ประวัติบ้านทุ่งแค้ว ๑. ความเป็นมาของชื่อบ้าน คำว่า “ทุ่งแค้ว” แปลว่า “แคบ” เรียกตามลักษณะและภูมิประเทศ ซึ่งเป็นที่ราบแคบ ๆ และยาวตามลำน้ำยม อยู่ระหว่างแม่น้ำยมกับเนินเขาเตี้ย ๆ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม การตั้งหลักฐานของหมู่บ้านตามที่ได้ค้นคว้าและสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น พอที่จะรวบรวมได้ดังนี้ เดิมทีเดียว(ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน) มีครอบครัวหนึ่งมาจากบ้านประตูม้า(บ้านหัวข่วง อ. เมืองในปัจจุบัน) ได้พาครอบครัวมาทำไร่ทำสวนเพื่อหาเลี้ยงชีวิต บุคคลผู้นั้นคือ “เจ้าน้อย ธรรมลังกา” ภรรยาท่านชื่อ “แม่เฒ่าบัวคำ” (บ้านเดิมอยู่บ้านสองแคว) ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านทุ่งต้อม (บริเวณซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของป่าช้าบ้านทุ่งแค้วในปัจจุบัน) โดยอาศัยลำน้ำห้วยแม่แฮด ช่วยในการเพาะปลูก การทำไร่ทำสวนของครอบครัวนี้ก็เพื่อพืชผลไปขายที่ในเมือง โดยอาศัยการเดินเท้าบ้างและบรรทุกเรือแจวล่องลงไปตามลำน้ำยมบ้าง เป็นประจำทุกปี ต่อมาก็มีญาติ พี่น้องจากทางบ้านประตูม้าในต้นตระกูลธรรมลังกาอีกหลายครอบครัว ได้อพยพมาอยู่ร่วมด้วย อยู่ได้ประมาณ ๑๔ - ๑๕ ปี จึงได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้าน”ทุ่งต้อม” ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน”วังไฮ” (ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของบ้านทุ่งแค้วในปัจจุบัน) อยู่ที่นั่นได้ประมาณ ๕ - ๖ ปีและได้มองเห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่คับแคบไม่อาจจะขยายเป็นบ้านเมืองที่ใหญ่โตได้ จึงได้เคลื่อนย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำยม

ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดทุ่งแค้วปัจจุบันนี้ ซึ่งเราจะเห็นมีต้นมะพร้าว ต้นมะม่วงและต้นขนุนยังเป็นหลักฐานเดิมอยู่เรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านปง” ต่อมาได้มีครอบครัวของ “พ่อเฒ่าพรหม สุทธกรณ์ “ ภรรยาชื่อ “แม่เฒ่าโหย” (โย๋) และ “พ่อเฒ่าม่าน สุทธกรณ์” ภรรยาชื่อ “แม่เฒ่าเกี้ยว” ซึ่งแม่เฒ่าเกี้ยวผู้นี้เป็นพี่สาวของเจ้าสุริยะ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองแพร่ และ “พ่อเฒ่าการิน” ได้อพยพมาจาก “บ้านกาด” ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำยม(บริเวณทางตะวันตกของบ้านหัวเมือง หรือทางตอนใต้ของอารัก(อาฮัก) ของบ้านวังฟ่อนปัจจุบัน มารวบอยู่ด้วย จึงทำให้จำนวนครอบครัวของบ้านปงมีจำนวนมากขึ้น ต่อมาก็มีคณะครอบครัวลูกหลานขอองบุคคลดังกล่าวแล้วยกติดตามมาอีก ซึ่งก็มาจากที่หลายแห่ง เช่น บ้านหัวข่วง บ้านเวียงทอง บ้านแม่หล่าย บ้านทุ่งโฮ้ง และบ้านวังธง เป็นต้น จึงทำให้ปีประชากรเพิ่มทากขึ้น ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันจัดสร้างพระอาราม เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนากิจของหมู่บ้าน โดยมี”ครูบาศรีธิ” เป็นผู้นำก่อสร้าง จากนั้นก็มีครู “ครูบาศรีวิชัย” “ครูบาคันธวงค์” “พระอธิการศักดา ธรรมลังกา” และ “พระอธิการเสาร์แก้ว” เป็นผู้จำพรรษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง ในสมัยที่พระครูคันธวงค์จำพรรษาอยู่นั้น บริเวณหมู่บ้านปงเป็นที่ต่ำ จึงเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมอยู่บ่อย ๆ ผู้คนจึงได้ทยอยพากันมาสร้างบ้านอยู่ใหม่ทางตะวันตกเฉียงเหนือและทางเหนือขอองวัด ซึ่งเรียกว่า “บ้านหนองไฮ” ต่อมาก็ได้แยกย้ายกันตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายทุ่งนาต่อ ๆ มาทางใต้อีก ซึ่งเป็นบริเวณที่ราบแคบ ๆ ดังกล่าวแล้ว จึงให้ชื่อบ้านหนองไฮนั้นจึงค่อย ๆ หายไป หรือ ถูกลืมไปตามกาลเวลา จนถึงเดี๋ยวนี้ แต่เดิมบ้านทุ่งแค้วเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลวังหลวง ซึ่งเป็นหมู่ที่ ๒ ของตำบลวังหลวง ต่อมาบ้านวังหลวงมีจำนวนประชากรมากขึ้นจึงได้ตั้งหมู่ที่ ๓ ขึ้น บ้านทุ่งแค้วจึงเป็นหมู่ที่ ๔ ในเวลาต่อมา บ้านทุ่งแค้วก็ได้แยกมาตั้งเป็นตำบลทุ่งแค้ว เมื่อ ปี พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบันนี้

ลักษณะภูมิประเทศ บริเวณบ้านทุ่งแค้วเป็นที่ราบยาวตามลำน้ำยมฝั่งขวา มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้านลงสู่แม่น้ำยม เรียกว่า “ห้วยยอย” ทางด้านตะวันตกของหมู่บ้านเป็นภูเขาเตี้ย ๆ มีป่าไม้ขึ้นหนาแน่น ปัจจุบันประขากรได้อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายเขาและตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ  – ติดกับแม่น้ำยม และ ต.ห้วยหม้าย, ทิศตะวันออก  - ติดกับแม่น้ำยม, ทิศใต้  - ติดกับ ต. วังหลวง, ทิศตะวันตก - ติดกับภูเขา และ ต. เวียงต้า อ. ลอง (ประวัติของบ้านทุ่งแค้ว รวบรวมโดยคณะกรรมการอำนวยการหมู่บ้านทุ่งแค้ว โดยเก็บรวบรวมจาก พ่อเฒ่าแก้ว ธรรมลังกา พ่อเฒ่าเสนา ปัญญาแฝง และพ่อหนานสมุทร รักพงษ์ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖)

๒. แหล่งโบราณสถาน บ้านทุ่งแค้วมีแหล่งโบราณสถาน ดังนี้ (๑) วัดทุ่งแค้ว เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาประมาณ ๑๐๐ ปี เศษ ต่อมาพระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรม ชาวบ้านได้ช่วยกันรื้อถอนและได้ดำเนินการสร้างขึ้นใหม่ โดย เริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ ๒๕๒๖ ขนาดกว้าง ๑๔ วา ยาว ๒๘ วา โดยการนำของพระอธิการเสาร์แก้ว เจ้าอาวาส ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ในวัดคือ ๑. พระอุโบสถ ๑ หลัง ๒. กุฏิ ๑ หลัง ๓. ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง ๔. หอกลอง ๒ หลัง ๕. ศาลาทรงไทย ๑ หลัง ๖. อนุสรณ์สถานพระครูคันธวงค์ ๑ หลัง ๗. บ่อน้ำ ๑ แห่ง ((ประวัติของบ้านทุ่งแค้ว รวบรวมโดยคณะกรรมการอำนวยการหมู่บ้านทุ่งแค้ว โดยเก็บรวบรวมจาก พ่อเฒ่าแก้ว ธรรมลัง พ่อเฒ่าเสนา ปัญญาแฝง และพ่อหนานสมุทร รักพงษ์ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ )

