“พุทธศาสนา” “ผีบ้านผีเมือง” และ”เจ้าเมือง” หัวใจความเป็นเมืองลองในยุคจารีต กับการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองอย่างเข้มข้น ช่วงพ.ศ.๒๕๓๘ - พ.ศ.๒๕๕๔ การสร้างและรื้อฟื้นของเมืองลองในช่วงก่อนหน้านี้ ได้นำเอาเฉพาะทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาหรือที่เกี่ยวพันมาสร้างและรื้อฟื้น ด้วยเป็นความเชื่อสากลและเป็นที่ยอมรับนับถือของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย และมีพลังในการประสานคนท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ ได้กว้างขวางมากกว่าทุนวัฒนธรรมส่วนอื่น พอมาถึงในช่วงนี้ส่วนกลางได้เปิดพื้นที่ให้กับท้องถิ่นได้แสดงความมีอยู่ของท้องถิ่นมากขึ้น เนื่องด้วยสังคมโลกที่นำโดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปีพ.ศ.๒๕๓๑ เป็นปีเริ่มต้นทศวรรษโลกในการพัฒนาวัฒนธรรม เพื่อสร้างสันติภาพ สันติสุข และอิสรภาพแก่มวลมนุษย์ ดังนั้นสังคมไทยที่ผูกติดอยู่กับสังคมโลก รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายให้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมอำเภอ และสภาวัฒนธรรมตำบลขึ้นในพ.ศ.๒๕๓๘ ตามประกาศของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกระจายอำนาจการดำเนินงานวัฒนธรรมให้ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.๒๕๔๐ หลายมาตราได้เปิดโอกาสและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น มาตราที่ ๔๖ “บุคคลที่รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและชาติ...” หรือมาตราที่ ๕๖ “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง...”

กอปรกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) และฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๔๕ - ๒๕๔๙) เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมาเป็นการเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญเรื่องวัฒนธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ด้วยบริบททางการเมืองและแนวนโยบายของรัฐบาลที่ให้ท้องถิ่นได้แสดงความเป็นตัวตนมากขึ้น ผ่านทั้งการออกกฎหมายรองรับ มีงบประมาณตลอดจนมีแนวทางการพัฒนาประเทศสนับสนุน ทำให้คนเมืองลองเริ่มดึงทุนวัฒนธรรมที่เคยเป็นหัวใจของความเป็นเมืองลองในยุคจารีตอีกสองอย่าง คือ “ผีเมือง” และ “เจ้าเมือง” ให้เด่นชัดขึ้น เพื่อมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง ร่วมกับทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาที่นำมาใช้ตั้งแต่ช่วงแรก จึงทำให้ช่วงนี้เกิดคนเมืองลองแสดงตัวตนเพื่อรื้อฟื้นที่เด่นชัดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกลุ่ม คือ กลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองลอง ขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปก็เริ่มแสดงบทบาทได้มากและหลากหลายขึ้น การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองในช่วงนี้จึงนำทุนทางวัฒนธรรมทั้ง ๓ อย่างมาสร้างให้เด่นชัดขึ้น คือ

(๑) ทุนวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาได้ขยายวงกว้างขึ้น เช่น เริ่มขยายพื้นที่การสร้างให้ครอบคลุมพระพระธาตุทั้งห้าองค์ในเมืองลอง ฯลฯ

(๒) ทุนวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับผีบ้านผีเมือง เช่น สร้างรูปเคารพผีเมือง หยิบยกตับเหล็ก(ก้อนแร่เหล็กลอง)และขมิ้นหิน(คตขมิ้น)ให้เป็นที่รู้จักแก่คนภายนอก ฯลฯ

(๓) ทุนวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเจ้าเมือง เช่น หนุนผ้าซิ่นตีนจกให้รู้จักอย่างกว้างขวาง ทายาทเจ้าเมืองรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ฯลฯ

ระยะแรกการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง จะมีพระสงฆ์เป็นกลุ่มแกนนำหลัก มาถึงช่วงนี้เนื่องจากมีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง และสภาวัฒนธรรมตำบลขึ้นทุกตำบลเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมโดยตรง โดยบุคลากรผู้บริหารงานก็มาจากตัวแทนของกลุ่มผู้สร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองตั้งแต่ช่วงแรก (พระสงฆ์,ปราชญ์ท้องถิ่น, ข้าราชการท้องถิ่น,นักการเมืองท้องถิ่น) สภาวัฒนธรรมจึงเป็นพื้นที่รวมคนหลากหลายกลุ่มเข้าไว้เป็นหน่วยงาน กลายเป็นแกนนำหลักและเป็นเครือข่ายประสานการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของ เมืองลองกับคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างมีพลังกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกลุ่มพระสงฆ์ก็ยังมีบทบาทสูงในการสร้างและรื้อฟื้น โดยเฉพาะพระครูเกษมรัตนคุณ(ครูบาแก้ว) เจ้าคณะอำเภอลอง ที่เป็นแกนนำผลักดันการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลองมาตั้งแต่เริ่มต้น ยังดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์(เจ้าคณะ)อำเภอลองยาวนานถึง ๔๙ ปี(มรณภาพพ.ศ.๒๕๔๖) จึงสร้างความศรัทธาให้กับคนท้องถิ่นและมีพลังในการประสานกลุ่มคนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เมื่อมีสภาวัฒนธรรมที่รวมตัวแทนของแต่ละกลุ่มเป็นแกนหลัก และมีกลุ่มพระสงฆ์ให้การสนับสนุน ส่งผลให้แต่ละชุมชนพยายามค้นหาอดีต สร้างความเป็นเอกลักษณ์ หรือพยายามหยิบยกเอาทรัพยากรที่ตนเองครอบครองอยู่ ให้เป็นจุดเด่นของแต่ละชุมชนขยายตัวมากขึ้นกว่ายุคก่อนที่ผ่านมา เช่น สภาวัฒนธรรมตำบลห้วยอ้อ เน้นพระธาตุศรีดอนคำ สภาวัฒนธรรมตำบลบ่อเหล็กลอง เน้นบ่อเหล็กลอง สภาวัฒนธรรมตำบลหัวทุ่ง เน้นผ้าซิ่นตีนจก สภาวัฒนธรรมตำบลปากกาง เน้นพระธาตุแหลมลี่ และสภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งแล้ง เน้นพระธาตุปูตั้บ ฯลฯ ขณะที่สภาวัฒนธรรมอำเภอลองจะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนในพื้นที่เข้าประสานงานกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และเป็นตัวแทนเชื่อมสภาวัฒนธรรมของแต่ละตำบลเข้าทำกิจกรรมร่วมกัน จึงกล่าวได้ว่าการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมอำเภอและสภาวัฒนธรรมตำบล สามารถเปิดพื้นที่ให้กับจุดต่างๆ ภายในอำเภอลอง ได้รื้อฟื้นความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมากขึ้นและมีพลังมากกว่ายุคที่ผ่านมา

