จักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มแผ่อิทธิพลสู่สยามประเทศในปลายราชกาลที่ ๒ ในขณะนั้นประเทศในยุโรปได้ผ่านการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้วสภาพเศรษฐกิจการเมือง และสังคมในยุโรปเปลี่ยนแปลงมากมาย กล่าวคือ ด้านเศรษฐกิจกิจการอุตสาหกรรมและการค้าเสรีเฟื่องฟูมาก ด้านการเมือง ชนชั้นกลางและนายทุนอุตสาหกรรมมีบทบาททางการเมือง และมีการปกครองในระบบประชาธิปไตย ด้านสังคมการเกิดขึ้นของพลังชาตินิยมที่ต้องการสร้างเกียรติภูมิของชาติให้แผ่ขยายออกไป และมีแนวคิดมนุษย์นิยมของชนผิวขาว ที่จะสร้างความเจริญให้หมู่ชาติที่ล้าหลัง จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ได้ผลักดันให้เกิดนโยบายระดับชาติในยุโรปที่เห็นความจำเป็นของการยึดครองดินแดนนอกทวีปยุโรปที่มีระดับความเจริญด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมตำกว่า เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดการค้า เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งทางการเมือง ขยายเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีให้แก่ประเทศของตน ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดการแสวงหาดินแดนและการติดต่อค้าขายในเขตสยาม ชาติอังกฤษและฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญต่อการคุกคามสยามประเทศโดยอังกฤษขยายเข้ามาทางตะวันตก ส่วนฝรั่งเศสขยายเข้ามาทางตะวันออก ดินแดนล้านนาเป็นจุดเดี่ยวในประเทศไทย ที่เผชิญการคุคามของสองชาติดังกล่าว การคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้สยามและล้านนาเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จนถึงผลึกดินแดนให้เป็นประเทศเดียวกัน การเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกทำให้รัฐแบบจารีตเสื่อมสลายตัวลง พร้อมกับการนำไปสู่การสถาปนารัฐไทยสมัยใหม่ โดยอาศัยการคุกคามของจักรวรรดินิยมและการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ ๕ เป็นจุดแบ่งยุคสมัย

การเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกในดินแดนล้านนา ดึงดูดให้ล้านนามีความสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่ครอบครองดินแดนพม่ามากขึ้น เนื่องจากการปกครองเมืองประเทศราชของสยามมีนโยบายให้อิสระในการปกครองตนเองอย่างมากทำให้ล้านนาผูกพันกับการค้าขายกับชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ โดยผ่านทางหัวเมืองมอญของพม่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่าล้านนากับหัวเมืองมอญ ในการปกครองของอังกฤษมีหลักฐานเช่นเครือข่ายการค้าทางบกที่มีเส้นทางการค้าจากเมืองมะละแหม่ง สู่ระแหง ลำพูน เชียงใหม่ และต่อไปถึงทางตอนบนคือเชียงราย เชียงแสน เชียงตุง และปลายทางที่ตาลี เส้นทางนี้สะดวกและแพร่หลายมาก มีความสำคัญยิ่งกว่าเส้นทางจากเชียงใหม่สู่กรุงเทพฯ บ่งชีความสัมพันธ์ด้านการค้าในระดับลึกระหว่างอังกฤษกับล้านนาคือการที่อังกฤษนำเงินรูปีมาใช้ในล้านนา นอกจากล้านนาไม่มีเงินตราใช้เพียงพอ อังกฤษเห็นว่าไม่สะดวกต่อการค้า ดังนั้นในดินแดนล้านนาจึงได้ใช้เงินในสกุลรูปี หรือเงินแถบ จนช่วงครึ่งหลังของรัชกาลที่๕ จึงเริ่มมีนโยบายใช้เงินบาทในล้านนา อย่างไรก็ตามการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกได้เปิดโอกาสให้เกิดการดูดทรัพยากรไปจากล้านนามหาศาล ซึ่งเห็นชัดจาธุรกิจป่าไม้ของนายทุนตะวันตก