๓. แหล่งโบราณวัตถุที่มีในหมู่บ้าน บุคคลผู้ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่นมี มีดังนี้ (๑) ประเภทปราชญ์ชาวบ้าน/สาขา หมอสู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ ปูจาต้าวตั้งสี่ การสืบชะตาคน การปูจาเตียน มีปราชญ์ชาวบ้าน ดังนี้ ๑. พ่อหนานสม เครืองุ้ม อายุ ๗๐ ปี ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ ๑๔๘ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ๑) ประวัติส่วนตัว  พ่อหนานสม เครืองุ้ม เกิดวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เกิด ณ บ้าน ทุ่งแค้ว อำเภอสอง จังหวัดแพร่ (ปัจจุบัน อ. หนองม่วงไข่) หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วได้ไปบวชเรียนอยู่วัดทุ่งแค้ว และมีความสนใจด้านหมอสู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ และการปูจาต้าวตั้งสี่ โดยศึกษาด้วยตนเอง หลังจากสึกออกมาก็ได้เป็นอาจารย์ประจำหมู่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว จนถึงปัจจุบัน ๒) ประวัติและผลงาน การเป็นอาจารย์สู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ และบูชาต้าวตั้งสี่ ท่านได้ศึกษาและค้นคว้าด้วยตนเอง ระยะ เวลาที่ใช้ในการฝึกฝน ๓ ปี ระยะเวลาที่นำมาปฏิบัติ ได้นำมาปฏิบัติตั้งแต่ศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ๒. พ่อส่ง สุทธกรณ์ อายุ ๖๙ ปี ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ ๑๐๔ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ๑) ประวัติส่วนตัว พ่อส่ง สุทธกรณ์ เกิดวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๗๙ เกิด ณ บ้านทุ่งแค้ว อำเภอสอง (ปัจจุบัน อ. หนองม่วงไข่) จังหวัดแพร่ หลังจากเรียนชั้นประถมศึกษปีที่ ๔ แล้วได้ไปบวชเรียนอยู่วัดทุ่งแค้ว และมีความสนใจด้าน หมอสู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ และการปูจาต้าวตั้งสี่ นอกจากศึกษาด้วยตนเองแล้ว ยังได้ศึกษาจากพ่ออาจารย์วงศ์ ธรรมลังกาอีก หลังจากสึกออกมาก็ได้เป็นอาจารย์ประจำวัดทุ่งแค้วเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน ๒) ประวัติและผลงาน การเป็นอาจารย์สู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ และปูจาต้าวตั้งสี่ ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่ออาจารย์วงศ์ ธรรมลังกา ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกฝน เป็นเวลา ๕ ปี ระยะเวลาที่นำมาปฏิบัติ ได้นำมาปฏิบัติตั้งแต่ศึกษามาจนถึง ๓) วิธีดำเนินงาน มีดังนี้ การสู่ขวัญ ญาติผู้ป่วยจะไปติดต่อผู้ที่ทำพิธี คือ ผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพ นับถือ เรียกว่า “อาจารย์” ซึ่งผ่านการบวชมาแล้ว ส่วนใหญ่อาจารย์จะมาทำพิธีที่บ้านผู้ป่วย หรือผู้ที่ขวัญหาย ซึ่งต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม ได้แก่ “บายศรี” ซึ่งนิยมทำในขันและมีพานรองอีกชั้นหนึ่งและมีข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน 1 ก้อน ไข่ต้ม กล้วย อ้อย หรือน้ำตาล ข้าวต้มมัด ขนม ปลาปิ้ง เนื้อปิ้ง อาหารการกินที่ผู้เจ็บป่วยชอบรับประทาน แว่น หวี ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก น้ำสะอาด ด้ายผูกมือใส่ไว้ในขัน และขันครูอีก ๑ ขัน ในขันมีพลู ๕ แหลบ(มัด) แหลบละ ๓ ใบ หมาก ๕ ไหม (หมากร้อยด้วยเชือกปอเป็นเส้นยาว ๆ ๑ ไหม คือ ๑ เส้น) ข้าวสาร ๑ ถ้วย ธูป ๘ ดอก ดอกไม้สีอะไรก็ได้ แต่มักนิยมใช้สีขาว ผ้าขาว ผ้าแดง วางบนถ้วยข้าวและมีเงินค่ายกครู จำนวนหนึ่ง ซึ่งในอดีตจะต้องให้ค่ายกครู ๑๒ สตางค์ ปัจจุบันค่ายกครู จำนวน ๓๖ บาท อาจารย์ยกขันครูแล้วสู่ขวัญด้วยคำเรียกขวัญ ซึ่งพูดเป็นทำนอง ข้อความเป็นการเชิญให้ขวัญที่ตกหายในที่ต่าง ๆ กลับคืนมาหาเข้าร่างกายคนป่วย จะทราบว่าขวัญมาแล้วหรือไม่ โดยอาจารย์หยิบข้าวสารจากภาชนะที่ใส่เตรียมไว้ ๑ หยิบมือ แล้วนำมานับเป็นคู่ ถ้าข้าวเหลือเศษถือว่าขวัญยังไม่มา ต้องหยิบจนกว่าจะได้คู่ บางหมู่บ้านจะหยิบข้าวรวมแล้วไม่เกิน ๓ ครั้ง ซึ่งบางครั้งหยิบไม่ได้ต้องไปทำพิธีในวันใหม่ เมื่อขวัญมาแล้ววางใบตองลงบนฝ่ามือผู้ป่วยที่ยื่นมือออก อาจารย์นำข้าวปลาอาหาร กล้วย ที่เตรียมไว้ในขันศรีทำเป็นคำเล็ก ๆ วางลงบนใบตองถือเป็นการป้อนให้ขวัญกิน เมื่อเสร็จแล้ว ยกใบตองรองอาหารไปวางไว้ที่ข้างเตาไฟเป็นการนำไปฝากปู้หม้อนึ่ง ซึ่งเป็นผีประจำหม้อนึ่งให้ช่วยดูแลอาหารของขวัญ หลังจากนั้นอาจารย์ใช้ด้ายสายสิญจน์ศรีมาผูกข้อมือของผู้เอาขวัญ โดยผูกที่แขนซ้ายก่อนแล้วพูดว่า “แขนซ้ายขวัญมา” แล้วผูกที่แขนขวาและพูดว่า “แขนขวาขวัญมา” เป็นอันเสร็จพิธี ด้วยสายสิญจน์นี้ผูกไว้อย่างน้อย ๓ วันจึงถอดออกได้

การสะเดาะเคราะห์ การสะเดาะเคราะห์หรือ เรียกว่า การส่งเคราะห์ ซึ่งเป็นพิธีทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่งของชาวภาคเหนือ เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเซ่นสรวงสังเวย สะเดาะเคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นให้ผ่อนเบาลง และทำให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ พิธีการส่งเคราะห์จะทำกันในหลายกรณี ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล เช่น การส่งเคราะห์ก่อนการเดินทางจากบ้านเรือน ไปยังที่ห่างไกลและต้องไปอาศัยอยู่เป็นเวลานาน การส่งเคราะห์เมื่อถูกทำนายทายทักว่า มีเคราะห์ร้าย การส่งเคราะห์เมื่อฝันร้าย การส่งเคราะห์เมื่อได้รับเคราะห์ร้ายหรือโชคร้ายมาแล้ว เป็นต้น การส่งเคราะห์ที่ของชาวภาคเหนือมีหลายพิธีการ เช่น การส่งเคราะห์เฉพาะตัว การส่งเคราะห์พระราหู การส่งเคราะห์ทั้งเก้า เป็นต้น แต่พิธีที่ชาวแพร่นิยมทำกันมาก คือ การส่งเคราะห์ทั้งเก้าหรือนพเคราะห์ ซึ่งเป็นการส่งเคราะห์ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว เขื่อว่าเมื่อเสร็จพิธีแล้วจะช่วยป้องกันปัดเป่าเคราะห์ร้ายของทุกคนในบ้านเมื่อจะทำพิธีส่งเคราะห์ เจ้าของบ้านที่ส่งเคราะห์ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ สะโตงทำด้วยกาบกล้วยขนาดกว้าง ยาว ประมาณ ๑ ศอก แบ่งเป็นเก้าห้องสำหรับใส่สิ่งของ ได้แก่ แกงส้ม แกงหวาน หมาก พลู กล้วย อ้อย ข้าวสุก ข้าวสาร เมี่ยง บุหรี่ ขนม ปลาดิบ เนื้อดิบ ปลาร้า ผลไม้ โดยจัดจำนวนอย่างละ ๙ ชิ้น เล็ก ๆ ใส่ลงในห้องทั้ง ๙ ของสะโตง แล้วปักจ้อขาว ซึ่งจัดทำเป็นธงสามเหลี่ยมเล็ก ๆ จำนวน ๙ อัน ลงในสะโตง โดยปักห้องละ ๑ อันตรงมุมห้อง การจัดทำพิธีจะทำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เติ๋น” แต่ในปัจจุบันบ้านสม้ยใหม่ไม่มีเติ๋นก็จัดทำบริเวณที่เหมาะสม พิธีนี้เริ่มโดย การนำเอาเสื้อผ้าของคนในบ้านทุกคนมาคนละ ๑ ผืน พับและวางซ้อนกันไว้บนเสื่อที่ปู นำสะโตงที่จัดเตรียมข้าวของเรียบร้อยวางทับ สะโตงจะอยู่หน้าผู้ที่จะส่งเคราะห์และผู้ประกอบพิธีนั่งอยู่ด้านหลังสุด โดยผู้ส่งเคราะห์จะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ถือว่าให้เคราะห์ตกไปหรืออาจหันไปทางด้านใต้ ถือว่าให้เคราะห์ล่องไป การนั่งส่งเคราะห์ถือเคล็ดว่าไม่ให้นั่งขวางแผ่นกระดานบ้าน โดยเชื่อว่าการนั่งขวางกระดานบ้านเป็นการขวางเคราะห์ทำให้เคราะห์ออกไปไม่สะดวก หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีนั่งประนมมือท่องคำสวดส่งเคราะห์ ผู้ส่งเคราะห์ประนมมือฟังคำสวดจนเสร็จพิธี ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที ในการนั่งส่งเคราะห์นี้ไม่มีข้อกำหนดว่าสมาชิกในบ้าน ต้องมานั่งทุกคน แต่ถือว่าเสื้อผ้าที่วางอยู่ใต้สะโตง เป็นตัวแทนของแต่ละคนอยู่แล้ว คนที่มานั่งอาจจะเป็นคนที่ว่างจากการทำงานอื่น หลังจากสวดส่งเคราะห์เสร็จแล้ว อาจารย์ประพรมน้ำส้มป่อย มะกรูดเผา เพื่อไล่เคราะห์ เสนียดจัญไรต่าง ๆ ออกจากร่างกายและบ้านเรือน แล้วนำด้ายสายสิญจน์ในขันครูมาผูกข้อมือผู้ส่งเคราะห์ จากนั้นอาจารย์หรือเจ้าของบ้านนำสะโตงไปวางไว้ยังท้ายสามแพร่งหรือนอกบ้านทางทิศตะวันตกของบ้าน เป็นเสร็จพิธี การส่งเคราะห์เป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นพิธีที่ช่วยให้ผู้คนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีคนทายทัก หรือมีลางบอกเหตุว่าจะได้รับเคราะห์ร้าย การทำพิธีนี้เป็นสิ่งช่วยย้ำเตือน ให้เกิดความระมัดระวังตัวให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อได้จัดทำพิธีแล้ว จะก่อให้เกิดคลายความวิตกกังวลในสิ่งที่ต้องเผชิญหรือเกิดขึ้นในอนาคต และถ้าเป็นกรณีที่ได้รับเคราะห์ร้ายมาแล้ว การทำพิธีนี้จะช่วยเรียกขวัญกำลังใจให้เกิดความสบายใจ มีสุขภาพจิตดีขึ้น

