สร้างความเป็นไทยให้คนเมืองลอง(เมืองต้า) ผ่านการศึกษา รัฐพิธี และสื่อต่าง ๆ การศึกษาในระบบจารีตของเมืองลองจะสัมพันธ์กับพุทธศาสนา เป็นกระบวนการถ่าย ทอดความรู้ตามธรรมเนียมจารีตท้องถิ่นที่สืบมาแต่โบราณจากรุ่นสู่รุ่น โดยใช้วัดเป็นสถานศึกษาและมีพระภิกษุเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เรียน เช่น อักษรธรรมล้านนา พระธรรมตำนาน จารคัมภีร์ใบลาน เขียนพับสา โหราศาสตร์ หมอยา และงานช่างแขนงต่างๆ ฯลฯ เมื่อชายใดผ่านการบวชแล้วถือว่าเป็น “คนสุก” ก็จะได้รับการยกย่องทางสังคม มีโอกาสสูงที่จะได้เลื่อนสถานะทางสังคมเป็นไพร่ชั้นดีหรือรับตำแหน่งขุนนางเมือง เนื่องจากผู้ที่ได้ผ่านการบวชเรียนในอดีตมีจำนวนน้อยเพราะทำให้ครอบครัวขาดแรงงาน จึงนิยมให้เด็กบรรพชาเป็นสามเณรมากกว่าให้ชายหนุ่มฉกรรจ์บวชเป็นพระภิกษุ หากเคยบรรพชาเป็นสามเณร(บวชพระ)จะมีคำนำหน้านามบ่งบอกสถานะหรือระดับทางการศึกษาว่า “น้อย” บวชเป็นภิกษุ(เป็กข์ตุ๊)จะมีคำว่า “หนาน(ขนาน)” และหากเคยเป็นเจ้าอาวาส(ตุ๊หลวง)หรือครูบาจะได้รับการนับถือมากเรียกว่า “หนานหลวง”(ขนานหลวง)

นอกจากเรียนในวัดแล้ว ภายในเมืองลองยังมีการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดจากครอบครัวเป็นตระกูล เช่น ช่างเหล็ก ช่างคำ ช่างเงิน ช่างไม้ ช่างปั้น ช่างทอผ้า ตลอดถึงช่างซอ ช่างปี่ ฯลฯ หากมีความชำนาญก็สามารถเลื่อนสถานะขึ้นเป็นขุนนางได้เช่นกันโดยเฉพาะตำแหน่ง “หมื่นวัด” ซึ่งกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็น “คนดิบ” คือไม่ได้ผ่านการบวชเรียนเพราะต้องทำหน้าที่ควบคุมผลประโยชน์และการก่อสร้างซ่อมแซมภายในวัดนั้นๆ ส่วนเด็กผู้หญิงที่ไม่สามารถบวชเรียนได้จึงเรียนรู้อยู่บ้านกับย่า ยาย แม่หรือน้าป้า โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นตีนจกถือว่าเป็นงานฝีมือชั้นสูงของผู้หญิงเมืองลองเพราะมีจำนวนน้อยมากที่ทอได้และส่วนใหญ่สืบทอดเป็นตระกูล งานฝีมือเหล่านี้จึงศึกษาไว้เพื่อเตรียมตัวออกเรือนเป็น “แม่ศรีเรือน” ช่วยเสริมศักดิ์และศรีของสามี ตลอดถึงช่วยเลื่อนสถานะทางสังคมของวงศ์วานผ่านทางการสมรส ดังอดีตในเมืองลองเมื่อแต่งงานผู้ชายจะสะพายดาบเหล็กลองขึ้นเรือนเป็นสัญลักษณ์ว่าจะดูแลปกป้องหญิงอันเป็นที่รัก ส่วนฝ่ายหญิงสาวจะใช้ผ้าซิ่นตีนจกเป็นของไหว้แม่สามีในวันแต่งงาน ซึ่งค่าวย่าสอนหลานของแม่อุ๊ยสี ใจดี บ้านร่องบอน ตำบลปากกาง อำเภอลอง ที่จดจำสั่งสอนสืบทอดมาจากแม่ สะท้อนโลกทัศน์ของอดีตผู้หญิงในเมืองลองได้เป็นอย่างดี “หมั่นกวักแลโว้น โก๊งกว๊างเผียขอ หื้อหมั่นตำตอ แผ่นผืนเสื้อผ้า เก็บก๊อนต๋าเหลือง เป๋นลายหม่าบ้า เป๋นต๋าแดงดำ ดอกยก รูปนาครูปสิงห์ รูปลิงรูปนก เก็บตั๋วแซ่วผ้า แดงดำ เป๋นลายดอกไม้ เมืองกรสวรรค์ ขาวเขียวแดงดำ เก็บตั๋วหัวผ้า ญิงบ่ช่างแป๋ง ไปถามน้าป้า ที่เขาคนเคย ช่างคิด เปิ่นจักสั่งสอน หื้อหมั่นล่ำคิด หื้อจ๋ำใส่ไส้ ตอตำ จักไปขี้คร้าน บิ่นข้างหลังต๋ำ ควรดีเงี่ยฟัง สองหูเป่งป้อย น้องเป๋นสาวจี๋ นารีหนุ่มน้อย เขาจักนินทา เล่าฮ้าย คนบ่ช่างหยัง ว่าดูผั่งค์ฮ้าย บ่รู้หูกฝ้าย กองญิง แอ่วไปละเล๊ะ อยากแล้วมากิ๋น เฮียกก๋ารญิง กิ๋นแล้วบ่สร้าง กอนน้องได้ผัว มานอนแอ้มข้าง บ่มีครัวเฮือน จะใจ้ ผ้าห่มสะลี ดีหามาไว้ ยามเปิ่นเปียงข้าง ญิงโตน จะไปชั่วฮ้าย แอ่วเล่นสับสน ไปจุจายลม จวบจู๊อู้เล่น”

