ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๗ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต ส่วนเมืองบริวารทั้ง ๓ ของเมืองลอง คือ เมืองตรอกสลอบ เมืองต้า และเมืองช้างสาร มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการดังนี้ คือ เมืองตรอกสลอบ แรกตั้งเมืองตรอกสลอบในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (พ.ศ.๑๘๐๑ – ๑๙๐๐) สันนิษฐานว่ามีไพร่พลจำนวนไม่มาก ชาวเมืองส่วนใหญ่ตั้งชุมชนภายในเวียงและรายรอบไม่ไกล ดังปรากฏโบราณสถานเพียงแห่งเดียวก่อด้วยศิลาแลงอยู่กลางเวียง ภายหลังแคว้นสุโขทัยถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรอยุธยาในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐) การค้าเส้นทางน้ำยมระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองลองและเมืองทางตอนบนจึงซบเซาลง ส่งผลให้เมืองตรอกสลอบที่หล่อเลี้ยงเมืองด้วยการค้าต้องชะงักและค่อยเสื่อมลง

กอปรกับบริเวณที่ตั้งเมืองมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยและเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ภายหลังสงครามครั้งใหญ่ระหว่างล้านนากับอยุธยาเมืองตรอกสลอบจึงสลายตัวลง ชาวเมืองตรอกสลอบได้อพยพขึ้นมาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองลอง ดังปรากฏมีกลุ่มคนที่นับถือผีอารักษ์ดอยอางหางหิ้น(ผีนายอาง)ผีเมืองตรอกสลอบเป็นผีปู่ย่ากระจายทั่วไปในเมืองลอง หลังจากเมืองตรอกสลอบร้างพื้นที่ส่วนนี้ได้กลายเป็นเขตป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นส่วนหางเมืองของเมืองลอง เริ่มมีการตั้งชุมชนขึ้นใหม่ประมาณพ.ศ.๒๔๐๐ เป็นต้นมาจากกลุ่มคนเมืองลองเข้ามาหาของป่าเพื่อค้าขายรวมตัวตั้งขึ้นเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านผางัวเลียและบ้านวังชิ้น ภายหลังตั้งแต่พ.ศ.๒๔๑๔ เป็นต้นมา จึงมีกลุ่มคนจากภายนอกแอ่งลองเคลื่อนย้ายเข้ามาด้วยปัจจัยการขยายพื้นที่ทำกิน หาของป่า และหลบหนีภาษี คือ ฝั่งตะวันออกแม่น้ำยมจากเมืองลับแล เมืองแพร่ ฝั่งตะวันตกแม่น้ำยมจากเมืองลำปาง เมืองศรีสัชนาลัย และส่วนตอนใต้จากเมืองเถิน ชาวพม่า ไทยใหญ่-ไทยเขิน และขมุที่เข้ามาทำป่าไม้ ได้ตั้งชุมชนร่วมกับคนกลุ่มใหญ่คือชาวเมืองลองที่เคลื่อนย้ายเข้ามาหาของป่าและบุกเบิกพื้นที่ทำกินอยู่ก่อน ดังปรากฏเมื่อเข้ามาตั้งชุมชนครั้งแรกก็สร้างโฮงไชย(ศาล)ผีพ่อเฒ่าหลวงขึ้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น และนับถือเป็นผีอารักษ์หลวงของอำเภอวังชิ้นมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีการนับถือผีอดีตเจ้าเมืองลองปรากฏอยู่ เช่น มีโฮงไชย(ศาล)ผีอาชญาปาน(พญาช้างปาน)ที่บ้านแม่พูน ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น และตระกูลผีปู่ย่าส่วนใหญ่ เช่น ผีเจ้าสิบสองเมือง ผีท้าวมหายศ ก็แบ่งสายผีมาจาก “เก๊าผี” มีศูนย์กลางที่เมืองลอง จนกระทั่งเปิดสัมปทานป่าไม้บริเวณนี้ในช่วงทศวรรษ ๒๔๒๐ ทำให้เกิดการขยายตัวทั้งเศรษฐกิจและจำนวนคนอย่างรวดเร็ว โดยพ.ศ.๒๔๔๒ มีจำนวน ๑๒ หมู่บ้านรวมเป็นแคว้น(ตำบล)วังชิ้น แขวงเมืองลอง เมื่อชุมชนขยายตัวมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บภาษีอากรและจัดการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศแยก ตำบลแม่ป้าก ตำบลนาพูน ตำบลวังชิ้น และตำบลสรอย อำเภอเมืองลอง รวมตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังชิ้นในปีพ.ศ. ๒๔๘๑ และตั้งเป็นอำเภอวังชิ้นพ.ศ.๒๕๐๑ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านวังชิ้น ซึ่งบริเวณนี้เดิมก็คือศูนย์กลางของเมืองตรอกสลอบที่ร้างไปเมื่อเกือบ ๕๐๐ ปี

