ตำบลบ้านปง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเม่นไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๖ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลสูงเม่น และตำบลน้าชา อำเภอสูงเม่น ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๖,๖๖๓ ไร่ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๖ หมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ที่ ๑ บ้านปงท่าข้าม หมู่ที่ ๒ บ้านปงท่าข้าม หมู่ที่ ๓ บ้านปงหัวหาด หมู่ที่ 4 บ้านหาดเจริญ หมู่ที่ ๕ บ้านปงท่าข้าม หมู่ที่ ๖ บ้านปงหาดเจริญ สภาพภูมิประเทศ ตำบลบ้านปง มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำยมซึ่งแบ่งเขตระหว่างตำบลบ้านปงกับตำบลสูงเม่น ทางทิศตะวันออกของตำบล เป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชน และหมู่บ้านตลอดลำน้ำยม ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ไปจนถึงคลองส่งน้ำชลประทานมีลักษณะเป็นที่ราบโดยติดกับพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร และทิศตะวันตกของตำบลตั้งแต่คลองส่งน้ำชลประทานจนถึงเขตติดต่อระหว่างตำบลต้าผามอก อำเภอลอง เป็นที่ลาดเชิงเขาเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แย้ – แม่สาง มีป่าไม้ธรรมชาติ ปกคลุม เช่น ป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำลำธารที่สำคัญของตำบล คือ ห้วยแม่สาง

รูปแผนที่ขอบเขตการปกครอง ตำบลบ้านปง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ภาพที่ ๑ : แผนที่ตำบลบ้านปง ที่มา : ข้อมูลพี้นที่การเกษตรตำบลบ้านปง

ข้อมูลด้านการปกครอง เจ้าอาวาสวัดปงท่าข้าม ( วัดพงท่าข้าม) และวัดพงหัวหาด วัดพงท่าข้าม (ปัจจุบันคือ วัดปงท่าข้าม) ตั้งอยู่บ้านปงท่าข้าม เลขที่ ๑๐๐ หมู่ ๒ ตำบลบ้านปง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๓ งาน ๕๕ ตารางวา วัดพงท่าข้าม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ได้เปลี่ยนชื่อวัดพงท่าข้ามเป็นวัดปงท่าข้าม ปัจจุบันวัดมีอายุได้ ๒๓๔ปี ( ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๘. กรมการศาสนา ,๒๕๓๒ หน้า ๑๐๕๒ ) ประวัติการก่อสร้างและประวัติเจ้าอาวาสวัดปงท่าข้าม