โดยการศึกษาในยุคจารีตมีเป้าหมายหลักคือไว้เพื่อดำรงชีพ ด้วยความสำคัญต่อการดำรงชีวิตจึงมีการถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอย่างสืบเนื่อง เมื่อเริ่มปฏิรูปการศึกษาในล้านนาหรือมณฑลพายัพ สยามได้เริ่มต้นนำระบบโรงเรียนแบบตะวันตกเข้ามาใช้ นอกจากเพื่อผลิตข้าราชการให้เพียงพอกับระบบราชการที่ขยายตัวอย่างมาก จุดมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เพื่อเป็นการ “...ชักภาให้กลมเกลียวสนิทกับไทย...” ไม่แบ่งแยกว่าเป็น “คนลาว” เป็น “คนไทย” เพราะเดิมมีความแตกต่างกันมากสะท้อนจากเมื่อข้าหลวงสยามขึ้นมาในล้านนาต้องใช้ล่ามแปลภาษา การศึกษาระบบโรงเรียนแผนใหม่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการเปลี่ยนความคิดของเยาวชนในแขวงเมืองลอง ให้สำนึกว่าตนไม่ใช่เป็นเพียง “คนเมืองลอง” “คนเมืองต้า” หรือเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของเจ้าผู้ครองนครลำปาง(กษัตริย์นครประเทศราชลำปาง) เจ้าเมืองลอง หรือเจ้าเมืองต้าอีกต่อไปแล้ว แต่มีฐานะเป็นพลเมืองของ “รัฐไทย” ที่จะต้องมีความรักชาติและจงรักภักดีต่อกษัตริย์ไทย ดังสมเด็จเจ้าฟ้าวชิราวุธ(ต่อมาคือรัชกาลที่ ๖)กราบทูลรัชกาลที่ ๕ ว่า “...ถ้าประสงค์จะให้พวกลาว(คนล้านนา – ผู้เขียน)เชื่อง จะฝึกหัดในทางอื่นไม่ดีเท่ากวาดเด็กเข้าโรงเรียน จะได้ดัดสันดานและความคิดเสียตั้งแต่ยังเยาว์...”