การเข้ามาของคนอังกฤษ และคนในบังคับอังกฤษในล้านนา หลังจากที่อังกฤษทำสงครามครั้งแรกกับพม่า พ.ศ. ๒๓๖๙ อังกฤษได้ดินแดนหัวเมืองมอญ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับดินแดนล้านนา ชาวอังกฤษจึงเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในล้านนา เท่าที่ปรากฏหลักฐานพบว่า ดร. ริชาร์ดสัน มาถึงเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๓๗๒ ตรงกับสมัยพระยาพุทธวงศ์ครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๖๙ – ๒๓๘๙) ดร.ริชาร์ดสัน เข้ามาติดต่อขอซื้อช้าง โคกระบือจากราษฎรในเชียงใหม่  ลำพูน ลำปาง เนื่องจากที่มอญเกิดโรคระบาด ราษฎรได้ขายช้างโคกระบือไปหลายครั้ง ทำให้สัตว์เหล่านี้ลดน้อยลง เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงห้ามจำหน่ายสัตว์เหล่านี้ และการซื้อขายกันนั้น มีราษฎรจำนวนหนึ่งรับเงินแล้วแต่ไม่ยอมให้สัตว์ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นดังกล่าว ดร.ริชาร์ดสัน จึงร้องเรียนต่อรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯเพราะเข้าใจว่า ล้านนาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศสยาม รัฐบาลกลางได้ชี้แจงว่า ช้างโคกระบือเป็นของที่ห้ามซื้อขายออกไปนอกประเทศ ด้วยสัตว์เหล่านี้เป็นของสำหรับบ้านเมือง ถ้ามีการศึกสงครามช้างโคใช้สำหรับหารบรรทุกเสบียง อาหารเป็นกำลังทำการศึก ส่วนกระบือไว้ใช้ทำนา สำหรับราษฎรที่รับเงินค่าช้างโคกระบือแล้วแต่ไม่ยอมมอบสัตว์ให้นั้น ให้เจ้านายเมืองเหนือจัดการให้ราษฎรคืนเงิน ถ้าไม่คืนเงินแก่ชาวอังกฤษ ราษฎรจะต้องชำระด้วยช้างโคกระบือจนครบ การชี้แจงของฝ่ายรัฐบาลกลางนั้น ดร. ริชาร์ดสัน ก็ยอมปฏิบัติตาม เอให้เรื่องนี้เรียบร้อย และเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่าสยามกับอังกฤษสมัยรัชกาลที๓ รัฐบาลกลางจึงส่งพระยาสุเรนทร์ราชเสนาขึ้นมาชี้แจงต่อเจ้านายเมืองเหนือ การส่งข้าหลวงดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะกิจ เพราะเมื่อเรื่องราวคลี่คลายลงแล้ว ข้าหลวงจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ รัฐบาลกลางไม่เคยส่งข้าหลวงมาประจำการในล้านนาเลย จนกระทั่งเริ่มปฏิรูปการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๑๗ ผลจากนโยบายของรํบาลกลางที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของเมืองประเทศราช ทำให้การค้าระหว่างล้านนากับอังกฤษได้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นตามลังดับ โดยเฉพาะช่วงหลังการทำสัญญาเบาว์ริ่ง ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ผลทำให้สยามประเทศเปิดให้มีการค้าเสรี โดยยกเลิกการผูกขาดของรัฐ และยังให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ชาวตะวันตกและคนในบังคับ ธุรกิจค้าไม้ได้เริ่มเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๓๘๓ การค้าขายและอนุญาตให้ตัดเป็นสิทธิ์ของเจ้าเมืองทังสิ้น

