เจ้าผู้ครองนครใน “ล้านนาประเทศ” ช่วงเป็นประเทศราชของ “สยามประเทศ” หรือที่นิยมเรียกทั่วไปว่า “เจ้าหลวง” ในมุมมองของสยามผู้เป็นเจ้าอธิราชถือว่าเป็น “เจ้าเมือง(เจ้าประเทศราช)” ส่วนมุมมองของล้านนารวมถึงในเมืองนครแพร่ถือว่าเป็น “กษัตริย์” ดังปรากฏพระนามแทนเจ้าหลวงนครแพร่แต่ละองค์ว่า “พระกระสัตราธิราช” หรือ “พระองค์สมเด็จพระบรมบัวพิตองค์เปนเจ้า”(เจ้าหลวงอินทวิไชยราชา) หรือ “องค์สมเด็จมหาราชหลวง” หรือ “สมเด็จพิมพิสารมหาราช”(เจ้าหลวงพิมพิสารราชา) แต่ทว่าเท่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเจ้าหลวงนครแพร่ยังมีความคลาดเคลื่อน ทั้งที่มาของต้นปฐมราชวงศ์ จำนวนองค์เจ้าหลวงที่ขึ้นครองนคร ลำดับการครองนคร ระยะเวลาที่ขึ้นครองนคร ตลอดจนถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าหลวงองค์ก่อนหน้า เนื่องจากข้อจำกัดด้านหลักฐานและในเมืองแพร่เพิ่งเริ่มค้นคว้าถึงเจ้าหลวงองค์ก่อนเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงนครแพร่องค์สุดท้ายช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา

ดังหนังสือที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดแพร่ ที่จังหวัดแพร่ทำขึ้นพ.ศ.๒๕๐๑ ก็กล่าวถึงเฉพาะเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เพียงองค์เดียวและกล่าวว่าเจ้าผู้ครองนครแพร่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เหมือนเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองนครลำพูน จนช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมาจึงมีการค้นคว้าเจ้าหลวงนครแพร่เพิ่มเติมมีทั้งหมดจำนวน ๕ องค์ คือ

(๑) เจ้ามังไชย(พระยาศรีสุริยวงศ์) พ.ศ.๒๓๑๑ – ๒๓๕๓

(๒) เจ้าหลวงเทพวงศ์(เจ้าหลวงลิ้นตอง) พ.ศ.๒๓๖๑ – ๒๓๗๒

(๓) เจ้าหลวงอินต๊ะวิชัย พ.ศ.๒๓๗๓ – ๒๔๑๔

(๔) เจ้าหลวงพิมพิสาร พ.ศ.๒๔๑๕ – ๒๔๓๑

(๕) เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ พ.ศ.๒๔๓๒ – ๒๔๔๕

พร้อมกับระบุว่าเจ้าหลวงเทพวงศ์(เจ้าหลวงลิ้นตอง) เป็นราชบุตรของเจ้าฟ้าชายสาม เจ้าผู้ครองนครเชียงตุง ราชวงศ์มังราย ได้มาเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ และช่วงพ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๕๐ ได้มีข้อสันนิษฐานใหม่ว่าเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ได้มาจากเจ้าฟ้าชายสาม แต่สืบเชื้อสายมาจากพญาเชียงเลือ(เชียงเลอ) เจ้าเมืองแพร่เมื่อพ.ศ.๒๑๐๖ และกล่าวว่าเป็นเชื้อสายรายวงศ์มังราย พร้อมกับมีการค้นคว้าเรียบเรียงเจ้าหลวงเมืองแพร่ขึ้นใหม่ที่ใช้มาถึงปัจจุบันมีทั้งหมด ๖ องค์ดังนี้

