ข่าวเงี้ยวปล้นเมืองแพร่รู้ถึงกรุงเทพ ฯ ทางโทรเลขเมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๑๒๑ หลังเกิดเหตุ ๑ วัน จากมณฑลพายัพโดยการรายงานทางโทรศัพท์ของนายเฟื่องผู้พิพากษาเมืองแพร่ที่หนีไปเมืองต้า และจากมณฑลพิษณุโลกโดยนายสีดา นายพุ่ม บุรุษเดินเมล์สายแพร่ – อุตรดิตถ์หนีกลับมารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับพักผ่อนพระอิริยาบถทรงสบายอยู่ ๒ วัน ณ พระราชวังบางประอินพร้อมเสนาบดีต่างประเทศและมหาดไทย ทรงตระหนักดีถึงความยุ่งยากในการที่มีคนในบังคับอังกฤษมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้ จึงทรงให้เสนาบดีต่างประเทศเจรจากับอุปทูตอังกฤษ มิสเตอร์ ว. อาเชอร์ เป็นประการแรกทันที ตามข้อความทรงแนะนำดังนี้ “ในเรื่องผู้ร้ายเงี้ยวรายนี้ บัดนี้ได้ความปรากฏชัดว่า หัวหน้าเป็นคนอยู่ในบังคับอังกฤษซึ่งกงสุลเองก็รู้จัก เป็นการสมควรที่เราจะขอให้เขาประกาศห้ามบรรดาคนในบังคับอังกฤษอย่าให้เข้าเป็นพรรคพวกผู้ร้ายได้ถนัด ขอให้เธอคิดอ่านเจรจามับมิสเตอร์อาเชอร์ให้ได้ออกประกาศดังเช่นที่ว่านี้แล้ว การปราบปรามข้างฝ่ายเราจะเป็นการง่ายสะดวกขึ้นได้มาก เราจะต้องถือว่าไม่มีคนในบังคับอังกฤษอยู่ในพวกผู้ร้ายเหล่านี้ โดยว่าจะไปถูกคนในบังคับอังกฤษเข้าบ้าง ผู้นั้นคงเป็นคนขัดขืนประกาศของกงสุลอังกฤษ การเรื่องนี้เป็นข้อสำคัญมาก เธอต้องพยายามทำให้สำเร็จ”

การเจรจาประสพผลสำเร็จ อุปทูตอังกฤษให้ความร่วมมืออย่างดีโดยเร็วพลันด้วย กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ออกประกาศลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๑๒๑ มีข้อความดังนี้ “มิสเตอร์ ว.ร.ด. เบคเกต กงสุลอังกฤษนครเชียงใหม่ ออกหมายประกาศฉบับนี้ ให้คนในบังคับอังกฤษทั้งหลายทราบทั่วกัน ด้วยบัดนี้มีความลือกันว่า คนพาลใจร้ายกำลังรวบรวมกันอยู่ในเขตแขวงเมืองแพร่ เมืองลอง เพื่อประโยชน์อย่างใด ๆ ยังไม่แจ้ง ทำให้บ้านเมืองวุ่ยวายยุ่งอยู่ แล้วพฤติการณ์ฉะนี้กับการอื่น ๆ ต่างๆ ซึ่งอาจยุยงคนปกติทั้งหลาย คนในบังคับอังกฤษ ทั้งคนอื่นปราศจากความเรียบร้อยเป็นอย่างยิ่ง กงสุลอังกฤษจึงอออกหมายประกาศฉบับนี้ แลขอสั่งบรรดาคนในบังคับอังกฤษผู้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เมืองแพร่กับที่ตำบลอื่น ๆ ในบริเวณเขตแขวงกงสุลอังกฤษเมืองนครเชียงใหม่ ว่าอย่าให้รวบรวมเข้าหรือมีใจช่วยสมรู้กับคนพาลใจร้าย ซึ่งกล่าวมาข้างบนนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด อีกประการหนึ่งกงสุลอังกฤษขอตักเตือนคนในบังคับอังกฤษโดยแข็งแรงว่า คนในบังคับอังกฤษผู้ใดผู้หนึ่งผู้ใดขืนประพฤติไม่ฟังตามคำสั่งนี้ ถ้าไต่สวนได้ความจริง ต้องมีโทษต่างๆ ตามพระราชกำหนด

นอกจากนี้ยังได้รับการยืนยันเป็นหนังสือจากอุปทูตอังกฤษว่า  “รัฐบาลอังกฤษจะไม่ขัดขวางต่อการปราบปรามจลาจลในมลฑลพายัพ แลคิดยึดเอารัฐบาลสยามรับผิดชอบในอันตรายที่จะมีแก่กงสุลคนในบังคับการจลาจรนี้” อุปทูตอังกฤษแจ้งไปยังรัฐบาลพม่า สกัดจับผู้ร้ายเงี้ยวที่แตกหลบหนีเข้าไปในแดนพม่าก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากพม่า โดยตั่งด่านสกัดจับที่ห้องลึกแขวงเมืองเชียงตุงตามคำร้องขอฝ่ายไทยอีกด้วย แต่เมื่อเปลี่ยนตัวอุปทูตอังกฤษจากมิสเตอร์อาเชอร์เป็นมิสเตอร์แปชยิด การร่วมมือด้วยดีก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างตรงข้าม

