การขยายตัวของเศรษฐกิจและเริ่มเปลี่ยนวิถีการผลิต : เมื่อทางรถไฟตัดผ่าน พ.ศ.๒๔๕๗ การสร้างรถไฟสายเหนือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมากในเมืองลอง ที่นำมาสู่การขยายตัวของเมือง ความหลากหลายของอาชีพ และวิถีการผลิตที่เริ่มเปลี่ยนจากผลิตเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลักมาเป็นผลิตเพื่อขายมากขึ้น ทางรถไฟเริ่มสร้างหลังจากเกิดการต่อต้านสยามของล้านนา(กบฏเงี้ยว)และสร้างถึงแขวงเมืองลองในพ.ศ.๒๔๕๗ มีทั้งหมด ๖ สถานี คือ สถานีรถไฟบ้านปิน เป็นสถานีหลัก สถานีรถไฟแก่งหลวงและสถานีรถไฟผาคอ เป็นสถานีรอง สถานีรถไฟห้วยแม่ต้า สถานีรถไฟห้วยแม่ลาน และสถานีรถไฟผาคัน เป็นสถานีย่อย ซึ่งสถานีรถไฟบ้านปินเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๗ มีการสร้างทางล้อเกวียนเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟต่างๆ

และช่วง ๒ ปีก่อนที่เส้นทางรถไฟจะถึงเมืองนครลำปางในพ.ศ.๒๔๕๙ แขวงเมืองลองจึงเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางรถไฟของหัวเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไป ดังสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเสด็จตรวจคณะสงฆ์มณฑลฝ่ายเหนือในปีพ.ศ.๒๔๕๗ มาถึงเพียงสถานีบ้านปินเพราะเส้นทางรถไฟถึงเพียงจุดนี้ มีเจ้าคณะเมืองนครลำปางมาร่วมรับเสด็จกับพระครูญาณวิลาศ(ครูบานันตา) เจ้าคณะแขวงเมืองลอง โดยเจ้าคณะแขวงต่างๆ ของเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน และเมืองนครลำปาง ก็มาขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านปินตามไปเฝ้าที่ประทับแรมเมืองนครแพร่ หรือเมื่อครั้งเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ เสด็จลงไปกรุงเทพฯ ช่วงเสด็จกลับเมืองนครเชียงใหม่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ พระองค์ที่ ๗ กับแม่เจ้าเทพไกรสร(เจ้าหญิงทิพเกษร) ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งเสด็จลงไปเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ราชวงศ์จักรี ได้ทรงเสด็จกลับขึ้นมาประทับ ณ เมืองนครเชียงใหม่เป็นการถาวรในพ.ศ.๒๔๕๗ ก็ทรงประทับรถไฟพร้อมกับเจ้าหลวงแก้วนวรัฐจากกรุงเทพฯ มาลงที่สถานีรถไฟบ้านปินเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ และทรงประทับบนหลังช้างเสด็จขึ้นไปเมืองนครเชียงใหม่

