ประวัติบ้านดอนมูล ( ตำบลดอนมูล ) ในอดีตกาลที่ผ่านมาประมาณ ๒๐๐ กว่าปี พวกเราชาวบ้านดอนมูลไม่สามารถทราบว่าบ้านดอนมูลหรือตำบลดอนมูลที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้มีกำเนิดความเป็นมาอย่างไร กำเนิดชุมชนหรือรากเหง้าบรรพบุรุษมาจากแห่งไหน ที่ใด จากการค้นคว้าศึกษาจากเอกสารต่าง ๆ เช่น หนังสือประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ( ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ) และ จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่พอจะทราบเรื่องราวในอดีตอยู่บ้าง ผู้ค้นคว้าจึงนำมาเรียบเรียงเป็นสาระน่ารู้พอสังเขปดังนี้ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินธุ์ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นราชธานี เมืองแพร่เป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอาณาจักรล้านนาเป็นเมืองที่อยู่ในความปกครองของพระองค์ เช่นเดียวกัน เมื่อพระเจ้าปดุง แม่ทัพของพม่าได้ยกกำลังทหารเข้ามาทำสงครามกับกรุงเทพ ฯ โดยแบ่งกองทัพออกเป็น ๕ เส้นทาง ในจำนวนกองทัพที่จัดแบ่งออกนี้ ส่วนหนึ่งได้มอบหมายให้กับทัพเนเมียวสีหบดี และพญายอง ยกทัพออกจากเมืองเชียงแสนมุ่งหน้าผ่านเข้าเมืองเทิง – เมืองเชียงคำ เมืองปง (อำเภอปง) ลัดเลาะลงมาตามลำแม่น้ำยม ผ่านเมืองสอง และเมืองแพร่ เมื่อกองทัพผ่านมาถึงเมืองแพร่ เจ้าหลวงเมืองแพร่คือ

พญาแดนซ้าย ทราบข่าวว่าพม่ากองทัพม่าที่ยกมานั้นมีไพร่พลเป็นจำนวนมาก เกิดความกลัวว่า ประชาชนและไพร่พลของชาวแพร่จะวอดวายล้มตาย ถ้ากมีการขัดขวางต่อสู้ จึงมีความคิดให้กองทัพพม่าเดินทัพผ่านเข้ามา แต่โดยดี แต่มีเจ้าเมืองไจย (บุตรของพญาแดนซ้าย) ต้องการขัดขวางต่อสู้กับกองทัพพม่า ขณะนั้นมีพวกเจ้าขุนเมืองแพร่บางท่านได้ส่งบุคคล ออกไปแจ้งให้กับแม่ทัพพม่า (เนเมียวสีหบดี) ว่าเมืองแพร่ไม่ต้องการสู้รบยอมให้กองทัพพม่าผ่านแต่โดยดี เมื่อกองทัพของพม่าผ่านเมืองแพร่พร้อมกับจับตัวเจ้าเมืองไจยเป็นตัวประกันไปกับกองทัพพม่า ซึ่งเป็นผลดีแก่ประชาชนไพร่พลของเมืองแพร่ไม่ต้องสูญเสีย ในการสู้รบกับกองทัพพม่าแต่เป็นผลเสียคือ ทำให้เจ้าขุนนายมูลเมืองลำปางที่เป็นมิตรอันสนิทสนมเกิดความไม่ไว้วางใจกับเจ้าผู้ครองเมืองแพร่ กองทัพของเนเมียวสีหบดีและพญายอง ที่เป็นแม่ทัพได้พาไพร่พลผ่านเมืองแพร่ไปยังเมืองพิชัย , เมืองพิษณุโลก โดยเจ้าเมืองต่าง ๆ ไม่ได้ขัดขวางที่จะสู้รบกับพม่าต่างก็หลบซ่อนตัวในแหล่งที่ห่างไกล