สาเหตุที่ชาวเมืองลองและชาวสยามมีความแตกแยกกัน เพราะเมืองลองมีพัฒนาการสืบเนื่องมายาวนาน ถึงแม้ว่าจะมีภาษาเขียน(อักษรธรรมล้านนา)เหมือนหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านนา ซึ่งเป็นอักษรต้นแบบที่เผยแพร่ใช้ไปถึงเชียงตุง สิบสองพันนา และล้านช้าง(ลาว,อีสาน) แต่เมืองลองก็มีภาษาพูดที่มีสำเนียงและคำศัพท์บางคำที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ดังสะท้อนคำกล่าวถึงศัพท์สำเนียงของคนเมืองลองกับเมืองต้าที่ต่างกันว่า “เจ้าต้าเปลืองต๋อง เจ้าลองเปลืองหลิ่ง” ตลอดจนมีขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีวัฒนธรรมเป็นรูปแบบเฉพาะของตน นอกจากนี้ชาวเมืองลองเมืองต้าก็เหมือนกับหัวเมืองอื่นๆ ในล้านนาที่มีความใกล้ชิดกับชาวพม่า เงี้ยวมากกว่าชาวสยาม และมีความสัมพันธ์ทางการค้าขายและการสมรสมาเป็นเวลายาวนาน เพราะล้านนาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าถึง ๒๐๐ กว่าปี ประกอบกับมีการทำสงครามกันเสมอระหว่างล้านนากับอยุธยา โดยเฉพาะอยุธยาแตกทั้ง ๒ ครั้งก็มีกองทัพของชาวเมืองลอง เมืองต้า ร่วมกับหัวเมืองอื่นในล้านนา หัวเมืองไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขินเข้าร่วมกับกองทัพพม่าเข้าโจมตี ด้วยสาเหตุข้างต้นชาวสยามจึงถือว่าเมืองลองและเมืองต้าเป็นบ้านเมืองต่างชาติต่างภาษา แบ่งแยกเชื้อชาติกันอย่างชัดเจนว่าเป็น “คนลาว(ลาวพุงดำ)” กับ “คนไทย” ขณะที่ชาวเมืองในล้านนาเองก็ถือว่าชาวสยามคบไม่ได้ และไม่ใช่ญาติพี่น้องเพื่อนพ้องของตนเหมือนอย่างชาวพม่าและชาวรัฐฉาน ดังสะท้อนในตำนาน ๔ เกลอว่า “...ทีนั้น เขา ๓ ฅน(คนล้านนา คนพม่า คนรัฐฉาน - ผู้เขียน) ก็อู้กันว่าชาติชาวไธย(สยาม - ผู้เขียน)นี้มันเปนเชื้อแลนสองลิ้น...ถูกพระพุทธเจ้าตำนวายไว้เสียแล้วแล...มันเปนฅนช่างอู้ ช่างฟู่มากปากได้ใจบ่ตามปากหลายลิ้นปลิ้นหลายเสียง สัพพะหลี้หลอแหลแผผิดแผก มันใคร่แยกจากเราไปก็อย่าหนาฅบมันเทอะสูเจ้าเฮย...”

