ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๒๔ ผลกระทบของการจัดการปกครอง : “กบฏเงี้ยว” การต่อต้าน “ฟื้นสยาม” ของเมืองลอง เมืองต้า พ.ศ.๒๔๔๕(ต่อ) การต่อต้านสยามครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้ง “เงี้ยว” (ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ(ไทยอง) ไทเหนือ) ไท ยวน(คนเมือง) พม่า ขมุ ต่องสู้ กะเหรี่ยง ลาว รวมถึงพระสงฆ์สามเณร หรือแม้แต่คนสยามเองก็เข้าร่วมด้วย เช่น พระไชยสงคราม(นายจอน) ซึ่งได้เป็นราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ก็ได้เกณฑ์ข้าวทุกหลังคาเรือนให้เงี้ยวไว้เป็นเสบียง แต่ภายหลังด้วยการขาดความร่วมมือระหว่างหัวเมืองต่างๆ ของล้านนาอย่างจริงจังจึงกระทำการไม่สำเร็จ สยามจึงได้ทำการปราบปรามและลงโทษผู้ต่อต้านที่นครแพร่อันเป็นเมืองเกิดเหตุการณ์ชัดเจนกว่าเมืองนครประเทศราชอื่นอย่างรุนแรงดังนี้คือ

(๑) เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์(เจ้าน้อยเทพวงศ์) เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่นครหลวงพระบาง(ลาว) ทางสยามได้ปลดออกจากการเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ ถอดราชศักดิ์ลงเป็นไพร่ให้เรียกว่าพระองค์ว่า “น้อยเทพวงศ์” พร้อมกับยึดคุ้มหลวงและราชสมบัติ

(๒) แม่เจ้าบัวไหล พระชายาของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดออกจากสามัญสมาชิกาตติยจุลจอมเกล้า ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และถูกควบคุมลงไปกักตัวไว้ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับราชบุตรราชธิดา

(๓) พระยาบุรีรัตน์(เจ้าน้อยหนู) น้องเขยเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกภาคทัณฑ์ ให้ย้ายออกจากนครแพร่ชั่วคราว และงดสิทธิพิเศษต่างๆ จนกว่าจะแสดงความจงรักภักดีให้สยามพอใจ

(๔) พระยาราชบุตร(เจ้าน้อยยอดฟ้า) สวามีเจ้าหญิงสุพรรณวดี ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ ริบทรัพย์สมบัติ ให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และให้ย้ายออกจากนครแพร่

(๕) พระไชยสงคราม(นายจอน) สวามีเจ้าหญิงยวงคำ ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๗ ปี

(๖) พระเมืองไชย(เจ้าน้อยไชยลังกา) น้องชายของพระยาบุรีรัตน์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๓ ปี

(๗) เจ้าน้อยพุ่ม บุตรของพระจันทราชา ถูกจำคุกที่กรุงเทพฯ ๕ ปี

(๘) เจ้าน้อยสวน ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้พิพากษารองนครแพร่และจำคุก ๓ ปี

(๙) พญาชนะ ขุนนางคนสนิทของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ถูกจำคุกไม่มีกำหนดและภายหลังได้ผูกคอตายในคุก

(๑๐) พญายอด พ่อแคว้น พร้อมกับแก่บ้าน คนเงี้ยว คนเมือง คนต่องสู้ จำนวนหลายคนถูกตัดสินประหารชีวิต

(๑๑) คนเงี้ยว คนเมือง คนพม่า คนแขก จำนวน ๑๖ คนถูกส่งลงไปจำคุกมหันตโทษอย่างไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ

เมื่อสยามปราบปรามอย่างรุนแรง เจ้านายนครแพร่ก็เกิดความกลัวและอยู่ในภาวะตึงเครียด ดังเช่น เจ้าหญิงยวงคำเมื่อสยามทำการสอบสวน ก็ได้ให้การซัดทอดว่าเจ้าหญิงเวียงชื่น(เจ้าเมืองชื่น)ผู้เป็นพี่สาว และเจ้าแม่บัวไหลผู้เป็นมารดาเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สุด เจ้านายบางองค์ก็หลบลี้หนีภัยออกจากนครแพร่ไปอยู่แถบเมืองชายแดนที่ติดกับพม่าเช่นเมืองตากหรือเมืองที่ห่างไกลจากนครแพร่ และเจ้านายบางองค์ก็ถึงกับต้องปลงพระชนม์ชีพตนเอง เช่น พระยาราชวงศ์(เจ้าน้อยบุญศรี)พร้อมกับพระชายา(เจ้าหญิงเวียงชื่น)ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย ส่วนเจ้านายระดับรองลงมาที่ไม่ได้เป็นเจ้าชั้นใกล้ชิดกับเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ซึ่งมีส่วนรู้เห็นแต่ไม่ได้รับโทษหนัก เพียงแต่ถูกสยามควบคุมดูความประพฤติ เช่น พระวิไชยราชา(เจ้าหนานขัติย์) พระวังซ้าย(เจ้าหนานมหาจักร) พระสุริยะ(เจ้าน้อยมหาอินทร์) พระคำลือ ฯลฯ เจ้านายเหล่านี้พร้อมกับบุตรหลานรวมจนถึงขุนนางในนครแพร่เมื่อถูกควบคุมความประพฤติ ก็หันมาให้การสนับสนุนราชการสยามเป็นอย่างดีเพื่อทำให้สยามพอใจ เช่น พากันบริจาคเงินก้อนใหญ่รายละ ๕๐ - ๑๐๐ บาทเพื่อสร้างโรงพยาบาลทหารที่นครแพร่ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๕ ตามความคิดของคุณหญิงเลี่ยม ภริยาของพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ปราบกบฏเงี้ยว เป็นต้น ดังนั้นเมื่อสยามมีการลงโทษผู้ต่อต้านสยามอย่างรุนแรง ที่เรียกว่าล้มระบบเจ้าของราชวงศ์เมืองนครแพร่ทั้งระบบ โดยการประหารชีวิตและจำคุก ยึดคุ้มหลวง ยึดราชสมบัติ นำชายาราชบุตรธิดาของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ลงไปกักตัวไว้กรุงเทพฯ ถอดราชศักดิ์เจ้านายนครแพร่ และจัดส่งข้าราชการสยามขึ้นมาปกครองแทนทั้งหมด แม้ราชทินนามเดิม “พระยาพิริยวิไชย” ของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงถือว่าเป็นนามอัปมงคลจะไม่มีการนำมาตั้งอีกต่อไป การปราบปรามอย่างรุนแรงของสยามจึงทำให้ท่าทีของกลุ่มเจ้านายหัวเมืองอื่นๆ เปลี่ยนไป เพราะเห็นแล้วว่าไม่สามารถเป็นอิสระจากสยามได้อย่างแน่นอน จึงหันมาช่วยเหลือในการปราบปรามเงี้ยวอย่างเต็มที่ รวมถึงเจ้าผู้ครองนครลำปางที่เกณฑ์เจ้านายบุตรหลานและออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวมากถึง ๓๐,๑๙๕ รูปีเพื่อใช้ปราบปราม ขณะก่อนหน้านี้เจ้านายขุนนางและไพร่พลของล้านนาทำไปเพียงตามหน้าที่เพราะขัดทางสยามไม่ได้ สะท้อนจากกองกำลังปราบเงี้ยวนครน่านที่รักษาด่านวังม่วงของเจ้าจันทวงศ์(ราชบุตรพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช) ไพร่พลยังมีการนำเอาใบลานมานั่งจารคัมภีร์ธรรมไปด้วยขณะปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายเจ้าเมืองลอง เสนาบดี แสนท้าวก็ส่งบุตรหลานเข้าช่วยปราบปรามเงี้ยวในครั้งนี้ แต่ขณะที่เกิดเหตุช่วงแรกเจ้าเมืองลองและขุนนางอยู่ภายในเมืองให้การสนับสนุนโดยไม่ขัดขวาง ที่อาจมาจากเจ้าเมืองลองถือว่าตนไม่มีอำนาจในการเกณฑ์ไพร่เหมือนอดีต และเงี้ยวเหล่านี้ก็คือคนที่เคยให้การอุปถัมภ์ติดต่อค้าขาย รวมถึงเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยทำนุบำรุงพุทธศาสนา และเป็นญาติของผู้คนในเมืองลอง จนเมื่อสยามปราบปรามและลงโทษอย่างรุนแรงที่นครแพร่ เจ้าเมืองลองและขุนนางจึงจำเป็นต้องเกณฑ์บุตรหลานเข้าช่วย แต่ก็ยังถูกเพ่งเล็งจากทางสยามเป็นเหตุให้สยามใช้กลุ่ม “เงี้ยว” จำนวน ๑๒ คนจากนครแพร่เข้ามาทางบ้านปินได้ลอบสังหารพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง พร้อมขุนนางเค้าสนามเมืองลอง ๓ คนและชาวบ้านอีก ๑ คนที่คุ้มบ้านแม่ลานเหนือ คือ แสนแก้ว จะเรหลวง(หัวหน้าเสมียน) บ้านปิน หนานกันทะสอน หนานอิสระ จะเร(เสมียน) บ้านดอนทราย และชาวบ้านนาอุ่นน่องที่มาเสียภาษีค่าตอไม้ ซึ่งการฆาตกรรมครั้งนี้มีจุดน่าสังเกต คือ

