ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๖ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต (ต่อ) การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองและเมืองบริวาร การตั้งถิ่นฐานชุมชนในแอ่งลอง ระยะแรกตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมทั้งหมด เนื่องจากเป็นที่ราบกว้างขวาง มีลำห้วยสาขาต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำยม ส่วนฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ราบเล็กน้อยติดเชิงเขาและแม่น้ำยมลึกเชี่ยวการสัญจรไม่สะดวกในฤดูน้ำหลาก จึงเป็นที่ทำไร่ไม่มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในอดีต เพิ่งปรากฏมีการตั้งถิ่นฐานหลังพ.ศ.๒๔๐๐ เป็นต้นมา จากการขยายตัวของประชากรและการอพยพจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของชุมชนในเมืองลอง การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของชุมชนเมืองลอง แบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ

(๑) เมืองลองช่วงแรก (ก่อนล้านนา – พ.ศ.๒๐๒๐) ศูนย์กลางอยู่บ้านไฮสร้อย

(๒) เมืองลองช่วงที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๓๐ - ๒๓๑๘) ศูนย์กลางอยู่บ้านนาหลวง

(๓) เมืองลองช่วงที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๑๘ – ๒๔๔๒) ศูนย์กลางอยู่บ้านห้วยอ้อ

แม่น้ำยมปราการธรรมชาติด้านทิศตะวันออกของเวียงลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๓)

 

แผนที่แสดงการตั้งหมู่บ้านในแอ่งลอง – วังชิ้น แผนที่แสดงการตั้งหมู่บ้านในแอ่งลอง – วังชิ้น : © ภูเดช แสนสา

(๑) เมืองลองช่วงแรก (ก่อนล้านนา – พ.ศ.๒๐๒๐) เวียงลองช่วงแรกตั้งอยู่บริเวณบ้านไฮสร้อย ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวทั้งภายในเวียง ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือของเวียงลอง ส่วนทิศตะวันออกเป็นไร่ของเจ้าเมืองและชาวเมือง   ตั้งหลักแหล่งเรียงรายตามแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาในแนวเหนือ - ใต้ประมาณ ๗ กิโลเมตร ตั้งแต่ชุมชนบ้านกาง(บ้านร่องบอน ตำบลปากกาง) บ้านหัวทุ่ง บ้านนาอุ่นน่อง ตำบลหัวทุ่ง ลงมาถึงผาควายเผือก บ้านปากแม่ควาย(ทิศใต้บ้านปากลอง ตำบลปากกาง) และแนวตะวันออก - ตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตรถึงบริเวณบ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง แต่มีการตั้งชุมชนหนาแน่น ๒ บริเวณ คือ เวียงลองและชุมชนบ้านกาง ที่ปรากฏกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง และยังปรากฏกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐอีก ๕ วัด คือ วัดหลวงหัวเวียง(วัดหัวข่วง) วัดพระธาตุแหลมลี่ วัดม่อนโบสถ วัดทุ่งเก๊าศรี(วัดนาตุ้มใต้) และวัดทุ่งเจดีย์(วัดทุ่งก๊าง บอกไฟ) จนกระทั่งพ.ศ.๒๐๒๐ พญาหัวเมืองแก้ว เจ้าเมืองลอง ได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งที่บ้านก่อนดอนหัวนา(โรงเรียนบ้านห้วยอ้อในปัจจุบัน) สันนิษฐานว่าเนื่องจากเวียงลองเก่าได้รับความเสียหายจากสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยาที่ยาวนานร่วม ๒๐ กว่าปี(ประมาณพ.ศ.๑๙๙๔ - ๒๐๑๘) และห้วยแม่ลองเปลี่ยนเส้นทางเดินตัดผ่านขึ้นมาทางเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันยังปรากฏเส้นทางเดินน้ำเก่านี้เรียกว่า “ห้วยแม่ลองด้วน” การเปลี่ยนเส้นทางของห้วยแม่ลองส่งผลให้ในฤดูฝนเกิดน้ำท่วม ล้อมรอบเป็นเกาะขังผู้คนไว้ในเวียง ไม่สามารถเข้าออกเวียงได้เลยนอกจากใช้เรือ และน้ำยังท่วมถึงบริเวณที่ราบนอกเวียงอันเป็นที่นาปลูกข้าวและที่ตั้งหมู่บ้านต่างๆ ชาวเมืองกลุ่มใหญ่จึงอพยพขึ้นเหนือตามพญาหัวเมืองแก้ว บางกลุ่มอพยพไปทางทิศใต้บริเวณต.ทุ่งแล้งในปัจจุบัน เพราะเป็นที่ดอนและใกล้พระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู และพระธาตุปูตั้บ ส่วนกลุ่มข้าวัดพระธาตุแหลมลี่ บ้านปากแม่ควาย(บ้านแหลมลี่) กลุ่มข้าผีเมือง(ตระกูลผีปู่ย่าพ่อเฒ่าหลวง) ตีนจองรองบ่อ(ผู้ดูแลรักษาบ่อเหล็ก) บ้านนาตุ้ม และหมู่บ้านเป็นที่ดอนอยู่แล้วเช่น บ้านปากกาง บ้านร่องบอนยังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม พญาหัวเมืองแก้วได้ตั้งมั่นชั่วคราวที่บ้านก่อนดอนหัวนาอยู่ร่วม ๑๐ ปี เพื่อหาที่เหมาะสม เตรียมพร้อมกำลังไพร่พล และเก็บเกี่ยวเสบียงอาหาร ซึ่งในระหว่างนี้ได้พบชัยภูมิที่เหมาะสมสำหรับตั้งเวียง คือบริเวณเวียงเหล่าเวียงที่เคยเป็นเวียงบริวารของเวียงลอง  จึงบูรณะขึ้นใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองลอง

(๒) เมืองลองช่วงที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๓๐ - พ.ศ.๒๓๑๘)  เวียงเหล่าเวียง(เวียงลองรุ่นที่ ๒) บริเวณบ้านนาหลวง ชัยภูมิของเวียงไม่ลุ่มน้ำเกินไป มีน้ำ แม่กางสาขาแม่น้ำยมไหลตลอดปีและมีที่ราบกว้างขวางในการเพาะปลูกข้าว ชาวเมืองตั้งถิ่นฐานกระจายตัวภายในและรอบเวียงด้านทิศเหนือ ตะวันตก และทิศใต้ ตั้งแต่บริเวณวัดต้นมุ่น(ทิศใต้บ้านนาแก)ลงมาจนถึงบ้านก่อนดอนหัวนา ดังปรากฏวัดร้างที่สร้างในสมัยนี้ คือ วัดต้นหมุ้น วัดสะแล่ง  วัดนาปง วัดกลางเวียง(วัดหัวข่วง) วัดตุ๊เจ้าเฒ่า วัดบ้านค่า(วัดนาไผ่) และวัดบ้านก่อนดอนหัวนา ส่วนทิศตะวันออกบริเวณบ้านดอนทราย บ้านห้วยอ้อ และบ้านนาม้อในปัจจุบันยังเป็นทุ่งนาและ  ที่ลุ่มน้ำ มีกลุ่มชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่เป็นครั้งคราวเพื่อทำไร่ทำนา การตั้งถิ่นฐานในยุคนี้จึงกระจายตัวตั้งแต่บริเวณบ้านนาแก บ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ บ้านไผ่ล้อม บ้านนาอุ่นน่อง ตำบลหัวทุ่ง ลงไปจนถึงบริเวณบ้านทุ่งแล้ง บ้านปากจอก ตำบลทุ่งแล้ง(อำเภอลอง) และบ้านแม่ป้าก ตำบลแม่ป้าก(อำเภอวังชิ้น) ต่อมาเริ่มก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำพงอ้อและวัดขึ้นในปีพ.ศ.๒๑๖๙ พร้อมกับพญาศรีสองเมือง เจ้าเมืองลำปางได้กัลปนาพื้นที่วัด ที่นา และข้าวัดจำนวน ๘ ครัวเรือน(ปัจจุบันเชื้อสายข้าวัดพระธาตุศรีดอนคำอยู่ในตระกูล “ยะจ่อ”)  จึงเริ่มมีกลุ่มคนขยายตัวจากเวียงเหล่าเวียงเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ทำไร่ทำนา ภายหลังจึงได้ขยายขึ้นเป็นหมู่บ้านต่างๆ บริเวณนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำยมสะดวกในการขนส่งผลผลิต ไปค้าขายแลกเปลี่ยน และเวียงเหล่าเวียงก็เริ่มคับแคบ ประกอบกับเหตุผลสำคัญคือน้ำแม่กางเปลี่ยนเส้นทางเดินไหลผ่านบริเวณเวียงเหล่าเวียงทำให้น้ำท่วมทุกปี เมื่อพญาคำลิ่ม เจ้าเมืองลองถึงแก่อนิจกรรมในพ.ศ.๒๓๑๘ เจ้าหลวงกาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง(พ.ศ.๒๓๑๗ – ๒๓๒๕ และเป็นพระเจ้าเมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๕๘) ได้รับรองแต่งตั้งพญาชื่นสมบัติ(ต้นตระกูล “ชื่นสมบัติ”) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง ซึ่งมีญาติพี่น้องส่วนใหญ่ย้ายมาอยู่บริเวณบ้านดอนทรายในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองเมืองลองมาตั้งที่บ้านห้วยอ้อ

