๒. ช่วงที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๔๙ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างเข้มข้น ผลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับก่อนหน้าที่ผ่านมาจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นต่อวิถีชีวิตของคนอำเภอลองในหลายๆ ด้าน ทั้งวิถีการผลิต การดำเนินชีวิต จารีตประเพณีและพิธีกรรม ฯลฯ เมื่อเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๓๔) จึงมีการสานต่อและพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นแบบ “ก้าวกระโดด”

ผู้คนมีวิถีการผลิตแบบทุนนิยมเข้มข้นปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เมื่อเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๖ ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมา เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อคนในอำเภอลอง โดยเฉพาะด้านวิถีการผลิตเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเข้มข้น ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม เพื่อสนองตอบกับระบบเศรษฐกิจในอำเภอลองที่ขยายตัวมากกว่าอดีตที่ผ่านมา และตอบรับกับ “ความทันสมัย” ที่เป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ การผลิตทางเกษตรกรรมโดยเฉพาะข้าวถือว่าเป็นอาชีพหลัก เมื่อวิถีชีวิตมีความเร่งรีบด้วยแรงงานที่อยู่ในพื้นที่มีน้อย เนื่องจากตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมาวัยรุ่นและวัยกลางคนโดยเฉพาะผู้ชายนิยมออกไปทำงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ขณะที่ก่อนหน้านั้นยังนิยมทำไร่ทำสวนเพื่อขายผลิตผลทางการเกษตร ดังนั้นเมื่อผูกพันกับการทำงานนอกพื้นที่ลางานไม่ได้หรือลาได้เวลาจำกัด ประกอบกับบุตรหลานวัยรุ่นที่เคยเป็นแรงงานสำคัญต้องเข้าโรงเรียน ส่งผลถึงการ “อยู่ก๋ำเดือน”(อยู่เดือนไฟ)ของหญิงที่พึ่งให้กำเนิดบุตรค่อยๆ ลดลงอย่างมากในช่วงนี้ ด้วยการบีบรัดของงานและความเจริญทางการแพทย์แผนใหม่ ตลอดถึงปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตหลายๆ อย่างเพื่อประหยัดเวลา มีการใช้รถไถนาแทนควาย ใช้คันไถเหล็กแทนคันไถไม้ จ้างคนแทนการ “เอามื้อเอาแรง” ใช้รถเกี่ยวข้าวและรถโม่ข้าวแทนการฟัดข้าว ใช้รถบรรทุกแทนเกวียนและเรือ

การทำนาแต่เดิมต้องใช้ระยะเวลานานเฉพาะไถนาใช้เวลาแรมเดือน เพราะใช้แรงงานควายหากร้อนหรือไถนานๆ ก็ต้องให้พักกินหญ้า ตลอดถึงความเชื่อว่าจะไม่ไถนาวันพระ “ควายจะแช่ง” ด้วยปัจจัยข้างต้นจึงทำให้ในอดีตใช้เวลานานในการผลิต แต่ภายในเมืองลองก็มีกำหนดฤดูกาลช่วงทำนาว่า “เดือน ๓ บ่ดีฟู่พรวมข้าว เดือน ๙ บ่ดีฟู่พรวมนา” คือ ระยะเวลา ๖ เดือนประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนมกราคม และกำหนดช่วงเก็บเกี่ยว “ข้าวเดือน ๓ มะขามเดือน ๕” ให้เก็บเกี่ยวอย่างช้าไม่ควรเกินเดือน ๓ เพื่อทันถวาย “ทานข้าวใหม่น้ำใหม่เดือน ๔ เป็ง” ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาใช้รถไถนาผืนที่นาเท่ากันจะใช้เวลาเพียง ๑ - ๒ วัน รวมถึงล้อเกวียนที่อดีตใช้บรรทุกตลอดจนเป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้เป็นเจ้าของ เช่น ใช้แห่ขบวนเจ้าบ่าวไปสู่ขอเจ้าสาว กลับค่อยๆ ลดลงพร้อมกับคันไถไม้และเรือที่เหลือไม่มากในปัจจุบัน ได้กลายเป็นสินค้าของผู้ชอบสะสมของเก่าประดับตามโรงแรม ร้านอาหาร หรือบ้านเรือน ส่วนวัวควายแม้นิยมเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ลดลงพร้อมกับล้อเกวียน แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงเพื่อจุดประสงค์ใช้แรงงานแบบเดิมแต่กลับนิยมเลี้ยงเพื่อบริโภค ซึ่งก่อนหน้าที่วัวควายจะหมดบทบาทด้านการทำนาถือว่าเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อคน ดังปรากฏในอดีตหากควายได้ตายไปก็จะมีการทำบุญให้เสมอเมื่อมีงานสำคัญๆ เช่น กิ๋นข้าวสลาก หรือแม้แต่การทานธรรม(ถวายคัมภีร์พระธรรม)ก็มีการทานอุทิศไปหาควายด้วย เช่น “...ข้าส้างธัมม์ผูกนี้อายุข้าได้ ๖๕ ปี เกิดปีสง้า ข้าส้างธัมม์ผูกนี้เผื่อบุญไปเถิงกมบือ(กระบือ)ข้าพระเจ้า ๖ ตัวเสี้ยงอนิจกัมม์ คือ แม่ฮอม ปู้คำ แม่เป็ง ปู้นิง ปู้สอง ปู้สุวัณณ์ ขอนาบุญไปรอดฅวายข้าชู่ตัวเทอะ...” จะมีการฆ่าบริโภคก็เฉพาะมีงานปีใหม่หรืองานเลี้ยงใหญ่ๆ เมื่อควายมีความสำคัญเพียงเป็นอาหารของคนจึงส่งผลถึงพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ก็สูญหายตามไปด้วย เช่น สู่ขวัญควาย สู่ขวัญข้าว ทานธรรมให้ควายที่ล่วงลับ ฯลฯ ขณะที่ในช่วงพ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๓ ล้อเกวียน คันไถไม้ และเรือยังมีอยู่จำนวนมากดังแสดงในตาราง

*ไม่ปรากฏจำนวน ตารางแสดงจำนวนล้อเกวียน คันไถไม้ ควาย วัว และเรือของอำเภอลองช่วง พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๓ (รวบรวมจากเอกสารรายงานการสำรวจข้อมูลเขตพัฒนาตำบลต่างๆ ในอำเภอลอง พ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๒๓, จัดทำโดย : ภูเดช แสนสา)

 

ช้างงัดท่อนซุงริมฝั่งแม่น้ำยม(ที่มา : หจช.ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๙๐)

 

หลังจากรัฐบาลได้ตั้งอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.)ในพ.ศ.๒๔๙๐ มีการจัดตั้งหมวดทำไม้เมืองลองและตั้งโรงเลื่อยที่บ้านนาม้อ(ที่ตั้งโรงพยาบาลลองในปัจจุบัน) ส่งผลให้โรงเลื่อยไม้ของเอกชนที่บ้านผาคอและบ้านปินค่อยๆ ซบเซาและปิดกิจการลงเมื่อรัฐบาลมีนโยบายปิดป่า แต่ชาวบ้านเริ่มมีอาชีพใช้เกวียนและช้างรับจ้างชักลากไม้ออกจากป่ามากขึ้น จากเดิมจำกัดอยู่เฉพาะเงี้ยวและกลุ่มเชื้อสายศักดินาเมืองลองที่มีช้างเป็นมรดกชักลาก ซึ่งในพ.ศ.๒๕๒๔ ในอำเภอลองมีผู้เลี้ยงช้างชักลากไม้ถึง ๑๓๓ ครอบครัวและมีช้างจำนวน ๑๖๕ เชือก วิธีการทำไม้ในช่วงพ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมาเมื่อนำไม้ออกจากป่าแม่ต้า ป่าแม่ยม นอกจากใช้ช้างกับล้อเกวียนขนทางบก บางช่วงก็ขนไม้ให้ไหลตามแม่น้ำยมแล้วมีคน “จับไม้” คือคนพายเรือหรือว่ายน้ำชักเอาไม้ขึ้นฝั่งอยู่เป็นจุดตามท่าแม่น้ำยม ก่อนนำท่อนไม้บรรทุกล้อเกวียนนำไปขายที่บริเวณอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย แหล่ง “จับไม้” หรือนำไม้ขึ้นฝั่งที่สำคัญของยุคนี้จะอยู่ที่บ้านไฮสร้อย ตำบลปากกาง โดยมีพ่อเลี้ยงวงค์ แสนสา บ้านไฮสร้อย เป็นเสมียนตีตราไม้และเบิกจ่ายเงินของอำเภอลอง มีผู้ช่วยเสมียนจดบันทึกอีก ๓ คน คือ (๑) พ่อหนานถา มาเรียน (๒) พ่อน้อยปั๋น และ (๓) พ่อหลักศรีมูล ใจเกี๋ยง มีท่าน้ำบริเวณนี้อยู่ ๕ จุด คือ (๑) ท่าวังสะหร่าง(ใต้บ้านวังเคียน) (๒) ท่าหางมอก(เหนือบ้านไฮสร้อย) (๓) ท่าลงไฮสร้อย (๔) วังต๊ะครัว(หน้าวัดพระธาตุไฮสร้อย และ (๕) ท่าท๊กเด่นใจ๋(บ้านหาดทรายคำ) อัตราคาค่าจ้าง “จับไม้” ได้ไม้ใกล้ฝั่งน้ำค่าจ้างต้นละ ๖ สลึง(๑ บาท ๕๐ สตางค์) ท่าวังสะหร่างกับท่าหางมอกค่าจ้างต้นละ ๖ สลึง ท่าลงไฮสร้อยค่าจ้างต้นละ ๒ บาทหากต้นใหญ่ค่าจ้างต้นละ ๑๐ สลึง(๒ บาท ๕๐ สตางค์) ท่าวังต๊ะครัวค่าจ้างต้นละ ๔ บาทหากต้นใหญ่ค่าจ้างต้นละ ๕ บาท และท่าท๊กเด่นใจ๋ค่าจ้างต้นละ ๕ บาทหากต้นใหญ่ค่าจ้างต้นละ ๖ บาท แต่ถ้าหาก “จับไม้” บริเวณนี้ได้ไม่หมดก็จะมีคนรอ “จับไม้” จุดอื่นๆ ที่อยู่ตอนใต้ของแม่น้ำยมต่อไป