การทำธุรกิจป่าไม้ ในรูปแบบทุนนิยมได้เริ่มต้นขึ้นในล้านนา หลังจากที่จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ยึดครองหัวเมืองมอญจากพม่า (ในสงครามโลกครั้งแรก) และธุรกิจป่าไม้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในระยะต่อมา โดยหลังสงครามอังกฤษกับพม่าครั้งที่ ๒ อังกฤษได้ครอบครองดินแดนพม่าตอนล่าง อิทธิพลของอังกฤษก็ขยายออกมาชิดกับดินแดนล้านนากันมากยิ่งขึ้น ปรากฏว่า มีชาวพม่าในบังคับอังกฤษเดินทางเข้ามาทำป่าไม้ในดินแดนล้านนากันมาก เป็นผลให้การผลิตแบบอุตสาหกรรมทำไม้เจริญเติบโตขึ้นทั้งในดินแดนมอญและล้านนา

จจัยที่ส่งเสริมความสนใจของคนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษให้เดินทางเข้ามาในล้านนาคือ ๑. ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ ดินแดนล้านนาเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้สักอันเป็นทรัพยากรมูลค่ามหาศาล ๒. ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ของล้านนา แดนต่อแดนระหว่าล้านนากับพม่าอยู่ใกล้ชิดกันและการคมนาคมที่สะดวกเพียงแต่ข้ามแม่น้ำสาละวินก็ถึงเขตแดนล้านนาแล้ว ๓, ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นผลของสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. ๒๓๙๘ สนธิสัญญาเบาว์ริ่งเป็นการรับรองฐานะและเสรีภาพในการค้าขายของชาวอังกฤษในประเทศไทย ๔. ระบบการปกครองหัวเมืองล้านนา มีส่วนสนับสนุนให้ชาวอังกฤษและคนในบังคับเข้ามาในบริเวณนี้ได้ง่าย ทั้งนี้เพราะในฐานะหัวเมืองประเทศราช ล้านนามีสิทธิปกครองตนเอง ดั้งนั้นการเข้ามาทำกิจการป่าไม้ เจ้าเมืองประเทศราชมีสิทธิให้ทำไม้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลกลางสยาม เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายในของล้านนา

ประวัติการทำไม้

ในอดีตของชาวแพร่ ทั่วมณฑลพายัพมีไม้สักชั้นดีเยี่ยมของโลกทุกเมืองแพร่ก็เช่นเดียวกัน จึงมีบริษัทฝรั่งเข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์ในการทำไม้สักหลายบริษัท ในครั้งกระโน้นการทำไม่สักเกินกำลังสติปัญญาและเงินของคนพื้นบ้าน  แต่ในปัจจุบันตรงกันข้าม มีความสามารถสูงมาก จนกรมป่าไม้ต้องระบุว่าจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่มีการตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างรุนแรงที่สุดในภาคเหนือ (บางครั้งคนแพร่ยังถูกพูดเล่นว่าผ่านต้นไม้ต้นใด ต้นไม้ต้นนั้นจะเหี่ยวตายทันที) เพราะคนเมืองไม่ชอบทำงานหนัก ไม่ชอบเป็นลูกจ้าง เงี้ยวจึงเข้ามารับทำหน้าที่เป็นกรรมกรแทน เมื่อมีจำนวนมากเข้าก็ก่อความวุ่นวายขึ้น ปล้นสะดมชาวบ้านจนกระทั้งปล้นเมือง (เงี้ยวผู้ร้าย ไม่ใช่เงี้ยวทั้งหมด) เพราะรายได้จากไม้สักนี่เอง