(๑) สยามคิดกำจัดเฉพาะบุคคลที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผนวกรวมล้านนาเข้ากับสยาม เพราะขณะที่แม่เจ้าบุญมา ภรรยาเจ้าเมืองลองที่นอนป่วยเป็นโรคฝีดาษอยู่ในห้อง และธิดาทั้ง ๕ คนที่อาศัยภายในคุ้มกลับไม่ถูกทำร้าย แต่สามเณรปัญญาเถิง วัดแม่ลานเหนือ บุตรชายคนเดียวผู้มีสิทธิธรรมขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองคนต่อไปเกือบถูกสังหารในครั้งนั้น

(๒) เหตุการณ์นี้(๓๐ ตุลาคม ๒๔๔๕)ห่างจากวันเริ่มต้น “กบฏเงี้ยว” กว่า ๓ เดือน แต่ห่างจากวันที่สยามทำการสอบสวนตัดสินชำระคดี “นักโทษกบฏ” ไม่นาน

(๓) เรื่องเจ้าเมืองลองและขุนนางเค้าสนามถูกฆ่าได้ถูกปิดเป็นเงื่อนงำ ไม่มีการกล่าวถึงในเอกสารรายงานทั้งจากนครลำปางหรือข้าราชการสยามเลยทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงภรรยาบุตรธิดาของเจ้าเมืองลองที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ก็ปิดเงียบไม่ยอมพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น นอกจากเพียงบอกเล่าให้ชาวบ้านชาวเมืองรับรู้ว่า “เงี้ยวฆ่า” แต่ในขณะที่บ้านหนานอ่อน ราษฎรเมืองลองถูกเงี้ยวที่ทางสยามติดตามจับเข้ามาปล้นกลับมีรายงานถึงกรุงเทพฯ

การลอบสังหารพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง พร้อมกับขุนนางเค้าสนามครั้งนี้ สันนิษฐานว่าเพื่อเป็นการกำจัดผู้ต่อต้านโดยทางลับ ไม่ให้เป็นผู้นำปลุกระดมคน และให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่เจ้านายขุนนางในเมืองลอง เมืองต้าที่คิดจะต่อต้านสยามอีก เพราะศพของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจถูกฝังไว้หน้าทางเข้าป่าช้าบ้านแม่ลานเหนือถึง ๓ ปี ก่อนขุดขึ้นมาประกอบพิธีส่งสการ(เผา)ในพ.ศ.๒๔๔๘ ได้ทำพิธีปลงศพอย่างเร่งรีบเพียง ๓ วัน ๓ คืนโดยการอุปถัมภ์ของเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ขณะอดีตเจ้าเมืองลองในรุ่นบิดา(พญาไชยชนะชุมพู)และรุ่นปู่(พญาเววาทภาษิต) ได้ทำพิธีปลงศพอย่างสมเกียรติ โดยเฉพาะศพของพญาเววาทะภาษิต(เจ้าพญาเฒ่า)ได้นำใส่ปราสาทไว้ถึง ๑ ปี(พ.ศ.๒๓๙๙)เพื่อให้ชาวเมืองได้เคารพศพและทำบุญ ส่วนแสนไชยยะ เจ้าเมืองต้าที่มีตำแหน่งทางสยามเป็นนายแคว้น(กำนัน)เวียงต้าไม่ถูกหมายเอาชีวิต เนื่องจากมีอำนาจน้อยที่จะทำการต่อต้านสยาม หน่วยที่ปกครองไม่ใช่จุดเกิดเหตุการณ์หรือแสดงตนต่อต้านอย่างชัดเจน แต่ภายหลังก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และนายแขวงเมืองลองได้แต่งตั้งผู้ที่ไม่ใช่บุตรหลานเจ้าเมืองต้าเป็นนายแคว้นแทน ประการหนึ่งที่ปิดเงียบในครั้งนี้เพื่อจำกัดจุดเกิดเหตุไว้เฉพาะนครแพร่ และเพื่อให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่างแก่หัวเมืองทั้งหลายในล้านนาที่คิดจะ “ฟื้นสยาม” ซึ่งความเป็นจริงแล้วเมืองลองที่เป็นจุดเริ่มต้น แหล่งซ่องสุม และถูกตีแตกเป็นเมืองแรกตามการรับรู้ของฝ่ายสยาม ควรถูกตีตราว่าเป็น “เมืองกบฏ” แต่ด้วยมีสถานะเป็นเพียงหัวเมืองขึ้นเล็กๆ มีสกุลวงศ์ “เจ้า” สืบทอดภายในท้องถิ่นไม่มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับเจ้าผู้ครองนคร จึงไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เจ้าผู้ครองนครทั้ง ๕ มีความเกรงกลัว แต่กลับจะทำให้เกิดความบาดหมางกับเจ้านายในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนมากกว่า โดยเฉพาะนครลำปางที่เมืองลองขึ้นอยู่จนอาจเกิดการ “ฟื้นสยาม” ครั้งต่อๆ ไปอีก ดังนั้นนครแพร่จึงเป็นเมืองที่ถูกเลือกด้วยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายประการ คือ

(๑) เป็นแหล่งเกิดเหตุมีเจ้านายแสดงตัวให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน

(๒) ต้นราชวงศ์เจ้านายนครแพร่เป็นคนภายในท้องถิ่น ไม่ได้เป็นญาติวงศ์กับราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ราชวงศ์มังราย(เชียงตุง) หรือราชวงศ์เจ้านครน่าน และเหล่าเจ้านายนครแพร่ก็ไม่ปรากฏมีการเสกสมรสกับเจ้านายเมืองในข้างต้น แม้แต่กับเจ้านายนครน่านที่อยู่ใกล้ชิดติดกันก็เพิ่งมีในชั้นหลัง จึงมีอำนาจการต่อรองน้อยไม่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของเจ้านายเมืองอื่นๆ

(๓) ปัจจัยประการสำคัญคือนครแพร่เคยมีฐานะเป็นนครประเทศราช ถึงแม้จะมีราชศักดิ์และขนาดเล็กที่สุดในบรรดานครประเทศราชทั้ง ๕ แต่ก็ทรงพลังอย่างสูงที่จะเป็นตัวอย่างให้แก่เมืองอื่นๆ ในลักษณะ “เชือดไก่ให้ลิงดู”