ในยุคแรกที่มีการปฏิรูปการศึกษาในมณฑลพายัพ มีการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นแบบแผนเดียวกัน โดยยึดภาษาพูด ภาษาเขียน ความรู้ และทัศนคติของสยามเป็นหลัก โดยส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาไทยมาบ้างตั้งแต่พ.ศ.๒๔๔๒ และเน้นมากขึ้นหลังเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยว” ในระยะแรกรัฐบาลสยามยังผ่อนผันให้เรียนอักษรธรรมล้านนาเพราะรู้ดีว่าไม่สามารถที่จะห้ามได้ แต่ใช้วิธีกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นข้าราชการทุกคนต้องรู้หนังสือไทยเท่านั้น ส่วนผู้สนใจเรียนอักษรธรรมล้านนา ถึงแม้ว่ามีความเชี่ยวชาญเพียงใดแต่ไม่อาจเข้ารับราชการได้ ซึ่งรัฐบาลสยามเห็นว่าในอนาคตภาษาล้านนาจะมีผู้เรียนน้อยลงและสูญสิ้นไปเอง ซึ่งก็ไม่ต่างกับพม่าที่เข้ายึดครองรัฐฉานที่มีนโยบายให้คนไทใหญ่เรียนและใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ ภายในแขวงเมืองลองในระยะแรกนั้น ผู้ที่ได้ผ่านการศึกษาระบบโรงเรียนสมัยใหม่ยังเป็นกลุ่มผู้บวชเรียนโดยเฉพาะสามเณร สันนิษฐานว่าแขวงเมืองลองเริ่มมีการเรียนการสอนแบบระบบโรงเรียนสมัยใหม่ ตั้งแต่สยามได้แต่งตั้งครูบาเจ้าหมวดอุโบสถหรือพระอุปัชฌาย์ของแขวงเมืองลองรับตำแหน่งต่างๆ ในพ.ศ.๒๔๕๒ ซึ่งการตั้งฐานันดรศักดิ์ให้พระสงฆ์นอกจากเป็นการดึงฝ่ายสงฆ์ของเมืองลองเข้าสู่ส่วนกลาง ยังใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปกครองอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเจ้าคณะแขวงที่ในช่วงนี้เป็นผู้เปลี่ยนชื่อวัดแบบเก่าอันมีตำนานอธิบายที่มาของชื่อมายาวนาน ให้ฟังดูไพเราะและเป็นชื่อที่เข้ากับพุทธศาสนา เช่น “วัดนาหมาโก้ง” เป็น “วัดเชตวัน” และ “วัดพระธาตุขวยปูหรือวัดแม่ป้าก” เป็น “วัดชัยสิทธิ์” ฯลฯ ได้ใช้วัดเป็นโรงเรียนและอยู่ในความอุปถัมภ์ของนายแขวง รองนายแขวง นายแคว้น และพระสงฆ์เจ้าหมวดอุโบสถ จึงทำให้หัววัดต่างๆ ภายในแขวงเมืองลองมีการบังคับเรียนภาษาไทยโดยเฉพาะหัววัดที่มีพระอุปัชฌาย์ได้รับตำแหน่ง และพบว่าจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานจำนวนหลายฉบับ เริ่มมีการเขียนภาษาไทยแทรกเข้ามาตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๔๕๕ เริ่มใช้พุทธศักราชแบบสยามแทรกกับจุลศักราชมาตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๔๕๗ และทศวรรษ ๒๔๖๐ เริ่มปรากฏนับเวลาตามนาฬิกาและนับวันเดือนปีแบบสากล แต่ในระยะแรกเหล่าพระสงฆ์สามเณรก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของการเรียนสมัยใหม่ เพราะช่วงนั้นแม้แต่เจ้าผู้ครองนครหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน หรือเจ้าบุรีรัตน์ เมืองนครเชียงใหม่ก็อ่านเขียนได้เฉพาะอักษรธรรมล้านนาเท่านั้น ดังนั้นชาวบ้านธรรมดายิ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากความจำเป็นในชีวิตประจำวัน จึงพากันมีความรู้สึกว่าโดนบังคับให้เรียน “...ใจบ่ตั้งย้อนว่าสูตรก็ดีเรียนโรงเรียนก็ดีเข้า...” “...ทุพี่พระพี่เฮยใจบ่ตั้งเพราะว่าเรียนสูตรโยค...ใจบ่ได้เพราะว่าเขาขะหนาบเรียนสูตรไธย(สยาม - ผู้เขียน)แล...”

ครูผู้สอนส่วนใหญ่ยังคงเป็นพระสงฆ์ที่สอนอักษรธรรมล้านนา และมีครูส่งมาจากนครลำปางที่จบโรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลพายัพที่ได้เริ่มผลิตบุคลากรมาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๓๗ เข้ามาสอนวิชาภาษาไทย วิชาเลข วิชาเครื่องเลี้ยงชีพ และวิชาธรรมปฏิบัติ ซึ่งการเรียนการศึกษาในระยะนี้ของแขวงเมืองลองยังกระจุกอยู่เฉพาะในกลุ่มพระสงฆ์สามเณร จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติประถม ศึกษาพ.ศ.๒๔๖๔ พระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องการให้เด็กทุกคนทั้งชายและหญิงที่มีอายุตั้งแต่ ๗ – ๑๔ ปีได้เล่าเรียนในระดับประถมศึกษา(ป.๑ - ป.๖) โดยรัชกาลที่ ๖ ทรงเน้นนโยบายปลูกฝังความคิดชาตินิยมให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสร้างสำนึกความเป็น “ชาติไทย” “คนไทย” โดยเฉพาะสร้างภาพว่า “พม่า” เป็นศัตรูร่วมชาติ ที่กลายมามีอิทธิพลฝังอยู่ในความคิดของคนในเมืองลอง เมืองต้า หรือคนล้านนามาจนถึงปัจจุบัน การจัดการศึกษาในแขวงเมืองลองจึงมีการกวดขันเหมือนโรงเรียนอื่นๆ ในมณฑลพายัพ ที่เน้นวิชาภาษาไทยและเรื่องเมืองไทยทั้งด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสอนให้เคารพเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และตามผนังห้องเรียนจะต้องติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์และธงชาติไทย