ความเป็นเมืองลองผ่านประเพณีขึ้น(ไหว้)พระธาตุทั้งห้าองค์

พระธาตุของเมืองลอง เจ้าเมืองลองและกลุ่มผู้ปกครองได้นำมาสร้างความเป็นกลุ่มก้อนของคนเมืองลองในยุคจารีตด้วยระบบพระธาตุประจำพระเจ้าห้าพระองค์ เป็นรูปแบบเดียวกันกับที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา(พ.ศ.๑๙๘๔ - ๒๐๓๐) ทรงสร้างเครือข่ายระบบพระธาตุประจำปีเกิด โดยสถาปนาพระมหาธาตุหลักประจำแต่ละหัวเมืองที่มีมาแต่เดิมให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของอาณาจักรล้านนา และดึงอำนาจความเป็นศูนย์กลางเข้าไว้เมืองหลวงเชียงใหม่ คติการบูชาพระธาตุของเมืองลองจึงเป็นทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ที่ส่งผ่านมาทางตำนานและประเพณีการขึ้น(ไหว้)พระธาตุองค์ต่างๆ ที่ผลิตซ้ำอยู่เสมอทุกปี การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองในช่วงแรกไม่ได้หยิบยกพระธาตุมาทั้งห้าองค์ แต่เน้นเฉพาะพระธาตุศรีดอนคำที่เป็นศูนย์กลางของเมืองลอง(ยุคสุดท้ายในระบบจารีต) และสืบมาเป็นศูนย์กลางของอำเภอลองในปัจจุบัน กอปรกับมีตำนานกล่าวเชื่อมโยงถึงพระนางจามเทวี จึงสามารถบ่งบอกถึงความเก่าแก่ของเมืองลองที่อิงกับเมืองหริภุญไชย(ลำพูน)ได้ชัดเจนที่สุด แต่พอมาถึงในช่วงที่สองนี้ ได้ขยายการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองครอบคลุมถึงพระธาตุอีกสี่องค์ คือ พระธาตุแหลมลี่ พระธาตุไฮสร้อย พระธาตุปูตั้บ และพระธาตุขวยปู สะท้อนผ่านจากการปรับเปลี่ยนคำขวัญของอำเภอลอง ให้มีความหมายสื่อถึงความมีตัวตนของเมืองลองให้ชัดเจนขึ้นพร้อมกับขยายให้ครอบคลุมถึงพระธาตุทั้งหลายในเมืองลอง เพราะคำขวัญเป็นเสมือนป้ายจำกัดความของท้องถิ่นนั้นๆ ที่พยายามส่งสารให้กับคนภายนอกได้รับรู้ ดังนั้นจากคำขวัญของอำเภอลองมีความหมายกว้างๆ ที่แต่งขึ้นในช่วงก่อนทศวรรษ ๒๕๓๐ คือ “พระธาตุศรีดอนคำเป็นสง่า ลือชาผ้าตีนจก มรดกล้านนา ส้มพุทราหวานฉ่ำ งามล้ำถ้ำเอราวัณ สุขสันต์ล่องแก่ง แหล่งเทียวสวนหิน ถิ่นคนใจงาม”

พอในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ ข้าราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น พระสงฆ์ และตัวแทนประชาชนในอำเภอลองจึงมีมติเอกฉันท์เปลี่ยนเป็น “งามพระธาตุล้ำค่า ส้มพุทรารสเลิศ แหล่งกำเนิดผ้าจก มรดกสวนหิน ถิ่นชาวเมืองลอง”

เป็นคำขวัญสั้นๆ สัมผัสคล้องจองง่ายต่อการจดจำ ที่สำคัญคำขวัญยังแสดงถึงการขยายวงกว้างสื่อถึงเป็นแหล่งพระธาตุทั้งห้าองค์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของ “ชาวเมืองลอง” มาแต่โบราณกาล ที่เป็นถิ่นชาว “เมืองพระธาตุ” “เมืองบุญ” “เมืองเก่าแก่” “เมืองอารยธรรม” ซึ่งคำขวัญของอำเภอลองก่อนหน้านั้นระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงว่ามีพระธาตุศรีดอนคำเพียงองค์เดียว และในช่วงนี้มีการระบุว่าอำเภอลองเป็น “ถิ่นชาวเมืองลอง” ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าอำเภอลองไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน่วยอำเภอที่สามารถจัดตั้งขึ้นส่วนไหนก็ได้ในประเทศไทย แต่ว่าอำเภอลองคือ “เมืองลอง” เป็นบ้านเมืองที่เคยมี “เจ้า” ปกครอง เป็นถิ่นที่มีวัฒนธรรมจารีตประเพณีของบ้านเมืองตนเองมายาวนาน

การขยายขอบเขตของการสร้างและรื้อฟื้นเมืองลองผ่านพระธาตุองค์อื่นๆ ดังปรากฏชัดเจนใน “ประเพณีล่องวัดเดือน ๖” หรือ “ล่องสะเปา” ที่มีแห่ขบวนครัวทานล่องเรือไปทางแม่น้ำยมเพื่อไหว้พระธาตุแหลมลี่(เดือนหกเป็ง) ได้ยกเลิกมาแห่ขบวนทางบกแทนเมื่อมีถนนตัดผ่านช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจทศวรรษ ๒๕๐๐ ให้กลับมารื้อฟื้นแห่ขบวนทางเรืออีกครั้งในปีพ.ศ.๒๕๕๐ โดยการนำของสภาวัฒนธรรมตำบลปากกาง ร่วมมือของสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง คณะกรรมการวัดพระธาตุแหลมลี่ พระสงฆ์ศรัทธาหัววัดในอำเภอลอง และองค์การบริหารส่วนตำบลปากกางที่ช่วยจัดสรรเรื่องเงินงบประมาณ รวมถึงประเพณีขึ้นพระธาตุไฮสร้อย(เดือนสี่เป็ง) ตำบลปากกาง ประเพณีขึ้นพระธาตุปูตั้บ(เดือนห้าเป็ง) ตำบลทุ่งแล้ง ที่สภาวัฒนธรรมแต่ละตำบลเข้าประสานงานกับสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง มีการจัดขบวนแห่ครัวทาน ประชาสัมพันธ์เน้นขอให้พระสงฆ์และศรัทธาแต่ละหัววัดเข้ามามีส่วนร่วม สังเกตว่าในช่วงนี้พระธาตุแต่ละองค์มีองค์กรต่างๆ ให้ความ สำคัญเพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาของแต่ละพื้นที่