ทราบข่าวถึงกองทัพไทยโดยการนำของกรมพระราชวังหลัง กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์และเจ้ามหาเสมา ได้ยกทัพเข้าตีกองทัพของเนเมียวสีหบดีและพญายองกำลังพลของทัพพม่าแตกกระจัดกระจายโดยสิ้นเชิง จากนั้นกองทัพไทยก็ได้ยกทัพไปช่วยเมืองลำปาง และได้เข้าตีกองทัพของสะโต๊ะศิริมหาอุจจะนาจนแตกกระจัดกระจายไป เช่นเดียวกับแม่ทัพของพม่า แต่กองทัพของพม่าที่แตกกระจัดกระจาย ได้นำเอาตัวของพญาเมืองไจย ไปเป็นตัวประกัน และได้นำไปถวายกับเจ้าปดุงแม่ทัพใหญ่ที่เมืองเชียงแสน ซึ่งต่อมาพญากาวีระเจ้าผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ได้จัดกองทัพออกไปตีเมืองเชียงแสน เพื่อช่วยนำตัวพญาเมืองใจยกลับมาเมืองแพร่ พญาเมืองไจยพอทราบว่าพญากาวีระได้ยกกองทัพมาปิดล้อมเมืองเชียงแสน พญาเมืองไจยจึงวางแผนต่อสู้กับกองทัพพม่าโดยมีอาปะระคามณีหรือโปมะยุง่วนเป็นผู้สำเร็จราชการ การสู้รบในกลางเมืองเชียงแสนครั้งนี้ โปมะยุง่วน ได้หลบหนีทัพออกไปจากเมืองเชียงแสน ( พ่ายแพ้ ) พญากาวีระจึงให้พญาเมืองไจยเดินทางไปรายงานตัวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯที่กรุงเทพฯเพื่อรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ให้ทรงทราบ และ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงให้ พญาเมืองไจย ปฏิบัติราชการอยู่กรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว

ในขณะที่พญาเมืองไจย เป็นตัวประกันอยู่ในเมืองเชียงแสน( เมืองยอง ) นั้น ได้มีไพร่พลและครัวเรือนของกองกำลังเมืองเชียงแสน ที่เคารพนับถือเลื่อมใส ในตัวของพญาเมืองไจย จึงได้พากันอพยพครัวเรือนและไพร่พลบางส่วนติดตามพญาเมืองไจย มาเมืองแพร่ พญากาวีระ และพญาเมืองไจย จึงให้ครอบครัวที่มาจากเมืองเชียงแสนเหล่านั้น( ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๔ – พ.ศ. ๒๓๓๐ ) ไปตั้งรกรากอยู่ที่บ้านพระหลวงธาตุเนิ้งมากกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากเป็นชุมชนโบราณที่ถูกทิ้งร้างและมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแม่น้ำไหลผ่าน ( แม่น้ำร้องบ้า )

ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๒ พญาเมืองไจย ได้กลับมาปกครองเมืองแพร่ อีกครั้ง พร้อมกับปฏิรูปการปกครองเมืองแพร่ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ตามแบบอย่าง เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ - ๒๓๔๖ พญาเมืองไจยเจ้าผู้ครองเมืองแพร่ได้จัดกองทัพเมืองแพร่ร่วมกับ กรมหลวงเทพหิริรักษ์ ยกกองทัพไปทำสงครามกับกองทัพพม่าที่เมืองเชียงแสนอยู่หลายครั้ง ซึ่งกองทัพของเมืองแพร่จัดอยู่ในขบวนทัพของกองพญาหัวเมืองฝ่ายใต้

ใน ปีพ.ศ. ๒๓๔๗ กองทัพล้านนา ยกกำลังปิดล้อมเมืองเชียงแสนอีกครั้งการปิดล้อมเมืองเชียงแสนครั้งนี้ ได้มีบรรดา แม่ทัพ นายกอง ที่เป็นเจ้าอุปราช และเจ้าราชวงค์ ฝ่ายเหนือได้นำกำลังไพร่พลเป็นส่วนกำลังรบหลัก สำหรับเมืองแพร่นั้น คาดว่าท่าจะเป็น “เจ้าน้อยอุปเสน อุปราชเมืองแพร่” เป็นผู้นำกำลังไพร่พลร่วมรบครั้งนี้ หลังจากกองทัพล้านนาปิดล้อมเมืองเชียงแสนอยู่หลายเวลา ก็สามารถนำกำลังเข้ายึดเมืองเชียงแสนได้ในที่สุด ผู้นำกองทัพพม่าที่ปกครองเมืองเชียงแสนในขณะนั้นได้แก่ เพียวหวุ่น และ ตัวเพียวหวุ่น ก็ได้ถูกฆ่าตายในสนามรบที่เชียงแสน