(๑) เจ้าหลวงแสนซ้าย พ.ศ.๒๓๐๐ – ๒๓๑๐

(๒) เจ้าหลวงเมืองไจย พ.ศ.๒๓๓๓ – ๒๓๖๐

(๓) เจ้าหลวงอุปเสน พ.ศ.๒๓๖๑ – ๒๓๖๒

(๔) เจ้าหลวงอินทรวิไชย พ.ศ.๒๓๖๒ – ๒๓๙๓

(๕) เจ้าหลวงพิมพิสาร พ.ศ.๒๓๙๓ – ๒๔๓๒

(๖) เจ้าหลวงเมื่อได้ตรวจสอบกับเอกสารชั้นต้นต่างๆ ทั้งฝ่ายล้านนาและสยาม ก็พบว่ามีความคลาดเคลื่อนหลายประการดังกล่าวมาแล้วในข้างต้น ดังนั้นผู้เขียนจึงทำการค้นคว้าวิพากษ์วิเคราะห์เกี่ยวกับเจ้าหลวงนครแพร่ขึ้นใหม่มาเป็นเบื้องต้น โดยเอกสารชิ้นสำคัญที่บันทึกถึงลำดับราชวงศ์เจ้าหลวงนครแพร่โดยตรงของล้านนาคือพับสาที่เก็บรักษาไว้วัดดอยจำค่าระบุว่าพิริยเทพวงศ์ พ.ศ.๓๔๓๓ – ๒๔๔๕

เมื่อได้ตรวจสอบกับเอกสารชั้นต้นต่างๆ ทั้งฝ่ายล้านนาและสยาม ก็พบว่ามีความคลาดเคลื่อนหลายประการดังกล่าวมาแล้วในข้างต้น ดังนั้นผู้เขียนจึงทำการค้นคว้าวิพากษ์วิเคราะห์เกี่ยวกับเจ้าหลวงนครแพร่ขึ้นใหม่มาเป็นเบื้องต้น โดยเอกสารชิ้นสำคัญที่บันทึกถึงลำดับราชวงศ์เจ้าหลวงนครแพร่โดยตรงของล้านนาคือพับสาที่เก็บรักษาไว้วัดดอยจำค่าระบุว่า

“จุลสักกราชได้ ๑๑๓๕ ตัว(พ.ศ.๒๓๑๖) ปีกดสี เจ้าหลวงลิ้นทองเสวยเมืองอยู่ได้ ๔๕ ปี(พ.ศ.๒๓๑๖ – ๒๓๕๙)เถิงสวัรคต ว่าง ๑ ปี(พ.ศ.๒๓๖๐) เจ้าหลวงอินทวิไชยผู้เปนลูกขึ้นแทนอยู่ได้ ๓๑ ปี(พ.ศ.๒๓๖๑ – ๒๓๙๒) ว่าง ๑ ปี(พ.ศ.๒๓๙๓) เจ้าหลวงพิมพิสารขึ้นแทนอยู่ได้ ๓๘ ปี(พ.ศ.๒๓๙๔ – ๒๔๓๒) ว่าง ๒ ปี(พ.ศ.๒๔๓๓ – ๒๔๓๔) เจ้าหัวหน้าเทพวงส์ตนเปนลูกขึ้นแทนอยู่ได้ ๑๐ ปี(พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๔๕) ปีเต่ายี จุลสักกราชได้ ๑๒๖๔ ตัว(พ.ศ.๒๔๔๕) เดือน ๑๐ แรม ๖ ฅ่ำ วัน ๖ เงี้ยวปลุ้นหนีปีนั้นแล้วแล รวมเจ้าหลวง ๔ ตนนี้กินเมือง ๑๒๙ ปี ว่างอยู่ ๕ ปี”  ส่วนบันทึกสำคัญอีกชิ้นหนึ่งเป็นของสยามคือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ กล่าวว่า

“...เมืองแพร่นั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้น พระยาแสนซ้ายได้เป็นเจ้าเมือง ครั้นถึงแก่กรรมแล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งพระเมืองใจบุตรพระยาแสนซ้ายเป็นพระยาแพร่ๆ ถึงแก่กรรมแล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งพระอินทวิไชยบุตรพระเมืองใจเป็นพระยาแพร่ ครั้นถึงแก่กรรมแล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ตั้งราชวงษ์พิมสารบุตรพระยาวังขวา มารดาเป็นน้องพระยาแพร่แสนซ้ายเป็นพระยาแพร่...”

