ตำบลบ้านหนุน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ อาจารย์พัฒน์ คำเหลือง เรียบเรียง บ้านลองลือบุญ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2435 โดยกลุ่มบุคคลกลุ่มใหญ่ที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งหมู่บ้าน เป็นผู้ที่อาศัยอพยพครอบครัว มาจากอำเภอลอง จังหวัดแพร่ เท่าที่ผู้เฒ่า ผู้แก่ได้เล่าสืบ ๆ กันมาได้ความว่า พื้นเพเดิมของบุคคลกลุ่มนี้อยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แล้วอพยพไปอยู่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางและอำเภอลอง จังหวัดแพร่ตามลำดับ ต่อมาบริษัททำไม้ชื่อบริษัทเอเชียติค ได้รับสัมปทานในการทำไม้ที่จังหวัดแพร่จึงได้ว่าจ้างคนงานตัดฟันไม้ จากอำเภอลอง ไปตัดฟันไม้ที่ห้อยแม่มาน และบริเวณป่าอื่น ๆ ในอำเภอสูงเม่น โดยให้คนงานพักอยู่ที่บ้านหัวดง ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น เมื่อทำไม้ที่อำเภอสูงเม่นเสร็จแล้ว ก็ได้ย้ายมาทำต่อที่อำเภอสอง โดยอาศัยพื้นที่ใกล้บริเวณแม่น้ำยม เป็นแหล่งรวมหมอนไม้ นอกจากนั้นบริษัทยังได้ว่าจ้างคนงานจากอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และบ้านหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย มาทำไม้ด้วย โดยคนงานจากอำเภอลองส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างตัดฟัน กลุ่มลับแลและหาดเสี้ยวเป็นผู้ชักลาก ใช้พาหนะในการชักลากคือ ล้อเกวียนและช้าง ใช้สถานที่บริเวณทุ่งต้นศรี เป็นปางล้อเกวียน บริเวณฝั่งแม่น้ำยมทางทิศตะวันตกของวัดหนุนเหนือ เป็นปางช้าง ผู้รับสัมปทานได้ตั้งแค้มป์สำนักงานไว้บริเวณนั้นด้วย จนชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า บ้านห้างซึ่งหมายถึงบ้านพักของนายห้างบริษัททำไม้

เมื่อได้ชักลากไม้เสร็จตามโควตาแล้ว คนงานส่วนใหญ่เห็นว่าเมืองสอง เป็นเมืองสงบสุข มีที่ทำกินอุดมสมบูรณ์จึงชวนกันจับจองที่ดินสำหรับตั้งหมู่บ้าน พวกหาดเสี้ยวจับจองที่ดินบริเวณใกล้กับห้าแยกในปัจจุบัน เรียกว่าบ้านเสี้ยว พวกลับแลเลือกเอาบริเวณฝั่งแม่น้ำสองด้านทิศเหนือ ส่วนพวกอำเภอลอง เลือกเอาฝั่งทางด้านใต้ ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำสองไหลลงสู่แม่น้ำยมทางทิศตะวันตกที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าทั้งบ้านเสี้ยว บ้านลับแล และบ้านลอง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นอย่างผสมผสานกันเหมือนเครือญาติ การสร้างวัดครั้งแรก ก็ช่วยกันสร้างขึ้นที่วัดเสี้ยวก่อน และทั้งสามหมู่บ้านก็ไปทำบุญที่เดียวกัน ในช่วงปี พ.ศ. 2435 ถึง พ.ศ. 2470 คณะศรัทธาบ้านลอง ยังคงไปทำบุญที่วัดเสี้ยวอย่างสม่ำเสมอ มีการบรรพชาอุปสมบทพระเณรจำพรรษาที่วัดเสี้ยวมาโดยตลอด
ต่อมาบ้านเสี้ยวและวัดเสี้ยว ได้เปลี่ยนชื่อตามสากลนิยมโดยอาศัยราชทินนามของพระครูที่เป็นเจ้าอาวาสที่ชื่อ “พระครูสุนทรสิกขวัฒน์” เป็นบ้านเทพสุนทรินทร์และวัดเทพสุนทรินทร์(พระครูสุทรสิกขวัฒน์นี้ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ(เจ้าคุณ) องค์แรกของอำเภอสอง นาม “พระญาณสิทธิสุนทร” สำหรับบ้านลับแล ได้เรียกชื่อตามภาษาพื้นเมืองว่า “บ้านลับแลง” เพราะคำว่าลับแล ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเมืองลี้ลับ หรือเมืองแม่ม่าย ไม่สอดคล้องกับภาษาล้านนา ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่า บ้านลับแลง ซึ่งมีความหมายว่า “ตะวันแลงในยามเย็น อันแสดงถึงความร่มเย็นและความอุดมสมบูรณ์”