ทำให้ผู้ครองนครเมืองเหนือ ไม่พอใจรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่ยกเลิกรายได้ค่าต่อไม้ อันเป็นรายได้หลักและจำนวนมาก เปลี่ยนเป็นรับเงินรายปีแทน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ให้ความร่วมมือกับเงี้ยว เพื่อกอบกู้ให้สู่สถานการณ์เดิม แพร่เป็นแหล่งผลิตบุคคลป้อนกรมป่าไม้ให้คอยคุ้มครองดูแลรักษาป่าของประเทศมีศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้สัก และปลูกป่าทำสวนป่าสักอีกด้วย จึงควรจะได้ทำความรู้จักกับเรื่องของไม้สักตั้งแต่สมัยโบราณมา ตามพระราชนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และการตั้งกรมป่าไม้ของคุณกฤต สามะพุทธิ

“กรมป่าไม้ เป็นกรมซึ่งตั้งขึ้นใหม่อีกกรมหนึ่งในยุคนั้น เหตุที่จะตั้งกรมป่าไม้นั้นมีมาเรื่องยืดยาวด้วยป่าไม้สักมีในเมืองพม่ากับเมืองไทยมากกว่าที่ไหน ๆ เมื่ออังกฤษได้หัวเมืองมอญไปจากพม่า พวกอังกฤษตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่เมืองเมาะลำเลิง (มละแหม่ง) ตัดต้นสักทางลุ่มน้ำสาละวินในแดนมอญ เอาไปเลื่อยทำไม้เหลี่ยมและไม้กระดาน ส่งไปขายต่างประเทศเป็นสินค้าเกิดขึ้นทางนั้นก่อน ส่วนป่าสักในเมืองไทยมากแต่ในมณฑลพายัพลงมาจนถึงแขวงเมืองตาก เมืองกำแพงเพชรและอุทัยธานี เดิมชาวเมืองตัดไม้สักใน ๓ เมืองนั้นลงมาขายในกรุงเทพฯ แต่มักเป็นไม้ขนาดย่อม มักจะเอามาใช้ปักเป็นหลักสำหรับผูกแพที่คนอยู่ในแม่น้ำจึงเรียกกันว่าเสาหลักแพเป็นพื้น เป็นซุงขนาดใหญ่ยังมีน้อย ถึงกรนั้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศแล้ว ก็มีฝรั่งเข้ามาตั้งโรงเลื่อยจักขึ้นในกรุงเทพฯ หมายจะเอาไม้สักในเมืองไทยไปส่งขายต่างประเทศ จึ่งเริ่มเกิดสินค้าไม้สักในเมืองไทยส่งไปขายต่างประเทศมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ การทำป่าไม้สักก็เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับในเมืองไทยและเมืองมอญ พอถึงรัชกาลที่ ๕ พวกทำป่าไม้ในแดนมอญอยากจะตัดไม้สักต่อเข้ามาในแดนเมืองเชียงใหม่ทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน จึงเข้ามาคิดอ่านกับพวกพ่อค้าพม่าที่ฝากตัวอยู่กับพระเจ้าเชียงใหม่ ขออนุญาตตัดไม้สักโดยจะให้เงินค้าตอไม้ทุกต้นที่ตัดลง ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ยังมีอำนาจสิทธิขาดในเมืองอย่างประเทศราชแต่โบราณ เห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้จากป่าไม้ ก็อนุญาตให้พวกพม่าทำป่าไม้ทางแม่น้ำสาละวินหลายแห่ง ด้วยสำคัญว่าการบังคับบัญชาได้เหมือนอย่าที่เคยบังคับบัญชาพวกพม่าที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ แต่พวกทำป่าไม้ต้องกู้เงินเข้ามาทำเป็นทุน ทำการหมายแต่จะหากำไร บางคนไม่ยอมทำตามบังคับบัญชาของพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในเมื่อเห็นว่าจะเสื่อเสียประโยชน์ของตน พระเจ้าเชียงใหม่ให้ลงอาญา พม่าพวกทำป่าไม้ไปได้คำแนะนำของพวกเนติบัณฑิตในเมืองพม่าเข้ามาร้องทุกข์ต่อกงสุลอังกฤษกรุงเทพฯ กงสุลก็อุดหนุนรับธุระไปร้องต่อรัฐบาล