เอกสารทั้ง ๒ ฉบับต่างมีข้อจำกัดและความน่าเชื่อถือต่างกัน ฉบับพับสานั้นมีการบันทึกขึ้นภายหลังพ.ศ.๒๔๔๕ อาจบันทึกขึ้นจากเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ดังนั้นแม้ให้รายละเอียดมากแต่ก็มีความคลาดเคลื่อนมากเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องที่ไกลออกไปในสมัยก่อนเจ้าหลวงพิมพิสารราชา ส่วนเอกสารพระราชพงศาวดารมีความแม่นยำมากกว่า เนื่องจากบันทึกจากศุภอักษรที่ทางเมืองนครแพร่ส่งลงไป เพื่อขอทางสยามรับรองแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครองค์ต่างๆ แต่ก็มีข้อจำกัดไม่ทราบปีที่แต่งตั้งและครองนครที่ชัดเจน ดังนั้นต้องทำการตรวจสอบกับหลักฐานอื่นๆ ทั้งฝ่ายล้านนาและสยามเพิ่มเติมอีก

เริ่มจากเจ้าหลวงองค์แรก คือ “พญามังไชย” ตามชื่อยศเจ้าเมืองแพร่ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากกษัตริย์พม่าในยุคพม่าปกครอง ภายหลังได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีในพ.ศ.๒๓๑๓ พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งยศตามแบบสยามเป็น “พระยาศรีสุริยวงศ์” ส่วนเชื้อสายบรรพบุรุษของพญามังไชยนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน ที่มีการเสนอว่าพญาเชียงเลือ(เชียงเลอ) ผู้ถูกส่งมาปกครองเมืองแพร่เมื่อพ.ศ.๒๑๐๖ เป็นต้นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นเชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์มังรายแต่อย่างใด เดิมอาจเป็นเพียงขุนนางระดับ “เจ้าเมือง” หรือ “เจ้าพันนา” ที่ปกครองพันนาหนึ่งของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น อีกทั้งในยุคพม่าปกครองมีการสับเปลี่ยนเจ้าเมืองหัวเมืองสำคัญต่างๆ อยู่เสมอเพื่อป้องกันการสั่งสมอำนาจ จึงเป็นไปได้น้อยมากที่พม่าจะปล่อยให้เชื้อสายของพญาเชียงเลือสืบทอดอำนาจกันปกครองเมืองแพร่มาจนถึงพญามังไชยกว่า ๒๐๐ ปี และที่กล่าวว่าพญามังไชยเป็นเชื้อสายพม่า แต่จากเอกสารบันทึกฝ่ายสยามระบุว่าพญามังไชยเป็น “คนลาว”(คนล้านนา, ไท ยวน) อีกทั้งคัมภีร์ใบลานที่จารขึ้นโดยพญามังไชยก็เป็นอักษรธรรมล้านนา พญามังไชยจึงเป็นขุนนางเชื้อสายไทยวน ที่กษัตริย์พม่าแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองแพร่มาตั้งแต่ก่อนพ.ศ.๒๓๐๙

เมื่อสวามิภักดิ์กับกษัตริย์สยามจึงได้รับยศใหม่ในพ.ศ.๒๓๑๓ จนกระทั่งพ.ศ.๒๓๓๐ พญามังไชยได้ถูกนำตัวลงไปเฝ้ากษัตริย์สยามรัชกาลที่ ๑ ราชวงศ์จักรี จึงถูกกักตัวไว้ให้อยู่ที่กรุงเทพมหานคร สันนิษฐานว่าเนื่องจากรัชกาลที่ ๑ ทรงไม่ไว้วางพระทัยต่อพญามังไชยที่เคยเป็น(ข้าเก่า)ผู้สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีที่พระองค์เพิ่งได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน และพญามังไชยเคยยกกองทัพเมืองแพร่เข้าร่วมกับพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ.๒๓๑๐ อีกทั้งพญามังไชยพร้อมครอบครัวเคยไปอยู่เมืองอังวะกับกษัตริย์พม่าเป็นเวลานาน จากจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานภวิรัตติจารโดยพญามังไชยถวายวัดหลวง เมืองนครแพร่ เมื่อพ.ศ.๒๓๔๒

