ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๒๕ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๕๐๓ เมื่อมีการสร้างเส้นทางรถไฟตัดผ่านแขวงเมืองลอง ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจที่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นระบบทุนนิยม การขยายตัวของเมืองและเริ่มเปลี่ยนวิถีการผลิต : เมื่อทางรถไฟตัดผ่านพ.ศ.๒๔๕๗ สภาพเศรษฐกิจเมืองลองก่อนเส้นทางรถไฟตัดผ่าน(ช่วงก่อน พ.ศ.๒๔๕๗) สภาพเศรษฐกิจเมืองลองเดิมอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ ผลิตเพื่อไว้อุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน เมื่อเหลือจากนั้นจึงนำไปแลกเปลี่ยนกับผลผลิตที่ตนขาดแคลนหรือไม่สามารถผลิตเองได้ เพราะสภาพภูมิประเทศแอ่งลองเป็นป่าไม้และภูเขามีที่ราบในการเพาะปลูกเพียงประมาณ ๑๖๖,๗๒๖ ไร่ หรือประมาณ ๑๐.๒๓% ของพื้นที่ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงใช้วิธีเพาะปลูกพืชอื่นแทนข้าวหรือใช้วิธีทำข้าวไร่ โดยแต่ละชุมชนจะมีผลผลิตต่างกัน เช่น กลุ่มกะเหรี่ยงถนัดปลูกข้าวไร่จึงนำมาแลกกับชุมชนคนไต(คนเมือง)ที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาหรือเครื่องมือเหล็ก ฯลฯ

นอกจากนี้ความแตกต่างทางทรัพยากรธรรมชาติที่แต่ละหมู่บ้านครอบครองอยู่ ทำให้หมู่บ้านต่างๆ มีความชำนาญเฉพาะด้านในขณะที่หมู่บ้านอื่นไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้น้อยกว่า เช่น บ้านนาตุ้ม บ้านแม่ลอง และบ้านนาอุ่นน่อง มีบ่อเหล็กจึงผลิตเครื่องมือจากเหล็ก, บ้านปิน บ้านนาหม้อ มีดินเหนียวคุณภาพดีจึงเป็นหมู่บ้านผลิตเครื่องปั้นดินเผา, บ้านปากกางปั้นดินขอ(กระเบื้องมุงหลังคา), บ้านนาหมาโก้งผลิตสีเสียด ปูนที่ใช้เคี้ยวหมาก และปั้นหม้อ, บ้านแม่จอกมีดินสีใช้ย้อมผ้าฝ้าย(สีเหมือนฝ้ายตุ่น), หมู่บ้านต่างๆ ริมแม่น้ำยมในอดีตมีปลาชุกชุมและมีขนาดใหญ่ เมื่อมีการดักไซ(ดักลอบ)ครั้งหนึ่งได้ครึ่งไซ ปลาสวายตัวยาวเกือบเมตร ปลาคังตัวหนึ่งหนัก ๔ – ๕ กิโลกรัม เมื่อขายปลาสดไม่หมดก็ผลิตขายเป็นปลาแห้ง ปลาส้ม ปลาจ่อม ปลาร้า ส่วนในเมืองต้า บ้านน้ำดิบทำเครื่องมือจากเหล็ก และบ้านต้าแป้น ผลิตเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ซึ่งการค้าโดยระบบเงินตราในเมืองลอง เมืองต้า สันนิษฐานว่าเข้ามาพร้อมกับการค้าไม้ขอนสักของชาวพม่าและคนบังคับในอังกฤษประมาณหลังพ.ศ.๒๓๘๓ เป็นต้นมา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการค้าแบบระบบทุนนิยม โดยใช้เงินรูปี(แถบ)ที่ออกโดยรัฐบาลอังกฤษเมืองมัทราส อินเดีย อย่างไรก็ตามการใช้เงินตราเพื่อซื้อขายในเมืองลอง เมืองต้ามีน้อยมาก เพราะแรงงานยังอยู่ในระบบไพร่ยังไม่มีแรงงานอิสระ การค้าโดยใช้เงินตราจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แม้หลังเส้นทางรถไฟตัดผ่านช่วงทศวรรษ ๒๔๖๐ ในแขวงเมืองลองบางส่วนก็ยังนิยมใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของการค้าขายภายในเมืองลองเมื่อติดต่อกับหัวเมืองทางเหนือจะใช้เส้นทางบก ที่นิยมมี ๓ เส้นทาง คือ ตอนใต้ผ่านกิ่วดอยหลังหมู่บ้านปันเจนเข้าสู่สบปราบ ตอนกลางผ่านกิ่วระสี เมืองจาง แม่ทะ และตอนเหนือผ่านกิ่วสังฆราชา เมืองเมาะ ส่วนติดต่อกับหัวเมืองทางตอนใต้ เช่น เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยใช้เส้นทางน้ำยมเป็นหลัก การค้าเส้นทางน้ำยมมีความสำคัญมากเพราะต้องนำเหล็ก ของป่า แลกเปลี่ยนสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ภายในเมือง เช่น เกลือ ปลาทู น้ำมันก๊าด กับเมืองทางตอนใต้ที่มีทางออกสู่ทะเล เมืองลองมีท่าเรือสำคัญอยู่ที่ท่าเรือปากกาง บ้านปากกาง เป็นท่าเรือพักสินค้าต่างๆ ทั้งที่นำขึ้นมาจากหัวเมืองทางใต้และบางครั้งก็มีสินค้าที่ล่องมาจากเมืองสอง เมืองแพร่อีกด้วย และมีท่าเรือย่อยตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ติดแม่น้ำยม เช่น ท่าเรือวังเคียน ท่าเรือวังสะหร่าง ท่าเรือปงท่าช้าง ท่าเรือวังต๊ะครัว(บ้านไฮสร้อย) ท่าเรือทุ่งแล้ง ท่าเรือหาดคอก ท่าเรือวังชิ้น และท่าเรือหาดรั่ว ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางตลาดอยู่บ้านห้วยอ้อ แต่สินค้าต้องขึ้นที่ท่าเรือ ปากกางเพราะแม่น้ำยมไม่ไหลผ่านตลาดห้วยอ้อ แล้วจึงใช้ล้อเกวียนบรรทุกสินค้าไปอีกทอดหนึ่ง หรือใช้เรือเล็กบรรทุกขึ้นไปทางห้วยแม่กางที่ท่าเรือผาสิงห์(ใต้วัดร่องบอน) สาขาแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตลาดห้วยอ้อ แต่เส้นทางนี้นิยมใช้เฉพาะฤดูน้ำหลากเพราะหน้าแล้งลำห้วยแม่กางจะตื้นเขิน ตลาดศูนย์กลางบ้านห้วยอ้อซึ่งเป็นตลาดกลางเมืองเรียกว่า “กาดหมั้ว” จะติดตลาดทุกวัน เป็นตลาดที่ชาวบ้านจะนำสิ่งของที่ผลิตในหมู่บ้านต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกัน เช่น ผัก ผลไม้ ปลา ปลาแห้ง ปลาร้า สีเสียด ผ้าทอ เครื่องมือเหล็ก และเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ บางครั้งชาวบ้านก็นิยมหาบเอาปลาแห้งไปแลกเปลี่ยนกับหอมกระเทียมแถบแม่ทะ เมืองเมาะ เมืองจาง ชาวบ้านแถบแม่ทะ เมืองเมาะ เมืองจาง เช่น บ้านนาบง บ้านนาดง บ้านนาดู่ บ้านหัวเสือ บ้านดอนไฟ บ้านสามขา และบ้านนายาบ ก็หาบหอมกระเทียมมาแลกข้าวที่เมืองลอง หรือนำเครื่องมือเหล็กล่องแม่น้ำยมไปแลกข้าวที่เมืองสวรรคโลก ส่วนการค้ากับพ่อค้าทางเมืองแพร่นั้นมีน้อยเพราะเมืองแพร่ไม่ได้ค้าขายทางแม่น้ำยมเป็นหลักแต่ใช้เส้นทางท่าอิฐ ท่าโพธิ์ ลงแม่น้ำน่าน หรือไม่ก็ใช้เส้นทางบก เมืองสอง - เมืองสะเอียบ - เมืองเชียงม่วน – เมืองเชียงคำ เพราะเส้นทางระหว่างเมืองแพร่กับเมืองต้าและเมืองลองมีภูเขาสลับซับซ้อนลำบากกว่าเส้นทางข้างต้น ดังในช่วงพ.ศ.