เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่เมืองลำพูนมีไก่ขาววิเศษภายหลังจากที่พระเจ้าอาทิตยราชทรงมีชัยชนะต่อกรุงละโว้ แล้วต่อมาทรงมีรับสั่งให้พวกช่างเนาวกรรมทำปราสาทขึ้นใหม่หลังหนึ่งแล้วปลูกหอจัณฑาคารที่ลงพระบังคนไว้ ณ ที่ใกล้ปราสาทนั้น ครั้นสำเร็จเสร็จเรียบร้อยและเสด็จขึ้นประทับบนปราสาทหลังใหม่ พระเจ้าอาทิตยราชก็ได้ประสบกับสิ่งแปลกประหลาดเป็นที่ยิ่งเนื่องจากมีกาตัวหนึ่ง คอยตามรบกวนเวลาที่พระองค์เสด็จไปลงพระบังคนที่หอนั้น ทุกครั้งที่พระเจ้าอาทิตยราชเสด็จไปเพื่อกิจดังกล่าว การเจ้ากรรมตัวนั้นก็จะบินโฉบไปโฉบมาเหนือพระเศียรเป็นที่น่ารำคาญยิ่งนัก ทิวากาลวันหนึ่ง พระเจ้าอาทิตยราช เสด็จไปลงพระบังคนตามปกติ กานั้นก็โผโฉบเฉียดพระเศียรไปมาดุจแกล้ง ซ้ำยังสลัดสิ่งสกปรกตกต้องพระเศียรเสียอีก พระเจ้าอาทิตยราชทรงพิโรธถึงขีดสุด จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ราชบุรุษเข้ามาเฝ้ายังที่ประทับ ณ ปราสาทแห่งใหม่นั้น

“กาตัวนี้บังอาจนัก มันคอยบินโฉบไปโฉบมาได้ทุกวัน ที่ข้าลงไปปฏิบัติกิจประจำวันเป็นดังนี้หลายวันแล้ว ในเจ้าทั้งหลายจัดการดักจับเอาตัวมาให้ได้” อำมาตย์ราชบุรุษ ได้ฟังรับสั่งก็น้อมเกล้าถวายความจงรักภักดี ทูลอาสาจะจับกาตัวนั้นมาให้จงได้ ก็เรียกไพร่พลเข้ามาพร้อมกับเครื่องมือและเครื่องดักต่าง ๆ พยายามอยู่ตั้งสองสามวันก็หาจับกาตัวนั้นมาได้ไม่ พระเจ้าอาทิตยราชเห็นดังนั้นก็ทรงหลากพระทัยเป็นหนักหนา จึงรับสั่งให้จัดพิธีบวงสรวงเทพารักษ์ก็บันดาลให้จับกานั้นได้แต่โดยดีเป็นที่อัศจรรย์นัก พวกอำมาตย์ราชบุรุษก็นำกานั้นเข้าถวายพระเจ้าอาทิตยราช พระองค์ทรงดำริจะให้ประหารกานั้นเสีย แต่ก็ยังแคลงพระทัยอยู่ ไม่รู้ว่าจะเป็นด้วยอำนาจเทพารักษ์หรือหาไม่ประการใด ๆ จึงให้งดการประหารกานั้นไว้และให้ขังกรงเอาไว้ ครั้นราตรีการ พระเจ้าอาทิตยราชก็ทรงสุบินนิมิตว่ามีเทพยดามาแสดงแก่พระองค์พร้อมกับสั่งว่า “พระองค์จงให้นำเอาทารกเกิดใหม่ได้ ๗ วัน มาไว้กับกรงกาเถิด ให้ทารกนั้นได้ฟังเสียงกาทุกวัน ๆ ก็จะทราบภาษากาได้” เทพยาดาบอกแล้วก็อันตรธานหายไป พระเจ้าอาทิตยราชตื่นบรรทมแล้วเสด็จออกข้างหน้าในวันรุ่งขึ้น ได้ทรงเล่าพระสุบินนั้นแก่พระราชครูโหราจารย์ทั้งหลายและรับสั่งให้จัดหาทารกเกิดใหม่มากระทำดังคำบอกของเทพยดา บรรดาอำมาตย์รับสนองพระบรมราชองค์การแล้วก็นำมาปฏิบัติตามทุกประการ ครั้นจำเนียรกาลผ่านไป ทารกซึ่งอยู่ในที่สงัดกับกาก็เจริญวัยใหญ่ขึ้นมา