“...ปีกัดเม็ด...ปญติว่าพระเมืองไชยลิขิตยามเมื่อสถิตอยู่ยังกุงเทพพระมหานครใหม่วันนั้นแล...” และคัมภีร์ใบลานเรื่องภิกขุปาฏิโมกข์จารโดยพญามังไชยได้นำขึ้นมาถวายวัดศรีชุม เมืองนครแพร่ เมื่อพ.ศ.๒๓๔๓

“...สระเด็จแล้วจุลสักกราชได้พันร้อยหกสิบสองตัว สนำกัมโพชภิไสยไทภาสาว่าปีกดสัน เดือนสิบเอ็ดใต้ แรมเก้าฅ่ำ พร่ำว่าได้วันอาทิตย์ ยามแตรจักใกล้เที่ยงวัน...ตัวปาฏิโมกข์ผูกนี้สัทธามหาอุปาสักกะพระญาแพล่ ตนนามปญตินครไชยวงสา ได้ส้างเขียนไว้โชตกะวรพุทธสาสนายามเมื่อได้ลงมาสถิตอยู่ในเมืองกุงเทพพระมหานคอรใหม่วันนั้นแล ปิตตามาตาภริยาปุตตาปุตตีญาติกาขัตติย์วงสาทังหลายมวล ขอได้ยังผลอานิสงส์เสมอดั่งตัวข้านี้ชู่ตนชู่ฅนเทอะ...”

ทำให้ทราบว่าในช่วงพ.ศ.๒๓๔๓ พญามังไชยยังคงประทับอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และพระนามที่ทรงเขียนเองคือ “พระเมืองไชย” กับ “นครไชยวงศา” ซึ่งชื่อหลังมีการแปลงคำว่า “เมือง” ให้เป็นภาษาบาลีว่า “นคร”(นคระ) สังเกตว่าพญามังไชยทรงเรียกพระนามตนเองว่า “พระเมืองไชย” หรือ “(พระยา)นครไชยวงศา” แทน “พระยาศรีสุริยวงศ์” ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้ง เป็นไปได้ว่าเมื่อผลัดแผ่นดินเป็นราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ ทรงแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง “พระเมืองไชย” หรือ “พระยานครไชยวงศา” ในระหว่างที่พญามังไชยยังประทับอยู่กรุงเทพมหานครอาจเสด็จขึ้นมาเยี่ยมอรรคราชเทวีราชบุตรราชธิดาและพระญาติวงศ์ พร้อมกับได้ทำบุญทานคัมภีร์ธรรมไว้วัดต่างๆ ในเมืองนครแพร่เป็นครั้งคราวดังปรากฏในจารึกท้ายคัมภีร์ใบลาน จากหลักฐานนี้เชื้อสายของพญามังไชยน่าจะมีส่วนร่วมในการปกครองเมืองนครแพร่อยู่ไม่น้อย และพบว่ามีการสร้างความสัมพันธ์กับเชื้อสายของเจ้าหลวงแสนซ้ายผ่านทางการเสกสมรสอีกด้วย ภายหลังพญามังไชยจึงได้กลับมาอยู่เมืองนครแพร่ดังปรากฏจดหมายเหตุระบุพระนาม “พระยาแพร่เฒ่า” ร่วมกับ “พระยาแพร่(เจ้าน้อยอุปเสน)” แต่หลังจากพ.ศ.๒๓๓๐ พญามังไชยเป็นเจ้าผู้ครองแพร่โดยตำแหน่งจางวาง เนื่องจากรัชกาลที่ ๑ ทรงได้รับรองแต่งตั้งให้ “พญาแสนซ้าย” เป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๒ ถัดมาแทนแล้ว

