ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบยังชีพสู่ระบบทุนนิยมเพิ่มขึ้น เดิมการปลูกพืชภายในเมืองลองต้องอาศัยน้ำจากลำห้วยและน้ำฝนเป็นหลัก เหมืองฝายก็เป็นฝายไม้ขนาดเล็กเจ้าฝายต้องเกณฑ์ซ่อมทุกปี ในหน้าแล้งน้ำในลำห้วยก็แห้งขอดจึงมีการเพาะปลูกได้เฉพาะบางช่วง เมื่อเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ การชลประทานมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี จึงมีโครงการจัดสร้างฝายคอนกรีตแทนฝายไม้ ขุดเจาะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ปลูกพืชเพื่อการค้าแทนการผลิตเพื่อพอยังชีพ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ย การใช้เทคนิคใหม่ ตลอดจนแนะนำการปลูกพืชไร่เชิงพาณิชย์ควบคู่กับการทำนา จึงเกิดการขยายตัวของการผลิตพืชผลทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น มีการบุกเบิกลำห้วยขนาดสายเล็กเปลี่ยนเป็นที่นา เวียงเก่าถูกรื้อเป็นที่นา

วัดร้างถูกแผ้วถางจับจองเป็นที่ทำสวนทำไร่ หรือแผ้วถางป่าและจับจองพื้นที่หัวไร่ปลายนาที่เดิมเป็นพื้นที่ทำไร่หรือปลูกข้าวไร่ พอทำซ้ำหลายปีเมื่อพื้นที่เดิมขาดความอุดมสมบูรณ์ก็ขยับย้ายไปที่ใหม่ แล้วค่อยกลับหมุนเวียนมาทำเมื่อผ่านไปหลายปีไม่มีการจับจองอย่างถาวร แต่ในยุคนี้มีการเข้าจับจองพื้นที่ไร่เก่าถูกทิ้งร้างที่เรียกว่า “ไฮ่เหล่า” มากขึ้น เพื่อทำการปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง ฯลฯ แต่การปลูกข้าวไร่กลับลดความนิยมลงตั้งแต่ช่วงประมาณ พ.ศ.๒๕๑๐ พร้อมกับเลิกการตีฝายและสร้างฝายคอนกรีตขึ้นแทน เพราะพื้นที่นามีน้ำจากฝายกักเก็บน้ำมากพอสำหรับเพาะปลูกและไม่เสี่ยงต่อสัตว์ป่ามารบกวนข้าว ถ้าหากทำข้าวไร่เพียงเจ้าเดียวหรือพื้นที่เล็กๆ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อผลผลิตที่เสียหายไปกับสัตว์ป่า จึงทำให้พันธุ์ข้าวไร่ เช่น ข้าวซิว(ขาว) ข้าวซิวดำ ข้าวห้าว ข้าวแบะ ข้าวสะ ข้าวน่าน ฯลฯ ลดความนิยมลงจนเหลือเพียงไม่กี่สายพันธุ์และมีผู้ปลูกไม่กี่รายในปัจจุบัน ส่วนพืชสวนก็มีการขยายตัวโดยเฉพาะสวนส้มเขียวหวาน สวนพุทรา สวนส้มโอ สวนลางสาด สวนทุเรียนที่นิยมปลูกริมแม่น้ำยม และแทบทุกหมู่บ้านทำสวนใบยาสูบเพื่อส่งเข้าโรงบ่ม นอกจากนี้ยังมีการนำพืชสายพันธุ์ใหม่เข้ามาปลูกเพื่อสนองตอบความต้องการของตลาด เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง กะหล่ำปลี ผักกาดกวางตุ้ง ฯลฯ ที่เข้ามาพร้อมกับปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้การทำเกษตรของชาวบ้านลงทุนสูง ต้องพึ่งพาตลาดหรือหน่วยงานราชการ ขณะที่ก่อนหน้านี้เมล็ดพันธุ์ต่างๆ มีการคัดเลือกแบ่งไว้จากผลผลิตที่ได้ ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือแม้แต่การเลี้ยงสุกรช่วงนี้ก็เริ่มใช้อาหารสัตว์ที่ผลิตจากโรงงานแทนการเลี้ยงด้วยพืชที่หาได้ในท้องถิ่น เพราะเริ่มเลี้ยงจำนวนมากขึ้นเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด จึงไม่สามารถหาพืชในท้องถิ่นเพียงพอกับจำนวนสุกรที่เลี้ยง อีกทั้งประหยัดเวลาและทำให้สุกรโตเร็ว การสร้างถนนหนทางช่วยให้การขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จากหมู่บ้านสู่ตลาดห้วยอ้อ สถานีรถไฟ ตลอดถึงส่งออกสู่ภายนอกอำเภอลองได้สะดวกมากขึ้น พร้อมกับแลกเปลี่ยนกับสินค้าสำเร็จรูปจากตลาดเข้าสู่หมู่บ้านต่างๆ สินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมจึงเริ่มกระจายเข้าแทนที่หัตถกรรม ทำให้สินค้าที่ผลิตตามหมู่บ้านลดความนิยมลง เช่น เครื่องใช้พลาสติกแทนเครื่องจักสาน ใช้ถังน้ำแทนหม้อน้ำดื่มหรือตุ่มดินเผา ถ้วยชามช้อนพลาสติกหรือสังกะสีแทนถ้วยชามกระเบื้องหรือช้อนกะลามะพร้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูปแทนผ้าฝ้าย ผ้าทอมือ ฯลฯ รวมถึงสินค้าอำนายความสะดวกในชีวิตประจำวันที่ทำให้การใช้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เช่น อาหารสำเร็จรูป สบู่ ผงซักฟอก แชมพู รองเท้า เป็นต้น ส่วนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมภายในอำเภอลองยังเป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นที่เน้นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเหมือนเดิม เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย โรงต้มเหล้า โรงบ่ม ฯลฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงสีข้าวในช่วงพ.ศ.๒๕๐๖ - ๒๕๐๗ แต่ละหมู่บ้านมีโรงสีข้าวอย่างน้อยหมู่บ้านละ ๑ โรง โดยไม่ได้เสียค่าสีข้าวเป็นเงินแต่เจ้าของโรงสีจะขอรำข้าวอ่อนเป็นค่าตอบแทน มีผลให้ชาวบ้านเลิกวิธีการตำข้าวหันมาใช้บริการโรงสีข้าวแทน และตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมามีความนิยมสร้างบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูนโดยเก็บก้อนหินและทรายจากลำห้วย ทำให้บ้านไม้ยกพื้นสูงหายไปเกิดค่านิยมขึ้นในช่วงนี้ว่าใครสร้างบ้านด้วยอิฐปูนถือว่ามีฐานะ