แขวงเมืองลองเริ่มจัดตั้งให้หัววัดต่างๆ ที่เป็นวัดของพระอุปัชฌาย์จำพรรษาหรือเป็นวัดที่กำนันมีบ้านเรือนตั้งอยู่ เพราะทั้งพระอุปัชฌาย์และกำนันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าถึงชาวบ้านและสนองนโยบายของรัฐบาลสยามที่ส่งผ่านทางนายอำเภอ โดยใช้ศาลาบาตรภายในวัดของหัววัดสำคัญในแต่ละตำบลจัดตั้งเป็นโรงเรียนในพ.ศ.๒๔๖๗ และพ.ศ.๒๔๖๙ ได้จัดตั้งโรงเรียนเพิ่มที่ตำบลปากกางและตำบลนาพูนจึงมีโรงเรียนครบทุกตำบลในอำเภอลอง เมื่อจัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กทั่วไปได้เข้าเรียน แต่ก็ไม่ได้มีนักเรียนเข้าเรียนมากนัก เพราะส่วนใหญ่เด็กมีครอบครัวฐานะยากจน มีภาระช่วยเหลืองานผู้ปกครอง การคมนาคมลำบาก และผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญในการศึกษาสมัยใหม่ บางหมู่บ้านจึงไม่มีเด็กเข้าเรียนหรือบางหมู่บ้านมีไม่เกิน ๖ - ๗ คน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ต้องช่วยงานบ้าน และถูกปลูกฝังว่าไม่ควรเรียนหนังสือโดยเฉพาะอักษรธรรมล้านนาถือว่าเป็นบาป จึงมีเด็กผู้หญิงเข้าเรียนน้อยบางหมู่บ้านมีเพียง ๑ – ๒ คน ส่วนใหญ่เป็นบุตรสาวของเจ้านาย ข้าราชการ หรือผู้มีฐานะ เช่น โรงเรียนวัดเชตวันรุ่นแรกในพ.ศ.๒๔๖๗ หมู่บ้านนาตุ้มมีเพียง ๒ คน คือ เด็กหญิงเจ้าบัวทอง ณ ลำปาง(ธิดาเจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง) กับเด็กหญิงเรือนคำ เครือเหมย(เหลนแสนไชยะปราบเมืองหรือเจ้าน้อยไชยสาร)

