การสร้างสำนึกใหม่ในหน่วยอำเภอลองของรัฐไทย เมืองลองแม้ว่าไม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็น “อาณาจักร” ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งตั้งอยู่แอ่งที่ราบขนาดเล็กมีพื้นเพาะปลูกน้อยตลอดถึงมีไพร่พลเบาบาง จึงไม่สามารถสั่งสมอำนาจได้เหนือกว่าเมืองอื่นที่ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบขนาดใหญ่กว่า เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองแพร่ ฯลฯ แต่ทว่าเมืองลองก็เป็นเสมือน “รัฐ” ขนาดเล็กที่สามารถสถาปนาความเป็นเมืองศูนย์กลางขึ้นเหนือกว่าเมืองตรอกสลอบ เมืองต้า และเมืองช้างสารที่ตั้งอยู่ภายในแอ่งเดียวกัน ด้วยเมืองลองมีชัยภูมิตั้งอยู่กึ่งกลางแอ่ง มีที่ราบในการเพาะปลูก กำลังไพร่พล และทรัพยากรต่างๆ มากกว่า เมืองลองและเมืองบริวารเหล่านี้แต่ละเมืองจะมีอิสระจัดการปกครองภายใน ตลอดถึงมีประวัติศาสตร์และความทรงจำของตนเอง ซึ่งเมืองลองสามารถคงความเป็นเมืองอยู่ได้ตลอด ส่วนเมืองต้าก็ฟื้นฟูขึ้นเป็นระยะๆ และฟื้นฟูครั้งหลังสุดก็คงความเป็นเมืองมาได้ร่วมศตวรรษเศษ เมื่อจัดปฏิรูปการปกครองพ.ศ.๒๔๔๒ มีการนำระบบราชการไทยเข้ามา เมืองลอง เมืองต้าถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ขึ้นใหม่ ในรูปของการปกครองระบบจังหวัด(เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัดพ.ศ.๒๔๕๖) ความเป็น “เมืองลอง” “เมืองต้า” ถูกทำลายลงกลายเป็นเพียงอำเภอและตำบลหนึ่งของสยาม

การสร้างสำนึกหน่วยการปกครองท้องที่แบบใหม่นี้มีการเลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลา ครั้งแรกพ.ศ.๒๔๔๒ ได้รวมเมืองลอง เมืองต้าเป็นแขวงเมืองลอง จังหวัดลำปาง มีทั้งหมด ๖ แคว้น(ตำบล) และช่วงทศวรรษ ๒๔๖๐ – ๒๔๗๐ อำเภอเมืองลองเพิ่มเป็น ๑๐ ตำบล เนื่องจากประชากรเริ่มหนาแน่นมีการแยกตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่หลายหมู่บ้านปกครองไม่ทั่วถึง จึงจัดตั้งตำบลบ้านปิน(แยกจากตำบลห้วยอ้อพ.ศ.๒๔๗๘) ตำบลต้าผามอก(แยกจากตำบลเวียงต้า) ตำบลแม่ป้าก(แยกจากตำบลทุ่งแล้ง) ตำบลนาพูน(แยกจากตำบลวังชิ้น) และตำบลสรอย(แยกจากตำบลวังชิ้น) กระทั่งวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ แยกตำบลวังชิ้น ตำบลแม่ป้าก ตำบลนาพูน และตำบลสรอย อำเภอเมืองลอง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังชิ้น และยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอวังชิ้นในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ มีจำนวน ๔ ตำบล(ตำบลวังชิ้น ตำบลแม่ป้าก ตำบลนาพูน และตำบลสรอย) ๓๔ หมู่บ้าน ดังนั้นอำเภอลองจึงเหลืออยู่ ๗ ตำบล (๕๘ หมู่บ้าน) ภายหลังได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก ๒ ตำบล คือ ตำบลบ่อเหล็กลอง(แยกจากตำบลหัวทุ่งพ.ศ.๒๕๓๖) และตำบลแม่ปาน(แยกจากตำบลห้วยอ้อพ.ศ.๒๕๓๙) หน่วยการปกครองอำเภอลองตามกระทรวงมหาดไทยถึงปัจจุบันจึงมีทั้งหมด ๙ ตำบล (๘๘ หมู่บ้าน) คือ (๑) ตำบลห้วยอ้อ (๒) ตำบลหัวทุ่ง (๓) ตำบลปากกาง (๔) ตำบลทุ่งแล้ง (๕) ตำบลเวียงต้า (๖) ตำบลต้าผามอก (๗) ตำบลบ้านปิน (๘)ตำบลบ่อเหล็กลอง และ(๙) ตำบลแม่ปาน

