ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๑๐ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การใช้ระบบผี(ผีปู่ย่า ผีเรือน ผีบ้าน และผีเมือง)ควบคุมสังคม ความเชื่อเรื่องผีมีมานานในคน “ไท” กลุ่มต่างๆ ผีเป็นศาสนาเก่าแก่ของคนในแถบนี้ก่อนจะนับถือพุทธศาสนา ลักษณะของพุทธศาสนาชาวล้านนาให้ความเคารพและศรัทธา แต่ผีนอกจากเคารพศรัทธาแล้วยังมีความกลัวและยำเกรงอีกด้วย ผีจึงทรงอิทธิพลและใกล้ชิดกับผู้คนมากดังบันทึกของชาวตะวันตกผู้เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาได้กล่าวถึงความเชื่อเรื่องผีของคนล้านนาว่า “...การนับถือผีไม่จำเป็นต้องมีวัด แต่อยู่ในใจของคนทุกคน...” เมื่อผีมีความผูกพันแนบแน่นกับโลกทัศน์และวิถีชีวิตของผู้คน ที่แม้แต่ตำนานพระธาตุแหลมลี่ก็ใช้ผีเป็นเครื่องมือรักษาศาสนสถาน

“...สูเจ้าทังหลายเยียะตาดูหูฟัง เอากันพิพักรักสามหาธาตุเจ้าไว้ตวงดีเทอะ แม่นว่า สัตต์ร้ายฅนร้ายบาปหนาจักมากะทำอนาธรหิงสาราวีดั่งอั้น สูท่านทังหลายจุ่งกะทำโทส แห่งเขา ฝูงควรตายค็จุ่งหื้อตาย ฝูงควรหื้อเปนอนตรายค็จุ่งหื้อเปนอนตราย ตายตามโทสเขาเทอะ...” ดังนั้นกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองจึงเลือกใช้ผีเป็นอีกวิธีหนึ่งในการควบคุมสังคม อันเป็น จินตภาพทางอำนาจรูปแบบหนึ่งซ้อนกันอยู่ระหว่างโลกวิญญาณกับโลกมนุษย์ ที่คอยกำกับชีวิตควบคุมความประพฤติของผู้คนและจัดระเบียบความสัมพันธ์ของหน่วยการปกครอง ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงเมือง ปริมณฑลอำนาจของผีมีลำดับศักดิ์เป็นชั้นๆ มีอำนาจตามระบบหน้าที่ซ้อนทับอยู่บนโครงสร้างการเมืองการปกครองทางกายภาพ

รูปปั้นแสนคำลือ ที่บ่อน้ำพระฤาษี (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

ผีปู่ย่า หรือ ผีหอผีเรือน เป็นบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วและเชื่อว่าจะกลับมาดูแลรักษาลูกหลาน ดังเมื่อขึ้นเรือนใหม่ต้องเชิญ “...ขึ้นทังกุมภัณฑาอารักข์ปู่ย่า ค็เพื่อว่าไว้กั้งก่าหอเรือนมูล เปนคุณหาประหมาณบ่ได้ ลือรอดใต้ปถวี...” หรือแม้แต่การทานพระเจ้าไม้(ถวายพระพุทธรูปไม้)ก็มีการ “...ทานไปหาอารักข์ปู่ย่า..” ด้วย ผีปู่ย่าจึงเป็นผีที่ใกล้ชิดผู้คนมากที่สุด สามารถติดตามลูกหลานไปได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง และคอยกำกับควบคุมดูแลให้ประพฤติตนตามกรอบที่สังคมพึงประสงค์ เช่น ไม่ให้หนุ่มสาวล่วงละเมิดภายในเรือน ไม่ให้คู่ผัวเมียหรือญาติพี่น้องทะเลาะกัน ดังคำสอนคู่บ่าวสาวตอนแต่งงานว่า “...เจ้าจุ่งมาพากันยะส้างตามแบบเบ้าโบราณ เจ้าอย่าได้บุบหอผี เจ้าอย่าได้ตีหิ้งถ้วย คันว่าผัวบุบชานเมียบุบถ้วย อันนั้นมันช่างแพ้ผีปู่ผีย่าแลเจ้าเหย...” หรือค่าวคำสอนว่า “...อันหมอเมื่อท้า ผีเรือนผิดใจ เพราะว่าวงส์ใย บ่ถูกบ่ต้อง แล้วไปชักผี นานาต่างห้อง มาเบียดเบียนฅวี ซะไซ้ บึดนึ่งค็หา เทียนงามดอกไม้ กับสวยหมากด้วย พลูงา สูมาถ้านเค้า แล้วยอมือสาน ไหว้วอนวาน ผีปู่ย่าเจ้า ขออย่าไปถือ ลูกแป้งลูกเหล้า แล้วก็วอนวาน ซะไซ้ แม่นผิดใจสัง ขอยกโทสไว้ เอาขันยื่นให้ สูมา...”