ช้างลากซุงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยม (ที่มา : หจช.ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๙๐)

 

(พ.ศ.๒๔๖๐ – ๒๕๓๒) เสมียนตีตราไม้อำเภอเมืองลอง (เหลนแสนไชยยะปราบเมือง(เจ้าน้อยไชยสาร) (ที่มา : ภูเดช  แสนสา)

 

จนกระทั่งพ.ศ.๒๕๓๒ รัฐบาลมีนโยบายปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศเป็นป่าสงวนและสวนป่าเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ การทำป่าไม้ในอำเภอลองจึงได้ยุติลง ช้างจึงหมดหน้าที่พร้อมกับคติความเชื่อ เช่น สู่ขวัญช้าง ก็หายไปด้วย พื้นที่รกร้างตามชายป่าที่ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนและสวนป่าต่างๆ เริ่มมีราคาและเข้าจับจองมากขึ้น ตลอดถึงพื้นที่ในหมู่บ้านก็ล้อมรั้วก่อกำแพงถาวร ทำให้บ้านเรือนที่เคยปลูกซ้อนกันสามารถเดินผ่านบริเวณบ้านกันได้ เพราะอดีตไม่นิยมสร้างเรือนใกล้ถนนเพราะกลัวผี สัตว์ป่า และโจรผู้ร้ายที่ผ่านไปมา แต่มายุคนี้ค่านิยมเปลี่ยนไปเพราะที่ดินใกล้ถนนยิ่งมีราคาแพง ประกอบกับเขตพื้นที่บ้านได้ล้อมกำแพงอย่างแน่นหนาจึงต้องมีการขอตัดทางเข้าบ้านใหม่ ที่สาธารณะหมู่บ้านก็ลดน้อยลงเพราะได้รับเงินทุนจากรัฐบาลก่อสร้างสิ่งต่างๆ มากมาย จนกระทั่งปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องบุกรุกเข้าใช้เขตพื้นที่ผีเจ้าบ้าน ผีปู่ย่า เพื่อแบ่งพื้นที่สร้างสิ่งก่อสร้างตามการพัฒนาใหม่ๆ รวมถึงเริ่มมีความนิยมใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ เช่น พันธุ์ข้าวเหนียว ก.ข.๖(สันป่าตอง), ก.ข.๘, และข้าวพานทอง ฯลฯ ที่ได้รับจากเกษตรอำเภอนำมาเข้ามาให้ทดลองปลูกตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งได้รับความนิยมมากเพราะข้าวที่ได้นิ่มกว่าข้าวพันธุ์โบราณที่เคยปลูก และเมื่อเหลือจากการบริโภคก็ขายได้ราคาดีเป็นที่นิยมของตลาด จึงทำให้ข้าวพันธุ์โบราณที่เคยปลูกในเมืองลองหลายสายพันธุ์ค่อยๆ ลดความนิยมและหมดลงในยุคนี้ ข้าวพันธุ์โบราณที่สูญหายไปมี ๓ แบบ คือ

(๑) ข้าวปี ใช้เวลาเพาะปลูก ๔ – ๕ เดือน เช่น ข้าวมะตาล ข้าวสานมะโก๋ ข้าวพวงหางหมี ข้าวก่ำ ข้าวเหลือง ข้าวหลงหล้อ ข้าวสามผิว ข้าวหลงขี้ไคล ข้าวลายน้อย ข้าวลังก๋าย ข้าวเชียงดาว และ ข้าวแม่หม้ายหลบหนี้ ฯลฯ

(๒) ข้าวฮาม ใช้เวลาเพาะปลูก ๔ เดือน เช่น ข้าวเล็บช้าง ข้าววังหิน และ ข้าวหลงดอกปุ๊ด ฯลฯ

(๓) ข้าวดอ ใช้เวลาเพาะปลูก ๓ เดือน เช่น ข้าวดอไฮ ข้าวดอขาว ข้าวดอดำ ข้าวดอนกแก๊น ข้าวดอแป่ ข้าวดอเลย และ ข้าวดอสินไจย ฯลฯ