ให้เรียกค่าสินไหมจากพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้แก่ตน ในชั้นแรกมีการฟ้องร้องน้อยเรื่อง โปรดให้เจ้าพระยารัตนธิเบศร์ (พุ่ม) เมื่อยังเป็นพระยาเทพอรชุนเป็นข้าหลวงขึ้นไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ก็กล่าวเปรียบเทียบให้เสร็จไปได้ แต่ทางเมืองเชียงใหม่ยังให้อนุญาตให้ทำป่าไม้อยู่ไม่หยุด ถ้อยความเรื่องป่าไม้ก็กลับมีมากขึ้น และเจือเป็นการเมือง ด้วยกงสุลเข้ามาเกี่ยวข้องอุดหนุนคนในบังคับอังกฤษ พวกนั้นก็เลยได้ใจ จนรัฐบาลไยกับอังกฤษต้องทำหนังสือสัญญากันให้ตั้งศาลต่างประเทศ และมีทั้งข้าหลวงและรองกงสุลอังกฤษตั้งประจำอยู่ที่เมืองเชียใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็มีบริษัทฝรั่งเข้ามาตั้งค้าไม้สักขึ้นหลาย ๆ ห้าง พวกบริษัทขึ้นไปขอทำป่าไม้ในมณฑลพายัพเอาลงมาเลื่อยขายในกรุงเทพฯ ก็มักเกิดถ้อยความที่รัฐบาลต้องโต้เถียงกับกงสุล เกิดความรำคาญขึ้นอีกทางหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษากับเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลัง ยัคมินส์) เห็นว่าถ้าตั้งกรมป่าไม้ตามแบบอย่างที่รัฐบาลอังกฤษจัดในเมืองพม่า และชั้นแรกขอยืมผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลอังกฤษที่เมืองพม่ามาเป็นครูฝึกหัดไทยที่จะเป็นพนักงานป่าไม้ต่อไป จะเป็นประโยชน์หลายอย่าง เพราะมีกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว พวกทำไม้ก็จะติดต่อขอความสงเคราะห์ของกรมป่าไม้ได้ และจะเป็นคุณต่อไปถึงการสงวนป่าสักในเมืองไทย ทั้งอาจจะได้ผลประโยชน์ของรัฐบาลจากป่าไม้ขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย พระเจ้าอยู่หัวทรงให้ดำรัสแก่ข้าพเจ้าจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ก็ตัดความรำคาญได้สมประสงค์ เพราะลักษณะการที่คนในบังคับต่างประเทศร้องทุกข์หรือขอร้องอันใดจากรัฐบาลไทย แต่ก่อนมาเคยขอให้กงสุลมีจดหมายส่งคำร้องขอมายังกระทรวงต่างประเทศ ถ้าแลการนั้นเกี่ยวกับกระทรวงใด กระทรวงการต่างประเทศก็มีจดหมายถามไปยังกระทรวงนั้น เจ้ากระทรวงว่ากระไรก็มีจดหมายมอบตอบไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจึงมีจดหมายตอบไปยังกงสุล จะพูดกันแต่ละครั้งตั้งหลายวันจึงจะแล้ว ถ้าพวกทำป่าไม้เป็นคนบังคับต่างประเทศ ขอร้องมาทางกงสุล ข้าพเจ้าก็ทำตามแบบเดิมซึ่งมีจดหมายถึงกันหลายทอดดังว่ามาแล้ว ถ้าพวกทำป่าไม่มาร้องขอต่อพวกทำป่าไม้เอง จะเป็นคนในบังคับต่างประเทศหรือในบังคับไทย ข้าพเจ้าก็ให้กรมป่าไม้เสมอหน้ากัน ในไม่ช้าเท่าใดพวกชาวต่างประเทศก็เลิกร้องขอทางกงสุล สมัครมาว่ากล่าวตรงต่อกรมป่าไม้ กงสุลจะว่าก็ไม่ได้ ด้วยพวกทำป่าไม้อ้างว่าเขาไม่ได้เกี่ยวของกับการเมืองทำแต่การค้าขาย อย่างไรสะดวกแก่กิจธุระของเขา ๆ เขาก็ทำอย่างนั้น ส่วนการสงวนป่าไม้และเพิ่มผลประโยชน์แก่แผ่นดินก็ได้ดังพระราชประสงค์ทั้ง ๒ อย่าง จึงมีกรมป่าไม้สืบมา”

การตั้งกรมป่าไม้