จากสมุดบันทึกประวัติและเหตุการณ์การสร้างวัดของพ่อมานพ นิลรวม หมอทำขวัญบ้านปงท่าข้าม ( ถึงแก่กรรมในปี ๒๕๕๕ ,อายุ ๗๘ ปี) ได้บันทึกความทรงจำไว้ว่า ... หน้าที่ ๑ : เดิมก่อนสร้างวิหารหลังที่ ๒ มีตุ๊เจ้าชื่อว่า ธรรมจัย ง็อก ปฏิบัติอยู่ที่วัดนี้มา ท่านผู้นี้มีเมตตาแผ่กว้างไปแนะนำช่วยแผ้วถางป่าหวายขึ้นที่บ้านปงป่าหวายพร้อมกับด้วยศรัทธาชาวบ้านตั้งเป็นวัดขึ้นมาจนตลอดทุกวันนี้ ราวประมาณเมื่อ พ.ศ ๒๔๓๗ ซึ่งตรงกับผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าวัดปงป่าหวายเป็นวัดลูกขึ้นของวัดปงท่าข้าม แล้วต่อมาพระในวัดปงท่าข้ามนี้ขาดไปไม่มีใครปกครองอยู่ พระครูจัยลังกาเป็นผู้มาริเริ่มพร้อมศรัทธาชาวพี่น้องบ้านปงท่าข้ามทุกคนได้ช่วยกันตัดไม้ตัดเสามาสร้างขึ้น ตัวท่านก็นำไปตัดเอามาพร้อมกับศรัทธาปงท่าข้ามอย่างไม่ทอดทิ้ง ( หน้าที่ ๒ ) วิหารก็สำเร็จขึ้นด้วยดีสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ ๒๔๖๕ ในขณะนั้นกำนันพรม ดอกผึ้ง เป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ในตำบลนี้ แล้วมีพ่อใหญ่ตัน จำปี เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ต่อจากนั้นมา ก็ได้สร้างกุฏิหลังหนึ่ง เป็นกระท่อมเล็ก ๆติดอยู่กับขอบรั้วด้านใต้หลังหนึ่งมีตุ๊เจ้าแก้ว ดอกผึ้งบวชขึ้นมาครอบครองอยู่แล้วต่อจากนั้นมีตุ๊เจ้าตา วัดหัวดงมาอยู่ต่อแล้วต่อจากนั้นก็มีตุ๊เจ้าพรม วัดพระหลวงมาอยู่ ต่อมาในเวลานั้นมีพ่อหนานธรรมทิ เป็นอาจารย์ เรียงต่อมาก็มีพ่อต๊ะ ศฤงคารเป็นอาจารย์อยู่มาไม่นานก็ได้อุปสมบท สามเณรต๋อ เวทย์มนต์ขึ้นเป็นพระสงฆ์ ตุ๊ลุงพรม ก็กลับคืนไปอยู่บ้านหลวงตามเคย ศรัทธาวัดพงท่าข้ามก็แต่งตั้งเอาตุ๊เจ้าต๋อ ปกครองต่อมา แล้วก็ได้สร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่ง เป็นกุฏิชั่วคราว แล้วอยู่ต่อมาจนได้แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส แล้วได้สร้างกุฏิมาตรฐานขึ้นหลังหนึ่ง อยู่ต่อมาแล้วได้สร้างกำแพงวางผังก่อเป็นกำแพงไว้รอบสี่ด้าน แต่ไม่สำเร็จ แล้วได้ผูกพัทธสีมาขึ้นในครั้งนั้น โรงเรียนหลังแรกสร้างขึ้นหน้าวัดด้านตะวันออกเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๕ พ่อกำนันพรม พร้อมศรัทธาชาวบ้านปงได้สร้างขึ้น มีครูแสน บ้านสูงเม่น มาทำการสอนอยู่ประจำ รองลงมาก็มีครูนาค บ้านพระหลวงมาทำการสอน ต่อจากนั้นมีครูใหญ่เลิศ กล่าวแล้ว : ครูใหญ่คนที่ ๒ ปีพ.ศ. ๒๔๘๖ – ๒๕๐๕ โรงเรียนบ้านปงท่าข้าม (จากสมุดหมายเหตุรายวัน โรงเรียนบ้านปงท่าข้าม หน้า ๓ ) สอนติดต่อมาเรื่อย ๆ ... ( บันทึกของพ่อมานพ นิลรวม, หน้าที่ ๓) ข้อมูลตามสมุดบันทึกของพ่อบุญเรือง ดอกสนธ์ ไวยาวัจกรวัดปงท่าข้าม ปี ๒๕๑๕ อายุ ๘๔ ปี (บันทึกพ่อบุญเรือง ดอกสนธ์ , หน้า ๕๙) ได้บันทึกรายนามพระภิกษุและเจ้าอาวาสวัดพงท่าข้ามตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ไว้ดังนี้ ๑. พระอนันต๊ะ บ้านดอนมูล พ.ศ. ๒๔๓๖, ๒. พระมูล บ้านกวาง พ.ศ. ๒๔๔๐, ๓. ครูบาไจยลังกา บ้านพระหลวง พ.ศ. ๒๔๔๔, ๔. พระตา บ้านหัวดง พ.ศ. ๒๔๔๖, ๕. พระผาบ บ้านโตนเหนือ พ.ศ.๒๔๕๐, ๖. พระแก้ว บ้านแหง พ.ศ. ๒๔๕๓, ๗. พระผัด บ้านพระหลวง พ.ศ.๒๔๕๕, ๘. พระปัน บ้านปง พ.ศ.๒๔๕๗, ๙. พระอินทร์ บ้านปง พ.ศ.๒๔๖๐, ๑๐. พระแก้วหู ดอกผึ้ง บ้านปง พ.ศ.๒๔๖๓, ๑๑. พระพรหม บ้านพระหลวง พ.ศ. ๒๔๖๖, ๑๒. พระแก้ว บ้านเจียงคำ พ.ศ. ๒๔๖๗, ๑๓. พระพรหม บ้านพระหลวง พ.ศ. ๒๔๖๙ (มาอยู่อีก), ๑๔. พระอธิการต๋อ เวทย์มนต์ บ้านปง พ.ศ. ๒๔๗๐ ( เป็นเจ้าอาวาส ), ๑๕. พระเหรียญ กึกก้อง บ้านโตน พ.ศ. ๒๔๙๑, ๑๖. พระแก้ว ขยายเสียง บ้านปง พ.ศ. ๒๔๙๒, ๑๗. พระจำปี ฟุ้งเฟื่อง บ้านปง พ.ศ. ๒๔๙๕, ๑๘. พระมานพ นิลรวม บ้านปง พ.ศ. ๒๔๙๗ ( ผู้บันทึกข้อมูลวัด), ๑๙. พระเวทย์ ศฤงคาร บ้านปง พ.ศ. ๒๕๐๑, ๒๐. พระอธิการสุคำ ถาวโร บ้านปง พ.ศ.๒๕๐๗ (เจ้าอาวาส), ๒๑. พระมา โกษา บ้านปง พ.ศ.๒๕๑๒, ๒๒.พระเชือ ขยายเสียง บ้านปง พ.ศ. ๒๕๑๓, ๒๓. พระประเสริฐ โชติปัญโญ บ้านปง พ.ศ. ๒๕๑๖, พระอธิการสมบูรณ์ ฉันทกโร บ้านปง พ.ศ. ๒๕๑๗ (เจ้าอาวาส) ๒๕. พระอธิการบรรจง รัตนโชโต บ้านปง พ.ศ. ๒๕๒๕ (เจ้าอาวาส) ๒๖. พระครูโกศลพิพัฒนคุณ (เสนาะ กตสาโร) พ.ศ.๒๕๓๓ ถึงปัจจุบัน เมื่อได้ศึกษาจากข้อมูลของพ่อมานพ นิลรวมและพ่อบุญเรือง ดอกสนธ์ พบว่า มีข้อมูลที่ตรงกันดังนี้ ครูบาไจยลังกา จากวัดพระหลวงมาเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างวัดปงท่าข้ามโดยรวบรวมศรัทธาชาวบ้านปง ท่าข้าม ช่วยกันแผ้วถางป่า สร้างวัดขึ้นในสมัยของท่าน ( ปี ๒๔๔๔) จนสำเร็จในปี ๒๔๖๕ รวมเป็นเวลาสร้างวัด รวม ๒๑ ปี ก่อนที่ตุ๊เจ้าพรหม จากวัดพระหลวงมาอยู่ในปี ๒๔๔๖ (เพียงพิณ ปลอดโปร่ง,๒๕๕๕)