ลูกกระสุนปืนเหล็กโบราณ ขุดพบบริเวณวัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อย, ๒๕๕๓)

 

พระเจ้ากาวิละ (ที่มา : เจ้าหลวงเชียงใหม่)

(๓) เมืองลองช่วงที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๑๘ – พ.ศ.๒๔๔๒) เมืองลองรุ่นนี้ไม่มีการสร้างเวียง สันนิษฐานว่าเพราะจำนวนไพร่พลมีไม่มาก และการศึกสงครามในยุคนี้เมืองลองไม่ใช่เมืองยุทธศาสตร์ที่พม่าใช้รบกับกรุงธนบุรี หรือปราบปรามหัวเมืองล้านนา แต่กลายเป็นเมืองลี้ภัยสงครามจากต่างเมืองมาตั้งแต่ปลายยุคก่อน ดังปรากฏในตำนานปฐมมัชฌิมตำนานเมืองละคอร(ออกเสียงว่า “ละกอน”) และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า (พ.ศ.๒๒๗๒)“...ขุนแต่งเมือง(ลำปาง - ผู้เขียน) คือ ชะเรหน้อย แลท้าวลิ้นก่าน  นายน้อยธัมม์ แลชาวบ้านชาวเมืองละบ้านชองหอเรือนเสียหนีไพลี้อยู่เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองชาง(ออกเสียงว่า “เมืองจาง”)...” (พ.ศ.๒๓๐๙)“...เช็คคายสุริยะ แสนสุทน เมงกองจอ นายน้อยชุมพู ...พ่ายหนีไปหลบหลีกลี้อยู่แฅว่นเมืองลอง...” โดยหลังปีพ.ศ.๒๓๔๗ การศึกสงครามของล้านนาเริ่มเบาบางเมืองลองจึงเริ่มเฟื่องฟูอีกครั้ง เจ้าเมืองลองได้รับส่วนแบ่งไพร่พลและช่างฝีมือเมืองเชียงตุง เมืองเชียงแสน จากเจ้าผู้ครองนครลำปาง กลุ่มไทยเขินเมืองเชียงตุงนำโดยครูบาจองสูง(จอสุง) จันทวโร มีช่างต่างๆ ให้ตั้งฟื้นฟูชุมชนร้างบ้านไฮสร้อย และวัดบ้านกาง(บ้านร่องบอน) ส่วนกลุ่มชาวเชียงแสนนำโดยเจ้านายเมืองเชียงแสน ตั้งบ้านเรือนที่หมู่บ้านในตำบลห้วยอ้อ บ้านนาตุ้ม บ้านปากกาง(อำเภอลอง)มีช่างทอผ้าซิ่นตีนจกและบาง ส่วนกระจายอยู่บ้านแม่ป้าก(อำเภอวังชิ้น) ซึ่งปัจจุบันยังปรากฏการนับถือ “ผีเจ้าเชียงแสน” หรือ “ผีเจ้าฟ้าเชียงแสน” เป็นผีปู่ย่าแถบบ้านแม่ลานเหนือและบ้านแม่ลานใต้