สำหรับการปราบปราม ทรงเห็นว่าเงี้ยวพวกนี้เป็นกองโจรกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เพียงแต่มีกำลังอาวุธดีกว่าทั้งไม่บ้าเหมือนกบฏผีบุญท้าวธรรมิการาชที่อิสานเมื่อปีที่แล้ว ไม่ใช่การศึกที่ต้องการกำลังสู้รบใหญ่โต เพียงแต่ต้องการผู้ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีเป็นที่ครั่นคร้ามยำเกรงข่มขวัญแก่หมูชนในแถบเมืองแพร่เมืองน่านขึ้นไป ท่านผู้นั้นก็คือพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งลาออกจากราชการไปแล้วประกอบอาชีพส่วนตัวทำป่าไม้ เพราะเคยเดินทางขึ้นไปปราบฮ่อผ่านแถบนี้ประสพชัยชนะมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปตามพระราชดำริทุกประการ เงี้ยวเกรงบุญบารมีของพระยาสุรศักดิ์ฯ ก็แตกพ่ายหลบหนีออกจากเมืองไปก่อนที่กองทัพของท่านจะขึ้นมาถึงเมืองแพร่ด้วยซ้ำ และการที่ต้องส่งกองกำลังทัพขึ้นไปจากหลายหน่วยกอง ก็เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพของฝ่ายกรุงเทพฯเป็นการตัดไม่ข่มนามผู้ที่จะคิดก่อการร้ายขึ้นอีก ว่าสามารถส่งกำลังจำนวนมากขึ้นไปปราบได้ทันท่วงที แม้ไม่มีกำลังประจำอยู่ที่ภาคพายัพเลยก็ตาม อีกประการหนึ่งทรงกล่าวว่า “การที่ส่งกำลังไปมากเพราะข้าหลวงคนไทยทั้งผู้ชายผู้หญิงผู้ใหญ่และเด็ก ต้องถูกพวกผู้ร้ายเหล่านี้ฆ่าโดยความดุร้ายแลโดยลอบทำเมื่อไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการชั่วช้าสาหัสเป็นที่เจ็บแค้นแก่เรา เราต้องถือว่าพวกนี้เป็นโจรผู้ร้ายอย่างหยาบช้า ซึ่งเราจะต้องปราบปรามโดยแรงเพื่อรักษาเกียรติยศอำนาจและรักษาชีวิตและทรัพย์สมบัติราษฎรของเรา ความตื่นตกใจที่เหตุเกิดขึ้นรุนแรงก็ย่อมจะเป็นที่หวาดหวั่นในหัวเมืองอื่นๆ เพราะเหตุว่าเงี้ยวมีอยู่ทั่วไปทุกหัวเมือง พวกใดจะเป็นผู้ร้ายนี้บ้างก็ไม่ทราบชัด” จึงได้ทรงแต่งตั้งพระยาสุรศักดิ์มนตรีขณะนั้นอายุ ๕๑ ปี เป็นแม่ทัพไปปราบผู้ร้ายเงี้ยวเมืองแพร่ มีอำนาจเด็ดขาดทั้งทางทหารพลเรือนและการศาล มีหลวงปฏิเวทย์สารวิทย์เป็นผู้พิพากษาประจำกองทัพไปด้วย เพื่อจะได้รับการพิพากษาคดีที่เกิดขึ้น ณ ท้องที่ให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วพลันด้วยการศาลทหาร แต่เหตุการณ์มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์เดิม  ด้วยเหตุขัดข้องหลายประการ จำต้องตั้งศาลต่างประเทศพิจารณาคดีถึง ๒ ศาลต่อมา ให้ขึ้นไปทางเมืองพิชัย สมัยนั้นเป็นศูนย์การค้าเจริญที่สุดในมณฑลพิษณุโลกต่อเขตมณฑลพายัพ จะขึ้นเหนือหรือล่องใต้เป็นต้นทางจัดหาพาหนะเดินบกหรือเรือที่นี่ แล้วเดินทางต่อไปท่าอิฐ อุตรดิถ์ข้ามเขาพลึงไปเมืองแพร่


เมื่อครั้งปราบฮ่อเกือบ ๒ ทศวรรษก่อนหน้านี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ก็มาขึ้นบกที่เมืองพิชัยเดินบกต่อไปเมืองน่านตามลำน้ำน่าน ข้ามสันปันน้ำสู่แม่น้ำโขง ข้ามไปหลวงพระบางสู่ทุ่งเชียงคำ ขากลับก็มาตามเส้นทางเดิมลงเรือที่เมืองพิชัยกลับกรุงเทพฯ พร้อมด้วยชัยชนะ ขณะเดียวกันทรงแต่งตั้งพระยาอนุชิตชาญไชย เป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบผู้ร้ายเงี้ยวเมืองลำปางไปขึ้นบกที่เมืองตาก เดินบกต่อไปเมืองเถินสู่ลำปาง ชั้นแรกจะทรงให้กองกำลังเชียงใหม่ยกลงมาปราบผู้ร้ายเงี้ยวเมืองแพร่ แต่เมื่อได้ทรงคำนึงว่าต้องใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่า ๘ วันจะถึงแพร่ ไม่ทันเหตุการณ์ ทรงเห็นว่ากำลังทางมณฑลพิษณุโลก ซึ่งอยู่ใกล้กว่าใช้เวลาเพียง ๒ วัน ขึ้นจากอุตรดิตถ์ก็ถึงแพร่แล้ว จึงได้ทรงแต่งตั้งและพระราชทานอำนาจให้ข้าราชการมณฑลพิษณุโลก คือ

๑. พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย คุมไพร่พลขึ้นไปทางอุตรดิตถ์สู่เมืองแพร่

๒. พระยาเสนาราช ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย คุมไพร่พลขึ้นไปทางเมืองด้ง(หาดเสี้ยว)ไปบ่อแก้วเมืองลอง สู่เมืองแพร่

๓. พระยาสุริตรักษา ผู้ราชการเมืองตาก คุมไพร่พลขึ้นทางเมืองเถินไปนครลำปาง

ทั้ง ๓ คนนี้ให้มีอำนาจเป็นแม่ทัพ มีอำนาจบังคับบัญชาราชการทัพได้ตามพระอัยการศึกและมีอำนาจไปจนกว่าเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ และพระยาอนุชิตชาญไชยขึ้นไปถึง นอกจากนี้ยังทรงให้ข้าราชการมณฑลพิษณุโลก คือ

๑. พระเสนามาตย์ มหาดไทย คุมกองหนุน ๓๐๐ คนขึ้นไปอีก

๒. พระยาบริรักษ์โยธี ผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก คุมอีกกองหนึ่ง ๓๐๐ คนหนุนขึ้นไปทางไห้หาเหนือเขาพลึงสู่สูงเม่น เมืองแพร่

กองทหารจากกรุงเทพ ฯ จัดส่งขึ้นไป ๕ กองพัน ไปลำปางและแพร่ ดังนี้

กองพันโทที่ ๑ พันโท พระสุรฤทธิ์พฤฒิไกร เป็นผู้บังคับการ มีกองพันที่ ๑ กองพันที่ ๒ กองปืนใหญ่ ๒ กระบอก ขึ้นบกที่พิชัย ไปเมืองเถินสู่ลำปาง ออกจากกรุงเทพ ฯ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๑๒๑ นายพันตรี หลวงประจันสิทธิการ เป็นผู้บังคับการกองพันที่ ๓ ขึ้นไปอุตรดิตถ์ ไปช่วยพระยาสุริยราช ฯ ที่ปางอ้อ (เขาพลึง) ออกจากกรุงเทพ ฯ วันที่ ๓ สิงหาคม ๑๒๑