๒๔๗๗ ทางจากเมืองต้าไปเมืองแพร่เป็นหลุมโคลนบางแห่งลึกถึงเข่า ส่วนเส้นทางการค้าทางไกลระหว่างเมืองโดยพ่อค้าวัวต่าง ม้าต่าง หรือล่อต่าง ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าเงี้ยวที่มาจากนครเชียงตุง ที่ต้องการเหล็กและทองคำภายในเมืองลองและเมืองต้า มีเส้นทางหลัก ๒ เส้นทาง คือ (๑) นครแพร่ - เมืองมาน(สูงเม่น) - บ้านบ่อแก้ว(เมืองลอง) - บ้านห้วยอ้อ - กิ่วระสี – เมืองจาง (แม่ทะ) - นครลำปาง  (๒) นครลำปาง - เมืองเมาะ - ห้วยวังครก - กิ่วสังฆราชา - บ้านแม่ลาน - นครแพร่ หรือ เมืองเมาะ - ผาคอ - บ้านห้วยอ้อ - บ้านปิน- เมืองต้า - นครแพร่ หรือ เมืองต้า - เมืองสอง - นครน่าน และเส้นทางรองคือ จากบ้านห้วยอ้อ - บ้านนาหมาโก้ง - บ้านนาตุ้ม - บ้านแม่ป้าก - บ้านวังชิ้น - บ้านปันเจน - กิ่วดอยแปเมือง - สบปราบ - นครลำปาง หรือแยกทางสรอย - เมืองเถิน

เมืองนครเชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญที่สุดในล้านนา และเมืองนครลำปางเป็นศูนย์กลางรองลงมา ซึ่งนอกจากพ่อค้าเมืองนครเชียงตุงที่นำเครื่องทองเหลือง เช่น ฆ้อง ฉาบ ทัพพี ไหมเงินไหมคำ ฯลฯ ก็มีพ่อค้าจากเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน เมืองนครลำปางนำเครื่องทองเหลืองหรือพ่อค้าเมืองนครน่านนำเกลือเข้ามาแลกข้าว เหล็ก และทองคำถึงเมืองลองเช่นกัน ส่วนพ่อค้าวัวต่างในเมืองลองจะนิยมค้าขายระยะทางสั้นเพียงบริเวณเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน เพราะยังผูกติดกับระบบไพร่และต้องทำนาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว ดังมีคำสอนว่า “...ไปค้าไปขาย ไปอย่าหื้อหวิดนา มาอย่าหื้อหวิดไร่...” สินค้าสำคัญของเมืองลองในช่วงพ.ศ.๒๔๒๖ มี ๖ ชนิด คือ (๑) ไม้ขอนสัก (๒) เหล็ก ๑ ชั่ง(๑.๒ กิโลกรัม) ราคา ๑ สลึง (๓) ข้าวเปลือกหมื่น(๓๐ กิโลกรัม) ราคา ๕ รูปี หรือถ้า ๔ สัดราคา ๑ รูปี (๔) ฝ้าย ๖ ชั่งราคา ๑ รูปี (๕) ยาสูบ ๔ ชั่งราคา ๑ รูปี (๖) ขี้ผึ้ง ๑ ชั่งราคา ๒ บาท ส่วนสินค้ารองลงมาจำพวกสัตว์ในปีพ.ศ.๒๔๒๕ ช้างราคาเชือกละ ๙๐๐ - ๑,๐๐๐ แถบ กระบือราคาตัวละ ๔๐ - ๕๐ แถบ(๑ รูปีหรือ ๑ แถบ = ๗๘ - ๘๐ สตางค์) นอกจากนี้ก็มีสีเสียด ครั่งโดยเฉพาะดินไฟ(ดินประสิว)ของเมืองลองและเมืองต้าถือว่ามีคุณภาพดี และหากนำดินไฟของทั้งสองเมืองมาผสมกันจะมีคุณภาพดียิ่งจึงเป็นที่นิยมของต่างเมือง ดังปรากฏในฮ่ำบอกไฟวัดศรีบุญเรือง ของน้อยศรีวิไชย(โข้) ว่า “...เจ้าต๋ำราเดิมเก๊าเหง้า จุดไฟสีสายมวนเข้า ควันเต๊าปื้นเกี๋ยดิน ยกจากก๊างขัดหมิน บินเปี่ยงไปลอยฝ้า เพราะเป๋นดินเมืองต้า ผ่ากั๋นกับเมืองลอง ดินไฟถ้ำผาก๋อง เกยทดลองเจื้อได้ ถ้าเป๋นดินไฟใต้(ดินไฟสยาม – ผู้เขียน) แฝงใฝ่เกลื๋อสินเธาว์...”  เศรษฐกิจของเมืองลอง เมืองต้าก่อนเส้นทางรถไฟตัดผ่านจึงยังอยู่ในระบบผลิตเพื่อยังชีพ เงินตรามีใช้บ้างแต่ไม่นิยมแพร่หลายส่วนใหญ่จำกัดในกลุ่มเจ้านายขุนนาง ซึ่งระบบเงินตราเริ่มตื่นตัวขึ้นพร้อมระบบทุนนิยมที่เข้ามากับเส้นทางรถไฟ

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 24 •ธันวาคม• 2012 เวลา 21:38 น.• )