พระพุทธรูปปูนปั้นของวัดพระธาตุ ไฮสร้อยที่สร้างโดยช่างเมืองนครเชียงตุง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

ด้วยเมืองลองเป็นเมืองปลอดภาษี มีการเกณฑ์ไพร่เป็นครั้งคราว และเจ้าผู้ครองนครลำปางนานทีจะเกณฑ์ครั้งหนึ่งหากงานใหญ่มากสุดเกณฑ์เพียง ๔๐ - ๕๐ คน ดังนั้นด้วยความเป็นอิสระอย่างสูงของไพร่ในเมืองลอง จึงดึงดูดให้ผู้คนจากต่างเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ดังเช่น ชาวเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน(หนีสงครามพม่าครั้งต่างๆ) เมืองลำปาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาตุ้ม บ้านนาอุ่นน่อง บ้านแม่ลอง ตำบลบ่อเหล็กลอง(อำเภอลอง) ชาวเมืองลำปาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านต่างๆ ใน ตำบลหัวทุ่ง ตำบลห้วยอ้อ ตำบลปากกาง ตำบลบ้านปิน และตำบลทุ่งแล้ง(อำเภอลอง) บ้านสบเกิ๋ง บ้านสบป้าก ตำบลแม่เกิ๋ง บ้านวังขอน บ้านวังกวาง และบ้านป่าคา ตำบลแม่พุง(อำเภอวังชิ้น) ชาวลาวเมืองเวียงจันทน์ ชาวเมืองหลวงพระบาง(ลาว,ขมุ) (หนีเข้ามาตอนสยามปราบเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ และเข้ามาทำป่าไม้) ที่บ้านห้วยอ้อ บ้านดอนทราย ตำบลห้วยอ้อ และบ้านนาอุ่นน่อง ตำบลหัวทุ่ง(อำเภอลอง) ชาวเมืองเชียงตุง(ไทเขิน ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเหนือ พม่า) ที่บ้านไฮสร้อย บ้านร่องบอน ตำบลปากกาง บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง บ้านนาอุ่นน่อง ตำบลหัวทุ่ง บ้านดอนทราย บ้านห้วย อ้อ บ้านดอนมูล ตำบลห้วยอ้อ(อำเภอลอง) บ้านแม่ป้าก(อำเภอวังชิ้น) และบ้านบ่อแก้ว(อำเภอเด่นชัย) ซึ่งบุตรหลานใช้นามสกุล เช่น และจ๋อย ซอมอย และพันนา เป็นต้น