ผีปู่ย่าจึงช่วยจัดระเบียบ เชื่อม และรักษาความสัมพันธ์ของคนในเครือญาติหรือตระกูล มีที่นั่ง(ร่างทรง)เป็นสื่อกลางอำนาจผีปู่ย่ากับโลกมนุษย์ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยที่นั่งจะกลายเป็นผู้นำชุมชนตามธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับกลุ่มผู้ปกครอง ดังนครลำปางเมื่อเลี้ยงผีปู่ย่า(ผีเม็ง,ผีมด) เก๊าผีต้องบอกกล่าวเจ้าผู้ครองนครและจะได้รับช่วยอุปถัมภ์ ผีปู่ย่าจึงเป็นเครื่องมือควบคุมไพร่อีกวิธีหนึ่งของเมืองลอง ดังลูกหลานในสายผีจะออกบวชต้องได้รับการอนุญาตจากผีปู่ย่าก่อน สาเหตุที่ต้องควบคุมนอกจากทำให้ครอบครัวขาดแรงงานยังมีผลต่อกำลังแรงงานไพร่ของเมือง ผีปู่ย่าของแต่ละตระกูลจะมีการกำหนดวันเลี้ยงผีต่างกันไป เช่น บางตระกูลที่บ้านห้วยอ้อจะลงผี(ลงทรง)และเลี้ยงผีปู่ย่าในวันสังขานต์ล่อง บางตระกูลที่บ้านนาตุ้มจะลงผีและเลี้ยงผีปู่ย่าในวันปากปี ส่วนตัวอย่างตระกูลผีปู่ย่าในเมืองลอง เช่น ผีมหานิล มีเก๊าผีอยู่บ้านนามน, ผีนายอาง(ผีละอาง หรือ ผีดอยอาง หรือ ผีดอยอางหางหิ้น) มีเก๊าผีอยู่บ้านนาตุ้ม, ผีเจ้าคำฝั้น(ผีเจ้าศรีวิไชย) เก๊าผีอยู่บ้านนาตุ้ม, ผีท้าวพ่อลือ ผีซิ้วแหล้ เก๊าผีอยู่บ้านดอนมูล, ผีเจ้าเชียงแสน เก๊าผีอยู่บ้านแม่ลานเหนือ และผีท้าวคำลือ เก๊าผีอยู่บ้านดอนทราย เป็นต้น ซึ่งผีปู่ย่าหรือผีเรือนจะมีผีรองลงไปอีก เช่น ผีครู ผีปู่ย่าหม้อนึ่ง ผีหัวขั้นใด ผีข่ม(ธรณี)ประตู ฯลฯ

ตูบผีเจ้าที่ บ้านแม่ปาน (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

ผีเจ้าที่ คือผีที่รักษาข่วงบ้านมีปริมณฑลอำนาจวงกว้างกว่าผีเรือน นอกจากนี้พื้นที่อื่นๆ ก็มีผีเจ้าที่ที่เรียกต่างกันออกไปว่า ผีเจ้าวัด ผีเจ้านา ผีเจ้าไร่ หรือผีขุนน้ำ ผีเจ้าที่มาจากบุคคลหรือสัตว์สำคัญมาสิ้นชีวิตหรือมีวีรกรรมที่นั้น หรือเป็นผีที่ถือขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ผีตุ๊ปู่ ผีเจ้าวัดนาตุ้ม, ผีแม่นางแก้ว ผีเจ้าที่บริเวณแก่งหลวง, ผีแสนคำลือ ผีเจ้าที่บ่อน้ำพระฤาษี บ้านแม่สิน, ผีล่ามโสภา ผีนายจ่าบ้าน ผีหมื่นขุนหาญ ผีจ่าหญ้าช้าง ผีจ่าหญ้าม้า ผีเจ้านาทุ่งก๊างตุง บ้านนาไผ่, ผีปู่หมอเฒ่า ผีเจ้าที่ม่อนเสาหิน บ้านนาพูนพัฒนา หรือผีเซี้ยงเหมี้ยง ผีเจ้าป่าเฮ่ว (ป่าช้า) ฯลฯ ผีเจ้าที่จะช่วยจัดระเบียบและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เข้าไปใช้พื้นที่นั้นๆ ดังเช่น ผีเจ้าวัด ควบคุมการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณรให้อยู่ในวินัย ผีขุนน้ำ ช่วยจัดระเบียบการใช้น้ำและรักษาแหล่งต้นน้ำ ฯลฯ และอำนาจของผีเจ้าที่จะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับกลุ่มผู้ปกครอง ควบคู่ไปกับการใช้ผีเจ้าที่แสดงสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือพื้นที่ เช่น ผีเจ้านาของ พญาชื่นสมบัติ เจ้าเมืองลอง ที่ทุ่งฮ่องมั่ง บ้านนาม้อ ผีเจ้านาของพญาเววาทะภาษิต เจ้าเมืองลอง ที่ทุ่งหนองห้า บ้านนาจอมขวัญ และผีเจ้านาของเจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง ที่ทุ่งปู่เจ้าน้อยหรือทุ่งเก๊าค่าเจ็ดซอง บ้านนาตุ้ม ผีเจ้านาบริเวณนี้จะมีอำนาจมากเป็นที่ยำเกรงกว่าผีเจ้านาบริเวณอื่นของชาวบ้านทั่วไป ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณนี้

ผีเจ้าบ้าน คือผีอารักษ์หมู่บ้าน อาจเป็นผีดั้งเดิมก่อนเข้ามาตั้งชุมชน อดีตผู้นำ หรือ วีรบุรุษของหมู่บ้านเมื่อสิ้นชีวิตลงก็ได้ยกขึ้นเป็นผีเจ้าบ้าน เช่น ผีก๊างคำแสน บ้านแม่ป้าก ผีเจ้าใจดำ บ้านบ่อแก้ว ฯลฯ ปริมณฑลอำนาจจะเหนือกว่าผีเรือนและผีเจ้าที่ มีการผลิตซ้ำความเชื่อทุกปีด้วยพิธีกรรมดำหัวผีเจ้าบ้านช่วงปีใหม่หรือเมื่อมีการบนบานเหมือนกับผีระดับอื่นๆ ถือว่าผีเจ้าบ้านเป็นผีที่ควบคุมควบคู่กับหน่วยการปกครองหมู่บ้าน เมื่อคนภายในหมู่บ้านออกไปไกลค้างแรมที่อื่นนอกจากบอกแก่บ้านก็ต้องบอกกล่าวผีเจ้าบ้านด้วย ดังนั้นผีเจ้าบ้านนอกจากเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน ยังทำหน้าที่ควบคุมสมาชิกหมู่บ้านไม่ให้ทำผิดกฏระเบียบ ช่วยจัดระเบียบเชื่อมรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเครือญาติหรือกลุ่มตระกูลต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขภายในหมู่บ้านถึงแม้ว่าผีเจ้าบ้านตลอดถึงผีเจ้าที่ในเมืองลองไม่มีที่นั่งเป็นสื่อกลางเหมือนผีปู่ย่าและผีเมือง แต่ก็มีสัญลักษณ์แทน เช่น ตูบผี ต้นไม้ใหญ่ หรือจอมปลวก ฯลฯ