ในปี พ.ศ. 2471 คณะศรัทธาบ้านลอง ได้ร่วมมือกันสร้างวัดขึ้นที่บริเวณฝั่งแม่น้ำสอง ด้านตรงข้ามกับบ้านลับแลง บนเนื้อที่ 9 ไร่ 40 ตารางวา ซึ่งนายถา นางปั๋น เชี่ยวชาญ เป็นผู้บริจาคที่ดินให้ ปัจจุบันเป็นธรณีสงฆ์ของวัดลอง เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วได้นิมนต์พระสะอิ้ง จ่างสี ซึ่งบวชอยู่ที่วัดเสี้ยว มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
ขอกล่าวถึงลักษณะการปกครองของหมู่บ้านในยุคนั้น บ้านลองได้ขึ้นตรงต่อตำบลบ้านหนุน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านหนุนเหนือ หมู่ที่ 2 บ้านหนุนใต้ หมู่ที่ 3 บ้านลอง หมู่ที่ 4บ้านลู มีกำนันเป็นผู้ปกครองชื่อ ขุนหนุนนรกิจ ในส่วนของบ้านลองมีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายถา เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด เมื่อนายถา เชี่ยวชาญ ได้เสียชีวิตลงได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่คนใหม่ชื่อ นายธรรมใจ ทองตัน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อหลัก” ซึ่งหมายถึงผู้นำ หรือผู้เป็นหัวหน้า นายธรรมใจ ทองตัน ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นและให้ความเคารพนับถือ จนพูดกันติดปากว่า “พ่อหลักธรรมใจ” หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้รับฉายานี้ แต่จะเรียกตามทางราชการว่า ผู้ใหญ่ หรือกำนัน ไปเหมือนกันทุกคน ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้น คำว่า “หลัก” หมายถึงผู้ใหญ่บ้านและ “แคว่น” หมายถึงกำนัน
ต่อมาขุนหนุนนรกิจ ได้ถึงแก่กรรม ทางการจึงได้ตั้งกำนันคนใหม่ชื่อ ขุนนนท์ ซึ่งอยู่บ้านลู ช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเวลาไล่เรี่ยกัน คือนายธรรมใจ ทองตัน ผู้ใหญ่บ้านลองได้ถึงแก่กรรม ทางการจึงแต่งตั้งนายฟอง มหาวงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บริหารบ้านเมืองมาระยะหนึ่ง ทางบ้านลูได้ขอโอนไปขึ้นกับตำบลห้วยหม้าย สาเหตุเพราะการเดินทางติดต่อกันลำบาก เนื่องจากมีแม่น้ำยมขวางกั้น มีบุคคลล้มตายจากอุบัติเหตุเรือล่มหลายครั้ง เมื่อหมู่ 4 บ้านลูได้ย้ายออกไป ทางบ้านลองจึงได้เสนอแยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่คือ หมู่ 3 และหมู่ 4 นายฟอง มหาวงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตามเดิม ส่วนหมู่ที่ 4 ได้นายสอน มหาวงค์ ต่อจากนั้นนายฟอง มหาวงค์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลบ้านหนุน เมื่อนายสอน มหาวงค์ ได้ถึงแก่กรรมทางราชการก็ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดมาเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 อีก ทางกำนันจึงได้รวมบ้านลองจากหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 เป็นหมู่ 3 เพียงหมู่เดียว และตั้งให้บ้านศรีมูลเรือง เป็นหมู่ที่ 4 ของตำบลบ้านหนุน และมีบ้านทุ่งน้าวเป็นหมู่ที่ 5 บ้านร่องเย็นเป็นหมู่ที่ 6 ในเวลาต่อมา