ชาวไทลื้อ ที่บ้านแม่ลาน ตำบลห้วยอ้อ และบ้านนาอุ่นน่อง ตำบลหัวทุ่ง(อำเภอลอง) ชาวเมืองน่าน เมืองแพร่ ที่บ้านพร้าว บ้านท่าหลุก ตำบลปากกาง บ้านปิน ตำบลบ้านปิน(อำเภอลอง) ซึ่งบุตรหลานใช้นามสกุล เช่น แพร่น่าน, จากน่าน(“จากน่าน” ต้นตระกูลคือ “เจ้าน้อยขัติย์ เมืองนครน่าน), ทิน่าน, ธิน่าน, ใจน่าน, แก้วน่าน, บางน่าน และบังน่าน เป็นต้น ชาวเมืองลับแล ที่บ้านวังเลียง บ้านศรีดอนไชย ตำบลทุ่งแล้ง บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง บ้านหาดทรายคำ ตำบลปากกาง บางหมู่บ้านในตำบลแม่ปาน(อำเภอลอง) และหลายหมู่บ้านในอำเภอวังชิ้น ชาวเมืองเถิน เมืองศรีสัชนาลัย บางหมู่บ้านที่ตำบลสรอย(อำเภอวังชิ้น) และชาวกะเหรี่ยงที่อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงในพม่า เข้ามาตั้งหมู่บ้านแม่จองไฟ ตำบลห้วยอ้อ บ้านค้างตะนะ(ภายหลังแยกออกเป็นบ้านแม่แขม) บ้านแม่รัง ตำบลบ่อเหล็กลอง และตอนใต้บริเวณอำเภอวังชิ้นซึ่งปัจจุบันปรากฏมีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงจำนวน หลายหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโป่ง บ้านแช่ฟ้า บ้านนาฮ่าง บ้านแม่สิน บ้านสลก บ้านค้างใจ ตำบลแม่ป้าก, บ้านขุนห้วย บ้านป่าไผ่ บ้านแม่แฮด บ้านแม่ตื้อ บ้านค้างปินใจ และบ้านค้างคำปัน ตำบลแม่พุง

ช่วงนี้ชาวเมืองลองขยายตัวบุกเบิกพื้นที่ทำกินลงทางตอนใต้(อำเภอวังชิ้นปัจจุบัน) และข้าวัดพระธาตุแหลมลี่ขยับขยายพื้นที่ทำกินขึ้นมาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านนาหลวง พร้อมกับนำ “พระเจ้าฝนแสนห่า” หรือ “พระเจ้าสิกขี” พระพุทธรูปประจำเวียงพระธาตุแหลมลี่ ฆ้องหลวง  และนิมนต์ครูบาโพธิ วัดพระธาตุแหลมลี่ขึ้นมาด้วย เมืองลองยุคนี้จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วมีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่บ้านนาสาร บ้านดงลาน ตำบลบ้านปิน(อำเภอลอง) ลงไปจนถึงบ้านม่วงคำ บ้านแม่ขมิง บ้านแม่ขมวก ตำบลสรอย(อำเภอวังชิ้น) ทิศตะวันออกถึงบ้านบ่อแก้ว ตำบลไทรย้อย(อำเภอเด่นชัย) และทิศตะวันตกถึงบ้านแม่ลอง บ้านแม่แขม บ้านหนองแดง ตำบลบ่อเหล็กลอง(อำเภอลอง)

การเกณฑ์ไพร่ทำสงครามเมื่อพ.ศ.๒๔๘๕ (ที่มา : หจช, ถ่ายพ.ศ.๒๔๘๕)

 

พระเจ้าฝนแสนห่า วัดบ้านนาหลวง (ที่มา : บุญฤทธิ์ โพธิจันทร์, ๒๕๕๐)

 

อุโบสถวัดพระธาตุแหลมลี่ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

อาณาเขตเมืองลองในสมัยพญาไชยชนะชุมพู เป็นเจ้าเมืองลอง (พ.ศ.๒๓๙๘ – ๒๔๓๕) มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ดังได้มีการบันทึกเขตแดนเมืองลองไว้ว่า

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อแดนกับเมืองต้าที่หนองอ้อ

ทิศเหนือ ต่อแดนกับเมืองนครลำปางที่ผาลาด

ทิศตะวันออก ต่อแดนกับเมืองนครแพร่ที่หาดปาน (ฝ่ายเมืองแพร่ว่าที่ “วังเงิน”)

ทิศตะวันตก ต่อแดนกับเมืองเถิน

ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต่อแดนกับเมืองสวรรคโลก

ทิศใต้ ต่อแดนกับเมืองลับแล

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 07 •สิงหาคม• 2012 เวลา 09:16 น.• )