ส่วนผ้าซิ่นตีนจกหลังจากยกเลิกส่งส่วยให้เจ้านายนครลำปาง ยังมีการทอใส่เองในหมู่เชื้อสายเจ้านาย ขุนนาง ช่างทอและผู้มีฐานะในแขวงเมืองลองยังไม่ใช้เป็นที่กว้างขวาง ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังใส่ผ้าซิ่นธรรมดาไม่ต่อตีนจก จนกระทั่งช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ ได้ผ่านมาหนึ่งชั่วคนคนรุ่นที่ได้รับการปลูกฝังและดำรงชีวิตในยุคจารีตได้ล้มหายตายจาก ผู้คนยุคใหม่ได้เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติพร้อมกับระบบการปกครองที่เปลี่ยนไป ศักดิ์ศรีความเป็น “คน” ตามระบอบการปกครองประชาธิปไตยมีความเท่าเทียมกัน จึงค่อยๆ คลี่คลายฐานันดรศักดิ์สูงต่ำที่มีในยุคจารีตของเมืองลอง สะท้อนจากพิธีศพใส่ปราสาท เดิมผู้มีสิทธิ์ใส่ปราสาทมีเฉพาะเจ้าเมืองลองญาติวงศ์ถึงชั้นบุตรธิดา ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพระมหาครูบาเถระ มาในช่วงทศวรรษนี้คหบดีและชาวบ้านเริ่มนำศพใส่ปราสาท แต่ทว่าก็ยังมีธรรมเนียมมาถึงปัจจุบันว่าศพที่สามารถใส่ปราสาทได้เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น รวมถึงการใช้ผ้าซิ่นตีนจกที่ในช่วงนี้ได้เริ่มแพร่หลายไปสู่ชาวบ้านทั่วไป เพราะช่างได้ทอออกจำหน่าย(ราคาประมาณผืนละ ๑ บาท) และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อข้าราชการสตรีและภรรยาข้าราชการทั้งจังหวัดแพร่และต่างจังหวัดนิยมซื้อหามาใส่ ประกอบกับพ.ศ.๒๕๒๒ ช่างทอผ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายซิ่นตีนจกแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ คราวเสด็จพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้านจังหวัดแพร่ ทรงสนพระทัยและมอบทุนพัฒนาผ้าซิ่นตีนจก ยิ่งทำให้ตีนจกเมืองลองเป็นที่นิยมซื้อหาใส่กันมากขึ้น ดังนั้นในช่วงปีเดียวกันนี้จึงมีการเปลี่ยนกรรมวิธีทอผ้าซิ่นตีนจกให้รวดเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโดยประยุกต์เอา “เขา” มาใช้แทนจกแบบโบราณ ซึ่งการทอวิธีเดิมใช้เวลาแรมเดือนแต่วิธีการทอแบบใหม่ใช้เวลาเพียง ๒ - ๓ วัน แต่ด้วยความรีบเร่งผลิตเพื่อขายจึงทำให้ซิ่นตีนจกที่ได้ขาดความประณีตและจิตวิญญาณ

อีกทั้งการสักที่เรียกว่า “สับยันต์” และ “สับหมึก” แต่เดิมชาวล้านนาถือว่าแสดงถึงความเป็นชายชาตรี หากชายคนใดไม่สักจึงยากนักที่หญิงสาวจะเลือกมาเป็นคู่ครอง สะท้อนจากคำกล่อมลูกของหญิงในเมืองลองว่า “ขาลายไว้แปล๋งฮาวผ้าตากอ้อม ขาก้อมไว้แปล๋งก่อมขั้นได ขาขาวไปไกล๋ๆ ไปอยู่ตี๋นขั้นได ปุ๊นเต๊อะ” แต่มาในยุคนี้ค่านิยมเหล่านี้ได้ค่อยๆ เปลี่ยนไป ที่เกิดจากเงินตราเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การเลือกคู่ครองจากชายที่เข้มแข็งไว้ช่วยทำไร่ไถนา และไว้ปกป้องตนเองแบบเดิมไม่ได้สนองต่อการดำรงชีวิตในยุคนี้ ประกอบกับการเข้าทำงานหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่นิยมรับผู้ที่มีรอยสักเข้าทำงาน จึงทำให้การสักรวมถึงการเจาะหูของผู้ชายที่แสดงถึงความเป็นชาติชายชาตรี ความมีเสน่ห์ค่อยๆ หมดไป กลายมีค่านิยมใหม่ปัจจุบันที่มองในทางลบว่าหากใครสักแสดงถึงความเป็นนักเลงอันธพาลไม่น่าคบหา