ขณะเดียวกันเจ้านายเมืองนครลำปางที่ตั้งถิ่นฐานในเมืองลอง ก่อนเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตได้ทรงถึงแก่พิราลัย(พ.ศ.๒๔๖๕)ก็ยังจัดส่งธิดาเข้าศึกษาที่คุ้มหลวง หรือเหล่าข้าราชการก็ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาโรงเรียนในนครลำปาง และช่วงนี้ยังขาดแคลนครูบางโรงเรียนมีเพียงครูพระสงฆ์ ๑ รูป ครูประชาบาล ๑ คน จึงมีการแก้ปัญหาให้ผู้ที่เรียนดีเป็นครู เมื่อผู้ปกครองเริ่มเห็นว่าการเรียนสมัยใหม่ทำให้บุตรหลานสบายไม่ต้องทำงานหนักเหมือนตน ดังนั้นประมาณช่วงทศวรรษ ๒๔๗๕ เป็นต้นมาผู้ปกครองจึงนิยมส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนสมัยใหม่มากขึ้น ส่งผลให้การศึกษาวิชาชีพจากครอบครัวที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นค่อยๆ ลดลง แต่การจัดตั้งโรงเรียนรัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ดังนั้นจึงใช้นโยบายให้นายอำเภอเรี่ยไรและเกณฑ์ชาวบ้านช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นเองในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึง จึงปรากฏมีการตั้งชื่อโรงเรียนเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการร่วมมือร่วมใจกันสร้างของเหล่าครูราษฎรในครั้งนั้น เช่น โรงเรียนบ้านนาหลวง(สร้างพ.ศ.๒๔๗๗) “ลองประชาอุทิศ” และโรงเรียนบ้านนาตุ้ม(สร้างพ.ศ.๒๔๘๘) “คุรุราษฎร์วิทยานุสรณ์” ฯลฯ น่าสังเกตว่าในอำเภอลองแม้ว่ารัฐบาลบังคับให้เด็กเข้าเรียน แต่ในส่วนการก่อสร้างโรงเรียนเกือบไม่มีงบประมาณจากรัฐบาลเลย แทบทั้งหมดล้วนแต่สร้างขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน ครู หรือคหบดี ที่แม้แต่ช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ แล้วก็ตาม อย่างกรณีโรงเรียนลองวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอลอง ก็ล้วนได้รับการอุปถัมภ์จากคหบดีในอำเภอลองและเรี่ยไรเงินจากเหล่าคณะครู ทั้งนี้ก็เพราะวัตถุประสงค์สำคัญดั้งเดิมที่รัฐบาลให้เยาวชนในแขวงเมืองลองรับการศึกษา ก็เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดให้รู้สึกร่วมว่าเป็น “คนไทย” “เชื้อชาติไทย” การผลิตให้เป็นข้าราชการหรือเลื่อนสถานะโดยการศึกษาสมัยใหม่เป็นผลพลอยได้ ส่วนจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งสร้างโรงเรียน อาคารเรียน จึงเป็นสิ่งเกินความจำเป็นและรัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณมากพอ แต่หากชาวบ้านต้องการก็ต้องจัดหาจัดทำกันเอง ดังนั้นการเรียนการสอนของโรงเรียนในอำเภอแถบชนบทส่วนใหญ่จึงไม่พัฒนา เพราะรัฐบาลได้เน้นให้การสนับสนุนเฉพาะโรงเรียนในเขตตัวจังหวัดเป็นหลัก จึงเป็นผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระหว่างโรงเรียนรอบนอกกับโรงเรียนในเมืองที่มากขึ้นเรื่อยมาสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังเกิดความขัดแย้งในปีพ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อจะมีการย้ายสำนักเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต ๒(ครอบคลุม อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย) จากอำเภอลองไปไว้ที่อำเภอสูงเม่นซึ่งใกล้ตัวจังหวัดแพร่ เหล่าคณะครูทั้งโรงเรียนคฤหัสและโรงเรียนสงฆ์จำนวน ๘๕ โรงเรียน พร้อมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนกว่า ๒๐๐ คนในอำเภอลอง อำเภอวังชิ้น ร่วมประท้วงและลงชื่อคัดค้านการย้าย และเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับ “อำเภอไกลปืนเที่ยง”