กองทัพล้านนาจึงได้ปรึกษาหารือกันว่าควรอพยพไพร่พล ที่อาศัยอยู่ในเชียงแสนลงมาให้หมด /คงเหลือแต่ดินและน้ำเท่านั้น สำหรับไพร่พลดังกล่าว จัดแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ๑ ใน ๕ ส่วนนั้น ได้มอบให้กับพญาอุปเสน อุปราชเมืองแพร่ เป็นผู้นำไพร่พลมาเมืองแพร่ ไพร่พลที่มากับพญาอุปเสนในครั้งนั้น เป็นไพร่พลของ บ้านดอนมูล และ เกาะดอนแท่น ซึ่งถิ่นฐานอยู่เยื้องกับปากแม่น้ำกก ประเทศลาว ไพร่พลที่อพยพมากับพญาอุปเสนในนั้น เจ้าเมืองแพร่ให้ไปอยู่ใกล้ ๆ กันกับชาวเชียงแสนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง ซึ่งไพร่พลพวกนี้ได้มาตั้งรกรากอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง น่าจะได้แก่ บ้านหัวดง บ้านดอนมูล บ้านดอนแท่น บ้านค่างาม บ้านร้องแหย่ง บ้านผ้าขาวในปัจจุบัน ซึ่งการมาตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่ ครั้งนี้บางชุมชนได้นำเอาชื่อบ้านของตนที่อยู่ในประเทศลาวมาตั้งเป็นชื่อบ้านใหม่ เช่น บ้านดอนมูลและบ้านดอนแท่น ในปัจจุบันนี้ ผู้นำหมู่บ้านในสมัยนั้นจึงได้สร้างสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เนื่องจากได้อพยพมาจากแดนไกลไม่มีสถานที่ทำกิจกรรมทาศาสนา จึงได้สร้างวัดหรือ สำนักสงฆ์ขึ้น สันนิฐานว่าคงจะสร้างตรงบริเวณที่เรียกว่า “ดอนต้นสัก” ติดกับเหมืองร่องบ้า แต่เดิมเป็นป่าละเมาะใกล้ ๆ กับตลาดสดของนายส่วย สมร ปัจจุบันนี้ ( ผู้อาวุโสรุ่นก่อนบอกเล่ากล่าวขานกันว่าตรงบริเวณนั้นเป็นป่าและวัดเก่าผีดุมาก ) จากคำบอกเล่าขานของผู้สูงอายุทราบว่า ในสมัยก่อนนั้นวัดหรือสำนักสงฆ์คงมีแต่เฉพาะบ้านพระหลวงและบ้านหัวดง ( วัดแก้วมงคล ) เท่านั้น โดยมีหลวงปู่คำ ซึ่งเป็นพระประจำอยู่ที่วัดหัวดง ได้มาทำการบูรณะวัดที่รกร้างอยู่ก่อนแล้ว ( พ.ศ. ๒๓๕๓ ) คาดว่าน่าจะเป็นวัดที่ดอนต้นสัก และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดหมื่นน้อย” (อันนี้ไม่ทราบแน่ชัด) อยู่นานไปคงจะมีความลำบากหรือว่าสถานที่คับแคบ จึงได้ย้ายมาตั้งวัดแห่งใหม่ขึ้นอีกที่หนึ่งตรงบริเวณ “วัดดอนมูล” ในปัจจุบันนี้ โดยมีหลวงปู่ดำเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกตามประวัติของวัดดอนมูล

สรุปว่า บ้านดอนมูลและบ้านดอนแท่นในปัจจุบันนี้ อพยพมาจากบ้านดอนมูลและเกาะดอนแท่นที่อยู่ปากแม่น้ำกก และประเทศลาวของเมืองเชียงแสน โดยมีพญาอุปเสนอุปราชเมืองแพร่ ได้ยกกองทัพไปร่วมทำสงครามที่เมืองเชียงแสน เมื่อเมืองเชียงแสนถูกกองทัพของกรมหลวงหิริรักษ์เข้าปิดล้อมจนกองทัพพม่าแตกแล้ว ได้แบ่งไพร่พลทั้งหมดออกเป็น ๕ ส่วน ๑ ใน ๕ ส่วนนั้นได้แบ่งมอบให้กับพญาอุปเสน อุปราชเมืองแพร่ นำไพร่พลมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองแพร่ โดยส่วนหนึ่งเจ้าเมืองแพร่ให้มาตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับชาวเชียงแสนที่มาอยู่ก่อนแล้ว ( พ.ศ. ๒๓๒๔ และ พ.ศ. ๒๓๓๐ ) คือ บ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง ซึ่งพญาอุปเสนได้นำมาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาที่รกร้างอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง สันนิฐานว่าไพร่พลดังกล่าว ได้กระจัดกระจายกันตั้ง ถิ่นฐานกระจายออกไปทางทิศตะวันออก ตามผู้นำของชุมชน เช่น บ้านดอนมูล บ้านดอนแท่น บ้านค่างาม บ้านร้องแหย่ง เป็นต้น และชุมชนเหล่านี้บางแห่งได้นำชื่อบ้านเดิมของตนที่เคยอาศัยมาก่อนที่อยู่ประเทศลาวและเมืองเชียงแสน นำมาตั้งเป็นชื่อบ้านใหม่ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจของพวกตน เช่นบ้านดอนมูล บ้านดอนแท่น เป็นต้น(บ้านดอนมูล และเกาะดอนแท่นเป็นชื่อบ้านเดิมที่อยู่เมืองเชียงแสน )