การปูจาต้าวทั้งสี่ การปูจา ตามความหมายในภาษากลาง หมายถึง การบูชานั่นเอง พิธีการปูจาต้าวตั้งสี่ นอกจากเทวดาที่เอ่ยนามมาข้างต้นแล้ว ยังมีเทวดาอีกสององค์ที่ได้รับการบูชาพร้อมกันนี้คือ พระอินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าเทวดา และแม่ธรณีเทพผู้รักษาพื้นแผ่นดิน ชาวแพร่เชื่อว่าถ้าทำการบูชาเทวดานี้แล้ว จะช่วยปกป้องคุ้มครองครอบครัวของผู้ให้จัดทำพิธีให้ปลอดภัยจากภยันตรายที่จะมาในทิศทางต่างๆตลอดจนก่อให้เกิดความสุขความเจริญและมีโชคลาภ ในจังหวัดแพร่การจัดทำพิธีการปูจาต้าวตั้งสี่ ส่วนใหญ่ทำก่อนการจัดงานใหญ่ๆในบ้าน เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน งานบวช การสืบชะตา งานศพ เป็นต้น และในบางหมู่บ้านยังมีชาวบ้านบางกลุ่มจัดทำพิธีนี้ถึงเดือนละ ๒ ครั้ง ในวันข้างขึ้นไม่เกินขึ้น 5 ค่ำ โดยเชื่อว่าเป็นการเชิญเทวดาให้มารักษาบ้านเรือน ให้คนในบ้านได้อยู่สุขสบายไม่เจ็บไข้ได้ป่วยและมีโชค เวลาที่จะประกอบพิธีปูจาต้าวตั้งสี่ทำในตอนกลางวันไม่กำหนดว่าเป็นเวลาใดแต่นิยมทำกันในตอนเช้าของวันที่จะมีการจัดงานต่างๆ ผู้ประกอบพิธีเป็นบุคคลที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว และชาวบ้านให้ความเคารพยกย่องเรียกว่า “อาจารย์” เครื่องสักการะที่ต้องช่วยกันจัดเตรียมเพื่อใช้ในพิธี ได้แก่ ธูป เทียน ดอกไม้ กล้วย อ้อย เมี่ยง บุหรี่ หมาก-พลู ขนม ข้าวสุก ปลาปิ้งและจ้อซึ่งเป็นะงสามเหลี่ยมขนาดเล็กทำด้วยกระดาษหรือเศษผ้าสีดำ เหลือง ขาว แดง เขียว สิ่งของดังกล่าวมาต้องจัดเตรียมไว้ชนิดละ 4 อัน โดยทำให้มีขนาดเล็กพอเหมาะที่จะบรรจุลงในอ้องหรือที่ภาษากลางเรียกว่ากระทง ที่ทำด้วยใบตองหรือกาบกล้วย จำนวน ๖ อ้อง แต่ละอ้องจะมีสิ่งของต่างๆใส่ไว้เหมือนกัน ความแตกต่างของแต่ละอ้องอยู่ที่จ้อซึ่งปนฃระดับอยู่ตรงมุมทั้งสี่ของอ้อง เมื่อจัดเตรียมเครื่องสักการะเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ผู้ประกอบพิธีสวดอัญเชิญเทวดา ซึ่งเมื่อสวดถึงองค์ใดก็นำเครื่องสักการะวางโดนเรียงตามลำดับ ดังนี้ ๑. วางบูชาแม่ธรณีบนพื้นดินตรงฐานแท่นวางเครื่องสักการะ เป็นอ้องที่ไม่มีจ้อแล้วใช้มือตบพื้นดิน 3 ครั้งสวดปลุกแม่ธรณี ๒. บนสุดบูชาพรอินทร์วางอ้องที่ประดับด้วยจ้อสีเขียว ๓. ทิศเหนือบูชาท้าวกุเวรุราชวางอ้องที่ประดับด้วยจ้อสีขาว ๔. ทิศตะวันออกบูชาท้าวธตรฐะวางอ้องที่ประดับด้วยจ้อสีแดง ๕. ทิศตะวันตกบูชาท้าววิรุฬหะวางอ้องที่ประดับด้วยจ้อสีเหลือง ๖. ทิศใต้บูชาท้าววิธูปักขะวางอ้องที่ประดับด้วยจ้อสีดำหลังจากวางเครื่องสักการะเรียบร้อยแล้ว อาจารย์จุดเทียนขี้ผึ่ง 1 เล่มและนำไปตั้งไว้ข้างอ้องบูชาพรอินทร์ สวดโองการชุมนุมเทวดา ให้มารับเครื่องสักการะ และขอให้คุ้มครองครอบครัวของเจ้าของงาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วมอบค่ายกครูจำนวนหนึ่งให้แก่ อาจารย์ผู้ทำพิธีการปูจาต้าวตั้งสี่ เป็นพิธีกรรมพื้นบ้านที่เกิดขึ้นจากความศรัทธา และความเชื่อเกี่ยงกับเทวดาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านนับถือ ซึ่งในการดำเนินชีวิตทั่วไปของมนุษย์นั้นมักมีความกลัวต่อภัยพิบัติต่างๆตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บความไม่สบายกายไม่สบายใจ การประกอบพิธีนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านว่า จะได้รับความคุ้มครองปกปักรักษาจากท้าวทั้งสี่ พระอินทร์ และแม่ธรณี ให้พ้นผ่ายอันตรายก่อให้เกิดความสุขความเจริญต่อไป นอกจากนี้การที่ต้องมีการจัดเตรียมเครื่องสักการะให้ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีของคนในท้องถิ่น

การสืบชะตาคน เมื่อพูดถึงชะตาชีวิตแล้วคนไทยทั่วไปเชื่อว่าแต่ละคนต่างมีชะตาชีวิตของตนเองบางช่วงอายุชะตาดี บางช่วงชะตาร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ชาวภาคเหนือจึงมีพิธีการสืบชะตาซึ่งจัดทำเพื่อให้เกิดสิริมงคล ทั้งการสืบชะตาคน การสืบชะตาบ้านและการสืบชะตาเมือง การสืบชะตาคนเป็นพิธีกรรมที่ชาวเหนือนิยมทำกันมากพิธีหนึ่ง มักจัดทำเมื่อมีหมอดูทายทักว่าจะเคราะห์ร้ายหรือเกิดเจ็บป่วย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นพิธีมงคล ที่ทำให้มีอายุยืนยาวมีความสุข จึงนิยมทำพิธีในวันเกิด วันแต่งงาน เป็นต้น อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีประกอบด้วย กระบอกทราย กระบอกน้ำ กระบอกข้าวเปลือก กระบอกข้าวสาร หม้อดินใส่ข้าวเปลือกข้าวสาร หม้อทราย ก๋งเงิน ก๋งคำ ก๋งหมากและก๋งเบี้ย ไม้งามค้ำศรีขนาดเล็กจำนวน ๑๐๙ อัน จัดแบ่งออกเป็น ๓ มัด นำไม้ง่ามขนาดเขื่องสูงประมาณเมตรครึ่ง ๓ อัน เป็นหลักแล้วนำไม้ง่ามเล็กๆที่แบ่งไว้ ๓ มัด มาผูกติดตรงโคนไม้แล้วนำไม้ง่ามยาวทั้ง ๓ อันมาวางพิงกันเป็นกระโจม ครอบเครื่องเซ่นสรวงซึ่งบรรจุในสะโตง นอกจากนี้ยังมีกล้ามะพร้าว กล้าหมาก กล้าอ้อย หน่อกล้วย ตุงกระดาษสาความยาวเท่ากับส่วนสูงของผู้ที่เข้าพิธี ตุงขาวซึ่งใช้กระดาษตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็กๆจำนวนพันอัน เสื่อ หมอน ดอกไม้ ธูปเทียนและเทียนชะตา ซึ่งใช้ขี้ผึ่งแท้มีจำนวนไส้เทียนเกินอายุคนที่จะสืบชะตา ๑ เส้น ด้ายสานสิญจน์ความยาว ๑ วา ของผู้สืบชะตา นำเทียนสืบชะตาผูกติดก้านกล้วย ติดกับไม้ค้ำศรีอันใดอันหนึ่ง การประกอบพิธีเริ่มโดยการนิมนต์พระสงฆ์ ๑ รูปมาเป็นผู้ประกอบพิธี แต่ถ้าจะจัดทำเป็นพิธีใหญ่ ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูปมาประกอบพิธี โดยผู้เข้าพิธีนั่งข้างกระโจมไม้ค้ำศรีมีด้านสายสิญจน์ที่ผูกโยงจากไม้ค้ำศรี พาดมือที่ประนมของผู้เข้าพิธี แล้วโยงต่อไปยังพระภิกษุไปสิ้นสุดที่บาตรน้ำพระพุทธมนต์ พระสงฆ์สวดพระปริตร และเจริญพระพุทธมนต์เป็นเสร็จพิธีสถานที่ประกอบพิธีนี้ทำที่บ้าน โดยนิยมทำตอนเช้าถึงเพลไม่นิยมทำตอนบ่าย ผู้ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นญาติมิตรผู้ที่สนิทสนมกัน ประเพณีสืบชะตาคนเป็นประเพณีที่จัดทำได้ในหลายโอกาส ชาวแพร่เชื่อว่าช่วยให้พ้นจากเคราะห์ร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียน ตลอดจนทำให้อายุยืนยาว เป็นพิธีใหญ่มีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี พิธีนี้เป็นการทำบุญที่จะทำให้เกิดสิริมงคล กับผู้จัดโดยญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่สนิทสนมจะมาช่วยงาน เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันในหมู่ญาติมิตร ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีกัน

การปูจาเตียน “เทียน” หรือที่ชาวแพร่ออกเสียงเป็น “เตียน” เป็นสิ่งที่พุทธศาสนกชนรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เทียนตามความเชื่อของชาวพุทธ เป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม ดังนั้นการใช้เทียนประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จึงมีมานานแล้ว ซึ่งในอดีตชาวแพร่จัดทำเทียนสำหรับจุดด้วยมือโดยใช้ขี้ผึ้งแท้ ที่ได้จากการเคี่ยวรังผึ้งแยกเอาขี้ผึ้งออกมาแล้วใส่ในภาชนะ เช่น ถ้วย จาน ซึ่งเมื่อขี้ผึ้งเย็นแล้ว จึงใช้มีดตัดแยกเป็นชิ้นๆ แกะออกเก็บไว้เมื่อจะใช้ทำเทียนก็นำขี้ผึ้งนี้มาสีกับพื้นเรียบๆที่สะอาดจนเป็นแท่งกลม จะได้เทียนที่พร้อมจะนำไปจุด วิธีการจัดทำเทียนดังกล่าวชาวแพร่เรียกว่า “การสีเทียน” การจุดเทียนของชาวแพร่ นอกจากจะจุดเทียนเพื่อบูชาพระธรรมแล้ว ยังมีความเชื่อว่าเทียนที่ผ่านการทำพิธีของอาจารย์วัด หรือผู้มีความรู้เกี่ยวกับการบูชาเทียน จะช่วยให้พ้นเคราะห์ มีโชคดีและมีอายุยืนยาว พิธีการปูจาเตียนจึงเป็นพิธีกรรมหนึ่ง ที่ชาวบ้านนิยมทำกันมาจนถึงปัจจุบัน การปูจาเตียน เป็นการนำเทียน ที่ผ่านการทำพิธีแล้วมาจุดบูชา เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า จะทำให้รอดพ้นจากเคราะห์ร้าย ที่อาจจะมีมา และทำให้ได้รับโชคดีอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยมีอายุยืนยาว โดนเทียนที่ใช้ในพิธีปูจาเตียนนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ ๑. เทียนสืบชะตา ๒. เทียนสะเดาะเคราะห์ ๓. เทียนฉิมพลีหรือเทียนโชค เทียนทั้งสามประเภทนั้น ด้ายที่ใช้ทำเป็นไส้เทียนจัดทำเท่าอายุของผู้ประสงค์จะบูชา เทียนหรือบางหมู่บ้านอาจใช้ด้ายเกินอายุ ๑ ปี เช่น อายุ ๒๐ ปี ด้ายที่ใช้ทำไส้เทียนจะมี ๒๐ เส้นถึง ๒๑ เส้นโดยเชื่อว่าเทียนเป็นตัวแทนของโชคชะตาของผู้บูชาเทียน การใช้ไส้เทียนเกินอายุจะทำให้อายุยืนยาวขึ้น ส่วนผู้ทำไส้เทียนเท่าอายุเชื่อว่าอายุเท่าใดต้องทำเท่านั้น ถ้าทำเกินก็เป็นอายุของคนอื่นจะทำให้การปูจาเตียนไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล สำหรับขนาดของเทียนนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยที่เทียนสืบชะตาและเทียนสะเดาะเคราะห์มีขนาดเท่ากัน ส่วนเทียนฉิมพลีหรือเทียนโชคจะมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งส่งผลให้เมื่อจุดเทียนจะมีความสว่างโชติช่วง ซึ่งเปรียบเสมือนชีวิตที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไป ผู้ที่จะจัดการทำการปูจาเตียนให้กับผู้อื่น จะเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคาถาที่ใช้ในการทำพิธี ซึ่งอาจเป็นพระสงฆ์หรืออาจารย์ผู้ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว โดยผู้ที่ประสงค์จะทำพิธีการปูจาเตียนต้องไปติดต่กขอให้ทำพิธีให้โดยต้องบอกให้ชัดเจนว่าจะบูชาเทียน ประเภทใดซึ่งบางคนปูจาเตียนเพียง ๑ เล่ม บางคนทำครบทั้ง ๓ เล่ม แต่ส่วนใหญ่ชาวแพร่นิยมทำเพียง 2 เล่มคือ เทียนสะเดาะเคราะห์และเทียนโชค เมื่อทราบว่าจะปูจาเตียนชนิดใดแล้วอาจารย์ผู้ทำพิธีจะสอบถามวัน เดือน ปีเกิดของผู้ที่ต้องการปูจาเตียนเพื่อนำไปเขียนใส่ลงไปในไส้เทียน ในอดีตนินมเขียนวัน เดือน ปีเกิด ลงในกระดาษสา ด้วยตัวหนังสือพื้นเมืองคือ ภาษาไทยโยนก แล้งนำกระดาษนั้นไปพันรอบไส้เทียนที่จัดเตรียมไว้นำไป สีเทียนจะได้เทียนที่ต้องการ ส่วยในปัจจุบันนิยมนำเทียนที่สีแล้วมาเขียนวัน เดือน ปีเกิดลงบนลำเทียน และเทียนที่ใช้ในบางหมู่บ้านจะเป็นเทียนที่ซื้อมาเป็นกล่องจากตลาดไม่ต้องสีเทียน ทั้งนี้เนื่องจากความสะดวกในการจัดทำ และราคาของขี้ผึ้งแท้แพงขึ้น การทำแบบดั้งเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง การนำเทียนกล่องมาใช้จึงไม่ได้คำนึงถึงจำนวนด้ายที่เป็นไส้เทียนว่าจะเท่าอายุหรือไม่ หลังจากที่อาจารย์ผู้ทำพิธีได้เขียน วัน เดือน ปีเกิดของคนที่จะบูชาเทียนเรียบร้อยแล้ว จะนำเทียนไปจุดในตอนค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดิน โดยนิยมนำไปจุดในวิหารหน้าพระประธาน ขณะที่จุดเทียน อาจารย์สวดคาถาที่ใช้ในการบูชาเทียนแต่ละประเภทไปด้วย จนจบบท แล้วปล่อยให้เทียนดับไปเอง ในการจุดเทียนนี้บางคนเชื่อว่าถ้าแสงเทียนของตนลุกโชติช่วงสว่างไสวแสดงว่าชีวิตจะรุ่งเรือง แต่ถ้าแสงเทียนริบหรี่หมายถึงชีวิตที่จะพบกับปัญหาอุปสรรค ซึ่งสิ่งนี้เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่ของชาวแพร่ ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว การปูจาเตียน เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านเชื่อว่า เมื่อทำพิธีนี้แล้วจะช่วยป้องกันปัดเป่าโชคร้ายหรือเคราะห์ร้าย ให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ มีโชคลาภและมีอายุยืนยาวซึ่งเมื่อทำแล้วจะช่วยให้ผู้บูชาเทียนเกิดความสบายใจ ขวัญกำลังใจดีส่งผลต่อสุขภาพจิตและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และการที่พิธีนี้สามารถทำได้ตลอดปีไม่จำกัดว่าจะทำพิธีปีละกี่ครั้งและผู้ทำสามารถเลือกได้ว่าตนเอง ต้องการปูจาเตียนประเภทใดบ้าง พิธีนี้จึงเป็นพิธีที่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้อย่างทันใจ ความนิยมในการจัดทำพิธีจึงมีอยู่แทบทุกหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน ๓) ประโยชน์ที่ได้รับ ได้ช่วยสืบสานประเพณีเหล่านี้ให้คงอยู่ และได้นำความรู้ ไปประกอบอาชีพเสริม ๔) การติดตามผลงาน ณ บ้านเลขที่ ๑๔๘ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ กับบ้านเลขที่ ๑๐๔ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ๕) บุคคลที่อ้างอิง พ่อสม เครืองุ้ม ที่อยู่บ้านเลขที่ ๑๔๘ หมู่ ๒ ตำบล ทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ กับพ่อส่ง สุทธกรณ์ บ้านเลขที่ ๑๐๔ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘) (๒) ปราชญ์ชาวบ้าน/สาขาหมอเมือง (ผลิตยาพื้นบ้าน) ๑) ชื่อผู้รู้/ปราชญ์ชาวบ้าน พ่อปรีชา  แขนอ่อน อายุ ๖๕ ปี ที่อยู่ปัจจุบัน ๓๔๑ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ๒) ประวัติส่วนตัว พ่อปรีชา แขนอ่อน เกิดวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๘๓ เกิด ณ บ้านทุ่งแค้ว อำเภอสอง (ปัจจุบัน อ. หนองม่วงไข่) จังหวัดแพร่ หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วไได้ไปบวชเรียนอยู่ ณ วัดทุ่งแค้ว โดยบวชเป็นสามเณร ๔ ปปี และพระภิกษุอีก ๒ ปปี ในระหว่างที่บวชเรียนอยู่ ได้มีความสนใจด้านพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การสู่ขวัญ การส่งเคราะห์ นอกจากนั้นก็ยังสนใจการประกอบยาพื้นบ้านต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ท่านเรียนจบนักธรรม ศึกษาชั้นเอก แล้วหลังจากสึกออกมาแล้วก็ได้คิดผลิตยาพื้นบ้านต่าง ๆ นอกจากนั้นยังไปเรียนเป็นเภสัชกรรมพื้นบ้าน จากสาธารณสุขจังหวัดแพร่ และเรียนจนสำเร็จเป็นเภสัชกรรมใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ใช้เวลาเรียน ๑ ปี  ๓) ประวัติและผลงานได้รับการถ่ายทอดหรือเรียนรู้จากการค้นคว้าด้วยตนเองและไปเรียนเพิ่มเติมจากสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ระยะเวลาในการฝึกฝน เป็นเวลา ๑ ปี ระยะเวลาในการปฏิบัติจริง จะปฏิบัติตามที่คนทั่วไปผลิต วิธีการดำเนินงาน การผลิตชิ้นงานยารักษาโรค ได้ผลิตยาสมุนไพรพื้นบ้านในลักษณะและรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยาทา ยาจู้ เป็นต้น ๔) ประโยชน์ที่ได้รับ ได้ช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนในการรักษาโรคเบื้องต้นที่ถูกวิธี ๕) การผลิตตามผลงาน ติดตามที่บ้านเลขที่ ๓๔๑ หมู่ ๑ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ๖) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นายปรีชา แขนอ่อน บ้านเลขที่ ๓๔๑ หมู่ ๑ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘) (๓) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาชุมชน ด้านช่างฝีมือ (ช่างศิลป์) ๑) ชื่อ นายประดิษฐ์ กุณวงศ์ อายุ ๔๑ ปี เกิดวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗  ๒) วิธีการนำมาใช้ มีความรู้ด้านศิลป์ ได้นำความรู้มาประกอบอาชีพและช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ ๓) ประโยชน์ ได้นำศิลปะมาประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสาน ได้นำความรู้ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ นอกจากนั้นยังได้เผยแพร่แก่ชุมชน ตลอดถึงได้ฝึกทักษะให้แก่เยาวชนที่สนใจ เป็นต้น ๕) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นายประดิษฐ์ กุณวงศ์ อยู่บ้านเลขที่ ๒๕๕ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)