ตลอดถึงมีพันธุ์ข้าวจ้าวหอมมะลิเข้ามาแทนข้าวจ้าวก้นแง้น (อดีตไม่ได้ปลูกข้าวจ้าวเพื่อบริโภคโดยตรงแต่ใช้โม่เป็นแป้งทำขนมจีนหรือขนมต่างๆ) ทำให้พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกในปัจจุบันเป็นพันธุ์ข้าวเกษตรและมีไม่กี่สายพันธุ์ ภูมิปัญญาการปลูกข้าวแบบเดิมจึงหายไป เช่น ดูลักษณะพันธุ์ข้าวกับที่นา หากนาล้อง(นาลุ่มน้ำ) จะใส่ข้าวปี ส่วนนาดอนใส่ข้าวฮามและข้าวดอ ฯลฯ หรือเมื่อคนหันมาปลูกข้าวชนิดเดียวกันจึงต้องเก็บเกี่ยวพร้อมกัน ความสัมพันธ์ที่เคยเอามื้อเอาแรงก็ลดน้อยลงเพราะต้องรีบเก็บเกี่ยวข้าวของตนเอง แต่ในส่วนของข้าวจ้าวนั้นยังไม่ได้เป็นที่นิยมปลูกในอำเภอลองเพราะเป็นคนพื้นเมืองถึง ๙๘% ชาวบ้านนิยมปลูกข้าวเหนียวและเพื่อบริโภคเป็นหลัก ดังนั้นแม้ว่าในช่วงพ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ จึงมีการปลูกข้าวจ้าวเพียง ๕๒ ไร่(๓๓ ตัน) แต่ปลูกข้าวเหนียวถึง ๔๑,๕๑๖ ไร่(๒๔,๖๙๒ ตัน) ส่วนข้าวนาปรังยังไม่นิยมส่วนใหญ่จะปลูกบริเวณที่มีชลประทาน เช่น ตำบลต้าผามอก และปลูกเพื่อขาย ดังปรากฏในปีพ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ ไม่มีการปลูกข้าวจ้าวแต่ปลูกข้าวเหนียว ๔๑๐ ไร่(๒๕๘ ตัน)

การทำนาบริเวณทุ่งแม่ขาว บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

 

นาข้าวบริเวณด้านหน้าวัดสะแล่ง บ้านนาหลวง  ตำบลห้วยอ้อ

 

ตัวอย่างชื่อและลักษณะข้าวพันธุ์โบราณที่เพาะปลูกในนาและไร่ของเมืองลองในอดีต

 

เมื่อความเจริญที่อำนวยความสะดวกต่างๆ เริ่มเข้ามาตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๒๐ ทั้งไฟฟ้า ประปา ทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเปลี่ยนไป เดิมเมื่อยังไม่มีไฟฟ้าต้องใช้ตะเกียงมีประเพณีการแอ่วสาว เมื่อไฟฟ้าเริ่มเข้ามาสู่หมู่บ้านต่างๆ ประมาณพ.ศ.๒๕๒๓ เป็นต้นมาทำให้ประเพณีการแอ่วสาวค่อยๆ หายไป และทำให้สะล้อ ซึง ค่าว และจ๊อย ก็ลดความนิยมตามไปด้วย ซึ่งผู้เขียนได้เลือกนำบทคำหยอกหรือคำบ่าวใส่สาวและสาวใส่บ่าวที่เคยใช้ในเมืองลองในอดีตมาบางตอนเพื่อแสดงเป็นตัวอย่าง บทคำเหล่านี้ในอดีตที่ลูกชายก็จะไปเรียนกับพ่อ ส่วนลูกสาวก็จะเรียนกับแม่หรืออาจไปเรียนกับผู้อาวุโสที่รู้จัก เพื่อเป็นการแสดงเชาว์ปัญญากลเม็ดของแต่ละฝ่าย เพื่อดูว่าเหมาะสมจะเอาเป็นคู่ครองหรือไม่ เช่น

ซึงเก่าที่สืบทอดมา ๔  ชั่วอายุคนของเมืองลอง (ที่มา : ภูวดล  แสนสา, ๒๕๕๔)

 

 

ช่างปี่ช่างซอล้านนา เมื่อพ.ศ.๒๔๒๘ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“บ่าว : เจ้าคนงาม ปั๋นปี้คนพราม(คนไม่หล่อ)นั่งนี้คนหนึ่งเต๊อะ

สาว : นั่งเต๊อะๆ อย่าไปนั่งตั๊ดต๋ง ฟากจักไหลลง ต๋งจักไหลข้อน

เพื่อนสาว : นั่งเต๊อะๆ บ่ใจ้ตี้ใผ ตี้หัวคันใด ตี้หมาปู้โก้ง (อาจเปลี่ยนเป็น “หมาแม่ด้อง”)

บ่าว : ปี้นั่งนี้ บ่หล้างบ่ปี้น้อย ปี้อ้าย ปี้หนาน มาจ๋าอื่อครางหื้อตั๋วแห่งข้า เปื้อน(เปิ้น)ไปตี่ไหน ปอไขบอกข้า รือบ่ตันมาเตื้อน้อง เจ้าคนงาม เก็บคนพรามไว้นี้คนหนึ่งเต๊อะ