สังเกตชื่อนามในพระราชพงศาวดาร เป็นนามตำแหน่งเดิมก่อนขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ทุกองค์ ดังนั้น “พญาแสนซ้าย” จึงเป็นตำแหน่งเดิมของล้านนา เมื่อสยามรับรองแต่งตั้งจึงได้รับยศเป็น “พระยาแสนซ้าย” เรียกตามแบบล้านนาว่า “เจ้าหลวงแสนซ้าย” พระราชพงศาวดารระบุว่ารัชกาลที่ ๑ ทรงรับรองแต่งตั้ง สันนิษฐานว่าทรงขึ้นครองเมืองหลังจากพญามังไชยถูกกักตัวไว้ที่กรุงเทพมหานครในพ.ศ.๒๓๓๐ เมื่อเจ้าหลวงแสนซ้ายทรงถึงแก่พิราลัย “พระเมืองไชย”(พระราชพงศาวดารเขียนตามการออกเสียงของล้านนาว่า “พระเมืองใจ”(ไจย)) ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งเจ้านายเมืองนครแพร่ตำแหน่งหนึ่ง เป็นราชบุตรของเจ้าหลวงแสนซ้ายขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๓ ต่อมา ผู้ได้รับตำแหน่งพระเมืองไชยองค์นี้เมื่อเทียบลำดับเจ้าผู้ครองนครแพร่คือ “เจ้าน้อยอุปเสน” หรือ “เจ้าน้อยเทพวงศ์” และสอดคล้องกับบันทึกพับสาวัดดอยจำค่า ว่าเมื่อเจ้าหลวงอุปเสนทรงถึงแก่พิราลัยเจ้าหลวงอินทวิไชยผู้เป็นราชบุตรขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่แทน โดยเจ้าหลวงอินทวิไชยราชาเป็นราชนัดดา(หลานปู่)ของเจ้าหลวงแสนซ้าย “...เจ้าหลวงลิ้นทองเสวยเมืองอยู่ได้ ๔๕ ปีเถิงสวัรคต ว่าง ๑ ปี เจ้าหลวงอินทวิไชยผู้เปนลูกขึ้นแทน...” เมื่อได้ขึ้นครองนครแพร่ต่อจากเจ้าบิดาจึงเรียกว่า “เจ้าหลวงอุปเสน” หรือ “เจ้าหลวงเทพวงศ์” และด้วยทรงมีปิยวาจาจึงมีพระฉายาที่ชาวเมืองเรียกว่า “เจ้าหลวงลิ้นทอง”(ออกเสียง “เจ้าหลวงลิ้นตอง”) เจ้าหลวงอุปเสนได้เสกสมรสกับเจ้านางสุชาดาอรรคราชเทวี ราชธิดาของเจ้าหลวงนครไชยวงศา(พญามังไชย) เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๑

อีกทั้งสอดรับกับจดหมายเหตุพระราชทานพระแสงปืนเมื่อพ.ศ.๒๓๖๘ ระบุว่าเจ้าหลวงอุปเสนเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่และเป็นราชบิดาของท้าวอินทวิไชยผู้เป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ต่อมา “พญาแพร่เถ้า...หนอยอุปเสนเปนพญาแพร่...ทาวอินทวิไชบุตพญาแพร่...พญาลคอร...หม่อมบุญมา เมืองลคอร...” แต่ตัวเลขจุลศักราชหมวดหมู่ในจดหมายเหตุอาจคลาดเคลื่อนเพราะช่วงนี้(พ.ศ.๒๓๖๘) พระเจ้าดวงทิพย์ เป็นพระเจ้านครลำปางไม่ได้เป็น “พระยาลำปาง(พญาลคอร)” และในปีพ.ศ.๒๓๔๘ เจ้าบุญมาได้ขึ้นมาตั้งฟื้นฟูเมืองนครลำพูนแล้วไม่ได้อยู่ในเมืองนครลำปาง ดังนั้นเนื้อหาจดหมายเหตุช่วงเจ้าผู้ครองนครลำปางยังมียศเป็น “พระยา” และเจ้าบุญมายังอยู่เมืองนครลำปางจึงควรก่อนพ.ศ.๒๓๔๘ ซึ่งสอดคล้องกับลำดับเจ้าผู้ครองนครแพร่ เนื่องจากช่วงนี้เจ้าหลวงแสนซ้ายได้ทรงถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าหลวงอุปเสนผู้เป็นราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน ดังนั้น “พระยาแพร่เฒ่า” จึงหมายถึงเจ้าหลวงนครไชยวงศา(พญามังไชย)ที่ได้เสด็จกลับจากกรุงเทพมหานคร ขึ้นมาอยู่กับอรรคราชเทวีราชบุตรราชธิดาพระญาติวงศ์ในเมืองนครแพร่ (กลับขึ้นมาในช่วงหลังพ.ศ.๒๓๔๓ ถึงก่อนพ.ศ.๒๓๔๘) ดังนั้นในสมัยเจ้าหลวงอุปเสนเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ จึงมีเจ้าผู้ครองนครแพร่เฒ่าอีกองค์หนึ่งเป็นเสมือนเจ้าหลวงจางวางช่วยเป็นที่ปรึกษาปกครองบ้านเมือง

