ความสำคัญของเมืองลองที่ต้องศึกษา สภาพภูมิศาสตร์ของดินแดนตั้งแต่ภาคเหนือตอนบนขึ้นไป มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ที่ถูกล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูงเป็นแอ่งที่ราบระหว่างภูเขา(Intermontane Basins) อันเกิดจากรอยเลื่อนของแผ่นธรณี จากการสำรวจของนักวิชาการทางโบราณคดีที่ผ่านมา พบร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาอาศัยกระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาเมื่อผู้คนรวมกลุ่มกันขึ้นภายในแต่ละแอ่งเหล่านี้จึงพัฒนาก่อรูปขึ้นเป็นชุมชนเป็นบ้านและเมือง โดยขนาดของแอ่งและที่ราบจะมีความสัมพันธ์กับขนาดของเมืองด้วย ดังนั้นบางเมืองที่ตั้งอยู่แอ่งที่ราบขนาดใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นเมืองใหญ่ และพัฒนาขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางของแคว้นหรืออาณาจักร แต่บางเมืองที่ตั้งอยู่แอ่งที่ราบขนาดเล็กก็ยังคงมีสถานภาพเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยที่เป็นเมืองบริวารของเมืองขนาดใหญ่

เมืองในแบบจารีตคือหน่วยทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างสมบูรณ์ เป็นการจัดพื้นที่ผ่านแบบแผนของผู้ที่อาศัยอยู่ ประกอบกันขึ้นจากหน่วยปกครองพื้นที่เล็กๆ ลงไปเข้าไว้ด้วยกัน อันเกิดจากการประสานระบบทางกายภาพของพื้นที่เข้ากับระบบความเชื่อ เพื่อเป็นสายใยเชื่อมโยงให้เกิดความเป็นกลุ่มก้อนของผู้คนภายในเมือง ดังนั้น “เมือง” ของคนกลุ่ม “ไท” จึงอาจหมายถึงอาณาจักรขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเข้มแข็ง เมืองหลวง หรือเมืองเล็กเมืองน้อยที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของแคว้นหรืออาณาจักรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเมืองเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กันในรูปของเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นต่อเมืองใหญ่เป็นลำดับชั้นขึ้นไป เป็นรูปแบบการปกครองที่มีลักษณะร่วมกันของรัฐในหุบเขา ดังเช่น ล้านนา สิบสองพันนา สิบสองจุไท และฉานของไทใหญ่ ไทเขิน ไทเหนือ  ซึ่งสิบสองจุไทของไทดำ ไทขาว ไทแดง  ก็มีการแบ่งเมืองออกเป็น ๔ ระดับจากเมืองใหญ่ถึงเมืองเล็ก  คือ  เมืองหลวง(๑)  เมืองเจ้าเมือง(๒) เมืองเพีย(๓) และเมืองล่ง(๔)  หรือสิบสองพันนาของไทลื้อก็แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ เมืองหลวง(เชียงรุ่ง)(๑) เมืองหัวเมืองใหญ่(๒) และเมืองหัวเมืองเล็ก(๓)  ขณะเดียวกันล้านนาของกลุ่มไทยวน ที่จัดเป็นรัฐในหุบเขา และมีความสัมพันธ์กับรัฐหรือเมืองในหุบเขาตอนบนขึ้นไปเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งทางการสมรส และคติความเชื่อดังปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่แสดงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของเมืองในหุบเขาให้เป็นรูปธรรม  โดยการจำลองจักรวาลหรือโลกของกลุ่มชาว “ไท” ในหุบเขาเข้าไว้ด้วยกัน ตลอดถึงความเชื่อเรื่อง “แถน” หรือการยอมรับนับถือ “พญาเจือง” เป็นวีรบุรุษร่วมกันของกลุ่มคน “ไท” ในแถบนี้ ดังนั้นจากความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความเป็นเครือญาติ และลักษณะทางภูมิศาสตร์  รัฐในหุบเขาย่อมมีลักษณะแบบแผนของเมืองที่มีความคล้ายคลึงกัน

ไทยวน ที่จัดเป็นรัฐในหุบเขา และมีความสัมพันธ์กับรัฐหรือเมืองในหุบเขาตอนบนขึ้นไปเป็นระยะเวลาอันยาวนาน   ทั้งทางการสมรส และคติความเชื่อดังปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่แสดงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของเมืองในหุบเขาให้เป็นรูปธรรม  โดยการจำลองจักรวาลหรือโลกของกลุ่มชาว “ไท” ในหุบเขาเข้าไว้ด้วยกัน  ตลอดถึงความเชื่อเรื่อง “แถน” หรือการยอมรับนับถือ “พญาเจือง” เป็นวีรบุรุษร่วมกันของกลุ่มคน “ไท” ในแถบนี้  ดังนั้นจากความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม  ความเชื่อ    ความเป็นเครือญาติ  และลักษณะทางภูมิศาสตร์  รัฐในหุบเขาย่อมมีลักษณะแบบแผนของเมืองที่มีความคล้ายคลึงกัน