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๔๗ จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านดอนมูลได้ก่อกำเนิดลูกหลาน แหลน โหลน ( เชื้อสายชาวเชียงแสนอพยพ ) มาแล้วประมาณ ๒๐๐ กว่าปี มีผู้นำชุมชนมาแล้วเท่าใดก็ไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เพียงแต่มีคำบอกเล่ากันต่อมาเท่านั้นและเพียงแต่สันนิฐานว่า บ้านพระหลวงธาตุเนิ้งที่ชาวเชียงแสนมาอยู่ก่อนนั้น คงจะมีผู้นำชุมชนอยู่ก่อนแล้ว แต่อาจจะขยับขยายลงมาอยู่ที่บ้านหัวดงด้วยก็เป็นได้ ซึ่งจากการบอกเล่าว่ากำนันคนแรกคงจะมีอยู่ก่อนแล้ว และน่าจะอยู่ที่บ้านพระหลวง หรือบ้านหัวดง เมื่อผู้นำชุมชนบ้านพระหลวง หรือบ้านหัวดงหมดวาระลง หรือลาออกก็ไม่มีการบันทึกไว้ ชาวบ้านจึงได้เลือกกำนันคนใหม่ เพื่อเป็นผู้นำชุมชน จึงได้เลือกเอาพ่อขุนมุกข์ เป็นผู้นำชุมชน ตั้งแต่ พ.ศ. ใด ก็ไม่มีใครสามารถบอกกล่าวได้ เช่นกัน สำหรับความเป็นมาของพ่อขุนมุกข์ ที่เป็นผู้นำชุมชน/กำนัน คนแรกนั้น พื้นแพท่านมีครอบครัวอยู่ที่บ้านต๋อ ( ตำบลร่องกาศ ) ได้อพยพครอบครัวญาติพี่น้องมาตั้งรกรากภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านดอนมูลหมู่ที่ ๔

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ออกพระราชบัญญัติให้คนไทยทุกคนจะต้องมีนามสกุล เป็นของตนเอง ซึ่งพ่อขุนมุกข์ ก็ไม่มีนามสกุลเช่นเดียวกัน ท่านเป็นกำนันจะต้องมีนามสกุล ท่านคงคิดอยู่เหมือนกันจะเอาอะไรดี บางคนก็เอาชื่อบ้านเป็นนามสกุล ก็มี เช่น บ้านวังหงษ์, บ้านทุ่ง, บ้านวังธง ก็มีคนเอาวังหงษ์เป็นนามสกุล ของตนเอง บางคนก็เอาหงษ์หนึ่ง หงษ์สอง หงส์สาม แบบนี้เป็นต้น สำหรับพ่อขุนมุกข์ ท่านก็คงเอา ชื่อ บ้านดอนมูลและบ้านหัวดงผสมกันเป็นนามสกุล จึงกำเนิดเป็นนามสกุลว่า “ดอนดง” โดยพบว่าบ้านดอนมูล มีนามสกุล “ดอนดง” อยู่มากมายหลายครอบครัว บางคนก็เปลี่ยนนามสกุลให้ทันสมัยกว่าดอนดงก็มี บางบุคคลก็คงใช้นามสกุลเดิมอยู่ โดยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ก็มีไม่น้อย ส่วนมากแล้วก็ยังเป็น เครือญาติกัน แต่คนรุ่นหลังไม่ทราบไม่ได้สืบเสาะหารากเหง้าของบรรพบุรุษ จึงทำให้คนรุ่นหลังคิดแต่แบ่งแยก อยู่ตัวใครตัวมัน เป็นสาเหตุให้ขาดญาติพี่น้อง ไปมากมาย เนื่องจากญาติผู้ใหญ่ไม่ได้บอกเล่านับเครือญาติให้ฟังอย่างนี้ก็มี

แต่เดิมนั้นตำบลดอนมูลเป็นตำบลที่มีเขตการปกครองที่ใหญ่ทั้งจำนวนประชากรและอาณาเขตพื้นที่ได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๙ หมู่ ได้แก่บ้านค่างามหมู่ที่ ๑ บ้านดอนแท่นหมู่ที่ ๒ บ้านดอนมูลหมู่ ที่ ๓ บ้านดอนมูลหมู่ที่ ๔ บ้านผ้าขาวหมู่ที่ ๕ บ้านร้องแหย่งหมู่ที่ ๖ บ้านหัวดงหมู่ที่ ๗ บ้านพระหลวงหมู่ที่ ๘ และบ้านพระหลวงหมู่ ๙ จนถึง วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ บ้านหัวดงหมู่ที่ ๗ บ้านพระหลวงหมู่ที่ ๘ บ้านพระหลวงหมู่ที่ ๙ ได้แยกออกไปตั้งเป็นตำบลพระหลวง เพื่อ สะดวกต่อการปกครองและการพัฒนาหมู่บ้าน