เมื่อเจ้าหลวงอุปเสนทรงถึงแก่พิราลัย ราชบุตรองค์ใหญ่ของเจ้าหลวงอุปเสนกับเจ้านางสุชาดาอรรคราชเทวีคือ “พระอินทวิไชย” หรือ “ท้าวอินทวิไชย” หรือทรงมีพระนามเดิมว่า “เจ้าน้อยอินทวิไชย” ประสูติเมื่อพ.ศ.๒๓๒๔ ได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๔ ในพ.ศ.๒๓๕๙ ชนมายุ ๓๕ พรรษา ดังจากรึกวัดมหาโพธิ์ เมืองนครแพร่ พ.ศ.๒๓๘๖ จารึกไว้ว่า

ส่วนปีที่เจ้าหลวงอินทวิไชราชาทรงถึงแก่พิราลัยไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานจากพ.ศ.๒๓๘๖ เจ้าหลวงอินทวิไชยราชายังทรงทำการฉลองวัดมหาโพธิ และพ.ศ.๒๓๙๐ เจ้าหลวงอินทวิไชยราชายังได้ทรงร่วมกับครูบาเจ้ากัญจนอรัญวาสีมหาเถร วัดสูงเม่น บัญญัติกฎหมายอาชญาเจ้ามหาชีวิตและวินัย และเมื่อเทียบกับพระราชพงศาวดาร ระบุว่ามีการรับรองแต่งตั้งเจ้าหลวงพิมพิสารราชาขึ้นครองนครแพร่ในรัชกาลที่ ๓ (รัชกาลที่ ๓ ครองราชย์พ.ศ.๒๓๖๗ – ๒๓๙๓) และหากยึดตามบันทึกจากพับสาของวัดดอยจำค่าว่าเจ้าหลวงอินทวิไชยราชาเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ ๓๑ ปี(พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๙๐) ว่าง ๑ ปี(พ.ศ.๒๓๙๑) และเจ้าหลวงพิมพิสารราชาเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ ๓๘ ปี(พ.ศ.๒๓๙๑ – ๒๔๒๙) ดังนั้นเจ้าหลวงอินทวิไชยราชาจึงทรงถึงแก่พิราลัยพ.ศ.๒๓๙๐ ชนมายุ ๖๖ พรรษา ด้วยเจ้าหลวงอินทวิไชยราชาทรงเสกสมรสกับเจ้านางสุพรรณวดีอรรคราชเทวี มีราชธิดา ๓ องค์ มีราชบุตร ๑ องค์คือเจ้าน้อยศรีวิไชยแต่ก็ทรงวายชนม์เมื่อพ.ศ.๒๓๗๘(ส่วนราชธิดาอีก ๒ องค์ประสูติกับชายาองค์อื่น) ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้พระยาราชวงศ์(เจ้าพิมพิสาร) ที่มีศักดิ์เป็นเจ้าอาว(ลูกพี่ลูกน้องเจ้าบิดาของเจ้าหลวงอินทวิไชยราชา)ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ต่อมา

เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๕ เจ้าหลวงพิมพิสารราชา ประสูติเมื่อพ.ศ.๒๓๕๔ เป็นราชบุตรของพระยาวังขวา(เจ้าวังขวา)กับเจ้านางผู้เป็นขนิษฐา(น้องสาว)ของเจ้าหลวงแสนซ้าย มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าหลวงอุปเสน(เจ้าน้อยเทพวงศ์) เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๓ ส่วนพระยาวังขวาอาจมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับเจ้าหลวงนครไชยวงศา(พญามังไชย)หรือเจ้าหลวงแสนซ้าย เจ้าพิมพิสารได้เป็นพระยาราชวงศ์ในสมัยเจ้าหลวงอินทวิไชยราชา ต่อมาพ.ศ.๒๓๙๐ ชนมายุ ๓๖ พรรษา รัชกาลที่ ๓ ทรงรับรองแต่งตั้งขึ้นเป็น “พระยาพิมพิสารราชา” หรือเรียกแบบล้านนาว่า “เจ้าหลวงพิมพิสารราชา” เจ้าผู้ครองนครแพร่ ด้วยทรงมีขาคดเล็กน้อยจึงมีพระฉายาว่า “เจ้าหลวงขาเค” หรือ “เจ้าหลวงแค่งแคะ” ทรงเสกสมรสกับเจ้านางแก้วไหลมาอรรคราชเทวีแต่ไม่มีราชบุตรราชธิดา และมีราชเทวีเท่าที่ปรากฏอีก ๒ องค์คือเจ้านางธิดา(มีราชธิดา ๓ องค์ ราชบุตร ๑ องค์) กับเจ้านางคำใย้(มีราชบุตร ๑ องค์) เจ้าหลวงพิมพิสารราชาทรงถึงแก่พิราลัยเวลาบ่าย ๕ โมง แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ พ.ศ.๒๔๒๙ ชนมายุ ๗๔ พรรษา

เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๖ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ พระนามเดิม “เจ้าน้อยเทพวงศ์” ประสูติวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๗๙ เป็นราชบุตรองค์เล็กของเจ้าหลวงพิมพิสารราชากับเจ้านางธิดา(มีเจ้าพี่นาง ๓ องค์) ได้รับตำแหน่งพระยาอุปราช(พระยาหอหน้า)เมื่อพ.ศ.๒๔๒๑ ด้วยเจ้าหลวงพิมพิสารราชาทรงพระประชวร พระยาอุปราช(เจ้าน้อยเทพวงศ์)จึงรั้งเมืองนครแพร่มาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๒๘ จนกระทั่งวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๓ ชนมายุ ๕๓ พรรษา ได้รับการรับรองแต่งตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นเป็น “พระยาพิริยวิไชย อุดรวิไสยวิปผาระเดช บรมนฤเบศร์สยามินทร์สุจริตภักดี”(พระยาพิริยวิไชย) เจ้าผู้ครองนครแพร่ และในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๙ ได้เลื่อนขึ้นเป็น “เจ้าพิริยเทพวงศ์” เจ้าผู้ครองนครแพร่ภายใต้เศวตฉัตร ๕ ชั้น ทรงเสกสมรสกับเจ้านางบัวถา(พระธิดาพระยาบุรีรัตน์(เจ้าหนานปัญญา)กับเจ้านางเรือนแก้ว(ขนิษฐาเจ้าหลวงพิมพิสารราชา), ไม่มีราชบุตรราชธิดา) ภายหลังเสกสมรสกับเจ้านางบัวไหล(พระธิดาพระยาไชยสงครามกับเจ้านางอิ่น(เมืองยอง), มีราชธิดา ๗ องค์ ราชบุตร ๑ องค์) เจ้านางบัวแก้ว(มีราชธิดา ๑ องค์) เจ้านางพระนัดดาเจ้าอุปราชเมืองนครหลวงพระบาง(มีราชบุตร ๑ องค์) หม่อมบัวคำ(มีราชบุตร ๑ องค์) หม่อมคำป้อ(มีราชธิดา ๑ องค์) หม่อมเที่ยง(มีราชธิดา ๒ องค์) และหม่อมไม่ทราบนาม(มีราชบุตร ๑ องค์) ในปีพ.ศ.๒๔๔๕ ได้เสด็จลี้ภัยทางการเมืองไปประทับอยู่เมืองนครหลวงพระบางจนถึงแก่พิราลัยในพ.ศ.๒๔๕๒ ชนมายุ ๗๓ พรรษา