พระพุทธรูปสำคัญ องค์ที่ ๑ พระพุทธเจดีย์สริโกศัย ของวัดปงท่าข้าม ตามจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปด้านหน้าที่จารึกเป็นอักษรล้านนา มี ๒ บรรทัด ดังนี้ บรรทัดที่ ๑ จารึกว่า “ พระพุทธเจติย์สรีโกไสยย์เมืองแพร่” บรรทัดที่ ๒ จารึกว่า “ หล่อที่วัดพระหลวงพุทธส ...๒๔๗๓ ปีกดสง้า” พระพุทธรูปองค์นี้สร้างโดยพระครูบาไจยลังการ์ เจ้าอาวาสวัดพระหลวง เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๓ ผสมสุโขทัย จากบันทึกของพ่อบุญเรือง ดอกสนธ์ ( หน้า ๓๓ ) ได้เล่าถึงเหตุการณ์ ขณะที่มีการอัญเชิญ “ พระพุทธเจติย์สรีโกไสยย์เมืองแพร่” แห่มาไว้ ณ วัดปงท่าข้ามในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ไว้โดยละเอียดดังนี้ “ พระพุทธโกศัยองค์นี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ( ตรงกับจารึกใต้ฐานพระ : ผู้เขียน) ตุ๊ลุงใจลังกา วัดพระหลวงหล่อ แต่แห่มาปีฉลองพระวิหารวัดบ้านปงท่าข้าม ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เอาใส่ล้อแก๋น ๙ มา ล้อแก๋น ๙ ก๊ด ( แกนคด : ผู้เขียน) แห่มาพอเอาขึ้นฝั่งยมแล้ว เอาเข้ารูปผีขน (น่าจะเป็นผีตาโขน : ผู้เขียน) พอขึ้นถึงบนตะหลิ่ง แล้วเกิดตีกันชุลมุน ตำรวจป้อหน้อยสีลา บ้านท่ามดเป็นตำรวจ เอากระบี่ฟันกัน บ้านพระหลวงมีป้อคำ ตึ๊ต๊ะ ป้อไฝ ศิริ ป้อหมื่นปี้ ป้อสิงห์คออ่อน ป้อผาบ หลายจำบ่ได้ จำได้แต่คนดุ แป๋งคอกไว้ที่กาดน้อย ตำรวจจับขังไว้หลายคน พอเอาพระพุทธรูปเข้ามาวัดแล้ว ปล่อยคนที่ขังออกมา” จากหลักฐานการบันทึกเหตุการณ์และจารึกใต้ฐานองค์พระ “ พระพุทธเจติย์สรีโกไสยย์เมืองแพร่” และตามประวัติที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระพุทธรูปนี้สร้างขึ้นเพียง ๒ องค์เท่านั้น องค์ที่หนึ่งได้ประดิษฐานไว้ที่วัดพระหลวง อ. สูงเม่น จ.แพร่ ซึ่งพระครูบาไจยลังการ์ เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น อีกองค์หนึ่งได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดปงท่าข้าม เหตุผลที่ “ พระพุทธเจติย์สรีโกไสยย์เมืองแพร่” ได้มาประดิษฐานที่วัดบ้านปงท่าข้าม เนื่องด้วย หลวงพ่อครูบาไจยลังการ์ ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างวัดปงท่าข้ามเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ตามเอกสารประวัติการสร้างวัดปงท่าข้าม เมื่อมีการจัดสร้างองค์พระประธานที่วัดพระหลวง ท่านจึงจัดสร้างเพิ่มอีก ๑ องค์ มอบให้วัดปงท่าข้าม ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นวัดของท่าน เพื่อนำมาประดิษฐานเป็นพระประธาน ดังกล่าว ( เพียงพิณ ปลอดโปร่ง, ผู้เขียน) องค์ที่ ๒. พระประธานวัดปงท่าข้าม พระประธานในพระอุโบสถวัดปงท่าข้าม ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เล่าว่าสล่า ( ช่างปั้นพระ ) เป็นชาวไทใหญ่ หรือเงี้ยว คือส่างอ่องและส่างมน เป็นผู้ปั้นองค์พระประธาน ดังนั้น รูปหน้าขององค์พระพุทธรูปจะมีลักษณะกลมแป้นคล้ายศิลปะไทใหญ่ มากกว่าจะเป็นพุทธศิลปะทางล้านนาหรือเชียงแสน ปัจจุบันนี้ พระประธานองค์นี้ประดิษฐานในพระวิหารวัดปงท่าข้าม องค์ที่ ๓. พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตร คณะศรัทธาจากกรุงเทพ – พิจิตรและชาวแพร่สร้างถวาย เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ตรงกับวันพุธ เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระครูโกศล-พิพัฒนคุณ ( พระเสนาะ กตสาโร) เจ้าอาวาสวัดปงท่าข้าม เจ้าคณะตำบลบ้านปง – สบสาย ในขณะนั้นพร้อมด้วยคณะศรัทธาทำพิธีเบิกเนตร ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขปุณณมี ปัจจุบันประดิษฐานในศาลาเฉลิมพระเกียรติ ฯ วัดปงท่าข้าม ๔. นามเดิมวัดม่วงค้ำศรีหรือวัดปงท่าข้าม จากการสัมภาษณ์พ่อใหญ่หล้า บุญญารัตนานุสรณ์ ( อดีตกำนันตำบลบ้านปง , ปัจจุบันอายุ ๘๗ ปี) เล่าว่าได้รับการบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่สืบทอดต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อมีชุมชนก่อตั้งขึ้นบริเวณลุ่มน้ำยม การคมนาคมติดต่อชุมชนอื่นในฤดูน้ำหลากได้รับความลำบากมากเพราะแม่น้ำยมขวางกั้น ชาวบ้านจึงแผ้วถางป่าใกล้แม่น้ำยม รวมศรัทธาชาวบ้านแล้วก่อตั้งเป็นวัดขึ้น เมื่อก่อสร้างวัดเรียบร้อยแล้วได้ปลูกต้นโพธิ์ขึ้นในวัด ต้นโพธิ์ที่ปลูกบริเวณกำแพงด้านทิศเหนือนั้น ต่อมามีต้นมะม่วงงอกขึ้นในต้นโพธิ์ ชาวบ้านล้านนามักจะเรียกต้นโพธิ์ว่า ต้นศรี หรือสะหลี เมื่อต้นมะม่วงโตขึ้นลำต้นก็ค้ำยันกิ่งต้นศรี ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดม่วงค้ำศรี” หมายถึง ต้นมะม่วงค้ำกิ่งต้นศรีนั่นเอง แต่ต่อมาชื่อวัดม่วงค้ำศรี ก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น“วัดพงท่าข้าม” และได้ตั้งชื่อวัดส่งไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๕๐ ปีย้อนหลัง ต่อมาต้นโพธิ์ต้นนี้ก็ล้มตายลง ต้นโพธิ์ต้นที่สองอยู่ทางกำแพงด้านทิศตะวันออก จากคำสัมภาษณ์พ่อบุญเรือง ดอกสนธ์ ( ไวยาวัจกรวัดปงท่าข้าม , อายุ ๘๓ ปี) บอกเล่าว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้ต้นใหญ่กว่าต้นที่อยู่ทิศตะวันตก ขณะท่านเป็นเด็กวิ่งเล่นในวัดก็เห็นมันยืนต้นกิ่งก้านสาขาใหญ่กว้างอยู่ก่อนแล้ว ต้นโพธิ์ต้นนี้ล้มตายลงเป็นต้นแรก ส่วนต้นโพธิ์ต้นที่สาม ปลูกทางด้านกำแพงทิศตะวันตกเฉียงใต้และต้นโพธิ์นี้เองที่ยังคงยืนต้นมีชีวิตยืนยาวอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ต้นศรีหรือต้นโพธิ์ คือสัญลักษณ์ของวัดปงท่าข้าม เพราะมีความเกี่ยวข้ององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นนามวัด เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ดังนั้นชาวตำบลบ้านปงโดยการสนับสนุนของพระครูโกศลพิพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดปงท่าข้าม ส่งเสริมให้มีประเพณี “แห่ไม้ค้ำศรี” เป็นประจำทุกปีในวันที่ ๑๔ เมษายนหรือวันเนา เพื่อแสดงถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาและเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด โดยชาวบ้านจะนำไม้ที่มีลำต้นตรง มีกิ่งก้านรูปทรงคล้ายไม้ค้ำยัน นำมาประดับตกแต่งสวยงามแล้วแห่เข้าวัดเป็นขบวนอย่างสวยงาม นำมาค้ำยันต้นโพธิ์เก่าแก่ในวัด นอกจากเป็นการศรัทธาในพระศาสนาแล้วยังก่อให้เกิดความสามัคคีของชาวบ้านในหมู่บ้านอีกด้วย ต้นสะหลี (ศรี) จึงเป็นที่มานามวัดดังกล่าว วัดพงท่าข้ามปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนนามวัดเป็นวัดปงท่าข้ามเมื่อปี พ.