ส่วนอำเภอวังชิ้นในปัจจุบันมี ๓ ตำบล (๗๙ หมู่บ้าน) คือ (๑) ตำบลวังชิ้น (๒) ตำบลแม่ป้าก (๓) ตำบลนาพูน (๔) ตำบลสรอย (๕) ตำบลป่าสัก(แยกจากตำบลสรอย) (๖) ตำบลแม่พุง(แยกจากตำบลสรอยพ.ศ.๒๕๑๘) และ(๗) ตำบลแม่เกิ๋ง(แยกจากตำบลแม่ป้ากพ.ศ.๒๕๓๘)

อำเภอลองได้รวมเอาเมืองต้าที่เคยเป็นเมืองขึ้น และถือเป็นอีกหน่วยหนึ่งที่มีอิสระทางการปกครองในยุคจารีตรวมเข้าไว้ด้วยกัน ในส่วนปริมณฑลที่เคยเป็นหางเมืองลองซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางก็ถูกตัดแบ่งออกเป็น “อำเภอวังชิ้น” แยกเป็นอีกหน่วยการปกครองสมัยใหม่ หรือบ้านบ่อแก้ว ที่เคยเป็นหมู่บ้านปลายเขตแดนของเมืองลองก็โอนให้เป็นหมู่บ้านในแขวงแม่พวก(อำเภอสูงเม่น) โดยคำนึงถึงความสะดวกในการควบคุมปกครอง ระยะทางติดต่อราชการ และเรียกเก็บผลประโยชน์ มากกว่าตระหนักถึง “ประวัติศาสตร์” หรือ “ความทรงจำร่วม” ของคนภายในท้องถิ่น ดังโอนอำเภอลอง(เมืองลอง)จากจังหวัดลำปาง(เมืองนครลำปาง) ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันมาหลายร้อยปีในฐานะ “เมืองพี่เมืองน้อง” “เมืองบริวาร” ให้ขึ้นกับจังหวัดแพร่ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ ด้วยเหตุผลของความสะดวกในการติดต่อราชการ หรือแยกจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังชิ้นในพ.ศ.๒๔๘๑ เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บภาษีอากรและจัดการปกครอง จึงทำให้ท้ายที่สุดเมืองลองและเมืองต้าล่มสลายกลายเป็นเพียงหน่วยการปกครองอำเภอหรือตำบลหนึ่งของ “จังหวัดแพร่” และ “ประเทศไทย” เท่านั้น การจัดแบ่งหน่วยการปกครองรูปแบบใหม่นี้ก่อนทศวรรษ ๒๕๐๐ หรือใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้มีผลต่อสำนึกของราษฎรมากนัก ยังคงมีสำนึกในความเป็น “เมืองลอง” “เมืองต้า” มากกว่าหน่วยการปกครองรูปแบบใหม่ที่กรุงเทพฯ จัดส่งเข้ามา แม้ปัจจุบันคนในแถบตำบลเวียงต้าและต้าผามอกก็ยังเรียกพื้นที่ตำบลอื่นๆ ในอำเภอลองว่า “เมืองลอง” และ “คนเมืองลอง” ก็ยังเรียกพื้นที่ทั้งสองตำบลว่า “เมืองต้า” อยู่เช่นเดิม เนื่องจากราษฎรไม่ได้ติดต่อกับทางราชการโดยตรงแต่ติดต่อผ่านผู้ใหญ่บ้านที่ส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน (ปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านยังเป็นตัวแทนเก็บรวบรวมเงินเสียภาษีของชาวบ้านไปเสียที่อำเภอ) และระบบราชการก็อยู่ห่างไกลจากวิถีชีวิตชาวบ้าน การกระทำแบบราชการจึงเป็นเพียงหน้าที่เมื่อเสร็จภารกิจก็เลิกแล้วกันไป ขณะที่พิธีกรรมความเชื่อทั้งที่เกี่ยวกับเมือง หมู่บ้าน เรือนอยู่ใกล้ชิดและฝังอยู่ในจิตใจของชาวบ้าน เมื่อเข้าร่วมหรือกระทำจึงออกมาจากก้นบึ้งของจิตใจด้วยความเชื่อศรัทธา คล้ายกับ “ภาษาไทย” ที่บางคนอาจใช้เมื่อติดต่อกับทางราชการแต่เมื่อพูดคุยปกติในชีวิตประจำวันก็ใช้ “ภาษาล้านนา(คำเมือง)” แม้ปัจจุบันคนในอำเภอลองจำนวนไม่น้อยที่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไปยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นตามความรู้สึกของชาวบ้านเมื่อตอนเป็นอำเภอลอง จังหวัดลำปาง หรือ โอนมาเป็นอำเภอลอง จังหวัดแพร่ก็ไม่ได้มีผลกระทบกับชาวบ้านเพราะยังเป็นอำเภอลอง(เมืองลอง)เหมือนเดิม แต่ทว่าหน่วยการปกครองแบบใหม่ก็มีอิทธิพลในด้านขอบเขต ดังก่อนโอนอำเภอลองขึ้นกับจังหวัดแพร่ หัววัดในเมืองนครลำปาง เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดดอนไฟ วัดหัวเสือ วัดนาดง ฯลฯ “หัววัดเติงกั๋น” ไปมาหาสู่กันเสมอกับหัววัดในเมืองลอง จนทำให้ผู้คนทั้งสองฝากภูเขาของลำปางและลองต่างเรียกขานกันถึงปัจจุบันว่า “บ้านหล่ายดอย” หรือก่อนแบ่งเป็นอำเภอวังชิ้นพระสงฆ์ก็เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน แต่ภายหลังเมื่อจัดแบ่งหน่วยการปกครองใหม่ขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้หัววัดขาดกันไปโดยปริยาย ตลอดจนประเพณีเลี้ยงผีเมืองที่เดิมหมู่บ้านต่างๆ ในแถบวังชิ้นต้องมีส่วนร่วมด้วยและกะเหรี่ยงบ้านโป่งต้องนำกะเหรี่ยงหมู่บ้านต่างๆ นำข้าวไร่มาให้บ้านนาตุ้มหมักเหล้าเลี้ยงผีเมือง แต่เมื่อแบ่งเขตเป็นอำเภอวังชิ้นจึงทำให้ปัจจุบันชาวบ้านในอำเภอวังชิ้นไม่ได้เข้าร่วม และบ้านแม่แขม(แยกจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงบ้านค้างตะนะ)ที่อยู่เขตอำเภอลอง ต้องทำหน้าที่นำเหล้ามาให้แทนหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ในเขตอำเภอวังชิ้น