กองพันโทที ๒ พันโท นายพันตรี หลวงชาญสรกล เป็นผู้บังคับการ มีกองพันที่ ๔ กองพันที่ ๕ กองปืนใหญ่ ๒ กระบอก ไปขึ้นอุตรดิตถ์สู่เมืองแพร่ ออกจากกรุงเทพ ฯ วันที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๐ สิงหาคม ๑๒๑ นายพันโท พระวาสุเทพ (G. Schau) ชาวเดนมาร์ค เจ้ากรมตำรวจตำรวจภูธร คุมพลตำรวจภูธรไปสบทบกับตำรวจภูธรไปสมทบกับตำรวจภูธรหัวเมืองฝ่ายเหนืออีกกองหนึ่ง ขึ้นไปอุตรดิตถ์ผ่านเมืองด้ง สู่เมืองแพร่ไปช่วยกองเสนาราช ออกจากกรุงเทพ ฯ วันที่ ๔ สิงหาคม ๑๒๑ ไปถึงสมรภูมิก่อนกองอื่นจากกรุงเทพ ฯ

กรมยุทธนาธิการ จัดทหารเพิ่มเติมอีก ๒ กองพันรีบเดินทางขึ้นไปด้วยเรือไฟลากจูง ส่วนกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีกำลังพล ๑ กองพัน ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ วันที่ ๖ สิงหาคม ๑๒๑ ทหาร ทหารที่ส่งไปนี้รับเงินเดือนเดือนละ ๘ บาท เบี้ยเลี้ยง ๗ บาท ๒ สลึง รวม ๑๕ บาท ๒ สลึง, คนเกณฑ์จ้างหาบสิ่งของสัมภาระ ได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ ๑๒ อัฐ, ค่าจ้างช้างวันละ ๖ บาท, ค่าจ้างม้าวันละ ๖ สลึง ปรากฏว่าไม่ทันกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ยกขึ้นไปถึง กองกำลังหัวเมืองของพระยาศรีสุริยราช ฯ ขึ้นไปทางอุตรดิตถ์ก็ยกกองขึ้นมาถึงก่อน ได้ประลองกำลังกับเงี้ยวที่ใกล้เขาพลึงแดนอุตรดิตถ์ต่อเมืองแพร่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑กรกฎาคม ๑๒๑ เงี้ยวที่ปางค่าทางขึ้นเขาพลึงได้ยิงกับกลองสอดแนมพระยาสุริยราช ฯ ครึ่งชั่วโมง ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย เงี้ยวถอยไปทางเขาพลึง ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๑๒๑ เวลาโมงเช้าตามรายงานของพระยาสุริยราช ฯ ดังนี้ “ขณะกำลังไพร่พลผลัดเปลี่ยนกันมารับประทาน พวกกองโจรลอบเข้าหน้าค่ายเหนือระดมยิงกองกำนันสุดซึ่งเป็นกองซุ่มอยู่ค่ายหน้า กองกำนันสุดไม่รู้ตัว ครั้นจะต่อสู้ในที่แห่งนั้นก็จะเป็นการเสียที เพราะไม่มีที่กำบังพอ ได้พากันกลับเข้าสมทบอยู่ในค่ายพร้อมด้วยขุนรักษ์อาณาเขตนายม็อกกำนันประจำรักษาค่าย ได้ต่อสู้ยิงกันเป็นสามารถแลได้ขับไพร่พลกองกลางออกระดมยิงแล้วได้แบ่งคนกองหลวงศรีเทพบาลให้ยิงขนาบข้างฝ่ายซ้าย ให้กองหลวงประสิทธิยิงข้างฝ่ายขวา ในเวลาที่ค่ายหน้าได้ต่อสู้อยู่กับพวกกองโจรประมาณ ๓๐ นาที พวกกองโจรได้เข้าระดมยิงค่ายด้านหลังตอนใต้ ซึ่งพระภัคดีเป็นแม่กองประจำรักษา กองพระภักดีได้ต่อสู้กับพวกกองโจรทั้งสองด้านเต็มกำลัง แลได้ไล่คนกองกลางขึ้นรักษาบนหลังเขาตะวันขึ้นตะวันตกไว้เป็นการมั่นคงทั้ง ๒ ฟากข้าง ได้ต่อสู้รบกับพวกกองโจร ๒ ชั่วโมงเศษ พวกกองโจรพ่ายแพ้ไปทั้ง ๒ ด้าน ในระหว่างที่ได้รบกับพวกกองโจรอยู่นั้น สังเกตดูวิธีพวกกองโจรใช้ฆ้องและโห่ร้องเป็นสัญญาณ ถ้าฆ้องย่ำหนักเข้าพวกกองโจรก็ระดมยิงมากเข้าทุกขั้น ประมาณกำลังของพวกกองโจรเมื่อเวลารบตอนค่ายเหนือเป็นชาติเงี้ยวและลาวปนกัน แต่ลาวมีน้อยกว่าพวกเงี้ยวรวมประมาณ ๑๕๐ คนเศษ ตอนค่ายใต้มีเงี้ยวประมาณ ๒๕ คนเศษ พวกกองโจรใช้อาวุธปืนชนิดใบนิเคอร์และปืนปัสตันต่างๆ ส่วนปืนแก๊ปและดาบศิลาจะมีบ้างก็เล็กน้อย ครั้นพวกโจรแตกหนีไปแล้ว ได้ประชุมปรึกษาพร้อมกัรเห็นว่า ถ้ายกติดตามตีลุดทีเดียวอาวุธปืนก็น้อยตัว ทั้งเป็นปืนแก๊ปและดาบศิลาเสียโดยมาก ปืนปัสตันก็มีน้อยกระบอกลูกและดินก็หาเพียงพอไม่ มีลูกคนละ ๒ นัดเท่านั้น ถ้าติดตามไปถ้าเสียทีแก่พวกกองเงี้ยวลงพาให้ข้าศึกมีใจกำเริบ ควรตั้งมั่นอยู่ที่โป่งอ้อก่อน เมื่อได้รับลูกดินเป็นที่เพียงพอแล้วจึงคิดปราบปรามต่อไป เมื่อเห็นพร้อมเพียงกันเช่นนี้แล้วจึงได้จัดคนอออกตรวจดูหน้าค่ายตอนเหนือ พบศพพวกโจรซึ่งถูกอาวุธปืนในเวลารบตายอยู่ ๒ คนเงี้ยวคนหนึ่ง ลาวคนหนึ่ง มีผู้จำได้ว่าคนเงี้ยวชื่อส่างลายเป็นคนใช้สนิทของพกาหม่องหัวหน้าโจร คนลาวชื่อปู่โม้เป็นคนมีชื่ออยู่บ้านท่าล้อ แลพวกโจรได้ทิ้งปืนคาบศิลาไว้ ๑ กระบอก ลูกขนาด ๕ สลึง มีดดาบ ๒ เล่ม มีซุย ๑ เล่ม แลทิ้งถุงย่ามผ้านุ่งผ้าห่มไว้กระเรี่ยกระราดตามทางตลอดไป ครั้นวันหลังต่อมาตรวจพบศพของพวกกองโจรเป็นชาติเงี้ยวตายตามระหว่างทางขึ้นไปบนเขาพลึง แลในลำห้วยอีก ๒๐ คนแต่ที่เจ็บพากันเอาไปได้ไม่ต่ำกว่า ๑๔ คน ค่ายใต้ได้ศพเงี้ยวที่ถูกอาวุธในระหว่างรบไปตายอยู่ที่ในท้องห้วย ๑ คน รวมข้าศึกตายในระหว่างระ ๒๓ คน ส่วนไพร่พลข้าพระพุทธเจ้าเมื่อเวลารบได้ถูกอาวุธปืนของพวกกองโจรที่ได้ต่อสู้ค่ายเหนือตาน ๑ คน ชื่อนายมิด ภรรยาชื่อสิน อยู่บ้านวังกระพี้แขวงอำเภออุตรดิตถ์ ที่นายมิดถูกอาวุธตายก็เป็นด้วยความกล้าหาญเกินไป เพราะเมื่อเวลารบกันอยู่ นายมิดขึ้นไปอยู่บนสนามเพราะความประสงค์จะแลให้เห็นพวกโจรถนัด จึงได้เสียทีถูกอาวุธตาย แต่ไพร่พลค่ายใต้ได้ถูกกระสุนปืนพวกกองโจรยิงสาดเข้ามาเจ็บป่วย ๑ คน ชื่อนายนวน ภรรยาชื่อมูล อยู่บ้านป่าดุมเกาะ แขวงเมืองสวรรคโลก แต่หาถึงแก่ชีวิตไม่ เป็นแต่ถูกกระสุนปืนถูกขาเฉียดไป ที่นายนวนถูกกระสุนปืนก็เป็นด้วยความเผลอ เพราะเวลาที่รบกันอยู่นั้นนายนวนหาได้ออกรบไม่ ด้วยมี่ปืน ไปยืนอยู่ในระหว่างที่ไม่มีอะไรกำบัง แลทั้งไว้ใจว่าอยู่ในค่ายจึงได้ถูกเจ็บ ส่วนกองพระพัฒพิไชยเขตรซึ่งเป็นกองเสบียงรักษาฉางข้าว ในเวลาที่รบไม่ได้ออกรบทั้งนายและไพร่ได้รักษาฉางข้าวอยู่ในค่าย แลในเช้านี้ได้ใช้คนไปเร่งพวกหาบเสบียงที่ปางต้นผึ้งใหญ่ ๑ คน พอออกเดินไปได้ประมาณ ๓๕ นาที เผอิญพบกับพวกเงี้ยวกองโจรที่เข้าตีค่ายใต้ ในระหว่างกลางทางพวกเงี้ยวได้ฆ่าตายชื่อนายฉาย ภรรยาชื่อริด อยู่บ้านทุ่งยั้ง อำเภอลับแล เกล้า ฯ จะนับคนที่ตายรวม ๒คน ป่วย ๑ คน แต่ไพร่พลนอกจากนี้หาเป็นอันตรายไม่ ในระหว่าที่รบข้าพระพุทธเจ้าได้แลเห็นความกล้าหาญสามารถของนายหมวดนายกองตลอดชั้นที่สุดไพร่พลซึ่งได้เต็มอกเต็มใจกระทำการรบพุ่งกับข้าศึกในเวลานั้น ควรยกเชิดชูความชอบได้คือ พระพิศาลคีรี ๑ พระภักดีราช ๑ ขุนรักษาอาณาเขตร ๑ หลวงศรีเทพบาล ๑ ขุนพินิจจีนเพท ๑ หลวงประสิทธิ ๑ นายม็อกกำนัน ๑ นายสุดกำนัน ๑ นายนัดผู้ใหญ่บ้าน ๑ นายเฟื่องผู้ใหญ่บ้าน ๑ รวม ๑๐ คนนี้มีความพริบไหวแลต่อสู้อย่างแข็งแรงมากนับเป็นที่ ๑ แลนายหมวดนายกองนอกจากนี้ก็ได้ช่วยต่อสู้ข้าศึกเต็มกำลังทุกคน ดังข้าพเจ้าได้กะเป็นชั้นมาในบัญชีหมาย ก. แล้ว เมื่อได้เกิดรบพุ่งกับพวกกองโจรที่ค่ายโป่งอ้อดังนี้”