ศ ๒๕๕๔ พระครูโกศลพิพัฒนคุณ เจ้าคณะตำบลบ้านปง –สบสาย ปัจจุบันตำแหน่ง รองเจ้าคณะอำเภอสูงเม่น ได้ริเริ่มการก่อสร้าง พระเจดีย์ศรีม่วงค้ำ ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๔ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ เหนือ ขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง พ่ออาจารย์วัดหรือไวยาวัจกร วัดปงท่าข้าม ๑. พ่ออาจารย์ใจ มั่งมูล พ.ศ. ๒๕๑๒, ๒. พ่ออาจารย์บุญเรือง ดอกสนธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ – ปัจจุบัน ๒๕๕๕ วัดพงหัวหาด ตั้งอยู่บ้านปงหัวหาด เลขที่ ๑๘๗ หมู่ ๓ ตำบลบ้านปง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๕๐ ตารางวา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ๑ มีนาคม ๒๕๒๐ ( ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๘. กรมการศาสนา, ๒๕๓๒ หน้า ๑๐๕๓) วัดพงหัวหาดสร้างขึ้นปีพุทธศักราชใดไม่มีใครทราบ ไม่มีหลักฐานการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จากการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้สูงอายุ เช่น พ่อเสาร์ กุดเมือง อายุ ๙๖ ปี อาศัยอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านปงหัวหาด พ่อด้วง กาบจันทร์ อายุ ๙๔ ปี แม่ใหญ่น้อย ปราบปราม ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เล่าว่าเกิดมาจำความได้ก็เห็นวัดมีอยู่แล้ว โดยมีครูบาไจยลังการ์ เป็นเจ้าอาวาส ต่อจากนั้น ท่านครูบาจื้น ชยเสโน ( ชื่น กาบจันทร์) ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้บวชเณรแล้วได้ดูแลวัดต่อมา เมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุแล้วต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเป็นรูปที่สอง ได้รื้อวิหาร(อุโบสถ)หลังเก่าที่เล็ก คับแคบและชำรุด แล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม จนปัจจุบันนี้ ต่อมาท่านได้สร้างกุฏิไม้สัก ๑ หลัง หลวงพ่อชื่นมรณภาพในปี ๒๕๒๕ วัดพงหัวหาดมีต้นไม้คู่กับวัดมาตั้งแต่เริ่มสร้างวัด คือ ต้นพิกุล ถือได้ว่า เป็นต้น ไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดพงหัวหาดก็ว่าได้ ต้นพิกุลต้นนี้ปลูกอยู่ระหว่างกลางของอุโบสถและศาลาการเปรียญ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าผู้ปลูกคือ พ่อใหญ่ก๋า กำยานขณะเป็นสามเณร ต้นพิกุลต้นนี้อายุประมาณ ๑๐๐ ปี เจ้าอาวาสวัดพงหัวหาด รูปที่ ๑ ครูบาไจยลังกา, รูปที่ ๒ ครูบาชื่น ชยเสโน (กาบจันทร์) พ.ศ. ๒๕๐๓, รูปที่ ๓ พระอธิการสุทัศน์ พ.ศ. ๒๕๒๕, รูปที่ ๔ พระอธิการกิตติพัฒน์ สุทธจิตโต พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบันกำนันตำบลบ้านปง กำนันตำบลบ้านปง เท่าที่มีการบันทึกไว้ มี ๑๐ คน ดังนี้ ๑. กำนันพรม ดอกผึ้ง ๒. กำนันอุด กำนนท์ ๓. กำนันวัน อมรรัตน์ ๓. กำนันปุ้ด ผสม ๔. กำนันอินทร์ ขยายเสียง ๕. กำนันหล้า บุญญารัตนานุสรณ์ ๖. กำนันแฝง ปลาสุวรรณ ๗. กำนันสมหวัง อุตส่าห์ ๘. กำนันรัตน์ เวียงทอง ๙. กำนันต๋อง วงศ์ตะวัน ๑๐. กำนันรัตน์ เวียงทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ๑. ผู้ใหญ่ตั๋น ฟุ้งเฟื่อง ๒. ผู้ใหญ่พรหมา สีอ่อน ๓. ผู้ใหญ่ประเสริฐ แก้วบริสุทธิ์ ๔. ผู้ใหญ่สมาน ขันติวรพันธ์ ๕. ผู้ใหญ่สมหวัง อุตส่าห์ ๖. ผู้ใหญ่ปฏิวัติ ศฤงคาร ๗. ผู้ใหญ่ต๋อง วงค์ตะวัน ๘. ผู้ใหญ่สมส่วน ปรางนวล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ๑. ผู้ใหญ่พรม ดอกผึ้ง ๒. ผู้ใหญ่วัน อมรรัตน์ ๓. ผู้ใหญ่อินทร์ ขยายเสียง ๔. ผู้ใหญ่หล้า ขยายเสียง ๕. ผู้ใหญ่มงคล ปลาสุวรรณ ๖. ผู้ใหญ่ภัคสุภาภรณ์ กุกอง ๗. ผู้ใหญ่ทวี ขยายเสียง ๘. ผู้ใหญ่รัตน์ ดอกผึ้ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ๑. ผู้ใหญ่หลาน กาบจันทร์ ๒. ผู้ใหญ่ตั๋น เวียงทอง ๓. ผู้ใหญ่คำ ศรีใจวงศ์ ๔. ผู้ใหญ่ปุ้ด ผสม ๕. ผู้ใหญ่มูล ปราบปราม ๖. ผู้ใหญ่หมาย กาบจันทร์ ๗. ผู้ใหญ่แฝง ปลาสุวรรณ ๘. ผู้ใหญ่รัตน์ เวียงทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ๑. ผู้ใหญ่คำรพ สุขแผ่นทอง ๒. ผู้ใหญ่ชนินทร์ ผูกจิต ๓. ผู้ใหญ่สน ลำลึก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ๑. ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ ลำไย ๒. ผู้ใหญ่มงคล พองาม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ ๑. ผู้ใหญ่สุรินทร์ กระหวาย ๒. ผู้ใหญ่ช่วย กาบจันทร์ ๓. ผู้ใหญ่สมกาจ กาบจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปง ๑. นายพงษ์พณิช เวียงทอง (แต่งตั้ง) ๒.นายทศพล ปลอดโปร่ง (เลือกตั้ง) ๓. นายพงษ์พณิช เวียงทอง (เลือกตั้ง) ผู้บริหารโรงเรียนบ้านปงท่าข้าม ๑. นายชัยเดช เกตุวราภรณ์ ๒. นายเลิศ กล่าวแล้ว ๓. นายนิวัตร มั่งมี ๔. นายมงคล เกลี้ยกล่อม ๕. นายไพบูลย์ สำเนียง ๖. นายนิวัตร มั่งมี ๗. นายอิ่นแก้ว สายทอง ๘. นายแสง พื้นงาม ๙. นายนิพนธ์ วรรณสุคนธ์ ๑๐. นายสมบูรณ์ รอบเมือง ๑๑. นายกิจผจญ แมตเมือง ๑๒. นายประดิษฐ์ คำมี ผู้บริหารโรงเรียนบ้านปงหัวหาด ๑. สามเณรสมศักดิ์ จันทร์คอน ๒. นายโสภณ มีมาก ๓. นายแดง ชำนาญ ๔. นายนิวัตร มั่งมี ๕. นายมอญ สิงห์รัตนพันธุ์ ๖. นายพินิจ กังหัน ๘. นายอุทัย เดือนเพ็ญ ๘. นายสมเพชร พลอยประดิษฐ์ ๑๐. นางบุษปะ การพจน์ ๑๐. นายบุญช่วย กาศสกุล ๑๑. นายภาสกร กันเดช ๑๒. นายสมคิด พันธุ์แพง ๑๓. นายกองแก้ว รัตนปัญญาพันธุ์

ประวัติความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน ๑. บ้านปงท่าข้าม ตำบลบ้านปงตั้งอยู่ฝั่งขวาของลำน้ำยม มีพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ แต่เดิมนั้นชาวบ้านที่เข้ามาทำมาหากินในหมู่บ้านนี้ต้องข้ามลำน้ำยม เพื่อทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ในฤดูน้ำหลากไม่สามารถข้ามแม่น้ำกลับหมู่บ้านเป็นเวลาหลายเดือน ชาวบ้านเหล่านั้นจึงได้ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้น เนื่องจากสภาพพื้นดินเป็นที่ลุ่ม มีตะกอนดินพัดมาทับถมบริเวณฝั่งแม่น้ำ เป็นบริเวณกว้างเหมาะกับการเพาะปลูก ชาวบ้านเรียกว่า ที่ปง (พง)จึงเป็นที่มาของชื่อตำบลบ้านปง ต่อมามีราษฎรย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านพระหลวง บ้านดอนมูล บ้านร่องกาศ บ้านตอนิมิต เข้ามาทำไร่ ทำนาและเลี้ยงสัตว์ ส่วนคนที่มาจากอำเภอเมืองแพร่ อำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ ชาวเงี้ยวและชาวบ้านทุ่งต้อม ได้เข้ามาเป็นคนงานของบริษัทอิสต์ เอเชียติกส์ ที่เข้ามาทำป่าไม้สัก สัมปทานป่า เป็นคนงานล่องซุง คนงานเหล่านี้เมื่อพบที่ทำมาหากินบนพื้นที่ดินซึ่งอุดมสมบูรณ์ก็แต่งงานกับคนในท้องถิ่น ตั้งบ้านเรือนอย่างถาวรตั้งแต่นั้นมา ๒. หลักฐานหมู่บ้านท่าจั่น อยู่ในเขต หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านปง ติดเขตบ้านหาดลี่ ตำบลสบสาย บ้านท่าจั่นแต่เดิมเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านนำวัวควายมาเลี้ยงบริเวณที่ราบลุ่ม เมื่อมีการพักค้างแรมก็เป็นที่จับสัตว์น้ำชาวบ้านนำเสาไม้มาวางขวางลำน้ำยม ทำเป็นที่ดักจับปลา เรียกว่า “ จั่น” ต่อมาชาวบ้านเรียกท่าน้ำที่วางจั่น ว่าท่าจั่นมาจนปัจจุบัน ชาวบ้านท่าจั่นส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านพระหลวง ๓. บ้านปงหัวหาด เป็นหมู่บ้านหมู่ที่ ๓ ของตำบลบ้านปง ชื่อบ้านปงหัวหาด มาจากลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน บริเวณแม่น้ำยมท้ายหมู่บ้านยามน้ำลดจะเป็นสันดอนทรายหรือหาดทราย ชาวบ้านเรียกว่า หัวหาด จึงเป็นที่มาของนามหมู่บ้าน ชาวบ้านปงหัวหาดส่วนใหญ่จะมาจากตำบลน้ำชำ เช่น บ้านร่องแดง บ้านนาตมที่มาจากตำบลอื่น ๆ เช่น บ้านเวียงทอง บ้านสวนหลวง ที่มาจากอำเภอนาน้อย จังหวัดน่านก็อพยพมาอยู่ด้วยและมาจากหมู่บ้านอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้นก็ได้ร่วมกันสร้างวัด ชื่อว่า วัดพงหัวหาด จากนั้นก็แยกหมู่บ้าน จากหมู่ที่ ๓ เป็นหมู่ที่ ๔ บ้านหาดเจริญ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๑ ได้แยกหมู่บ้าน หมู่ที่ ๔ เป็นหมู่ที่ ๖ บ้านปงหาดเจริญ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ตำนานความเชื่อของหมู่บ้าน ความเชื่อเรื่อง ผีขุนน้ำ เนื่องจากสภาพพื้นที่ของตำบลบ้านปง มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำยม ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ไปจนถึงคลองส่งน้ำชลประทานมีลักษณะเป็นที่ราบโดยติดกับพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร และทิศตะวันตกของตำบลตั้งแต่คลองส่งน้ำชลประทานจนถึงเขตติดต่อระหว่างตำบลบ้านปง และตำบลต้าผามอก อำเภอลอง เป็นที่ลาดเชิงเขาเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แย้ – แม่สาง มีป่าไม้ธรรมชาติปกคลุม เช่น ป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ คือ ห้วยแม่สาง อันเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องผีเจ้าป่า เรียกว่า ผีขุนน้ำ ชาวตำบลบ้านปงจะให้ความนับถือ เจ้าพ่อขุนน้ำอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่า หากบูชาเจ้าพ่อขุนน้ำจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การเลี้ยงผีขุนน้ำจะจัดขึ้น ออก ๓ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ชาวบ้านจะช่วยกันรวบรวมเงินกันแล้วแต่ศรัทธาเพื่อที่จะจัดหาและช่วยกันจัดเตรียมของเซ่นไหว้ เช่น เหล้า ไก่ หมู ฯลฯ

