึงไหนรวมทั้งความหวังที่จะอนุรักษ์คุ้มวิชัยราชาเป็นมรดกประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งรวบรวมวีรกรรมในอดีต เป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเจริญรุ่งเรืองของสยามประเทศในอดีตในรูปแบบของพิพิธพันธ์ท้องถิ่นเพื่อเน้นปลูกฝังให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อปลูกจิตสำนึกของความเป็นชาติเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติอันมีผลต่อความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของชาติไทยเราเชื่อว่า ถ้าชนในชาติโดยเฉพาะเยาวชนได้รับการปลูกฝังให้มีจิตสำนึกของความรักชาติภาคภูมิใจในความเป็นชาติในวิญญาณและสายเลือดจนมีจุดยืนที่มั่นคงแล้ว ยากที่เขาเหล่านั้นจะถูกชักจูงไปในทางลบดั่งที่เห็นและเป็นอยู่

ผู้ประกอบการณ์โครงการนี้ได้เคยเสียสละเพื่อชาติมาแล้วจนได้รับบาดเจ็บสาหัสในตำแหน่งผู้นำโจมตีทางอากาศ วิชัยราชาเป็นอีกโครงการทีวีระ สตาร์ ยอมเจ็บอีกครั้ง เพื่อยึดถือและเดินตามรอยพระยุคลบาทของในหลวงและเดิมตามกระแสพระราชดำรัสของพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การรักษามรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมีความสำคัญเหนือเงินตราเงินถ้าไม่มีหาได้แต่มรดกเหล่านี้ถ้าสูญไปแล้วหาทดแทนไม่ได้

ด้วยความปรารถนาดีจาก  วีระ สตาร์

ภาพชุดที่ ๒ จากคุณวีระ สตาร์ แห่งคุ้มวิชัยราชา เพื่อให้ทุกท่านได้ศึกษา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 28 •มกราคม• 2012 เวลา 09:49 น.• )