ผีขุนน้ำแม่ลอง ผีเจ้าบ้านนาตุ้มหมู่ ๒ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๗)

ผีเมือง เป็นผีที่มีศักดิ์สูงสุดและมีอำนาจแผ่กว้างใหญ่ไพศาลไปทั่วทั้งเมือง จะดูแลคุ้มครองปกปักรักษาทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดถึงบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมือง ผีเมืองนอกจากเป็นผีอารักษ์ที่รักษาสถานที่สำคัญของเมืองแล้ว เจ้าเมืองเมื่อสิ้นชีวิตก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นผีเมืองด้วย และผีเมืองจะเพิ่มขึ้นตามกลุ่มผู้ปกครองในยุคนั้นนับถือ โดยผีเมืองนอกจากเป็นการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ของหมู่บ้านต่างๆ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสำนึกร่วมของคนต่างชาติพันธุ์ให้มีสำนึกในความเป็นชาวเมืองลองร่วมกัน ดังกรณีของชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอยู่เสมอ จากการบันทึกในพ.ศ.๒๔๒๕ มีกะเหรี่ยงอาศัยภายในเมืองลองถึง ๑,๕๐๐ หลังคาเรือนซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา จึงสร้างสำนึกร่วมให้ชาวกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงผีเมือง(บ่อเหล็ก) โดยให้มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงแกนนำ(บ้านโป่ง)ประสานกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงอื่นๆ นำข้าวไร่มาให้ตีนจองรองบ่อบ้านนาตุ้มหมักเหล้า ซึ่งชาวเมืองลองก็ถือว่ากะเหรี่ยงเป็นตัวแทนของลัวะหรือแจ๊ะที่เคยอยู่ถิ่นนี้มาก่อน จึงเป็นวิถีสร้างสำนึกร่วมในความเป็นคนเมืองลองได้อย่างดี อีกทั้งผีเมืองยังเป็นแหล่งที่มาของอำนาจและความชอบธรรมประการสำคัญของการขึ้นเป็นเจ้าเมือง เนื่องจากผีเมืองก็คือผีปู่ย่าของเจ้าเมืองลอง จึงนำมาสู่การจัดลำดับศักดิ์ผีเมืองเพื่อให้ทำหน้าที่ตามระบบของตน และมีการจัดปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผีเมืองอยู่ตลอด เพื่อให้เชื่อมโยงเกื้อหนุนสิทธิธรรมอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองในช่วงเวลานั้นๆ สามารถแบ่งผีเมืองลองได้เป็น ๓ ยุค คือ

พ่ออุ้ยแม่อุ้ยชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่รัง อำเภอลอง (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

โฮงผีพ่อเฒ่าหลวงด้านเหนือหมู่บ้านไฮสร้อย (ที่มา : เมืองเวียงด้งนคร, ๒๕๔๘)

(๑) ผีเมืองลองยุคแรก (ก่อนล้านนา – พ.ศ.๒๐๓๐) ยุคแรกนี้ยังไม่มีการจัดระบบผีเมือง มีศูนย์กลางผีเมืองดั้งเดิมยังอยู่ที่ดอยบ่อเหล็กโดยมีผีพ่อเฒ่าหลวง(อารักษ์เจ้าเขาเหล็ก)เป็นผีที่มีศักดิ์สูงสุดของเมือง และเชื่อมอำนาจกับเมืองหริภุญไชยอีกชั้นหนึ่ง มีการนับถือญาติพี่น้องของพ่อเฒ่าหลวงเป็นผีเมือง และปรากฏมีการสร้างโฮงไชยผีพ่อเฒ่าหลวงไว้บริเวณข่วงหลวงของเวียงลอง ปัจจุบันชาวบ้านไฮสร้อยที่อาศัยภายในเวียงยังนับถือเป็นผีเจ้าบ้านและเลี้ยงผีทุกปี ผีเมืองลองที่มีศักดิ์รองลงมา คือ ผีแม่นางแก้ว อารักษ์กลางเวียงและแก่งหลวง และอารักษ์เจ้าสุมังคโล กับ อารักษ์เจ้าภูมมราธิโป อารักษ์เวียงพระธาตุแหลมลี่ นอกจากนี้เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองลองยุคนี้ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นผีเมือง คือ ผีอารักษ์เจ้าเชิญเมือง ผีอารักษ์เจ้าสิบสองเมือง และผีอารักษ์พญาหูหิ้น(เจ้าเป็กขะจา)

(๒) ผีเมืองลองยุคที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๓๐ – พ.ศ.๒๓๑๘) เจ้าเมืองลองยุคที่ ๒ ได้รับการสถาปนาเป็นผีเมือง คือ อารักษ์เจ้าหัวเมืองแก้ว อารักษ์ เจ้าช้างแดง อารักษ์เจ้าหัวขาว และอารักษ์เจ้าช้างปาน ยุคนี้มีการจัดระบบผีเมืองขึ้นแล้ว สันนิษฐานว่ามีการจัดระบบขึ้นหลังพญาช้างปานสิ้นชีวิตประมาณพ.ศ.๒๑๖๐ เป็นต้นมา เนื่องจากพญาช้างปานเป็นปฐมสกุลวงศ์เจ้าเมืองลองตั้งแต่ยุคนี้มาและได้ถูกยกขึ้นเป็นผีเมืองด้วย โดยที่ผีพ่อเฒ่าหลวงยังคงเป็นผีเมืองที่มีศักดิ์สูงสุดของเมืองลอง มีการจัดระบบผีเมืองดังนี้ คือ ภายในเวียง- ผีอารักษ์เจ้าหัวขาว กลางเมือง- ผีอารักษ์เจ้าหัวเมืองแก้ว ทิศเหนือ- ผีอารักษ์ท้าวด่านดงลาน ทิศใต้- ผีอารักษ์พญาหูหิ้น ทิศตะวันออก- ผีอารักษ์เจ้าช้างปาน ทิศตะวันตก- ผีอารักษ์เจ้าเชิญเมือง