เมื่อเปิดทางเดินรถไฟถึงสถานีบ้านปินถัดมาในปีพ.ศ.๒๔๕๘ แขวงเมืองลองจึงเริ่มทำการค้าทางรถไฟ เพราะขนส่งสินค้ากับกรุงเทพฯ และหัวเมืองทางใต้ได้สะดวก ปริมาณมาก รวดเร็ว และราคาถูกกว่าขนส่งทางเรือและสัตว์ต่าง ดังนั้นเมื่อรถไฟมาถึงแขวงเมืองลองการค้าทางไกลโดยสัตว์ต่างก็สิ้นสุดลง และมีกลุ่มพ่อค้าชาวจีนและคนไทย(ภาคกลาง)อพยพเข้ามาค้าขายในแขวงเมืองลองมากขึ้น และค่อยๆ มีบทบาททางการค้าแทนที่พ่อค้าชาวพม่าชาวเงี้ยวซึ่งทำอยู่ก่อน เนื่องจากทางรถไฟทำให้ชาวจีนค้าขายได้สะดวกสามารถติดต่อกับพ่อค้าคนจีนที่กรุงเทพฯ ได้โดยตรง เช่น กลุ่มตระกูลแซ่จิว(จิตรประสงค์,จิตต์ประเสริฐ,จารุรัชต์) จะมีเครือข่ายส่งสินค้าเป็นจุดตามรายทางรถไฟคือ แขวงเมืองลอง(บ้านปิน,ห้วยอ้อ) เมืองนครลำปาง(สบตุ๋ย) และเมืองนครเชียงใหม่(สันป่าข่อย)โดยมีจุดส่งสินค้าใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ชาวจีนกลุ่มหลักในแขวงเมืองลองคือชาวจีนแต้จิ๋วที่ทำการค้าขาย รองลงมาคือชาวจีนไหหลำในตระกูลแซ่ย่าง วุรุน โล่นิมิต ตระกูลแซ่ด่าน(ด่านเจริญ,ด่านวนชัย,ศิลปอวยชัย) เชาวรัตน์ และภุมมะภูติ จะทำโรงเลื่อยไม้ ส่วนชาวจีนแคะมีจำนวนน้อยไม่มีบทบาททางการค้ามากนักในแขวงเมืองลอง หลายเมืองในเมืองขนาดใหญ่ เช่น นครเชียงใหม่ นครลำปาง พบว่าพอชาวจีนมีบทบาททางการค้ามากขึ้นก็ซื้อกิจการพ่อค้าพม่า พ่อค้าเงี้ยว หรืออินเดียในช่วงประมาณพ.ศ.๒๔๗๕ แต่ในเมืองลองเนื่องจากมีขนาดเล็กและกิจการไม่ใหญ่โตนักส่วนใหญ่เป็นนายฮ้อยทำป่าไม้ที่สะสมทุนให้รุ่นลูกรุ่นหลานเปิดร้านค้า เช่น ร้านทอง ร้านเครื่องใช้ ฯลฯ ดังนั้นจึงพบว่าแทนที่จะมีการซื้อกิจการเหมือนเมืองขนาดใหญ่ แต่จะใช้วิธีการสมรสกันระหว่างตระกูลพ่อค้าชาวจีนกับตระกูลพ่อค้าชาวพม่าหรือพ่อค้าเงี้ยวแทน เช่น ตระกูลจันทรสุรินทร์ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นการเชื่อมประสานเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าของเมืองลองยุคเก่าเข้ากับยุคใหม่

สินค้าในแขวงเมืองลอง(อาจมีบางส่วนมาจากแถบแม่ทะ แม่เมาะ และเถิน)ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๙ มีข้าวเปลือกเป็นสินค้าหลัก ชาวนาได้เปลี่ยนจากเพาะปลูกเพื่อใช้บริโภคมาปลูกเพื่อการค้ามากขึ้นดังปรากฏการเพิ่มขึ้นของจำนวนข้าวที่ส่งออกมากขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี เช่น สถานีบ้านปิน ในพ.ศ.๒๔๕๙ ส่งออก ๕๑ ตัน, พ.ศ.๒๔๖๐ ส่งออก ๕๒๗ ตัน และพ.ศ.๒๔๖๑ ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๘๐ ตัน ฯลฯ แต่ทว่าปริมาณการส่งออกก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกปี บางปีก็ลดลงตามผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศและวัวควายเป็นโรคห่า ดังพ.ศ.๒๔๖๓ ส่งออกลดลงเหลือเพียง ๑๒ ตัน โดยพ่อค้าชาวจีนจะเข้าไปซื้อตามหมู่บ้านและตั้งจุดรับซื้อที่สถานีรถไฟบ้านปิน ซึ่งชาวนาตามหมู่บ้านต่างๆ ก็จะนิยมหาบหรือใส่ล้อเกวียนมาขายให้ที่สถานีรถไฟเพราะได้ราคาดีกว่าขายภายในหมู่บ้านเล็กน้อย คือ ๑ ต๋าง(๓๐ ลิตร)ราคาประมาณ ๑๐ สตางค์ แล้วพ่อค้าจีนคนกลางจะนำไปขายต่อให้พ่อค้าจีนที่กรุงเทพฯ ซึ่งพ่อค้าและข้าราชการพยายามกระตุ้นการค้าขายข้าว เพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตของการค้า และชาวบ้านก็ตื่นตัวเห็นว่าเป็นช่องทางที่สามารถหาเงินได้ดี จึงพากันขายข้าวเปลือกจนเกิดสภาวะการขาดแคลนดังรายงานราชการจังหวัดลำปางพ.ศ.๒๔๖๔ ว่า  “...ที่อำเภอเมืองลองได้ขายเข้าให้พวกพ่อค้าหรือเป็นการตกแลกกันมาแต่ปีกลายนี้ ให้พ่อค้าพวกจีนบรรทุกรถไฟไปขายกรุงเทพฯ อยู่เสมอ และการตกลงแลกทราบว่าคิดค่าป่วยการกันแรงๆ เกือบ ๒ - ๓ เท่า น่าเกรงว่าราษฎรจะไม่มีเข้าเพียงพอรับประทานได้ ตลอดปี ทั้งจะไม่มีเข้าพันธุ์ต่อไปด้วย...”