พ.ศ.๒๕๓๘ ตำบลดอนมูลจึงได้แบ่งเขตพื้นที่เดิมออกเป็นหมู่บ้านใหม่ดังนี้ บ้านค่างามหมู่ที่ ๑ แบ่งแยกออกเป็นบ้านค่างามหมู่ที่ ๘ บ้านดอนแท่นหมู่ที่ ๒ แบ่งแยกออกเป็นบ้านดอนแท่นหมู่ที่ ๗ และบ้านป่างิ้วหมู่ที่ ๑๐ บ้านดอนมูลหมู่ที่ ๔ แบ่งแยกออกเป็นบ้านดอนมูลหมู่ที่ ๙ ปัจจุบันตำบลดอนมูลมีประชากรจำนวน ๗,๔๙๒ คน เพศชาย ๓,๕๘๙ คน เพศหญิง ๓,๙๐๓ คน หลังคาเรือนจำนวน ๒,๘๗๔ หลังคาเรือน และจำนวน ๑๐ หมู่บ้าน ดังนี้ บ้านค่างามหมู่ที่ ๑ ,บ้านดอนแท่นหมู่ที่ ๒ ,บ้านดอนมูลหมู่ ที่๓ ,บ้านดอนมูลหมู่ที่๔ ,บ้านผ้าขาวหมู่ที่ ๕ ,ร้องแหย่งหมู่ที่ ๖ ,บ้านดอนแท่นหมู่ที่ ๗ ,บ้านค่างามหมู่ที่ ๘ ,บ้านดอนมูลหมู่ที่ ๙ ,บ้านป่างิ้วหมู่ที่ ๑๐

อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ,ทิศใต้ ติดกับ ตำบลช่องลม เทศบาลตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ,ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ,ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลพระหลวง และตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ไม้ฉำฉา ทำนา ทำสวน ค้าขาย และข้าราชการ/ รัฐวิสาหกิจ

ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ งานประจำปีปิดทองพระหลวงพ่อศรีสรรเพชร ( หลวงพ่อสมนึก ) ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ดเหนือ ส่วนใหญ่จะตรงกับเดือนเมษายนของทุกปี

การแต่งกาย ในอดีตกาลผู้ชายใส่เสื้อผ้าหม้อห้อม สวมกางเกงกี ( กางเกงขาก๊วย ) ผู้หญิงใส่เสื้อ หม้อห้อมแขนยาว และ นุ่งซิ้นแล้

วัด ตำบลดอนมูลมีวัดจำนวน ๔ วัด ได้แก่ วัดดอนมูล ( สำนักปฏิบัติธรรมแห่งที่ ๑๒ จังหวัดแพร่ ) วัดดอนแท่น วัดค่างามและวัดวุฒิมงคล ( วัดร้องแหย่ง ) โบสถ์คริสต์จำนวน ๑ แห่ง ( หมู่ ๗ ดอนแท่น ) พระธาตุที่สำคัญ คือ พระธาตุแก้วสหลีมุมเมือง วัดบ้านดอนแท่น พระธาตุศรีดอนมูล วัดบ้านดอนมูล

สถานศึกษา โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่จำนวน ๑ แห่ง คือโรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ โรงเรียน

ประถมศึกษาจำนวน ๓ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนดอนมูลวิทยาคาร ( พ.ศ.๒๕๕๕ โรงเรียนบ้านดอนแท่นได้รวมกับโรงเรียนดอนมูลวิทยาคาร ) โรงเรียนบ้านหัวดง และโรงเรียนบ้านค่างาม โรงเรียนพระปริยัติธรรม ๑ โรง คือ โรงเรียนวัดร้องแหย่งวิทยาคม ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน จำนวน ๒ แห่ง คือ ศูนย์เด็กเล็กบ้านดอนแท่นหมู่ ๒ และศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนบ้านค่างามหมู่ ๘

สถานบริการสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลสูงเม่น ( หมู่ ๗ ร้องแหย่ง ) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลดอนมูล ( หมู่ ๒ ดอนแท่น )

การปกครอง ด้านการปกครองตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุและจากการค้นคว้าเอกสารประวัติของบ้านดอนมูลทราบว่า ผู้นำตำบลดอนมูลหรือกำนันตำบลดอนมูลส่วนใหญ่จะมีภูมิลำเนาอยู่ในบ้านดอนมูล ( หมู่ ๓,หมู่ ๔ และ หมู่ ๙ ) ซึ่งทราบว่ากำนันคนแรก คือ พ่อขุนมุกข์ ดอนดง ภูมิลำเนาอยู่บ้านดอนมูลหมู่ที่ ๔ เรียงลำดับผู้นำหรือกำนันที่ปกครองตำบลดอนมูล ดังนี้