(๓) ผีเมืองลองยุคที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๑๘ - ปัจจุบัน) เมื่อพญาชื่นสมบัติ เจ้าเมืองลอง ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งที่บ้านห้วยอ้อในพ.ศ.๒๓๑๘ ได้สร้างรั้วเหล็กและหอประจำ ๔ ทิศล้อมพระธาตุหลวงศรีดอนคำพงอ้อ เพื่อสถาปนาเป็นพระมหาธาตุกลางเมือง ได้จัดระบบผีเมืองลองให้ซับซ้อนขึ้นโดยมีผีพ่อเฒ่าหลวงอยู่สูงสุด คือ ผีอารักษ์เจ้ากุมภัณฑ์และผีอารักษ์เจ้าชินธาตุ รักษาพระธาตุศรีดอนคำ ผีอารักษ์เจ้าเลาคำ รักษากลางเมืองลองชั้นใน ผีอารักษ์พญามือเหล็ก(พญาข้อมือเหล็ก) รักษาทิศเหนือ หัวเมืองลองถึงเขตเมืองสองและเมืองนครแพร่ ผีอารักษ์พญาหูหิ้น รักษาทิศใต้ หางเมืองลองถึงเขตเมืองเถินและเมืองศรีสัชนาลัย ผีอารักษ์เจ้าช้างปาน รักษาทิศตะวันออกถึงเขตเมืองนครแพร่ ผีอารักษ์เจ้าเชิญเมือง รักษาทิศตะวันตกถึงเขตเมืองนครลำปาง ยุคนี้ผีเมืองลองบางตนได้ถูกปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะยกพญาข้อมือเหล็กผีรักษาเขตแดนเมืองต้ากับเมืองแพร่ขึ้นเป็นผีเมืองลอง เพราะหลังจากที่เมืองต้าร้างไปนานเมื่อได้ฟื้นฟูเมืองต้าในพ.ศ.๒๓๑๕ ขึ้นกับเมืองลอง จึงขยายขอบเขตผีเมืองทิศเหนือจากด่านดงลานไปถึงผาบ่อง(ผาผง) สันเขาแบ่งเขตเมืองต้ากับเมืองแพร่ เป็นการใช้อำนาจผีครอบคลุมเมืองต้าทางพื้นที่จินตภาพด้วย แต่ภายในเมืองต้าก็ยังมีความเชื่อว่าผีเมืองของเมืองต้าทุกตนจะขึ้นต่อผีเจ้าหลวงคำแดง ที่ถ้ำหลวงเชียงดาว เมืองเชียงใหม่ โดยผีเมืองของเมืองต้าจะมีโฮงไชยผีเมืองเป็นโฮงผีประจำเมืองอยู่ที่บ้านต้าเวียง ผีเมือง ได้แก่ ผีอารักษ์เจ้าแก้วฮองคอ ผีอารักษ์เจ้าพ่อเลียบเมือง ผีอารักษ์พญาอุปเสน(อดีตเจ้าเมืองต้า) ผีอารักษ์พญาคำแดง(อดีตเจ้าเมืองต้า) ผีอารักษ์พญาเจ็ดเมือง(อดีตเจ้าเมืองต้า) ผีอารักษ์พญาช้างงาปลี(อดีตเจ้าเมืองต้า) ผีอารักษ์พญาคำฟุ่น(อดีตเจ้าเมืองต้า) ผีอารักษ์เจ้าฟันดำ(อดีตนักรบเมืองต้า) และผีอารักษ์เจ้าข้อมือเหล็ก(อดีตนักรบเมืองต้า) ผีอารักษ์ทหารแก้ว รวมถึงผีเจ้าบ่อเหล็กต้า(เจ้าเหล็กต้า)ที่บ้านหัวฝายด้วย ชาวเมืองต้าจะใช้วัว ควาย และหมู หมุนเวียนกันไปในแต่ละปีเพื่อฆ่าเลี้ยงผีเมืองช่วงปีใหม่เดือน ๗ (สงกรานต์) เมื่อเลี้ยงผีเมืองต้าเสร็จแล้วหลังจากนั้นก็จะทำพิธีเลี้ยงผีระดับรองลงมาของเมืองต้า ได้แก่ เลี้ยงผีเจ้าบ้านของแต่ละหมู่บ้าน เช่น ผีเจ้าพรานเต้ ผีเจ้าพรานดำ ผีเจ้าบ้านต้าเหล่า ผีเจ้าปูหลุ่น ผีเจ้าปูเขียว และผีเจ้าก๋องลาง(ผี ๓ พี่น้องอดีตแม่ทัพเมืองต้า) ผีเจ้าบ้านต้าแป้น ฯลฯ เลี้ยงผีฝายน้ำแม่ต้า (ฆ่าไก่เลี้ยงผีครบสามปีจึงเลี้ยงด้วยหมู) และเลี้ยงผีปู่ย่า เช่น เลี้ยงผีพ่อขาว ผีแม่ขาว มีเก๊าผีอยู่บ้านเย็น(ต้าม่อน) หรือเลี้ยงผีและฟ้อนผีมดที่บ้านต้าเหล่า (ในอดีตมีลูกหลานสายผีเดียวกันเข้าทรงผีปู่ย่ามดฟ้อนประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน ใช้กลองเงี้ยวกับฆ้องอย่างละ ๑ ลูกตีประกอบการฟ้อนผีมด)

โฮงไชย(ศาล)ผีพ่อเฒ่าหลวง ผีอารักษ์หลวงเมืองลอง บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

 

พระธาตุศรีดอนคำเมื่อพ.ศ.๒๔๙๕ สังเกตหอพระพุทธรูปด้านทิศเหนือของพระธาตุเป็นศิลปะแบบพม่า-ไทใหญ่(ที่มา : ตำนานวัดพระธาตุศรีดอนคำและประวัติเมืองลอง)

