ตำนานวัดพระหลวง ได้ถูกเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยพระครูปัญญาพิชัย เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๓ ได้กล่าวว่า แต่เดิมบริเวณชุมชนและวัดพระหลวงเคยเป็นป่าใหญ่ดงหลวงมาก่อน มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุม ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีงูใหญ่อยู่ตัวหนึ่งที่มีความดุร้ายจะคอยจับสัตว์ต่างๆกินเป็นอาหารแม้แต่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านหากพลัดหลงเข้าไปในป่านั้นก็จะถูกงูกัดกินเป็นอาหารทุกคราวไป ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าชาวฮ่อ (จีนฮ่อ) นำสินค้าบรรทุกหลังม้ามาขายและพากันพักแรมที่บ้านสูงเม่น แล้วปล่อยให้ม้าหากินเองบริเวณใกล้เคียง ม้าบางตัวที่ล่วงล้ำเข้าไปในดงหลวงก็จะถูกงูใหญ่กัดกินเป็นอาหาร เมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งก็ทำความเสียหายและสร้างความโกรธแค้นให้กับพ่อค้าชาวฮ่อเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันหาวิธีกำจัดงูใหญ่นั้นเสีย โดยช่วยกันตัดไม้ไผ่มาผ่าแล้วเหลาเอาผิวไม้มาสานขัดแตะเป็นตาแสง ๖ เหลี่ยม ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า “ ตาแหลว ” กะให้รูบ่วงตาแหลวมีขนาดกว้างพอๆกับขนาดของงู แล้วนำไปปิดปากรูที่งูอาศัยอยู่ ตอกหลักยึดเงื่อนตาแหลวไว้ให้ตรึงแน่นหนา ครั้นรุ่งขึ้นก็พากันมาดูแล้วพบว่า งูใหญ่ติดอยู่ที่บ่วงตาแหลว จึงช่วยกันฆ่างูนั้นเสีย แล้วตัดซากงูออกเป็นท่อนๆกองไว้ใกล้รูงูนั้น หลังจากนั้นพ่อค้าชาวฮ่อก็นำสินค้าไปขายตามปกติ ครั้นเมื่อขายสินค้าหมดก็เดินทางกลับแล้วพากันไปดูซากงูที่กองไว้ ก็ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งเพราะซากงูนั้นกลายเป็นท่อนเงินท่อนทอง จึงตกลงแบ่งท่อนเงินท่อนทองนั้นออกเป็น ๓ ส่วน

พวกพ่อค้าเอาไป ๑ ส่วน นำไปถวายเจ้าฟ้า (เจ้าเมือง) ของพวกเขา ๑ ส่วน และฝังไว้บริเวณรูงูนั้น ๑ ส่วน ต่อมามีชนคณะหนึ่งได้พากันมาบุกเบิกป่าดงหลวงนั้น ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน และสร้างวัดขึ้นพร้อมทั้งสร้างเจดีย์ครอบรูงูไว้ จึงเกิดเป็นหมู่บ้านและวัดขึ้น ไม่ปรากฏว่าชุมชนนี้อยู่บริเวณนี้นานเท่าใด ได้อพยพหรือถูกกวาดต้อนเนื่องจากสงครามไปที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานบ่งบอกไว้ คงปล่อยให้เป็นหมู่บ้านร้างและวัดร้างเป็นเวลานานจนเกิดเป็นป่าใหญ่และดงหลวงขึ้นอีก บ้านเรือนที่อยู่อาศัยรวมทั้งวัดวาอารามหักพังเหลือแต่ซากและร่องรอยแนวเขตของวัดเท่านั้น จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. ๒๓๓๐ ได้มีกลุ่มชนไทลื้อจากเชียงแสนพากันอพยพมาทางใต้ถึงบ้านสูงเม่น โดยมีพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านรวม ๓ หัววัด ๓ หมู่บ้าน ด้วยกันคือ ๑. วัดและบ้านกว๋าว เจ้าอาวาสชื่อ ครูบากว๋าว ๒. วัดและบ้านสบจัน เจ้าอาวาสชื่อ ครูสบจัน ๓. วัดและบ้านหัวโป่ง เจ้าอาวาสชื่อ สุทธนะ เจ้าอาวาสทั้งสามได้พาภิกษุสามเณรและชาวบ้านมาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านขึ้นบริเวณดงหลวง และช่วยกันบูรณะปฏิสังขรวัดร้างที่ปรักหักพัง จากนั้นให้นามวัดนี้ว่า “ วัดพระหลวง” และหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านพระหลวง” ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อมาจนกระทั่งเป็น “ตำบลพระหลวง” ในปัจจุบันนี้ อนึ่ง ในปีพ.ศ. ๒๔๓๖ ทางการได้จัดการปกครองออกเป็นตำบลและหมู่บ้านโดยแบ่งออกเป็น ๑๗ ตำบล ชุมชนบ้านพระหลวงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบลพระหลวง พร้อมกับตำบลอื่นๆด้วย ทั้ง ๑๗ ตำบลนี้ขึ้นกับอำเภอเมืองแพร่ โดยมีหัวหน้าตำบลเรียกว่า “แคว่น” ส่วนการปกครองหมู่บ้านเรียกว่า “หลัก” ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ทางการได้ยุบตำบลขนาดเล็ก ๖ ตำบล ตำบลพระหลวงจึงถูกยุบด้วย และให้ไปรวมกับตำบลดอนมูล ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ ชุมชนบ้านพระหลวงได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นตำบลอีกครั้งหนึ่งโดยแยกหมู่บ้านหมู่ที่ ๗,๘,๙,๑๐ และ ๑๒ จากตำบลดอนมูลมาตั้งเป็น “ตำบลพระหลวง” โดยมีนายโกวิทย์ ดอกเกี๋ยง เป็นกำนันคนแรก แล้วแบ่งหมู่บ้านเป็น ๕ หมู่บ้าน คือหมู่ที่ ๑-๕ ในปัจจุบัน