ในตอนหลังชาวบ้านจึงค่อยลดการขายข้าวลง และหันมาผลิตเพื่อบริโภคเป็นหลักเหมือนเดิม ต่อมาในพ.ศ.๒๔๖๔ มีการตั้งโรงเลื่อยจำนวน ๒ แห่งริมทางรถไฟ คือ โรงเลื่อยเจริญผลที่ริมสถานีรถไฟบ้านปินของพ่อเลี้ยงแสวง เชาวรัตน์ นายทุนลำปาง และโรงเลื่อยริมสถานีรถไฟ ผาคอ ของโกด้าย แซ่ด่าน นายทุนคนจีนไหหลำ จึงมีวิธีการส่งออกมาเป็นไม้แผ่นที่แปรรูปส่งขายทางรถไฟ ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของแขวงเมืองลองแทนข้าวเปลือก ดังปรากฏการส่งออกที่สถานีบ้านปินพ.ศ.๒๔๖๔ ส่งออก ๒,๓๘๔ ตัน, พ.ศ.๒๔๖๗ ส่งออก ๒,๙๗๓ ตัน, พ.ศ.๒๔๖๘ ส่งออก ๓,๑๐๕ ตัน, พ.ศ.๒๔๗๐ ส่งออก ๓,๔๓๗ ตัน และพ.ศ.๒๔๗๗ ส่งออก ๓,๙๔๙ ตัน ส่วนสถานีรองและสถานีย่อย คือ สถานีแก่งหลวง สถานีผาคอ และสถานีห้วยแม่ต้าก็มีการส่งออกไม้แปรรูปเช่นกัน ซึ่งกิจการไม้แปรรูปของอำเภอเมืองลองขยายตัวอย่างมากดังสถานีบ้านปินในช่วงพ.ศ.๒๔๖๔ - ๒๔๗๔ ส่งออกไม้แปรรูปทางรถไฟมากกว่าสถานีรถไฟเชียงใหม่ สถานีรถไฟเด่นชัย สถานีรถไฟท่าเสา และสถานีรถไฟอุตรดิตถ์