ก่อนตั้งกรมป่าไม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ การทำป่าไม้เก็บหาพืชผลของป่าไม้ มิได้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลแต่อย่างใด ราษฎรต่างตัดฟันเก็บถือเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้โดยเสรี ในทางภาคเหนือซึ่งเป็นเหล่งที่มีไม้สักขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งเจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่และน่าน ยังคงเป็นเจ้าประเทศราชอยู่ มีอำนาจปกครองในเมืองของตนอย่าเต็มที่ ถือว่าไม้สักขึ้นอยู่ในแคว้นของตนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ผู้ประสงค์จะทำไม้สักต้องขออนุญาตต่อผู้ครองนคร โดยเสียเงินตามต้นที่ตัดฟันลง เรียกว่าค่าตอไม้ มิได้มีการควบคุมจำนวน ขนาดในป่าตอนใดเลย ประสงค์อย่างเดียวคือเงินค่าตอไม้ ต่อมามีการแย่งชิงการทำไม้ระหว่างผู้ขอทำไม้โดยให้ผลประโยชน์แก่ผู้ครองนครสูงกว่าผู้ได้รับอนุญาตเดิมอยู่เสมอ เป็นข้อพิพาทขึ้น มีคำร้องทุกข์ไปยังรัฐบาลมากขึ้น จนรัฐบาลกรุงเทพฯ รู้สึกว่าจำเป็นต้องแทรกแซงแก้ไข ได้ออกพระราชบัญญัติสำหรับผู้รักษาเมืองจะทำสัญญากับชาวต่างประเทศ จะต้องได้รับสัตยาบันจากรัฐบาลกรุงเทพฯ เสียก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ มีการทำสัญญากับอังกฤษ ก็มีความในสัญญาว่า ห้ามมิให้คนในบังคับอังกฤษทำป่าไม้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตซึ่งลงดวงตราให้สัตยาบันของรัฐบาลโดยถูกต้อง และห้ามมิให้เจ้านายของป่าออกใบอนุญาตป่าแห่งใดแห่งเดียวให้แก่บุคคลเกินกว่าหนึ่งขึ้นไป เพื่อปฏิบัติการเป็นไปตามสัญญานี้ รัฐบาลสยามได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพขึ้นประจำอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อดูแลกิจการป่าไม้ในมณฑลพายัพ ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

บริษัทไม้ต่างประเทศ มีบอร์เนียว บอมเบ เบอร์ม่า สยามฟอร์เรสต์ (ต่อมาเป็นแองโกลสยาม) ก็เข้ามาลงทุนขออนุญาตทำป่าไม้ มีการแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้รับอนุญาต ต้องให้เงินกินเปล่าจำนวนมาก ๆ แก่เจ้าหลวงเจ้าของป่า เจ้าหลวงเจ้าของป่าก็มีการประวิงเวลาส่งหนังสือสัญญาไปลงดวงตราสัตยาบันที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกเงินกินเปล่าเพิ่มขึ้น จึงมีเรื่องราวร้องทุกข์ไปยังกระทรวงมหาดไทยมากมาย รัฐบาลเห็นควรที่จะจัดการป่าไม้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ได้ให้มิสเตอร์ Castensjold ชาวเดนมาร์ค โอนมาจากกระทรวงพระคลัง ให้ขึ้นไปตรวจสถานการณ์ป่าไม้สักทางภาคเหนือแต่เดินทางไปถึงเมืองตากก็ป่วยถึงแก่กรรมไป กรมพรยาดำรงฯ จึงขอผู้ชำนาญการทางป่าไม้ไปยังรัฐบาลอินเดียซึ่งขึ้นกับอังกฤษ รัฐบาลอินเดียได้เอื้อเฟื้อให้ยืมมิสเตอร์ H. Slade ผู้ชำนาญการป่าไม้ของพม่ามาให้ มิสเตอร์สเลดมาถึงกรุงเทพฯ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๓๘ พอถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ก็ออกเดินทางขึ้นเหนือไปสำรวจกิจการไม้สักของไทยทีเดียว