เท่าที่ผู้เขียนได้ศึกษาระบบเมืองของล้านนานั้น เมื่อพิจารณาจากลำดับศักดิ์(Hierarchy)ของเมืองในด้านศักยภาพการครอบครองทรัพยากร เป็นที่ตั้งศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ  ตลอดถึงขนาดของพื้นที่ สามารถจัดอันดับเมืองในล้านนาได้ ๔ ระดับ คือ เมืองหลวง(๑) เมืองหัวเมืองใหญ่(๒) เมืองหัวเมืองรอง(๓)  และเมืองหัวเมืองเล็ก(๔)

(๑) เมืองหลวง เป็นศูนย์กลางการปกครองมีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองต่าง ๆ หรือได้รับการยอมรับศักยภาพที่เหนือกว่าจากหัวเมืองอื่นๆ คือ เมืองเชียงใหม่

(๒) เมืองหัวเมืองใหญ่ คือ เมืองที่มีอำนาจรองลงมาจากเมืองหลวง และอาจกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองหลวงในบางช่วง ปัจจุบันส่วนใหญ่มีสถานะเป็นหน่วยจังหวัดของระบบราชการไทย เช่น เมืองลำปาง  เมืองน่าน เมืองลำพูน เมืองพะเยา และเมืองแพร่  ฯลฯ

(๓) เมืองหัวเมืองรอง คือ เมืองที่มีฐานะรองลงมาจากเมืองหัวเมืองใหญ่ หรือเป็นเมืองที่ผู้ปกครองในยุคต้นราชวงศ์สร้างขึ้นก่อนจะสร้างเมืองหัวเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง และบางเมืองก็ขึ้นตรงต่อเมืองหัวเมืองใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันส่วนมากมีสถานะเป็นหน่วยอำเภอของระบบราชการไทย เช่น เมืองงาว เมืองแจ้ห่ม เมืองเชียงของ  เมืองเชียงคำ เมืองเชียงดาว เมืองเถิน เมืองเทิง เมืองปัว เมืองฝาง เมืองพร้าว เมืองพาน เมืองลอง เมืองสอง  และเมืองฮอด ฯลฯ

(๔) เมืองหัวเมืองเล็ก คือ เป็นหน่วยเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุดของล้านนา และบางเมืองขึ้นตรงต่อเมืองหัวเมืองรอง ปัจจุบันส่วนใหญ่มีสถานะเป็นหน่วยตำบล กลุ่มหมู่บ้าน กลุ่มตำบล หรืออำเภอขนาดเล็กของระบบราชการไทย  เช่น เมืองงาย เมืองจาง เมืองเชียงม่วน เมืองตีบ เมืองต้า เมืองเตาะ เมืองปาน เมืองเมาะ และเมืองสะเอียบ  ฯลฯ

ระบบเมืองแบบจารีตนี้จะมีพื้นที่อาณาเขตของ “เมือง” จำนวนเมือง หรือชุมชนที่รวมตัวกันเป็นเมืองไม่มีความแน่นอนคงที่ มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เนื่องจากรวมกันอยู่ในระบบภักดี คือการยอมรับอำนาจหรือยอมรับนับถือ “เจ้า” ของเมืองนั้นๆ เป็นสำคัญ   ดังนั้นเมืองในหุบเขาจึงมีขนาดที่แตกต่างกันหลากหลายระดับ ตั้งแต่เมืองขนาดเล็กที่ประกอบด้วยผู้คนเพียง ๑๒ - ๑๔ หลังคาเรือน จนถึงเมืองขนาดใหญ่ที่มีจำนวนหลายหมื่นหลายพันหลังคาเรือน เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงตุง เมืองลำปาง และเมืองน่าน เป็นต้น