๕. ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาชุมชน ประเภทศิลปะการดูแลสุขภาพพื้นบ้าน (หมอนวด) การทำมาหากิน รวมถึงงานช่างฝีมือ มี ดังนี้ ๑) ชื่อ นางศรีวรรณ แก้ววรรณะ อายุ ๕๐ ปี เกิดวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๘  ๒) วิธีการนำมาใช้ นวดเพื่อรักษาสุขภาพทั่วไป โดยประจำอยู่ที่สถานอนามัยตำบลทุ่งแค้ว ๓) ประโยชน์ นวดแผนไทยบำบัดและรักษาสุขภาพทั่วไป ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสาน เป็นวิทยากรฝึกอบรม และได้ช่วยสอนชาวบ้านให้รู้จักวิธีการนวดแผนไทย ๕) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นางศรีวรรณ แก้ววรรณะ ทอยู่บ้านเลขที่ ๑๘๕ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนอองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๘ ) (๔) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาชุมชน ด้านศิลปะการแสดง ๑) ชื่อ รำค้องก้า ๒) ประวัติความเป็นมา รำค้องก้า ไม่มีข้อมูลว่า ผู้ใดเป็นผู้คิดท่าทางการแสดง แต่เป็นศิลปะร่ายรำที่สืบสานกันมาหลายช่วงอายุคน ส่วนมากจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายประกอบท่ารำ ใช้รำกันในงานรื่นเริงต่าง ๆ เช่น งานประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นต้น ๓) วิธีรำ จะรำกันเป็นคู่ ๆ ส่วนมากจะให้ผู้สูงอายุเป็นผู้รำ โดยท่ารำจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นสะบัดแขน สะบัดขา หยักไหล่ เป็นต้น การรำจะมีการตีกลอง ตีฉิ่ง ให้เข้าจังหวะและมีคนร้องเพลงประกอบไปด้วย ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสานการละเล่นพื้นบ้าน ควรจัดกิจกรรมให้เยาวชนไปจนถึงผู้สูงอายุได้ฝึกและรำเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อสืบสานให้อยู่ได้อย่างที่สุด ๕) ชื่อบุคคลอ้างอิง พ่อสม เครืองุ้ม อยู่บ้านเลขที่ ๑๔๘ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘) (๕) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาชุมชน ด้านความเชื่อ /วิถีชีวิต ๑) ชื่อผู้รู้/ปราชญ์ชาวบ้าน พ่อส่ง สุทธกรณ์ อายุ ๖๙ ปี ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ ๑๐๔ หมู่ ๒ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่  ๒) ประวัติส่วนตัว พ่อส่ง สุทธกรณ์ เกิดวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๗๙ เกิด ณ บ้านทุ่งแค้ว อำเภอสอง (ปัจจุบัน อ. หนองม่วงไข่) จังหวัดแพร่ หลังจากเรียนชั้นประถมศึกษปีที่ ๔ แล้วได้ไปบวชเรียนอยู่วัดทุ่งแค้ว และมีความสนใจด้านหมอสู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ และการปูจาต้าวตั้งสี่ นอกจากศึกษาด้วยตนเองแล้ว ยังได้ศึกษาจากพ่ออาจารย์วงศ์ ธรรมลังกาอีก หลังจากสึกออกมาก็ได้เป็นอาจารย์ประจำวัดทุ่งแค้วเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน ๓) ประวัติและผลงาน การเป็นอาจารย์สู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ และปูจาต้าวตั้งสี่ ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่ออาจารย์วงศ์ ธรรมลังกา ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกฝน เป็นเวลา ๕ ปี ระยะเวลาที่นำมาปฏิบัติ ได้นำมาปฏิบัติตั้งแต่ศึกษามาจนถึง ๔) วิธีดำเนินงาน มีดังนี้การเลี้ยงผีปู่ย่า

