เมืองสอง เป็นชื่อเรียกกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นผู้สร้าง ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชัดเจน แต่จากพงศาวดารโยนก กล่าวถึง เมืองสองว่า จุลศักราช ๙๑๔ ปีชวด จัตวาศก เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เจ้าฟ้าเมืองนายกับเจ้าฟ้าเชียงทอง สองพี่น้อง ได้ยกรี้พลมาตีเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านนาไทย ได้เมืองเชียงราย เชียงแสน  เมืองลอ   พะเยา   ลุถึงเดือน  ๑๑  ขึ้น ๒ ค่ำ  ปีเดียวกัน  ยกทัพจากเมืองพะเยา ระยะทางแปดพันวาไปแรมยางดุมสะเอียบ จากยางดุมสะเอียบ ไปแรมป่าเลาระยะทางสองพันวายกจากป่าเลาไปแรมเมืองสองระยะทางหมื่นวายกจากเมืองสองไปแรมป่าเสี้ยว ยกจากป่าเสี้ยวไปแรมเมืองแพร่ ฯลฯ จากข้อความดังกล่าว จะเห็นว่าเมืองสองเป็นเมืองที่สร้างมานานแล้ว และคาดว่าคงสร้างในสมัยเดียวกันกับเมืองพะเยา เมืองแพร่ เชียงแสน หากจะเปรียบเทียบกับเมืองแพร่ในสมัยนั้นก็เป็นสมัยที่พระยาสามล้านปกครองเมืองแพร่  คือ ระหว่าง   พ.ศ.๒๐๙๓  –  ๒๐๙๕

พงศาวดารเมืองน่าน  กล่าวถึงเมืองสองว่า จุลศักราช ๘๘๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๗๐  พญาน่านตนชื่น อุ่นเฮือน ได้ยกไพร่พลทหารลงมาตีเมืองเทิง เมืองสอง ได้ชัยชนะจึงกวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก จุลศักราช ๘๙๓ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๗๔ พญาแพร่ได้รวบรวมไพร่พลยกขึ้นไปตีเมืองคืนจากพญาน่าน แต่ไม่สามารถตีหักเอาเมืองน่านได้จึงยกทัพกลับแต่เจ้าเมืองแพร่ได้แต่งตั้งตัวแทนให้ไปปกครองเมืองสองสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  กล่าวกันว่าเดิมบ้านเจ้าเมืองสองตั้งที่บ้านหนุน  ต่อมาภายหลังได้ย้ายไปตั้งที่บ้านกลาง

ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสองจึงถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอยมเหนือ

ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอยมเหนือ เป็นอำเภอสอง ตามความนิยมของชาวบ้านใกล้ไกล

ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอสอง เป็นอำเภอบ้านกลาง แต่ไม่มีใครเรียกและไม่เป็นที่รู้จัก ในที่สุด ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนชื่อกลับไปใช้ชื่อตามเมืองโบราณคือ เมืองสอง ดังนั้นจึงเปลี่ยนจากอำเภอบ้านกลางเป็นอำเภอสอง มาจนถึงปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์อำเภอ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสุขภาพเพื่อให้เกิดรายได้ในจังหวัด ส่งเสริมอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและขยายผลโครงการตามพระราชดำริ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย

ที่ตั้ง อำเภอสองตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดแพร่  ห่างจากจังหวัดแพร่ ๔๙ กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๖๐๓ กิโลเมตร อยู่สูงกว่าระดับทะเลประมาณ ๑๘๓ เมตร

อาณาเขตติดต่อกับอำเภออื่น ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอดอกคำใต้   อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา   และอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหนองม่วงไข่ และอำเภอลอง จังหวัดแพร่

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภองาว อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

สภาพพื้นที่ / เนื้อที่ พื้นที่ : สามารถจำแนกออกได้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ดังนี้

พื้นที่การเกษตร จำนวน ๑๒๒,๙๖๘ ไร่ หรือ ร้อยละ ๑๒.๓๗

พื้นที่ป่าไม้ จำนวน ๗๖๐,๕๐๐ ไร่ หรือ ร้อยละ ๗๖.๕๒

พื้นที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ จำนวน ๑๑๐,๒๘๒  ไร่ หรือ ร้อยละ ๑๑.๑๑

เนื้อที่ : ประมาณ ๑,๕๙๔ ตร.กม. หรือประมาณ ๙๙๖,๒๕๐ ไร่ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดแพร่

ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประมาณร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ทั้งหมด มีพื้นที่ราบสำหรับการเกษตรและที่อยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ ๒๐ มีแม่น้ำสายสำคัญ  ๒  สาย ไหลผ่าน คือแม่น้ำยม และแม่น้ำสอง

ลักษณะภูมิอากาศ เป็นแบบร้อนชื้น (Tropic)  มี  ๓ ฤดู ได้แก่

๑) ฤดูร้อน อยู่ในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ ๔๑ องศาเซลเซียส

๒) ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือน พฤษภาคม  – ตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกมากในเดือนกันยายน

๓) ฤดูหนาว อยู่ในช่วงเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ ๗ องศาเซลเซียส

การปกครอง เขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ แบ่งเป็น ๘ ตำบล ๘๕ หมู่บ้าน ดังนี้

ตำบลบ้านกลาง ๑๒ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๑๐๙ ตารางกิโลเมตร

ตำบลบ้านหนุน ๑๑ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๑๐๖ ตารางกิโลเมตร

ตำบลเตาปูน ๑๒ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๓๓๙ ตารางกิโลเมตร

ตำบลแดนชุมพล ๔ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๙ ตารางกิโลเมตร

ตำบลห้วยหม้าย ๑๗ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๑๗๕ ตารางกิโลเมตร

ตำบลหัวเมือง ๑๓ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๔๐ ตารางกิโลเมตร

ตำบลสะเอียบ ๑๐ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๗๙๐ ตารางกิโลเมตร

ตำบลทุ่งน้าว ๖ หมู่บ้าน มีพื้นที่ ๒๖ ตารางกิโลเมตร

มีเทศบาล ๒ แห่ง คือ เทศบาลตำบลสอง  และเทศบาลตำบลห้วยหม้าย

มีองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ จำนวน ๗ แห่ง คือ

๑. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง

๒. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน

๓. องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน

๔. องค์การบริหารส่วนตำบลแดนชุมพล

๕. องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง

๖. องค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ

๗. องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งน้าว

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 25 •พฤษภาคม• 2012 เวลา 16:40 น.• )