ผ่านเมืองชัยนาท นครสวรรค์ แพร่ ลำปาง ลำพูนและเชียงใหม่ ขากลับแวะเมืองตาก ถึงกรุงเทพวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๘ เป็นเวลาเกือบ๔ เดือนด้วยการเดินทางที่ยากลำบากทุรกันดารทางน้ำและทางเดินบกในสมัยนั้น วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ มิสเตอร์สเลดก็เสนอรายงานสำรวจป่าไม้ต่อกระทรวงมหาดไทย เสนอข้อบกพร่องและเสนอข้อแนะนำแก้ไขมาด้วย ข้อบกพร้องก็คือ ๑. การป่าไม้ทั้งหมด แทนที่จะอยู่ในกาควบคุมของรัฐบาลกลาง กลับอยู่ในการความครอบครองของเจ้าครองนคร ๒. การทำป่าไม้ขาดหลักการในการคุ้มครองรักษาป่าให้อำนวยผลอย่าถาวรต่อไปในอนาคต ตามข้อ ๑. ทางพม่าและอินเดียถือว่าป่าไม้ทั้งหมดอยู่ในอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ทางรัฐบาลลงดวงตราสัตยาบันในสัญญาที่เจ้าผู้ครองนครอนุญาตให้ทำไม้ได้ ก็เท่ากับรัฐบาลรับรองอยู่ในตัวแล้วว่า ป่าไม้เหล่านั้นอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งไม่ถูกต้องยิ่งกว่านั้นเมื่อสัญญาสิ้นอายุลงแล้ว ก็ยังคงมีการทำไม้อยู่ต่อไปอีก การยื่นอนุญาตทำไม้ ต้องประสพอุปสรรคมากมาย การประวิงเวลาประทับดวงตราสัตยาบันให้ล่าช้า ต้องแข่งขันกันเพิ่มค่ากินเปล่าให้สูงขึ้น เจ้าของป่าแบ่งป่าออกเป็นแปลงเล็ก ๆ เพื่อรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลกระทบกระเทือนราคาไม้ในตลาดให้สูงขึ้นมาก สำหรับข้อ ๒ เสนอให้มีการสำรวจไม้เสียก่อน เพื่อกำหนดจำนวนตัดฟันไม้เป็นรายปีไป ห้ามตัดฟันไม้สักเล็ก ๆ ให้ใช้ไม้กระยาเลยแทน วิธีแก้ไขข้อ ๑. ให้ป่าสักโอนเข้ามาในการควบคุมดูแลของรัฐบาลแต่ผู้เดียว ยกเลิกเงินค่าตอไม้แกผู้ครองนคร โดยจ่ายเป็นเงินรายปีแทนให้กึ่งหนึ่ง ๒. ตั้งสำนักควบคุมการป่าไม้ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ๓. ออกกฎหมายควบคุมกิจการป่าไม้ มีบทบัญญัติถึงการจัดป่าเป็นป่าสงวน สิทธิเหนือป่าไม้ ป้องกันการทำลายหรือทำให้เสียหาย เก็บเงินผลประโยชน์ การควบคุมไม้ระหว่าเคลื่อนที่ ๔. จัดส่งนักเรียนไปอบรมป่าไม้ในต่างประเทศปีละ ๒ – ๓ คน ๕. แก้ไขแบบสัญญาอนุญาตทำไม้ขึ้นใหม่ ๖. เงินค่าตอไม้ กรมป่าไม้จัดเก็บเอง เพราะเท่าที่กระทำมาแล้ว มีการรั่วไหลเพราะการทุจริตมาก ทั้ง ๖ ข้อนี้ได้กราบทูลพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทราบทราบ ในที่สุดก็ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาที่ ๖๒/๓๘๕ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ทรางพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้น ให้อยู่ในสังกัดหระทรวมมหาดไทย เพื่อควบคุมกิจการป่าไม้ของประเทศโดยเฉพาะตั้งแต่นั้นมา ทางราชการได้ถือเอาวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นวันสถาปนากรมป่าไม้ตลอดมาจนทุกวันนี้ สมัยก่อตั้งยังไม่มีที่กำหนดการของตนเอง ต้องอาศัยอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ได้เจรจาขอยืมตัวมิสเตอร์สเลดไว้รับราชการต่อไปอีกจากพม่า และแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมป่าไม้เมื่อ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ท่านได้ดำรงตำแหน่งอยู่ ๕ ปี จึงลาออกในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๓ โดยการแนะนำของมิสเตอร์สเลด รัฐบาลไทยได้จัดส่งนักเรียนไทยรุ่นแรกไปศึกษาวิชาการป่าไม้ที่ Imperial Forest College เมืองเดรดูนประเทศอินเดีย โดนทุนของรัฐบาลจำนวน ๔ คน สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร ๒ ปี กลับมารับราชการกรมป่าไม้ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ อยู่ ๔ ท่าน คือ นายทองคำ เศวตศิลา (พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์), นายวาศ วินทุพราหมณกุล (พระยาพลผลารักษ์), นายเอื้อ ศุภมิตร (พระยาสมบัติบริหาร), นายลพ นิยมฤกษ์ (ขุนวนขัณฑ์ประเวศ) ก่อนตั้งกรมป่าไม้ มีด่านภาษีไม้ตั้งอยู่ที่อำเภอสิงห์ จังหวัดชัยนาท เพื่อจัดเก็บภาษีไม้ และของป่าล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาจากภาคเหนือ ด่านนี้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพิกัดภาษีภายใน ร.ศ. ๑๑๑ ต่อมาด่านนี้ได้ย้ายมาไว้ที่ตำบลปากน้ำโพ นครสวรรค์ เพราะสถานที่เหมาะสมกว่าในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงมอบหมายให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยะศิริ) ปลัดทูงฉลองกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นเป็นพระยาศรีสหเทพ ไปเจรจากับผู้ครองนครมณฑลพายัพ ขอโอนอำนาจการปกครองป่าไม้มาขึ้นกับรัฐบาลกลาง รัฐบาลกลางยอมตกลงจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าตอไม้ให้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่เก็บได้ทั้งหมดทุกปีไป ก็สำเร็จด้วยดี ทรงมอบให้มิสเตอร์สเลด ไปเจรจาเปลี่ยนสัญญาอนุญาตทำไม้แบบใหม่มีอายุ ๖ ปีแทนแบบเก่ากับบริษัททำไม้ต่างประเทศ กำหนดเงื่อนไขให้กานไม้ไว้ก่อน ๒ ปีก่อนตัดฟัน กำหนดขนาดต่ำสุดของไม้สักที่จะกานได้อยู่ด้วย สำเร็จลงด้วยดี

เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการป่าไม้ขึ้นใหม่ ทรงดำเนินการออกกฎหมาย กฎกระทรวง และกฎข้อบังคับ ดั้งนี้ ข้อ ๑. พระราชบัญญัติไม้ซุงและไม้ท่อนที่ดวงตราลบเลือน ร.ศ. ๑๑๖ ข้อ ๒. พระราชบัญญัติประกาศการรักษาป่าไม้ ร.ศ. ๑๑๖ ข้อ ๓. พระราชบัญญัติรักษาต้นไม้สัก ร.ศ. ๑๑๖ ข้อ ๔. พระราชบัญญัติป้องกันลักลอบตีตราไม้ ร.ศ. ๑๑๗ ข้อ ๕. พระราชบัญญัติป้องกันลักลอบไม้สักออกออกจากป่าที่มิได้เสียค่าตอและภาษี ร.ศ. ๑๑๘ ข้อ ๖. กฎเสนาบดีว่าด้อยขอ้บังคับ สำหรับการลากไม้ขอสักที่ได้กานไว้ในป่ามณฑลพิษณุโลก ร.ศ. ๑๒๑ ข้อ ๗. กฎบังคับว่าการอนุญาตไม้สักใช้ในการกุศลและสาธารณประโยชน์ ร.ศ. ๑๑๙ ข้อ ๘. กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยไม้ไหลลอย ร.ศ. ๑๑๙ ข้อ ๙. กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอัตราแบ่งเงินค่าตอไม้มณฑลพายัพ ร.ศ. ๑๒๐ ข้อ ๑๐. พระราชบัญญัติรักษาป่า พ.ศ. ๒๔๕๖

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 28 •เมษายน• 2012 เวลา 18:35 น.• )