ผีปู่ย่า ตามความเชื่อของชาวแพร่ เป็นผีหรือวิญญาณของบรรพบุรุษที่ได้รับการยกย่อง นับถือจากชาวบ้านว่ามีความเก่งกล้าสามารถเป็นที่เกรงขามแก่ภูติผีทั่วๆไป ผีปู่ย่าจะช่วยรักษาบ้านเรือนและปกป้องลูกหลานที่นับถือให้อยู่ปลอดภัยจากการคุกคาม ทำร้ายของภูติผีอื่นๆ ตลอดจนคอยช่วยให้สามารถผ่านพ้นจากปัญหา อุปสรรค ความทุกข์ใจที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิตได้โดยง่าย ในหมู่บ้านแต่ละแห่ง ผู้คนในแต่ละครอบครัวอาจมีการนับถือผีคนละตนเช่น ชาวบ้านร่องกาศ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น บางกลุ่มนับถือผีเจ้าปู่ท้าวขาก่านบางกลุ่มนับถือเจ้าปู่ด่านช้างหรือบางกลุ่มนับถือเจ้าปู่ท้าวพรหมมินทร์ บางกลุ่มนับถือทั้งสามตนเป็นต้น การนับถือผีส่วนใหญ่จะนับถือผีฝ่ายมารดา แต่ถ้าผีนั้นเป็นผีไม่ดีขายลูกหลานซึ่งหมายถึงไม่ปกป้องคุ้มครองจะทำให้เจ็บป่วยหรือกินลูกหลานทำให้เกิดเริองเดือดร้อน ต้องให้ลูกหลานเซ่นสังเวยเสมอ ลูกหลานผู้นับถือก็จะบอกกล่าว ขอลาออกจากการสังกัดผีตนนั้นโดยจะต้องได้”ซื้อออก” แล้วไปขอเป็นลูกหลานของผีตนใหม่ ที่ให้ความปกป้องคุ้มครองได้ดีกว่าโดยไปบอกกล่าวและขอ”ซื้อเข้า” การซื้อออก ทำได้โดยตัวแทนของครอบครัว ซึ่งเป็นคนแก่คนเฒ่านำธูปดอกไม้และเงินจำนวนหนึ่งอาจจะเป็น 12 บาท หรือ 36 บาท แล้วแต่ผีจะกำหนดไปบอกกล่าวเมื่อมีการลงผีหรือเข้าทรงโดยขอออก หลังจากนั้นถ้ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับผีตนนนั้นก็ไม่ต้องมาร่วมพิธีถือว่า ไม่ใช่ลูกหลานผีตนนั้นแล้ว ส่วนการซื้อเข้าก็ทำในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นการบอกกล่าวขอเข้าเป็นลูกหลานซึ่งหลังจากนั้นเมื่อมีพิธีกรรมเกี่ยวกับผีตนนั้นเมื่อใด ก็ร่วมจ่ายเงินซื้อเครื่องเซ่นและถ้ามีเวลาก็ไปร่วมพิธีกรรม ที่สงสถิตของผีปู่ย่าจะอยู่ที่ ”หอ” ซึ่งสร้างลักษณะคล้ายบ้านชั้นเดียว ยกพื้นสูงมีฝารอบ 3 ทิศ ไม่มีการแบ่งเป็นห้อง ลูกหลานสามารถขึ้นไปนั่งทำพิธีได้โดยจะมีแท่นสำหรับวางขันตั้ง ซึ่งเป็นขันสำหรับบูชาผีปู่ย่า หอผีปู่ย่านี้จะอยู่ในหมู่บ้านไม่ไกลจากบ้านลูกหลานมากนัก ซึ่งถ้าเป็นเวลาปกติไม่มีการลงผีก็จะไม่มีใครไปยุ่งเกี่ยวกับหอผีนี้ เวลาในการทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่าแต่ละตนอาจกำหนดแตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นผีกลุ่มเดียวกัน เป็นผีพี่น้องหรือเป็นเพื่อนรักชอบพอกันจะมาทำพิธีร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่าปีละ 1 ครั้ง ในช่วงสงกรานต์หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า ปีใหม่ แต่บางตนจะมีพิธีการเลี้ยงหลายครั้งเช่น ก่อนเข้าพรรษา หลังออกพรรษาหรือเมื่อมีการบนบานบอกกล่าวแล้วเป็นไปตามที่ขอก็จะมีการเลี้ยงเหมือนมีการเลี้ยงแก้บน การเลี้ยงในช่วงปีใหม่จะมีพิธีการดำหัวผีปู่ย่าควบคู่กันไปด้วย เป็นการขออภัยในสิ่งที่ลูกหลานได้ล่วงล้ำเกิน และขอความคุ้มครองจากผีปู่ย่าพิธีนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อคนทรงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม้าขี่” ของผีปู่ย่าเปลี่ยนเครื่องแต่งกายสำหรับลงผี อาจใช้เสื้อผ้าขาวทั้งหมดแล้วห่มสไบขาวเป็นต้น ผีแต่ละตนจะมีอาวุธประจำกายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดาบ คนทรงจะยกขันตั้งผีปู่ย่ามาเข้าร่างทรง ซึ่งเมื่อผีเข้าร่างทรงแล้วจะมีการรับเครื่องเซ่นสังเวยโดนใช้ดาบชี้ไปยังอาหารแต่ละอย่าง แล้วมีการฟ้อนรำของผี ลูกหลานบอกกล่าวทำการดำหัวผีปู่ย่าโดยนำน้ำส้มป่อยมะกรูดเผาขอรับพรจากผีปู่ย่า หลังจากนั้นผีจะทักทายลูกหลานที่มาร่วมพิธี ลูกหลานคนใดที่มีเรื่องเดือดร้อนที่จะขอความช่วยเหลือได้ตอนนี้ คนที่จะมาขอร่วมผีก็จะบอกกล่าวแก่ผีปู่ย่าที่มาเข้าทรงให้รับเป็นลูกหลาน หลังจากการดำหัวในช่วงปีใหม่ อาจมีการเลี้ยงผีปู่ย่าในวันอื่นๆ เช่น บางแห่งกำหนดเลี้ยงในวัยขึ้น 11 ค้ำ เดือน 9 ของทุกปี หรือวันอื่นๆ แล้วแต่จะกำหนดตามความต้องการของผีที่ผ่านมา เข้าทรง โดยจัดเตรียมสิ่งของนำไปประกอบพิธี ได้แก่ หัวหมู่ ไก่ต้ม ข้าวสุก ผลไม้ เหล้าขาว ธูป 8 ดอก ดอกไม้ โดยมีขั้นตอนการทำพิธีเช่นเดียวกับการทำในช่างปีใหม่แต่ไม่มีการดำหัว บางครั้งการเลี้ยงผีอาจไม่จำเป็นต้องมีการเข้าทรง โดยอางเป็นกาสรแก้บนของลูกหลานซึ่งทำได้โดยการจัดเตรียมสิ่งของเครื่องเซ่นสักการะไปถวายยังหอผีปู่ย่า นำไม้ไผ่ยาวที่อยู่บนหอมาวัดวาและทำเครื่องหมายไว้แล้วจุดธูปบอกกล่าวนั่งรอสักครู่นำไม้ไผ่มาวัดวาอีกครั้ง ถ้าการวัดวาครั้งหลังนี้ได้ความยาวมากกว่าครั้งแรก เป็นการรับรู้ว่าผีปูย่าได้รับเครื่องเซ่นสังเวยแล้วเป็นเสร็จพิธี การตานขันข้าว การตานขันข้าวในอดีตส่วนใหญ่เป็นการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ต่อมามีการถวายสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆที่จำเป็นร่วมด้วยลักษณะเดียวกับการทำสังฆทานของภาคกลาง การตานขันข้าวจัดทำวันใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่นิยมทำกันในวันพระ วันสำคัญทางศาสนาต่างๆและวันคล้ายวันเกิดเป็นการทำบุญวันเกิด ในอดีตผู้ที่ตานขันข้าวจะต้องจัดเตรียมอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้งๆที่สะดวกในการนำไปถวายพระ ไม่หกเลอะเทอะง่าย เช่น ห่อนึ่งไก่ คั่วไก่ ไส้กรอก และข้าวเหนียวห่อด้วยใบตอง ขนมเทียน ขนมเกลือ เป็นต้น และยังมีหมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ โดยอาหารและสิ่งของที่จะนำไปตานขันข้าวจะถูกจัดเตรียมใส่ไว้ในถาด หรือในกระบุงโดยจัดแบ่งอาหารออกเป็นส่วนๆตามแต่จะอุทิศส่วนกุศลไปให้ใครบ้างเช่น ถ้าอุทิศไปให้ญาติที่เสียชีวิตแล้ว 3 รายก็จัดอาหารออกเป็น 3 ส่วน นอกจากนี้ผู้ตานขันข้าวต้องจัดเตรียมกรวยดอกไม้ ธูปและขวดน้ำหยาด สำหรับทำการหยาดน้ำหรือกรวดน้ำไปด้วยและมีกระดาษเขียนชื่อ ญาติ พี่น้องที่ตายไปแล้วและต้องการให้ได้รับบุญกุศล ให้พระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้เมื่อจัดเตรียมสิ่งของต่างๆเรียบร้อยแล้ว นำขันข้าวไปถวายแก่พระสงฆ์ที่วัดในตอนเช้าหรือก่อนการฉันท์ภัตตาหารเพล ซึ่งชาวแพร่ส่วนใหญ่มักนิยมเจาะจงถวายแด่พระภิกษุสามเณรที่ตนเคารพนับถือ หลังจากพระสงฆ์รับประเคนและให้ศีลให้พรอุทิศส่วนกุศล แล้วผู้ตานขันข้าวหยาดน้ำหรือกรวดน้ำเป็นเสร็จพิธี