ขบวนแห่ครัวทาน(เครื่องไทยทาน)ไหว้พระธาตุแหลมลี่ทางแม่น้ำยม ของหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอลอง เมื่อพ.ศ.๒๕๕๑

แห่ครัวทานเข้าวัดพระธาตุแหลมลี่โดยมีจารีตให้ศรัทธาวัดนาหลวงซึ่งเป็นข้าวัดเข้าวัดก่อนเสมอ

ศาลาพักครัวทานภายในวัดพระธาตุแหลมลี่ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

พระธาตุไฮสร้อย

พระธาตุขวยปู

พระธาตุปูตั้บ

ส่วนพระธาตุขวยปูที่ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น แต่ก็มีอาณาเขตติดต่อกันกับตำบลบ่อเหล็กลอง และพระธาตุปูตั้บ ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง ซึ่งพระธาตุขวยปูบรรจุกระดูกจอมบ่าซ้ายและพระธาตุปูตั้บบรรจุกระดูกจอมบ่าขวาของพระพุทธเจ้า จึงเป็นพระธาตุคู่แฝดที่มีประเพณีไหว้พระธาตุวันเดียวกัน(เดือนห้าเป็ง) ก็มีตัวแทนของหมู่บ้านในอำเภอลองแห่ครัวทานเข้าร่วมด้วย และพยายามเชื่อมโยงความเป็นเมืองลองผ่านประเพณีไหว้พระธาตุขวยปูโดยการจัดพิมพ์ตำนานพระธาตุแหลมลี่ ที่ได้กล่าวความสัมพันธ์และแสดงสิทธิธรรมว่าเป็นพระธาตุองค์หนึ่งของเมืองลองมาแต่โบราณ และทางวัดพระธาตุขวยปูเองก็จัดพิมพ์ตำนานพระธาตุธาตุขวยปู(ตำนานพระธาตุเจ้าปูคำ)ที่ระบุเชื่อมโยงถึงเมืองลองด้วยเช่นกัน ดังนั้นแม้ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งพระธาตุขวยปูจะถูกแบ่งเขตด้วยรัฐไทยให้เป็นอำเภอวังชิ้น แต่ก็ยังสามารถใช้ตำนานเป็นหลักฐานเชื่อมโยงความสัมพันธ์เพื่อสร้างความเป็นเมืองลองขึ้นมาอีกครั้งได้ รวมถึงคติการบูชาพระธาตุประจำพระเจ้าห้าพระองค์ ก็ถูกเน้นย้ำมากขึ้นในช่วงนี้และผลิตซ้ำจากหลายรูปแบบของกลุ่มพระสงฆ์และผู้ศรัทธาทั้งจากทั้งภายในและภายนอกอำเภอลอง ดังเช่น วัดพระธาตุแหลมลี่จัดหล่อพระพุทธรูปพระเจ้าห้าพระองค์ในปลายปีพ.ศ.๒๕๓๙ โดยมีศรัทธาภายในอำเภอลองและจังหวัดลำพูนให้การอุปถัมภ์ หรือ ครูบาเถระจากจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะจัดพาอุบาสกอุบาสิกาทั่วประเทศมาไหว้พระธาตุตามระบบคติบูชาพระธาตุประจำปีเกิด ก็ยังจัดให้มีการไหว้พระธาตุในเมืองลองตามคติบูชาพระธาตุประจำพระเจ้าห้าพระองค์อีกด้วย