เงี้ยวพ่ายแพ้ที่เขาพลึงล้มตายมาก และได้ข่าวการปล้นลำปางก็ถูกยิงล้มตายหลายสิบศพพ่ายกลับมาเช่นเดียวกัน ก็เสียขวัญหมดกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไปอีก พอได้ข่าวกองทัพกองเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ ใกล้จะมาถึงอุตรดิตถ์ มุ่งหน้ามาเขาพลึงอยู่แล้ว ก็ตกใจกลัวสุดขีด รีบอพยพหนีอย่างลนลานละทิ้งเสบียงอาหารสิ่งของไว้เกลื่อนกลาด ออกจากเขาพลึงและจุดสกัดทัพไทยอีก ๒ จุดโดยทันที และออกจากเมืองแพร่ขึ้นไปเมืองสองสู่สะเอียบ ไปเชียงไปเชียงคำ เชียงของ หาใช่เป็นการอพยพไปตามคำเรียกร้องของมิสเตอร์ไลล์ผู้ช่วยกงสุลอังกฤษประจำน่านไม่ สมจริงตามทีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวไว้ว่า คนเมืองกลัวเงี้ยว เงี้ยวกลัวไทย

มิสเตอร์เฟงเกอร์และแกแรน แห่งห้างอิสต์เอเชียติกถือหนังสือมิสเตอร์ไลล์ออกมาห้ามกองกำลังของพระเสนาราชซึ่งยกเข้ามาประชิดเมืองแพร่ก่อนไม่ให้เข้าเมืองแพร่ ให้พักอยู่ที่บ้านร่องกาดก่อน เพราะเกรงชาวเมืองจะตื่นตกใจมาไม่เป็นอันทำมาหากิน และเงี้ยวที่อพยพไปอยู่นอกเมืองจะกลับเข้ามาสู้รบอีก รอจนกว่าพระวาสุเทพจะมาถึง เพราะมั่นใจว่าเจ้ากรมตำราจภูธรชาวยุโรปผู้นี้คงจะบังคับบัญชาคนเกณฑ์ให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดีได้ ทางฝ่ายเมืองแพร่ได้ส่งเจ้านายพื้นเมือง พระยาราชวงษ์ พระยาราชบุตรออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับกองกำลังฝ่ายไทยที่ยกเข้ามาตั้งที่บ้านร่องกาดและโป่งอ้อ ต่อมาส่งพระเมืองไชยพระคำลือมาเชื้อเชิญให้เข้าเมือง

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๑๒๑ กองกำลังของพระยาศรีสุริยราช ฯ พระวาสุเทพ พระเสนาราช และพระบริรักษ์โยธี มีกำลังคน ๑,๐๐๐ คน ตำรวจภูธร ๑๑ คนนกเข้าไปในเวียงแพร่ ถึงเวลาบ่าย ๔ โมง ๓๒ นาที โดยเรียบร้อยไม่มีเหตุการณ์อันใด เจ้าหลวงแพร่และเจ้านายพื้นเมืองออกมาต้อนรับเชิญให้พักที่เค้าสนามที่ว่าการเมืองแพร่ กองกำลังไทยจัดวางเวรยามรักษาการณ์ที่ประตูชัย ๓๐ คน ประตู้ยั้งม้า ๒๕ คน ประตูศรีชุม ๒๐ คน จัดเวรออกตรวจตรารักษาความสงบในเวียงแพร่โดยกวดขัน ออกประกาศห้ามเงี้ยวต้องซู่กุลาและขมุเดินไปมาในเวลากลางคืน ถ้ามีธุระจะไปไหนต้องมีไต้ไฟให้เป็นหลักฐาน และห้ามถืออาวุธไปมาในที่ไม่สมควร เงี้ยวในเมืองแพร่ต่างตัดผมมวยออกให้เป็นผมสั้นเหมือนคนเมืองเกรงการแก้แค้นจากฝ่ายไทยและสะดวกแก่การหลบหนี เงี้ยวที่ร่วมมือกระทำความผิดลงทุนโกนหัวบวชเป็นพระก็มีจนมีข่าลือไปถึงเมืองย่างกุ้งว่าไทยบังคับให้เงี้ยวต้องตัดมวยผมรัฐบาลไทยต้องออกแถลงการณ์ปฏิเสธ

การเดินทัพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ออกจากรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๑๒๑ นายทหาร พลทหาร และอาวุธเสบียงสัมภาระมาลงเรือพร้อมกันที่ท่าน้ำคลองหัวลำโพงบ้านศาลาแดงคฤหาสน์ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นโรงแรมดุสิตธานีขณะนี้ สมัยนั้นเป็นคลองด้านตะวันออกบรรจบคลองพระโขนง ตะวันตกบรรจบคลองผดุงกรุงเกษมหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง พอน้ำขึ้นเวลาบ่ายก็รีบออกเรือ เรือหนักมาน้ำน้อย ต้องถ่อค้ำไปอย่างทุกลักทุเลกว่าจะออกปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านเทเวศร์ได้ก็ ๘ ทุ่ม (๒ น.) ลากจูงขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาโดยเรือกลไฟมุ่งหน้าไปบางประอินรับเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ ซึ่งแยกเดินทางล่วงหน้าโดยรถไฟจาสถานีหัวลำโพงไปกราบลาพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังบางประอิน รับแล้วก็ออกเรือเข้าแควสีกุก มีผู้มาส่งมากมายเรียงรายตามฝั่ง เรือติดตื้นต้องเกณฑ์คนช่วยฉุดลากให้พ้นเข้าร่องน้ำ บนตลิ่งมีไม้ถากปักเป็นสลากเชื้อเชิญให้รับฟืนรับข้าวสาร ผ่านวัดก็มีพระสงฆ์สวดชยันโตเพื่อความสวัสดีมีชัย แวะขึ้นนมัสการพระพุทธรูปวัดเกษไชโย อ่างทอง ได้รับแจกเชือกเกลียวทำด้วยผ้าเหลืองปลุกเสกกันสรรพภัย ผ่านเมืองต่าง ๆ มีเสบียงอาหาร ข้าวสาร เป็ด ไก่ ปลา เอามาให้จนรับไม่ไหว ต้องผ่านไปเสียหลายเมือง เมื่อถึงเมืองพิษณุโลกขึ้นไปไหว้พระพุทธชินราช ได้รับแจกผ้าประเจียดกับปืนไฟ พ่อค้าที่พิษณุโลกแตกตื่นตกใจมาก เตรียมเก็บข้าวของลงเรืออพยพไปปากน้ำโพอยู่แล้ว ก็ได้กำลังใจไม่อพยพเมื่อทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ มาถึง จากพิษณูโลกไปอุตรดิตถ์มาจนถึงแพร่ หลวงปฏิเวทย์สารวิทย์ผู้พิพากษาประจำกองทัพเสนอรายงานไปยังพระจักรปราณีศรีศิลวิสุทธิ ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๑๒๑ ดังนี้ “เมืองถึงอุตรดิตถ์วันที่ ๑๕ พักจัดเสบียงอาหาร ๒ เวลา พอถึงวันที่ ๑๗ เวลาเช้า ๔ โมง ยกกองกำลังเดินจากอุตรดิตถ์ มีทหารราบกองพันที่ ๓ รวมทั้งนายแลไพร่ ๒๔๑ คน คนเกณฑ์ตามหัวเมือง ๕๖๐ คน รวมทั้งสิ้น ๘๐๑ คน ช้างบรรทุกของ ๘๓ เชือก ม้าสำหรับนายทหาร ๓๐ ม้า วันนี้มานอนที่บ้านด่าน คิดเป็นระยะทางจากอุตรดิตถ์ถึงบ้านด่านอยู่ใน ๒๐๐ เส้น ที่เดินกองทัพเป็นอย่างใกล้ในวันนั้น เพราะการที่ยกออกเป็นการเร่งีบจึงต้องพักจัดการให้เรียบร้อยแต่เวลายังวัน ๆ ตั้งแต่ออกจากอุตรดิตถ์ถึงบ้านด่าน ฝนตกไม่ใคร่มีวเลาหยุด ทางที่มาก็เดินลุยมาในโคลนจนขี่ม้าไม่ได้ ต้องลงจูงม้าวันที่ ๑๘ ออกจากบ้านด่านมาพักที่โป่งอ้อฝนตกวันยังค่ำ ที่โป่งอ้อเป็นชัยภูมิดีพระยาศรีสุริยราชตั้งค่ายที่นี่ ได้ส่งรูปค่ายโป่งอ้อมาด้วยแล้ว ในลำห้วยโป่งอ้อมีศพคนออกกลาดเกลื่อนไป ไต่ถามพระพิศาลคีรีผู้รักษาค่ายได้ความว่า ที่โป่งอ้อพวกเงี้ยวได้ยกมารบแต่สู้กองทัพไทยไม่ได้ แตกหนีไป กองทัพไทยยิงพวกเงี้ยวตายประมาณ ๒๐ คน ศพที่แลเห็นตามลำห้วยเป็นศพพวกเงี้ยว ในวันที่๑๙ ออกจากบ้านโป่งอ้อมาพักรับประทานอาหารกลางวันทีค่ายเขาพลึง ค่ายที่หนึ่งที่เห็นเป็นค่ายพวกเงี้ยวชัยภูมิดี แต่ตัวค่ายทำเป็นอย่างกำมะลอมาก คะเนว่าคนที่จะอาศัยในค่ายได้เพียงไม่มากกว่า ๕๐ คน ได้ส่งรูปเขาพลึงมาด้วยแล้ว ทางเดินแต่โป่งอ้อมาถึงเขาพลึงต้องเดินในลำห้วยโดยมาก ท่องน้ำเพียงท้องม้า ถ้าออกจากลำห้วยก็เป็นโคลนลื่น แต่ตรงไหน ๆ ก็ไม่น่าหวาดเสียวเหมือนเมื่อเลยค่ายเงี้ยวมาทางประมาณ ๕ เส้น ที่ตรงนี้เดินเลียบหน้าผาเป็นอย่างชันที่สุด มีทางที่จะเดินได้กว้างไม่เกินศอกคืบ ในทางศอกคืบที่ตรงกลางเป็นบ่อลึกประมาณสอกกว่า ๆ มีน้ำกับโคลนปนกัน ตรงนี้ขี่ม้าไม่ได้ต้องลงจูงทุกคนถ้าเดินพลาดก็ตกเหว เหวจะว่าลึกเพียงใดคะเนไม่ได้ เพราะแลจนสุดสายตาก็ไม่เห็นก้นเหวเมื่อพ้นมาแล้วจะลงห้วย อีกทางหนึ่งก็ขี่ม้าไม่ได้เหมือนกัน ต้องปล่อยให้ม้าเดินลงไปแต่ตัวเปล่า แต่เช่นนั้นม้ายังล้มแทบทุกตัว แต่คนนั้นแทบจะว่าได้ต้องล้มไปทุกคน วันนี้มาพักนอนที่แม่พลวก วันที่ ๒๐ ออกจากแม่พลวกทางเดินเนินเขาเดินได้สะดวกแลฝนไม่ตก ข้างทางเดินมามีหมู่ไม้เบญจพรรณต่าง ๆ ต้นเปลาตรงงาม ใต้ต้นเตียนรื่นตลอดทั้งสองข้างทาง เวลาเช้า ๕ โมงมาถึงบ้านต้นผึ้ง เจ้าพิริยเทพวงษ์ผู้ครองนครแพร่กับข้าราชการหลายท่านได้ออกมารับกองทัพ แล้วเดินทางต่อมาหยุดพักรับประทานอาหารที่โรงพักตำรวจภูธรตำบลสูงเม่น แล้วเดินต่อมาถึงบ้านร่องกาศพบพระยาศรีสุริยราช พระเสนาราช พระบริรักษ์โยธี ทั้งสามท่านนี้ได้เป็นแม่ทัพยกเข้าเมืองก่อนมารับ แล้วเดินต่อมาเข้าในเมืองแพร่เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ทางที่เข้ามาเรียกว่าประตูชัย สองข้างทางมีบ้านข้าราชการและราษฎรตลอด ทำด้วยไม้สักหลังคามุงด้วยไม่สัก ทรวดทรงเป็นอย่างเรือนโบราณมาก ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็มี แต่ร้านโรงที่สำหรับขายของปิดหมด ไม่มีคนเพราะบรรดาชาวร้านมักเป็นพวกเงี้ยวโดยมาก เมื่อถึงที่เค้าว่าการสนามหลวง แลตกตะลึง เพราะขนาดโตใหญ่อย่างที่ไม่คิดเห็นว่าบ้านเมืองเล็กน้อย จะทำที่ว่าการได้ใหญ่โตถึงเพียงนี้ ทำด้วยไม้สัก แต่ขนาดเท่าศาลยุติธรรม มีแต่ที่ว่าการเปล่า ๆ สรรพหนังสือแลเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่เหลือหลอเลย จะเป็นพวกผู้ร้ายทำลายหมดหรือพวกพลเมืองช่วยซ้ำเท่านั้น ชั้นแต่เสาธงก็ตัดทิ้ง บานประตูหน้าต่างก็ฟันเสียยับเยิน”