๑. ชื่อตำบลพระหลวง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเม่น ประมาณ ๒ ก.ม. ห่างจากตัวจังหวัดแพร่ประมาณ ๙ ก.ม. มีพื้นที่ทั้งหมด ๗.๑๖ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๔,๔๗๕ ไร่) พื้นที่เป็นที่ราบ แบ่งการปกครองออกเป็น ๕ หมู่บ้าน คำขวัญของตำบล เอกลักษณ์แห่งภาษา บูชาพระแสนหลวง บวงสรวงพระธาตุเนิ้ง ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี

๒. อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับ บ้านสบสาย ตำบลสบสาย ทิศใต้ ติดกับ บ้านท่ามด ตำบลสูงเม่น ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านดอนมูล ตำบลดอนมูล ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านโตน ตำบลสูงเม่น และบ้านปง ตำบลบ้านปง

๓. ข้อมูลด้านการปกครอง เจ้าอาวาสวัดองค์แรกของ วัดพระหลวง ชื่อ ครูบากว๋าว (พ.ศ. ๒๓๓๐ – ๒๓๕๗) วัดแก้วมงคล(หัวดง) ชื่อ พระชัยเสน (พ.ศ. ๒๒๓๘ – ๒๓๑๕) ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน หมู่ที่ ๗ นายหมื่นพงษ์ พูนพิน หมู่ที่ ๘ นายอินต๊ะ เดือนดาว หมู่ทิ่ ๙ นายธิ เด็ดขาด กำนันคนแรกของตำบล ชื่อ นายโกวิทย์ ดอกเกี๋ยง ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ชื่อ พระครูปัญญาภิชัย

๔. ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน ตำบลพระหลวงแบ่งการปกครองออกเป็น ๕ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวดง จะอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบล มีพื้นที่ติดกับ หมู่บ้านดอนมูล ตำบลดอนมูล ถือว่าเป็นเมืองหน้าด่านก่อนจะเข้าสู่ตำบลพระหลวง ประชาชนในหมู่นี้จะเป็นชุมชนที่เกิดจากการมาอยู่รวมกันของผู้คนจากหลายๆพื้นที่ สำเนียงภาษาพูดจึงเหมือนกับชุมชนคนเมืองของจังหวัดแพร่ หมู่บ้านนี้มีวัด ๑ วัด คือ วัดแก้วมงคล มีผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันชื่อ นายพงษ์พันธ์ สายนาค หมู่ที่ ๒ บ้านโฮ้ง จะอยู่ทางทิศใต้ของตำบล มีพื้นที่ติดกับบ้านท่ามด ตำบลสูงเม่น เป็นชุมชนที่ผสมผสานทั้งคนเมืองและคนดั้งเดิมของบ้านพระหลวง ภาษาพูดจะมีทั้งสำเนียงคนเมืองและคนพระหลวง ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันชื่อ นายบวร ภิญโญ หมู่ที่ ๓ บ้านกว๋าว จะอยู่ถัดจากบ้านหัวดงเข้าไปโดยมีลำเหมืองร่องบ้ากั้นกลาง เป็นหมู่บ้านที่อพยพมาจากเชียงแสนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ตามที่ระบุในตำนานวัดพระหลวง ผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่นี้จะมีสำเนียงการพูดแบบไทลื้อเชียงแสน บ้านขามป้อม จะอยู่ทางทิศเหนือของบ้านกว๋าว โดยมีถนนกั้นกลาง เป็นหมู่บ้านที่อพยพมาจากเชียงแสนเช่นเดียวกับบ้านกว๋าว แต่สำเนียงการพูดของผู้คนในหมู่บ้านน อาจจะเพี้ยนไปบ้างเพราะมีพื้นที่ทางทิศตะวันออกติดกับหมู่ที่ ๑ บ้านหัวดง ผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ ๓ คนปัจจุบันชื่อนายอดุลย์ ดอกเกี๋ยง หมู่ที่ ๔ บ้านหัวโป่ง-บ้านสบจัน จะอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระหลวงทั้งบ้านหัวโป่งและบ้านสบจัน เป็นชื่อหมู่บ้านที่อพยพจากเชียงแสน ตามตำนานวัดพระหลวง สำเนียงการพูดจึงคล้ายกับไทลื้อเชียงแสน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลพระหลวงด้วย ชื่อ นายมงคล มั่นเหมาะ หมู่ที่ ๕ บ้านทุ่งขยอม จะอยู่ทางทิศตะวันตกมีพื้นที่ติดกับทุ่งนา และหมู่บ้านโตน ตำบลสูงเม่น สำเนียงการพูดคล้ายกับไทลื้อเชียงแสน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันชื่อ นายชนะศักดิ์ เด็ดขาด