ขณะเดียวกันพระธาตุศรีดอนคำ ที่ถูกนำมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมาตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยปัจจัยที่อยู่ในบริเวณศูนย์กลางของอำเภอลอง ซึ่งมีสถานที่ราชการ สภาวัฒนธรรมอำเภอลอง สภาเทศบาลตำบลห้วยอ้อ สถานศึกษา(มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตเมืองลอง,โรงเรียนลองวิทยา)ล้วนตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง จึงได้รับการส่งเสริมดูแลเป็นพิเศษและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางมากกว่าพระธาตุองค์อื่นๆ ก็มีการสร้างและรื้อฟื้นผ่านและแอบอิงมากขึ้นกับประเพณีขึ้นพระธาตุศรีดอนคำ ประเพณีกิ๋นเข้าสลาก(สลากภัต) ตลอดจนถึงประเพณีสรงน้ำพระธาตุ(อาบน้ำธาตุ)ช่วงสงกรานต์(ปี๋ใหม่) ดังเช่น จัด “งานยี่เป็งเมืองลอง” พร้อมกับวันขึ้นพระธาตุศรีดอนคำ จัด “งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ เมืองลอง” พร้อมกับวันสรงน้ำพระธาตุศรีดอนคำ จัด “งานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมเมืองลอง” พร้อมกับวันประเพณีกิ๋นเข้าสลากวัดพระธาตุศรีดอนคำ ฯลฯ

การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองในช่วงนี้ได้ผูกเข้ากับการท่องเที่ยวมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยให้พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นปีท่องเที่ยวไทย และช่วงพ.ศ.๒๕๓๑ - ๒๕๓๒ เป็นปีศิลปวัฒนธรรมไทย จึงกระตุ้นให้เกิดการสร้างและรื้อฟื้นผ่านทุนวัฒนธรรมจากพระธาตุศรีดอนคำที่มากและหลากหลายขึ้น ดังกลุ่มพระสงฆ์ สภาวัฒนธรรม ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น สภาเทศบาล และสถานศึกษา ร่วมกันจัดการแสดงละครประกอบแสงสีเสียงเรื่องพระนางจามเทวีที่เสด็จเข้ามาในเมืองลอง ณ ลานพระธาตุศรีดอนคำที่ใกล้กับอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ในคืนวันประเพณีขึ้นพระธาตุศรีดอนคำ หรือเน้นสื่อให้เห็นมีความยิ่งใหญ่และเป็นของท้องถิ่นเมืองลองมากที่สุด ผ่านการจัดงานสำคัญเกี่ยวกับพระธาตุ ดังในงานขึ้นพระธาตุและยกยอดฉัตรองค์พระธาตุศรีดอนคำประจำปี ๒๕๕๐ มีการแสดงตีกลองเส้ง ตีกลองปูจาระบำ(ทำนอง)เมืองลอง มีขบวนฟ้อนเล็บให้ช่างฟ้อนสวมซิ่นตีนจกเมืองลองกว่า ๒๐๐ คน และฟ้อนเล็บบูชายกยอดพระธาตุศรีดอนคำช่างฟ้อนสวมซิ่นตีนจกเมืองลองกว่า ๓๐๐ คน ฯลฯ รวมไปถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าก็ดึงเอาทุนวัฒนธรรมของพระธาตุศรีดอนคำมาใช้ เช่น นำรูปภาพของพระธาตุศรีดอนคำมาทำเป็นปฏิทินหรืออัลบัมรูปไว้แจกเพื่อเรียกลูกค้า

ขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปก็เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทมากขึ้น บางครั้งก็เข้าร่วมกับกลุ่มสภาวัฒนธรรมและข้าราชการในการสร้างและรื้อฟื้น ดังมีการแต่งเพลงหรือสนับสนุนให้แต่งเพลงเกี่ยวเมืองลองที่เน้นเรื่องพระธาตุศรีดอนคำผูกโยงกับประวัติของพระนางจามเทวี เช่น เพลงถิ่นงามเมืองลอง เพลงร่ำเปิงเมืองลอง(ก่อนหน้านั้นจ.ลำปางมีเพลงร่ำเปิงลำปาง แต่งพ.ศ.๒๕๑๐) และเพลงตำนานเมืองลอง