๑. พ่อขุนมุกข์ ดอนดง พ.ศ.ไม่ปรากฏ

๒. พ่อใหญ่เทพ สมร ( เทพศุภร ) พ.ศ.ไม่ปรากฏ - ๒๔๘๒

๓. นายเติง สมร ( เทพศุภร ) พ.ศ.๒๔๘๒ -๒๕๑๔

๔. นายวิโรจน์ พอจิต พ.ศ.๒๕๑๔ – ๒๕๔๑

๕. นายบุญมี ดังก้อง พ.ศ ๒๕๔๑ - ๒๕๔๖

๖.นายส่วย สมร พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๔๘

๗.นายมานิตย์ ดังก้อง พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๑

๘. นายวสันต์ ปารมาลย์ พ.ศ.๒๕๕๑ – ปัจจุบัน

หมายเหตุ ผู้นำชุมชนหรือกำนันตำบลดอนมูลที่ได้ทำหน้าที่ปกครองสืบต่อจาก พ่อขุนมุกข์ ดอนดง นั้นมีหรือไม่ผู้ค้นคว้าไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้

คำขวัญตำบลดอนมูล "เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก อนุรักษ์ประเพณี แดนคนดี ศรีดอนมูล ฮักเทิดทูน องค์กษัตรา น้อมบูชา หลวงพ่อสมนึก "

ในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ สภาวัฒนธรรมตำบลดอนมูลโดยนายยรรยง สมัย ประธานสภาวัฒนธรรมตำบล ดอนฃมูลได้จัดทำเพลงประจำตำบลจำนวน ๒ เพลง คือ เพลงซอสตริงตำบลดอนมูล และเพลงตำนานตำบลดอนมูล ซึ่งมีเนื้อเพลง ดังนี้

เพลงซอตำนานตำบลดอนมูล ทำนองเพลงปุ๋งเป้ง แม่ครูพะยอม ถิ่นถาขับร้อง

เมืองแป้เฮา ถิ่นเย้า เฮือนนอน นกบ่ลืมกอน ตะก่อน ต๋อนหลัง เฮาฝังใจจ๋ำ ได้หัน ได้ฮู้ ก่อนกาลตำนานก่อนมี สองร้อยกว่าปี๋ เฮามีหลังลูน หมู่เฮาจาวบ้านดอนมูล บ่ลืมสกุลค้นหาว่าต่อ (ดนตรี)

เจ้าปดุงแม่ทัพพม่า ปาเอาแสนยา มาตี๋ เมืองกรุง กึ๊ดก๋าน หมายมุ่ง ๕ ตางตวยกั๋น ตี๊สำคัญเข้าตี๋ เจียงแสน ได้รวดแผวแดน เจียงคำ เมืองเทิง ลัดเลาะต๊ามหนตางเดิน ได้มาเถิง น้ำยมเมืองแป้ (ดนตรี)

พญาด่านซ้าย ฮู้ข่าว พม่า ยกทัพโยธา มาเถิงเมืองสอง เอามากึ๋ดมากรอง กลัวเลือดนองเมืองแป้ เรื่องราวเกิดศึกสงคราม บ่ฮือปราบปราม ผ่านไปดีแต้ กึ๊ดใจ ผ่อกอยเล็งแล เจ้าหลวงเมือแป้ มอบลูกเป็นเชลย (ดนตรี)

เจ้าเมืองไจย ตกเป๋นเชลย บ่กึ๊ดบ่เกย เลยในจาดนี้ เฮากึ๊ดต่อตี๋ จ๋นจีวีวอดวาย ตั๋วเฮา จำต้อง อดทน กำหยามของคนทั่วปฐพี ตวยต๋าม พม่า ไพรี สีหบดี ตี๊ เมือง เจียงแสน (ดนตรี)

ไปถวายกับเจ้าปดุง แม่ทัพยศสูงอยู่เมืองเจียงแสน เป๋นเขตดินแดนล้านนา ตะก่อน พญากาวีระ เจ้าปกครอง เจียงใหม่นคร เป๋นถิ่นหวงแหน ยกทัพปิดล้อม เจียงแสน พญาไจยวางแผน ต่อสู้กับพม่า (ดนตรี)

พญากาวีระ – เมืองไจย ได้ปากั๋นไปรายงานตั๋วต๋น ต่อกับพระพุทธยอดฟ้า  หื้ออยู่ ในกรุงเทพฯ ชั่วคราว หมู่เฮาจาว เจียงแสน เมืองยอง เลื่อมใส เมืองไจยคุ้มครอง ได้ปากั๋นยอม อพยพ..อยู่แป้ (ดนตรี)