เท่าที่ผ่านมาการศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองในล้านนา มีการศึกษาเฉพาะเมืองเชียงใหม่ที่เป็นเมืองหลวงศูนย์กลางการปกครองหรือเมืองหัวเมืองใหญ่ แต่เมืองบริวารที่เป็นหัวเมืองรองลงมากลับยังขาดผู้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมืองหัวเมืองรองเหล่านี้บางเมืองก็ยังมีเมืองหัวเมืองเล็กขึ้นอยู่ในความปกครองอีกชั้นหนึ่ง ความสัมพันธ์ของเมืองแบบจารีตจึงเป็นระบบที่ครอบซ้อนกันเป็นลำดับชั้นเหมือนกล่องใบเล็กหลายๆ ใบซ้อนกันอยู่ภายในกล่องใบใหญ่  มีพันธะกับเมืองแม่หรือเมืองหลัก คือ การส่งส่วยหรือเครื่องราชบรรณาการ โดยที่เมืองแม่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของเมืองขึ้น จะให้อำนาจกับเจ้าเมืองของเมืองนั้นๆ จัดการปกครอง เก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้ทรัพยากร หรือกำลังคนของตนเอง ยกเว้นบางครั้ง เช่น รับรองแต่งตั้งกลุ่มผู้ปกครองหัวเมืองขึ้นหรือเกณฑ์ยามสงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองแม่กับเมืองขึ้นมีลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอันเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้ระบบเชิงอุปถัมภ์ โดยที่กลุ่มผู้ปกครองเมืองแม่และเมืองขึ้น ใช้ความเป็นเครือญาติหรือการเคารพนับถือกันเสมือนญาติมิตรเชื่อมความสัมพันธ์กันอีกทางหนึ่งด้วย

ที่ผ่านมาหัวเมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้ได้ถูกมองผ่านที่จะเข้าไปศึกษา เพราะการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ย่อมมีความสำคัญเห็นภาพได้ชัดเจน มีหลักฐานตำนานหรือพื้นเมืองบันทึกเหตุการณ์จำนวนมาก สามารถอธิบายครอบคลุมได้ภาพการเคลื่อนไหวที่กว้างกว่า ส่วนเมืองเล็กเมืองน้อยจำกัดด้วยเรื่องหลักฐานที่ไม่มีตำนานเมือง หรือหากมีการบันทึกก็เป็นเพียงจดบันทึกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ  และเมืองเหล่านี้ได้ร้างหลายช่วงขาดความสืบเนื่องของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยภายในเมือง ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามและเวลามากในการศึกษา

แต่ทว่า เมื่อมีการศึกษาเฉพาะประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงหรือเมืองหัวเมืองขนาดใหญ่ เรื่องราวด้านต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงล่องลอยอยู่ในโครงสร้างส่วนบน ขาดการศึกษาเจาะลึกลงเบื้องล่างถึงหน่วยที่เรียกว่า “เมือง” เฉกเช่นเดียวกัน แต่เป็นเมืองเล็กเมืองน้อยที่ถูกเงารัศมีของเมืองใหญ่ครอบคลุมทับอยู่

ลักษณะเฉพาะของความเป็นเมืองลอง คือ

๑. เมืองยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะตั้งอยู่ในจุดควบคุมเส้นทางการคมนาคมระหว่างอาณาจักรล้านนากับแคว้นสุโขทัย และเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศตะวันออกให้กับอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช  กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ ๙ (พ.ศ.๑๙๘๔ - ๒๐๓๐) ที่ทรงมีนโยบายขยายราชอาณาเขตล้านนาด้านตะวันออกกับเมืองแพร่ เมืองน่าน และทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา  เมืองลองจึงมีความสำคัญทั้งด้านจุดยุทธศาสตร์การคมนาคมและการรบ

๒. เมืองที่มีทรัพยากรสำคัญ คือ อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง ทองคำ เงิน ตะกั่ว และพลอย เป็นทรัพยากรสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการสงคราม อีกทั้งเมืองลองเป็นเมืองที่ไม่เคยร้างจึงมีไพร่พลที่เป็นทรัพยากรสำคัญอาศัยอยู่อย่างสืบเนื่อง ดังสมัยพม่าปกครองล้านนาเมืองลองเป็นหนึ่งใน ๕๗ หัวเมืองของล้านนา แสดงถึงเมืองลองยังธำรงสถานภาพของความเป็นเมืองอยู่ ทั้งนี้เพราะลักษณะภูมิประเทศของเมืองลองเป็นที่ราบในแอ่งก้นหุบเขา มีเทือกเขาสูงล้อมรอบทั้งสี่ด้านอยู่ระหว่างเมืองใหญ่ คือ ด้านทิศเหนือ เมืองน่าน ด้านทิศใต้ เมืองสุโขทัย ด้านทิศตะวันออก เมืองแพร่ และด้านทิศตะวันตก เมืองลำปาง ที่ราบท้องทุ่งนาและทิวเขาสลับซับซ้อนด้านทิศตะวันตกของเมืองลอง (ที่มา : อภิเกียรติ ชื่นสมบัติ, ๒๕๕๔)