เพลงถิ่นงามเมืองลอง “ถิ่นงามนามระบือ สมคำร่ำลือคือเมืองลอง งามทั้งธรรมชาติศิวิไลสมปอง เขาทิวแลลิ่วรอบลอง ซาบซึ้งชวนมองทั่วท้องนภา งามแสนทั้งแคว้นพารา สมดังคำว่าเมืองเทพธิดาคือลอง หากใครได้พบเจอ ต้องครวญพร่ำเพ้อสุดสมปอง คอยหวังคอยเธออยู่เพื่อคู่เคียงครอง น้ำเย็นบ่อแก้วเมืองลอง เหมือนน้ำทิพย์กรองจากศรีดอนคำ ดื่มแล้วจะขอแนะนำ รสเย็นชื่นฉ่ำดุจดั่งน้ำขวัญใจ พระธาตุศรีดอนคำ สูงทรงสง่างามเลิศวิไล งามพระธาตุล้ำค่าไม่น้อยหน้าแดนใด ของดีสถิตอยู่ใน เป็นมิ่งขวัญใจของแคว้นเมืองลอง ปกปักรักษาคุ้มครอง ทั้งชาวเมืองลองให้ชุ่มเย็นสบาย สุขแสนแคว้นเมืองลอง ขอเชิญมาจับจองพี่น้องไทย เรารับรองด้วยจิตด้วยมิตรน้ำใจ เมืองลองบ่เลือกใครๆ เชิญซิทรามวัยมาร้องมารำ ม่วนแต้นะแม่สาวงาม ขอเชิญมารำมาร่ายรำกันเอย”

เพลงร่ำเปิงเมืองลอง “ม่อนดอยม่านฟ้างาม ลือนามถิ่นแคว้นโบราณ เมืองหน้าด่านแผ่นดินล้านนา ถิ่นกำเนิดผ้าซิ่นตีนจก มรดกสวนหินลือชา รุ่งเรืองพระธรรมวัดวา ได้ฉายาว่าคือเมืองลอง ไหว้สาจามเตวี ป๋ารมีสร้างธาตุดอนคำ ตำนานเล่าคำพระธาตุเจ้าองค์ทอง ปูจาปูตั้บแหลมลี่ เป็นเจดีย์งามรุ่งเรืองรอง ศรัทธาไขว่บ้านไขว่จอง กู้เมืองลองพระเจ้าเจียงจื่น ต๊ะตึ่งนังนั่งจ๊างแอ่ว งามเลิศแล้วถ้ำสวรรค์ผาก๋อง ม่วนงันเมืองลองกว่าใดไหนอื่น แวะแอ่วโบราณสถาน วัดสะแล่งดงลานของเก่ายั่งยืน ฮ่วมงานยี่เป็งยามค่ำคืน แป๋งใจ๋จื่นแอ่วสงกรานต์ปี๋ใหม่ โต๊กตึ้งโนงหลงอาวรณ์ สาวจ่างฟ้อนย่างย้ายตวย เกล้าผมมวยจ่อเอื้องยอใบ เจิญจิมมะตันกู่บ้าน ส้มเขียวหวานรสล้ำลือไป สุขแสนเหนือแคว้นแดนใด ปี้น้องวงศ์ใยเจิญต่านมาแอ่ว”

เพลงตำนานเมืองลอง “เดิมแต่ก่อนเก๊ามีมา ปื้นอาณาผืนเก่าฝากกำเล่าตำนาน ฝากกำขานเล่ามาเนิ่นนาน ซากหลักฐานชุมชนโบราณ ความรุ่งเรืองเหลือไว้นานมา เจ้นอาณานี้ไปชั่วกาล เหลือวิญญาณฝังดินสืบไป นามกระเดื่องลือชื่อลือไกล๋ แคว้นหริภุญไชยยิ่งใหญ่แดนดินถิ่นนี้ สุเทวะพระฤาษี สร้างอาณาอันพร่ำเดิมมี ส่งราชสาส์นถึงละโว้เวียงวัง มาครองบัลลังก์เป็นมหารานี จามเตวีนามมีบอกไว้ นางได้ล่องระมิงค์วารี ย้อนนาบุญนางมีหลงสู่แม่ยมเลยมา ก่อนนางปิ๊กย้อนคืนหนหลัง นางได้ฝังธาตุองค์พุทธา เป๋นตี้มาเมืองลองก่อนนั้น”