ใน พ.ศ. 2475 ได้ย้ายวัดจากที่เดิมมาตั้งในที่ดินสาธารณะซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำการไซฟ่อนแม่สอง ของกรมชลประทาน เนื่องจากที่เดิมถูกน้ำท่วมทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ชาวบ้านบางส่วนเริ่มจับจองที่ดินเพื่อเป็นที่ทำกินและปลูกสร้างบ้านเรือน โดยเน้นไปทางทิศตะวันออกของไซฟ่อนแม่สอง ขณะเดียวกันคณะกรรมการหมู่บ้านและกรรมการวัด ก็ได้เริ่มจับจองที่ดินสำหรับสร้างวัดและโรงเรียน โดนเน้นให้อยู่ในที่สูง และปลอดภัยจากการถูกน้ำท่วม
ใน พ.ศ. 2482 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดแพร่ บริเวณบ้านลองเดิมถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา บ้านเรือนตลอดถึงพืชไร่และสัตว์เลี้ยงได้รับความเสียหายอย่างมากมาย พวกชาวบ้านจึงอพยพกันมาตั้งบ้านอยู่ในที่ปัจจุบัน ต่อมาได้ลงมือสร้างวัดและโรงเรียนในพื้นที่ดินที่คณะกรรมการเตรียมเอาไว้ โดยให้วัดอยู่ทิศใต้ติดกับหมู่บ้านและโรงเรียนอยู่ทางทิศเหนือใกล้กับแม่น้ำสอง ต่อมามีการขุดเหมืองหนองคุ้มผ่านที่ดินกับแม่น้ำสอง ที่ดินของโรงเรียนจึงติดกับเหมืองหนองคุ้มไปโดยปริยายทางโรงเรียนนั้น ได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว จำนวน 3 ห้องเรียน พื้นติดดินปูด้วยฟาก หลังคามุงด้วยหญ้าคา ราษฎรได้ช่วยกันตัดฟันไม้มาปลูกสร้าง
ใน พ.ศ. 2482 ทางการได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 1,000 บาท มาดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนถาวรชั้นเดียว 1 หลัง ลักษณะใต้ถุนสูง ทรงปั้นหยา หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด จำนวน 3 ห้องเรียน หันไปสู่ถนน ทางทิศตะวันตกและตั้งชื่อว่า โรงเรียนประชาบาล ตำบลบ้านหนุน 3 (ลองวัฒนาลัย) ในเวลาต่อมาก็ได้มีการขยายพื้นที่ของโรงเรียนไปทางทิศตะวันออกและสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง จำนวน 7 ห้องเรียน ได้รับการตั้งชื่อตามทางราชการกำหนดว่า “โรงเรียนบ้านลอง” (ฟองจันทร์ราษฎร์อุปถัมภ์) ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำท้องถิ่น ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและปลูกสร้าง คือ นายฟอง มหาวงค์ กำนันตำบลบ้านหนุนและ เจ้าอธิการจันทร์ กิตฺติธโร
บันทึกไว้ในสมุดหมายเหตุของโรงเรียนในปัจจุบัน
ในส่วนของหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดและทิศใต้บ้างแต่ไม่มากนัก คณะกรรมการหมู่บ้านในยุคนั้น ได้วางผังหมู่บ้านและถนนหนทางไว้อย่างเหมาะสมและเป็นระเบียบดีมาก ถนนหนทางกว้างขวาง มีแยกทางเลี้ยว เพียงพอกับการสัญจรไปมาในหมู่บ้าน จนได้รับคำชมเชยจากผู้ที่ได้มาพบเห็น ตามสภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน การพัฒนาบ้าน วัดและโรงเรียนนั้นได้ดำเนินการติดต่อกันมาโดยตลอด หลังจากที่กำนัน ฟอง มหาวงค์ ได้ถึงแก่กรรม ก็มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ ได้นายคำ เกยงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้านและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลบ้านหนุนในเวลาต่อมา ในยุคนี้ได้ดึงเอาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถทุกสาขาอาชีพของหมู่บ้าน มาช่วยระดมความคิดในการพัฒนาถนนหนทาง การไฟฟ้าและประปา