การกินสลาก การกินสลากหรือสลากภัตต์ หรือการกินข้าวสลากเป็นการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง เมื่อวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ชาวบ้านต่างจังหวัดเตรียมเครื่องไทยทาน ทั้งที่จัดใส่ก๋วยเรียกว่า”ก๋วยสลาก”เป็นสลากน้อยและที่จัดแต่งเป็นต้นกัลปพฤกษ์เป็นสลากหลวงซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สูงและทำเป็นชั้นๆ อาจเป็น 3 ชั้นหรือ 5 ชั้นหรือ 7 ชั้นหรือ 9 ชั้น โดยแต่ละชั้นนำวัตถุไทยทานมาผูกติดไว้ให้สวยงาม ปลายสุดที่เป็นส่วนยอดนิยมนำร่มมาเสียบติดไว้ ผูกธนบัตรที่ขอบร่มจำนวนเงินตามแต่ความพึงพอใจของผูจัดทำโดยสลากหลวงจะมีจำนวนเงินสูงกว่าสลากน้อย เมื่อถึงวันที่กำหนดชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลาก แห่เครื่องไทยทานเข้าวัดและตั้งกัณฑ์สลาก โดยแต่ละกัณฑ์จะมีเส้นสลากเขียนข้อความอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและมีชื่อเจ้าของกัณฑ์ในเส้นสลาก เส้นสลากนี้เดิมนิยมเขียนในแผ่นใบตาน ใบลาน ในปัจจุบันใช้กระดาษแข็งเท่าจำนวนเครื่องไทยทาน แล้วนำเส้นสลากไปกองรวมกันยังที่กำหนดไว้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในวิหาร หน้าพระประธาน กรรมการจะจัดแบ่งสลากออกเป็นกองๆ ตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมพิธีและจัดแบ่งให้แก่พระประธานด้วย ซึ่งสลากของพระประธารนี้จะตกเป็นของวัดนั้นๆ และถ้ามีสลากจำนวนมากพระภิกษุจะได้ 20 เส้นสามเณรได้ 10 เส้น ที่เหลือสมทบถวายพระประธาน เมื่อเสร็จจากการแบ่งเส้นสลาก คณะกรรมการจะนำเส้นสลากที่แบ่งไว้จำนวน 1 มัด ไปประเคนพระผู้อาวุโส ซึ่งเป็นประธารในพิธีต่อจากนั้นกรรมการจึงนำเส้นสลากไปถวายพระรูปอื่นๆตามลำดับ พระสงฆ์อนุโมทนา จบแล้วชาวบ้านต่างแยกย้ายกันไปนั่ง ณ ที่จัดไว้ให้ ชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลากต่างพากันตามหาเส้นสลากของตนที่อยู่ในมือของพระภิกษุสามเณรจนพบ หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรอ่านเส้นสลากแล้วจึงถวายกัณฑ์สลาก เมื่อรับพรจากพระเสร็จแล้วจะรับเส้นสลากของตนไปเผาพร้อมกับกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตายเป็นเสร็จพิธี สำหรับเครื่องไทยทานที่จัดทำเป็นต้นกัลปพฤกษ์ เจ้าของต้องนิมนต์พระภิกษุสามเณรที่ได้รับเส้นสลาก ไปยังที่ตั้งของเครื่องไทยทานเพื่อถวาย การทำบุญกินสลากในจังหวัดแพร่ บางแห่งกัณฑ์สลากจัดทำเป็นหุ่นรูปสัตว์ต่างๆเช่น ช้าง ม้า วัว ควายขนาดใกล้เคียงของจริงทำด้วยผ้าหุ้มโครงไม้ไผ่ เชื่อว่าถ้าถวายแล้วชาติหน้าจะได้เป็นเจ้าของสัตว์นั้น แต่การถวายต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับกัณฑ์สลากอื่นๆ การกินสลากนิยมจัดหลังจากการออกพรรษา ส่วนใหญาไม่ได้จัดทำทุกปีเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงใยการจัดกัณฑ์สลาก ดังนั้นบางวัดอาจจัดปีเว้นปีหรือสี่ห้าปีต่อครั้ง ประเพณีกินสลากเป็นประเพณีการทำบุญของชาวบ้าน ที่แสดงออกถึงความสามัคคีร่วมใจกันใยการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์ซึ่งมาจากที่ต่างๆตามที่ได้นิมนต์ไว้นอกจากนี้ยังแสดงถึงความสามารถทางศิลปะในการจัดแต่งเครื่องไทยทานของชาวบ้านเป็นต้นกัลปพฤกษ์ ตลอดจนหุ่นรูปสัตว์ต่างๆนอกจากนี้การกินสลากยังบ่งชี้ให้เห็นถึงฐานะของชาวบ้าน ถ้าเศรษฐกิจดีชาวบ้านจะทำกัณฑ์สลากเป็นต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และถ้าเศรษฐกิจไม่ดี อาจไม่มีการจัดประเพณีการกินสลากในปีนั้น ในปัจจุบันการจัดประเพณีในจังหวัดแพร่มีนิ้ยลงทั้งนี้มาจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