บทเพลงเหล่านี้มีการนำไปเผยแพร่ทางสถานีวิทยุต่างๆ ทั้งภายในอำเภอลอง คือ สถานีวิทยุชุมชนคนสหกรณ์ FM ๙๕ Mz, สถานีวิทยุชุมชนบ้านไผ่ล้อม FM ๘๙.๕๐ Mz และสถานวิทยุชุมชนปั๊มบางจาก(เอกชน) FM ๙๘.๐๐ Mz และภายนอก เช่น สถานีวิทยุ FM ๑๐๐ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานีวิทยุอินเตอร์เนตล้านนา CM ๗๗ เชียงใหม่ที่สามารถรับฟังได้ทั้งในประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลก ซึ่งผู้ฟังสามารถรับรู้ความเป็นเมืองลองได้ง่ายที่นำมาสรุปผ่านบทเพลงเหล่านี้ หรือนำประวัติ รูปภาพ ประเพณีขึ้นพระธาตุเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ตลอดถึงนำมาขยายการรับรู้ให้มากขึ้นจากคนเมืองลองอีกหลายกลุ่ม เช่น คณะครูและปราชญ์ท้องถิ่น นำเอาเพลงข้างต้นมาเขียนเป็นโน๊ตเพลงให้เด็กนักเรียนบรรเลงดนตรีล้านนาพร้อมเนื้อร้อง กลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวบ้านดอนทราย นำเพลงร่ำเปิงเมืองลองมาประดิษฐ์เป็นฟ้อนร่ำเปิงเมืองลอง(ก่อนหน้านี้จังหวัดลำปางมีฟ้อนร่ำเปิงลำปาง)

ช่วงนี้ทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาจากพระธาตุทั้งห้าองค์ของเมืองลอง จึงต่างถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองผ่านประเพณีขึ้นพระธาตุ รวมถึงมีการจัดพิมพ์หนังสือตำนานและเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระธาตุทั้งห้าองค์มากขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะพระธาตุศรีดอนคำที่มีพลังสร้างและรื้อฟื้น สามารถกระจายเชื่อมต่อไปถึงการสร้างและรื้อฟื้นของหลากหลายกลุ่มคนและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น แต่ทว่าทุนวัฒนธรรมประเพณีขึ้นพระธาตุก็ไม่ได้สร้างและรื้อฟื้นได้ราบเรียบเสมอไป ดังเห็นได้ชัดเจนคือประเพณีขึ้นพระธาตุแหลมลี่ที่ตรงกับพระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ เนื่องจากในยุคจารีตมีการสร้างสำนึกให้คนเมืองลองเป็นกลุ่มก้อน โดยกำหนดให้มีวันประเพณีขึ้นธาตุตรงกับเมืองอื่นๆ แต่ ณ ยุคปัจจุบันเมื่ออำเภอลองกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแพร่ และมีวันไหว้พระธาตุตรงกัน ซึ่งในช่วงก่อนก่อตั้งสภาวัฒนธรรมจึงอยู่ที่ดุลพินิจของกลุ่มพระสงฆ์เมืองลองเป็นสำคัญว่าปีไหนจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่เมื่อดึงหน้าที่รับผิดชอบส่วนนี้เข้ามาไว้ที่สภาวัฒนธรรม อำเภอลอง ดังนั้นในช่วงนี้เมื่อทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ได้จัดให้มีงานประจำปี “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” มีการขอขบวนแห่จากอำเภอต่างๆ ของจังหวัดแพร่เข้าร่วม ดังนั้นในอำเภอลองจึงต้องแบ่งคนกลุ่มหนึ่งเข้าเป็นตัวแทนไปแห่ขบวนไหว้พระธาตุช่อแฮ ที่นำโดยสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง ส่วนคนเมืองลองและหน่วยงานที่เหลือก็ร่วมกันจัดงาน “ล่องวัดเดือนหก” หรือ “ล่องสะเปา” เพื่อไหว้พระธาตุแหลมลี่ภายในอำเภอลอง

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 12 •พฤษภาคม• 2013 เวลา 17:48 น.• )