ขณะเดียวกันการล่องแพซุงไปขายที่แขวงเมืองสวรรคโลกตามแม่น้ำยมก็ยังนิยมอยู่ โดยเจ้าวงศ์เกษม ณ ลำปาง(หลานเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต) ผู้รับสัมปทานทำป่าไม้ในแขวงเมืองลอง หลวงโยนการวิจิตร(หม่องปันโหย่ อุปโยคิน) คนสนิทของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่(เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ) รับสัมปทานป่าไม้ห้วยแม่ต้า และมีทายาทกลุ่มศักดินาเก่าเมืองลอง เมืองต้า รวมถึงคหบดีเชื้อสายไทใหญ่ – ไทเขินรับช่วงชักลากไม้ออกจากป่า แต่ย่นระยะเวลาโดยขากลับใช้วิธีขึ้นรถไฟที่สวรรคโลกมาลงที่สถานีบ้านปิน ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งก็คือทางบก เมื่อนำไม้ออกจากป่าโดยล่องไม้ตามแม่น้ำยม หลังจากนั้นก็นำไม้ขึ้นไว้บนฝั่งตามท่าน้ำต่างๆ เพื่อบรรทุกเกวียนไปขายที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมี“ค่าวยะไม้” ของลูกจ้างทำป่าไม้กับส่างอู๋ ซอมอย หรือ ส่างอุ๊ก บุตรของส่างซอ ผู้สร้างฉัตรทองคำของพระธาตุวัดดอนมูล และส่างรง(ญาติของส่างอู๋) คหบดีทำป่าไม้ในเมืองลองผู้มีเชื้อสายมาจากเมืองนครเชียงตุง สะท้อนถึงวิถีชีวิตของพ่อค้าไม้สักเมืองลองในสมัยช่วงประมาณพ.ศ.๒๔๕๐ – ๒๔๗๐

“เดือนยี่สี่สาม แม่จั๋นท์ดอกหย้อ  เฮาไปแต้นอ  ยะไม้ ปู่น้อยส่างรง  เป๋นคนฮับไม้  มาไว้ใจ๋ได้  อ้ายมา จั๋นตาบ้านพร้าว  เป๋นผู้จัดแจ๋ง  อ้ายโล่อ้ายแดง  ปู่น้อยจ๋อยง่อย ลูกส่างตังปล๋าย  มีหลายบ่หน้อย  ปากั๋นโตยไป  ยะล้อ ตำบลปากกาง  แม่ลานนาม้อ  ขี่ล้อต๋ำข้าว  โตยตาง ไปหยุดยั้งพัก  หัวนาผักหนาม  ตักน้ำมาดัง  หาหลัวหนึ้งข้าว วันพูกก่อนงาย  ปากั๋นต่องเต้า  เถิงแม่บงไจย  โต่งน้อย ไปเถิงแม่แขม  ต๋าวันต่ำก้อย  ลับเหลี่ยมเขาแก้ว อุทร ไปหยุดยั้งพัก  ขนครัวลงถม  ไปบ้านแม่แก้วริมยม ตี่โฮงพักตั้ง ปรึกษากั๋น  บ่หื้ออดกลั้น  ของกิ๋นมีนา  พร่ำพร้อม เฮาจักหากิ๋น  ของลำใดน้อง  ตังผักกาดจ้อน  ขายแปง  กิ๋นคาบหนึ่งแล้ว  คาบหน้าซื้อแถม  ขายถูกขายแปง  เหมือนกาดห้วยอ้อ สะบันงายม ก็มาหลามปล๋ายต้นหย้อ  ตั๋วคำญิงมาขี่รถซ้อนล้อ ซัดต๋าผ่อลูกป้อจายกิ่ม”

ส่วนชาวบ้านมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น เช่น อาชีพเลี้ยงหมู ทำไร่อ้อยส่งโรงงานน้ำตาลที่อำเภอเกาะคา, ทำไร่ยาสูบส่งโรงบ่มบ้านปินและโรงบ่มบ้านนาตุ้ม, รับจ้างขุดหรือขายแร่พลวง แร่วุลแฟลมบริเวณดอยโง้ม บ้านปิน, รับจ้างเป็นคนงานระเบิดศิลาบริเวณแก่งหลวง, ลูกจ้างโรงเลื่อย และลูกจ้างโรงบ่ม(เพาะกล้ายาสูบ,อบยา) ฯลฯ ด้านการหาของป่าก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะแถบตำบลวังชิ้นลงไป ดังปรากฏส่งออกของป่าสถานีรถไฟบ้านปินในพ.ศ.๒๔๗๖ ส่งเปลือกไม้ ๓๐ ตัน ของป่า ๑๐ ตัน หรือพ.ศ.๒๔๗๗ ส่งออกเปลือกไม้ ๓๐ ตัน ฯลฯ

