บทความประวัติศาสตร์เมืองลองที่ท่านผู้อ่านกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นงานเขียนที่ผู้เขียนได้ทำการปรับปรุงเพิ่มเติมจากหนังสือของผู้เขียนเรื่อง “ประวัติศาสตร์เมืองลอง หัวเมืองบริวารในล้านนาประเทศ” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้สนใจ ดังนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในวงกว้าง สะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและการสืบค้น  ตลอดจนง่ายต่อการทำความเข้าใจในเนื้อหา ผู้เขียนจึงได้นำมาจัดแบ่งออกเป็นตอนย่อยๆ ได้จำนวน  ๕๐ ตอน เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ www.lannaphrae.com ซึ่งบทความประวัติศาสตร์เมืองลองทั้ง  ๕๐ ตอนนี้  จะนำเสนอภาพความเป็นเมืองลอง ฐานะหัวเมืองบริวารขนาดเล็กของล้านนาประเทศในยุคจารีต  จนกระทั่งความเป็นเมืองลองแบบจารีตได้ล่มสลายลงเมื่อรวมเข้ากับสยาม  และเกิดการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลองกลับขึ้นใหม่

โดยแอ่งลองมีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคหินสืบเนื่องถึงยุคโลหะ ครั้นถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แคว้นหริภุญไชยขยายตัวแสวงหาทรัพยากรโดยเฉพาะแร่เหล็ก มีการผสมผสานเกิดพัฒนาการชุมชนที่ซับซ้อน และก่อรูปเมืองลองเมื่อกลุ่มผู้ปกครองเขลางค์นครขยายตัวเข้ามาในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เมืองลองแบ่งหน่วยปกครองออกเป็นลำดับชั้น มีปริมณฑลกายภาพกับจินตภาพทางความเชื่อพุทธและผีซ้อนยึดโยงกัน เป็นเมืองที่มีตัวตน ชีวิต จิตวิญญาณ มีโลกหรือจักรวาลของตนเอง เมืองลองถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา กระทั่งต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ล้านนากลายเป็นประเทศราชของสยาม และสยามพยายามเข้าแทรกแซงอำนาจเจ้านายประเทศราช ส่งผลให้ “กษัตริย์นครลำปาง” กับ “เจ้าเมืองลอง” เกิดกรณีพิพาทก่อนรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

สยามขยายอิทธิพลรวมล้านนาเป็นส่วนเดียวกันใน พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมา เมืองลองแบบจารีตล่มสลายลงกลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของรัฐไทย การสูญเสียสถานภาพและผลประโยชน์ในทุกด้านของกลุ่มผู้ปกครองล้านนารวมถึงเจ้าเมืองลอง จึงเกิดการต่อต้านที่ฝ่ายสยามเรียกว่า “กบฏเงี้ยว”  สยามได้เข้าปฏิรูปเมืองลองทั้งการปกครอง ศาสนา เศรษฐกิจ และการศึกษา เพื่อสร้างสำนึกความเป็น “คนไทย” ให้กับคนเมืองลอง ส่งผลให้ความมีตัวตน ชีวิต จิตวิญญาณ รวมถึงแผนผังปริมณฑลเมืองลองแบบจารีตถูกปรับเปลี่ยนค่อยจางหายจากความทรงจำของผู้คน เหลือเพียงความสำนึกบางอย่างที่รักษาผ่านประเพณี พิธีกรรม คติความเชื่อ ในรูปประเพณี ๑๒ เดือนของเมืองลอง รวมถึงวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เส้นทางรถไฟตัดผ่าน และทวีความเข้มข้นเมื่อเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นต้นมา

เมื่อบริบทการเมืองของไทยเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้แสดงตัวตน และระบบเศรษฐกิจในอำเภอลองขยายตัวมีชนชั้นกลางมากขึ้น จึงเริ่มสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองกลับขึ้นใหม่ภายใต้รูปหน่วยอำเภอลองเมื่อพ.ศ.๒๔๙๕ โดยหยิบยกเอาทุนวัฒนธรรมความเป็นเมืองลองในยุคจารีต  ทั้ง “เจ้า” “พุทธ” “ผี” กลับมาสร้างและรื้อฟื้นตัวตน ระยะแรกได้นำเพียงทุนวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับพระธาตุศรีดอนคำและมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ จนกระทั่งช่วงที่สองมีการสร้างและรื้อฟื้นอย่างกว้างขวางและทรงพลัง ได้หยิบเอาทุนวัฒนธรรมผีเมืองเจ้าเมืองมาร่วมกับพุทธศาสนาที่ขยายครอบคลุมพระธาตุทั้งห้าองค์ โดยมีสภาวัฒนธรรมเป็นแกนนำและมีคนหลากหลายกลุ่มเข้ามีบทบาททั้งเป็นแกนนำและร่วมสนับสนุน

ท้ายสุดผู้เขียนหวังว่าบทความประวัติศาสตร์เมืองลองจำนวนทั้ง ๕๐ ตอนจะพอเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านผู้สนใจ  และได้ปรารถนาเป็นอย่างยิ่งยวดต่อบทความนี้ว่าจะสามารถให้วงวิชาการด้านล้านนาคดีใช้เป็นพื้นฐานการศึกษาค้นคว้าสืบต่อไปในภายภาคหน้าอย่างไม่มีสิ้นสุด

ภูเดช  แสนสา

สาขาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

๓๐  มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