๕. เหตุผลที่ตั้งชื่อเรียกหมู่บ้าน หมู่ที่ ๑ บ้านหัวดง ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นหมู่บ้านหน้าด่านติดถนนหลวงอยู่ทางตะวันออกของบ้านพระหลวงซึ่งแต่เดิมบริเวณชุมชนตำบลพระหลวงนี้เป็นป่าใหญ่ดงหลวง เมื่อตั้งหมู่บ้านแล้วหมู่บ้านหน้าด่านที่จะเข้าไปในดงจึงเรียกว่า “ บ้านหัวดง ” หมู่ที่ ๒ บ้านโฮ้ง เนื่องจากบริเวณที่ตั้งชุมชนมีลำน้ำ ๒ สายไหลผ่าน คือ ลำน้ำร่องบ้า ไหลมาจากลำน้ำแม่สาย และลำเหมืองที่ไหลมาจากลำน้ำแม่มานไหลมาบรรจบกันที่ฝายเหมืองหอซึ่งอยู่ท้ายหมู่บ้าน บางครั้งมีน้ำมาก ระบายไม่ทันทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ อีกทั้งบริเวณนี้เป็นที่ลุ่ม (ภาษาเมืองเหนือเรียกว่าโฮ้ง) น้ำท่วมขังกว่าบริเวณอื่น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “ บ้านโฮ้ง ” หมู่ที่ ๓ บ้านกว๋าว เป็นชื่อหมู่บ้านดั้งเดิมที่อพยพมาจากเชียงแสนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๐ ตามตำนานวัดพระหลวง บ้านขามป้อม ที่มาของชื่อเนื่องจากเมื่อก่อนนั้นมีต้นมะขามป้อมขนาดใหญ่ขึ้นกลางหมู่บ้านบริเวณบ้านของพ่อปัน-แม่ปิ๋ว ดอกเกี๋ยง มองเห็นได้ชัดเจน เหมือนกับว่าเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน ชาวบ้านละแวกนั้นจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ บ้านขามป้อม” หมู่ที่ ๔ บ้านหัวโป่ง, บ้านสบจัน เป็นชื่อหมู่บ้านดั้งเดิมที่อพยพมาจากเชียงแสนตั้งแต่ปี ๒๓๓๐ ตามตำนานวัดพระหลวงปัจจุบันไม่ค่อยนิยมเรียกชื่อนี้จะมีเฉพาะในหมู่ผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้น หมู่ที่ ๕ ทุ่งขยอม ที่มาจากชื่อนี้มาจากบริเวณที่ตั้งชุมชนนี้มีต้นขยอมขึ้นมากมายประกอบกับหมู่บ้านอยู่ติดกับทุ่งนาจึงตั้งชื่อว่า “บ้านทุ่งขยอม”

๖. ตำนาน ความเชื่อ เรื่องเล่าปากต่อปาก นิทานของหมู่บ้าน

๖.๑ ความเชื่อ ชุมชนตำบลพระหลวงถือว่าเป็นชุมชนที่เก่าแก่ มีศิลปวัฒนธรรมความเชื่อที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันนี้ บางอย่างก็เลือนหายไปตามกาลเวลาก็มี แต่ก็มีวัฒนธรรมความเชื่ออีกหลายอย่างที่ยังยึดถือกัน เช่น พิธีสืบชะตา, สืบชะตาหลวง, ส่งเคราะห์(สะเดาะเคราะห์), ส่งเคราะห์หมู่บ้าน, สู่ขวัญ(เรียกขวัญ), ซ้อนขวัญ, บายศรีสู่ขวัญนาค, ขึ้นต้าวตั้งสี่, ตานเฮือนน้อย, เลี้ยงผีตายโหง, เลี้ยงผีปู่ย่า ,เลี้ยงผีหมู่บ้าน, บูชาเทียน(ปู๋จาเตียน), ปู๋จาข้าวปุ้น, สวดถอน, เผี้ยวเฮือนคนตาย, ตานตุง, คานตุงแดง, ตานทรายร้อยกอง, ตัดสายสัมพันธ์คนเป็น คนตาย, กุมเกิด (เข้าผ้าผืนหลวง), เป่าคาถาอาคมและมนต์น้ำรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ไล่ภูตผีปีศาจ