ราคาสินค้าและค่าจ้างแรงงานในแขวงเมืองลองไม่มีความคงที่ ดังช่วงพ.ศ.๒๔๖๙ – ๒๔๗๔ เช่น

(๑) หมูหนัก ๕๐ ชั่ง (๖๐ กิโลกรัม) ตัวละ ๒๐ กว่าบาท

(๒) วัวควายตัวละ ๔๐ – ๕๐ บาท

(๓) ไก่ตัวละ ๓๐ – ๔๐ สตางค์

(๔) เป็ดตัวละ ๗๐ - ๘๐ สตางค์

(๕) ไข่ไก่ฟองละ ๒ - ๓ สตางค์

(๖) ไข่เป็ดฟองละ ๓ – ๔ สตางค์

(๗) ข้าวเปลือก ๕ กระสอบ(๒๐ กระบุง) ราคา ๒๕ – ๓๐ บาท

(๘) จ้างเลื่อยไม้ยกละ ๘ – ๑๒ บาท

(๙) ขุดบุกเบิกที่นา(กว้าง ๗ วา(๑๔ เมตร) ยาว ๘ วา(๑๖ เมตร)) นาละ ๓ - ๔ บาท

แต่มาถึงในช่วงพ.ศ.๒๔๗๕ ราคาสินค้าและค่าจ้างแรงงานในแขวงเมืองลองได้ลดลงหลายเท่าตัว เช่น

(๑) หมูหนัก ๕๐ กว่าชั่ง ตัวละ ๔ – ๕ บาท

(๒) วัวควายตัวละ ๑๔ – ๑๕ บาท

(๓) ไก่ตัวละ ๘ – ๑๒ สตางค์

(๔) เป็ดตัวละ ๒๕ – ๓๐ สตางค์

(๕) ไข่ไก่ ๓ ฟอง ๒ สตางค์

(๖) ไข่เป็ดฟองละ ๑ สตางค์

(๗) ข้าวเปลือก ๕ กระสอบ ๘ - ๑๑ บาท

(๘) จ้างเลื่อยไม้ยกละ ๒ – ๓ บาท

(๙) ขุดบุกเบิกที่นา นาละ ๑.๕๐ – ๒ บาท

พอในช่วงพ.ศ.๒๔๘๐ – ๒๔๘๔ ราคาสินค้าก็สูงขึ้นอีก เช่น เข้าเปลือก(ข้าวเหนียว)ถังละ ๖ บาท ข้าวสาร(ข้าวเหนียว)ถังละ ๑๒ บาท ข้าวจ้าวถังละ ๘ บาท ปลาทูตัวละ ๑ สตางค์ ปลาแห้ง ๓ ไม้ราคา ๑ สลึง(๒๕ สตางค์) โดยพ่อค้าชาวจีนและไทย(ภาคกลาง) จะเป็นกลุ่มที่ควบคุมระบบเศรษฐกิจทั้งหมดในอำเภอเมืองลองหลังเส้นทางรถไฟตัดผ่าน ดังพ.ศ.๒๔๗๕ มีร้านค้าคนจีนในตลาดห้วยอ้อไม่ต่ำกว่า ๑๐ ร้านจำหน่ายสินค้าหลักคือน้ำมันก๊าดเนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้ น้ำมันก๊าดจึงมีความจำเป็นมากสำหรับชาวบ้าน ซึ่งพ่อค้าชาวจีนและพ่อค้าไทยจะใช้วิธีการให้กู้ยืมข้าวเปลือก คือให้ชาวบ้านยืม ๔ กระบุงต้องใช้คืน ๖ กระบุง มีการขูดรีดชาวบ้านโดยใช้กระบุงตวงตอนให้ยืมขนาดเล็กกว่าปกติเกือบเท่าตัว หรือถ้าหากยืมข้าวสารจากโรงสี ๑ กระสอบราคา ๘ – ๙ บาท เมื่อใช้คืนต้องนำข้าวเปลือกถึง ๒๘ – ๓๐ สัดหรือประมาณเกือบเกวียน ที่ขณะนั้นราคาเกวียนละ ๗๐ กว่าบาท ซึ่งชาวบ้านเดือดร้อนมากเพราะเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต พ่อค้าจีนและไทยจะเข้าไปเอาข้าวถึงที่นาจนบางรายไม่เหลือข้าวใส่ยุ้งฉางต้องกู้ยืมข้าวต่อไปอีก เกิดความเดือดร้อนมากจนชาวบ้านในตำบลหัวทุ่งจำนวน ๒๘๒ รายพากันลงชื่อส่งถึงรัฐบาล ขอให้ช่วยเหลือจัดส่งสัดตวงมาตรฐานมาไว้ที่ว่าการอำเภอเมืองลอง และขอเลื่อนระยะเวลาเสียเงินรัชชูปการออกไป(ถ้าพ้นกำหนดเดือนกันยายนแต่ละปีจะถูกปรับคนละ ๘ บาท) และขอลดลงจาก ๔ บาทให้เหลือ ๒ – ๓ บาท