จากหลักฐานขณะนี้จึงสามารถเรียงลำดับและช่วงเวลา ที่ทรงขึ้นครองเมืองของเจ้าผู้ครองนครแพร่สมัยเป็นประเทศราชของสยาม โดยผู้เขียนนับรวมตั้งแต่ปีเจ้าผู้ครองนครองค์ก่อนทรงถึงแก่พิราลัย และเจ้าผู้ครองนครองค์ใหม่ทรงขึ้นรั้งเมือง จนถึงได้รับการรับรองแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากกษัตริย์สยาม มีจำนวน ๖ องค์ ดังนี้

(๑) เจ้าหลวงนครไชยวงศา (เจ้าหลวงเมืองไชย) ก่อนพ.ศ.๒๓๐๙ – ๒๓๓๐ (ประมาณ ๒๑ ปี)

(๒) เจ้าหลวงแสนซ้าย พ.ศ.๒๓๓๐ – ก่อนพ.ศ.๒๓๔๘ (ประมาณ ๑๘ ปี)

(๓) เจ้าหลวงอุปเสน (เจ้าหลวงลิ้นทอง, เจ้าน้อยเทพวงศ์, ราชบุตร ๒ ราชบุตรเขย ๑) ก่อนพ.ศ.๒๓๔๘ - พ.ศ.๒๓๕๙ (ประมาณ ๑๑ ปี)

(๔) เจ้าหลวงอินทวิไชยราชา (เจ้าน้อยอินทวิไชย, ราชบุตร ๓) พ.ศ.๒๓๕๙ – ๒๓๙๐ (๓๑ ปี)

(๕) เจ้าหลวงพิมพิสารราชา (เจ้าหลวงขาเค, ลูกพี่ลูกน้อง ๓ ราชบุตรขนิษฐา ๒) พ.ศ.๒๓๙๐ – ๒๔๒๙ (๓๙ ปี)

(๖) เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ (เจ้าน้อยเทพวงศ์, ราชบุตร ๕) พ.ศ.๒๔๒๙ – ๒๔๔๕ (๑๖ ปี)

ภูเดช แสนสา

คัมภีร์ธรรมภิกขุปาฏิโมกข์เจ้าหลวงนครไชยวงศา (พญามังไชย) จารถวายวัดศรีชุม เมืองนครแพร่ พ.ศ.๒๓๔๓ (ที่มา : ภัทรพงค์ เพาะปลูก)

 

จารึกเจ้าหลวงอินทวิไชยราชา เจ้านางสุพรรณวดีอรรคราชเทวี ราชบุตรราชธิดาพร้อมพระญาติวงศ์ทรงสร้างวัดมหาโพธิ เมืองนครแพร่ พ.ศ.๒๓๘๖ (ที่มา : จารึกในจังหวัดแพร่)

 

เจ้าหลวงพิมพิสารราชา เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๕ (ที่มา : เล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต)

 

พระราชลัญจกร(ตราประจำตำแหน่ง) ของเจ้าหลวงพิมพิสารราชา (ที่มา : เล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต)

 

เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๖ (ที่มา : ปกิณกะวัฒนธรรมจังหวัดแพร่)

 

พระราชลัญจกร(ตราประจำตำแหน่ง) ของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ด้านล่างสลักเป็นอักษรธรรมล้านนา “๑๒๔๗ นครเมืองแพร่” จ.ศ. ๑๒๔๗ (พ.ศ.๒๔๒๘)คือปีที่ขึ้นรั้งเมือง (ที่มา : เล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต)

 

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 01 •กุมภาพันธ์• 2013 เวลา 13:11 น.• )