๖.๒ เรื่องเล่าปากต่อปาก (๑) เรื่องลูกแก้วลอยออกจากพระธาตุเนิ้ง พระธาตุเนิ้งถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ มีอายุยาวนาน ซึ่งกรมศิลปกรได้สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นองค์เจดีย์ทรงปราสาท ก่อด้วยอิฐ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา องค์เจดีย์เอียงอย่างเห็นได้ชัด คนทั่วไปจึงเรียกว่า “ธาตุเนิ้ง” มีเรื่องราวเล่าต่อกันมา วันดีคืนดีหรือวันที่ใกล้ๆ จะถึงงานนมัสการพระธาตุเนิ้ง (ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ) จะมีคนเห็นลูกแก้วมีสีเขียวหรือบางทีก็เป็นสีรุ้งลอยออกจากองค์พระธาตุ ลอยไปทางทิศเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ บ้างก็สันนิษฐานว่าลอยไปยังพระธาตุวัดหัวข่วง และพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่เป็น ๓ เส้า คือ พระธาตุวัดพระหลวงพระธาตุวัดหัวข่วง และพระธาตุช่อแฮ จะมีระหว่างเท่าๆกัน คือประมาณ ๙ ก.ม. (๒) เรื่องผีกะ เรื่องผีกะจะมีมากในสมัยก่อนส่วนในปัจจุบันจะมีประปรายตามความเชื่อของคนบางกลุ่ม เล่าว่าคนที่เป็นผีกะมักจะเป็นตามกรรมพันธุ์ ซึ่งผีกะนั้นจะทำให้คนขวัญอ่อนไม่สบาย ถ้าเป็นเด็กเล็กจะทำให้เด็กไม่สบาย อยู่ไม่เป็นสุข เชื่อว่านกเค้าแมวจะเป็นตัวแทนของผีกะ คนสมัยก่อนจะพยายามกำจัดหรือป้องกันไม่ให้นกเค้าแมวไม่ให้เข้าไปในบ้านโดยเฉพาะตอนผู้หญิงอยู่ไฟ บางครั้งเมื่อมีคนถูกผีกะเข้าสิงก็จะใช้คาถาอาคมเข้าข่มและไล่จนผีกะอยู่ไม่ได้ (๓) ผีสือ (ผีกระสือผู้หญิง) ผีโพง (ผีกระสือผู้ชาย) เป็นผีที่ชอบกินของสดๆ เช่น กบ,เขียด ตามท้องนา หรือพวกสัตว์ปีก เช่น ไก่ จะเป็นหน้าที่ของหมอผี หรืออยู่ที่มีคาถาอาคมคอยไล่หรือกำจัดผีกระสือหรือผีโพง (๔) ผีบิน เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่าจะมีผีบินคอยจับเด็กไปฆ่าโดยสะพายย่ามขนาดใหญ่ไปในที่ต่างๆในบ้านหรือทุ่งนาป่าเขา หากพบเด็กอยู่ตามลำพังก็จะจับใส่ย่ามแบกไป เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ชอบเล่าให้เด็กๆฟังเพื่อปรามไม่ให้เด็กไปเที่ยวเล่นในที่ลับตา หรือไปเที่ยวไกลๆห่างจากพ่อแม่

๗. เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนมีความภูมิใจและประทับใจคือ เหตุการณ์ที่ทางกระทรวงมหาดไทยโดยจังหวัดแพร่ได้เลือกบ่อน้ำในวัดพระหลวงเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าอยู่หัว โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ พ.ย. ๒๕๕๐ ได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำโดยนายอำเภอสูงเม่นเป็นประธาน และประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธาน เพื่อทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในงานพระราชพิธีเสด็จออกมาสมาคมรับการถวายพระชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ครั้งที่ ๒ ทางจังหวัดแพร่ได้เลือกบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระหลวงเพียงแห่งเดียวประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานแล้วอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

๘. เหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ในพ.ศ. ๒๕๐๖ จำวันเดือนไม่ได้ ได้เกิดฝนฟ้าคะนองและฟ้าผ่ายอดพระธาตุเนิ้งทำให้ยอดพระธาตุหักเสียหาย และพระพุทธรูปที่อยู่ทั้ง ๔ ด้านของพระธาตุก็ได้รับความเสียหายด้วย

๙. เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพที่สำคัญของประชาชนในหมู่บ้าน เครื่องมือการทำนา เช่น ไถ คราด แอก อ้อมแอก เคียว ระบุง ไม้หลาวหาบข้าว ตะเกียบ เครื่องมือการทำสวน เช่น จอบ เสียม เครื่องพ่นยา ฯลฯ เครื่องมือจับปลา เช่น แห อวน สวิง ไซ สุ่ม ฯลฯ เครื่องมือช่างไม้ เช่น เลื่อย กบไสไม้ สิ่ว มีด ขวาน ฯลฯ เครื่องมือทอผ้า เช่น กี่ ฟืม กระสวย ฯลฯ

๑๐. อาหารพื้นถิ่นในหมู่บ้านเนื่องจากคนในท้องถิ่นชอบรับประธานข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารส่วนใหญ่จะแตกต่างจากทางภาคกลางหรือภาคอื่นๆ เป็นอาหารที่คล้ายๆกับท้องถิ่นชาวเหนือที่นิยมปรุงจากเนื้อวัว-ควาย หมู ปลา ไก่ และพืชในท้องถิ่น เช่น แกงอ่อม แกงแค น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกแห้ง(น้ำพริกตาแดง) น้ำพริกน้ำปู น้ำพริก ปลาร้า ผักลวก ผักนึ่ง ตำเตา ส้าหยวก ส้างวม ตำส้มมะม่วง ยำมะเขือ แกงผักรวม ตำมดส้ม แกงเห็ดหูลั๊วะ(เห็ดหูหนู) คั่วใบตูนใส่ไข่ โซ๊ะมะเฟือง โซ๊ะมะโอ แกงสะแล ยำสเลียม ส้ามะเขือแจ้ แกงขนุน ยำขนุน ฯลฯ

๑๑. ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน

๑๑.๑ ประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง ประเพณีที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานโดยจะจัดขึ้นในวันขึ้น ๖ – ๘ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ มีการทำบุญตักบาตร สืบชะตาหลวง ปิดทองพระ ไหว้พระธาตุ สรงน้ำพระธาตุ ทำบุญวันเกิดปีเกิด นอกจากนั้นก็มีการละเล่น การแสดงในลานวัฒนธรรม และมีมหรสพสมโภชน์ตลอดงาน