ส่วนที่เกี่ยวพันกับเจ้านายนครน่านทางการสมรสที่มีในชั้นหลังนั้น สยามก็พยายามถนอมน้ำใจ ดังพระยาราชบุตร(เจ้าน้อยยอดฟ้า)หนึ่งในเจ้าขันธ์ทั้ง ๕ นครแพร่ เป็นราชบุตรพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ราชบุตรเขยเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เมื่อพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพนำกองกำลังสยามขึ้นมาปราบ “กบฏ” ก็มีหนังสือถึงพระเจ้านครน่านปรึกษาเรื่องพระยาราชบุตร ภายหลังที่ถูกถอดยศศักดิ์ ริบทรัพย์ ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และให้ย้ายออกจากนครแพร่ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชก็ขอรับกลับไปอยู่นครน่านพร้อมกับพระชายา(เจ้าหญิงสุพรรณวดี) อีกทั้งสยามยังได้แต่งตั้งเป็น “เจ้าราชดนัย” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีการแต่งตั้งมาก่อน จากข้างต้นจึงสะดวกที่จะให้นครประเทศราชอื่นๆ ในล้านนาเห็นว่าหากยังคิดต่อต้านจะมีสภาพเฉกเช่นนครแพร่ ดังนั้นรัชกาลที่ ๕ จึงทรงเลือกประณามว่า “...เมืองแพร่เปนเมืองที่เลวทรามยิ่งกว่าเมืองอื่น...” ตีตราว่า “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” “กบฏอ้ายน้อยเทพวงศ์” แต่ถ้าหากมองจากสายตาคนพื้นถิ่นก็อาจถือได้ว่า “เงี้ยวเป็นวีรบุรุษ” และเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็น “วีรกษัตริย์นครแพร่(ล้านนา)” ที่ไม่ต่างจากชาวลาวมองเจ้าอนุวงศ์เป็น “วีรกษัตริย์นครเวียงจันทน์(ล้านช้าง)”  ด้วยเหตุนี้ หากเรื่องเจ้าเมืองลองและขุนนางเค้าสนามถูกฆาตกรรมได้ยกขึ้นมาไต่สวน ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สาวถึงผู้ทรงอำนาจสั่งการ แต่ในส่วนที่เกี่ยวพันกับ “กบฏเงี้ยว” ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเจ้าเมืองลองแสนท้าวมีส่วนรู้เห็นให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น ทั้งเป็นแหล่งเตรียมการ สนับสนุนอาวุธเสบียงอาหาร และมีกำลังคนบางส่วนเข้าช่วยเงี้ยวรบ กอปรกับแขวงเมืองลองก็อยู่ในเขต(จังหวัด)นครลำปาง อีกทั้งกลุ่มผู้ปกครองระหว่างเมืองต่างๆ ก็รับรู้ร่วมมือกัน ย่อมพัวพันส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่ว ทั้งเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง และพ่อเมืองในกลุ่มของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งทางฝ่ายสยามก็ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ล้านนาทำการต่อต้านสยามมาหลายครั้งนั้นเป็นการร่วมมือกันของนครประเทศราชทั้ง ๕ (นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน นครแพร่)และหัวเมืองบริวาร ดังพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงพิเศษ(พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๓๔)ส่งรายงานให้ทางสยามว่า “...เชื่อตัวว่าในบ้านพี่เมืองน้องสี่ห้าเมืองพร้อมๆ กันจะมีกำลังภอที่จะสู้รบกรุงเทพฯ ได้ จะคิดการใหญ่เพราะความโง่...”