จนสามารถที่จะเข้าใจภาษาพูดของกาได้ และฝ่ายกานั้นก็ได้เรียนเข้าใจภาษาของมนุษย์ดุจกัน พระเจ้าอาทิตยราชได้ทรงทราบก็ตรัสสั่งให้เด็กนั้นซักไซ้ไถ่ถามความเป็นไปเป็นมาแต่หนหลัง กานั้นก็ทูลให้ทราบถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ตนต้องกระทำการอันเป็นที่ขุ่นเคืองพระทัยแต่กาลก่อน “ข้าแต่บรมกษัตริย์เป็นเจ้า อันสถานที่ซึ่งพระองค์ได้ทรงสร้างหอจัณฑาคารนั้น หากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสรรเพชรพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสพุทธฎีกาพยากรณ์ไว้แก่พวกเมงคบุตร ในกาลครั้งอดีตโน้น อันว่าพญากาเผือกอันเป็นอัยกาของผู้ข้านี้ก็ได้สั่งไว้ให้อยู่รักษาสถานที่นี้ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทราบว่าที่มงคลสถาน จะมาลงบังคนกระทำให้ไม่สะอาด ผู้ข้าจึงได้ขัดขวางสิ่งวิประการเพื่อจะเตือนมิให้พระองค์กระทำการลามก ณ สถานที่นี้ หากพระบรมกษัตริย์ไม่เชื่อคำพูดข้า ก็ขอทรงโปรดปล่อยพวกข้าจากกรง ข้าจะนำเอาพญาเผือกผู้เป็นอัยการของข้ามาแต่ป่าหิมพานต์ให้แสดงที่นี้โดยพิสดารแก่พระบรมกษัตริย์” พระเจ้าอาทิตยราชได้ทรงทราบถึงข้อความเหล่านั้น โดยคำแปลของเด็กน้อยจึงโปรดให้เปิดกรง ปล่อยกานั้นให้บินออกไปสู่ป่าหิมพานต์ ต่อมาไม่ช้า ก็พาเอาพญากาเผือกผู้เป็นปู่มาเฝ้าพระเจ้าอาทิตยราช พญาเศวตกากะราชก็แสดงธรรมแก่พระเจ้าอาทิตยราชโดยนัยดังกล่าวมาล้าข้าวต้น เสร็จแล้วพญาเศวตกากะราชก็พาบริวารกลับคืนสู่ป่าหิมพานต์” ทางฝ่ายเมืองหิริภุญไชยพระเจ้าอาทิตยราชซึ่งบังเกิดพระทัยเลื่มใสศรัทธาในคุณพระพุทธเจ้า จึงเสด็จลงจากราชนิเวศน์รับสั่งให้ข้าราชบริพารจัดการกวาดล้าง ชำระมลทินนำดินที่ไม่ดีไปทิ้งเสียที่นอกพระนคร แล้วนำดินที่ดีมาถมทำให้บริบูรณ์ขึ้น แล้วให้เลิกรื้อราชคฤหาสน์อันเป็นที่ประทับของพระองค์ออกไปให้พ้นจากที่นั้น ครั้นแล้วก็มีรับสั่งให้กระทำที่นั้นเป็นปริมณฑลกลมรอบกว้างสามสิบวา โดยทราบและโปรยปรายเงินทองให้หนาได้หนึ่งศอก ประดับประดาด้วยสุคันธชาติดอกไม้ของหอม ปักราชวัตรฉัตรธงโดยลำดับ แล้วทรงสักการบูชาพระบรมสารีกธาตุด้วยธูปเทียนเป็นอันมาก ต่อมาทรงให้ประกาศป่าวร้องให้ชาวเมืองมาร่วมสักการะด้วย ครั้งนั้น ชาวนครต่างก็แตกตื่นกันมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุกันเป็นการใหญ่ ทุกคนมีประทีปธูปเทียนมาลาเครื่องจุณสุคันธวาโสรจสรงอย่างพร้อมเพรียง