พญาเมืองไจย ปิ๊กไปเมืองแป้ ใจ๋ใส่ดูแล เปลี่ยนแปล๋งก๋านเมือง ขอหือเหมือน ลำปางเจียงใหม่ ยกทัพไปจ่วยกั๋นฮบ พม่าตึงหมดฮือได้จ๋ำยอม เถิงเมือง เจียงแสน เมืองยอง ฆ่าแม่ทัพผยอง เพียววุ่นตี้ เจียงแสน (ดนตรี)

ไพร่พล เจียงแสน เมืองยอง จวนเอาปี้น้อง จาวยองเจียงแสน เข้าสู่โกศัยนคร  อุปเสน อุปราช - เมืองไจย ผ่อเฝ้าเอาใจ๋ ดอนแต่น ดอนมูล เก๊าเหง้า บ้านพระหลวงเพิ่มพูน จื้อว่า ดอนมูล ดอนแต่น จื้อเก่า (ดนตรี)

หม่าเดี่ยว ดอนแต่น ดอนมูล เก้าก๊กสกุล อยู่ตี้เจียงแสน เกยเป๊นดินแดนมหามงคล  หมู่บ้าน จื่อตำบล เป๋นชุมชน อยู่ในเจียงแสน ลูกหลาน เหลนโหลน มาแตน ฮักษาหวงแหน เตือน อก เตือนใจ๋ (ดนตรี)

หมู่บ้านเฮามีผู้นำ ผู้ใหญ่ ก๋ำนัน มีเก้า มีก๋อ ตี้อยู่บ้านต๋อ ดอนมูลรวมอยู่ รัชกาลตี้หก ออกหมายจัด พระราชบัญญัติ มีนามสกุล ป้อขุนมุกข์ เป๋นกำนัน ดอนมูล ใจ๊นามสกุลว่า ดอนดง คนแรก (ดนตรี)

บ้านต๋อ หัวดง ดอนมูล เฮาเกิดหม่าลูน บ่ดีลืมหลำ วัฒนธรรมน้อมนำมาสู่  สิบหมู่บ้านเฮามี ธรรมเนียม อยู่อย่างพอเพียง มีอาจ๋ารย์มีครู  วัดวา อาราม มีจู เฮากิ๋นเฮาอยู่ สิบหมู่ ม่วนใจ๋ ( สุขใจ๋แต้น้อ ...... ม่วนใจ๋แต้น้อ....... สุขใจ๋แต้น้อ ........ ม่วนใจ๋แต้น้อ )

ซอตำนานบ้านดอนมูล ทำนองซอสตริงส์ (ขึ้นต้นด้วย ซอกระโลงเชียงแสน)

เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก อนุรักษ์ประเพณี แดนคนดี ศรีดอนมูล ฮักเทิดทูน องค์กษัตรา น้อมบูชา หลวงพ่อสมนึก (ดนตรี ซอสตริงส์)

หมู่หนึ่งหมู่แปด จื่อบ้าน ค่างาม อาชีพเมินนาน ยะนาปลูกข้าว (ดนตรี) รวมตึงจักสาน ไม้ไผ่แบบเบ้า สานบุงใส่ข้าว สานด้งเป็นใบ (ดนตรี) สานข้องใส่ปล๋า จะเอารุ่นไหน ของเฮาเกยใจ๊ กระติ๊บใส่ข้าว อยู่กู๊บ้านเฮา มาเมินแต้เล่า (ดนตรี)

หมู่สองดอนแต่น หมู่แคว้นอุษา อาชีพยะนา มาแต่เก๊าเง้า (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ เสริมรายได้เข้า หมู่บ้านของเฮา ได้มีงานทำ (ดนตรี) สอนฮือลูกเต้า มานะขยัน วันดอน มูลหัน ของดี มีนี้ พระธาตุ สะหรี มุมเมือง อยู่นี้ (ดนตรี)

หมู่บ้าน ตี๊สาม ของดี มีหนุน จื่อบ้าน ดอนมูล อาชีพ รายได้ (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ เสริมรายได้เข้า หมู่บ้านของเฮา ได้มีงานทำ (ดนตรี) สอนฮือลูกเต้า มานะขยัน บ้านดอนมูลหัน ของดีมีนี้ พระธาตุ สะหรี มุมเมือง อยู่นี้ (ดนตรี)

หมู่บ้านตี้สาม ของดีมีหนุน จื่อบ้านดอนมูล อาชีพรายได้ (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ ไม้สัก ของใจ้ ผลิตภัณฑ์ได้ ส่งขายทั่วไป (ดนตรี) ประตู๋หน้าต่าง ตู้เตียงโต๊ะ รุ่นไหน ของประดับใจ๊ ตบแต่งในบ้าน นาฬิก๋าแขวนงาม กรอบรูปน้ำย้อย (ดนตรี)