กิจการรถไฟนอกจากทำให้ชาวบ้านเริ่มเข้าสู่ระบบทุนนิยม และนำเงินบาทเข้ามาใช้แทนที่เงินรูปี ยังทำให้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ขึ้นในแขวงเมืองลอง โดยพ่อค้าชาวจีนและไทยที่เข้ามาลงทุนและตั้งถิ่นฐานในแขวงเมืองลอง มีการสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจโดยเป็นพ่อค้าคนกลางที่ในระยะแรกจะเป็นพ่อค้าคนกลางค้าข้าวเปลือก และต่อมามีทุนจึงได้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขั้นตั้น เช่น โรงเลื่อย, โรงสีข้าว, โรงปลาทู, โรงต้มเหล้า(แพะเตาเหล้า, อยู่บริเวณปั๊มน้ำมันด้านหน้าโรงเรียนห้วยอ้อในปัจจุบัน) และโรงบ่มใบยาสูบ(มี ๒ แห่ง คือบ้านปินกับบ้านนาตุ้ม) ฯลฯ มีการประสานผลประโยชน์กับกลุ่มนายทุนเดิมคือพ่อค้าชาวพม่าเงี้ยวทางการสมรส และต่อมาจะกลายเป็นชนชั้นกลางในแขวงเมืองลอง และมีทายาทเป็นนักการเมืองถึงระดับจังหวัด(ลำปาง,แพร่)และระดับชาติ แต่การที่มีคนกลุ่มใหม่เข้ามา ระยะแรกจึงไม่ได้มีความสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์กับคนในพื้นที่ ดังเกิดกรณีมีนายทุนจำนวนหนึ่งฟ้องร้องเอาที่ธรณีสงฆ์ของวัดพระธาตุศรีดอนคำ (พญาศรีสองเมือง เจ้าเมืองลำปางได้กัลปนาถวายไว้เมื่อพ.ศ.๒๑๖๙) ที่ทางวัดได้ให้เช่าอาศัยและตั้งร้านค้าในช่วงพ.ศ.๒๕๐๖ จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตและยืดเยื้ออยู่กว่าสิบปี จนกระทั่งทางวัดพระธาตุศรีดอนคำได้นำพับสาตำนานพระธาตุศรีดอนคำมาใช้อ้างเป็นหลักฐานในชั้นศาล ศาลจึงตัดสินให้ทางวัดพระธาตุศรีดอนคำชนะการฟ้องร้องคดีในพ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของเหล่าพระสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่ในอำเภอลองมาจนปัจจุบัน แต่การขยายตัวด้านเศรษฐกิจในอำเภอลอง ขยายตัวมากเฉพาะในส่วนตำบลบ้านปิน บริเวณใกล้สถานีรถไฟและตำบลห้วยอ้อที่เป็นตลาดศูนย์กลางเท่านั้น ตำบลรอบนอกอื่นๆ ยังอยู่ในระบบผลิตเพื่อยังชีพเป็นส่วนใหญ่ ดังช่วงพ.ศ.๒๕๐๐ ยังปลูกฝ้ายใช้ถึง ๑๐๐ ครอบครัว ปั้นหม้อ ทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เอง ยอมสีจากธรรมชาติ ส่วนกลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองลองและขุนนางก็ไม่ได้เข้าสู่ระบบการค้าโดยตรง ส่วนใหญ่อาศัยมีมรดกคือช้างใช้รับช่วงชักลากไม้ออกจากป่าหรืออาศัยผืนที่นาและวัวควายที่มีจำนวนมากแบ่งให้ชาวบ้านได้เช่าทำที่เรียกว่า “นาผ่า” เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ได้รับผลประโยชน์เป็นข้าวเปลือกหลังจากนั้นจึงนำไปขายอีกทอดหนึ่ง สามารถรักษาสถานะได้ระดับหนึ่งภายในชุมชน ที่ทายาทรุ่นต่อมายังเป็นผู้นำชุมชนหรือเข้ารับราชการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เสมียนตีตราไม้ เจ้าฝาย(แก่ฝาย) ครู ทหาร และตำรวจ ฯลฯ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งภายในอำเภอลอง