สาว : เก็บลูกเปื้อนไว้ กลั๋วลูกเปื้อนต๋าย ค่าหัวป้อจาย น้องซ้ายบ่กุ้ม

บ่าว : เก็บปี้ไว้ ปี้บ่กลั๋วต๋าย ค่าหัวป้อจาย บ่มีสักหน้อย

สาว : เก็บเปื้อนไว้ กลั๋วลูกเปื้อนผอม บ่มีหยังตอม บ้านน้องกลั้นข้าว

บ่าว : นาตุ้ม ไผ่ล้อม อุ่นน่อง สันกล๋าง ปากปง ปากกาง ปี้ไปมาเสี้ยง

บ่าว : ขอนั่งนี้เคิ้นหนึ่ง (ขอนั่งตรงนี้ด้วยคน)

สาว : นั่งได้นั่งเต๊อะ นั่งฟากติดต๋ง กันจายนั่งลง ต๋งไหลฟากข้อน

ซึงเก่าที่สืบทอดมา ๔ ชั่วอายุคนของเมืองลอง (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

บ่าว : ข้อนจ่างมันเต๊อะ ปี้จักมาแป๋ง จักมานอนแฮม ฮงเฮียอยู่นี้ บ้านนี้กิ๋นข้าวแลงกับหยังหล่อ

สาว : (ถ้าฝ่ายหญิงพอใจในตัวชายก็จะตอบว่า) แก๋งตุ๊ลาบพระ

(แปลว่า “สาตุ๊กันได้กั๋นตึงบ่ละ” ความหมาย “ถ้ามีบุญได้อยู่คู่ครองกันก็จะไม่ทอดทิ้ง”)

สาว : (ถ้าฝ่ายหญิงไม่พอใจในตัวชายก็จะตอบว่า) ป้อหม้ายป้อฮ้าง เอามายองต๋อ เอาปูนก่านคอ จุ๊หมาเห่าเหล้น (เป็นการพูดดูถูกฝ่ายชาย)”

นอกจากการแอ่วสาวที่หายไป บ้านใกล้เรือนเคียงที่เคยเที่ยวไปมาหาสู่ยามค่ำคืนก็หายตามไปด้วย เมื่อโทรทัศน์เข้ามาใหม่ๆ มีใช้ไม่กี่หลังคาเรือนยังเป็นศูนย์กลางการพบปะกันของคนในหมู่บ้าน แต่พอช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ ทุกหลังคาเรือนเริ่มมีโทรทัศน์เป็นของตนเองจึงทำให้การไปมาหาสู่กันยามค่ำคืนลดน้อยลง มีน้ำประปาเข้ามาใช้ถึงบ้านเรือนประกอบมีการใช้สารเคมีในการเกษตรมากขึ้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดความนิยมลง เช่น การตักน้ำอาบน้ำตามลำห้วย หรือบ่อน้ำลดความนิยมและค่อยๆ หายไปจนบ่อน้ำถูกถมหรือถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก แม้แต่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เคยใช้ในพิธีกรรมสำคัญของบ้านเมือง เช่น หนองสะบันงาน้ำพุ น้ำบ่อสองพี่น้อง(น้ำบ่อหลวง น้ำบ่อน้อย) ภายในวัดพระธาตุศรีดอนคำ หรือหนองสะเปาคำก็ลดความสำคัญลง


ทอซิ่นตีนจกแบบปัจจุบันที่ใช้การยกเขา (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๐)

 

ก๋องหลัว(กองฟืน)ที่ในอดีตจะมีไว้ใต้ถุนเรือนทุกหลังคาเรือน (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

 

ทอซิ่นตีนจกแบบโบราณโดยไม่ใช้การยกเขา

 

ส่วนการตีเครื่องมือเหล็กก็เริ่มลดลงอย่างรวดเร็วในระยะนี้ เพราะมีพ่อค้าแม่ค้าออกไปรับซื้อเป็นเครื่องมือสำเร็จรูปจากตัวจังหวัดแพร่เข้ามาขายในท้องถิ่น มีราคาถูกกว่าจ้างช่างตีเองและไม่มีช่างรุ่นใหม่สืบทอด จึงทำให้จากที่เคยมีหมู่บ้านละ ๒ – ๓ แห่งค่อยๆ ลดลงและปัจจุบันทั่วอำเภอลองเหลือเพียง ๒ - ๓ แห่งเท่านั้น แต่ผ้าซิ่นตีนจกระยะนี้กลับได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ มีหน่วยราชการแผนพัฒนาชุมชนอำเภอลองและคณะกรรมการหมู่บ้านนามนให้การสนับสนุน จึงจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าเมื่อพ.ศ.๒๕๓๒ และช่างทอผ้าได้รับการอมรมการทอผ้าจากเจ้าหน้าที่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ มีหน่วยงานมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาให้ความรู้ จึงยิ่งได้รับความสนใจมีการพัฒนารูปแบบผ้าซิ่นตีนจกต่างไปจากเดิม เช่น ทอเป็นลวดลายเต็มผืนผ้าซิ่นแทนทอแล้วนำมาต่อเชิงผ้าซิ่น ทำเป็นผ้าม่าน เน็คไทค์ ปลอกหมอน ชุดเตียงนอน ชุดโต๊ะอาหาร พวงกุญแจ หรือตัดเป็นชิ้นส่วนประดับเสื้อผ้า ฯลฯ ช่วงนี้จึงทำให้ตีนจกเมืองลองมีหน้าที่ใช้สอยมากกว่าเป็นตีนซิ่น(เชิงผ้าถุง)แบบอดีตที่ผ่านมา รวมถึงด้านคติความเชื่อที่เดิมห้ามผู้ชายทอผ้าแต่สามารถช่วยผลิตอุปกรณ์ทอได้ มายุคนี้เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด หาเงินจุนเจือครอบครัว จึงเริ่มปรากฏมีผู้ชายทอผ้าเกิดขึ้น