เมื่อกองทัพพระยาสุรศักดิ์ ฯ เข้าตั้งอยู่ในเมืองแพร่แล้ว ก็ได้จัดการสืบสวนสอบสวนจับกุมตัวผู้กระทำผิดหรือสมคบกระทำผิดเพื่อฟ้องศาล สั่งให้กองกำลังเมืองต่าง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นกลับภูมิลำเนาเดิม ลดจำนวนกองกำลังรักษาด่านช่องแคบเขาพลึงอันมีมากลง ทั้งนี้เพราะเสบียงอาหารขาดแคลนมากด่านสกัดจับกองโจรเงี้ยวที่แตกหนีของเมืองน่านที่สะเอียบ อยู่เหนือเมืองสอง ใต้พะเยาลงมา จับเงี้ยวอพยพหนีได้โดยดีมิได้มีการต่อสู้ เป็นชาย ๑๙๕ คน หญิง ๕๘ ช้าง ๑๘ ม้า ๒๓ วัว ๑๘ ปืน ๓๕ กระบอก เงี้ยวพวกนี้เป็นพวกชาวบ้านธรรมดา ส่วนเงี้ยวทำป่าไม้และหัวหน้ากองโจรเงี้ยวที่สำคัญและสมุนมากกว่า ๒๐๐ คน พร้อมพาหนะช้างม้าวัวหลายร้อยตัวและสรรพสิ่งของมีค่าปล้นได้จากเมืองแพร่มากมาย ปล่อยให้ผ่านด่านสะเอียบไปได้อย่างวล่าโปไชย ลาปู่โอ ส่องหม่องเป็นต้น มิสเตอร์โรบินซ์รายงานไว้ว่า “อย่างที่ข้าพเจ้าได้ยินมา เสียค่าผ่านด่าน เศร้าใจที่คิดว่าผู้กระทำผิดอยู่ในมือเราแล้ว แต่ปล่อยให้หลุดมือไปอย่างง่ายดาย” มิสเตอร์โรบินซ์รายงานการเคลื่อนไหวในเมืองแพร่ และการสืบสวนสอบสวนจับกุมตัวผู้กระทำผิดลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๑๙๐๒ และ ๓๐ กันยายน ๑๙๐๒ ไปยังมหาดไทย ดังนี้ เมื่อมีชายฉกรรจ์ทั้งทหารตำรวจและคนเกณฑ์จำนวนพัน ห่างบ้านมาแรมเดือยเข้าไปแออัดอยู่ในเมืองเล็ก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดตามมาก็คือ กามโรคระบาดขนาดหนักและรุนแรงมาก เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ รายงานไว้ว่า “หญิงหาเงินมีชุกชุม เป็นเครื่องอาศัยของทหารแลพลตำรวจกับคนที่ไป ทหารแลพลตำรวจได้ป่วยเจ็บในเรื่องนี้มาก เกล้า ฯ กับพระยาวาสุเทพก็ได้ปรึกษากันจะนำไปโรงพยาบาลสำหรับตรวจ ได้ขอเครื่องมือแลยาลงมาที่พระยาวิสูตรถ้าส่งขึ้นไปแล้ว เกล้าฯ จะได้จัดการตั้งโรงพยาบาลสำหรับคนหาเงิน ถ้าจะทิ้งไว้ดังนี้ ทหารแลพลตำรวจก็จะป่นหมด” ในการนี้ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศการบริจาคทรัพย์อุดหนุนการพยาบาลทหารมณฑลพายัพ เพื่อให้การจัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับการนี้สำเร็จลงด้วยดี สภาอุณาโลมแดงก็ได้ส่งยาและสิ่งของเครื่องใช้ในการพยาบาลไปให้