ตลอดถึงวัดและโรงเรียน โดยใช้เงินกองทุนของหมู่บ้าน ที่ได้มาจากการจัดงานฤดูร้อน เป็นประจำทุกปีมีการขยายและตัดถนนเพิ่มมีการปรับปรุงถนนสายหลักหมู่บ้าน โดยการลาดยางแอสฟร้านท์ เมื่อลาดยางเสร็จแล้ว ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมีนายปฐม สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธี ท่านได้กล่าวเปิดมีข้อความตอนหนึ่งว่า “เป็นหมู่บ้านชนบทแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการลาดยางมะตอย” การพัฒนาหมู่บ้านติดต่อกันมาหลายปีทำให้หมู่บ้านมีชื่อเสียงและนายคำ เกยงค์ ก็ได้รับรางวัลดีเด่น กำนันแหนบทองคำ คนแรกของอำเภอสอง หลังจากนายคำ เกยงค์ ได้พ้นจากหน้าที่โดยเกษียณอายุแล้ว ก็มีผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ต่อมาอีกหลายคน ต่างก็พัฒนางานสานต่อจากที่ผู้นำคนก่อน ๆ ได้ทำไว้ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายคน ต่างก็พัฒนางานสานต่อจากที่ผู้นำคนก่อน ๆ ได้ทำไว้ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค เช่น การแยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 3 และหมู่ 10 ต่อมามีการตั้งตำบลทุ่งน้าวแยกออกไปจากตำบลบ้านหนุน ทำให้มีหมู่บ้านน้อยลง หมู่ที่ 10 ก็ได้ถูกแก้ไขให้เป็นหมู่ที่ 6 และมีการแยกหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 8 อีก ต่อมามีการบริหารส่วนท้องถิ่น ในรูปของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่(อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล(ทต.) ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านคือ
บ้านลองลือบุญหมูที่ 3 อยู่ในเขตเทศบาล ทั้งหมด
บ้านลองลือบุญหมู่ที่ 6 อยู่ในเขตเทศบาลส่วนหนึ่ง และอยู่นอกเขตเทศบาลส่วนหนึ่งไปขึ้นกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน
บ้านลองลือบุญ หมู่ที่ 8 อยู่นอกเขตเทศบาลตำบล ขึ้นตรงกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน
ในระยะแรกประชาชนต่างมีความสับสน และเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งเวลาต่อมาต่างก็ปรับตัวและเข้าใจต่อระบบการปกครองว่าหมู่ใดควรจะไปเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาลหมู่ใด ควรจะไปเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงจะคงมีอยู่ตลอดไป
เรื่องของการตั้งชื่อบ้านลอง เป็นบ้านลองลือบุญนั้น เป็นความต้องการของประชาชนและทางราชการ ที่นิยมเติมชื่อที่เป็นมงคลต่อท้ายหมู่บ้านเช่น บ้านเทพสุนทรินทร์, บ้านคุ้มครองธรรม, บ้านลูนิเกต หรือบางแห่งใช้คำว่า พัฒนาหรือสามัคคีต่อท้าย บ้านลองนั้นเดิมจะตั้งชื่อว่าบ้านลองลือธรรม เพราะในยุคนั้นพระเณรในวัดเทศน์ธรรมมหาชาติได้คล่องและไพเราะ จนได้รับนิมนต์ไปเทศน์ต่างหมู่บ้านและต่างอำเภอ ได้รับคำชมเชย เป็นที่เลื่องลือกันมาก จนมาถึงรุ่นของอาจารย์คำ ใจว่อง ก็ยังได้รับการกล่าวขวัญกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ในที่สุดคณะกรรมการต่างมีความเห็นว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านลองที่ผ่าน ๆ มา มีใจฝักใฝ่ในบุญ ชอบทำบุญสุนทาน นิยมการสร้างวัดสร้างวาและการบรรพชาและอุปสมบทกันเป็นจำนวนมาก จึงตกลงกันให้ใช้ชื่อ บ้านลองลือบุญและวัดลองลือบุญ จนถึงปัจจุบัน