๑๑.๒ งานประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมาทุกปีเช่นกัน จะมีพิธีกรรมทางศาสนา ทำบุญตักบาตร ทำบุญกระดูกบรรพบุรุษ การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระภิกษุสามเณร ทูลขวัญเจ้าอาวาส รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ส่งเคราะห์หมู่บ้าน นอกจากนั้นก็จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นเช่น การแข่งขันการเล่นสะบ้า จุดบอกสะโป๊ก การประกอบอาหารพื้นเมือง เป็นต้น

๑๒. การแสดงศิลปวัฒนธรรมในหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบัน ในอดีตนั้นจะมีการฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบในงานเทศกาลต่างๆซึ่งการละเล่นแบบนี้ในปัจจุบันได้หายไป พึ่งจะมาเริ่มรื้อฟื้นกันใหม่ในกลุ่มเยาวชนและหมู่บ้าน การตีกลองอืด กลองปู๋จา กลองสะบัดชัย และวงปี่พาทย์ก็ยังเล่นกันอยู่ และเป็นที่นิยมกันในปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งคือกลองมองเซิง ซึ่งจะมีคณะฟ้อนของกลุ่มแม่บ้านร่วมแสดงด้วย นอกจากฟ้อนรำประกอบกลองมองเซิงแล้ว ยังมีชุดฟ้อนรำของกลุ่มสตรีซึ่งจะมีทุกหมู่บ้าน การแสดงหรือการละเล่นในสมัยก่อนก็จะมีการเล่าค่าว จ้อย ซอ และมีรำวง ซึ่งในปัจจุบันไม่มีให้เห็น จะมีแต่คำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อนๆ เท่านั้น

๑๓. การแสดงแต่งกายของประชาชนในหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบัน ในอดีต ชาย จะแต่งกายด้วยการนุ่งเตี่ยวกี เสื้อกุยเฮง(เสื้อหม้อห้อม) และคาดผ้าหัว(ผ้าขะม้า) หญิง จะนุ่งซิ่นแล้ เสื้อแขนกระบอกผ่าเฉียงติดกระดุมเงิน ปัจจุบัน ชาย – หญิง จะแต่งกายสมัยนิยมโดยทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี ผู้หญิงส่วนมากจะนิยมนุ่งผ้าซิ่นแล้

๑๔. แหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้าน แหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้านจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีวัดพระหลวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งจะประกอบด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไว้มากมาย นอกจากนั้นยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีพิธีกรรมตักน้ำและนำไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์ ๘๐ พรรษา และ ๘๔ พรรษา อีกด้วย ส่วนที่บริเวณหน้าวัดก็มีศูนย์ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตำบล และบริเวณหลังวัดก็มีตลาดสดน่าซื้อ มีสินค้าอุปโภคบริโภคมากมายเช่นกัน

๑๕. ลักษณะภาษาพูดของประชาชนในหมู่บ้าน ภาษาพูดของประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้เป็นลักษณะคำพูดเหมือนกับไทลื้อเชียงแสน สำเนียงการพูดมีการเอื้อนเสียงที่แตกต่างไปจากชนกลุ่มอื่นที่ยากจะเลียนแบบได้ นอกจากจะไปอยู่ศึกษาอย่างจริงจังซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ปัจจุบันสำเนียงแบบดั้งเดิมจะเลือนหายไปบ้าง เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนต่างบ้านต่างถิ่นมากขึ้น จะไม่ค่อยใช้สำเนียงการพูดดั้งเดิม จึงทำให้ภาษาพูดจะคงใช้ในรุ่นของผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก ส่วนภาษาเขียนเดิมคงใช้แบบเดียวกับภาษาไทยเหนือ แต่ในปัจจุบันจะใช้ภาษากลางมาตรฐานทั้งสิ้น

๑๖. โบราณสถานและโบราณวัตถุของหมู่บ้าน วัดพระหลวงนับว่าเป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชนในท้องถิ่นและพุทธศาสนิกชนทั่วไป เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ไว้มากมายซึ่งจะแยกได้ดังนี้