ขณะเดียวกันในยุคนี้เมืองลองได้สถาปนาเจ้าเลาคำ อดีตเจ้าเมืองและบรรพบุรุษของเจ้าเมืองลอง ขึ้นเป็นผีอารักษ์กลางเมืองชั้นใน ส่วนหมื่นชินธาตุผู้ร่วมกับครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะนำชาวเมืองลอง สร้างพระธาตุศรีดอนคำจนสำเร็จเมื่อพ.ศ.๒๒๑๕ เมื่อสิ้นชีวิตชาวเมืองได้นับถือเป็นผีอารักษ์เจ้าชินธาตุ ผู้รักษาองค์พระธาตุศรีดอนคำร่วมกับเจ้ากุมภัณฑ์ ซึ่งเจ้ากุมภัณฑ์เป็นรูปปั้นในหอประจำทิศด้านทิศใต้ ขณะหอประจำทิศอีก ๓ หอประดิษฐานพระพุทธรูป จึงแสดงถึงการกำหนดให้พระธาตุศรีดอนคำเป็นเขาพระสุเมรุแกนกลางจักรวาลเมืองลองอย่างชัดเจน เพราะเจ้ากุมภัณฑ์ก็คือท้าววิรุฬหะเป็นผู้รักษาทวีปทิศใต้มีกุมภัณฑ์เป็นบริวาร และข้างฐานพระธาตุด้านทิศตะวันออกยังมีรูปปั้นแม่นางธรณี เสมือนเป็นผู้รักษาผืนแผ่นดินจักรวาลเมืองลอง กอปรกับพื้นที่จุดนี้เดิมเป็นศูนย์รวมความเชื่อผีของชุมชนบริเวณนี้ ดังก่อนสร้างพระธาตุซ้อนทับลงไปมีต้นหมากแงและต่อมาคือต้นสัก และยังสะท้อนในพิธีเลี้ยงผีอารักษ์เจ้ากุมภัณฑ์ แม้อยู่ในวัดอดีตก็พลีกรรมด้วยสัตว์หรือสมัยโบราณก็เล่าว่าใช้มนุษย์ด้วย ตลอดถึงต้นสะหรีลังกา(ต้นโพธิ์)บริเวณใกล้พระธาตุอันเป็นต้นไม้ทางพุทธศาสนา ก็มีผีพ่อหนานคำปันหรือเจ้าสะหรีลังการักษาอยู่เมื่อสถาปนาระบบผีเมืองขึ้น ผีประจำแต่ละทิศก็จะควบคุมผีเจ้าบ้าน ผีเจ้าที่ และผีเรือนเป็นลำดับชั้น ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงถึงผีรักษาแดนเมือง คือ ผีอารักษ์ผาหลักหมื่น รักษาเขตแดนเมืองลองกับเมืองแพร่(อ.เด่นชัย) ผีอารักษ์พญาข้อมือเหล็ก เขตเมืองต้ากับเมืองแพร่ และผีเจ้ามโนระสีกับบริวาร(ผาช้างมูบ ผาเต่าระสี) เขตเมืองลองกับเมืองลำปาง ซึ่งยุคจารีตไม่มีการขีดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างเมืองอย่างชัดเจนเหมือนยุครัฐชาติ เมืองลองเพิ่งมีการฝังหลักปักปันกำหนดเขตแดนชัดเจนในพ.ศ.๒๔๔๒ เดิมจึงปลูกต้นไม้เป็นไม้หมายแดนเมืองหรือใช้สิ่งธรรมชาติ เช่น ปลูกไม้รวกและใช้หนองม้าแบ่งเขตเมืองลองกับเมืองนครลำปาง (หนองม้าอยู่ยอดกลางสันเขามีน้ำไหลตกเป็นลำห้วยสองสาย โดยสายทางทิศตะวันออกมาเมืองลอง ส่วนสายทิศตะวันตก(ห้วยแม่กาง)ไปทางเมืองลำปาง นอกจากนี้ก็ใช้ผาลาดแบ่งเขตเมืองลองกับลำปาง ส่วนเขตต่อแดนกับเมืองแพร่ใช้หาดปาน) ดังนั้นผีอารักษ์แดนเมืองจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญอันแสดงถึงเขตเปลี่ยนผ่านทางอำนาจของพื้นที่ เมื่อชาวเมืองจะออกนอกเมืองหรือกลับเข้าเมืองจึงต้องบอกกล่าวและมีสัญลักษณ์ เช่น เอาใบไม้เอาหญ้าไปวางไว้ที่ผาช้างมูบผาเต่า หรือเอาก้อนหินไปวางไว้ที่ผาบ่องใกล้หอผีพญาข้อมือเหล็ก เป็นต้น

อารักษ์เจ้ากุมภัณฑ์ผู้รักษาพระธาตุศรีดอนคำ (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๐)

 

 

 

ศาลเจ้าพ่อพญามือเหล็ก(พญาข้อมือเหล็ก) ที่ตำบลต้าผามอก อดีตคือเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างเมืองต้าหรือเมืองนครลำปางกับเมืองนครแพร่ ปัจจุบันคือเส้นเขตแดนระหว่างอำเภอลองกับอำเภอเมืองแพร่ (ที่มา : ภูวดล  แสนสา, ๒๕๕๔)

 

พระธาตุหลวงฮ่องอ้อ (พระธาตุสะหรีดอนคำปงอ้อ หรือ พระธาตุศรีดอนคำ) ถ่ายจากประตูวัดด้านทิศใต้สังเกตมีหอผีอารักษ์เจ้ากุมภัณฑ์ติดกับรั้วของพระธาตุ (ที่มา : หจช, ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๔๕)

ผีเมืองจึงมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของชาวเมือง โดยเฉพาะ “พ่อเฒ่าหลวง” ผีอารักษ์สูงสุดผู้ดูแลรักษาบ่อเหล็ก นอกจากจะเน้นย้ำความสำคัญในพิธีกรรมเลี้ยงผีเมืองทุกปีที่ชาวเมืองทุกหลังคาเรือนต้องมีส่วนร่วม อาวุธและก้อนแร่เหล็กที่เรียกว่า “ตับเหล็ก” ก็เป็นสื่อสัญลักษณ์ของ ผีเมืองใกล้ชิดกับชาวเมืองลองทุกคน ดังมีความเชื่อว่าอาวุธที่ทำด้วยเหล็กลองมีความศักดิ์สิทธิ์มีไว้ในบ้านเรือนจะป้องกันโจรขโมยและผีร้าย หรือก้อนตับเหล็กก็นิยมพกติดตัวเพราะเชื่อว่าอยู่ยงคงกระพัน กันตู้(คุณไสย)และคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยจากภยันอันตรายทั้งปวง แทบทุกหลังคาเรือนจะเอาใส่ไว้ในหม้อน้ำดื่มเพราะเชื่อว่าจะทำให้น้ำเย็น อีกทั้งใช้ฝนเป็นยาร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ยาแก้กินอาหารผิด แสลง แก้พิษ และยาผีโป่ง ฯลฯ

ตับเหล็กของเมืองลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

ผีเมืองลองจึงส่งการรับรู้ผ่านทั้งอาวุธและก้อนแร่เหล็ก ที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นสื่อสัญลักษณ์รูปธรรมเข้าถึงชาวเมือง นอกจากนี้ยังมีนาผีเมือง(ทุ่งแม่ขาว)ที่ชาวเมืองลองสามารถยืมข้าวมาบริโภคในยามขาดแคลน ดังนั้นผีเมืองจึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจชาวเมือง สะท้อนจากเมื่อมีการทำบุญต่างๆ ในเมืองลอง ปู่อาจารย์(มัคทายก)แต่ละหัววัดก็จะเป็นผู้นำชาวบ้านอุทิศบุญกุศลให้ผีเมือง ดังปรากฏคำโอกาสเวนทานของวัดต่างๆ ในเมืองลอง ดังนี้

ดาบเหล็กลองรูปแบบต่างๆ บางด้ามสามารถหักทบงอหรือม้วนได้ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๔)

คำโอกาสเวนทานของพระธาตุศรีดอนคำ (ฉบับของพ่อหนานคนึง(คำมูล) บุญส่ง) “แม่นว่ากุศลบุญราสีมีหลายหลาก มูลละสัทธาจักอยาดน้ำอุทิสไพหาเทพาอารักข์ อันรักสาเมืองลองแก้วกว้าง หมายมีอารักข์เจ้าเชิญเมืองตนใจหาญ มีทังอารักข์เจ้าช้างปานตนใจห้าว เรืองไรอะคร้าว มีทังตนด่านด้าวดงลาน อันปริวารหลายเอนก มีทังอารักข์ เจ้าเขาเหล็กตนใสส่องแจ้ง มีทังท่งแล้งแลเจ้าสิบสองเมือง แลจอมเชียงชื่นชื่อดอยอาง เจ้าจอมผางค์ชื่อหูหิ้น มีทังท้าวสะหรู่อู่คำแดง พรหมธาตุสุดที่เท้ามีเจ้ากุมภัณฑ์แลเจ้าเลาคำ แม่เจ้าจามเทวีตนหื้อกำเนิดเวียงไชย ขอจุ่งมารับเอากุศลผลบุญแด่เทอะ”

คำโอกาสเวนทานของวัดนาตุ้ม (ฉบับพ่อหนานบุญศรี ลำเต็ม บ้านนาตุ้ม สืบมาจากพ่อหนานจันทร์ ตาอินทร์ และพ่อหนานจันทร์ ตาอินทร์สืบมาจากพ่อหนานใจ จาอาบาล บ้านนาตุ้ม) “แม่นว่ากุศลบุญราศีมีหลายหลาก มูลศรัทธาจักอยาดน้ำอุทิศไปหาเตปาอาฮักษ์ อันฮักษาเมืองลองแก้วกว้าง หมายมีพญาจ๊างป๋านต๋นเรืองไรอะคร้าว มีตังท่านต๊าวอยู่ดงลาน มีปริวารหลายอเนก มีตังเจ้าขอเหล็กต๋นใสส่องแจ้ง ต่งแล้งจื่อสิบสองเมือง จ๋อมเจียงจื่อหูหิ้น มีตังต๊าวสะหรู่อู่ปูคำแปง มีตังเจ้าอาฮักษ์จ๊างแดงต๋นเป๋นใหญ่ โสสะมังก๊ะโล พรหมนาทีโป๋ นิโลคำต๋นจ๋ำนำน้ำหยาด มีตังชินะธาตุกุมภัณฑ์ ขอราธนาอังเจิญเจ้าตังหลายดอยอางข่างจ๋อมฝาง อนุโมทนาในกาละบัดนี้แด่เต๊อะ”

คำโอกาสเวนทานของวัดแม่ลานใต้ (ฉบับพ่อหนานยอด ปัญญาทอง สืบมาจากพ่อหนานศรีมูล สุภาแก้ว และพ่อหนานศรีมูล สุภาแก้วสืบมาจากพ่อหนานจุ๋มป๋า บ้านดอนมูล) “ต๋ามดั่งผู้ข้าน้อยตังหลายจักอุทิศะส่วนบุญอันนี้ ไปหายังเจ้าเจ็ดต๋นอันฮักษายังเมืองลองเก่าเล่าเมินนาน มีตังเจ้าเจนเมืองต๋นใจ๋หาญ มีตังเจ้าพญาป๋านต๋นรุ่งเรืองไรอาคร้าว มีตังท่านต๊าวอันอยู่ดงลาน มีปริวารหลายอเนก มีตังเจ้าเขาเหล็กต๋นใสส่องแจ้ง ต่งแล้งจื่อว่าสิบสองเมือง จ๋อมเจื่องจื่อว่าดอยอาง จ๋อมฝางจื่อว่าหูหวิ้น มีตังต๊าวสะหรู่อู่คำแปง มีตังอาฮักษ์เจ้าจ๊างแดง โสสุมังก๊ะโล พรหมนาทีโป๋ มีตังเจ้าเลาคำ ต๋นจำน้ำหยาด มีตังเจ้าชินะธาตุแลกุมภัณฑ์ ขอจุ่งหื้อเจ้าตังหลายจุ่งจักมาภัตต๋าอนุโมทนาตานกับด้วยเจี่ยงเจ้า เก๊าเหง้ามูลละศรัทธาตังหลายเสี้ยงจุ๊ต๋นจุ๊พระองค์นั้นจุ่งจักมีเตี่ยงแต๊ดีหลี”