การเลี้ยงแม่ธรณี นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ เช่น การก่อสร้างบ้านเรือนการประกอบอาชีพส่วนใหญ่นั้นต้องกระทำบนพื้นแผ่นดิน ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาที่รักษาพื้นแผ่นดินจึงปรากฎให้เห็นในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับชาวไทยเชื่อว่าเทวดาที่มีหน้าที่รักษาคุ้มครองและสิงสถิตอญุ่ในพื้นดินคือแม่พระธรณี หรือที่ชาวภาคเหนือนิยมเรียกกันว่า “แม่ธรณี” ความเชื่อเกี่ยวกับแม่ธรณีในสังคมเมืองแพร่ เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของชาวแพร่ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ ความอุดมของพื้นดินทำให้ได้ผลผลิตสูง ส่งผลถึงการกินดีอยู่ดีของชาวบ้านซศึ่งจะมีผลถึงสุขภาพอนามัยที่ดีติดตามมา ดังนั้นชาวแพร่ที่เคารพศรัทธาในแม่ธรณีจึงเชื่อว่าเป็นความคุ้มครองปกป้องรักษาของแม่ธรณี ความศรัทธานับถือแม่ธรณี ทำให้เกิดข้อห้ามและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องขึ้นในสังคมชาวแพร่ ข้อห้ามดังกล่าว เช่น ถ้าอยู่บนเรือนห้ามนั่งห้อยขาลงใต้ถุน แล้วแกว่งแข้งแกว่งขาเพราะถือว่าอยู่บนหัวแม่ธรณี การแสดงดังกล่าวเป็นการลบกลู่แสดงความไม่เคารพนับถือจะทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น พิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแม่ธรณีได้เกิดขึ้น ได้แก่ การบูชาท้าวทั้งสี่ การวางแม่ธรณีและการเลี้ยงแม่ธรณี การวางแม่ธรณีและการเลี้ยงแม่ธรณีเป็นพิธีกรรมที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การขอความคุ้มครองช่วยเหลือให้ครอบครัวอยู่สุขสบาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ขอให้ช่วยคุ้มครองดูแลบ้านเรือนให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย สัตว์ที่เลี้ยงไว้แข็งแรงโตเร็ว การวางแม่ธรณีและการเลี้ยงแม่ธรณีในแต่ละปีทำได้หลายครั้งแล้วแต่ความจำเป็นของแต่ละครอบครัว โดยการวางแม่ธรณีนั้นเป็นการบอกกล่าวขอความคุ้มครองโดยใช้หมากคำ พลูใบ วางบนพื้นดินแล้วบอกล่าวขอความคุ้มครอง ซึ่งเมื่อได้รับการคุ้มครองแล้วจึงมีการเลี้ยงแม่ธรณี ซึ่งอาจเลี้ยงในกรณีต่อไปนี้ ๑. เลี้ยงตอนปีใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์ โดยจะเป็นวันใดก็ได้ในช่วงประเพณีสงกรานต์ถือว่าดำหัวแม่ธรณี ขอขมาลาโทษที่ได้เคยทำการต่างๆอันเป็นการล่วงล้ำก้ำเกิน อุปกรณ์ที่จัดเตรียมคล้ายการดำหัวคนเฒ่าคนแก่คือน้ำส้มป่อย และมีสิ่งของที่จัดเตรียมไปเลี้ยงแม่ธรณี คือ ข้าวแจ่ข้าวจ๋าน ๒. เลี้ยงตอนเข้าพรรษา ออกพรรษา ถือเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แม่ธรณี ๓. เลี้ยงเมื่อมีการตั้งคอก ตั้งเล้าเลี้ยงสัตว์เป็นการบอกกล่าวฝากฝังแม่ธรณีให้ช่วยดลบันดาลให้สัตว์เลี้ยงแข็งแรงโตเร็วไม่เจ็บป่วย ๔. เลี้ยงเมื่อขายสัตว์เลี้ยงได้กำไร หรือเลิกการเลี้ยง เป็นการบอกกล่าวและแสดงความขอบคุณที่ช่วยดูแลคุ้มครองสัตว์เลี้ยง ๕. เลี้ยงเมื่อบนบานขอให้ช่วยหาสิ่งของมีค่าที่ตกหายและได้ของคืน ๖. เลี้ยงเมื่อบ้านมีการจัดงานใหญ่ต่างๆโดยวิธีการบูชาท้าวทั้งสี่ซึ่งรวมถึงแม่ธรณีและพระอินทร์ สิ่งของที่ต้องจัดเตรียมในการเลี้ยงแม่ธรณีได้แก้ธูป 2 ดอก ดอกไม้สีอะไรก็ได้ ขนม ข้าวแจ่ข้าวจ๋าน ซึ่งหมายถึง ข้าวนึ่งผสมน้ำอ้อยและข้าวนึ่งผสมน้ำตาลทราย จัดวางบนภาชนะ เช่น ถาดหรืออ้องซึ่งเป็นกระทงทำด้วยใบตองเป็นการดำหัวแม่ธรณีในตอนปีใหม่ให้เพิ่มน้ำส้มป่อยอีกหนึ่งอย่าง ขั้นตอนการทำพิธีเริ่มจากผู้ที่ทำพิธีอาจเป็นคนแก่เฒ่าที่อาศัยอยู่ในบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นหญิงนำเครื่องสักการะที่จัดวางในภาชนะเรียบร้อยแล้ว ไปวางบนพื้นดิน ถ้าเป็นการเลี้ยงเพื่อดำหัวในช่วงสงกรานต์และช่วงเข้าพรรษา ออกพรรษา จะนิยมจัดวางไว้บนพื้นดินบริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ในบ้าน โดยให้อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้าน ถ้าเป็นการเลี้ยงเพื่อบอกกล่าวในการตั้งคอกสัตว์หรือเมื่อขายสัตว์ได้ นิยมจัดวางเครื่องสักการะไว้ใกล้คอกสัตว์และถ้าเลี้ยงแม่ธรณีกรณีที่ของตกหายและหาจนได้คืนบริเวณใดก็จะเลี้ยงบริเวณนั้น โดยจะทำพิธีจุดธูป 1 ดอก ตบดิน 3 ครั้ง แล้ววางเครื่อง สักการะและบอกกล่าวแก่แม่ธรณีให้มารับเครื่องสักการะ ในกรณีที่ของตกหายและทำตกบริเวณนี้แต่หาไม่พบ เชื่อว่าแม่ธรณีเอาไปซ่อนและอยากกินกับลูกหลานหรืออยากได้เครื่องสักการะ จะมีการบนบานกับแม่ธรณีโดยขอให้หาของพบ แล้วดึงยอดหญ้าที่ขึ้นบริเวณนั้นมามัดติดกันเชื่อว่าเป็นการมัดแม่ะรณีไม่ให้หลบไปที่ใดได้ต้องบอกที่ซ่อนของที่หาย หลังจากนั้น 2-3 วันจึงมาหาของที่ตกหายอีกครั้งถ้าพบก็จัดเลี้ยงแม่ธรณีในบริเวณนั้นและแก้มัดยอดหญ้า คือเป็นการปลดปล่อยแม่ธรณี การวางแม่ธรณีและการเลี้ยงแม่ธรณีเกิดจากความเชื่อที่ว่าแม่ธรณีจะให้คสามปกป้องคุ้มครองบ้านเรือนให้ปราศจากเถทถัยต่างๆทำให้คนในครอบครัวมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วย และสัตว์ที่เลี้ยงโตเร็วและขายได้เงินเร็วขึ้น ทำให้พิธีการวางแม่ธรณีและเลี้ยงแม่ธรณียังคงสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ซึ่งพิธีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ความเคารพของคนที่มีต่อพื้นแผ่นดินแล้ว ยังแสดงถึงภูมิปัญญาคนในอดีตที่จะปกป้องอันตรายที่เกิดจากความประมาท เช่น การนั่งห้อยเท้าลงใต้ถุนบ้านอาจทำให้ตกลงมาได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตให้เกิดความมั่นคงสืบไป การเลี้ยงผีเจ้าที่ เช่น ผีดง ผีเจ้าบ้าน เป็นต้น การทำพิธีกรรม จะนิยมทำกันในเดือน ๖ ออก ๓ ค่ำของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดมาจนทุกวันนี้ เป็นกระทำที่เป็นความเชื่อของของชาวบ้านว่า ถ้าทำพิธีแล้วจะทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข

(๖) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาชุมชน ด้านศิลปะการดนตรีพื้นเมือง ๑) ชื่อ นายดวน เรือนศักดิ์ อายุ ๕๖ ปี เกิดวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐  ๒) วิธีการนำมาใช้ มีความรู้ด้านดนตรีพื้นเมืองประเภท ระนาด สะล้อ ขลุ่ย ได้นำความรู้มาประกอบอาชีพและช่วยเหลือชุมชนในงานประเพณีต่าง ๆ ๓) ประโยชน์ ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสาน ได้ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน นอกจากนั้นยังได้เผยแพร่แก่ชุมชน ตลอดถึงได้ฝึกทักษะให้แก่เยาวชนที่สนใจ เป็นต้น ๕) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นายดวน เรือนศักดิ์ อยู่บ้านเลขที่ ๕๕ หมู่ ๑ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)

(๗) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเภท ซอ จ้อย ฟ้อนโมงเซิง ๑) ชื่อ นายผาบ เครือลิตร อายุ ๖๒ ปี เกิด พ.ศ. ๒๔๘๖ ๒) วิธีการนำมาใช้ มีความรู้ด้าน ซอ จ้อย และฟ้อนโมงเซิงได้นำความรู้มาประกอบอาชีพและช่วยเหลือชุมชนในงานประเพณีต่าง ๆ ๓) ประโยชน์ ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสาน ได้ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน นอกจากนั้นยังได้เผยแพร่แก่ชุมชน ตลอดถึงได้ฝึกทักษะให้แก่เยาวชนที่สนใจ เป็นต้น ๕) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นายผาบ เครือลิตร อยู่บ้านเลขที่ ๓๓๔ หมู่ ๔ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)

(๘) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเภท ซอ ๑) ชื่อ นางลา ทุ่งกาย อายุ ๕๓ ปี เกิด พ.ศ. ๒๔๙๔ ๒) วิธีการนำมาใช้ มีความรู้ด้าน ซอ ได้นำความรู้มาประกอบอาชีพและช่วยเหลือชุมชนในงานประเพณีต่าง ๆ ๓) ประโยชน์ ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสาน ได้ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน นอกจากนั้นยังได้เผยแพร่แก่ชุมชน ตลอดถึงได้ฝึกทักษะให้แก่เยาวชนที่สนใจ เป็นต้น ๕) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นางลา ทุ่งกาย อยู่บ้านเลขที่ ๑๗๓/๑ หมู่ ๔ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)

(๙) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเภท ฮ่ำบ้องไฟ ๑) ชื่อ นายเขื่อง แก่นเรณู อายุ ๖๘ ปี เกิด วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐  ๒) ได้เรียนรู้มาจากพ่อใหญ่วงค์ คำผัด มาเป็นเวลา ๔๙ ปี ๓) ประโยชน์ ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสาน ได้ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน  ๕) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นายเขื่อง แก่นเรณู อยู่บ้านเลขที่ ๒๗๔ หมู่ ๑ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)

(๑๐) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเภท เล่าค่าว ๑) ชื่อ นายลบ ใจสุบรรณ อายุ ๖๕ ปี เกิดวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓  ๒) วิธีการนำมาใช้ มีความรู้ด้าน เล่าค่าว ได้นำความรู้มาประกอบอาชีพและช่วยเหลือชุมชนในงานประเพณีต่าง ๆ ๓) ประโยชน์ ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน ๔) แนวปฏิบัติในการอนุรักษ์/สืบสาน ได้ได้ช่วยเหลืองานประเพณีต่าง ๆของชุมชน นอกจากนั้นยังได้เผยแพร่แก่ชุมชน ตลอดถึงได้ฝึกทักษะให้แก่เยาวชนที่สนใจ เป็นต้น ๕) ชื่อบุคคลที่อ้างอิง นายลบ ใจสุบรรณ อยู่บ้านเลขที่ ๔๐ หมู่ ๑ ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ (สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)

๖. ขนบธรรมเนียม ประเพณีของท้องถิ่นในอดีตก็คงเหมือนกับหมู่บ้านอื่น ๆ ในอำเภอหนองม่วงไข่ ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูล

๗. การจัดกระบวนการเรียนรู้ /ศูนย์การเรียนรู้ จัดบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกันตามความเหมาะสมและตามความถนัดของครูผู้สอน ในแต่ละระดับชั้น

วุฒินันท์ วงศ์ชมภู ผู้ให้ข้อมูล ตำแหน่ง ข้าราชการบำนาญ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๕

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 03 •เมษายน• 2013 เวลา 07:29 น.• )