ระบบการศึกษาได้ค่อยๆ สร้างสำนึกของคนจาก “อำเภอลอง” แทนคำว่า “เมืองลอง” “คนเมืองลอง” “คนเมืองต้า” จึงจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนขึ้นใหม่ ว่าอยู่หมู่บ้านอะไรหรือตำบลไหนของอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งหลักฐานทางราชการก็ค่อยๆ ลดความนิยมใช้คำว่า “แขวงเมืองลอง” หรือ “อำเภอเมืองลอง” ซึ่งปรากฏครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ.๒๔๘๒ หลังจากนี้คำว่า “เมือง” หายไปจึงใช้ “อำเภอลอง” มาถึงปัจจุบัน การสร้างสำนึก “อำเภอลอง จังหวัดแพร่” ผ่านแบบเรียนที่เขียนขึ้นภายใต้กระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกครอบงำโดยประวัติศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากการผลักดันตามนโยบายของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม” เช่น หนังสือแพร่...ประตูสู่ล้านนา ได้ใช้เป็นแบบเรียนของหมวดวิชาสังคมศึกษารายวิชา ส.๐๑๗ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หนังสือประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ๘๐๐ ปีที่ใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบการศึกษาค้นคว้าของโรงเรียนลองวิทยา หรือโรงเรียนระดับประถมศึกษาต่างๆ ในอำเภอลองทุกวันตอนเช้าต้องเข้าแถวร้องเพลงชาติและเคารพธงชาติไทย ก่อนเลิกเรียนก็กล่าวท่องจำคำขวัญจังหวัดแพร่ คำขวัญอำเภอลอง ชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ชื่อนายอำเภอลอง ตลอดถึงชื่อกำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงสร้างสำนึกให้ซึมซับกับเยาวชนที่ผ่านการศึกษาระบบโรงเรียนว่า หมู่บ้านและตำบลที่ตนอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอลอง อำเภอลองเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแพร่ และจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย เป็น “คนไทย” “เชื้อชาติไทย” ดังนั้นเยาวชนรุ่นหลังทศวรรษ ๒๕๐๐ ที่ผ่านระบบการศึกษาแบบโรงเรียน จึงมีสำนึกตามที่รัฐสร้างว่า “เมืองลอง” “เมืองต้า” เป็นเพียง “ตำบล” หรือ “อำเภอ” หนึ่งของจังหวัดแพร่หรือประเทศไทยเหมือนกับตำบลและอำเภออื่นๆ เท่านั้น แม้จะรับรู้ว่าอำเภอลองเคยเป็น “เมืองลอง” แต่ก็นึกไม่ออกว่า “ความเป็นเมืองลอง” มีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร มากกว่ารู้เพียงแค่ว่า “เคยเป็นเมืองและมีเจ้าเมืองปกครอง”  อย่างไรก็ตามด้วยเมืองลองมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ความเป็นเมืองลองก็ไม่ได้ถูกกลืนด้วยรัฐไทยเลยเสียทีเดียว แต่ทว่ามีการให้ความหมาย “เมืองลอง” ใหม่โดยสวมทับลงบนหน่วยการปกครองแบบใหม่ที่เรียกว่า “อำเภอลอง” ถึงแม้ว่าตำบลเวียงต้าและตำบลต้าผามอกเคยเป็นเมืองมีการปกครองตนเองมาก่อน