แต่เนื่องจากเจ้านายประเทศราชล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้านายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนที่สามารถสร้างสิทธิธรรม และเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงเครือญาติระหว่างเมืองได้อย่างกว้างขวาง มีอำนาจการต่อรองกับสยามสูง ดังนั้นภายหลังจากทำการปราบปรามและลงโทษที่เมืองนครแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างแล้ว เรื่องนี้จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงทั้งฝ่ายสยามและล้านนาเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและขยายวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม แต่สยามเลือกใช้วิธีจัดตั้งกองกำลังเพื่อแสดงแสนยานุภาพขึ้นเหนือดินแดนเหล่านี้แทน หลังปราบปรามสำเร็จ ได้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบกมณฑลพายัพ(ค่ายกาวิละ) ที่นครเชียงใหม่ จัดตั้งกองทหารประจำการ(ค่ายสุรศักดิ์มนตรี)ขึ้นที่นครลำปางและหัวเมืองต่างๆ ซึ่งทหารเกือบทั้งหมดเป็น “คนสยาม” มีการปรับปรุงทหารให้เข้มแข็งและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อปรามเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง และขุนนางในล้านนาที่คิดจะฟื้นสยาม ทำให้กลุ่มผู้ปกครองล้านนาทั้งหลายต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมในการยึดรวมล้านนาเข้ากับสยาม ซึ่งทางฝ่ายสยามก็ทราบดังรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า “...เจ้านครลำปางเปนคนฉลาดคิดเห็นเสียแล้วว่า แต่ก่อนเราไม่มีทหารแต่สักคนเดียวยังทำไปไม่สำเร็จ ครั้งนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเราคงจะปราบปรามได้โดยง่าย จะเปนการจริงฤาไม่จริง...”

ขณะที่ภายในแขวงเมืองลองก็มีการจัดตั้งกรมการแขวงขึ้นอีกครั้งในปีพ.ศ.๒๔๔๖ แม้ว่าขณะนั้นข้าราชการยังขาดแคลนแต่ก็ยังจัดส่งข้าราชการสยามมาประจำการแขวงเมืองลองถึง ๑๐ คน ซึ่งน้อยกว่าแขวงนครลำปางที่เป็นศูนย์กลางเพียง ๒ คน ขณะที่แขวงอื่นๆ มีข้าราชการแขวงเพียง ๖ - ๗ คน และรัชกาลที่ ๕ ทรงจัดส่งข้าราชการสยามขึ้นมาเป็นนายแขวงพร้อมกับพระราชทานราชทินนามเป็นชื่อเฉพาะเมืองลองว่า “รองอำมาตย์เอก หลวงจรูญลองรัฐบุรี”(หรั่ง วิชัยขัทคะ,พ.ศ.๒๔๔๖ - ๒๔๕๖) ที่ไม่เคยปรากฏพระราชทานราชทินนามนายแขวงเป็นชื่อเมืองขนาดเล็กเช่นนี้ให้แก่แขวงอื่นใดในล้านนา ซึ่งสะท้อนถึงสยามพยายามสร้างนายแขวงให้แทนที่เจ้าเมืองลองที่ได้สังหารไป มีการจัดตั้งสถานีตำรวจและจัดส่งตำรวจจำนวน ๔๙ นายมาประจำการในแขวงเมืองลองถึงสามจุด คือ (๑)บ้านห้วยอ้อ แคว้น(ตำบล)ห้วยอ้อ ตอนกลางแขวงอันเป็นที่ตั้งที่ทำการแขวงเมืองลอง ๒๕ นาย (๒)บ้านผาลาย แคว้นเวียงต้า ตอนเหนือแขวงที่เดิมคือเขตเมืองต้า ๑๓ นาย และ(๓)บ้านวังชิ้น แคว้นวังชิ้น ตอนใต้แขวง(ปัจจุบันคืออำเภอวังชิ้น) ๑๑ นาย สังเกตว่ามีการจัดตั้งตรึงกำลังในแขวงเมืองลองไว้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งห้ามพระสงฆ์เข้าไปจำพรรษาที่วัดบ่อแก้วและห้ามผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านบ่อแก้ว พร้อมกับจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจเป็นระยะๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เป็นแหล่งซ่องสุมของ “กบฏ” ผู้คิดจะ “ฟื้นสยาม” อีกต่อไป

