สืบเนื่องมาจากพระเจ้าพรหมมหาราชที่เคยลงเว็บไซต์ พระเจ้าพรหมมหาราชยับยั้งพักพลอยู่เพียงนั้นชั่วคราว ต่อมาพระเจ้าพรหมก็เลิกทัพกลับไปยังโยนกมหานคร อัญเชิญพระองค์พังคราชพระราชบิดาขึ้นครองราชย์ตามเดิม แล้วทรงตั้งเจ้าชายทุกขิตกุมารผู้พี่ขึ้นเป็นมหาอุปราช ขนานนามพระนครว่า นครไชยบุรี ส่วนพระองค์เสด็จไปสร้างเมืองขึ้นอีกเมืองหนึ่ง เพราะไม่ไว้ใจข้าศึก เกรงจะยกทัพมารุกรานอีก เมืองที่พระเจ้าพรหมทรงสร้างครั้งนี้ เป็นทำเลริมน้ำ แม่น้ำนั้นมีรูปร่างคล้ายฝักฝาง ไหลติดต่อกับแม่น้ำกก เป็นทางที่พวกข้าศึกอาจยกมา เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ขนานนามพระนครใหม่กว่านี้ เมืองไชยปราการ ปัจจุบันนี้กลายเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เรียกสั้น ๆ ว่าอำเภอฝาง พระเจ้าพรหมก็เสด็จมาครองราชย์ อยู่ที่นครไชยปราการตอนนั้น แว่นแคว้นโยนกมีสี่มหานครด้วยกัน คือ ไชยบุรีโยนกนครหลวง ๑ เวียไชยนารายน์แคว้นขวา ๑ เวียงไชยปราการแคว้นซ้าย ๑ และเวียงพางคำอีก ๑ พระเจ้าพรหมมหาราช ครั้นได้อภิเษกกับพระนางแก้วสุภา แล้สก็ได้พระราชโอรส ทรงพระนามว่าพระเจ้าไชยศิริกุมาร

เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราชสวรรคตแล้ว ก็ได้ครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดา ตอนนั้นมีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระนครทั้งนั้นก็มีแต่ความวัฒนาสถาพร มีพระเกียรติยศรุ่งเรืองลือชาปรากฏไปทั่วทุกศานุทิศ จนกระทั่ง ๑๑ ปีล่วงไปจึงได้มีกษัตริย์เมืองสะเทิมในรามัญประเทศ ยกพยุหโยธาเป็นอันมากข้ามแม่น้ำคงมาทางตำบลโพธิ์สี่ต้น มิลักขูทั้งหลายก็มากราบทูลเจ้าไชยศิริทรงทราบ เจ้าไชยศิริก็ส่งข่าวไปยังสามพระนครให้ยกมาช่วย แต่สู้รบกันอยู่เป็นเวลาหลายเดือน พวกรามัญทั้งหลายยกพลเนื่องหนุนมาไม่ขาด กองทัพโยนกก็ถอยกำลังลงทุกวัน พระเจ้าไชยศิริได้ให้โหรมาคำนวณดูชะตาเมืองก็ทราบว่าชะตาเมืองขาดแล้วจกที่สูงสามถานเห็นจะรักษาไว้ไม่ได้ พระเจ้าไชยศิริทรงทราบเช่นนั้น ก็ตัดสินพระทัยคิดจะไปสร้างเมืองใหม่เอาข้างหน้า พระองค์จำกำหนดให้เสนามาตย์ข้าราชการและราษฎรทั้งหมด รวบรวมเสบียงอาหารทรัพย์สมบัติของมีค่าพอเอาติดตัวไปได้ ที่เหลือจากนั้นก็ให้จุดไฟเผาสิ้น มิให้เหลือไว้เป็นของข้าศึก คนทั้งนั้นก็กระทำโดยราชบริหาร พระเจ้าไชยศิริยกรี้พลครอบครัวราษฎรอพยพออกจากนครไชยปราการแล้ว ครั้นจะขึ้นไปทางเมืองบุรีเชียงแสนก็เป็นฤดูฝนน้ำหลาก ข้ามยาก จึงได้มุ่งมาทางตะวันออกเฉียงใต้ทางผาหมื่นผาแสน แล้วไปถึงดอยชมพู คือดอยด้วนซึ่งกลายมาเป็นเมืองพะเยาเดี่ยวนี้ พักอยู่ที่ดอยด้วนพอหายอิดโรยแล้ว ก็ยกล่องลงมาทางใต้เดินทางรอนแรมเป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษก็บรรลุถึงแดนเฉลี่ยง ซึ่งพระพรหมมหาราชได้เคยขับไล่ขอมมาถึงที่นั่นในกาลก่อนจึงพักพลอยู่ ณ ที่นั้น คือเป็นเมืองร้างตรงฟากฝั่งตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร ดูเหมือนจะเป็นเมืองแปบ ที่นี้ก็มีชีปะขาวคนหนึ่งมาชี้ที่ให้พระเจ้าไชยศิริตั้งพระนครทูลว่า “ขอมหาราชเจ้าจงตั้งพระนครยังสถานที่นี้เถิด เพราะเป็นที่ไชยภูมิดีไม่มีข้าศึกศัตรูมาเบียดเบียนได้” พระเจ้าไชยศิริก็ทรงทราบในพระทัย ว่าสมเด็จอมรินทราธิราชเสด็จมาชี้ที่ให้ตั้งพระนคร ก็มีความโสนัสปรีดายิ่งนัก ครั้นถ้วนสามวันแล้ว ก็ให้ฝังหลักเมืองตั้งพระนครล้อมระเนียดค่ายคูประตูหอรบครบบริบูรณ์ทั้งราชนิเวศร์มณเฑียรสถานครั้นสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ขึ้นครองนคร ขนานนามว่า “เมืองกำแพงเพชร” โดยถือเอานิมิตที่สมเด็จพระราชบิดาไล่ปราบขอมลงมา และพระอินทร์ใช้ให้พระวิษณุกรรมนฤนิมิตกำแพงกั้นไว้และสถานที่ ที่ชีปะขาวมาชี้ที่ให้ตั้งนั้น ได้ชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์ ขณะนั้นมีพลเมืองเพียงแสนครัวเรือน ต่างตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำแม่ระมิงค์ตลอดสบน้ำทั้งสองฝั่ง พระเจ้าไชยศิริครองราชสมบัติในนครนั้นมีพรนามปรากฏเป็นที่รู้จักว่า “พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน” เป็นใหญ่ในแคว้นนั้นสืบต่อมา ส่วนกองทัพเมืองสะเทิมเข้าเมืองไชยปราการได้ก็จริงแต่ไม่มีสมบัติหรือผู้คนเหลืออยู่เลย แกก็ต้องยกทัพกลับไปด้วยความผิดหวัง