  • เจดีย์วัดพระหลวง (พระธาตุเนิ้ง) เจดีย์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นมาพร้อมๆกับวัด ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐทรงปราสาท สถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีความสูง ๑๒ วา ฐานกว้าง ๖ วา ๓ ศอก องค์เจดีย์เอียงอย่างเห็นได้ชัด ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “เนิ้ง” จึงมักเรียกว่า “ธาตุเนิ้ง” ประชาชนต่างถิ่นมักเรียกว่า “วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง” กรมศิลปากรได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
  • หอระฆัง พระครูชัยลังกาเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามยิ่งอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ ได้มีการจำลองแบบไปสร้างในวัดที่สำคัญๆ ของจังหวัดแพร่ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารที่มีแผนผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสูงก่ออิฐฉาบปูน ๔ ต้น ตั้งอยู่บนฐาน ๘ เหลี่ยม โครงสร้างส่วนบนเป็นเครื่องไม้ หลังคาทรงหน้าจั่วและเชิงชายแต่ละชั้นประดับด้วยลายไม้ฉลุโดยรอบ ภายในหอระฆังแขวนระฆังสำริดหนัก ๑๕๗ กิโลกรัม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นระฆังที่มีขนาดใหญ่หล่อได้สัดส่วน เมื่อใช้ไม้เคาะหรือตีจะมีเสียงดังกังวานไปไกล และยังมีการใช้อยู่กระทั่งปัจจุบันนี้ การตีระฆังจะเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะแบ่งเป็นข้อๆดังนี้ (๑) เมื่อถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. ในแต่ละวันจะตีระฆัง ๑๑ ที (๒) เมื่อมีคนในหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ถึงแก่กรรมลง ก็จะตีระฆัง ๙ ที ในช่วงเวลาเช้าหรือบ่าย (๓) หากเกิดเหตุเภทภัยขึ้นในวัดก็จะตีแบบรัว เพื่อแจ้งเหตุให้ชาวบ้านทราบ (๔) เมื่อมีการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็จะตีขณะเวียนเทียนรอบอุโบสถ (๕) เมื่อมีเหตุทางธรรมชาติ เช่น เกิดสุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา ก็จะตีระฆังบอกเหตุ (๖) เมื่อเปลี่ยนเวลาจากปีเก่าขึ้นปีใหม่ (ต้อนรัยปีใหม่) (๗) ตีระฆังขณะเวลากล่าวถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมพิธีที่ท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานคร
  • หอไตร พระครูชัยลังการ์ (ครูบาชัยลังการ์) เป็นผู้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบพื้นเมืองผสมกับศิลปะรัตนโกสินทร์ในผังรูปสี่เหลี่ยม หลังคาทรงหน้าจั่วผสมปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์หรือกระเบื้องหางว่าว หลังคาตอนเป็นเป็นทรงจั่วตัด ตอนล่างลาดคลุมทั้ง ๔ ด้าน หน้าบันไดทั้ง ๒ ด้านประดับลวดลายแกะสลักไม้เป็นรูปเครือเถาติดกระจกสี ช่อฟ้าเป็นรูปหงส์ ใบระกาเป็นไม้แผ่นเดียวแกะสลักเป็นนาคลำยอง หางหงส์มีลักษณะแบบที่สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเรียกว่า “มือพระนารายณ์” เชิงชายประดับด้วยแผ่นไม้ฉลุแผ่นยาวนำมาเรียงต่อกัน บานประตูหน้าต่างลงรักปิดทองเป็นรูปดอกไม้ บานหน้าต่างทั้งด้านบนและล่างประกอบด้วยลวดลายปูนปั้นนูนต่ำเป็นรูปเครือเถา พื้นภายในฉาบปูนซีเมนต์ ผนังฉาบด้วยปูนขาว เพดานเป็นเครื่องไม้ เสาไม้เป็นเสาสี่เหลี่ยมมีฐานเป็นซีเมนต์ ด้านหน้าของหอไตรมีบันไดขึ้น ๒ ด้านมีซุ้มคลุมบันไดลักษณะเป็นซุ้มโค้ง หลังคาซุ้มคลุมด้วยแผ่นสังกะสีเชิงชายประดับด้วยไม้ฉลุระหว่างบันไดทางขึ้นทั้งสองมีเสาตุงกระด้างสลักด้วยไม้ประดับอยู่ ๒ เสา
  • หอไตรเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นของเก่าที่ถือว่าเป็นมรดกทางวรรณกรรมที่มีค่าสำคัญยิ่ง ซึ่งขณะนี้ได้จัดแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ รวมได้ ๒๑ หมวด จำนวน ๕,๑๕๔ ผูก
  • พิพิธภัณฑ์วัดพระหลวง เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและเผยแพร่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากวัดและชุมชนบ้านพระหลวง ถือว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ เป็นศูนย์แหล่งเรียนรู้ที่จะให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม และนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไปได้มาศึกษาค้นคว้า ประกอบไปด้วย (๑) หน่วยที่ ๑ สถานพิพิธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นอาคารที่จัดแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อของชุมชน เช่น การสืบชะตา การส่งเคราะห์ สะเดาะเคราะห์ การบายศรีสู่ขวัญ พิธีขึ้นต้าวตั้งสี่(ท้าวทั้งสี่) ปู๋จาเตียน(บูชาเทียน) ตานเฮือนน้อย กิ๋นสลาก และการบวชพระ เป็นต้น (๒) หน่วยที่ ๒ หอไตร จัดแสดงคัมภีร์ใบลานซึ่งเป็นของมีค่าเก่าแก่ที่รวบรวมจากวัด ซึ่งได้จัดแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ รวมได้ ๒๑ หมวด จำนวน ๕,๑๕๔ ผูก (๓) หน่วยที่ ๓ สถานพิพิธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ส่วนนี้จะอยู่ชั้นบนของศาลาเอนกประสงค์ในวัดพระหลวง จัดแสดงของเก่าที่ได้รวบรวมจากวัดและชุมชนบ้านพระหลวง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความหลากหลายเกี่ยวกับพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอื่นๆอีกมากมาย เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไปจะได้เที่ยวชมศึกษาหาความรู้
  • บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ่อน้ำที่อยู่ในเขตโบราณสถานของวัดพระหลวง อยู่ใกล้พระธาตุเนิ้งเป็นบ่อน้ำที่ขุดขึ้นมามีความลึกประมาณ ๕ เมตร เป็นบ่อน้ำที่ใสสะอาด รสจืดไม่กร่อย ตัวบ่อก่อด้วยอิฐเผาแบบโค้ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยพระครูชัยลังการ์เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหลวง (พ.ศ. ๒๔๒๘ – ๒๔๗๖) จุดประสงค์ในการขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคในวัด โดยเฉพาะใช้น้ำเกี่ยวกับการปั้นอิฐ เผาอิฐ การสร้างพระพุทธรูป การหล่อระฆัง ซึ่งจะมีโรงเผาโรงหล่ออยู่ใกล้ๆกับบ่อน้ำ เนื่องจากบ่อน้ำอยู่ใกล้กับพระธาตุเนิ้ง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญและกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และยังเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนโดยทั่วไป บ่อน้ำซึ่งอยู่ใกล้กับพระธาตุก็ก็ถือว่าเป็นบ่อน้ำที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ จึงมีผู้นิยมนำน้ำจากบ่อไปใช้ประกอบพิธีกรรมงานมงคลต่างๆ แม้แต่งานสืบชะตาหลวงของวัด งานประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง ก็จะนำน้ำจากบ่อน้ำนี้มาสรงพระธาตุทำให้เป็นที่เลื่อมใส่กับคนในชุมชนและประชาชนทั่วไป ในเวลาต่อมาทางจังหวัดแพร่ก็ได้เลือกน้ำจากบ่อน้ำวัดพระหลวงเข้าพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ และเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔

๑๗. พิธีกรรม/ความเชื่อ พิธีกรรมและความเชื่อของคนในชุมชนจะถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ สู่ลูกหลานและมีการปฏิบัติต่อๆกันมา ซึ่งบางอย่างก็อาจจะสูญหายไปตามกาลเวลาแต่บางอบ่างก็ยังถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย จะขอยกตัวอย่างในพิธีกรรมและความเชื่อบางอย่างที่ยังมีอยู่ในชุมชน เช่น

๑๗.๑ ตานข้าวใหม่ ข้าวล้นบาตร เป็นความเชื่อดั้งเดิมเพื่ออุทิศกุศลไปถึงเทวดาขุนน้ำ อุทิศถึงปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ที่เป็นเจ้าของไร่นาแต่เดิมซึ่งได้ล่วงลับดับขันธ์ไป พิธีกรรมนี้จะทำในช่วงที่เสร็จจากฤดูการทำนา จะประกอบพิธีที่วัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ

๑๗.๒ ขึ้นต้าวตั้งสี่ (ท้าวทั้งสี่) ท้าวทั้งสี่ หมายถึง มหาเทพ ๔ พระองค์ที่เป็นหัวหน้าของเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นแรก ท้าวทั้งสี่นี้จะทำหน้าที่ดูแลความสงบสุขของเหล่าสัตว์โลกในทิศต่างๆ คือ ท้าวธตรัฏฐะ ดูแลทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก – ทิศใต้ ท้าววิรูปักขะ – ทิศตะวันตก และท้าวเวสสุวัณณ์ ดูแลทิศเหนือ และเป็นหัวหน้าของมหาเทพกลุ่มนี้ ในพิธีกรรมนี้จะมีพิธีบวงสรวงท้าวทั้งสี่ทุกครั้งที่จัดการหรือมีงานมงคลต่างๆ ซึ่งจะมีปราสาทหรือแท่นท้าวทั้งสี่สูงประมาณ ๑.๕ เมตร สำหรับวางสะตวงที่บรรจุเครื่องไหว้ เครื่องสังเวยทั้ง ๔ ทิศ และทิศเบื้องบนสำหรับพระอินทร์ และที่โคนเสาสำหรับแม่ธรณี เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี อาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะอ่านโองการสังเวยท้าวทั้งสี่ก่อนการมงคล

๑๗.๓ การตานตุงแดง ตุงแดงมีลักษณะคล้ายตุงชัย มีขนาดความกว้างประมาณ ๑ คืบ ยาวตั้งแต่ ๓๐ เซนติเมตร ถึง ๒ เมตร บ้างก็ว่ายาวเท่ากับความสูงของผู้ตายและปักให้ปลายหางแตะพื้นดิน มักจะทำให้มีหัวและหางแหลม ตุงแดงใช้ในพิธีสูตรถอนศพที่ตายผิดปกติ เช่น ตายเพราะอุบัติเหตุต่างๆ จะใช้ตุงแดงปักตรงบริเวณที่ตาย ก่อเจดีย์ทรายเท่ากับอายุของผู้ตาย ปักช่อน้อยบนเจดีย์ทรายให้ครบ เมื่อเห็นตุงแดงและกองทรายช่อน้อย ณ จุดใด ก็หมายถึง บริเวณดังกล่าวมีคนตายโหง โดยเฉพาะข้างถนนนอกเมือง การตานตุงแดงเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายโหง มีความเชื่อว่า อนิสงส์จากการทานเมื่อไปถึงผู้ตายแล้ว วิญญาณของผู้ตายแล้วจะพ้นจากสภาพของผีหรือเปรต ไปสู่สุคติภพได้

๑๘. ปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในหมู่บ้าน เช่น สมุนไพรม, ตั๋วเมือง, เกษตร, วัฒนธรรม, ศาสน, ศิลปะ เป็นต้น

ชื่อ พระครูจันทร์ คเวสโก อายุ ๘๔ ปี เจ้าอาวาสวัดพระหลวง เชี่ยวชาญด้าน เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา, การเทศนาธรรม และประกอบพิธีวัฒนธรรมความเชื่อ, ดูฤกษ์ยามการประกอบพิธีมงคล และงานอวมงคล