ที่ราบสองฟากฝั่งแม่น้ำยมบริเวณวังชิ้น ถ่ายภาพจากบนพระธาตุดอยก๊อ (ที่มา : องค์การบริหารส่วนตำบลวังชิ้น)

 

ราบสองฟากฝั่งแม่น้ำยมบริเวณวังชิ้น (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

 

 

หอยเบี้ยและไหขุดพบที่ตำบลต้าผามอก (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

เมืองต้า การตั้งชุมชนของเมืองต้าในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐) หนาแน่นตั้งแต่เวียงปูลงมาถึงเวียงต้าในรัศมีประมาณ ๓ กิโลเมตรและกระจายลงมาถึงบ้านต้าผามอก ดังปรากฏซากวัดร้างกระจายตัวอยู่บริเวณนี้หลายวัด ได้แก่ วัดเขาควาย(ภายหลังสร้างเป็นวัดต้าม่อน), วัดโองโมงค์, วัดบ้านม่อน, วัดลายคำ(บริเวณบ้านต้าเหล่า), วัดจอมแจ้ง(บริเวณทิศตะวันออกบ้านต้าแป้น), วัดสบปุง(บริเวณทิศเหนือบ้านต้าแป้น), วัดข่าแห้ง และวัดปุงเหนียว(บริเวณทิศตะวันออกบ้านต้าม่อน) ประกอบกับปรากฏมีตำนานว่าใช้หน้าผาเป็นหมุดหมายว่ากำลังเข้าเขตเมืองต้าจึงเรียกว่า “ผามอก” เมืองต้าร้างเป็นระยะๆ เมื่อสถานการณ์ปกติก็ตั้งกลับเป็นเมืองขึ้นอีก ปรากฏการฟื้นฟูตั้งเมืองต้าครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ (พ.ศ.๒๑๐๑ – ๒๒๐๐) หลังจากร้างสมัยพญาอุปเสน เจ้าเมืองต้ารบกับพม่าพ.ศ.๒๑๐๑ และครั้งที่ ๒ เจ้าฟ้าหลวงชายแก้วสิงหราชธานี เจ้าฟ้านครลำปาง โปรดให้ตั้งเมืองต้าขึ้นใหม่ในพ.ศ.๒๓๑๕ หลังจากร้างเป็นระยะตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์อยุธยาทำลายเมืองและกวาดต้อนไพร่พลเมื่อหมื่นจิต เป็นเจ้าเมืองต้าในพ.ศ.๒๒๐๓ โดยตั้งขึ้นเพื่อเป็นเมืองหน้าด่าน ที่เลี้ยงช้าง และอุทยานพักผ่อนของเจ้าผู้ครองนครลำปาง การฟื้นฟูเมืองต้าครั้งนี้ได้เกณฑ์ไพร่พลจากนครลำปางและเมืองลองรวมกับชุมชนเดิมที่ตกค้าง และแต่งตั้งแสนสุภาเป็นเจ้าเมืองต้าคนแรก มีการบูรณะวัดต้าเวียงเป็นวัดหลวงของเมืองต้า ซึ่งกำหนดให้วัดต้าเวียงต้องกินข้าวสลากเป็นวัดแรกของเมืองต้าในเดือน ๑๒ เป็ง มีการฟื้นฟูพิธีเลี้ยงผีเมือง จัดระบบโครงสร้างการปกครองภายในเมือง และในพ.ศ.๒๓๔๗ เจ้าเมืองต้าได้ส่วนแบ่งชาวเมืองเชียงแสนที่นำโดยพญาคำแสนมาไว้ที่เมืองต้า ประกอบกับเมืองต้าใช้ระบบควบคุมไพร่และไม่มีการเก็บภาษีเช่นเดียวกับเมืองลอง ดังนั้นจึงมีผู้คนจากต่างเมืองอพยพเข้ามาจากเมืองลำปาง เมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองเชียงม่วน และเมื่อเปิดสัมปทานป่าไม้บริเวณนี้ประมาณพ.ศ.๒๔๒๐ เป็นต้นมา จึงมีชาวเมืองเชียงตุง พม่า ขมุจากลาวเข้ามาทำป่าไม้ตั้งชุมชนขึ้น เช่น ชาวเชียงตุงที่บ้านต้าม่อน ชาวพม่าที่บ้านใหม่พม่า(ใหม่โพธิ์ทอง) ฯลฯ ชุมชนจึงเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในพ.ศ.๒๔๔๒ มีจำนวน ๑๑ หมู่บ้านเป็นแคว้นเวียงต้า(เมืองต้า) แขวงเมืองลอง ภายหลังแยกออกมาตั้งตำบลต้าผามอก เมืองต้าจึงมีชุมชนหมู่บ้านตั้งเรียงรายตั้งแต่บ้านต้าแป้น(ตำบลเวียงต้า)ทิศเหนือ ลงมาถึงบ้านต้าปง บ้านอิม(ตำบลต้าผามอก)ทางทิศใต้