ส่วนการให้บุตรหลานบวชเรียนก็ยังมีความนิยมอยู่ เพราะหลังจากจบระดับประถมไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมที่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเอง ผู้ปกครองจึงหันมาให้บุตรหลานบวชเรียน จึงตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมครั้งแรกในพ.ศ.๒๔๙๓ ที่วัดพระธาตุศรีดอนคำ(ตำบลห้วยอ้อ) วัดพระธาตุขวยปู(ตำบลแม่ป้าก) และขยายจัดตั้งขึ้นตามหัววัดต่างๆ ซึ่งการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นจุดทำให้พระสงฆ์สามเณรเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการบวช ที่เดิมเน้นศึกษาพระธรรมวินัยสะสมผลบุญบารมีมาเป็นการศึกษาเพื่อทางโลกเป็นหลัก เพราะพระสงฆ์สามเณรที่สอบผ่านนักธรรมชั้นโทหรือชั้นเอก เมื่อลาสิกขาก็มีโอกาสสูงที่จะเข้ารับราชการเป็นทหาร ตำรวจ หรือครู การเรียนการสอนภายในอำเภอลองแม้จะเป็นระบบใหม่ แต่ในช่วง ๒ ทศวรรษแรกก็ยังอาศัยวัดและพระสงฆ์เหมือนยุคจารีต จนกระทั่งทศวรรษ ๒๔๗๐ ได้เริ่มแยกโรงเรียนออกจากวัด จึงทำให้การศึกษาของเยาวชนที่เคยศึกษาไปพร้อมกันทั้งทางโลกและทางธรรม เริ่มแบ่งแยกออกจากกันเด่นชัดขึ้น โรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของอำเภอลองที่ตั้งเป็นเอกเทศคือโรงเรียนบ้านห้วยอ้อ(ห้วยอ้อวิทยาคม) แยกมาจากวัดพระธาตุศรีดอนคำโดยการนำของหลวงสุนทรพิทักษ์(โต๊ะ ธุวะนุติ) นายอำเภอเมืองลอง เปิดโรงเรียนวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ ห้อง ก. มีครูจันทร์แก้ว ไชยแก้ว เป็นครูผู้สอน และห้อง ข. มีพระจันทร์ ปิ่นไชยเขียว เป็นครูผู้สอนซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น ส่วนการเรียนการสอนระดับสูงกว่าประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ คือมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๑ - ๓ เปิดสอนครั้งแรกประมาณพ.ศ.๒๔๘๐ เป็นโรงเรียนเอกชนของนายเปี้ย ไชยแก้ว พ่อเลี้ยงช้างทำไม้เมืองลองเชื้อสายแสนมังคละ มีครูทองวัน ไชยแก้ว บุตรของชายนายเปี้ย ไชยแก้ว เป็นครูใหญ่ คือโรงเรียนไชยแก้ววิทยาคาร ระยะแรกใช้ศาลาบาตรของวัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นห้องเรียน ภายหลังประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐ ได้แยกมาตั้งบริเวณพื้นที่หลังโรงเรียนจรูญลองรัตน์ การเรียนระดับนี้ผู้ปกครองจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเอง ยกเว้นนักเรียนที่เป็นภารโรงให้กับโรงเรียนจะได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ผู้ปกครองบางส่วนก็นิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในตัวจังหวัดลำปางที่เดินทางสะดวกกว่าไปตัวจังหวัดแพร่ ซึ่งการศึกษาในระดับมัธยมภายหลังได้ผลิตชนชั้นกลางและนักการเมืองท้องถิ่นเป็นจำนวนมากในอำเภอลอง

และเมื่อทางราชการได้จัดตั้งโรงเรียนลองวิทยาขึ้นในปี พ.ศ.2503 เพื่อให้การศึกษาในระดับ ม.1–6 โรงเรียนไชยแก้ววิทยาคาร จึงปิดกิจการโดยให้นักเรียนที่มีอยู่ไปเรียนต่อที่โรงเรียนลองวิทยา

นายเปี้ย ไชยแก้ว ผู้ก่อตั้งโรงเรียนไชยแก้ววิทยาคาร

นอกจากนี้การสร้างสำนึกความเป็นไทยให้กับคนเมืองลอง มีความเข้มข้นขึ้นหลังทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ที่เดิมรัฐบาลใช้การศึกษาเป็นหลัก พอมาช่วงนี้เริ่มมีสื่อต่างๆ เข้าสู่เมืองลองโดยเฉพาะสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือ และหนังสือพิมพ์ ที่สามารถสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และมีจินตนาการความเป็นคนไทยร่วมกันให้คนเมืองลอง ผ่านทั้งข่าวสาร คำแถลงการณ์ของรัฐบาล บทเพลง นิยาย หรือละครที่รัฐส่งผ่านกับสื่อเหล่านี้ แม้กระทั่งผ่านการจัดงานของข้าราชการ เช่น งานฤดูหนาวอำเภอลองที่มีการออกร้านของหน่วยงานราชการ มีการแข่งกีฬาของจังหวัดแพร่หรืออำเภอลองที่ดึงคนแต่ละหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอเข้าร่วม รวมถึงพยายามสร้างให้รู้สึกเป็นคนไทย เป็นพสกนิกรชาวไทยที่อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของกษัตริย์ไทย ให้มีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ไทย ผ่านการดึงผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นรัฐพิธีหรือเหล่าข้าราชการจัดขึ้น เช่น ถวายพระพรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในที่ว่าการอำเภอลอง จัดงานวันพ่อและวันแม่ที่ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของโรงเรียน โดยดึงผู้ปกครองกับนักเรียนมาทำกิจกรรมร่วมกันที่แสดงความกตัญญูในฐานะของลูกที่มีต่อพ่อแม่ ขณะเดียวกันก็ปลูกจิตสำนึกในฐานะ “ลูก” ของประชาชนคนไทยให้มีความกตัญญูรู้คุณต่อ “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทย

การศึกษาสมัยใหม่ รัฐพิธี และสื่อต่างๆ ถือว่าได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของคนในแขวงเมืองลองให้เป็นไปตามความประสงค์ของรัฐไทย โดยเฉพาะการกล่อมเกลาให้ “คนเมืองลอง” “คนเมืองต้า” รุ่นหลังมีสำนึกร่วมว่าเป็นประชาชนคนไทย อันมีสถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ก็ส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงให้กับท้องถิ่น โดยเฉพาะการตีกรอบให้เด็กเรียนรู้แต่เรื่องราวและประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่มีอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง จึงมีปัญหาส่งผลตามมาถึงปัจจุบันว่าคนในท้องถิ่นขาดความรู้ความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านเกิดเมืองนอน และบรรพชนอันเป็นรากเหง้าของตนเอง แต่ก็เริ่มมีหน่ออ่อนปรากฏกระแสการโหยหาตัวตนของคนในอำเภอลองตั้งแต่พ.ศ.๒๔๙๕ และมีความเข้มข้นอย่างมากในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ เป็นต้นมา

 

ภูเดช แสนสา

แผ่นไม้แกะสลักประดับบนซุ้มประตูที่เจ้าเมืองลองได้ให้ช่างชาวเมืองลอง แกะสลักถวายวัดในเมืองลอง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

แผ่นไม้แกะสลักประดับบนซุ้มประตูที่เจ้าเมืองลองได้ให้ช่างชาวเมืองลอง แกะสลักถวายวัดในเมืองลอง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

ลวดลายแกะสลักไม้เทิงพระเจ้า(เพดานพระประธาน)วิหารวัดนาตุ้มของช่างเมืองลอง เดิมประดับด้วยแก้วจืนและลงรักปิดทอง แต่ปัจจุบันมีการบูรณะทาสีใหม่ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

ลวดลายแกะสลักนาคทัณฑ์ของช่างชาวเมืองลอง ภาพซ้ายและภาพกลางนาคทัณฑ์ของวัดพระธาตุศรีดอนคำ ส่วนภาพขวาของวัดนาหลวง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๗)

นางรับแป(นางค้ำแป) หรือ เทวดารับแป(เทวดาค้ำแป) ที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างเมืองลอง มีหน้าที่เหมือนปากแล ใช้ติดบริเวณข้างหนาแผงแลของโบสถ์วิหาร (ที่มา : ประวัติศาสตร์เมืองแพร่)

หญิงสาวชาวล้านนาในอดีตกำลังทอผ้า (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ซิ่นตีนจกฝีมือแรกฝึกหัดทอของหญิงสาวชาวเมืองลอง ในภาพเป็นการฝึกหัดทอซิ่นตีนจกผืนแรกของแม่ใหญ่ตา ชุมภูหมุด บ้านนาตุ้ม เมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๗๔ (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

เจ้าหญิงอุบลวรรณา ราชธิดาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ กุลสตรีชั้นสูงของเมืองนครเชียงใหม่ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เจ้าหญิงหมอก ขนิษฐาของเจ้าบุรีรัตน์ กุลสตรีชั้นสูงของเมืองนครลำปาง (ที่มา : ตำนานเมืองลำปางในชื่อเขลางคนคร)

พระพุทธรูปศิลปะพม่าในซุ้มด้านทิศเหนือของพระธาตุศรีดอนคำ

พระพุทธรูปศิลปะล้านนาในซุ้มศิลปะพม่า-ไทใหญ่ ซุ้มทิศตะวันตกของพระธาตุศรีดอนคำ

พับสาอักษรไทใหญ่ของวัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๔)

พับสาที่บันทึกองค์ความรู้ต่างๆ ของล้านนาด้วยอักษรล้านนา (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

แม่เจ้าบัวทอง ณ ลำปาง(ตาป้อ) (พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๕๔๐) ธิดาพ่อเจ้าน้อยศรีสองเมือง แม่เจ้าจันทน์คำ ณ ลำปาง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๓๗)

“แป้นหิน” หรือกระดานหินชนวน ที่ให้นักเรียนใช้ขีดเขียนในอดีต (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อย, ๒๕๕๔)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 26 •สิงหาคม• 2013 เวลา 21:47 น.• )