ภาพอดีตสะพานข้ามแม่น้ำยมบ้านปงท่าข้าม ภาพที่ ๒ : ภาพการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำยม ของชาวตำบลบ้านปงในอดีตที่ผ่านมา ที่มา : หล้า บุญญารัตนานุสรณ์ , ๒๕๑๕ พิธีเปิดป้ายสะพานข้ามแม่น้ำยม “สะพานรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ปี” พ.ศ. ๒๕๒๕

 

ภาพที่ ๓ : พณฯ ประมาณ อดิเรกสาร ขณะเปิดป้ายสะพานข้ามแม่น้ำยม ในปี ๒๕๒๕ ได้รับการ ประสานงานของบประมาณจาก ส.ส.ดุสิต รังคสิริ โดยมีนายหล้า บุญญารัตนานุสรณ์ เป็นกำนันตำบล บ้านปงในขณะนั้น สะพานข้ามน้ำยม มีชื่อว่า “สะพานรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี” ที่มา : หล้า บุญญารัตนานุสรณ์, ๒๕๒๕ ตำบลบ้านปงในปัจจุบัน ( พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๕๕ )

 

ภาพที่ ๔ : สะพานรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ได้นำความเจริญทุกด้านมาสู่ชาวตำบล บ้านปงจนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้อยู่ดีมีสุขขึ้นมากมาย ที่มา : หล้า บุญญารัตนานุสรณ์, ๒๕๔๘ โรงเรียนบ้านปงท่าข้าม ปงประชานุกูล

ภาพที่ ๕ : โรงเรียนบ้านปงท่าข้าม( ปงประชานุกูล) หลังแรก เป็นอาคารไม้ สองชั้น ภาพถ่ายเมื่อวันที่ ๒ ก.พ. ๒๕๑๐ ที่มา : หล้า บุญญารัตนานุสรณ์, ๒๕๑๐

การตัดถนนออกสู่ชลประทานเนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร และทิศตะวันตกของตำบลตั้งแต่คลองส่งน้ำชลประทานจนถึงเขตติดต่อระหว่างตำบลบ้านปง และตำบลต้าผามอก อำเภอลอง เป็นที่ลาดเชิงเขาเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แย้ – แม่สาง นายหล้า บุญญารัตนานุสรณ์ กำนันตำบลบ้านปงขณะนั้น ได้ร่วมกับชาวบ้านบริจาคที่ดินเพื่อตัดถนนไปสู่คลองชลประทาน เป็นระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตร ทำให้การเดินทางไปทำการเกษตร การขนส่งผลิตผลสะดวกง่ายดาย ต่อมาชาวตำบลบ้านปงได้พร้อมใจกันตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ ถนนบุญญาประชานุสรณ์” ทำพิธีเปิดป้ายถนนในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นปีครบ การเกษียณอายุราชการของนายหล้า บุญญารัตนานุสรณ์ กำนันตำบลบ้านปง