เมืองช้างสาร ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๐๐๑ – ๒๑๐๐) มีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นอยู่ ๒ กลุ่ม คือกลุ่มห้วยแม่สวกและกลุ่มห้วยแม่ลานรัศมีของการตั้งชุมชนประมาณ ๑๑ กิโลเมตร เป็นเมืองที่มั่งคั่งจากการเป็นแหล่งหล่อโลหะสำริด จุดรับและพักสินค้า มีผู้คนจากเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองพะเยา และเมืองเชียงแสนเข้ามาตั้งถิ่นฐานได้นำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น การก่อสร้างศาสนสถานการหล่อและแกะสลักพระพุทธรูปเข้ามาด้วย ถึงแม้ว่าการค้าขายเส้นทางแม่น้ำยมระหว่างเมืองสุโขทัย เมืองตรอกสลอบ เมืองลอง เมืองแพร่จะซบเซาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐) จนส่งผลให้เมืองตรอกสลอบล่มสลายลง แต่ทว่าการค้าเส้นทางบกที่ผ่านเมืองแพร่ เมืองช้างสาร เมืองลอง เมืองลำปางยังเฟื่องฟู ประกอบกับเมืองช้างสารมีแหล่งทรัพยากรสำคัญและมีช่างแขนงต่างๆ โดยเฉพาะช่างหล่อพระพุทธรูป ดังนั้นเมืองช้างสารจึงคงความเป็นเมืองมาอีกระยะหนึ่ง ก่อนล่มสลายลงพร้อมกับเมืองต้าในพ.ศ.๒๑๐๑ เมื่อเกิดสงครามกับพม่า ดังปรากฏชาวเมืองนำพระพุทธรูปและของมีค่าไปซ่อนไว้ในถ้ำต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปสำริดมีขนาดหน้าตักประมาณ ๕๐ เซนติเมตรจนถึง ๑ เมตรเศษ ภายหลังช่วงพ.ศ.๒๔๐๐ เป็นต้นมาได้อัญเชิญไว้ตามวัดต่างๆ ในอำเภอลอง(เมืองลอง เมืองต้า) ประมาณ ๔๐ – ๕๐ องค์ เช่น พระเจ้าตองหล่อ วัดดอนมูล, พระเจ้าฝนแสนห่า วัดพระธาตุศรีดอนคำ, พระเจ้าฝนแสนห่า วัดต้าปง, พระเจ้าคำแสน วัดใหม่พม่า, พระเจ้าแสนแซ่และพระเจ้าบัวหงาย วัดต้าเวียง ฯลฯ ส่วนของมีค่าอื่นๆ ที่ซ่อนไว้ในถ้ำปัจจุบันบางส่วนเก็บรักษาไว้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดสะแล่ง ชาวเมืองช้างสารบางส่วนภายหลังได้อพยพตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตำบลต้าผามอก ทางด้านเหนือ และบางส่วนอพยพลงใต้มาตั้งบริเวณบ้านนาสาร(ช้างสาร) บ้านปิน บ้านดงลาน ตำบลบ้านปิน

วิหารน้อยที่ได้จากในถ้ำบริเวณเมืองช้างสารเมื่อพ.ศ.๒๕๐๘  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

 

ผางประทีป(ตะคัน)สำริดขนาดใหญ่ขุดพบบริเวณ บ้านบ่อแก้วชุมชนทางทิศตะวันตกของเมืองช้างสาร (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองในแอ่งลอง - วังชิ้นและบริเวณรายรอบ

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 13 •สิงหาคม• 2012 เวลา 23:31 น.• )