ชื่อ นายแน่น รสปิตุพงศ์ อายุ ๗๔ ปี บ้านเลขที่ ๑๔๐ หมู่ที่ ๒ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๕๔ – ๖๓๐๒๔๓ เชี่ยวชาญด้าน ตำรายาสมุนไพร ปรุงยาสมุนไพร เป็นหมอแผนโบราณเป่าคาถาอาคมรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และมีความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมทางศาสนา และพิธีกรรมความเชื่อ

ชื่อ นายฉัตร ปลงใจ อายุ ๘๔ ปี บ้านเลขที่ ๑๙๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน ตำรายาสมุนไพร ปรุงยาสมุนไพร เป็นหมอแผนโบราณเป่าคาถาอาคมรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ชื่อ นายทองดี อินทะเสน อายุ ๗๗ ปี บ้านเลขที่ ๑๐๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๕๔ – ๖๓๒๐๘๑ เชี่ยวชาญด้าน พืชสมุนไพร อักษรไทยเหนือ พิธีกรรมทางวัฒนธรรมความเชื่อ เป็นหมอแผนโบราณ

ชื่อ นายณรงค์ มะลิ อายุ ๘๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๘๔/๑ หมู่ที่ ๔ ๕ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๕๔ – ๕๔๑๐๔๐ เชี่ยวชาญด้าน พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา พิธีกรรมทางวัฒนธรรมความเชื่อ อักษรไทยเหนือ เป็นผู้นำในการประกอบพิธีต่างๆในงานมงคลและงานอวมงคล

ชื่อ นายห่วง พากเพียร อายุ ปี อยู่บ้านเลขที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๕๔ – ๖๓๐๓๘๔ เชี่ยวชาญด้าน อักษรไทยเหนือ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และพิธีกรรมทางวัฒนธรรมความเชื่อ เป็นผู้นำในการประกอบพิธีต่างๆในงานมงคลและงานอวมงคล

ชื่อ นายไสว กุณี อายุ ๗๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๕/๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ - เชี่ยวชาญด้าน พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และพิธีกรรมทางวัฒนธรรมความเชื่อ

ชื่อ นายเจริญ ปัญจอริยะกุล อายุ ๖๙ ปี อยู่บ้านเลขที่ หมู่ที่ ๕ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๘๓ – ๕๗๒๗๐๕๔ เชี่ยวชาญด้าน พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นผู้นำในการประกอบพิธีต่างๆในงานมงคลและงานอวมงคล และประกอบพิธีกรรมด้านความเชื่อ เช่น สืบชะตา ขึ้นท้าวทั้งสี่ ส่งเคราะห์ ปัดรังควาน

ชื่อ นายพรหมา แสนสุภา อายุ ๗๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๒๙/๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ - เชี่ยวชาญด้าน งานศิลปะ (แกะสลักลวดลายไม้) พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

ชื่อ นายจำนงค์ แม่นยำ อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๑๙๔/๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๘๙ – ๙๕๑๘๓๙๗ มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้าน ศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ,ประธานพิพิธภัณฑ์วัดพระหลวง, ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดพระหลวง, เป็นอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต ๒, ประธาน อ.ส.ม.ศ. จังหวัดแพร่, รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสูงเม่น

๑๙. ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น

ด้านศาสนา ประชาชนในท้องถิ่นเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธโดยมีวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาและวัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยว กลุ่มเกลาจิตใจให้ประพฤติดีมีคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม ชาวบ้านชอบทำบุญทำทานจะเห็นได้จากการร่วมกิจกรรมในวันธรรมสวนะ หรือวันสำคัญทางพุทธศาสนาหรืองานประเพณีต่างๆ จะมีชาวบ้านมาร่วมทำบุญและร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากมาย

ด้านศิลปะ ได้มีการรวบรวมผลงานทางด้านศิลปะที่มีอยู่ในวัดและชุมชน นำมาแสดงและเผยแพร่ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในวัดพระหลวง และยังได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบอาชีพทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การทอผ้า การจักสาน การแปรรูปอาหาร ส่งเสริมให้นำมาผลิตมาจำหน่ายยังศูนย์จำหน่ายหน้าวัดและตลาดสดพระหลวง

ด้านวัฒนธรรม ชุมชนได้จัดกิจกรรมต่างๆด้านวัฒนธรรม เช่น การจัดตั้งโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลพระหลวง ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานเป็นที่ยอมรับของส่วนราชการและภาคประชาชน จนได้รับคัดเลือกเป็นโครงการวัฒนธรรมไทยฯ อันดับหนึ่งของจังหวัดแพร่ และระดับภูมิภาคอีกด้วย

ด้านประเพณี ในชุมชนมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีของท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกองค์กรและประชาชนในท้องถิ่น จึงจัดงานประเพณีต่างๆ สืบทอดต่อกันมาและจะดำเนินการต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

๒๐. ผู้ให้ข้อมูลชื่อ นายจำนงค์ แม่นยำ อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๑๙๔/๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๘๙ – ๙๕๑๘๓๙๗ ตำแหน่ง ประธานโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยในชุมชนตำบลพระหลวง

จำนงค์ แม่นยำ ผู้เก็บข้อมูล

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 17 •ตุลาคม• 2012 เวลา 15:39 น.• )