หรืออำเภอวังชิ้นคือปริมณฑลส่วนหนึ่งของเมืองลองก็ตาม แต่ปัจจุบันหากกล่าวถึง “เมืองลอง” แทบทุกคนจะมีจินตภาพขึ้นมาทันทีว่าคือ “อำเภอลอง” และตั้งแต่พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นต้นมารัฐบาลยกเลิกเก็บเงินรัชชูปการ(ภาษี ๔ บาท) เพื่อปรับปรุงระบบการเก็บภาษีอากรใหม่ มีการออกบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ มีบัตรประจำตัวประชาชน มีทะเบียนบ้านที่ระบุว่า “อำเภอลอง” ก็สามารถนิยามตนเองได้ว่า “เป็นคนเมืองลอง” ขณะที่ชาวเมืองต้าเองก็เกิดความสับสน ระหว่างหน่วยการปกครองแบบเมืองต้ากับหน่วยตำบลแบบใหม่ ดังบางคนในตำบลต้าผามอกบอกว่าตนไม่ใช่ “คนเมืองต้า” เมืองต้าคือส่วนที่เป็นตำบลเวียงต้าในปัจจุบัน ส่วนคนที่เคยเรียกตนเองว่าเป็น “คนเมืองลอง” เมื่อถูกแบ่งหน่วยการปกครองใหม่เป็นอำเภอวังชิ้นก็ไม่สามารถนิยมตนเองว่าเป็น “คนเมืองลอง” ได้ ภายหลังจึงมีการนิยามอำเภอวังชิ้นว่าเป็น “เมืองวังชิ้น” หรือนำชื่อเมืองโบราณที่เคยตั้งอยู่บริเวณนี้ในอดีตกลับรื้อฟื้นมาใช้อีกครั้งว่า “เมืองตรอกสลอบ” ส่วนตำบลสรอย อำเภอวังชิ้นที่มีตำนานเกี่ยวกับเจ้าหมื่นด้งนครสร้างเวียงซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ก็นิยามว่าเป็น “เมืองด้งนคร” และการให้ความหมายตำแหน่งแห่งที่ของ “คนเมืองลอง” “คนเมืองต้า” ในยุคปัจจุบันก็เลื่อนไหลอยู่เสมอ เช่น หากพูดกับคนในจังหวัดแพร่ก็บอกว่าตนเป็น “คนเมืองลอง” “คนเมืองต้า” แต่หากพูดกับคนต่างจังหวัดก็บอกว่าเป็น “คนจังหวัดแพร่” เพื่อสื่อให้เข้าใจได้ง่าย การให้ความหมายจึงขึ้นอยู่กับการมีปฏิสัมพันธ์ ที่แสดงถึงการจัดตำแหน่งแห่งที่ของคน “เมืองลอง” “เมืองต้า” ในปัจจุบัน รวมถึงการสำนึกเรื่อง “คนเมืองลอง” “คนอำเภอลอง จังหวัดแพร่” ของคนเมืองลอง และ “คนเมืองต้า” “คนตำบลเวียงต้า ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง” ของคนเมืองต้า จึงขึ้นอยู่กับบริบทและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่สัมพันธ์ด้วยว่าเป็นใคร และแปรเปลี่ยนไปตามช่วงมิติเวลา

ภูเดช แสนสา

พระปรมานุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้งนคร ที่โรงเรียนสรอยเสรีวิทยา (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

แผ่นป้ายผ้าประชาสัมพันธ์ “งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองตรอกสลอบปี ๒๕๕๔” โดยเทศบาลตำบลวังชิ้น (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๔)

ครูบาไชยลังการ์ วัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ขออนุญาตทำบั้งไฟจุดในงานทำบุญฉลองของวัดห้วยอ้อ(ศรีดอนคำ) อำเภอลอง จังหวัดลำปางในวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๔

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 05 •กุมภาพันธ์• 2013 เวลา 16:33 น.• )