คำโอกาสเวนทานของวัดนาหลวง (ฉบับของพ่อหนานปัญญา อุ่นใจ สืบทอดมาหลายรุ่นจากครูบาศรีทิ(สีธิ) วัดนาหลวง(ภายหลังเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ)) “มีอาฮักษ์เจ้าเจนเมืองต๋นใจ๋หาญ มีอาฮักษ์เจ้าจ๊างป๋านต๋นเรืองไรอะคร้าว มีตังอาฮักษ์ท่านท้าวอันอยู่ดงลาน มีปริวารหลายอนันต์อเนก มีอาฮักษ์เขาเหล็กแลตังหมื่นด้ง มีตังอาฮักษ์สิบสองเมือง จ๋อมเจื๋องชื่อดอยอาง จ๋อมฝางชื่อหูหิ้น เจ้าสะหรู่อู่คำแปง มีตังอาฮักษ์เจ้าจ๊างแดงแลพญาเมืองแก้ว อันเป๋นที่แล้วคือแม่นางแก้วจ๋อมเจื๋อง แลพรหมราทีโป๋ ครูบาจิ๊โน(ชิโน)ต๋นเป๋นเจ้า แลเทวดาตังหลาย”

จากระบบการควบคุมสังคมในเมืองลองที่ใช้ทั้งพุทธและผี จึงทำให้กำเนิดประเพณี ๑๒ เดือนของเมืองลอง ที่ชาวเมืองได้ผลิตซ้ำกระทำตลอดทุกปีและกลายเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิต คือ

เดือนเกี๋ยง กินข้าวสลาก วัดดอนมูล(ศรีดอนมูล)เป็นหัววัดสุดท้าย

เดือนยี่ ขึ้นพระธาตุหลวงฮ่องอ้อ(ไหว้พระธาตุศรีดอนคำ)

เดือน ๓ เข้าบ่อเหล็ก(เลี้ยงผีเมือง)

เดือน ๔ ขึ้นพระธาตุไฮสร้อย ทานข้าวใหม่น้ำใหม่ และทานหลัวหิงหนาวพระเจ้า

เดือน ๕ ขึ้นพระธาตุขวยปูและขึ้นพระธาตุปูตั้บ

เดือน ๖ ขึ้นพระธาตุแหลมลี่(ล่องวัดเดือน ๖)

เดือน ๗ เลี้ยงผีปู่ย่า ผีเจ้าบ้าน สรงน้ำพระธาตุองค์ต่างๆ จิบอกไฟ และปีใหม่(วันปากปีสรงน้ำพระธาตุหลวงฮ่องอ้อและวันปากเดือนสรงน้ำพระเจ้าแก้ว)

เดือน ๘ ขึ้นไหว้สาพระธาตุองค์ต่างๆ งานปอยเป็กข์ตุ๊บวชพระ

เดือน ๙ หับบ่อเหล็ก(เลี้ยงผีเมือง) เลี้ยงผีขุนน้ำ ขึ้นผีฝาย

เดือน ๑๐, ๑๑ เข้าพรรษา(ผู้เฒ่าผู้แก่พาลูกหลานไปนอนฟังธรรมจำศีลที่วัดทุกวันพระ)

เดือน ๑๒ กินข้าวสลาก วัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นหัววัดแรก

ประเพณีกินข้าวสลาก(ทานก๋วยสลาก)ของชาวเมืองลอง (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๐)

สัมพันธภาพระหว่างพุทธและผีกับการจัดปริมณฑลของเมืองลอง พุทธและผีที่นำมาสร้างความเป็นเมืองลอง มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวเมืองจนกลายเป็นประเพณี ๑๒ เดือนที่ต้องปฏิบัติตลอดทั้งปี ความเป็นพุทธกับผีจึงมีการเชื่อมโยงและอยู่ร่วมกันภายใต้ความเป็นเมืองลอง เนื่องจากผีเป็นคติความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนก่อนพุทธศาสนาจะเข้ามา ผีจึงมีอิทธิพลต่อความเป็นเมืองในหุบเขาของเมืองลองมาก ดังมีหน่วยปริมณฑลอำนาจของผีเป็นลำดับชั้นควบคู่กับหน่วยทางการปกครองของบ้านเมือง ภายหลังเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาได้พยายามสถาปนาความเป็นพุทธเข้าทาบทับและประสานผีเข้าไว้ อย่างกรณีบริเวณที่ตั้ง พระธาตุสำคัญของเมืองลองล้วนเคยเป็นศูนย์กลางความเชื่อผีของชุมชนมาก่อน เช่น บริเวณวัดพระธาตุแหลมลี่เป็นไร่ของเจ้าเมืองลอง หรือพระธาตุศรีดอนคำเป็นที่นาของเจ้าเมืองลอง ฯลฯ

เตรียมเครื่องสังเวยในพิธีเลี้ยงผีบ่อเหล็กลอง (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๔๗)

 

“น้ำขอกปากบืด” หรือกระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำ ใช้ในพิธีเลี้ยงผีบ่อเหล็กลอง (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๔๗)