ซิ่นตีนจกเมืองลองตื่นตัวมากขึ้นช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ เพราะกลุ่มสตรีทอผ้าได้รับการสนับสนุนจากส.ส.แพร่ มีทุนจ้างเป็นวิทยากรออกไปสอนในแถบตำบลเวียงต้า ตำบลต้าผามอก อำเภอวังชิ้น อำเภอเด่นชัย ตลอดถึงอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง จึงทำให้ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองเผยแพร่ไปทั่ว แต่กลับมีผลกระทบด้านการตลาดที่ภายหลังมีผู้ผลิตมากขึ้นแต่ตลาดเท่าเดิม และมีการนำผ้าทอเลียนแบบตีนจกจากฝั่งประเทศลาวที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ มีราคาถูกกว่าจกเมืองลอง ๑ – ๒ เท่าเข้ามาตีตลาด ทำให้ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นต้นมาวงการตลาดผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองซบเซาลงและยังทรงตัวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่างผู้ทอผ้าซิ่นตีนจกก็เหลือเพียงแม่บ้านที่ยังทอกันอยู่ ส่วนวัยรุ่นที่ต้องเข้าโรงเรียน มหาวิทยาลัยทั้งในและนอกพื้นที่ และบางส่วนออกไปหางานทำจึงทำให้ขาดการสืบทอด รวมถึงงานช่างแขนงต่างๆ ที่เคยสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็ค่อยหายไปในคนรุ่นนี้ นอกจากมีการรวมกลุ่มผ้าซิ่นตีนจก แต่ละหมู่บ้านก็ได้รับการอบรมสนับสนุนจัดตั้งเป็นกลุ่มต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มกองทุนสงเคราะห์ฯ กลุ่มกองทุน อสม. กลุ่มกองทุนเอดส์ กลุ่มออมทรัพย์ฯ กลุ่มกองทุนกระตุ้นเศรษฐกิจฯ กลุ่มเยาชน กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มเลี้ยงสุกร กลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีด กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มทำขนม กลุ่มจักสาน กลุ่มหมอยาสมุนไพร(แพทย์แผนไทย) กลุ่มผลิตเครื่องดนตรีพื้นเมือง กลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มสวนส้ม กลุ่มสุราพื้นบ้าน ฯลฯ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของชาวบ้านแบบเดิมได้ค่อยเปลี่ยนไป เป็นลักษณะขององค์กรแยกย่อยและมีความสัมพันธ์แบบทางการมากขึ้นกว่าอดีตที่มักร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมู่บ้าน