ร้อยเอกเพิ่มรายงานเรื่องนี้ไว้ว่า

“ที่หนุ่ม ๆ นายทหารนั้นชาญเชี่ยว ท่าไปเกี่ยวสาวสันนั้นบ่หึง

ก็รักใคร่ได้เฝ้าอยู่เคล้าคลึง เหมือนแมงผึ่งภูฟอนเกสรลาว

พอได้กลิ่นกระถินเถื่อนก็เลือนลับ ไปเที่ยวจับเจาะตามดอกสาวหาว

ชอบโลมลิ้มชิดชืดไม่ยืดยาว จานออกฉาวฉ่าดังแทบทั้งเมือง

นิสัยชาวลาวดื้อถือเนื้อหนัง ไม่เปื่อยพังหมดสิ้นได้ยินเรื่อง

แมลงภู่ไปผิงมาพาประเทือง ไม่คิดเคืองขุ่นข้องหมองกมล

ทั้งทหารคนไข้ก็ได้สิ้น เลยหากินเก็บรักษ์เป็นภักษ์ผล

ความคิดลาวคราวทัพถึงอัพจน เนื้อหนังป่นไปเปื่อยไปทั้งไทยลาว

ท่านคิดเห็นเป็นภัยฤทัยเศร้า จะเปื่อยเน่าเหม็นกลุ้มทั้งหนุ่มสาว

ตั้งโรงรักษาศรีราคีคาว ไม่แกล้งกล่าวกลอนรับลำดับมา

พนักงานท่านก็เด็ดช่างเล็ดลอด เที่ยวสืบสอดรู้ตัวจนทั่วหน้า

จับตัวได้ให้หมอไม่รอรา ตรวจโรคกาเมมัวจนทั่วกาย

แม้นเห็นแผลแน่ตาเอายาล้าง ให้นอนค้างรักษากว่าจะหาย

จ้างคนอยู่ดูมิให้ใครใกล้กราย กลัวโรคร้ายราคินไม่สิ้นคาว

รายหนึ่งเหมาะเกาะมาน่าสงสาร เมียทหารแตรยังกำลังสาว

ผัวมาง้อโทษโปรดสักคราว อย่าให้ฉาวฉ่าเป็นเช่นคนจร

ได้ขอสู่อยู่เย็นไม่เป็นหวัด ช่วยโปรดสัตว์สุโขสโมสร

ท่านไม่ฟังขังไว้มิให้จร เจ้าผัวร้อนรนใจอาลัยเมีย

แม่ยายเล่าก็เฝ้ามาบอกว่า ลูกสาวข้าเจ้าดีไม่มีเสีย

คนอื่นไกลมิได้มาปัวเปีย พึ่งเป็นเมียทหารพลนี้ผู้เดียว

ท่านก็ว่าข้ารับแม่ทัพสั่ง แม้นไม่ฟังรอข้าช้าประเดี๋ยว

ได้อยู่สุขสนุกยิ่งจริงจริงเจียว มาขืนเขี้ยวขัดข้องไม่ต้องการ

เจ้าผัวทุกข์ฉุกเฉินเที่ยวเดินหา พูดปรึกษามูลนายฝ่ายทหาร

ก็คิดเห็นเป็นอุบายตามรายงาน แต่เป็นการคราวเคราะห์จำเพาะดี

หาไม่จะต้องหมองหมายทนอายอวด ให้หมอตรวจดวงชะตาดูราศี

หมอมาเห็นเอ็นดูรู้วิธี ว่าไม่มีโรคคากลับมาเรือน

เรื่องโรคคาพยาธิจะริร่ำ ท่านคิดบำรุงให้ใครจะเหมือน

จัดหัวหน้าพยาบาลการแม่เรือน ชักชวนเพื่อนภรรยาข้าแผ่นดิน

พูดชี้แจงแจ้งประจักษ์เป็นสักขี ล้วนสตรีตรึกตรองนึกถวิล

เห็นโยธาพหลพลแผ่นดิน เป็นมลทินทรมานมาให้อาวรณ์

จะปราบอ้ายทรยศกบฏเงี้ยว ไข้มาเขี้ยวขับระดมเอาล้มขอน

เสียเวลาช้าการเรื่องราญรอน ควรพักผ่อนเภทภัยให้กำลัง

เราเป็นหญิงจริงจิตจะคิดหมาย แข่งขันชายสู้ศึกเหมือนนึกหวัง

หาความชอบตอบพระคุณกรุณัง ก็ขัดทั้งแรงปัญญาดูน่าอาย

เทวดาฟ้าดินในถิ่นเถื่อน จะแย้มเยื้อนเย้ยเหล่าเราทั้งหลาย

ว่าสตรีมีร่างสำอางกาย กินแรงชายชอบเฝ้าแต่เหย้าเรือน

เมื่อนึกมาว่าเราเล่าก็จิต ควรจะคิดถึงบุรุษมนุษย์เพื่อน

เขาป่วยไข้ได้ยากจากบ้านเรือน เราคิดเอื้อนอวยผลให้ยลยิน

ช่วยอุดหนุนจุนเจือเมื่อป่วยไข้ เหมือนเราได้รับอาสามาทั้งสิ้น

ให้เร่งพลรณราญการแผ่นดิน นับเป็นชิ้นชอบปองสนองคุณ

ต่างเห็นพร้อมยอมตนปรนนิบัติ ที่ได้จัดทำที่นอนแลหมอนหนุน

บอกเฉลี่ยเรี่ยรายให้ทำบุญ ได้เงินทุนทำของที่ต้องการ

คนเจ็บไข้เหมือนได้อยู่บ้านช่อง ไม่ขัดข้องข้าวปลากระยาหาร

มีคนอยู่ดูรักษาพยาบาล สำเร็จการเกื้อกูลประมูลความ

แล้วตีสายถวายสมเด็จพระ บรมราชินีศรีสยาม

ขอพระราชาอนุญาตประกาศนาม ตั้งเป็นง่ามแง่สภาอุณาโลม

โปรดประทานโทรเลขภิเษกศรี พระเสาวนีย์ทะนุช่วยอำนวยโฉม

มีต้นทุนหนุนอุดไม่ทรุดโทรม ทรงพระโสมนัสรับประคับประคอง

เงินเรี่ยไรที่แพร่แลสังเกต สองพันเศษบาทได้บ้างให้ของ

มีเสื่ออ่อนหมอนม้าผ้าปูรอง ที่ขัดข้องเข้าช่วยเอาด้วยแรง

โมทนาสถาผลกุศลช่วย ทั้งไข้ป่วยสิ้นไปอย่าได้แหนง

ทานมัยให้ผลดลแสดง ประจักษ์แจ้งใจมั่นเป็นสัญญา”

วันที่ ๒๕ กันยายน ๑๒๑ เจ้าหลวงเมืองแพร่หลบหนีออกจากเมืองแพร่ไป สาเหตุที่หนีก็เพราะเกรงกลัวความผิดที่จะได้รับเช่นเดียวกับเจ้านายพื้นเมืองอื่น ๆ เช้านี้ก็มีข่าวพระยาธนาคนสนิทของตนผูกคอตายในคุก และตอนเช้าวันนี้เองได้ไปหาเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ ป่วยท้องเสีย ของดการต้อนรับ ก็เสียใจเพราะไม่ยอมให้พบติด ๆ กันหลายครั้งแล้ว ประกอบด้วยวันก่อนหน้านี้ ไปขอเข้าพบเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ ซึ่งกำลังนั่งฟังเรื่องราวการกล่าวหาร้องทุกข์ของราษฎรมีต่อตน อยู่กับพระยาศรีสุริราช ฯ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ ไม่ยอมให้พบเพราะกำลังติดราชการสอบสวนอยู่ เจ้าหลวงแพร่คงได้ยินการกล่าวโทษตนจึงแอบฟัง เจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ ต้องมาบอกให้กลับไปเสียถึง ๒ ครั้ง จึงปฏิบัติตาม ก็คงเสียใจมาก เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๑๒๑ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ สั่งจับพระยาราชบุตร พระชัยสงครามไปขังคุกไว้ ก็ตกใจมาก เมื่อกลับจากการไม่ยอมให้เข้าพบของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ เจ้าหลวงแพร่ได้ปรึกษาหารือถึงโทษทัณฑ์ของตนที่จะได้รับกับคุณหญิงเยื้อน ภริยาพระยาราชฤทธานนท์ ให้ความเห็นว่าผู้กระทำผิดก็คงต้องรับโทษประหารโดยการยิงสถานเดียว เท่านี้เองก็มากพอที่จะทนรับไว้ได้อีกต่อไป จึงได้หนีออกจากเมืองแพร่ตอน ๔ โมง เช้าวันนั้นเอง ไปอยู่หลวงพระบาง แต่ภูมิอากาศที่หลวงพระบางไม่ถูกกับสุขภาพร่างกาย ทำให้ไม่สู้สบายนัก จึงได้ย้ายไปอยู่เมืองยู้อันเป็นเมืองขึ้นของหลวงพระบาง ห่างออกไประยะทางเดิน ๓ วัน ได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพจากฝรั่งเศสเดือนละ ๑๐๐ เหรียญ มีคนใช้เป็นลาวติดตามไปอยู่ด้วย ๖ คน พวกเงี้ยวไม่มี เจ้าหลวงแพร่ได้พำนักอยู่ที่นี่จนสิ้นอายุขัยของท่าน

ตามนโยบายของทางราชการที่ทรงกำหนดไว้แต่ไม่เปิดเผย ก็คงจะไม่มีโทษทัณฑ์อันใดอยู่แล้ว เพราะออกไปในรูปเจ้าหลวงแพร่ถูกบังคับจากเงี้ยวจะทำอันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเงี้ยว จึงอยู่ในภาวะจำยอมต้องปฏิบัติตามเข้าร่วมมือด้วย เจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ จึงออกประกาศถอดออกจาหน้าที่ราชการ และถอดออกจากตำแหน่งเจ้าครองนครแพร่ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๑๒๑ เป็นต้นไป และแต่งตั้งให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรเป็นผู้รั้งราชการเมืองแพร่แทน เจ้าบัวไหล ภริยาเจ้าหลวงแพร่ก็ต้องถูกถอดออกจากสามัญสมาชิกา ตติยจุลจอมเกล้าเช่นเดียวกัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 12 •มกราคม• 2012 เวลา 11:39 น.• )