ภูเดช แสนสา

ที่ทำการสถานีรถไฟบ้านปิน  อำเภอลองในอดีต (ที่มา : สถานีรถไฟบ้านปิน)

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายที่สถานีรถไฟบ้านปิน อำเภอเมืองลอง จังหวัดนครลำปาง (ที่มา : หนังสือพระราชทานเพลิงศพพระครูวิศาลศีลวัฒน์)

บริเวณแก่งหลวงริมทางรถไฟไฟในอดีต (ที่มา : ปกิณกวัฒนธรรมจังหวัดแพร่

ขบวนรถไฟเดินทางลัดเลาะทางข้างฝั่งแม่น้ำยม

ช่วงกำลังขุดเจาะและทำผนังเพดานอุโมงค์รถไฟบริเวณขุนตาล จังหวัดลำปาง อุโมงค์เจาะสำเร็จพ.ศ.๒๔๕๗ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แผนที่สัญญาทำป่าส่วนตอนใต้ของแขวงเมืองลอง  พ.ศ.๒๔๖๑

แผนที่สัญญาทำป่าส่วนแม่ต้า(เมืองต้า)ฝั่งตะวันออก  แขวงเมืองลอง  พ.ศ.๒๔๖๑

ท่อนซุงและช้างลากไม้บริเวณแก่งหลวง  แม่น้ำยม

กองไม้ขอนสักจำนวนมากที่รอรถไฟเล็กขนออกจากป่าแห่งหนึ่งของล้านนา

ชาวนากำลังใช้ก๋าวีพัดเมล็ดข้าวลีบออก

ชาวนากำลังหาบข้าวจากท้องนาไปไว้ที่ยุ้งฉาง

ชาวนาทั้งผู้ใหญ่และเด็กกำลังหาบมัดข้าว และข้างหลังคือ “เสวียน” ใช้สำหรับเก็บเมล็ดข้าว

ร้านลองการเกษตรในอดีตช่วงที่รถไฟเข้ามาถึงคือโรงแรมชั้นหนึ่งของเมืองลอ (ที่มา : พระปลัดสมบูรณ์  สิริวณฺโณ, ๒๕๕๒)

ลักษณะบ้านเรือนของชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านห้วยอ้อและบ้านปิน (ที่มา : พระปลัดสมบูรณ์  สิริวณฺโณ, ๒๕๕๒)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 15 •มกราคม• 2013 เวลา 09:19 น.• )