๓. ผู้คนมีสำนึกในความเป็นเมืองลอง เพราะเมืองลองมีเจ้าเมืองที่สืบสกุลวงศ์ของตนเอง และเมื่อเจ้าเมืองลองได้สิ้นชีวิตก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นผีเมืองหรือผีปู่ย่า อีกทั้งมีระบบพระธาตุและระบบผีเมืองที่สร้างขึ้นเป็นจักรวาลหรือโลกของเมืองลอง ซึ่งในแต่ละรอบปีจะมีการผลิตซ้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องผ่านประเพณีและพิธีกรรมตลอดทั้ง ๑๒ เดือน จนกระทั่งกลายเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนภายในเมือง ที่สืบเนื่องจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มา จึงหล่อหลอมให้ชาวเมืองลองมีความเชื่อศรัทธาร่วมกัน ก่อให้เกิดเครือข่ายความเป็นกลุ่มก้อนอย่างแน่นเหนียว อันนำมาสู่มีสำนึกสูงในเรื่องความเป็นเมืองลองมาจวบจนปัจจุบัน และผู้ศึกษาได้ถือกำเนิดและดำรงชีวิตรู้จักคุ้นเคยกับเมืองลองซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะทำการศึกษาตลอดมา

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเลือกทำการศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของเมืองลอง ที่เป็นหัวเมืองเล็กเมืองน้อยในระบบจารีตเดิมของล้านนา ภายใต้บริบทความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อชุมชนภายนอกตั้งแต่ก่อรูปพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมือง จนกระทั่งระบบเมืองแบบจารีตล่มสลายลง เนื่องจากสยามขยายตัวเข้ามาและใช้นโยบายรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่กรุงเทพฯ  เมืองลองจึงได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพจากเมืองเป็นแขวงหรืออำเภอ  ซึ่งเป็นการจัดอันดับหน่วยการปกครองว่าอยู่ระดับไหนของรัฐไทยอันเป็นระบบราชการแบบใหม่ และการปรับตัวของผู้คนที่เปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งเข้าสู่อีกยุคหนึ่งแบบค่อยเป็นค่อยไปที่อยู่ภายใต้สำนึกความเป็นหน่วยเมืองลองแบบจารีต  มาสู่การสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลองภายใต้หน่วยอำเภอลองของการปกครองรัฐไทยแบบใหม่

จากการที่เมืองลองมีความสืบเนื่องทั้งระบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ได้ผ่านการหลอมหล่อด้วยกาลเวลาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะจารีตประเพณีต่างๆ ของเมืองลองที่เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อทั้งพุทธและผี ได้ถูกผลิตซ้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยผ่านรูปแบบของพิธีกรรม  ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีรู้สึกเหมือนตนกำลังสัมผัสกับอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่ได้กระทำมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน  เหมือนที่บรรพบุรุษของตนได้สัมผัสและกระทำมาแล้ว จึงทำให้ลูกหลานมีความสำนึกร่วมกับบรรพชนและตระหนักในคุณค่าของประวัติศาสตร์ นำมาสู่การกำหนดแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนภายในเมืองลอง ต่อมาเมื่อรัฐไทยขยายอำนาจเข้ามาสู่ดินแดนล้านนาได้มีผลกระทบต่อรูปแบบการปกครองของเมืองแบบจารีต ทำให้ระบบระเบียบแบบแผนของความเป็นเมืองลองได้ถูกทำลายลง อันนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของผู้คนตามไปด้วย

กอปรกับกาลเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง “เมืองลอง” ในอดีตไม่สามารถเรียกหวนคืนกลับมาได้อีกแล้ว จึงเหลือแต่เพียงความสำนึกในความเป็นเมืองลองที่ยังคงอยู่ถึงคนรุ่นต่อ ๆ มา อันนำมาสู่การโหยหาอดีตและค้นหาตัวตนของตนเอง เกิดการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลองภายใต้รูปของหน่วยอำเภออันจัดเป็นหน่วยการปกครองแบบราชการไทยหน่วยหนึ่ง ที่อยู่ชายขอบของจังหวัดแพร่และสังคมไทยขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้สำนึกความเป็นชาติไทยซ้อนครอบอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้มีพื้นที่และอยู่ในสังคมไทยอย่างมีความภาคภูมิของผู้คนที่ได้นิยามตนเองว่าเป็น “คนเมืองลอง” โดยการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมาจากผู้คนหลากหลายกลุ่ม ทั้งจากกลุ่มพระสงฆ์  ปราชญ์ท้องถิ่น  ข้าราชการท้องถิ่น  นักการเมืองท้องถิ่น  พ่อค้าแม่ค้า  กลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองลอง และประชาชนทั่วไป  แต่ละกลุ่มมีช่วงมิติเวลาและวิถีการสร้างและรื้อฟื้นที่แตกต่างกันออกไปตามสถานะ ซึ่งการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองแบบใหม่ได้ปรากฏชัดเจนใน พ.ศ.๒๔๙๕ เมื่อเขียนประวัติเมืองลองขึ้นเป็นครั้งแรกและถูกผลิตซ้ำสานต่อเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

การสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลองนี้ เป็นวาทกรรมที่หยิบยกมาจากทุนวัฒนธรรมเดิมในอดีต มาสู่การนิยามตนเองและรื้อฟื้นความเป็นตัวตนของเมืองลองขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้  “เลือก” “เว้น” “คัดสรร” และ “ปรับเปลี่ยน” บางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้ตอบรับกับบริบทสังคมภาคเหนือ  สังคมไทย  และการดำรงชีวิตของคนเมืองลองในยุคปัจจุบัน กอปรกับความเป็นเมืองลองได้ถูกสร้างและรื้อฟื้นขึ้นท่ามกลางบริบทของการสร้างความเป็น “ชาติไทย” “ประเทศไทย” ดังนั้นแต่ละกลุ่มคนภายในเมืองลองจึงไม่ได้ผูกขาดการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนอย่างอิสระเสียทีเดียว แต่มีลักษณะเป็นการแสดงตัวตนในรูปแบบของ “ท้องถิ่นชาตินิยม” ที่แอบอิงอยู่กับกษัตริย์หรือรัฐส่วนกลาง โดยแต่ละกลุ่มที่สร้างและรื้อฟื้นสำนึกในแต่ละช่วงเวลา จะมีพลังในการสร้างและรื้อฟื้นแตกต่างกันไปตามบริบทและเงื่อนไข

ดังนั้นการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง จึงไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือเพียงชั่วครู่ แต่มีอยู่อย่างสืบเนื่องสม่ำเสมอที่ได้ส่งผ่านทั้งทางการศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนาและพิธีกรรมที่แฝงอยู่กับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อน เปิดกว้างให้ผู้คนมีอิสระทางความคิด และมีระบบการติดต่อสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว  ทำให้การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมาจากกลุ่มคนที่มากมายหลากหลายรูปแบบ และมีพลังในการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนมากยิ่งขึ้นทุกขณะ อีกทั้งยังจะมีต่อไปในอนาคต  อย่างที่ไม่สามารถหยุดยั้งหรือควบคุมการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลองนี้ได้

งานเขียนประวัติศาสตร์เมืองลองในบทความฉบับนี้ จึงเพื่อเป็นเสมือนภาพตัวแทนของเมืองหัวเมืองรองและเมืองหัวเมืองเล็กในล้านนา ถือว่าเป็นการเปิดโฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ที่ยังขาดการศึกษาถึงเมืองบริวารหัวเมืองเล็กเมืองน้อยของล้านนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งถ้าเราศึกษาและเข้าใจทั้งวิวัฒนาการและความสัมพันธ์ของเมือง ตลอดถึงวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คนภายในเมืองด้วยกันเองและกับชุมชนภายนอก  ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละช่วงมิติเวลา ก็จะทำให้เข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยได้ครอบคลุมและลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเข้าใจถึงปรากฏการณ์การรื้อฟื้นตัวตนที่เกิดขึ้นแต่ละท้องถิ่นในปัจจุบันว่าไม่ได้เกิดขึ้นเองหรืออุบัติขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่มีเหตุมีปัจจัยมาจากอดีตและต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะจนเกิดปรากฏการณ์แบบนั้น ๆ ขึ้นมา

ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลอง จึงเป็นการเปิดประเด็นใหม่ทำให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของเมืองเล็กเมืองน้อย ที่ได้ดำเนินควบคู่ตามกาลเวลาผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อมกับเมืองหลวงพระนครเชียงใหม่หรือหัวเมืองขนาดใหญ่ แต่ยังขาดผู้หยิบยกขึ้นนำเสนอให้โลดแล่นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

บทความโดย ภูเดช แสนสา

โหลดแผนที่ขนาดใหญ่

© ภูเดช  แสนสา  :  แผนที่แสดงพื้นที่ของตำบลต่างๆ  และเส้นทางแม่น้ำยมไหลที่ผ่านในอำเภอลอง - วังชิ้น

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 03 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 07:07 น.• )