ภาพที่ ๖ : พิธีเปิดป้ายถนน “บุญญาประชานุสรณ์” ถนนสายเชื่อมต่อชลประทาน ที่มา : หล้า บุญญารัตนานุสรณ์ , ๒๕๒๘

โรงบ่มใบยาบ้านปงท่าข้าม

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ นายเหรียญ สายศร เจ้าของโรงบ่มใบยาสูบจากบ้านน้ำเลา อ. ร้องกวาง จ.แพร่ได้เข้ามาตั้งโรงบ่มใบยาสูบที่ตำบลบ้านปงช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านปง นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาถนนหนทางจากอำเภอสูงเม่นมาสู่ตำบลบ้านปง ช่วยสร้างสะพานข้ามลำน้ำยมช่วงฤดูแล้ง นับว่า นายเหรียญ สายศร เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชาวตำบลบ้านปงคนหนึ่ง ที่ทำการโรงบ่มใบยาสูบ ปัจจุบันเป็นสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปงและศูนย์เด็กเล็กบ้านปง

ภาพที่ ๗ : การเริ่มต้นก่อสร้างโรงบ่มใบยาบ้านปง ที่มา : หล้า บุญญารัตนานุสรณ์ , ๒๕๑๐ สถานีอนามัยตำบลบ้านปงหลังแรก

ภาพที่ ๘ : สุขศาลา หรือสถานีอนามัยหลังแรกของตำบลบ้านปงซึ่งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คนแรกคือ นางสาวสมบูรณ์ ผสม ( เกตุวรภัทรา) ที่มา : หล้า บุญญารัตนานุสรณ์ , ๒๕๑๐

เหตุการณ์สำคัญในอดีตทำให้ประชาชนประทับใจจนบัดนี้ สิ่งที่ประทับใจชาวตำบลบ้านปงคือ การก่อสร้างสะพาน “รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี” ในปี ๒๕๒๕ เพราะเป็นการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งชาวตำบลบ้านปงได้รับความลำบากในการเดินทางติดต่อราชการในอำเภอ รวมทั้งการไปโรงพยาบาลยามเจ็บป่วย ประกอบกับมีพวกโจรที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๑๒ อย่างมากมาย เมื่อมีการปราบปรามก็ สามารถหนีตำรวจข้ามมาอยู่ในหมู่บ้านได้อย่างรวดเร็ว ทางราชการติดตามปราบปรามได้ยากลำบากเพราะไม่มีสะพานข้าม เมื่อมีการสร้างสะพานคอนกรีต เหตุการณ์ที่ยากลำบากทั้งปวงก็คลี่คลายลงไปได้ ในวันเปิดป้ายสะพาน รองนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ ประมาณ อดิเรกสาร เดินทางมาเป็นประธานในพิธี นายหล้า บุญญารัตนานุสรณ์ กำนันตำบลบ้านปงในขณะนั้นให้การต้อนรับคณะรัฐมนตรี สะพานนี้ ส.ส. ดุสิต รังคสิริเป็นผู้ประสานงานของบประมาณในการสร้าง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑๐,๐๐๐,๐๐๐.- บาท ( สิบล้านบาท) เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านจดจำมาถึงทุกวันนี้ แม่น้ำยมนองเต็มฝั่งไหลล่องไปยังทิศใต้ เป็นเหตุการณ์ปกติที่ชาวบ้านปงพบทุกปีในฤดูน้ำหลาก แต่เหตุการณ์ที่ แม่น้ำยมไหลขึ้นทิศเหนือ (ตรงบริเวณท่าน้ำที่เป็นสะพานในปัจจุบัน) เป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำยมเต็มฝั่ง ไหลบ่าล่องตามลำน้ำเป็นปกติ แต่พอน้ำที่ไหลมาตามลำเหมืองห้วยแม่มานไหลออกมาปากน้ำมาลงที่แม่น้ำยมได้มาปะทะกับน้ำที่ไหลบ่าลงมา เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจให้กับชาวบ้านที่มายืนมองเต็มฝั่งด้านทิศตะวันตกเมื่อปรากฏว่าน้ำสองสายปะทะกันแล้วน้ำก็ไหลวนกลับคืนไปทางทิศเหนือ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ชาวบ้านปงได้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น เหตุการณ์นี้ยังประทับใจผู้คนจนปัจจุบันนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพที่สำคัญของชาวบ้าน คือ เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร อาหารพื้นถิ่นในหมู่บ้าน แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง น้ำปู แคบหมู แกงแค ประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวันปีใหม่ ลอยกระทง สงกรานต์ แห่เทียนพรรษา แห่ไม้ค้ำศรี การแสดงศิลปวัฒนธรรมในหมู่บ้าน ดนตรีล้านนา การขับซอ การฟ้อนเล็บ การตีกลองปู่จา การแต่งกาย นิยมแต่งกายด้วยผ้าหม้อห้อม เสื้อผ้าตามสมัยนิยม แหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้าน อ่างเก็บน้ำแม่สาง น้ำตกตาดซาววา วัดจำบอน ลักษณะภาษาพูดของประชาชน ใช้ภาษาถิ่นแพร่

โบราณสถานและโบราณวัตถุของหมู่บ้าน ได้แก่ พระพุทธเจดีย์สริโกศัย ของวัดปงท่าข้าม ตามจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปด้านหน้าที่จารึกเป็นอักษรล้านนา มี ๒ บรรทัด ดังนี้ บรรทัดที่ ๑ จารึกว่า “ พระพุทธเจติย์สรีโกไสยย์เมืองแพร่” บรรทัดที่ ๒ จารึกว่า “ หล่อที่วัดพระหลวงพุทธส ....๒๔๗๓ ปีกดสง้า” พระพุทธรูปองค์นี้สร้างโดยพระครูบาไจยลังการ์ เจ้าอาวาสวัดพระหลวง เป็นพุทธศิลปะเชียงแสน สิงห์ ๓ ผสมสุโขทัย

พิธีกรรม ความเชื่อ ความเชื่อในการเลี้ยงผีประจำปี เช่น ผีเจ้าพ่อขุนน้ำ ผีนางแก้ว ผีปู่ย่า พิธีกรรม การสะเดาะเคราะห์ เรียกขวัญ สืบชะตา

ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ๑. พ่อบุญเรือง ดอกสนธ์ อายุ ๘๓ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่หมู่ ๒ บ้านปงท่าข้าม อาจารย์ทำขวัญ ส่งเคราะห์ สืบชะตา, ๒.นายผ่าน พึ่งพัก อายุ ๗๒ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ที่หมู่ ๒ บ้านปงท่าข้าม อาจารย์ทำขวัญ ส่งเคราะห์ สืบชะตา บูชาท้าวทั้งสี่, ๓. นายจ๋อน คลี่ใบ อายุ ๗๘ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่หมู่ ๖ บ้านปงหาดเจริญ อาจารย์ทำขวัญ ส่งเคราะห์ สืบชะตา

ข้อมูลอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ๑๙.๑ ประเพณีการแห่ไม้ค้ำศรี พระครูโกศลพิพัฒนคุณ เป็นผู้ฟื้นฟูประเพณีการแห่ไม้ค้ำศรี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในวันเนา วันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี, ๑๙.๒ การขนทรายเข้าวัด เนื่องจากท่าน้ำแม่น้ำยมอยู่หน้าวัดปงท่าข้าม ทุกปีการขนทรายเข้าวัดจึงเป็นงานบุญที่มีชาวบ้านในตำบลบ้านปงและตำบลใกล้เคียงมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง, ๑๙.๓ หอไตรวัดปงท่าข้าม เป็นศิลปะล้านนาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยครูบาแก้ว อินทจกโก วัดเขื่อนคำลือ เป็นผู้สร้างมีการบรรจุพระไตรปิฏกในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๙๕ ตรงกับ ๙ ค่ำ เดือน ๖ เหนือเวลา ๑๐.๐๐ น. ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พระครูโกศลพิพัฒนคุณเจ้าอาวาสวัด ได้มีการย้ายและบูรณปฏิสังขรณ์ ขึ้นใหม่ แต่ยังคงไว้รูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันอยู่ในช่วงการก่อสร้าง ในหอไตร มีพระธรรมคัมภีร์ที่จารึกด้วยอักษรล้านนา บันทึกพระคาถา ฤกษ์ยาม ตำรายาต่าง ๆตัวอย่างพระธรรมที่พบ เช่น ธรรมกรรมวาจา มีศรัทธาท้าวไชยชมพูได้ให้ครูบาคัมภีร วัดเหมืองหม้อ ลูกศิษย์ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร เป็นผู้จาร ในปี จุลศักราช ๑๒๔๔ ปัจจุบันมีอายุ ๑๓๐ ปี, ๑๙.๔ ธรรมมาสน์ไม้สัก ศิลปะล้านนา สร้างโดย พระครูบาไจยลังการ์ ปัจจุบัน ตั้งอยู่ในพระอุโบสถวัดปงท่าข้าม, ๑๙.๕ ตุงกระด้าง ดวงที่ ๑ บันทึกว่า จุลศักราช ๑๓๐๙ กงกับเดือนเก้าเหนือ วันศุกร์ มิถุนายน วันที่ ๑๓ ได้ก่อสร้างตุงดวงนี้ ศรัทธานางแฝง ( วารี )ถวายเป็นตาน ที่ ๑ ส.ค... ตุงกระด้างดวงที่ ๒ ....พุทธศักราช ๒๔๙๐ กงกับเดือนเก้าเหนือ แรม ๑๐ ค่ำ วันศุกร์ ได้ก่อสร้างตุงดวงนี้ ศรัทธาพ่อน้อยอุด ( กำนนท์) สร้างถวายเปนทานวันที่ ๑ สิงหาคม ผู้ทำ ก.ธ.ศ.

ผู้ให้ข้อมูล ๑. พระครูโกศลพิพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดปงท่าข้าม รองเจ้าคณะอำเภอสูงเม่น อายุ ๔๙ ปี, ๒. พระอธิการกิตติพัฒน์ สุทธจิตโต เจ้าอาวาสวัดพงหัวหาด, ๓. พระครูสังฆรักษ์ ถวิน สุมโน รองเจ้าอาวาสวัดปงท่าข้าม ๔. พระชยพล กนตสีโล(สีงาม) วัดปงท่าข้าม ต.บ้านปง อ. สูงเม่น จ. แพร่ ๕. พ่อหล้า บุญญารัตนานุสรณ์ อายุ ๘๘ ปี หมู่ ๕ ต.บ้านปง อ. สูงเม่น จ. แพร่ ๖. พ่อไฝ ดวงสาโรจน์ อายุ ๘๒ ปี หมู่ ๓ ต.บ้านปง อ. สูงเม่น จ. แพร่ ๗. พ่อบุญเรือง ดอกสนธ์ อายุ ๘๓ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่หมู่ ๒ บ้านปงท่าข้าม ๘. นายทศพล ปลอดโปร่ง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านปง อ. สูงเม่น จ. แพร่ ๙. นายบรรจง ดอกแก้ว อายุ ๕๙ ปี หมู่ ๑ ต.บ้านปง อ. สูงเม่น จ.แพร่ ๑๐. พ่อสมาน ขันติวรพันธ์ อายุ ๘๙ ปี หมู่ ๑ ต.บ้านปง อ. สูงเม่น จ.แพร่ ๑๑. พ่อหม่อง กำยาน อายุ ๘๐ ปี หมู ๕ ต.บ้านปง อ.สูงเม่น จ.แพร่ ๑๑. นายประดิษฐ์ คำมี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปงท่าข้าม อ. สูงเม่น จ. แพร่

นางเพียงพิณ ปลอดโปร่ง ผู้บันทึกข้อมูล ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ

นายทศพล ปลอดโปร่ง ผู้เก็บข้อมูล ตำแหน่ง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านปง

นายธีรศักดิ์ แก้วบริสุทธิ์ ผู้ตรวจทานข้อมูล ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนสูงเม่นวิทยาคาร

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 01 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 09:07 น.• )