ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๒๒ ด้านสังคม สังคมเมืองลองได้เปลี่ยนเป็นยุคใหม่ มีเงื่อนไขสำคัญคือการสถาปนาระบบราชการแบบใหม่โดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กษัตริย์สยาม พร้อมกับยกเลิกเจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส ที่เป็นโครงสร้างเดิมของเมืองลองยุคจารีต ในเมืองนครประเทศราชทั้ง ๕ สยามได้ลิดรอนอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่กรณีหัวเมืองขึ้นอย่างเมืองลองเป็นลักษณะ “ริบอำนาจ” แทนการ “ลิดรอนอำนาจ” กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองโดยเฉพาะเค้าสนามได้ถูกกันออกจากระบบราชการของสยาม จึงเท่ากับเป็นการถอดออกจากตำแหน่งทั้งโครงสร้าง แล้วให้มีกลุ่มข้าราชการสยามทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองแทน กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองจึงถูกลดสถานะลงอย่างฉับพลัน ประกอบกับ “ไพร่” หรือ “ชาวเมือง” กลายเป็นพสกนิกรของกษัตริย์สยามไม่ได้เป็นไพร่ของเจ้าเมืองลองอีกต่อไป ซึ่งก็แสดงถึงสถานะ การเป็น “เจ้าชีวิต” ความมีอำนาจราชศักดิ์ของเจ้าเมืองลองได้ล่มสลายลงไปในชั่วพริบตาอีกด้วย

สถานภาพทางสังคมที่เจ้าเมืองลองและขุนนางคงมีอยู่ คือในด้านทำนุบำรุงพุทธศาสนาและจารีตประเพณีของบ้านเมือง จึงเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่เหลือไว้ให้กลุ่มอำนาจเก่า ดังปรากฏเจ้าเมืองลองและขุนนางยังเป็นผู้นำประกอบพิธีการของบ้านเมือง เพราะในระยะแรกกรมการแขวงชาวสยามมีอำนาจหน้าที่หลักในด้านการปกครองและจัดเก็บภาษี จึงไม่ปรากฏเข้าร่วมหรือเป็นผู้นำในด้านนี้เลย เพิ่งปรากฏหลักฐานกรมการแขวงเมืองลองเข้าร่วมในพ.ศ.๒๔๖๔ ส่วนชาวเมืองก็ยังคงมีความเคารพกลุ่มผู้ปกครองเดิมอยู่ ดังพญาราชสมบัติ พ่อเมืองลองคนสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่ถึงช่วงพ.ศ.๒๔๖๖ เล่าสืบมาว่าวันปีใหม่ชาวเมืองยังไปรดน้ำดำหัวจนน้ำมะกรูดส้มป่อยไหลนองเต็มใต้ถุนเรือน หรือแสนท้าวหมื่นทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็ไปรดน้ำดำหัวเช่นกัน ซึ่งได้กลายเป็นธรรมเนียมที่ชาวบ้านต้องรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่บ้านและกำนันที่ปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะประเพณีการเลี้ยงผีเมืองลองที่คนทุกชนชั้นในเมืองลองจะต้องเข้าร่วม ยังเป็นพื้นที่แสดงบุญบารมีของเจ้าผู้ครองนครลำปางและเจ้าเมืองลอง ดังปรากฏลำดับพิธีกรรมว่า “วันออก ๒ ค่ำเดือน ๓ เจ้าหลวงพร้อมกับเจ้านายเมืองละกอนจะมาพักที่คุ้มวังถ้ำ กลางน้ำ(บ้านนาตุ้ม หมู่ ๒) เจ้าเมืองลองแสนท้าวก็มาเข้าเฝ้าอยู่โตย แสนช่างม่วนเป็นหัวหน้าช่างม่วนแห่ดนตรีปี่ซอที่คุ้ม และหมื่นกลางโฮงเป็นหัวหน้าช่างม่วนตีฆ้องตีกลองแห่ที่โฮงไชยผีพ่อเฒ่าหลวงแห่หมดทั้งคืน ถึงเมื่อเช้าออก ๓ ค่ำเดือน ๓ ก็แหนแห่กั๋นขึ้นไปเลี้ยงผีบ่อแฮ่ตังวันตกบ้าน”

นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเจ้าผู้ครองนครลำปาง ได้สร้างความชอบธรรมของการเป็นผู้ปกครองโดยการมอบเครื่องเทียมยศให้กับผีเมืองใช้เมื่อประกอบพิธีกรรมผ่านที่นั่ง(ร่างทรง) เช่น ง้าวคอเงิน ง้าวคอตอง ง้าวสั้น ดาบหลูบเงิน หอก บูยาเงิน(กล้องยาสูบ) ขันเงินกลีบบัว และน้ำต้น ด้วยความสำคัญต่อสถานะของกลุ่มผู้ปกครองยุคจารีตและเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่เหลือไว้ให้มีอำนาจเต็มที่ ดังนั้นแม้หลังปฏิรูปการปกครองและยกเลิกการส่งส่วยในพ.ศ.๒๔๔๒ เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง คงมาเป็นองค์ประธานเลี้ยงผีเมืองลองทุกปี และภายหลังยังโปรดมอบหมายให้พ่อเจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง(พ.ศ.๒๔๒๕ - ๒๔๙๗) เป็นองค์ประธานเลี้ยงผีเมืองแทนตั้งแต่พ.ศ.๒๔๔๙ จนถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ.๒๔๙๗ ด้วยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในแขวงเมืองลอง เป็นเจ้านายเมืองนครลำปาง และได้สมรสกับบุตรหลานของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลอง ผีเมืองของเมืองลองส่วนหนึ่งก็คืออดีตเจ้าเมืองที่สิ้นชีวิตไป หรือก็คือเป็นผีบรรพบุรุษของเจ้าเมืองลองจึงมีปริมณฑลจำกัดที่สัมพันธ์กับอำนาจของเจ้าเมือง เมืองลองจึงไม่ได้ใช้ผีเมืองเป็นเครื่องมือต่อรองการปฏิรูปการปกครองของสยาม แต่กรณีนครเชียงใหม่แม้มีรูปแบบผีเมืองเหมือนเมืองลองที่บรรพบุรุษของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนได้รับสถาปนาเป็นผีเมืองนครเชียงใหม่ คือ “...พระเจ้าตนพ่อ ตน ๑ เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ตน ๑ พระเจ้าชีวิตกาวิละองค์เถ้าตนปราบปถวีล้านนาไท ตน ๑ เจ้าช้างเผือก(เจ้าหลวงธรรมลังกา) ตน ๑ เจ้ามหาเสฏฐี(เจ้าหลวงคำฝั้น) ตน ๑...” แต่ผีเมืองนครเชียงใหม่ก็มีอิทธิพลสูงตามราชศักดิ์เจ้าผู้ครองนคร ดังนั้นนครเชียงใหม่จึงใช้ผีเมืองเป็นเครื่องมือต่อรองการปฏิรูปของสยามทั้งด้านการปกครองและเก็บภาษี จึงทำให้ถูกสั่งยกเลิกเลี้ยงผีเมืองนครเชียงใหม่ ในส่วนของเมืองลองด้วยสถานะเป็นหัวเมืองขึ้นขนาดเล็กมีอำนาจการต่อรองน้อย จึงมีเพียงแสดงความไม่ยอมรับผ่านที่นั่งผีเมืองบางอย่าง เช่น เรียกข้าราชการสยามว่า “ผู้น้อย” เพราะถือว่ามีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่า “เจ้า” ในเมืองนครลำปางและเมืองลอง แต่ด้วยไม่ได้นำมาใช้ต่อรองอำนาจกับสยามโดยตรง ทางสยามจึงไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายประเพณีเลี้ยงผีเมืองลอง ทำให้ยังคงรักษาโครงสร้างตำแหน่งหน้าที่ของแสนท้าวที่ทำหน้าที่เลี้ยงผีเมือง หรือทายาทข้าผีเมืองยังเป็นผู้ทำนาผีเมืองลองสืบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนได้นำลำดับรายนามผู้ที่รับตำแหน่งหน้าที่สืบทอดมาจากยุคจารีตมาแสดงประกอบไว้ ดังนี้

หลังจากเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายทรงถึงแก่พิราลัย ทางแขวงเมืองลองก็มี “ผีพ่อเฒ่าหลวง” เก๊าผีเมืองลองที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในการเลี้ยงผีเมืองลองผ่านที่นั่ง(ร่างทรง)แทน คือ (๑) หมื่นกลางโฮง บ้านนาตุ้ม(เจ้าผู้ครองนครลำปางแต่งตั้ง) – (ผีพ่อเฒ่าหลวงแต่งตั้ง) หมื่นกลางโฮง(พ่อหมื่นธิ) บ้านนาตุ้ม(ช่วงพ.ศ.๒๔๖๐), หมื่นกลางโฮง(พ่อน้อยแก้ว จาอาบาล) บ้านแม่ลอง(ถึงพ.ศ.๒๕๔๖) และหมื่นกลางโฮง (พ่อไหว กันอินทร์) บ้านแม่ลอง(พ.ศ.๒๕๔๖ - ปัจจุบัน) (๒) แสนบ่อ(พ่อหนานอินตา ตาป้อ) บ้านนาตุ้ม, แสนบ่อ บ้านห้วยอ้อ(ต้นตระกูล “แสนบ่อ”), แสนบ่อ(แสน แปงบุญทา) บ้านห้วยอ้อ(เจ้าผู้ครองนครลำปางแต่งตั้ง) - (ผีพ่อเฒ่าหลวงแต่งตั้ง) แสนบ่อ(พ่อศรี คำก้อน) บ้านร่องบอน (ประมาณพ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๕๓๑) และ แสนบ่อ(พ่อจู ตันริน) บ้านนาตุ้ม(พ.ศ.๒๕๓๑ - ปัจจุบัน) (๓) พ่อเมือง(พ่อชื่น) บ้านห้วยอ้อ(เจ้าผู้ครองนครลำปางแต่งตั้ง) - (ผีพ่อเฒ่าหลวงแต่งตั้ง) พ่อเมือง(พ่อคำมูล) บ้านดอนทราย, พ่อเมือง(พ่อปั๋น สีเกี๋ยง) บ้านนาตุ้ม(ถึงพ.ศ.๒๕๒๒), พ่อเมือง (พ่อน้อยแสน โค้ด้วง) บ้านนาตุ้ม(พ.ศ.๒๕๒๒ - ปัจจุบัน)

ส่วนผีที่นั่ง(ร่างทรง)ของผีพ่อเฒ่าหลวงที่สืบกันมา เช่น (๑) ผีที่นั่งน้อย(แม่น้อย กาโต่ง) บ้านนาตุ้ม หมู่ ๙ และ(๒) ผีที่นั่งน้อย(แม่คำน้อย แก้วอ้วน) บ้านนาตุ้ม หมู่ ๒ ผีที่นั่งคนปัจจุบัน นอกจาก ๓ ตำแหน่งหลักในข้างต้น ตำแหน่งอื่นๆ ก็ยังมีการสืบทอด เช่น ตำแหน่ง “จ้ำเข้า” เป็นล่าม ตำแหน่ง “หมอง่อน” ทำหน้าที่ฆ่าเพื่อพลีกรรม ตำแหน่ง “ช่างม่วน” บรรเลงดนตรี และตำแหน่ง “กวาน” เป็นนางรับใช้เมื่อผีเมืองประทับทรง

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 04 •ธันวาคม• 2012 เวลา 10:33 น.• )