ด้านสุขภาพอนามัยเดิมอาศัย “พ่อเลี้ยง” หมอยากลางบ้านใช้ยาสมุนไพรประกอบการเสกเป่าคาถารักษาอาการเจ็บไข้ มี “พ่อฮับ” “แม่ฮับ” เป็นหมอตำแยทำคลอดที่บ้าน จนกระทั่งพ.ศ.๒๔๘๔ จึงเริ่มมีการรักษาแบบแผนตะวันตกโดยตั้งสุขศาลาขึ้นที่บ้านนาม้อ แต่ระยะแรกเน้นให้บริการด้านหญิงมีครรภ์เป็นหลักและให้บริการยังไม่ทั่วถึง เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกจึงเริ่มกระจายตั้งสถานีอนามัยตามตำบลต่างๆ และส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าประจำอยู่ โดยเริ่มอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านและฝึกอบรมตัวแทนชาวบ้านเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข(อ.ส.ม.) เพื่อให้ความรู้และเป็นตัวแทนเข้าถึงชาวบ้านในด้านสาธารณสุข ซึ่งในพ.ศ.๒๕๑๘ มีการยกฐานะศูนย์การแพทย์และการอนามัย(สุขศาลา)ขึ้นเป็นโรงพยาบาลลอง จึงทำให้ผู้คนนิยมใช้บริการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่าแพทย์แผนโบราณ

ด้านการศึกษามีการขยายถึงระดับมัธยมตอนปลาย ซึ่งสามารถผลิตชนชั้นกลางกลับมาพัฒนาท้องถิ่น การศึกษาในอำเภอลองแต่เดิมเมื่อศึกษาจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หากจะศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต้องเข้าไปศึกษาที่ตัวจังหวัดลำปางหรือจังหวัดแพร่ จนกระทั่งพ.ศ.๒๔๙๙ ได้เริ่มทำการเรียนการสอนถึงระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๔ - ๖ ขึ้น และสร้างอาคารไม้เปิดเป็นโรงเรียนลองวิทยาในพ.ศ.๒๕๐๓ เพื่อรองรับนักเรียนจากอำเภอลองและกิ่งอำเภอวังชิ้น โดยการอุปถัมภ์ของพ่อเลี้ยงแสวง แม่เลี้ยงคำเอ้ย เชาวรัตน์ และแม่เลี้ยงนวล ภูมมะภูติ(บุตรสาว) นายทุนเจ้าของกิจการโรงเลื่อยไม้เครื่องจักรไอน้ำบ้านปิน จึงเปิดโอกาสให้บุตรหลานของคนในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนในระดับที่สูงมากขึ้น และนักเรียนเหล่านี้ภายหลังได้เป็นชนชั้นกลางที่มีส่วนสำคัญในการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นตัวตนของเมืองลอง

รางลินขุดจากไม้ทั้งต้นเพื่อใช้เป็นรางน้ำจากลำเหมืองเข้าสู่ที่นา ปัจจุบันมีการสร้างเป็นรางน้ำหรือท่อส่งน้ำจากคอนกรีตแทน (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

หม้อดินเผาที่ใช้ใส่น้ำดื่มในอดีต

 

การตำข้าวของชาวล้านนาโดยใช้ครกมอง (ที่มา  :  หมพ.ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๒๕ - ๒๔๗๐)

 

การตำข้าวของชาวล้านนาในอดีตโดยใช้ครกมอง (ที่มา  :  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

เด็กผู้หญิงตำข้าวและฝัดข้าวแยกแกลบออกจากเมล็ดข้าวสาร (ที่มา : หมพ.ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๒๕ - ๒๔๗๐)

 

ปราสาทศพของพ่อเจิม  อักษรเจริญ  ชาวบ้านปิน พ.ศ.๒๔๘๐ (ที่มา : วัดบ้านปิน)

 

ปราสาทศพของแม่อุ้ยแก้ว  ไชยแก้ว  พ.ศ.๒๕๐๗ (ที่มา : บุญฤทธิ์  โพธิจันทร์)

 

งานศพของชาวเมืองลองในอดีตที่ไม่ใส่ปราสาทศพ (ที่มา : วัดบ้านปิน)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 05 •มีนาคม• 2013 เวลา 16:54 น.• )