การประสานกันระหว่างพุทธกับผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เห็นชัดเจน คือ มีผีอารักษ์หรือ ผีเจ้าวัดที่เป็นผู้รักษาสมบัติของพระศาสนาทั้งพระธาตุ ศาสนสถาน และวัด มีต้นไม้ใจเมืองที่มี ผีอารักษ์รักษาตั้งอยู่คู่กับพระธาตุใจเมืองภายในวัดหลวงหรือพื้นที่กัลปนา หรือประเพณีขึ้น(ไหว้) พระธาตุแหลมลี่ ที่ต้องบอกกล่าวให้ผีบ้านผีเมืองลองทุกตนเข้าร่วมด้วยเชื่อว่าหากไม่ทำจะผิดผีบ้าน ผีเมือง และบริเวณวัดพระธาตุแหลมลี่นี้ถึงแม้จะเป็นเวียงทางพุทธศาสนาแต่ก็มีผีอารักษ์รักษาอยู่ ปัจจุบันทัศนคติของชาวเมืองลองก็ยังคงมองว่าวัดพระธาตุแหลมลี่เป็นสถานที่ลี้ลับ หากจะเข้าไปทำบุญต้องสำรวมระวังจะกระทำ “ผิดผี” “ขึด” ในพื้นที่นี้ไม่ได้ เพราะอาจได้รับการลงโทษจากผีอารักษ์จนถึงแก่ชีวิต และพุทธกับผีจะอยู่ด้วยกันภายใต้การอุปถัมภ์ของกลุ่มผู้ปกครองโดยพุทธมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ส่วนผี มีเจ้านาย ขุนนาง เก๊าผี หรือปราชญ์ท้องถิ่นเป็นผู้นำ ซึ่งผู้นำความเชื่อผีเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เคยผ่านการบวชเป็นภิกษุสามเณรในพุทธศาสนามาก่อน

พุทธและผีที่ประสานสัมพันธภาพระหว่างกันของเมืองลอง จะมีความเข้มข้นมากน้อยไปตามแต่ละปริมณฑล ในบริเวณส่วนกลางเมืองลองที่เป็นศูนย์กลางการปกครองและพุทธศาสนา จะเป็นพื้นที่ของพุทธที่เข้มข้นและมีผีผสมผสานอยู่ แต่ในส่วนปริมณฑลที่ห่างไกลออกไปจากศูนย์กลางของเมืองลอง โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนของเมืองหรือส่วนบริเวณหางเมืองลองอันเป็นที่ตั้งของบ่อเหล็กและพื้นที่ป่าผืนใหญ่ จะเป็นปริมณฑลที่มีอำนาจของพุทธเบาบางแต่อำนาจของผีมีความเข้มข้น เนื่องจากผีเป็นผู้รักษา จัดระเบียบ และควบคุมทั้งขอบเขตและทรัพยากรของบ้าน เมืองจึงทำให้ปริมณฑลบางส่วนพุทธศาสนาแผ่เข้าไปไม่ถึง ที่ชัดเจนคือปริมณฑลบ่อเหล็กลอง(ประมาณ ๑๐๐ กว่าไร่)จะเป็นพื้นที่ปลอดพุทธศาสนา คือห้ามนักบวชพระสงฆ์สามเณรเข้าไปในพื้นที่หรือเข้าร่วมพิธีกรรมเลี้ยงผีเมือง(บ่อเหล็กลอง)โดยเด็ดขาด เชื่อว่าจะทำให้ผีบ้านผีเมืองไม่พอใจจนดลบันดาลทำให้บ้านเมืองแห้งแล้งเกิดความไม่สงบสุข ตลอดจนเชื่อว่าผีชอบกินพระสงฆ์สามเณรหรือที่ภาษาผีเรียกว่า “กล้วยค้าว” ที่แม้ปัจจุบันอนุโลมบ้างแต่เมื่อจะประกอบพิธีกรรม ต้องนิมนต์นักบวชพระสงฆ์สามเณรออกจากปริมณฑลอาณาเขตบ่อเหล็กลอง

จากปริมณฑลการใช้พื้นที่ของเมืองลอง ผ่านระบบความเชื่อทางพุทธและผีแสดงให้เห็นว่าผีมีอิทธิพลต่อความเป็นเมืองในหุบเขาของเมืองลองแบบจารีต ที่สามารถแทรกซึมเข้าไปทุกตำแหน่งแห่งหนในปริมณฑลของเมืองลอง แต่พุทธศาสนาเป็นความเชื่อใหม่ที่เข้ามาภายหลังและมีลักษณะเป็นปรัชญาขั้นสูงของการดำเนินชีวิต จึงสามารถเข้ามีอิทธิพลสูงเฉพาะบริเวณศูนย์กลางการปกครอง ที่ควบคู่กับการเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของเมือง อันเป็นบริเวณที่กลุ่มผู้ปกครองมีอำนาจเข้มข้นอยู่แล้ว และเจ้าเมืองต้องสร้างสิทธิธรรมโดยการเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา แต่เมื่อปริมณฑลที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองออกไปมากขึ้นเท่าใด พุทธศาสนาก็ยิ่งมีอำนาจเบาบางลงมากขึ้นเท่านั้นตามอำนาจของกลุ่มผู้ปกครอง แต่ทว่าพื้นที่สำคัญที่มีแร่ธาตุหรือเขตแดนเมืองที่ต้องแสดงสิทธิธรรมความเป็นเจ้าของเป็นพิเศษ ของทั้งกลุ่มผู้ปกครองและชาวเมือง จึงต้องอาศัยอำนาจผีที่ผู้คนเกรงกลัวให้เป็นพื้นที่ของผีมีอำนาจเข้มข้นหรือเต็มขั้น

ดังนั้นปริมณฑลของเมืองลองแบ่งตามคติความเชื่อพุทธและผีได้ชัดเจนเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนปริมณฑลของ “เมือง”(ศูนย์กลาง) จะเป็นพื้นที่ของพุทธประสานอยู่ร่วมกันกับผี กับส่วนปริมณฑลของ “ป่า”(นอกศูนย์กลาง) หรือปริมณฑลที่ต้องการเน้นย้ำสิทธิธรรมการเป็นเจ้าของเป็นกรณีพิเศษ จะเป็นพื้นที่ของผีโดยปลอดจากพุทธศาสนา

หมื่นกลางโฮง แสนบ่อ และพ่อเมือง กำลังถวายเครื่องสังเวยที่หอผีบ่อเหล็กลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๗)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 03 •กันยายน• 2012 เวลา 22:27 น.• )