ส่วนกลุ่มอำนาจเก่าผู้ปกครองเมืองลองก็จำต้องหันมาให้ความร่วมมือกับสยาม ดังภายหลังบุตรหลานของพญาวังใน ปฐมเสนาบดีเมืองลองก็เข้าร่วมกับสยามจับเงี้ยว ทางฝ่ายกลุ่มบุตรหลานพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(เจ้าหนานคันธิยะ) เจ้าเมืองลอง โดยเฉพาะพ่อเฒ่าหนานปัญญาเถิง บุตรชายคนเดียวผู้มีสิทธิธรรมสายตรงขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองคนต่อไปก็ปิดตัวเงียบ โดยให้เหตุผลกับคนทั่วไปว่า “กลัวเงี้ยว” จะมาติดตามฆ่า แต่ความเป็นจริงแล้วก็คือ “กลัวอำนาจมืด” ที่กำลังแผ่เข้าครอบงำ เพราะต้องลี้ภัยอยู่ในพระพุทธศาสนาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระสงฆ์อยู่ระยะเวลาร่วมหลายปี ดังนั้นจึงเป็นการยุติบทบาทของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองที่สืบทอดมาหลายร้อยปีตั้งแต่ “เจ้าช้างปาน” ปฐมสกุลวงศ์เจ้าเมืองลองในพ.ศ.๒๑๔๒ และปิดฉากลงอย่างแท้จริงเมื่อพญาราชสมบัติ ผู้มีเชื้อสายเจ้าเมืองลองและเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่หนึ่งในสี่(พ่อเมืองทั้ง ๔)ของเมืองลองคนสุดท้ายได้สิ้นชีวิตในพ.ศ.๒๔๖๖ เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านสยามนี้ อาจไม่สามารถตอบคำถามอันมากมายและสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยว พ.ศ.๒๔๔๕” ได้ถ้วนทั่วทุกคำถาม แต่ผู้เขียนก็พยายามแสดงให้เห็นทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกของเหตุการณ์นี้ ว่าไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในเมืองนครแพร่อย่างที่หลายๆ ท่านเคยรับรู้เข้าใจ อีกทั้งมีกลยุทธทางการเมืองระหว่างสยามกับล้านนาที่ซับซ้อน ชิงไหวชิงพริบกันมากกว่าจะอธิบายสำเร็จรูปเพียงแค่ว่า “เจ้านายเมืองแพร่ไม่พอใจ จึงใช้เงี้ยวฆ่าข้าหลวงและข้าราชการชาวสยาม” หรือ “เงี้ยวเมืองแพร่ไม่พอใจจึงก่อกบฏฆ่าข้าหลวงและข้าราชการชาวสยาม” และประการสำคัญยังมีผู้คนในอดีตอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับ “ความเจ็บปวด” อันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงจุดไหน ฐานะใด ทั้งผู้ที่ต้องการหยุดรั้งหรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ดังชาวเมืองแพร่เองหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไป ได้ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของหน้าประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ครูบาวัดพระบาทจึงพาชาวบ้านชาวเมืองร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง เพื่อเรียกขวัญกำลังใจชาวเมืองแพร่ให้กลับมา โดยตั้งชื่อวัดให้เป็นนิมิตหมายอันดีว่า “วัดสถาน” หรือ “วัดใหม่สถาน”(ปัจจุบันคือวัดสวรรค์นิเวศน์) เพื่อให้เกิดความมั่นคงสถาพรกลับคืนมาสู่เมืองแพร่อีกครั้ง ในเมืองลองหลังจากพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(เจ้าหนานคันธิยะ) เจ้าเมืองลองคนสุดท้ายได้ถูกลอบสังหาร ชาวบ้านชาวเมืองก็ร่วมกันสร้างศาลไว้ข้างคุ้มของเจ้าเมือง และอัญเชิญดวงวิญญาณของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจมาสถิตอยู่เพื่อให้ปกปักดูแลรักษาเมืองลอง(ปัจจุบันย้ายมาตั้งที่หน้าวัดแม่ลานเหนือ) ส่วนทางสยามหลังจากเหตุการณ์นี้รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงรู้สึกสำนึกและเสียพระทัยไม่น้อยกับเรื่องที่เกิดขึ้นโดยที่พระองค์ไม่ทรงสามารถหาทางออกที่ดีกว่านี้ได้ ดังทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๕ ว่า “...เราปกครองหัวเมืองลาว(ล้านนา - ผู้เขียน) ..ค่อนข้างจะผิดไปจากสภาพอันแท้จริง อาจจะกล่าวได้ว่าเรานำแบบการปกครองของต่างประเทศมาใช้แต่ผิดแบบเขาไป ..เมื่ออังกฤษใช้รูปแบบการปกครองนี้นั้น เขาให้คำแนะนำปฤกษาแก่ผู้ปกครองซึ่งถือเสมือนเป็นเจ้าของหัวเมืองเหล่านั้น..ในทางตรงข้าม เราถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของเรา ซึ่งมันไม่จริง เพราะ..คนลาวเขาจะถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของพวกเขา เมื่อเราพูดว่าเราไว้วางใจเขา แท้จริงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เรากลับส่งข้าหลวงและผู้ช่วยไปให้คำปฤกษาแก่พวกเขา แล้วข้าหลวงกับผู้ช่วยที่ได้รับมอบอำนาจไปก็จะเชิดพวกนี้เหมือนหุ่น หรือไม่ก็ถ้าทำไม่ได้ก็จะคอยสอดส่องพวกเขาและรายงานความลับของเขาเข้ามา อย่างไรก็ตามเราแก้ตัวไม่ได้ในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าการปกครองที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาจะไม่เกิดผลในทางการเชื่อใจกันและกัน แลยังไม่ให้ความสงบทางจิตใจอีกด้วย...” ดังนั้นกว่าจะมาเป็น “ประเทศไทย” หรือ “ชาติไทย” ของเราในปัจจุบัน จึงเกิดขึ้นอยู่บน “รอยคราบน้ำตา” ที่ “อาบบนแก้ม” และ “รอยคราบเลือด” ที่ “ฉาบบนผืนแผ่นดิน” ของบรรพชน ทว่าเรื่องราวเหล่านี้ในอดีตได้ผ่านมากว่าหนึ่งศตวรรษ เราในฐานะเป็นลูกหลานรุ่นหลังได้ศึกษาเพื่อให้รู้จักตัวตน ศึกษาเพื่อให้เข้าใจในอดีต และใช้อดีตเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซ้อนในปัจจุบัน แม้ว่า “รากเหง้า” หรือ “ตัวตน” นั้นอาจสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าสามารถชี้ชัดถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ให้แก่คนในพื้นที่ได้เข้าใจอย่างมีเหตุผล ก็จะส่งผลให้แต่ละชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษและท้องถิ่นที่จะนำมาสู่พลังของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มากกว่ามีประวัติศาสตร์ในอุดมคติ กดทับ คลุมเครือ และลับลวงพราง ที่รั้งแต่จะทำให้ภายในท้องถิ่นหรือระหว่างแต่ละท้องถิ่นเกิดความแตกแยก จึงปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า “ผู้คนในประเทศไทย” อย่าได้มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยด้วยการไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน “เสียน้ำตาอาบบนแก้ม” และ “เสียเลือดฉาบบนผืนแผ่นดิน” บังเกิดขึ้นอีกเลยในอนาคต

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 18 •ธันวาคม• 2012 เวลา 09:23 น.• )