ภายหลังการสักการบูชาดังกล่าวก็ปรากฏผลอันน่าปลื้มปีติ คือบังเกิดรัตน์ผอบบรรจุพระธาตุขนาดเท่าปลีกธุลี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพีให้เห็นดังปาฏิหาริย์รุ่งโรจน์โชตนาให้เห็นทั่วกันแล้วก็กลับคืนลงในภาคพื้นปฐพีดังเก่า ขณะเมื่อพระธาตุกระทำอิทธิปาฏิหาริย์นั้น ก็เอิกเกริกโกลาหลด้วยเสียงแซ่ซร้องสาธุการ และเสียงประโคมดุริยดนตรี ฆ้อง กลองแตรสังข์กังสดาลสนั่นหวั่นไหวทั่วไป ในพระนครพระเจ้าอาทิตยราชก็ทรงชื่นชมโสมนัสในศุภนิมิตครั้งนี้เป็นยิ่งนัก ทรงโปรดให้แต่งการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์ใหญ่สูงหนึ่งเส้นสามวา ณ ที่บรรจุพระธาตุนั้น แล้วสั่งให้สร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ ศาลาน้อยใหญ่เป็นมหาอารามหลักนครหริภุญไชย พระองค์ทรงบำเพ็ญราชกุศลเป็นอเนกประการ พระนครก็เป็นผาสุกเกษมสำราญหาทุกข์ภัยมิได้ พระเจ้าอาทิตยราชเสวยราชสมบัติสืบต่อมาอีก ๕ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต พระโอรสทรงพระนามว่า “รัตนราช” ครองราชย์สมบัติสืบต่อมาได้ ๕ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ พระราชบุตรของพระรัตนราช ทรงนามว่า “สรรพสิทธิราช” ครองราชย์สมบัติต่อไปได้  ๔๕ พรรษา ก็ประชวรเสด็จสู่สวรรคต พระโอรสทรงนาม “เชฐราช”ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อไปได้ ๑๕ พรรษาก็ถึงซึ่งทิวงคต ต่อจากนั้นมีราชวงศ์อื่น ๆ ขึ้นครองเมืองหริภุญไชยอีกหลายชั่วอายุ ครองอยู่ ๒๐ ปีบ้าง ๑๒ ปีบ้าง พระองค์ก็ครองอยู่เพียงหนึ่งปีก็สิ้นพระชนม์ ลุถึงศักราช ๕๖๙ ราชบุตรโยทราชได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อมาอีกสองชั่วราชวงศ์จึงถึงพญายี่บา ซึ่งได้ครองราชย์สมบัติเมืองจุลศักราช ๖๓๓ พญายี่บาเจ้าเมืองหิริภุญไชยก็ได้พญาเบิกผู้ครองราชย์บุตรไปครองเมืองเขลางค์ ครั้นต่อมาอีกประมาณ ๑๐ ปี มีขุนฟ้า จารบุรุษของพระเจ้าเม็งรายแห่งนครโยนก เข้ามากระทำการอันเป็นจารกรรมใช้เวลาถึง ๗ ปีก็เป็นผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย พระเจ้าเม็งรายยาตราทัพเข้าชิงเมืองลำพูนในขณะที่พลเมืองกำลังตกอยู่ในภาวะที่ลำบากยากเข็ญ พญายี่บาหนีไปหาพญาเบิกผู้บุตรที่นครเขลางค์ และต่อมาอีกหลายปี พญาสองพ่อลูกก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปสัประยุทธ์กับราชบุตรของพระเจ้าเม็งรายอีกแต่ต้องพ่ายแพ้และพญาเบิกเสียชีวิตในการรบครั้งนั้น