ด้านการท่องเที่ยวตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้ปีพ.ศ.๒๕๓๐ เป็นปีท่องเทียวไทยจึงทำให้เริ่มมีการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในอำเภอลอง โดยใช้ทุนวัฒนธรรมเดิมภายในท้องถิ่นเป็นจุดขาย ทั้งโบราณวัตถุ โบราณสถาน และสถานที่ธรรมชาติ ทำให้เกิดการพยายามรื้อฟื้นความมีตัวตน ความมีอัตลักษณ์ และความมีเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และได้ตื่นตัวมากขึ้นในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ ที่มีหลายๆ หน่วยงานเริ่มเข้ามากระตุ้นการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป ประกอบกับช่วงนี้เมืองใหญ่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเกิดปัญหาต่างๆ ทั้งชุมชนแออัด เกิดมลภาวะ ฯลฯ พยายามเข้าหาแหล่งวัตถุดิบและแรงงานเพื่อลดต้นทุนทางการผลิต จึงมีการขยายตัวเข้ามาลงทุนในชนบทมากขึ้นรวมถึงในอำเภอลอง มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งจากคนภายในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุน เช่น โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา โรงงานผลิตกระดาษเยื่อไม้ไผ่ โรงงานเย็บผ้า โรงโม่หิน ท่าดูดทรายจากแม่น้ำยม ฯลฯ ซึ่งต่อไปในอนาคตหากไม่ดูแลรักษาระดับคุณภาพของโรงงานหรือควบคุมการผลิต ชุมชนในแอ่งลองที่เป็นแอ่งขนาดเล็กมีพื้นที่จำกัด ก็จะมีสภาพไม่ต่างไปจากเมืองหลวง(กรุงเทพฯ)หรือเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันกลุ่มทายาทของพ่อค้าจีนและพ่อค้าไทย ที่เข้ามาลงทุนสะสมทุนในอำเภอลองตั้งแต่รถไฟเข้ามา และคนในพื้นที่ที่สะสมทุนจากการทำไม้หรือออกไปทำงานต่างประเทศและต่างจังหวัด ได้กลายเป็นชนชั้นกลางและเปิดกิจการต่างๆ ขึ้นในช่วงนี้จำนวนมาก เช่น อู่ซ่อมรถล้างรถ ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร ฯลฯ แต่การพัฒนาสมัยใหม่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการของจิตใจได้ ดังเช่นบ้านเรือนส่วนใหญ่ในช่วงนี้ก่อด้วยอิฐบล็อกฉาบปูนแทบทั้งหมด จึงทำให้ชาวบ้านกลับมานิยมสร้างบ้านด้วยไม้อีกครั้งหลังหมดความนิยมไปในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ เพราะการตัดไม้เริ่มถูกควบคุมอย่างเข้มงวดทำให้หายากมีราคา และเกิดการโหยหาอดีตของชนชั้นกลาง แต่การสร้างก็ไม่เหมือนโบราณแต่จะเน้นความหนาและใหญ่ของไม้ จึงเปลี่ยนค่านิยมช่วงนี้ว่าถ้าใครสร้างบ้านด้วยไม้แสดงถึงความมีรสนิยมและมีฐานะ

 

เรือนของคหบดีรุ่นเก่าในอำเภอลอง (ที่มา : พระปลัดสมบูรณ์ สิริวณฺโณ, ๒๕๕๒)

 

ดังนั้นจากเดิมคนส่วนใหญ่ในอำเภอลองจะมีโลกทัศน์แคบๆ อยู่เฉพาะภายในอำเภอหรือพื้นที่ใกล้เคียง แต่เมื่อการพัฒนาเทคโลยีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะอินเตอร์เนต ทำให้คนมี โลกทัศน์กว้างไกลสามารถรับรู้ความเป็นไปทั่วโลก ประกอบกับมีการขยายโอกาสทางการศึกษาแผนใหม่ให้กว้างและระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น เปิดโรงเรียนสายวิชาชีพ “วิทยาลัยการอาชีพลอง” ในพ.ศ.๒๕๔๐ เปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในปีพ.ศ.๒๕๔๓ จัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตเมืองลองเปิดสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยเน้นรองรับคนจากพื้นที่อำเภอลองและอำเภอวังชิ้นเป็นหลัก จึงทำให้เกิดการขยายตัวของชนชั้นมากขึ้น โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นที่ได้ผ่านการศึกษาระดับสูงภายในพื้นที่ ก็จะเป็นผู้นำในชุมชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ตลอดจนระดับจังหวัด และเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการรื้อฟื้นตัวตนของท้องถิ่น “เมืองลอง”

เมื่อมองในระยะยาว ตั้งแต่ระบบการปกครองของเมืองลองแบบจารีตล่มสลายมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าการขยายอิทธิพลเข้ามาปฏิรูปการปกครองรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ประสบผลสำเร็จในด้านโครงสร้างการเมืองการปกครองเท่านั้น ส่วนคติและวิถีความเชื่อยังคงไม่ได้ถูกกลืนไปกับการการปกครองทั้งหมด เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างเพื่อให้ตอบสนองกับสภาวการณ์ตามยุคสมัยเท่านั้น ส่วนการพัฒนานั้นตั้งแต่รถไฟเข้ามาถึงแขวงเมืองลองในพ.ศ.๒๔๕๗ ถึงก่อนใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ การพัฒนาในอำเภอลองค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะหมู่บ้านในเขตห่างไกลจากตัวอำเภอและสถานีรถไฟยังมีการพึ่งพาตนเองได้มาก กระทั่งเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมาจึงเริ่มเกิดการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนามากจนชาวบ้านต้องพึ่งพาตลาดหลังพ.ศ.๒๕๒๐ แต่ทวีความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตอย่างรวดเร็วนั้นพึ่งเริ่มเมื่อช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ และหากเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นมีการพัฒนาด้านต่างๆ เปิดโลกทัศน์ของคนเชื่อมกับโลกภายนอกมากขึ้นก็กล่าวได้ว่าในช่วงพ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมานี้เอง

ขณะเดียวกันการดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรมและพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน เช่น การปลูกฝ้ายทอผ้าห่ม เย็บถุงย่าม ทอผ้าซิ่นใส่เอง เก็บนุ่นมายัดหมอน ปลูกผักไว้กินเอง จับปลาตามแม่น้ำยมหนองน้ำลำห้วย หรือเก็บผัก ขุดหน่อไม้ ล่าสัตว์ตามป่าตามไร่มาทำอาหาร ฯลฯ ก็ยังมีอยู่ควบคู่กับความเจริญที่ถาโถมเข้ามา ไม่ได้หายไปจากวิถีชีวิต “คนเมืองลอง” อย่างสิ้นเชิงและยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่สยามเริ่มจัดปฏิรูปการปกครองหัวเมืองนครประเทศราชล้านนา เมืองลองและเมืองต้าถูกยุบรวมจัดตั้งเป็นหน่วยการปกครองรูปแบบใหม่เรียกว่า “แขวงเมืองลอง” มีข้าราชการจากสยามเข้ามาทำหน้าที่ปกครองแทนกลุ่มเจ้าเมืองขุนนาง ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมถูกเบียดขับออกจากระบบการเมืองการปกครอง ผลประโยชน์ต่างๆ ตลอดถึงความเป็น “เจ้าชีวิต” ต้องสูญสลายชั่วพริบตา เหลือเพียงพื้นที่ด้านจารีตประเพณีไว้ให้กลุ่มอำนาจเดิมเท่านั้น ทำให้เกิดความไม่พอใจมีการต่อต้านสยามอย่างรุนแรงของกลุ่มอำนาจเดิมที่ร่วมมือกันของหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา แต่เมื่อมีการปราบปรามอย่างรุนแรงที่เมืองแพร่ ทำให้เจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมือง และพ่อเมืองทั้งหลายเห็นว่าไม่อาจต้านทานอำนาจของสยามได้ จึงยอมให้ความร่วมมือในการจัดปฏิรูปการปกครองอย่างราบรื่น ขณะเดียวกันเมื่อรัฐบาลสยามได้ปฏิรูปด้านการปกครองสำเร็จ ต่อมาจึงมีนโยบายปฏิรูปด้านการศึกษาและพระสงฆ์ที่ทำการปฏิรูปควบคู่กัน ซึ่งนโยบายสำคัญเพื่อไม่ให้ขัดขวางต่อการสร้าง “รัฐชาติ” สมัยใหม่ คือ การเปลี่ยนความคิดเยาวชนล้านนา “คนเมืองลอง” “คนเมืองต้า” ให้มีสำนึกร่วมว่าเป็นประชาชนคนไทยผ่านทางการศึกษาสมัยใหม่ รัฐพิธี และสื่อต่างๆ

เมื่อสร้างทางรถไฟผ่านอำเภอลอง ก็ได้รับผลความเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นมาตามเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของอำเภอลองที่ขยายตัวเข้าสู่ระบบทุนนิยม มีพ่อค้าชาวจีนและไทย(ภาคกลาง)เป็นผู้ควบคุมระบบเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ แต่การขยายตัวนี้ก็จำกัดเฉพาะส่วนศูนย์กลางการปกครอง(อำเภอ)และย่านเศรษฐกิจ(ตลาดอำเภอ,สถานีรถไฟ)เท่านั้น ส่วนหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปโดยเฉพาะในแถบบริเวณวังชิ้นยังอยู่ในระบบพึ่งพาตนเองอยู่มาก จนเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๑ ในพ.ศ.๒๕๐๔ ทำให้การพัฒนาตามแบบสมัยใหม่ด้านต่างๆ ถาโถมเข้าสู่อำเภอลอง ส่งผลให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม สามารถแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงที่แรกแผนพัฒนาฉบับที่ ๑ – ๕ เริ่ม เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในด้านสาธารณูปโภค และช่วงที่สองแผนพัฒนาฉบับที่ ๖ – ๙ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ เป็นต้นมาถือว่าอำเภอลองพัฒนาเร็วแบบก้าวกระโดด และเพิ่มมากขึ้นในทศวรรษ ๒๕๔๐ ผู้คนมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผูกติดกับระบบทุนนิยมมากที่ไม่เคยมีมาก่อน

ด้วยอำเภอลองเป็นอำเภอเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลศูนย์กลางการพัฒนา การพัฒนาเหล่านี้จึงเป็นตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงภายในอำเภอลองเองว่าถูกดึงเข้าสู่ระบบทุนนิยมมากขึ้นทุกขณะ แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานตามการพัฒนารูปแบบใหม่ของประเทศไทย อำเภอลองก็ไม่ถึงกับเป็นระดับ “สังคมเมือง” ยังเป็นเพียง “สังคมชนบท” ที่ผู้คน “เมืองลอง” กลุ่มใหญ่แทบทั้งหมดยังคงมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมและพึ่งพาตนเองควบคู่กันไปด้วย

 

“หม่าน้ำต้น” ภาชนะใส่น้ำสำหรับเดินทางในอดีต (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

จักสานก๋วยกล้าเพื่อใช้ใส่ต้นกล้าข้าวในปัจจุบัน (ที่มา : ภูวดล  แสนสา, ๒๕๕๔)

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 12 •มีนาคม• 2013 เวลา 18:20 น.• )