หมู่สามดอนมูล หมู่สี่ดอนมูล อาชีพ เพิ่มพูน ลงทุนในบ้าน (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ เดิมออน ก่อนสร้าง เป๋นตี้กล่าวขาน ฝีมือลวดลาย (ดนตรี) น้ำไหล ชายคา แกะสลักขาย ไม้สัก เก๊าปล๋าย มีแหย่งเก้อี้ โต๊ะหมู่บูชามี ชุดฮับแขกนี้ (ดนตรี) วัดดอนมูล ของดี ฮักษา ปี้น้องศรัทรา ไหว้สา พร้อมหน้า (ดนตรี) หลวงป้อสมนึก คุ้มครองทั่วหล้า นำโจ๊คจัยมา ขายก๊าดอนมูล...............ดอนมูล ได้สมใจ๋นึก บุญก้ำ ทรัพย์หนุน ลูกหลานเกิดลูน ทำบุญวัดนี้ ความสามัคคี เป็นน้องเป็นปี๊ (ดนตรี)

จื่อหมู่ตี่ห้า ว่านบ้านผ้าขาว อาชีพ ยืนยาว ยะนาปลูกข้าว (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ ไม้สัก แต้เล่า บ้านผ้า ขาวเฮา มีรายได้ มา (ดนตรี) สอนฮือลูกเต้า จ่างฮิ จ่างหา มีถูมิปั๋ญญา เกิดอยู่ในบ้าน ไหวพริปฏิภาณ สืบสาน ขายก๊า (ดนตรี) หมู่หกร้องแหย่ง เป็นแบ่งน้ำใจ๋ ฮ่วมสืบสายใย มาเจ้น แก่เฒ่า (ดนตรี) ในน้ำมีปล๋า  ในนามีข้าว ยะนาบ้านเฮา อาชีพก่อนเดิม (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ ไม้สัก ต่อเสริม ฉำฉามาเติม เฟอร์เจอร์แป้งลาย แป๋งฮังเผิ้งขาย ถาดสะโตกใจ๊ (ดนตรี) ตี้วัดร้องแหย่ง สัญญาลักษณ์ หัน ต้นแหย่งเก่าหลัง หื้อฮู้หันได้ (ดนตรี) ลำต้น น้อย น้อย คล้ายกับต้นไผ่ แต่ใบแหย่งใหญ่ กว่าใบไผ่พองาม (ดนตรี) มีอยู่ ตี้เดียว ประวัติ บอกต๋าม โรงเรียน ธรรมะ พระปรัยัติ ก้าวหน้า (ดนตรี) พุทธศาสนา แห่งประเทศไทย นั้น (ดนตรี)

หมู่เจ็ดดอนแต่น ค้าแม่นขายหมาน หมกิ๋น หมตาน หวังความก้าวหน้า (ดนตรี) อาชีพทำนา  หมั่นขายหมั่นก๊า ลูกหลานภายหน้า เจริญ รุ่งเรือง (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ ขายได้ไปเปี๋ยง แต่งหย้องครัวเฮือน ของใจ๊ในบ้าน เป๋นพวกจักสาน หมู่บ้านฮ้านก๊า (ดนตรี) หมู้สิย ป่างิ้ว อาชีพ อาสา แยกหมู่บ้าน มา หมู่สอง ของบ้าน (ดนตรี) ดอนแต่น เคหา ก่อนเป็นบ้านกว้าง บ้านสร้าง หมู่สร้าง อาชีพ ทำนา (ดนตรี) ทำเฟอร์นิเจอร์ ใจ๊ไม้ฉำฉา เอกลักษณ์โด่งดัง จำหน่าย ขายก๊า (ดนตรี) หมู่เก้าดอนมูล กว้างสุดหูตา ได้แยกออกมา จากหมู่สี่ได้ (ดนตรี) ผู้นำ ตำบล พัฒนา ไคว่. เปิ้นได้เข้าใจ๋ ต๋ามบ้าน ต๋ามเมือง ต๋ำบลหมู่บ้าน มีจือ มีเสียง อยู่อย่างพอเพียง ก้ำเมือง ก้ำบ้าน ได้สมญา นาม ดอนมูล ตูนเต๊า (ดนตรี) อุปนิสัย จาวบ้านใจ๋บุญ ต๋ำบล ดอนมูล สามัคคี ก้าวหน้า ฮักความสงบ แจ่มใสเริงร่า ก๊ำศาสนา เข้าวัดฟังธรรม (ดนตรี) ขนบ ธรรมเนียม ประเพณีฮ่วมกั๋น มานะ ขยัน หาเลี้ยงชีพได้ แผ่นดิน ถิ่นเกิด ฮักเทิดทูน...ไว้ (ดนตรี)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 09 •กันยายน• 2012 เวลา 16:36 น.• )